น้ำขึ้นอย่ารีบตัก

อ่าน: 2504

เทวดายุติธรรมเสมอ

วันนี้นอกจากชาวไร่ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้แล้ว

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มองว่ามีความพร้อมความเข็มแข็ง

แต่ละโรงงานมีพนักงานเป็นพันๆคน มีเงิน มีเครื่องมือ แต่ก็ช่วยตนเองไม่ได้

แสดงว่าศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก>>

น้ำขึ้นอย่ารีบตัก ให้หนี หนี น้ำสุดชีวิต

ชั้นแรกไม่คิดว่าจะต้องหนี

คุณยายหลายคนไม่ยอมออกจากบ้าน

บอกว่ายายอยู่มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก

ทำไมจะต้องอพยพทิ้งบ้านทิ้งช่อง

ผู้ที่ไปรับ..อ้อนวอน ขู่ว่า ถ้าคุณยายไม่ยอมไปกับหนู

หนูก็จะไม่เข้ามาอีกแล้วนะ

คุณยายยอมจำนน ..ออกมาเห็นโลกภายนอก

ถึงเข้าใจว่าวิบากมหันตภัยน้ำท่วมเที่ยวนี้เป็นอย่างไร?

ความเข้าใจ..ของแต่ละคนนี่น่าศึกษาไหมละครับ

จะมีนักศึกษาสักคนไหมที่เอาเรื่องน้ำท่วมใจนี้ไปเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์

วันนี้ยังต้องลุ้นระทึกต่อๆไป  ตัวเลขน้ำท่วมมีแต่ขึ้นๆและขึ้น กำแพงจุดโน้นพังจุดนี้เละ การที่จะระดมสรรพกำลังเข้าไปปิดประตูน้ำที่พังไม่ง่ายหรอก สู้สุดชีวิต24ชั่วโมงอาจจะทำสำเร็จ แต่ตอนนั้นน้ำก็ท่วมไปเรียบร้อยแล้ว การตั้งรับภายนอกล้มระเนระนาด ทุกด่านต้านน้ำไม่ไหว สิ่งที่น่าสนใจคงจะมาดูการป้องกันกรุงเทพภายใน คุณชายแห่งกรุงเทพมหานคร ระดมพลคนกทม.สู้สุดฤทธิ์ เสียดายว่าอุโมงค์ยักษ์ทำยังไม่ครบตามแผน ไม่ยังงั้นจะหายใจโล่งกว่านี้ ข่าวรอบนอก กทม.น้ำก็ปริ่มๆแล้ว ช่วงทะเลหนุนมาตรงกับน้ำเขื่อนเปิดเต็มที่ จะออกหัวหรืออกก้อยหนอ

เอาใจช่วยอย่างเดียวไปพอหรอก

จะเอาอะไรไปช่วย..นี่สิน่าคิด

คนปกติก็ย่ำแย่แล้ว

คนที่เจ็บป่วย ย้ายโรงพยาบาล แล้วยังไงต่อ

วิกฤติที่ตอกย้ำอยู่นี้ เป็นประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งในชีวิตของเรา  ซึ่งเราอาจจะเจอเรื่องหนักๆใหญ่ๆ4-5 ครั้ง ในอนาคตก็ไม่รู้ว่าจะเจออะไรอีก ..หลังจากนั่งลุ้นระทึกกับมหาวิปโยคแห่งชาติ พ.ศ.นี้ ถามตัวเองว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง ถ้าเข้าไปช่วยก็คงจะไปเกะกะเขาเปล่าๆ นั่งถอนใจเฮือกๆทั้งวันทั้งคืน ติดตามข่าวไม่ได้หลับได้นอน มองว่านี่คือบทเรียนสดๆของคนไทยทั้งชาติ ที่ควรจะใส่ใจศึกษาและใคร่ครวญ ประมวณผลถึงความเข็มแข็งของระบบการพัฒนาและดูแลป้องกันของชาติ ก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินคำว่า”ไทยเข้มแข็ง” วันนี้ได้คำตอบแล้วบางส่วนว่าเราเข็มแข็งอยู่ในระดับไหน ควรจะอุดช่องโหว่หรือเสริมสร้างความมั่นคงให้เป็นจริงได้อย่างไร?

ใครบ้างจะต้องทำหน้าที่นี้

ก็คนไทยทุกคนนั่นแหละ..ถ้ายังมีความเป็นไทยอยู่ในหัวใจ

ในระหว่างที่พี่น้องหลายล้านครอบครัวเครียดและสั่นงันงกเหมือนลูกนกตกน้ำ พวกเราที่อยู่นอกรัศมีอุกกภัยเริ่มรับรู้ถึงช่วงรอยต่อของอากาศ ฤดูหนาวเริ่มนับหนึ่งแล้วตั้งแต่วันนี้ อากาศเย็นสบายพอดีในรอบปี เป็นวันที่เห็ดโคน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเห็ดปลวก เป็นยอดมหาเห็ดแห่งความอร่อย ที่มนุษย์ยังไม่สามารถเพาะได้เหมือนเห็ดอย่างอื่น ผู้รู้บอกว่า..มันเกี่ยวข้องกับวิถีของปลวก ชาวบ้านจึงเรียกว่าเห็นปลวกยังไงละเธอ เห็ดที่ว่านี้จะนัดกันออกดอกมาเต็มที่คราวละ 2-3 วันต่อปี  ระยะก่อนหน้านี้ก็เห็นมีเห็ดโคนดอกเล็กๆมาวางขายบ้าง ราคาในตลาดสตึก ก.ก. ละ 200 บาท เป็นเห็ดที่ล้างดินทำความสะอาดแล้วพร้อมลงหม้อ เมื่อก่อนไม่แพงอย่างนี้ ก.ก.ละ 50 บาทก็แพงแล้ว ส่วนมากชาวบ้านจะไปเก็บกันเอง ได้มาก็แบ่งกันกินไม่มีใครเอามาขาย เป็นของฝากที่มากด้วยไมตรีจิต คนยากคนจนไม่มีของขวัญแพงๆให้กันหรอก แต่เขามีไมตรีไม่อั้นพร้อมที่จะแชร์กัน

สมัยนี้ไม่มีการแบ่งปัน

ทุกอย่างตีค่าเป็นเงิน

น้ำจิตน้ำใจถ้าต้องซื้อหากันมันก็ไร้ค่า

ไม่มีเงินตราสกุลใดในโลกมีมูลค่าสูงกว่าของน้ำใจ

คุณค่าน้ำจิตน้ำใจประเมินมูลค่าไม่ได้

เมื่อวานนี้คนงานเก็บเห็ดโคนมาฝาก 1 หม้อต้ม เมื่อคืนนี้เป็นช่วงมหกรรมเห็ดโคนออก เสียงชาวบ้านจ๊อกแจ็กจอแจมาหาเห็นกันเต็มสวนป่า หมาเห่าขรมตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืน ผมนอนดูข่าวน้ำท่วม จนกระทั้งรุ่งเช้าเจ้าเก่าเอาเห็ดโคนดอกงามมาให้ต้ม 1 หม้อ ป้าสอนกับคนงานไปเก็บมาให้อีกประมาณ 2-3 หม้อ ช่วยกันทำความสะอาดเก็บไว้ทำอาหารมื้อเย็น มื้อเที่ยงผมขอแสดงฝีมือเอง ให้ป้าสอนเก็บใบแมงลักมาเตรียมไว้ ตอนเที่ยงจะเข้าครัว ต้มเห็ดโคนซดให้ชื่นสะดือสักกะหน่อย

วิธีต้มเห็ดโคน

เอาหม้อตั้งไฟ อย่าใส่น้ำมาก ในเห็ดจะมีน้ำหวานออกมาสมทบ

หั่นหอมใส่ลงไปสัก 2 หัว

โรยกุ้งแห้งสัก 2 ช้อนโต๊ะ

ใส่เกลือนิดๆ บุบพริกสดใส่ 2 เม็ด

เอาเห็ดเทลงหม้อ

ตามด้วยใบแมงลัก ใบมะขามอ่อน 1 ขยุ้ม

เติมซีอิ้วขาวหน่อยอย่ามากจะกลบรสเห็ด

ต้ม 2 นาทีควันฉุย ตักใส่ถ้วยยกไปเสริฟ์คนที่รัก

แค่นี้แหละ  อย่าไปใส่โน่นใส่นี้ให้มากเรื่อง

ทำง่ายๆอร่อยง่ายๆแต่ได้ภูมิคุ้มกันเยอะเลย

รับประทานกับส้มตำรสจัด

จะได้เมนูที่จิ๊ดจ๊าดอาหย่อยยยย

ฝนจะร่ำลาไปแล้ว ให้คนงานเตรียมนั่งร้านปลูกน้ำเต้า ที่คัดพันธุ์ไว้ว่าจะปลูกเพื่อพัฒนาพันธุ์ชนิดไหนบ้าง เพื่อให้เกิดความหลากหลาย นั่งร้านที่ว่านี้จะแบ่งปลูกดอกชมจันทร์ ปลูกฟักแฟง ปลูกตำลึง มะระจีน ถั่วพู ถั่วฝักยาว พริกพันธุ์เลื้อย ใช้สว่านเจาะหลุมแล้วใส่ปุ๋ยให้เต็มที่ มีระบบน้ำหยดให้ทุกหลุม แค่นี้แหละเธอเอ๋ย อีกไม่กี่เดือนก็จะมียอดน้ำเต้าลงกะทะร้อน มีผลน้ำเต้าอ่อนมาจิ้มน้ำพริก มาชุบแป้งทอด จัดเป็นแปลงสาธิตการปลูกผักเลี้อยค้างแบบประณีตพ่วงกับงานวิจัย

ข้างๆแปลงน้ำเต้า ปลูกกล้วยไข่ทดลองไว้เมื่อปีที่แล้ว

ช่วงระหว่างแถวลงต้นอินทผลัมไว้แล้ว

พบว่ากล้วยไข่ กล้วยหอม กล้วยน้ำหว้า ได้ผลดีพอสมควร

ส่วนมะละกอปะเลอะปะเตอ ล้มหมอนนอนเสื่อไป20กว่าต้น

ผักยืนต้นระยะชิดกำลังงามพออวดได้

น้ำท่วมผักแพงถ้าทำวิธีนี้จะพอแก้ขัดได้บ้าง

ต้นมะเขือการ์ตูนปลูกโชว์ ไม่ทำให้ขายหน้า

กำลังทยอยออกลูกแล้วนะเธอ

จะเร่งปลูกผักบุ้ง ผักกาด คะน้า กุยฉ่าย เรียงล่ายซ้าย

จบข่าว..


