โมเดลบุรีรัมย์

อ่าน: 2154

(โม้ 3 ชั่วโมงน้ำลายเหนียวเลยละครับ)

ชื่อนี้ผมไม่ได้ตั้งเองหรอกนะครับ เกิดจากท่านที่สนใจเข้าร่วมรับฟังการนำเสนอ “งานวิจัยไทบ้าน : การบูรณาการปัญหาของชาวบ้านกับการทำวิจัย” ได้อภิปรายให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ อาจารย์สุภาพสตรีอาวุโสท่านหนึ่งได้สะท้อนความคิดเห็นหลังจากที่ผมเสนอภาพรวมกิจกรรมวิจัยในมหาชีวาลัยอีสาน ท่านกล่าวว่า “นี่แหละโมเด็ลบุรีรัมย์” บังเอิญช่วงนี้กำลังคิดเรื่องชื่อหนังสือที่จะพิมพ์เร็วๆนี้ ก่อนหน้านั้นฟันธงว่าจะให้ชื่อ “งานวิจัยไทบ้านสไตล์แซ่เฮ” เมื่อมีคนช่วยตั้งชื่อให้อย่างนี้แล้วก็ยอมหลีกทางให้ ทั้งๆที่บริบทของบุรีรัมย์ทั้งมวลยังมีเรื่องดีๆอีกมาก การทำเพียงแค่หางอึ่งจะมาทึกทักว่านี่คือ”บุรีรัมย์”ก็กระไรๆอยู่ แต่เมื่อมีคนเห็นเป็นประกายอย่างนี้แล้ว ก็ขออนุญาติใช้ชื่อนี่นะขอรับ

โมเดลบุรีรัมย์เป็นอย่างไรรึ

ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 20 ตุลาคม 2520 ดังนี้ “การทำความดีนั้น สำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเอง ผู้อื่นไม่สำคัญ และไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องเป็นห่วงหรือต้องรอคอยเขาด้วย เมื่อได้ลงมือลงแรงกระทำแล้ว ถึงแม้จะไม่มีใครร่วมมือด้วยก็ตาม ผลที่ดีก็จะเกิดขึ้นแน่นอน” ผมเป็นคนคิดช้าทำเร็ว นึกอยากจะทำอะไรขึ้นมาก็ทำๆๆ ขอให้ได้กระทำเสียก่อน แล้วค่อยมาคิดปะผุทีหลัง การลุยไปข้างหน้าอย่างนี้ ก็พบอุปสรรคบ้างล้มเหลวบ้าง ได้ผลลัพธ์ตามสมควรบ้าง แต่ที่ได้แน่ๆ ..คือการได้เริ่มต้น ตั้งต้น ตั้งไข่ ถึงจะมีบางเรื่องเค้เก้ไปบ้างก็ถือว่า..นั่นเป็นส่วนหนึ่งของวิธีทำงาน ซึ่งจะต้องเผชิญอยู่แล้ว เปรียบเสมือนออกเรือหาปลาในทะเล เราจะประสบผลสำเร็จได้ปลาเต็มลำเรือทุกเที่ยวย่อมเป็นการยาก คงได้บ้างมากน้อยตามเหตุและปัจจัยแวดล้อม บางทีเจอพายุถึงกับเรืออัปปางก็มี เจอเรือโจรสลัด หรือเครื่องยนต์เสียลอยเท้งเต้งก็ย่อมเกิดขึ้นได้ ไม่มีดอกกุหลาบโรยบนถนนของนักสู้ชีวิต อย่างโชคดีก็อาจจะได้กุหลาบสักดอกวางบนหลุมศพ

(มีเวลา 30 นาที ให้รีบแต่งมุมหน้าห้อง)

เมื่อวานนี้ไปโม้ในงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2554 ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนแวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็ลทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ ซึ่งเป็นสถานที่ๆไม่เคยเยื้องกรายมาก่อน เคยไปแต่เซ็นต์เตอร์พร้อย เจ้าภาพจัดให้พักที่นี่ แต่การติดต่อประสานงานไม่ลงตัว ผมจึงพักกับเจ้าเก่าที่คุ้นชิน 6 โมงเช้ามีโทรศัพท์ร้อนรนว่าหาตัวผมไม่เจอ “ครูบาพักที่ไหนครับ” พอรู้ว่าผมไม่ได้พักตามที่เขาจัดให้ ก็อลเวงซิครับ เจ้าภาพจะต้องประสานงานเรื่องการเตรียมการนำเสนอ บังเอิญว่าเที่ยวนี้ผมมี2สาวตามไปด้วย นัดแนะกับทีมเจ้าแห้วล่วงหน้า บอกไว้ว่าให้มารับแต่เช้าๆก็เแล้วกัน

ตื่นตี5 รีบลงไปจัดการเรื่องอาหารเช้า ยังไม่อิ่มแห้วก็โผล่มา จึงรีบเผ่นออกไปขนของขึ้นรถ ติดตามด้วยแท๊กซี่อีก1คัน มุ่งตรงไปยังที่จัดงาน ดีว่าทีมงานของแห้วสันทัดกรณี พาเราฝ่าจราจรขึ้นไปยังที่จอดรถชั้น5 เจ้าหน้าที่มารอรับ..พร้อมกับพนักงานช่วยขนสัมภาระไปยังห้องที่ติดป้ายบอกว่า “วิจัยไทบ้าน” เมื่อรู้ที่รู้ทางแล้วก็ช่วยกันขนปัจจัยที่จะมาตบแต่งหน้าห้อง มีเวลา30 นาที ขนลูกน้ำเต้าออกมาวาง เอาผัก-ผลไม้-ดอกไม้ มาจัดลงในภาชนะลูกน้ำเต้า ช่วยกันอย่างขมีขมัน ไม่มีรูปแบบไม่มีการคิดล่วงหน้า ต่างคนต่างก้มหน้าก้มตาจัดแทรกตรงนั้นตรงนี้จนดูดี แห้วเอาหนังสือเจ้าเป็นไผมาเรียง ผู้คนที่ลงทะเบียนทยอยมะรุมมะตุ้มซักถามเรื่องโน้นเรื่องนี้

(ยังไม่เรียบร้อยดี ผู้สนใจก็มาให้แห้วฉอดๆๆปากเปียกปากแฉะ)

อาจารย์บางท่านบอกว่าตั้งใจมางานนี้ เคยได้อ่านหนังสือเจ้าเป็นไผ ชอบมากมาก ได้นำเอาจุดพิเศษในหนังสือเล่มนี้ไปสอนนักศึกษา วันนี้มาเจอตัวจริงก็ขออุดหนุนอีกและขอลายเซ็นด้วย แถมขอถ่ายรูปเป็นหลักฐานอีกด้วยนะ งานนี้เจออาจารย์มากหน้าหลายตาจากหลายสำนักที่ติดตามเรื่องราวของเฮฮาศาสตร์และลานปัญญา เสียดายว่าไม่มีเวลาถามชื่อแซ่กันเลย นามบัตรผมก็ไม่มี หลายท่านต้องการมาเยี่ยมมหาชีวาลัยอีสาน จะติดต่อยังไง ..ผมก็ได้แต่โบ้ยไปหาแห้วสาระพัดนึก

แว๊บ เข้าไปในห้อง เตรียมทดลองสื่อและเครื่องเสียง ติดขัดเล็กน้อยก็ก็ผ่านไปได้ด้วย เสียงดังฟังชัด จัดวางน้ำเต้าหน้าเวทีด้วยนะ ตรงจุดนี้สะท้อนคิดเรื่อง ทำเรื่องธรรมดาให้เป็นเรื่องพิเศษ ประเด็นใหญ่เป็นเรื่องต้นไม้เรื่องโคและแพะแกะ เอาตัวจริงมาแสดงไม่ได้ ก็อาศัยสื่อภาพและเสียงแทน ระหว่างที่รอเวลา ผมก็เปิดเพลง”กอด” พร้อมกับเล่าเรื่องเครือข่ายชาวเฮและลานปัญญา เพื่อรอเสียงระฆังขึ้นชก

(แห้วทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ)