โมเดลบุรีรัมย์

อ่าน: 2125

(โม้ 3 ชั่วโมงน้ำลายเหนียวเลยละครับ)

ชื่อนี้ผมไม่ได้ตั้งเองหรอกนะครับ เกิดจากท่านที่สนใจเข้าร่วมรับฟังการนำเสนอ “งานวิจัยไทบ้าน : การบูรณาการปัญหาของชาวบ้านกับการทำวิจัย” ได้อภิปรายให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ อาจารย์สุภาพสตรีอาวุโสท่านหนึ่งได้สะท้อนความคิดเห็นหลังจากที่ผมเสนอภาพรวมกิจกรรมวิจัยในมหาชีวาลัยอีสาน ท่านกล่าวว่า “นี่แหละโมเด็ลบุรีรัมย์” บังเอิญช่วงนี้กำลังคิดเรื่องชื่อหนังสือที่จะพิมพ์เร็วๆนี้ ก่อนหน้านั้นฟันธงว่าจะให้ชื่อ “งานวิจัยไทบ้านสไตล์แซ่เฮ” เมื่อมีคนช่วยตั้งชื่อให้อย่างนี้แล้วก็ยอมหลีกทางให้ ทั้งๆที่บริบทของบุรีรัมย์ทั้งมวลยังมีเรื่องดีๆอีกมาก การทำเพียงแค่หางอึ่งจะมาทึกทักว่านี่คือ”บุรีรัมย์”ก็กระไรๆอยู่ แต่เมื่อมีคนเห็นเป็นประกายอย่างนี้แล้ว ก็ขออนุญาติใช้ชื่อนี่นะขอรับ

โมเดลบุรีรัมย์เป็นอย่างไรรึ

ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 20 ตุลาคม 2520 ดังนี้ “การทำความดีนั้น สำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเอง ผู้อื่นไม่สำคัญ และไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องเป็นห่วงหรือต้องรอคอยเขาด้วย เมื่อได้ลงมือลงแรงกระทำแล้ว ถึงแม้จะไม่มีใครร่วมมือด้วยก็ตาม ผลที่ดีก็จะเกิดขึ้นแน่นอน” ผมเป็นคนคิดช้าทำเร็ว นึกอยากจะทำอะไรขึ้นมาก็ทำๆๆ ขอให้ได้กระทำเสียก่อน แล้วค่อยมาคิดปะผุทีหลัง การลุยไปข้างหน้าอย่างนี้ ก็พบอุปสรรคบ้างล้มเหลวบ้าง ได้ผลลัพธ์ตามสมควรบ้าง แต่ที่ได้แน่ๆ ..คือการได้เริ่มต้น ตั้งต้น ตั้งไข่ ถึงจะมีบางเรื่องเค้เก้ไปบ้างก็ถือว่า..นั่นเป็นส่วนหนึ่งของวิธีทำงาน ซึ่งจะต้องเผชิญอยู่แล้ว เปรียบเสมือนออกเรือหาปลาในทะเล เราจะประสบผลสำเร็จได้ปลาเต็มลำเรือทุกเที่ยวย่อมเป็นการยาก คงได้บ้างมากน้อยตามเหตุและปัจจัยแวดล้อม บางทีเจอพายุถึงกับเรืออัปปางก็มี เจอเรือโจรสลัด หรือเครื่องยนต์เสียลอยเท้งเต้งก็ย่อมเกิดขึ้นได้ ไม่มีดอกกุหลาบโรยบนถนนของนักสู้ชีวิต อย่างโชคดีก็อาจจะได้กุหลาบสักดอกวางบนหลุมศพ

(มีเวลา 30 นาที ให้รีบแต่งมุมหน้าห้อง)

เมื่อวานนี้ไปโม้ในงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2554 ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนแวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็ลทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ ซึ่งเป็นสถานที่ๆไม่เคยเยื้องกรายมาก่อน เคยไปแต่เซ็นต์เตอร์พร้อย เจ้าภาพจัดให้พักที่นี่ แต่การติดต่อประสานงานไม่ลงตัว ผมจึงพักกับเจ้าเก่าที่คุ้นชิน 6 โมงเช้ามีโทรศัพท์ร้อนรนว่าหาตัวผมไม่เจอ “ครูบาพักที่ไหนครับ” พอรู้ว่าผมไม่ได้พักตามที่เขาจัดให้ ก็อลเวงซิครับ เจ้าภาพจะต้องประสานงานเรื่องการเตรียมการนำเสนอ บังเอิญว่าเที่ยวนี้ผมมี2สาวตามไปด้วย นัดแนะกับทีมเจ้าแห้วล่วงหน้า บอกไว้ว่าให้มารับแต่เช้าๆก็เแล้วกัน

ตื่นตี5 รีบลงไปจัดการเรื่องอาหารเช้า ยังไม่อิ่มแห้วก็โผล่มา จึงรีบเผ่นออกไปขนของขึ้นรถ ติดตามด้วยแท๊กซี่อีก1คัน มุ่งตรงไปยังที่จัดงาน ดีว่าทีมงานของแห้วสันทัดกรณี พาเราฝ่าจราจรขึ้นไปยังที่จอดรถชั้น5 เจ้าหน้าที่มารอรับ..พร้อมกับพนักงานช่วยขนสัมภาระไปยังห้องที่ติดป้ายบอกว่า “วิจัยไทบ้าน” เมื่อรู้ที่รู้ทางแล้วก็ช่วยกันขนปัจจัยที่จะมาตบแต่งหน้าห้อง มีเวลา30 นาที ขนลูกน้ำเต้าออกมาวาง เอาผัก-ผลไม้-ดอกไม้ มาจัดลงในภาชนะลูกน้ำเต้า ช่วยกันอย่างขมีขมัน ไม่มีรูปแบบไม่มีการคิดล่วงหน้า ต่างคนต่างก้มหน้าก้มตาจัดแทรกตรงนั้นตรงนี้จนดูดี แห้วเอาหนังสือเจ้าเป็นไผมาเรียง ผู้คนที่ลงทะเบียนทยอยมะรุมมะตุ้มซักถามเรื่องโน้นเรื่องนี้

(ยังไม่เรียบร้อยดี ผู้สนใจก็มาให้แห้วฉอดๆๆปากเปียกปากแฉะ)

อาจารย์บางท่านบอกว่าตั้งใจมางานนี้ เคยได้อ่านหนังสือเจ้าเป็นไผ ชอบมากมาก ได้นำเอาจุดพิเศษในหนังสือเล่มนี้ไปสอนนักศึกษา วันนี้มาเจอตัวจริงก็ขออุดหนุนอีกและขอลายเซ็นด้วย แถมขอถ่ายรูปเป็นหลักฐานอีกด้วยนะ งานนี้เจออาจารย์มากหน้าหลายตาจากหลายสำนักที่ติดตามเรื่องราวของเฮฮาศาสตร์และลานปัญญา เสียดายว่าไม่มีเวลาถามชื่อแซ่กันเลย นามบัตรผมก็ไม่มี หลายท่านต้องการมาเยี่ยมมหาชีวาลัยอีสาน จะติดต่อยังไง ..ผมก็ได้แต่โบ้ยไปหาแห้วสาระพัดนึก

แว๊บ เข้าไปในห้อง เตรียมทดลองสื่อและเครื่องเสียง ติดขัดเล็กน้อยก็ก็ผ่านไปได้ด้วย เสียงดังฟังชัด จัดวางน้ำเต้าหน้าเวทีด้วยนะ ตรงจุดนี้สะท้อนคิดเรื่อง ทำเรื่องธรรมดาให้เป็นเรื่องพิเศษ ประเด็นใหญ่เป็นเรื่องต้นไม้เรื่องโคและแพะแกะ เอาตัวจริงมาแสดงไม่ได้ ก็อาศัยสื่อภาพและเสียงแทน ระหว่างที่รอเวลา ผมก็เปิดเพลง”กอด” พร้อมกับเล่าเรื่องเครือข่ายชาวเฮและลานปัญญา เพื่อรอเสียงระฆังขึ้นชก

(แห้วทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ)

ได้เวลา.. เจ้าหน้าที่(วช.)ที่ดูแลห้องนี้ บอกว่า..พวกเรามากันหลายคนขอให้ทำหน้าที่ดำเนินรายการเหมาโหลได้ไหม? ผมเหล่ตาไปที่แก้วสาระพัดนึก แห้วก้าวฉับๆๆไปคว้าไมค์เปิดรายการอย่างบรรเจิด โม้ซะฟุ้งกระจาย หลังจากนั้นทุกอย่างก็เรียงล่ายซ่ายตามกำหนดการ เป็นที่สังเกตงานว่านี้มาผู้ที่ตั้งใจมาฟังไม่น้อย มีกลุ่มที่เป็นตัวหลักปักฐานฟังแบบไม่ขยับไปไหนเลย จะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นขาจรสัญจรเข้าห้องโน้นห้องนี้ ห้องเราจึงมีคนหมุนเวียนเข้ามาตลอด มีทั้งที่มาวางก้นแม๊ะและย้ายก้นไปตามอัธยาศัย โดยภาพรวมแล้วก็อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้

(ท่านผู้ฟังลุกขึ้นให้ความเห็นหลายรอบ)

ท่านรองเลขาธิการ(วช.)ย่องมานั่งคุยกับผู้ฟังหลายจุด เพื่อจะขอทราบเสียงสะท้อนบริบทงานวิจัยไทบ้าน ที่คณะกรรมการ(วช.)ให้ความสนใจอยากจะเปิดประเด็น ท่านรองเล่าว่า..กว่าจะควานหาตัวครูบาเจอและเกี่ยวก้อยมาเอาในงานนี้ได้ก็ใช้เวลาไปไม่น้อย จึงให้ความสำคัญกับห้องนี้มาก หลังจากจบรายการท่านขอคุยด้วยในระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน ท่านฝากการบ้านให้ผมเอากลับมาคิดว่าจะทำยังไง 3 ข้อ

1 งานวิจัยเพื่อชุมชน คณะกรรมการพิจารณาผลงานทางวิชาการ ไ ม่ ถื อ ว่ า เ ป็ น ผ ล ง า น ท า ง วิ ช า ก า ร  ทั้งๆที่มีผู้รู้ผู้สันทัดกรณีบอกว่ามันมีความหมายและความสำคัญไม่ด้อยกว่าการวิจัยในแขนงอื่น แต่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิก็ยังไม่ปลงใจ ผมเองก็เพิ่งทราบประเด็นนี้ มิน่าละ..งานวิจัยชุมชนมันถึงตกหล่ม ออกอาการเหมือนถูกยาคุมกำเนิด  พูดกันจัง.. อยากให้มหาวิทยาลัยทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เป็นแม่และพี่เลี้ยงให้แก่ท้องถิ่น เป็นบ่มเพาะปัญญาให้ท้องถิ่น แต่ในทางด้านการส่งเสริมและสนับสนุนกลับทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลอง นี่แหละหนอประเทศไทย ไม่ส่งเสริมให้รู้จักกำพืดของตนเอง แล้วมันจะเจริญรู้เขารู้เราอย่างไรละครับ โธ่ๆๆๆ..

2 งานวิจัยเดี่ยว จะได้แต้มได้คะแนนในการพิจารณาผลงานสูงมากกว่างานวิจัยเป็นหมู่คณะ ผมก็ไม่เข้าใจว่าเดี่ยวมือหนึ่งมันพิเศษตรงไหน ต่างกับการระดมพลังสติปัญญากันทำการวิจัยตรงไหน ถ้าคำนึงถึงการส้างประชาคมวิจัย ให้ความสำคัญของการผลิดนักวิจัย ฝ่ายอุปการะงานวิจัยควรจะมองให้ทั่วถ้วนว่า แต่ละกรณีมีความเด่นอยู่ในตัว ถ้ามาออกแบบ2มาตรฐานอย่างนี้ การผลิตนักวิจัยต้นทางก็จะง่อยเปลี้ยกับความคับแคบของนโยบาย ผิดถูกผมไม่ทราบนะครับ คิดอย่างนี้ก็ฉอดๆๆๆยังงี้และขอรับ

3 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สนใจที่จะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต.อบจ. เทศบาล หรือประชาคมที่หลากหลายได้ช่วยกันทำงานวิจัย เพื่อจะได้เชื่อมโยงสังคมแห่งการเรียนรู้ให้รุมมะตุ้มช่วยกันสังเคราะห์ความรู้ ค้นหาแนวทางในการพัฒนาองค์กรและบทบาทของตนเองให้เกิดวิธีทำงานเชิงรุก แต่ท่านรองฯบอกว่ายังหนักใจ ไม่รู้จะเจาะตรงไหน ทำอย่างไรกระบวนการวิจัยเชิงประจักษ์จะไปปักฐานลงในองค์กรในระดับต่างๆเหล่านี้ได้ ท่านมองว่า..ในอนาคตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหนีเรื่องนี้ไม่ออกหรอก แต่ช้าเท่าไหร่ก็น่าเสียดายเท่านั้น

(ท่านที่ให้กำลังใจและซื้อหนังสือขอถ่ายภาพด้วยก็เลยถ่ายยกชุดเสียเลย)