ได้เวลา.. เจ้าหน้าที่(วช.)ที่ดูแลห้องนี้ บอกว่า..พวกเรามากันหลายคนขอให้ทำหน้าที่ดำเนินรายการเหมาโหลได้ไหม? ผมเหล่ตาไปที่แก้วสาระพัดนึก แห้วก้าวฉับๆๆไปคว้าไมค์เปิดรายการอย่างบรรเจิด โม้ซะฟุ้งกระจาย หลังจากนั้นทุกอย่างก็เรียงล่ายซ่ายตามกำหนดการ เป็นที่สังเกตงานว่านี้มาผู้ที่ตั้งใจมาฟังไม่น้อย มีกลุ่มที่เป็นตัวหลักปักฐานฟังแบบไม่ขยับไปไหนเลย จะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นขาจรสัญจรเข้าห้องโน้นห้องนี้ ห้องเราจึงมีคนหมุนเวียนเข้ามาตลอด มีทั้งที่มาวางก้นแม๊ะและย้ายก้นไปตามอัธยาศัย โดยภาพรวมแล้วก็อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้

(ท่านผู้ฟังลุกขึ้นให้ความเห็นหลายรอบ)

ท่านรองเลขาธิการ(วช.)ย่องมานั่งคุยกับผู้ฟังหลายจุด เพื่อจะขอทราบเสียงสะท้อนบริบทงานวิจัยไทบ้าน ที่คณะกรรมการ(วช.)ให้ความสนใจอยากจะเปิดประเด็น ท่านรองเล่าว่า..กว่าจะควานหาตัวครูบาเจอและเกี่ยวก้อยมาเอาในงานนี้ได้ก็ใช้เวลาไปไม่น้อย จึงให้ความสำคัญกับห้องนี้มาก หลังจากจบรายการท่านขอคุยด้วยในระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน ท่านฝากการบ้านให้ผมเอากลับมาคิดว่าจะทำยังไง 3 ข้อ

1 งานวิจัยเพื่อชุมชน คณะกรรมการพิจารณาผลงานทางวิชาการ ไ ม่ ถื อ ว่ า เ ป็ น ผ ล ง า น ท า ง วิ ช า ก า ร  ทั้งๆที่มีผู้รู้ผู้สันทัดกรณีบอกว่ามันมีความหมายและความสำคัญไม่ด้อยกว่าการวิจัยในแขนงอื่น แต่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิก็ยังไม่ปลงใจ ผมเองก็เพิ่งทราบประเด็นนี้ มิน่าละ..งานวิจัยชุมชนมันถึงตกหล่ม ออกอาการเหมือนถูกยาคุมกำเนิด  พูดกันจัง.. อยากให้มหาวิทยาลัยทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เป็นแม่และพี่เลี้ยงให้แก่ท้องถิ่น เป็นบ่มเพาะปัญญาให้ท้องถิ่น แต่ในทางด้านการส่งเสริมและสนับสนุนกลับทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลอง นี่แหละหนอประเทศไทย ไม่ส่งเสริมให้รู้จักกำพืดของตนเอง แล้วมันจะเจริญรู้เขารู้เราอย่างไรละครับ โธ่ๆๆๆ..

2 งานวิจัยเดี่ยว จะได้แต้มได้คะแนนในการพิจารณาผลงานสูงมากกว่างานวิจัยเป็นหมู่คณะ ผมก็ไม่เข้าใจว่าเดี่ยวมือหนึ่งมันพิเศษตรงไหน ต่างกับการระดมพลังสติปัญญากันทำการวิจัยตรงไหน ถ้าคำนึงถึงการส้างประชาคมวิจัย ให้ความสำคัญของการผลิดนักวิจัย ฝ่ายอุปการะงานวิจัยควรจะมองให้ทั่วถ้วนว่า แต่ละกรณีมีความเด่นอยู่ในตัว ถ้ามาออกแบบ2มาตรฐานอย่างนี้ การผลิตนักวิจัยต้นทางก็จะง่อยเปลี้ยกับความคับแคบของนโยบาย ผิดถูกผมไม่ทราบนะครับ คิดอย่างนี้ก็ฉอดๆๆๆยังงี้และขอรับ

3 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สนใจที่จะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต.อบจ. เทศบาล หรือประชาคมที่หลากหลายได้ช่วยกันทำงานวิจัย เพื่อจะได้เชื่อมโยงสังคมแห่งการเรียนรู้ให้รุมมะตุ้มช่วยกันสังเคราะห์ความรู้ ค้นหาแนวทางในการพัฒนาองค์กรและบทบาทของตนเองให้เกิดวิธีทำงานเชิงรุก แต่ท่านรองฯบอกว่ายังหนักใจ ไม่รู้จะเจาะตรงไหน ทำอย่างไรกระบวนการวิจัยเชิงประจักษ์จะไปปักฐานลงในองค์กรในระดับต่างๆเหล่านี้ได้ ท่านมองว่า..ในอนาคตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหนีเรื่องนี้ไม่ออกหรอก แต่ช้าเท่าไหร่ก็น่าเสียดายเท่านั้น

(ท่านที่ให้กำลังใจและซื้อหนังสือขอถ่ายภาพด้วยก็เลยถ่ายยกชุดเสียเลย)

ท่านโอดครวญว่า คนไทยให้ความสนใจงานวิจัยน้อยมาก สำนักงานฯตั้งใจลงทุนจัดงานนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เต็มที่กับงานอย่างที่สุด แต่คนไทยก็เรื่อยๆมาเรียงๆ โดยเฉพาะวันหยุดด้วยแล้ว ไทยบางคนไม่ยอมสละเวลามาหาปัญญา แม้แต่อาจารย์ที่สอนเรื่องการวิจัยก็ยังซึมกะทือกับวิธีการเดิมๆๆ  เอาแต่จะสอนๆๆ..ไม่ดูตาม้าตาเรือ แทนที่จะบอกให้นักศึกษามาตระเวณดูงาน เข้าสู่บรรยากาศของการวิจัย ห้องโน้นเข้าห้องนี้ รับรู้รับทราบวิธีวิจัย ชมผลงานวิจัย สอบถามความรู้จากผู้สันทัดกรณีทางด้านนี้ ที่มีเวทีคอยอธิบายเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ล้วนมีความจำเป็นต่อการเป็นนักวิจัยทีดีทั้งนั้น มีอาจารย์ท่านหนึ่งมาจากเชียงใหม่ ขนนักศึกษามา50ชีวิต ให้แบ่งกันออกไปประจำห้องโน้นห้งนี้ แต่ตัวท่านอาจารย์กลับมาปักหลักอยู่ที่ห้องของเรา หลังเวทีอาจารย์บอกว่าอยากจะเชิญไปโม้ที่เชียงใหม่ ผมละนึกถึงหน้าครูอึ่งครูอารามและอุ้ยขึ้นมาทันที หาเรื่องจะไปกวนใจอีกแล้วหรือนี่

งานนี้เหมาะที่นักวิจัยทุกระดับจะมาร่วมเรียนรู้ มีประเด็นเด็ดๆรออยู่ เช่น

- แหล่งสืบค้นข้อมูลทางการวิจัย

- ขั้นตอนการขอรับทุนวิจัยจากหน่วยงานที่ให้ทุน

- การจัดทำข้อเสนอการวิจัยเพื่อรับทุน

- การติดตามประเมินผลโครงการ

- กระบวนการต่อยอดงานวิจัย

- การบริหารทรัพย์สินทางปัญญา และ การจดสิทธิบัตร

(ขอบคุณทุกความเห็นและข้อเสนอแนะดีๆ)

KeyWord  จะวิจัยหรือวิจุ้ย!..การลงมือทำเป็นวิธีที่ดีที่สุด

ความสำเร็จของการจัดงาน  “การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2554″ ในปีนี้ เกิดขึ้นด้วยความร่วมมืออย่างดียิ่งของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ในการนำ “ต้นทุน” ทางความรู้อันเกิดจากการศึกษาค้นคว้าและวิจัยในหลากหลายประเด็นและลัษณะ อันได้แก่งานวิจัยที่เป็นองค์ความรู้ งานวิจัยและพัฒนา งานวิจัยเชิงนโยบาย งานวิจัยจากการต่อยอดและขยายผล รวมถึงงานวิจัยที่ผ่านกระบวนการสร้างมูลค่าและคุณค่า ซึ่งทรัพยากรทางปัญญาเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นความพยายามและตั้งใจของทุกภาคส่วนในการผลักดันให้เกิดงานวิจัย ที่มุ่งหมายการนำสู่การพัฒนาและแก้ปัญหาของประเทศในหลากหลายหลายระดับ โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ทำหน้าที่หน่วยงานกลางเพื่อประสานและเชื่อมโยงและยุทธศาสตร์ระดับประเทศ ผู้ผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติโดยใช้กระบวนการวิจัย ผู้บริหารทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ใช้ประโยชน์จากการวิจัย

(ทรัพย์สินทางปัญญาของมหาชีวาลัยอีสาน)