ท่านโอดครวญว่า คนไทยให้ความสนใจงานวิจัยน้อยมาก สำนักงานฯตั้งใจลงทุนจัดงานนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เต็มที่กับงานอย่างที่สุด แต่คนไทยก็เรื่อยๆมาเรียงๆ โดยเฉพาะวันหยุดด้วยแล้ว ไทยบางคนไม่ยอมสละเวลามาหาปัญญา แม้แต่อาจารย์ที่สอนเรื่องการวิจัยก็ยังซึมกะทือกับวิธีการเดิมๆๆ  เอาแต่จะสอนๆๆ..ไม่ดูตาม้าตาเรือ แทนที่จะบอกให้นักศึกษามาตระเวณดูงาน เข้าสู่บรรยากาศของการวิจัย ห้องโน้นเข้าห้องนี้ รับรู้รับทราบวิธีวิจัย ชมผลงานวิจัย สอบถามความรู้จากผู้สันทัดกรณีทางด้านนี้ ที่มีเวทีคอยอธิบายเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ล้วนมีความจำเป็นต่อการเป็นนักวิจัยทีดีทั้งนั้น มีอาจารย์ท่านหนึ่งมาจากเชียงใหม่ ขนนักศึกษามา50ชีวิต ให้แบ่งกันออกไปประจำห้องโน้นห้งนี้ แต่ตัวท่านอาจารย์กลับมาปักหลักอยู่ที่ห้องของเรา หลังเวทีอาจารย์บอกว่าอยากจะเชิญไปโม้ที่เชียงใหม่ ผมละนึกถึงหน้าครูอึ่งครูอารามและอุ้ยขึ้นมาทันที หาเรื่องจะไปกวนใจอีกแล้วหรือนี่

งานนี้เหมาะที่นักวิจัยทุกระดับจะมาร่วมเรียนรู้ มีประเด็นเด็ดๆรออยู่ เช่น

- แหล่งสืบค้นข้อมูลทางการวิจัย

- ขั้นตอนการขอรับทุนวิจัยจากหน่วยงานที่ให้ทุน

- การจัดทำข้อเสนอการวิจัยเพื่อรับทุน

- การติดตามประเมินผลโครงการ

- กระบวนการต่อยอดงานวิจัย

- การบริหารทรัพย์สินทางปัญญา และ การจดสิทธิบัตร

(ขอบคุณทุกความเห็นและข้อเสนอแนะดีๆ)

KeyWord  จะวิจัยหรือวิจุ้ย!..การลงมือทำเป็นวิธีที่ดีที่สุด

ความสำเร็จของการจัดงาน  “การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2554″ ในปีนี้ เกิดขึ้นด้วยความร่วมมืออย่างดียิ่งของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ในการนำ “ต้นทุน” ทางความรู้อันเกิดจากการศึกษาค้นคว้าและวิจัยในหลากหลายประเด็นและลัษณะ อันได้แก่งานวิจัยที่เป็นองค์ความรู้ งานวิจัยและพัฒนา งานวิจัยเชิงนโยบาย งานวิจัยจากการต่อยอดและขยายผล รวมถึงงานวิจัยที่ผ่านกระบวนการสร้างมูลค่าและคุณค่า ซึ่งทรัพยากรทางปัญญาเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นความพยายามและตั้งใจของทุกภาคส่วนในการผลักดันให้เกิดงานวิจัย ที่มุ่งหมายการนำสู่การพัฒนาและแก้ปัญหาของประเทศในหลากหลายหลายระดับ โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ทำหน้าที่หน่วยงานกลางเพื่อประสานและเชื่อมโยงและยุทธศาสตร์ระดับประเทศ ผู้ผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติโดยใช้กระบวนการวิจัย ผู้บริหารทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ใช้ประโยชน์จากการวิจัย

(ทรัพย์สินทางปัญญาของมหาชีวาลัยอีสาน)

คำว่า ทรัพย์สินทางปัญญานี่แหละ

ถามว่าจะไปแสวงหาได้จากที่ไหน

ถ้าเราไม่ช่วยกันวิจัยเพื่อกระเทาะปัญญาให้ส่องแสงวับแววดั่งแก้วก่องประภัสสร

รวบรวมผลงานวิจัยของประเทศนี้มีอะไรบ้าง

มีเท่าไหร่..ก็หมายถึงต้นทุนหรือสินทรัพย์ทางปัญญา

ถ้าพิจารณาดูให้ถ่องแท้ก็จะทราบว่าประเทศนี้มีกึ๋นอยู่เท่าใด

เอาไปเปรียบเทียบกันชาติอื่นเราอยู่ในระดับไหน

ระดับปลายแถว-ระดับกลางแถว-หรือระดับตกแถว

(อาจารย์ท่านนี้อ่านเจ้าเป็นไผ บอกชอบมากจะเอาไปสอนนักศึกษา)

ปีนี้มีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและนิทรรศการจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศมากกว่า 10 หน่วยงาน ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยและกิจกรรมวิจัยกว่า500เรื่อง มีกรณีพิเศษอยู่เรื่องเดียวคือ “งานวิจัยไทบ้าน” ที่ยังไม่ได้ทำผลงานวิจัย แต่ไปเสนอเค้าโครงให้เห็นว่าบริบทงานวิจัยไทบ้าน(นอก) เป็นอย่างนี้นะขอรับ ต่อเมื่อได้รับทุนสนับสนุนให้ทำการวิจัยเรื่องเอาใบไม้เลี้ยงโค คราวหน้ามหาชีวาลัยอีสานถึงจะได้มานำเสนอกิจกรรมวิจัยกับเขาบ้าง

เรียกว่างานนี้..เสียงมาก่อนเห็นตัวว่างั้นเถอะ

เรื่องสาระ/เสนอหน้าเสนองานยังเป็นการบ้านที่ต้องติดตามอย่างระทดระทวยกันต่อไป

เท่าที่รับฟังเสียงท่านผู้ฟังที่ลุกขึ้นมาอธิบายขยายความ

มีคำถามไม่กี่ข้อ

ส่วนใหญ่จะกล่าวสนับสนุนให้ความเห็นแบบเข้าข้างอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

อาจารย์อาวุโสหลายท่านยืนยันต่อหน้าไมค์โคโฟนว่า..

วิจัยแบบไทบ้านนี้แหละ..ควรอุดหนุนและสนับสนุนอย่างยิ่ง


ผมพยายามบอกว่า นักวิจัยไทบ้านต้องการเป็นพันธมิตรกับนักวิจัยมืออาชีพหรือนักวิจัยวิชาการ เราเองก็มีขีดจำกัดเหมือนกัน และถ้ายอมรับความจริงก็จะเห็นว่า..ไม่ว่างานวิจัยประเภทไหนๆก็มีข้อจำกัดด้วยกันทั้งนั้น ถ้าเปิดสะพานเชื่อมโยงกัน-ร่วมกันคลุกเคล้างานวิจัยด้วยกัน ความสมบูรณ์ผลลัพธ์ของงานวิจัยก็จะเต็มเปี่ยมครบสูตร คิด-ค้น-คว้า-ตีแตกปัญหา-ให้แตกมัน-กลั่นกรองเอาแต่หัวกะทิไปใช้อย่างหนึ่ง-เอาหางกะทิไปใช้อีกอย่างหนึ่ง-ต่อยอดความคิดไปสู่การผลิตผลทางปัญญา-ช่วยกันปรับนักวิจัยมือสมัครเล่น-ให้เป็นนักวิจัยมืออาชีพ- ถ้าทำได้อย่างนี้ก็ไม่ต้องไปเสียเงินสร้างหิ้งมารอรับงานวิจัย

มีบางท่านเอาเป็นเอาตายกับกรอบงานวิจัย

ผมมองว่าที่เขามีกรอบไว้นั้นเหมาะกับนักวิจัยมือสมัครเล่น

ที่หันรีหันขวาง..ก็จับมาเข้าลู่ที่เรียกว่ากรอบ

แล้วค่อยให้ฝึกการตั้งไข่กับวิธีการวิจัย

คงเหมือนหัดถีบจักรยาน..ต้องมีคนคอยจับประคองสักระยะหนึ่ง

แต่นักวิจัยไทบ้านไม่ได้คิดติดกรอบ ต้องการความอิสระอย่างยิ่ง งานวิจัยต้องได้การยอมรับให้ลองผิดลองถูก ถ้ามุ่งแต่จะเอาความถูกต้องโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ  เราจะได้รู้ลึกถึงแก่นความผิดถูกหรือครับ ผิดก็ได้เรียน ถูกก็ได้เรียน มันถึงจะรู้เรื่องไหนผิดเรื่องไหนถูก ไม่งั้นก็จะเข้าใจยันเตว่าของตนเองถูกๆๆแบบน่าเวทนา งานวิจัยไทบ้านคิดในเรื่องปัญหาที่เผชิญอยู่ ว่าจะหาทางแก้ไขปัญหา ลดวิกฤติต่างๆ หาช่องทางที่ใหม่และดีกว่า เมื่อทดลองทำไปแล้วก็เก็บสาระระหว่างทางถึงจุดดีจุดด้อย ยังไม่จำเป็นต้องมามีกรอบขีนเส้นให้ทำต๊อกๆ ..ถ้ามีใครรู้ดีถึงกับเขียนกรอบมาให้ ก็แสดงว่างานนั้นไม่จำเป็นต้องทำแล้วละครับในเมื่อรู้แจ้งจ่างป่าง ไปก๊อปปี้เอามาอย่างที่นิยมชมชื่นกันไม่ดีกว่าหริอ

ผมมองว่า คนที่จะเขียนกรอบได้

คือคนที่ลงมือกระทำงานวิจัยเรื่องนั้นๆผ่านมาแล้ว

รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวเองแล้วถึงมาสรุปขั้นตอนหรือกระบวนการในเรื่องนั้นๆ

แต่ผมก็ไม่อยากจะเรียกว่า “กรอบ” อยู่ดี

เพราะงานวิจัยไม่ใช่เรื่อง “วัวหายล้อมคอก”

แ ต่ ถ้ า เ ห็ น ว่ า จำ เ ป็ น จ ะ ต้ อ ง มี ค อ ก ขั ง ค ว า ย

ข้อยบ่ว่าอิหยังดอก อิ อิ..

เมื่อคืนนี้กลับมาสลบเหมือด สองสาวที่หนีบมาด้วยจากบุรีรัมย์มีเวลาน้อย ก็คุยๆๆๆอธิบายถึงงานทำวิทยานิพนธ์ ผมฟังเรื่องนี้มาข้ามคืนข้ามวัน ให้ความเห็นบ้างอือออๆแล้วก็หม่อยหลับไป จวน4ทุ่ม 2สาวมาปลุกว่าได้เวลาเผ่นกลับบ้านแล้วนะพ่อ เออๆๆ..งึมงำลุกไม่ขึ้นไม่ได้ไปส่ง  ตื่นเช้ามามีงานจังก้ารออยู่พะเรอ  ต้องนั่งปั่นหนังสือขอคำนิยมจากท่านอาจารย์สุเมธ ตันติเวชกุล ทราบว่าท่านจะมาบรรยายที่งานวันนี้ จะชวนแห้วไปอีกแห้วก็เหินหาวไปกับคณะนักศึกษาป.โท มีโทรฯมาสอบถามเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะขอไปดูงาน จะขอเชิญไปร่วมงาน จะขอมาพบ โอ้ยๆๆ..จะแย่แล้ว เรียงลำดับงานไม่ถูก ช่วงสายๆพระอาจารย์เฮ็นรี่อยู่ทางใต้ กำลังอบรมคุณครู โทรสายด่วนมาบอกว่า..อยากจะให้คุยกับคุณครูทางโทรศัพท์ด่วนจี๋ ในประเด็น “บริบทคุณครูผู้สร้างชาติ” สัก 5 นาที ผมก็ฉอดๆให้เป็นที่เรียบร้อยไปแล้วละครับ

ขาใหญ่โทรมาบอกว่ายังชั่วจากการเป็นหวัด

จะมาชวนไปดวลอาหารอีก

ผมขอบาย ..ไม่ไหวแล้ว หายใจขัดๆแล้ว เอวัง..