คำว่า ทรัพย์สินทางปัญญานี่แหละ

ถามว่าจะไปแสวงหาได้จากที่ไหน

ถ้าเราไม่ช่วยกันวิจัยเพื่อกระเทาะปัญญาให้ส่องแสงวับแววดั่งแก้วก่องประภัสสร

รวบรวมผลงานวิจัยของประเทศนี้มีอะไรบ้าง

มีเท่าไหร่..ก็หมายถึงต้นทุนหรือสินทรัพย์ทางปัญญา

ถ้าพิจารณาดูให้ถ่องแท้ก็จะทราบว่าประเทศนี้มีกึ๋นอยู่เท่าใด

เอาไปเปรียบเทียบกันชาติอื่นเราอยู่ในระดับไหน

ระดับปลายแถว-ระดับกลางแถว-หรือระดับตกแถว

(อาจารย์ท่านนี้อ่านเจ้าเป็นไผ บอกชอบมากจะเอาไปสอนนักศึกษา)

ปีนี้มีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและนิทรรศการจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศมากกว่า 10 หน่วยงาน ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยและกิจกรรมวิจัยกว่า500เรื่อง มีกรณีพิเศษอยู่เรื่องเดียวคือ “งานวิจัยไทบ้าน” ที่ยังไม่ได้ทำผลงานวิจัย แต่ไปเสนอเค้าโครงให้เห็นว่าบริบทงานวิจัยไทบ้าน(นอก) เป็นอย่างนี้นะขอรับ ต่อเมื่อได้รับทุนสนับสนุนให้ทำการวิจัยเรื่องเอาใบไม้เลี้ยงโค คราวหน้ามหาชีวาลัยอีสานถึงจะได้มานำเสนอกิจกรรมวิจัยกับเขาบ้าง

เรียกว่างานนี้..เสียงมาก่อนเห็นตัวว่างั้นเถอะ

เรื่องสาระ/เสนอหน้าเสนองานยังเป็นการบ้านที่ต้องติดตามอย่างระทดระทวยกันต่อไป

เท่าที่รับฟังเสียงท่านผู้ฟังที่ลุกขึ้นมาอธิบายขยายความ

มีคำถามไม่กี่ข้อ

ส่วนใหญ่จะกล่าวสนับสนุนให้ความเห็นแบบเข้าข้างอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

อาจารย์อาวุโสหลายท่านยืนยันต่อหน้าไมค์โคโฟนว่า..

วิจัยแบบไทบ้านนี้แหละ..ควรอุดหนุนและสนับสนุนอย่างยิ่ง


ผมพยายามบอกว่า นักวิจัยไทบ้านต้องการเป็นพันธมิตรกับนักวิจัยมืออาชีพหรือนักวิจัยวิชาการ เราเองก็มีขีดจำกัดเหมือนกัน และถ้ายอมรับความจริงก็จะเห็นว่า..ไม่ว่างานวิจัยประเภทไหนๆก็มีข้อจำกัดด้วยกันทั้งนั้น ถ้าเปิดสะพานเชื่อมโยงกัน-ร่วมกันคลุกเคล้างานวิจัยด้วยกัน ความสมบูรณ์ผลลัพธ์ของงานวิจัยก็จะเต็มเปี่ยมครบสูตร คิด-ค้น-คว้า-ตีแตกปัญหา-ให้แตกมัน-กลั่นกรองเอาแต่หัวกะทิไปใช้อย่างหนึ่ง-เอาหางกะทิไปใช้อีกอย่างหนึ่ง-ต่อยอดความคิดไปสู่การผลิตผลทางปัญญา-ช่วยกันปรับนักวิจัยมือสมัครเล่น-ให้เป็นนักวิจัยมืออาชีพ- ถ้าทำได้อย่างนี้ก็ไม่ต้องไปเสียเงินสร้างหิ้งมารอรับงานวิจัย