บ้าหอบฟาง

อ่าน: 2929

คนอื่นเขาจะไปนำเสนองานวิจัยแบบไหนผมไม่รู้นะครับ แต่งานวิจัยไทบ้านนอก เตรียมขนมะพร้าวห้าวไปเต็มที่ มีของไปหลายลัง เพื่อเอาตัวอย่างงานวิจัยเล็กๆน้อยๆมาให้ผู้ที่ลงทะเบียนได้ชม คิดอยู่นาน..ว่าจะเอายังไงกับรูปแบบการนำเสนอในครั้งนี้ จะจูงวัวที่กินใบไม้ไปโชว์ก็ลำบากแย่ เพราะห้องนำเสนออยู่ชั้นที่ 22 ถึงจะเอาวัวขึ้นลิฟไปได้ ก็ไม่รู้จะไปผูกไว้ตรงไหน  ถ้าจะเอาแพะไปด้วยก็เกรงว่าจะเดินเพ่นพ่านในงาน เรื่องมาจบตรงเตรียมPowerpoint เตรียมน้ำเต้าลูกแปลกไปอวด แถมยังเอาน้ำเต้ามาประดิษฐ์เป็นของใช้สอย เช่น ทำเป็นที่ใส่อาหาร ใส่ผลไม้ ใส่ของกระจุกกระจิกตั้งโต๊ะ ทำเป็นแจกัน และรังนก ยังเอาแผ่นไม้อะคาเซียที่ปลูกและแปรรูปไปให้ชม เพื่อจะได้ทราบขั้นตอนงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาพันธุ์ไม้ของมหาชีวาลัยอีสาน

อ่านต่อ »


เรื่องยาวๆ ที่ไม่ใช่เพลงยาว

อ่าน: 3170

ได้รับการบ้านจากสภาวิจัยแห่งชาติให้ไปโม้ประเด็นนี้

บังเอิญยาวไปหน่อย ถ้าไม่มีเวลาก็เปิดข้ามไปเถิดนะครับ อิ อิ

(ทำไมแพะตัวเมียถึงมีเครา ถ้าอยากรู้ว่าเคราแพะมีประโยชน์หรือไม่ก็ต้องทำการวิจัย)

: ปัญหาของชาวบ้านกับการทำวิจัย

: ถ้าโจทย์ออกมาอย่างนี้

แสดงว่ามีผู้เข้าใจและสนใจเกี่ยวกับการวิจัยไทบ้านบ้างแล้ว

บางท่านอาจจะสงสัยว่าชาวบ้านต้องทำการวิจัยได้หรือ

พูดถึงงานวิจัย บางคนร้องโอ๊ก มองเป็นยาขมหม้อใหญ่

ทั้งๆที่ในความเป็นจริง..งานวิจัยเป็นขนมหอมหวานอร่อย

จริงหรือ จริงสิ แน่นะ อ๋อแน่สิ ..เชิญตามมา >>

: ประเด็นนี้ละครับที่จะต้องมาฉุกคิดกัน

โดยข้อเท็จจริงมนุษย์เราทุกผู้ทุกนามต่างก็มีความรู้ในตัวตนทั้งนั้นละครับ เพียงแต่สิ่งที่รู้และทักษะชีวิตมีหลายชั้นหลายระดับ เกิดเป็นความชำนาญที่หลากหลาย แยกแยะเป็นผู้ชำนาญการที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ช่าง” เช่น ช่างไม้ ช่างปูน ช่างก่อสร้าง ช่างทำเครื่องเรือน ช่างทำบ้าน ช่างทำเรือฯลฯ บ้างก็เรียกว่า “หมอ” หมอยา หมอพื้นบ้าน หมอทำขวัญฯลฯ บ้างก็เรียก”นายฮ้อย” หมายถึงผู้ชำนาญด้านการค้าขายเกี่ยวกับปศุสัตว์ บ้างก็เรียกว่า”ครู” ครูเพลง ครูดนตรีฯลฯ

: ผู้รู้เหล่านี้ปัจจุบันเรียกรวมๆว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่น”

ภูมิปัญญาเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

ธรรมชาติของคนเรา อยู่ที่ไหนก็ต้องดิ้นรนแสวงหาความรู้มาแก้ไขอุปสรรคในการดำเนินชีวิตให้เกิดความมั่นคงยิ่งขึ้น มนุษย์เริ่มวิจัยตั้งแต่สมัยลากตะบองอาศัยอยู่ในถ้ำ.. ต่อมาก็คิดค้นเรื่องการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์แทนที่การไล่ล่าสัตว์ซึ่งไม่แน่นอน เมื่อสภาพธรรมชาติเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ก็คิดค้นเอาหนังสัตว์มาทำเครื่องนุ่งห่มเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น คิดไปคิดมาก็ได้เสื้อผ้าถุงมือถุงเท้าที่มีคุณภาพสามารถสู้ทนกับความหนาวเย็นได้ พัฒนาการไม่หยุดนิ่งจนกระทั้งสามารถไปอาศัยอยู่ในเขตหนาวได้ ชาวเอสกิโมคิดได้แม้กระทั้งการสร้างบ้านด้วยก้อนน้ำแข็ง

: ความรู้เป็นพลังที่เปล่งประกายความสามารถ

ความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองแห่งยุคสมัยต่างๆ ทำให้เกิดโจทย์ใหม่ๆให้มนุษย์ต้องปรับปรุงความรู้ความสามารถตลอดเวลา ต่อเมื่อโลกมีการติดต่อไปมาหาสู่กันมากขึ้นเร็วขึ้น วิทยาการต่างๆได้เชื่อมโยงกันไปทั่วโลก กระตุ้นให้สังคมมนุษย์ในแต่ละยุคสมัยต้องดิ้นรนพัฒนาตนเองเพื่อความอยู่รอด และแข่งขันกันอยู่ในที

: วิทยาการใหม่ๆคืออำนาจ สามารถกำหนดความต้องการได้อย่างอิสระ จะเอาเปรียบจะกำหนดค่าวิชาความรู้ จะตั้งเกณฑ์สิทธิบัตรต่างๆนานา การซื้อขายสิทธิทางปัญญาเกิดขึ้นทั่วโลก

ประเทศที่ด้อยพัฒนาต้อง..

นำเข้าทุน

นำเข้าความรู้

นำเข้าเทคโนโลยีและวิทยาการ

ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “จ่ายค่าโง่” ในอัตราแพงลิ่ว

ทำให้ประเทศที่ล้าหลังเสียเปรียบอย่างยากที่จะดิ้นหลุด

ตราบใดที่ไม่ดิ้นรนค้นคว้าวิทยาการให้มีขีดความสามารถเทียบทัน

หลุดพ้นจากการจำต้องซื้อความรู้ของชาติอื่น

ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน อินเดีย สามารถพัฒนาการยกชั้นขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนารอบด้านได้อย่างน่าชื่นชม สามารถที่จะแลกหมัดความรู้ความสามารถกับชาติตะวันตกได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะประเทศพัฒนาใหม่เหล่านี้มีวิธีเรียนรู้ที่เข้มแข็งถึงลูกถึงคน ซึ่งหมายถึงการทุ่มเทสร้างนักวิจัยของชาติขึ้นมาอย่างมีแบบแผนเป็นระบบ

ประเทศอื่นๆเขาส่งคนไปเรียนในต่างประเทศ

ไม่ ไ ด้ ส่ ง ไ ป ใ ห้ จ ด จำ ว่ า ทำ อ ย่ า ง นั้ น อ ย่ า ง นี้

แต่ส่ง ไ ป เ รี ย น วิ ธี ทำ

เ มื่ อ ก ลั บ ม า ป ร ะ เ ท ศ บ้ า น เ กิ ด ก็ ท ด ล อ ง ทำ และ ทำ

ฝึกฝนพัฒนาทักษะความสามารถอย่างทุ่มเท

ทำให้นักพัฒนารุ่นบุกเบิกเหล่านี้สร้างต้นทุนวิทยาการและเทคโนโลยี

แล้วมาต่อยอดด้วยการช่วยกันวิจัยให้คมชัดยิ่งขึ้นอย่างกว้างขวาง

เกิดเป็นวิทยาการภายในของชาติตนเอง

เพื่อเอาไปเปรียบเทียบกับวิทยาการชาติตะวันตก

เปรียบเสมือนรางรถไฟที่วิ่งคู่กันไป

ก็จะเห็นว่าของเขาไปถึงไหน ของเราเป็นอย่างไร

สามารถเข้าไปยืนอยู่ในจุด..ที่ รู้ เ ข า รู้ เ ร า

ถ้าไม่เริ่มต้นจากเค้าโครงความรู้ที่เป็นเนื้อแท้ของเราเอง เราจะไม่หลงทางหรือครับ?

มองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ในช่วงที่ประเทศตะวันตกตระเวนเดินเรือนำปืนไฟไปยึดครองดินแดนต่างๆ คนพื้นเมืองเหล่านั้นหลังจากตื่นตระหนก ก็ต้องมาตระหนักกับความรู้ความสามรถที่เป็นต้นทุนของเผ่าพันธุ์ตนเอง “เกิดการเปรียบเทียบชุดความรู้อย่างกะทันหัน”

ทำอย่างไรจะสู้กับวิทยาการที่มีอิทธิฤทธิ์เหล่านั้นได้

จุดเหล่านี้เป็นพลังกระตุ้นต่อมความรู้ให้คิดค้นชุดความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ

เปรียบดั่ง หอก ดาบ ธนู จะสู้ปืนไฟไม่ได้หรอก

กรณีตัวอย่างที่ยกมาข้างบนนั้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้รู้ในสังคมอยู่เฉยไม่ได้แล้ว ต้องเร่งรีบปรับปรุงความรู้ความสามารถของตนเองอย่างแข็งขัน ผู้รู้ที่กล่าวถึงนี้ น่าจะเป็นนักวิจัยสายพันธุ์แท้ แสดงว่าในวิถีไทก็มีการฝึกฝน-มีการถ่ายทอด-พัฒนาการฝีมือจนกระทั้งเข้าเกณฑ์ความเชี่ยวชาญ จนเป็นที่ยอมรับว่ามีความสามารถทำกิจกรรมที่ตนถนัดได้บรรลุเรียบร้อย โดยไม่ต้องมีใบประกาศรับรองจากสำนักฯใดๆ อาศัยความเชื่อถือและชื่อเสียงที่ผ่านการพิสูจน์ผลงานซ้ำแล้วซ้ำอีก

ภูมิปัญญาท้องถิ่นในสาขาต่างๆ

ผู้เชี่ยวชาญเชิงช่างในพื้นถิ่นนี่เองที่ผู้เขียนเรียกว่า

“นักวิจัยไทบ้าน”

: ชาวบ้านทำวิจัยได้จริงหรือ?

: ชาวบ้านทำวิจัยลักษณะไหน?

: ชาวบ้านวิจัยออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร?

: ชาวบ้านมีปัญหาตรงไหน?

: งานวิจัยไทบ้าน อ ยู่ ที่ ก า ร ตี ค ว า ม

ท่านที่เถรตรงก็อาจจะเอากระบวนการงานวิจัยทางวิชาการมาจับ เอากรอบระเบียบวิธีวิจัยมาครอบ เอากฎเกณฑ์เชิงวิชาการมากำหนด ไปตีพิมพ์ในนิตยสารต่างประเทศได้หรือเปล่า เรื่องนี้ถ้าจับเข่าคุยกัน พบกันครึ่งทาง จะทำให้เห็นลายแทงงานวิจัยไทบ้าน ว่ามันมีความหมายความสำคัญ ไม่ได้แตกแยกไปออกไปจนสุดโต่ง แต่เป็นคุณประโยชน์อย่างมาก ถ้าจะหันมาร่วมมือและผนวกกำลังการวิจัยเข้าด้วยกัน

ปัญหาอยู่ที่ว่า..ถ้าจะทำแบบวิจัยไทบ้าน นักวิจัยเชิงวิชาการมีความรู้สึกว่ามันคนละรูปแบบกัน ทำอย่างนี้ไม่ได้หรอก หน่วยงานหรือองค์กรยังไม่ยอมรับ เอาไปตีพิมพ์ เอาไปขอความดีความชอบ เอาไปแสดงผลงานได้ยาก จึงไม่สนใจที่จะร่วมมือร่วมคิดร่วมทำกับนักวิจัยไทบ้าน เรียกรวมๆว่า..สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนักวิจัยยังไม่กระจ่างใจกับการวิจัยไทบ้าน

ทั้งๆที่การร่วมมือกันวิจัยกับไทบ้านจะได้โจทย์ที่ตรงประเด็น

เกิดประโยชน์โดยตรงต่อผู้ที่ต้องการใช้ผลงานวิจัย

งานวิจัยไทยจะเต็มรูปแบบและส่งผลต่อบริบทของงานวิจัยทั้งระบบ

: ความพิเศษของงานวิจัยไทบ้านอยู่ตรงไหน?

ผ ล ง า น วิ จั ย ไ ท บ้ า น ไ ม่ เ ค ย ขึ้ น หิ้ ง ไม่กองคากระดาษเปื้อนหมึก แต่กระโดดโลดเต้นท่ามกลางสายลมแสงแดด แทรกอยู่ในชีวิตประจำวัน กระจายว่อนอยู่ในความครุ่นคิดคำนึง เป็นชุดความรู้ที่มีการสะสาง-พัฒนาต่อยอด ตรงจุดนี้ละครับที่..นักวิจัยสายวิชาการจะมาช่วยต่อยอดหรือพัฒนาโจทย์ร่วมกัน

: เหตุผลที่โจทย์วิจัยควรมาจากผู้ที่ต้องการใช้ผลงานวิจัย

จุดเปราะบางงานวิจัยของนักวิจัยในสถาบันต่างๆ ส่ ว น ม า ก จ ะ ทำ วิ จั ย ต า ม ใ จ ฉั น บางท่านยังไม่ทราบว่าตนเองต้องการค้นคว้าเรื่องหนึ่งเรื่องใด เมื่อมีไฟล์ให้ต้องทำผลงานวิจัย ก็คิดไม่ออกบอกไม่ได้ว่าตนเองต้องการรู้แจ้งแทงตลอดในเรื่องใด ในชีวิตไม่เคยมีเรื่องต้องการค้นคว้าเป็นพิเศษเลยเชียวหรือ! เมื่อจำเป็นต้องทำวิจัย งานวิจัยจึงออกมาแกนๆกระท่อนกระแท่น ไม่มีพลังพอที่จะลงจากหิ้งได้..หาคนสนใจเอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ทำให้เกิดความสูญเปล่างบประมาณและเวลาที่ทุ่มเทลงไป ทั้งๆที่สาระวิจัยเหล่านั้นอาจจะมีคุณค่ามากก็ได้ แต่ไม่ได้มองล่วงหน้าว่าจะขายความคิดนี้ให้กับกลุ่มไหนอย่างไร ถ้าไม่ปรับตรงนี้..สร้างหิ้งรออย่างไรก็ไม่พอเก็บงานวิจัยประเภทนี้หรอกนะครับ

: งานวิจัยไทบ้าน จึงยื่นมือมาขอแช็คแฮนด์ “มาทำวิจัยด้วยกันเถอะ”

ในบางประเทศเขาออกแบบเค้าโครงวิจัยแบบบูรณาการ

ชั้นแรก สถาบันส่งเสริมสนับสนุนทุนวิจัย ออกทุนให้นักวิจัยทำการวิจัยร่วมกับเจ้าของกิจการ 100% เพื่อสนับสนุนงานวิจัยต้นทางที่จำเป็นต้องได้รับการอุดหนุนเบื้องต้น

ชั้นที่สอง หลังจากทำการวิจัยได้ระดับหนึ่ง เกิดหมากผลเอาไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้พอสมควร เมื่อต้องการทำวิจัยต่อ สถาบันส่งเสริมสนับสนุนทุนวิจัยสมทบทุนให้ 50%

ชั้นที่สาม หลังจากทำการวิจัยจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ชุดความรู้ที่ได้สามารถเอาไปเพิ่มมูลค่าอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดผลตอบแทนคุ้มทุนคุ้มค่ากับ เจ้าของกิจการได้รับประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย สถาบันส่งเสริมสนับสนุนทุนวิจัยงดการให้ทุน ถ้าเจ้าของกิจการจะทำการวิจัยต่อยอดต่ออีก ฝ่ายดำเนินกิจการต้องออกทุนจ้างนักวิจัยมืออาชีพด้วยตัวเอง

: ด้วยวิธีนี้จะทำให้เกิดนักวิจัยมืออาชีพเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ทำให้เกิดระบบการจ้างนักวิจัยเพิ่มขึ้นจากการอุดหนุนของภาคธุรกิจ/เจ้าของกิจการต้องการวิจัยเรื่องใดมาสนองกิจการของตนเอง ก็สามารถติดต่อให้นักวิจัยเหล่านี้รับงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างกัน นอกจากงานวิจัยก็จะเกิดขึ้นประโยชน์อย่างกว้างขวางแล้ว ยังเป็นการสร้างนักวิจัยอาชีพเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบที่มีเจ้าภาพรองรับแทนสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมทุนของภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว ตัวต่อจุดนี้ทำให้นักวิจัยไทบ้านมีความหมายในฐานะกาวเชื่อมระบบวิจัยให้ก้าวหน้าไงครับ?

: มีตัวอย่างงานวิจัยไทบ้านบ้างไหม?

จะเอาแบบไหนละครับ ถ้าเอาตัวอย่างงานวิจัยสมัยก่อนมีมากมาย ยกตัวอย่าง เช่น ชาวบ้านไม่มีรถแทรกเตอร์ลากซุงไม้ออกจากป่าไม้เหมือนสมัยนี้ นักวิจัยไทบ้านก็ชวนกันไปคล้องช้างป่ามาใช้งาน ก า ร ค ล้ อ ง ช้ า ง ป่ า มันง่ายไหมละครับ กว่าจะสะสมชุดความรู้ขึ้นมาจนเป็นตำราคชศาสตร์ นักวิจัยไทบ้านต้องลงทุนลงแรงทำการวิจัยอย่างสุดจิตสุดใจ ล้มหายตายไปเพราะการต่อช้างกี่ร้อยชีวิตแล้วก็ไม่ทราบได้ คล้องช้างป่าได้แล้ว ต้องมาหาวิธีฝึกช้างให้เชื่องไว้ใช้งานได้ตามความประสงค์

อีกตัวอย่างหนึ่งง่ายๆ ชาวบ้านเอาไม้ไผ่มาใช้ประโยชน์ได้นานัปการ ทำการจักสานเป็นของใช้ไม้สอย เอามาสร้างบ้าน เครื่องมือดักจับสัตว์ เครื่องดนตรี เชื้อเพลิงฯลฯ สรุปว่าทำได้นับร้อยนับพันอย่าง การก่อเกิดสิ่งประดิดประดอยเหล่านี้ เรียกว่า..ผลงานวิจัยได้ไหมครับ หรือการที่แม่ครัวหัวป่าส์เหล่าเสน่ห์จวักทั้งหลาย คิดเมนูอาหารไทยขึ้นมาจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก เป็นอัตลักษณ์-เอกลักษณ์ประจำชาติ ..สิ่งเหล่านี้จะเรียกว่างานวิจัยไทบ้านได้ไหมครับ รึ จะต้องทำการถอดรหัสเป็นขั้นเป็นตอน สกัดผลการคิดค้นให้ออกมาเชิงวิชาการ หรือนำไปเป็นตำราในต่างประเทศ ไผ่จึงเป็นโจทย์ที่นักวิจัยไทบ้านเห็นว่ามีความสำคัญอย่างมากทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

(ไผ่ใครๆก็รู้จัก แต่ถ้าจะให้รู้อย่างลึกซึ้งครบกระบวนการต้องทำการวิจัย)

: ไผ่ ให้ผลผลิตเร็วและต่อเนื่อง ถ้าใช้เทคโนโลยีเข้าปรับปรุงคุณภาพ/คุณสมบัติ ไม้ไผ่จะใช้แทนไม้ทั่วไปได้อย่างดี

: ไผ่ ขึ้นที่ไหน ดินดีที่นั่น

: ไผ่ ใช้เป็นวัสดุเชื้อเพลิงได้หลากหลาย ทั้งผลิตก๊าชชีวมวลได้ดี

: ไผ่ มีนับร้อยสายพันธุ์ พันธุ์กินหน่อ พันธุ์ใช้ลำต้น พันธุ์ไม้ประดับ

: ไผ่ ควรเป็นไม้เบิกนำเชิงรุกในการแก้วิกฤติสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน

: ไผ่ ปลูกง่าย ลงทุนต่ำ เก็บเกี่ยวประโยชน์ต่อเนื่องระยะยาว

: ไผ่ เป็นปัจจัยการผลิตเบื้องต้นในการส่งเสริมอาชีพได้นานัปการ

: ไผ่ ช่วยอุ้มดินอุ้มน้ำ รักษาสภาพผิวดินได้ดี

: ไผ่ ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพได้นับหมื่นนับแสนครัวเรือน

: ไผ่ เหมาะที่จะเป็นโจทย์เพื่อการวิจัยอย่างยิ่ง

: ไผ่ เป็นไม้ที่ไม่ควรมองข้าม

: ถ้าติดตรงจุดนี้ ก็ช่วยๆกันทำให้เข้าหลักเข้าเกณฑ์สิครับ

ไม่อย่างนั้นเราจะเอาอะไรไปอธิบายว่าประเทศไทยก็มีแบบแผน มีต้นทุน มีวิธีวิจัยที่เป็นเนื้อแท้ มีโจทย์ มีวิธีคิด วิธีทำการวิจัยในสไตล์ของไทยแท้ๆ ถ้าเรามองข้ามตรงจุดนี้ การสร้างรากฐานงานวิจัยก็จะยังอิหลักอิเหลื่อ จะนำเสนอผลงานวิจัยก็ได้แต่ไปคิดไปอ้างไปยกเอาคำพูดหรือความเห็นของนักวิจัยต่างด้าวมายืนยัน จะหาคำยืนหยัดจากของไทยเราเองไม่มีเลย

: เราไม่คิดที่จะสร้างอัตลักษณ์วิจัยไทยแท้ๆขึ้นมาเลยหรือครับ

: ถามว่า เรายืนอยู่จุดไหนของเวทีวิจัยโลก ถ้าเรายังอ้างแต่ต่างด้าวร่ำไป

: เราไม่เฉลียวใจดูประเทศในเอเชียที่เขายกระดับการพัฒนาจนสำเร็จเลยหรือ

: ตัวอย่างงานวิจัยไทบ้านในมหาชีวาลัยอีสานเป็นอย่างไร?