มีบางท่านเอาเป็นเอาตายกับกรอบงานวิจัย

ผมมองว่าที่เขามีกรอบไว้นั้นเหมาะกับนักวิจัยมือสมัครเล่น

ที่หันรีหันขวาง..ก็จับมาเข้าลู่ที่เรียกว่ากรอบ

แล้วค่อยให้ฝึกการตั้งไข่กับวิธีการวิจัย

คงเหมือนหัดถีบจักรยาน..ต้องมีคนคอยจับประคองสักระยะหนึ่ง

แต่นักวิจัยไทบ้านไม่ได้คิดติดกรอบ ต้องการความอิสระอย่างยิ่ง งานวิจัยต้องได้การยอมรับให้ลองผิดลองถูก ถ้ามุ่งแต่จะเอาความถูกต้องโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ  เราจะได้รู้ลึกถึงแก่นความผิดถูกหรือครับ ผิดก็ได้เรียน ถูกก็ได้เรียน มันถึงจะรู้เรื่องไหนผิดเรื่องไหนถูก ไม่งั้นก็จะเข้าใจยันเตว่าของตนเองถูกๆๆแบบน่าเวทนา งานวิจัยไทบ้านคิดในเรื่องปัญหาที่เผชิญอยู่ ว่าจะหาทางแก้ไขปัญหา ลดวิกฤติต่างๆ หาช่องทางที่ใหม่และดีกว่า เมื่อทดลองทำไปแล้วก็เก็บสาระระหว่างทางถึงจุดดีจุดด้อย ยังไม่จำเป็นต้องมามีกรอบขีนเส้นให้ทำต๊อกๆ ..ถ้ามีใครรู้ดีถึงกับเขียนกรอบมาให้ ก็แสดงว่างานนั้นไม่จำเป็นต้องทำแล้วละครับในเมื่อรู้แจ้งจ่างป่าง ไปก๊อปปี้เอามาอย่างที่นิยมชมชื่นกันไม่ดีกว่าหริอ

ผมมองว่า คนที่จะเขียนกรอบได้

คือคนที่ลงมือกระทำงานวิจัยเรื่องนั้นๆผ่านมาแล้ว

รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวเองแล้วถึงมาสรุปขั้นตอนหรือกระบวนการในเรื่องนั้นๆ

แต่ผมก็ไม่อยากจะเรียกว่า “กรอบ” อยู่ดี

เพราะงานวิจัยไม่ใช่เรื่อง “วัวหายล้อมคอก”

แ ต่ ถ้ า เ ห็ น ว่ า จำ เ ป็ น จ ะ ต้ อ ง มี ค อ ก ขั ง ค ว า ย

ข้อยบ่ว่าอิหยังดอก อิ อิ..

เมื่อคืนนี้กลับมาสลบเหมือด สองสาวที่หนีบมาด้วยจากบุรีรัมย์มีเวลาน้อย ก็คุยๆๆๆอธิบายถึงงานทำวิทยานิพนธ์ ผมฟังเรื่องนี้มาข้ามคืนข้ามวัน ให้ความเห็นบ้างอือออๆแล้วก็หม่อยหลับไป จวน4ทุ่ม 2สาวมาปลุกว่าได้เวลาเผ่นกลับบ้านแล้วนะพ่อ เออๆๆ..งึมงำลุกไม่ขึ้นไม่ได้ไปส่ง  ตื่นเช้ามามีงานจังก้ารออยู่พะเรอ  ต้องนั่งปั่นหนังสือขอคำนิยมจากท่านอาจารย์สุเมธ ตันติเวชกุล ทราบว่าท่านจะมาบรรยายที่งานวันนี้ จะชวนแห้วไปอีกแห้วก็เหินหาวไปกับคณะนักศึกษาป.โท มีโทรฯมาสอบถามเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะขอไปดูงาน จะขอเชิญไปร่วมงาน จะขอมาพบ โอ้ยๆๆ..จะแย่แล้ว เรียงลำดับงานไม่ถูก ช่วงสายๆพระอาจารย์เฮ็นรี่อยู่ทางใต้ กำลังอบรมคุณครู โทรสายด่วนมาบอกว่า..อยากจะให้คุยกับคุณครูทางโทรศัพท์ด่วนจี๋ ในประเด็น “บริบทคุณครูผู้สร้างชาติ” สัก 5 นาที ผมก็ฉอดๆให้เป็นที่เรียบร้อยไปแล้วละครับ

ขาใหญ่โทรมาบอกว่ายังชั่วจากการเป็นหวัด

จะมาชวนไปดวลอาหารอีก

ผมขอบาย ..ไม่ไหวแล้ว หายใจขัดๆแล้ว เอวัง..



Main: 0.074348926544189 sec
Sidebar: 0.18555903434753 sec