แหม เรื่องการวิจัยแบบบ้านๆมีเยอะครับ แถมสนุกๆทั้งนั้น

· ด้านอาหารการกินจัดอยู่ในหมวด “งานวิจัยที่ชิมได้”

· ด้านการเลี้ยงปศุสัตว์จัดอยู่ในหมวด “งานวิจัยที่อุ้มได้”

· ด้านการป่าไม้จัดอยู่ในหมวด “งานวิจัยที่ให้ออกซิเจนได้”

เรื่องนี้พูดไปก็จะหาว่าโม้ อันที่จริงสิ่งที่ชาวบ้านดิ้นรนแสวงหาความรู้มาแก้ไขปัญหาในการทำมาหากินในการประกอบอาชีพ จำเป็นต้องอาศัยวิชาความรู้

: วิชา+อาชีพ=วิชาชีพ

ถ้าไม่พัฒนาให้เป็นมืออาชีพ ก็จะเป็นได้เพียงมือสมัครเล่น

การที่ประชาชนคนไทยขาดการสนับสนุนให้เป็นนักวิจัย-เป็นผู้เรียน-ผู้อยากรู้อยากเห็น-อยากค้นคว้า-อยากทดลอง-ตรงนี้ละครับที่เป็นหัวใจของการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยควรจะลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการวางแผนแม่บทส่งเสริมและพัฒนาระบบการวิจัยอย่างกว้างขวางให้กับผู้คนทุกชนชั้น ควรจะเอ็กซเรย์ให้เห็นจุดวางรากฐานงานวิจัยไทบ้าน ไปเชื่อมโยงกับระบบงานวิจัยของสำนักวิจัยในสถาบันต่างๆ

: กระบวนการดังกล่าวนี้ควรจะยืดหยุ่น

: ยินยอมให้ลองผิดลองถูก

: ใจเย็นพอที่จะรอดูการผุดพรายของงานวิจัยที่ค่อยๆงอกเงยขึ้นมา

: อย่าตัดสินว่าใช่ไม่ใช่โดยไม่วิเคราะห์เบื้องหลังและฟังเหตุผลให้ถ่อแท้

ที่ฝรั่งเข้มแข็งทางด้านการวิจัย เขาไม่ได้สร้างขึ้นมาภายใน10-100ปีหรอกนะครับ เป็นแต่ชาวตะวันตกมีวัฒนธรรมของการคิดค้นเพื่อแสวงหาวิธีที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดีขึ้น วิสัยทัศน์ชาวตะวันตก..ต้ อ ง ก า ร ที่ จ ะ ส น อ ง กิ เ ล ศ สิ่งไหนจะสะดวกสบายต่อการดำเนินชีวิตก็พยายามคิดค้นกันอย่างเต็มสติกำลัง พลังของการอยากรู้อยากเห็นส่งผลให้เกิดการปฏิวัติทางด้านอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาการอยู่ตลอดเวลา ตรงกันข้ามกับชาวตะวันออกที่มี แ น ว คิ ด ใ น ก า ร กำ กั บ ค ว บ กิ เ ล ศ พยายามทำอะไรอยู่ในกรอบที่สะดวกสบายตามสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ ใช้ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นยุทธศาสตร์

แต่ใช่ว่าชาวตะวันออกจะปรับเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้

ดังจะเห็นว่าประเทศญี่ปุ่น จีน อินเดีย เกาหลี ก้าวพ้นข้อจำกัดดังกล่าว

เมื่อเขารู้ว่า..อานุภาพงานวิจัยมีความสำคัญต่ออัตราความก้าวหน้าประเทศ

( โคกินใบไม้ไม่แปลกหรอก แต่ถ้าต้องการรู้ว่าดีและพิเศษอย่างไรต้องทำการวิจัย)

: งานวิจัยเรื่องการเอาใบไม้มาเลี้ยงโค

ขออนุญาตเท้าความเล็กน้อย มหาชีวาลัยอีสานดำเนินการปลูกป่าไม้ในพื้นที่แห้งแล้งมาตั้งแต่ปี พ..2521 ในพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ ได้เปลี่ยนพื้นที่โล่งเตียนมาเป็นต้นไม้นานาชนิด เห็นว่าวัชพืชที่เกิดขึ้นในป่าไม้น่าจะเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไปได้ จึงทดลองเลี้ยงโคเนื้อเรื่อยมา จนกระทั้งความแห้งแล้งมาเยือนอย่างรุนแรงในปีที่ผ่านมา ทำให้หญ้าต่างๆที่ปลูกไว้แห้งกรอบไม่เพียงพอต่อความต้องการของสัตว์เลี้ยง

โคทุกตัว เปลี่ยนจากโคเนื้อเป็นโคหนังหุ้มกระดูก

บอกพ่อค้ามาดู ต่างส่ายหน้าไม่รู้จะซื้อโคซี่โครงโผล่ไปทำอะไร

เมื่อความทุกข์เข้ามาเยือน ทำให้เกิดการดิ้นรนที่จะแสวงหาทางออก จึงทำลองไปตัดกิ่งไม้ชนิดต่างๆมาทดลองให้โคกินปะทังความอดอยาก ชาวบ้านบอกว่า”กินกันตาย” จะเป็นเพราะโคหิวจนหน้ามืดตาลายหรืออย่างไรไม่ทราบได้ ทุกตัวตั้งอกตั้งใจเขมือบใบไม้อย่างรีบเร่ง อิ่มแล้วก็ไปนอนเคี้ยวเอื้อง เวลาผ่านไป 6 เดือน โคตานขโมยฝูงดังกล่าวค่อยๆมีน้ำมีนวล มีเนื้อมีหนังอ้วนท้วนขึ้น

นักวิจัยไทบ้านเกิดกำลังใจอย่างมาก ตัดใบไม้ชนิดต่างๆมาลองให้โคชิมอยู่เรื่อยๆ สอบถามจากชาวบ้านที่ต้อนโคเลี้ยงตามป่าเขาต่างๆ ได้รับคำบอกเล่าว่า..โคไม่ได้กินเฉพาะหญ้าหรอกนะ ใบไม้ยอดไม้ชนิดต่างๆโคก็เดินและเล็มไปเรื่อย เจอใบไม้หรือผลไม้ป่าที่ชอบถึงกับยืนรอเลยเชียวแหละ เมื่อได้เค้าจากทุกทิศทุกทาง เราก็ประมวลผลไม้ว่ามีใบไม้ชนิดไหนบ้างที่โคชอบ หรือที่ชาวบ้านตัดให้โคกินเสริมอาหารในช่วงแล้ง

หลังจากนั้นใบไม้ชนิดต่างๆก็ทยอยมาเลี้ยงโคหลากหลายชนิด เช่น ใบไทร ใบมะม่วง ใบขนุน ใบกล้วย ใบกระถิน ใบข่อย ใบมะขามเทศ ใบก้ามปู ใบแดง ใบกระถินณรงค์ ใบมันสำปะหลัง ยอดอ้อย ใบขี้เหล็ก ฯลฯ นอกจากนี้ยังเอาใบผักพื้นถิ่นและวัชพืชต่างๆมาเลี้ยงโคด้วย

เพื่อช่วยให้โคเหล่านี้กินอาหารได้สะดวก มหาชีวาลัยอีสานใช้เครื่องสับกิ่งไม้มาสับใบไม้เลี้ยงโค กิ่งไม้ต่างๆผ่านเครื่องสับออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ เอาซ้อมตักใส่ราง..โคเคี้ยวกันแก้มตุ้ม เศษกิ่งไม้ที่ปนมา นึกว่าจะเป็นปัญหาไปทิ่มแถงกระเพาะโค พบว่าโคฉลาดมาก ใช้ลิ้นเตะออกเลือกกินเฉพาะใบไม้ ส่วนเศษกิ่งไม้เล็กๆก็ตกอยู่ก้นรางอาหาร คนเลี้ยงตักโยนเข้าไปในคอกสะสมเป็นปุ๋ยได้อีก

งานวิจัยทำให้เกิดชุดความรู้ใหม่เกี่ยวกับการปลูกป่าไม้ในระดับชุมชน ปัจจุบันมีชนิดไม้ให้เลือกปลูกแล้วเอามาใช้ประโยชน์ได้เร็ว ยกตัวอย่างเช่น การปลูกไม้อะคาเซีย ซึ่งเป็นไม้ตระกูลถั่ว เนื้อไม้ใช้ก่อสร้างได้ดี ใบเหมาะที่จะเอามาเลี้ยงสัตว์ ปลูกง่ายโตเร็ว สามารถตัดสางขยายระยะเอามาใช้งาานได้ภายใน7 ปี เป็นต้นไป

ยุคนี้ไม้ต้องไปปลูกไม้เนื้อแข็งที่โตช้าและรอเวลานานๆแล้วละครับ

ปลูกไม้เนื้อแข็งโตพอประมาณขนาดต้นกล้วย

ก็นำมาแปรรูปใช้งาน โดยใช้เทคโนโลยีไม้ประสาน

เราก็จะมีไม้ใช้สอยสร้างบ้านและทำเครื่องเรือน

ร่นระยะจากความคิดเดิมๆที่ปลูกต้นไม้แล้วรอ 4-50 ปี

: ถามว่า วิธีที่ค้นพบนี้เพียงพอแล้วใช่ไหม

เพิ่งจะเริ่มต้นตั้งไข่เท่านั้นละเธอ

มันเป็นเพียงจุดเริ่มของงานวิจัยไทบ้านเท่านั้น ..

มีคำถามโผล่มามากมาย

· เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใบไม้แต่ละชนิดมีคุณค่าหรือมีพิษต่อสัตว์เลี้ยง

· ใบไม้แต่ละชนิดมีสารอาหารแตกต่างกันอย่างไร

· ถ้าเอาใบไม้ผสมเลี้ยงสัตว์ ควรจะมีสัดส่วนผสมในแต่ละชนิดอย่างไร

· ใบไม้ชนิดไหนบ้างที่เราควรจะปลูกเพื่อนำมาเสริมใบไม้ที่มีอยู่เดิม

· โคแต่ละตัวต้องการสารอาหารจากใบไม้ปริมาณเท่าใด

· นอกจากใบไม้ยังมีวิธีอื่นมาเสริมอีกไหม

· จะรู้ได้อย่างไรว่าโคชอบใบไม้ชนิดไหนมากที่สุด

: คำถามมีมาให้ค้นหาตอบไม่จบสิ้น โจทย์มาจากการสังเกตที่เกิดขึ้นกับกระบวนการเลี้ยงและดูที่ตัวโค ปัญหาอยู่ที่ว่า..เ ร า จ ะ ไ ป เ อ า คำ ต อ บ ม า จ า ก ที่ ไ ห น อาศัยความรู้ของภูมิปัญญาท้องถิ่น ก็คงได้คำตอบมาระดับหนึ่ง ไม่เพียงพอที่จะตอบในเชิงวิชาการได้ ตรงจุดนี้ละครับที่ นั ก วิ จั ย ไ ท บ้ า น ต้องการตัวช่วย โ ห ย ห า นั ก วิ จั ย เ ชิ ง วิ ช า ก า ร

จะเห็นว่า..มีความต้องการที่จะขอความร่วมมือจากนักวิจัยในสถาบันต่างๆเพียงแต่จุดที่จะมาพบกันครึ่งทางนี้ยังไม่มีระบบเชื่อมโยง นักวิจัยไทบ้านต้องดิ้นรนไปติดต่อขอความร่วมมือนักวิชาการในสถาบัน โดยอาศัยความสนิทสนมส่วนตัว ในการติดต่อขอความรู้เบื้องต้น

ถ้าจะให้วิเคราะห์คุณค่าสารอาหารในใบพืช

หรือคิดค้นสูตรอาหารตามหลักวิชาการ

จำเป็นจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการวิจัย

ถ้าสถาบันที่สนับสนุนงบประมาณส่วนนี้

งานวิจัยไทบ้านก็จะเดินหน้าฉะลุย

สามารถต่อแขนต่อขางานวิจัยให้เข็มแข็งได้

เช่น งานส่งเสริมการปลูกป่าไม้หลากหลายวัตถุประสงค์ การส่งเสริมอาชีพที่เอื้อต่อสภาพแวดล้อม การผลิตปุ๋ยจากมูลสัตว์ การผลิตพลังงานชีวภาพจากมูลสัตว์ การปลูกพันธุ์ไม้เพื่อการวิจัย การสร้างธนาคารแม่ไม้พันธุ์ดี การชี้แนะวิธีการเลือกปลูกพันธุ์ไม้ที่ยั่งยืน

จุดพิเศษของเรื่องนี้อยู่ที่ ชาวบ้านไม่ต้องตัดต้นไม้ ตัดเอากิ่งเอาใบหมุนเวียนมาใช้ประโยชน์ อนึ่ง วิธีนี้ทำให้ชาวบ้านมองเห็นการได้ประโยชน์จากการปลูกต้นไม้มากขึ้น ทำให้เกิดแรงกระตุ้นที่จะปลูกต้นไม้มากขึ้น เกิดการเอากิ่งไม้ใบไม้มาสร้างประโยชน์หลากได้ขึ้น ที่สำคัญงานวิจัยเรื่องนี้ช่วยให้คำตอบเบื้องต้น..

(แพะเลี้ยงด้วยใบไม้อย่างเดียวก็อยู่ได้ แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นต้องทำการวิจัย)

1. พบวิธีแก้ปัญหาเรื่องอาหารสัตว์ที่มีต้นทุนประหยัด

2. พบวิธีการประกอบอาชีพที่ไม่เสี่ยงต่อความแห้งแล้งและโรคแมลง

3. พบวิธีที่จะมีรายได้เสริมเช่น ผลิตอาหารสัตว์ ผลิตปุ๋ยจำหน่าย

4. พบวิธีที่จะแตกยอดกิจกรรมเช่น การเลี้ยงแพะแกะ

5. พบวิธีที่จะทำการศึกษาวิจัยไปสู่การงานเพาะปลูกแบบประณีต

6. พบวิธีที่จะศึกษาวิจัยเรื่องไวน์และกราวเครือขาว

7. พบวิธีที่จะยกระดับรายได้อย่างเป็นรูปธรรม

มองถึงการเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาทีละเปลาะ

เพื่อนำไปสู่การปรับสภาพการทำกิจกรรมให้ดีขึ้น

: ยกตัวอย่างเรื่องต้นไม้

เริ่มจากการ-เพาะชำกล้าไม้-ปลูกต้นไม้–คัดพันธุ์ไม้–ตั้งธนาคารแม่ไม้-แปลงสาธิตชนิดต้นไม้เพื่อการวิจัย-จัดทำแปลงปลูกผักยืนต้นพื้นเมืองระยะชิด-แปลงสาธิตการปลูกไม้พลังงานทดแทน-แปลงสาธิตการปลูกไม้ไผ่ป่าไม้-แปลงสาธิตการปลูกไม้โตเร็ว-แปลงสาธิตการปลูกไม้ผสมผสาน-ทำการแปรรูปไม้-ทำเครื่องเรือน-สร้างบ้าน-เผาถ่าน-สับกิ่งไม้ทำปุ๋ย

หลังจากทดลองเอาใบไม้มาเลี้ยงโค ทำให้เกิดความสนใจที่จะคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่มีคุณสมบัติต่อการเลี้ยงปศุสัตว์ วางแผนที่จะวิเคราะห์ข้อมูลคุณสมบัติของใบไม้ เพื่อค้นหาสูตรอาหารที่เหมาะสม และแตกยอดออกไปยังการผลิตอาหารสัตว์จากใบไม้

การเลี้ยงโคขังคอก แทนการต้อนโคไปหาหญ้า เปลี่ยนเป็นเอาหญ้าใบไม้มาเลี้ยงโค โดยใช้เครื่องสับกิ่งไม้สับย่อยให้โคกิน พบว่าโคกินอาหารสับได้มากขึ้น ทำให้เหลือกากอาหารน้อย มูลโคที่ได้มีจำนวนมาก เท่ากับโคเป็นโรงงานผลิตปุ๋ยที่ราคาถูกและดีที่สุดในโลก ปุ๋ยอินทรีย์เหล่านี้ยังนำไปปรับปรุงโดยการหมักผสมกับวัตถุอย่างอื่นให้มีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งโรงงานปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการใช้และจำหน่ายได้อีก นอกจากนี้ยังนำมูลโคไปหมักทำแก๊สชีวภาพสร้างพลังงานพึ่งตนเองได้ด้วย จากต้นไม้ นำไปสู่การเลี้ยงปศุสัตว์ คิดหยาบๆก็จะเห็นว่าการเอาต้นไม้กับปศุสัตว์มาอยู่ในระนาบเดียวกัน ต่างพึ่งพาซึ้งกันและกัน

นำไปสู่ช่องทางการส่งเสริมปลูกต้นไม้ที่เกษตรกรเป็นผู้ดำเนินการ

นำไปสู่การประกอบอาชีพปศุสัตว์ที่ปรับปรุงวิธีการเลี้ยงที่ประหยัด

นำไปสู่การวิจัยด้านการป่าไม้

นำไปสู่การวิจัยด้านการพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์โค –ผสมเทียม-เลี้ยงขุน

นำไปสู่การเขียนแผนแม่บทเพื่อพัฒนาการงานอาชีพและสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการ

(ไม้ต้นเดียวเป็นป่าไม่ได้สร้างบ้านไม่พอฉันใด ทำวิจัยเดี่ยวก็ฉันนั้น)

: Keyword

วันนี้เราอยู่กับความรู้อะไร ?

ความรู้เราพอเพียงพอใช้แล้วใช่ไหม ?

นักวิจัยเชิงวิชาการ ม า จั บ มื อ กั บ นักวิจัยไทบ้านกันเถิด

ช่วยกันสร้างรากฐานงานวิจัยให้ประเทศของเรา

เพื่อสร้างบรรยากาศการวิจัยให้ชื่นมื่นอี๋อ๋อไปด้วยกัน


งานวิจัยไทบ้านอยู่ไส?

อ่าน: 3549

บทที่ 4 เปิดโลกวิจัยสู่สังคมเรียนรู้

ปลายเดือนนี้ มหาชีวาลัยอีสานมีรายการจะเอามะพร้าวห้าวไปขายสวนที่บางกอก ในงานที่สำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติจัดให้มีการนำเสนอผลงานวิจัยประจำปี 2554 ระหว่างวันที่26-30 สิงหาคม งานนี้ชุมนุมเจ้ายุทธจักรนักวิจัยในระบบทั่วไทยแลนด์ ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนแวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ราชประสงค์ สำนักงานฯได้ชักชวนให้มหาชีวาลัยเสนอประเด็นเรื่อง “ปัญหาและอุปสรรคของงานวิจัยไทบ้าน” วันที่ 27 สิงหาคม 2554 เวลา 9.00-12.00 น. ห้องLotus ชั้น 22

งานนี้นับเป็นโอกาสที่หายากยิ่ง ที่ชาวบ้านผู้ซึ่งต้องการผลงานวิจัยของนักวิชาการและหน่วยงานต่างๆมาช่วยคลี่คลายปัญหาในวิถีชีวิต จะได้ไปบอกกล่าวถึงสภาพการใช้งานวิจัยที่หลุดตกลงมาจากหิ้งว่าเป็นอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่จะยกระดับงานวิจัยไทบ้านเข้าไปอยู่ในระบบของสภาวิจัยฯ หรือ จัดให้มีการพบกันครึ่งทางร่วมมือกันระหว่างผู้ใช้งานวิจัยกับผู้ทำการวิจัยอย่างที่ในต่างประเทศเขาทำกัน

ขั้นที่ 1 สถาบันสนับสนุนการวิจัยออกทุนงานวิจัย 100%

ให้นักวิชาการกับนักวิชาเกินไทยบ้าน ได้ทำการวิจัยร่วมกัน

ขั้นที่ 2 สถาบันสนับสนุนการวิจัยออกทุนสมทบงานวิจัย 50%

ที่เหลือให้นักวิจัยไทบ้านออกทุนกึ่งหนึ่ง

ขั้นที่ 3 ถ้าต้องการพัฒนาการวิจัยให้สูงขึ้น ผู้รับประโยชน์ออกทุนเอง100%

ถ้ามีทิศทางดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่าถ้าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยทำให้เกิดรายได้ สามารถที่จะเฉลี่ยออกมาเป็นทุนวิจัยได้ โดยขั้นที่ 2 สถาบันวิจัยมีภาระสนับสนุนลดลงกึ่งหนึ่ง ในขั้นสุดท้ายเมื่อมีรายได้หรือเกิดผลประโยชน์มาแล้ว ถ้านักวิจัยไทบ้านต้องการวิจัยต่อ จะต้องออกค่าใช้จ่ายให้นักวิชาการวิจัยทั้งหมด ตามแผนงานดังกล่าวนี้จะเห็นแนวทางการสร้างนักวิจัยมืออาชีพได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งทำให้เกิดอาชีพ”นักวิจัย”อิสระเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

ซึ่งน่าจะดีกว่าทำวิจัยตามใจฉันแล้วหาคนเอาไปใช้งานไม่ได้

ความรู้ดีๆที่อุตส่าห์ค้นคว้ามาแทบเป็นแทบตายหงายเก๋ง

ไม่สามารถแสดงอภินิหารกระโดดโลดเต้นออกมาจากหน้ากระดาษได้

ทำให้ผลประโยชน์งานวิจัยที่มีอยู่มากเดินทางไม่ถึงจุดหมายปลายทาง

(ถ้าคิดใหม่ ทำใหม่ ก็จะพบสิ่งใหม่ๆ)

ยุคนี้มนุษย์ทุกผู้ทุกนามตกอยู่กับความเปลี่ยนแปลง ภาคชุมชนก็ตกอยู่กับอาการดังกล่าวนี้ด้วย ทำให้การพัฒนาการด้านวิชาชีพเป็นไปอย่างลุ่มๆดอนๆ เพราะไม่มีชุดความรู้ที่เหมาะสมมาช่วยแก้วิกฤติแห่งความบ้องตื้นได้ การทำมาหากินสมัยนี้ต้องอาศัยวิชาการมาพัฒนาอาชีพ วิชา+อาชีพ=วิชาชีพ ถ้ายกระดับความเป็นมืออาชีพไม่ได้ ก็จะตกอยู่ระดับมือสมัครเล่น ในอดีตเราจะเห็นชาวไร่ชาวนาเป็นมืออาชีพ สามารถดำเนินชีวิตได้การพึ่งพาภูมิปัญญาและทักษะชีวิตของตนเองได้อย่างสมบูรณ์ แทบไม่ต้องพึ่งพาภายนอกใดๆ ต้องการได้ช้างมาลากซุงก็ไปคล้องช้างมาฝึกใช้งาน ต้องการได้เครื่องมือมาบรรทุกผลผลิตก็ช่วนกันสร้างล้อสร้างเกวียนขึ้นมาใช้ ต้องไถไร่ไถนาก็ฝึกวัวควายมาเป็นแรงงาน ถามว่า..ทำไมไม่ดำเนินการต่อไปละ

ก็บอกแล้วไง ยุคนี้ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง

ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงก็คงจะลากตะบองล่าสัตว์และยังอยู่เป็นมนุษย์ถ้ำ

ตัววิชาความรู้ของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัยสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นทุกวัน

ประเทศไหนที่มีวิชาความรู้มากก็เจริญและเอาเปรียบประเทศด้อยปัญญา

สินค้าที่แพงที่สุดในโลกก็คือสินค้าความคิดใหม่ที่แฝงอยู่ในทุกเทคโนโลยี

จะตั้งราคาจะกำหนดสิทธิบัตรเอาไว้อย่างไรก็ได้

ประเทศที่อ่อนด้อยทางวิชาการก็ตกอยู่ในสภาพกินน้ำใต้ศอก

ต้องนำเข้าทุน-นำเข้าความรู้-นำเข้าเทคโนโลยี-จ่ายค่าโง่ที่เจ็บปวด

ประชาคมโลกแข่งขันกันตรงผลงานการวิจัยนี่เอง

วิ ช า ค ว า ม รู้ ใ ห ม่ ๆ คื อ อำ น า จ

(การใช้ใบไม้เลี้ยงโค-แพะ เป็นโจทย์วิจัยของเรา)

ถามว่า ชาวบ้านละ มีการวิจัยช่วยเหลือตัวเองบ้างไหม หรือดีแต่งอมืองอเท้ารอให้คนอื่นมาแนะนำมา มาอบรม มาชี้นิ้วบอก ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ หรือไม่ก็ฟังมาจากการโฆษณาจากสื่อต่างๆ ส่วนใหญ่ก็จะตกอยู่ในประมาณนี้ จุดบอดอยู่ที่คนบอกก็ไม่ได้ลงมือกระทำครบวงจร เป็นแต่ค้นคว้าลงลึกไปเรื่อยๆ บางที่ก็ไม่คำนึงถึงวิธีการถ่ายทอดไว้ด้วย มันจึงดูไม่ลงตัวทั้งเครื่องรับและเครื่องส่ง ยกตัวอย่างเช่นโทรทัศน์ ถ้าเราเปิดไม่ตรงช่องมันก็ยากที่จะเห็นภาพ ทั้งๆที่มันมีภาพพร้อมรออยู่แล้ว เพื่อแก้ปัญหาตรงจุดนี้ เป็นไปได้ไหมที่นักวิจัยจะมาทำการวิจัยร่วมกับชาวบ้านแบบพบกันครึ่งทาง จะได้ลดขั้นตอนการแปรรูปวิชาความรู้ได้อย่างมาก

(การค้นพบวิธีปลูกต้นไม้ที่เร็วและประหยัดต้นทุนเป็นกรณีศึกษา)

จึงแจ้งข่าวชวนชาวเฮฮาศาสตร์ไปโต๋เต๋และร่วมนั่งวิพากษ์เกี่ยวกับประเด็นนี้ ที่หมายตาและชวนไว้แล้วได้แก่ท่านจอหงวน รศ.ดร.ทวิช จิตรสมบูรณ์  “คนถางทาง” ที่ปักหลักก่อหวอดเรื่องโน้นเรื่องนี้ไม่เว้นวาย จุดพิเศษอยู่ที่อาจารย์เป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับนาสา ประกอบกับสนใจแก่นสารงานภูมิปัญญาไทย ได้รวบรวมสิ่งประดิษฐ์ที่สะท้อนให้เห็นวิธีการวิจัยของไทบ้าน อาจารย์เคยอธิบายว่า แม้แต่ละไลยักษ์ เครื่องหีบอ้อย เครื่องหีบน้ำมันงา ฯลฯ ที่จัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีนั้น เป็นตัวจริงตัวงานวิจัยของจริงที่ใครก็ไปสัมผัสได้ ถ้าพิจารณาให้ดีมันไม่ใช่ทรากของเก่าที่เอามาดูมาโชว์เท่านั้น

มันเป็นต้นทุน และ ต้นทาง ให้นักวิจัยยุคนี้เอาไปคิดต่อยอด

แต่ก็นั่นแหละ..ในเมื่อเราไม่มีจิตวิญาณของนักวิจัย

ไม่มีสายตาเอกซเรย์แบบนักวิจัย

เราไม่มีสัญชาตญาญของนักวิจัย

เ ร า จึ ง ม อ ง ไ ม่ เ ห็ น อ า นุ ภ า พ ง า น วิ จั ย ไ ท บ้ า น

พูดไปก็ไลย์บอย เมื่อมีโอกาสไปขายความคิดในเรื่องนี้ ก็จะบอกกล่าวเล่าแจ้งว่า ถ้าสนับสนุนชาวบ้านให้เป็นนักวิจัยตามอัตลักษณ์ของเขาเอง ลงทุนทำอย่างต่อเนื่อง อาจจะเขี่ยเอาวิสัยทัศน์เก่าๆออกมาได้ เช่น ถ้าชาวบ้านอยากจะรู้ว่าในหมู่บ้านของตนเองควรจะปลูกผลไม้ชนิดไหนได้ผลดีที่สุด ก็ควรเอาผลไม้ชนิดนั้นหลายๆสายพันธุ์มาทดลองปลูก แล้วติดตามดูผลผลิตผลลัพธ์อย่างละเอียด ก็จะทราบว่าผลไม้ต้นไหนดีที่สุด ชนิดไหนอยู่ในระดับรองสองสาม เมื่อรู้ข้อเท็จจริงแล้วก็ส่งเสริมให้ปลูกกันมากขึ้น แล้วทดลองยกระดับคุณภาพของผลไม้ชนิดนั้นต่อไปอีก จนได้เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ดังคำว่า ..ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวสวย ทำให้เกิดสายพันธุ์ไม้ผลคุณภาพประจำถิ่นชนิดต่างๆ เรื่องลักษณะนี้มีอยู่ทั้วไป เช่น กล้วยไข่กำแพงเพชร มะขามหวานเมืองเพชรบูรณ์ ฯลฯ

งานวิจัยที่มหาชีวาลัยจะนำเสนอมีมากมายหลายเรื่อง โดยจะหยิบยกเอาทั้งงานที่ค้นพบด้วยตัวเอง และงานที่เชื่อมโยงกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ในกรอบเศรษฐกิจพอเพียง-เกษตรประณีต-และการแก้ไขปัญหาในการงานอาชีพ ยกตัวอย่างเช่น กาารปลูกต้นไม้ เอาเอากิ่งใบมาสับเลี้ยงโคและแพะ การปลูกน้ำเต้า การนำหวดข่ามาหมักไวน์ การปลูกไผ่ ปลูกไม้อาคาเซีย แล้วอธิบายว่า..ตรงไหนคือผลของการวิจัยไทบ้าน ทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อตนเองและมีประโยนช์ต่อสังคมการเกษตรบ้านเราอย่างไร


ปลูกต้นไม้ -ไม่ต้องตัดลำต้น -ตัดเอาเฉพาะกิ่งไม้ทำฟืนทำเชื้อเพลิง-ใบไม้นำไปเป็นอาหารสัตว์-มูลสัตว์นำไปเป็นปุ๋ย-นำไปทำก๊าซชีวภาพ-นำไปใส่ต้นไม้และแปลงผัก งานลักษณะนี้อธิบายเรื่องแนวทางการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมของธรรมชาติได้อย่างมีเหตุมีผลเรียกความสนใจให้ผู้คนหันมาใส่ใจกับต้นไม้ได้อย่างจริงจังมากขึ้น เพราะเห็นช่องทางการได้รับประโยชน์ที่หลากหลายในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวชัดขึ้น โดยเอาประสบการณ์ตรงมาขยายความ..แล้งหนักปีที่ผ่านมาหญ้าแห้งตาย โคขาดอาหารอย่างมาก ผมอโซเห็นแต่หนังหุมกระดูก เมื่อเอาใบไม้มาสับเลี้ยงทดแทนหญ้าสด พบว่าโคฟื้นคืนสภาพอ้วนท้วนได้ จุดเล็กๆตรงนี้ละครับ ที่จะช่วยให้สัตว์ทั่วประเทศรอดตาย แล้วยังจะขยายผลไปสู่การแก้ไขปัญหาอาหารสัตว์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เห็นช่องทางที่ปรับปรุงงานการปศุสัตว์ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เช่นการปรับปรุงพันธุ์โค การยกระดับการเลี้ยงขุน มีโจทย์ร่วมกับนักวิจัยในสถาบัน เช่น ร้องขอให้นักวิชาการวิเคราะห์คุณค่าอาหารในใบไม้แต่ละชนิด วิเคราะห์การนำผลไม้มาหมักทำไวน์เลี้ยงโค การใช้หัวกราวเครือขาวมาผสมอาหารเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

(การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ช่วยให้ปลูกง่าย-ต้นไม้โตไว-งานเร็วขึ้น)

ทำให้เกิดการพิจารณาที่จะค้นหาชนิดของต้นไม้มาปลูกเพื่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ในงานนี้จะเสนอกลุ่มไม้อะคาเซีย ซึ่งใบเอามาเลี้ยงสัตว์ได้ เนื้อไม้มีคุณภาพสูงสามารถเอามาแปรรูปใช้สอยตั้งแต่ไม้มีอายุ7ปี ไม้อีกชนิดหนึ่งได้แก่ไม้ไผ่ ที่เรามองเห็นว่าจะเป็นไม้ที่มีความสำคัญมากในอนาคต ไม้ไผ่ปลูกที่ไหนก็ทำให้ดินดีขึ้น ไผ่บางชนิดให้หน่อทั้งปี ไผ่บางชนิดลำตรงเปลาตรงเนื้อไม้ดี สามารถตัดหมุนเวียนไปใช้งานได้ในปีที่3 ไผ่จึงเป็นชนิดที่ให้เนื้อไม้เร็วกว่าการปลูกไม้ยืนต้นทั่วไป ในงานนี้เราจะเอาหนอไผ่กิมซุงและหน่อไผ่หม่าจูไปให้ชมด้วย

(ตู้อบแสงอาทิตย์ ฝนตกก็บ่เป็นหยัง)

ส่วนน้ำเต้าปีที่แล้วปลูก20สายพันธุ์ ได้เอาวิชาความรู้ด้านการทำตู้อบแสงอาทิตย์ที่อาจารย์ทวิช จิตสมบูรณ์ ทำการวิจัยไว้ไปทดลองทำตู้อบขึ้นมา พบว่าตู้ดังกล่าวให้ความร้อนสูงมาก สามารถอบผลผลิตทางการเกษตรได้ทุกชนิด เช่น พริกแห้ง กล้วยอบ หน่อไม้อบแห้ง เนื้อแดดเดียว ปลาแห้ง อบสมุนไพร ฯลฯ งานนี้จะมีผลน้ำเต้าหลากสายพันธุ์และเมล็ดน้ำเต้าพันธุ์แปลกๆไปจำหน่ายด้วย  ยังมีงานที่ต้องตามเก็บเกี่ยวเอาไปโม้อีก เช่น การใช้สว่านเจาะดินปลูกต้นไม้ การจัดตั้งธนาคารแม่ไม้ การกลั่นน้ำมันยูคาลิปตัส การแปรรูปไม้สร้างบ้าน

การปลูกผักพื้นเมืองระบบชิด เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะเอาไปโม้ว่ามันดีอย่างไร ดีตรงไหน พิเศษจริงหรือเปล่า เสียดายที่เขาไม่ให้เอากระทะไปผัดโชว์ ไม่งั้นเธอเอย กลิ่นผัดผักกระทะร้อนกระจายฟุ้งไปทุกบู๊ทเชียวแหละ อาจจะใช้การฉายวีดีโอให้ชมแทน หรือไม่ก็จัดผักตัวอย่างไปให้ชม  งานวิจัยไทบ้านไม่ต้องขึ้นหิ้ง มีแต่จะขึ้นกระทะ ขึ้นจาน ขึ้นโต๊ะ ขึ้นโรงแรม และขึ้นเวทีงานวิจัย

หลังจากโพนทะนาเรื่องนี้ออกไป

เจ้าหน้าที่ฯบอกว่ามีผู้ลงทะเบียนเข้าห้องนี้หลายร้อยแล้วละครับ

หนังสือพิมพ์ ค ม ชั ด ลึ ก ไปได้ข้อมูลจากที่ไหนไม่ทราบ

เมื่อวานนี้โทรมาบอกว่า..ครูบาได้รับการคัดเลือกให้ไปรับโล่รับรางวัล

ตัดหน้างานวิจัยคราวนี้เสียอีก

เฮ้อ ..อะไรมันจะขนาดนั้นนนนนนน

ขออนุญาตประกาศ ประกาศ และประกาศ

ในช่วงวันที่ 27 ศกนี้

ถ้าท่านบางทรายย่องมาดูบ้านใหม่ ก็แวะมานะครับ

คุณหมอจอมป่วนถ้าลงมาเรียนสสส.3 ก็แวะมานะครับ

คุณรอกอสถ้าว่างจากช่วยงานน้ำท่วม ก็แวะมานะครับ

ท่านอื่นๆที่เผอิญมาบางกอกช่วงนั้น ก็แวะมานะครับ

เจอหน้าเมื่อไหร่ โยนไมค์เมื่อนั้น อิ อิ..

ช่วงนี้กำลังปั่นต้นฉบับ กะจะพิมพ์ให้ทันออกวางในงานนี้

ชื่อหนังสือ : งานวิจัย ให้ไทบ้านช่วยดีไหม?



Main: 0.09968090057373 sec
Sidebar: 0.063246965408325 sec