เรื่องยาวๆ ที่ไม่ใช่เพลงยาว

อ่าน: 3183

ได้รับการบ้านจากสภาวิจัยแห่งชาติให้ไปโม้ประเด็นนี้

บังเอิญยาวไปหน่อย ถ้าไม่มีเวลาก็เปิดข้ามไปเถิดนะครับ อิ อิ

(ทำไมแพะตัวเมียถึงมีเครา ถ้าอยากรู้ว่าเคราแพะมีประโยชน์หรือไม่ก็ต้องทำการวิจัย)

: ปัญหาของชาวบ้านกับการทำวิจัย

: ถ้าโจทย์ออกมาอย่างนี้

แสดงว่ามีผู้เข้าใจและสนใจเกี่ยวกับการวิจัยไทบ้านบ้างแล้ว

บางท่านอาจจะสงสัยว่าชาวบ้านต้องทำการวิจัยได้หรือ

พูดถึงงานวิจัย บางคนร้องโอ๊ก มองเป็นยาขมหม้อใหญ่

ทั้งๆที่ในความเป็นจริง..งานวิจัยเป็นขนมหอมหวานอร่อย

จริงหรือ จริงสิ แน่นะ อ๋อแน่สิ ..เชิญตามมา >>

: ประเด็นนี้ละครับที่จะต้องมาฉุกคิดกัน

โดยข้อเท็จจริงมนุษย์เราทุกผู้ทุกนามต่างก็มีความรู้ในตัวตนทั้งนั้นละครับ เพียงแต่สิ่งที่รู้และทักษะชีวิตมีหลายชั้นหลายระดับ เกิดเป็นความชำนาญที่หลากหลาย แยกแยะเป็นผู้ชำนาญการที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ช่าง” เช่น ช่างไม้ ช่างปูน ช่างก่อสร้าง ช่างทำเครื่องเรือน ช่างทำบ้าน ช่างทำเรือฯลฯ บ้างก็เรียกว่า “หมอ” หมอยา หมอพื้นบ้าน หมอทำขวัญฯลฯ บ้างก็เรียก”นายฮ้อย” หมายถึงผู้ชำนาญด้านการค้าขายเกี่ยวกับปศุสัตว์ บ้างก็เรียกว่า”ครู” ครูเพลง ครูดนตรีฯลฯ

: ผู้รู้เหล่านี้ปัจจุบันเรียกรวมๆว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่น”

ภูมิปัญญาเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

ธรรมชาติของคนเรา อยู่ที่ไหนก็ต้องดิ้นรนแสวงหาความรู้มาแก้ไขอุปสรรคในการดำเนินชีวิตให้เกิดความมั่นคงยิ่งขึ้น มนุษย์เริ่มวิจัยตั้งแต่สมัยลากตะบองอาศัยอยู่ในถ้ำ.. ต่อมาก็คิดค้นเรื่องการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์แทนที่การไล่ล่าสัตว์ซึ่งไม่แน่นอน เมื่อสภาพธรรมชาติเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ก็คิดค้นเอาหนังสัตว์มาทำเครื่องนุ่งห่มเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น คิดไปคิดมาก็ได้เสื้อผ้าถุงมือถุงเท้าที่มีคุณภาพสามารถสู้ทนกับความหนาวเย็นได้ พัฒนาการไม่หยุดนิ่งจนกระทั้งสามารถไปอาศัยอยู่ในเขตหนาวได้ ชาวเอสกิโมคิดได้แม้กระทั้งการสร้างบ้านด้วยก้อนน้ำแข็ง

: ความรู้เป็นพลังที่เปล่งประกายความสามารถ

ความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองแห่งยุคสมัยต่างๆ ทำให้เกิดโจทย์ใหม่ๆให้มนุษย์ต้องปรับปรุงความรู้ความสามารถตลอดเวลา ต่อเมื่อโลกมีการติดต่อไปมาหาสู่กันมากขึ้นเร็วขึ้น วิทยาการต่างๆได้เชื่อมโยงกันไปทั่วโลก กระตุ้นให้สังคมมนุษย์ในแต่ละยุคสมัยต้องดิ้นรนพัฒนาตนเองเพื่อความอยู่รอด และแข่งขันกันอยู่ในที

: วิทยาการใหม่ๆคืออำนาจ สามารถกำหนดความต้องการได้อย่างอิสระ จะเอาเปรียบจะกำหนดค่าวิชาความรู้ จะตั้งเกณฑ์สิทธิบัตรต่างๆนานา การซื้อขายสิทธิทางปัญญาเกิดขึ้นทั่วโลก

ประเทศที่ด้อยพัฒนาต้อง..

นำเข้าทุน

นำเข้าความรู้

นำเข้าเทคโนโลยีและวิทยาการ

ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “จ่ายค่าโง่” ในอัตราแพงลิ่ว

ทำให้ประเทศที่ล้าหลังเสียเปรียบอย่างยากที่จะดิ้นหลุด

ตราบใดที่ไม่ดิ้นรนค้นคว้าวิทยาการให้มีขีดความสามารถเทียบทัน

หลุดพ้นจากการจำต้องซื้อความรู้ของชาติอื่น

ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน อินเดีย สามารถพัฒนาการยกชั้นขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนารอบด้านได้อย่างน่าชื่นชม สามารถที่จะแลกหมัดความรู้ความสามารถกับชาติตะวันตกได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะประเทศพัฒนาใหม่เหล่านี้มีวิธีเรียนรู้ที่เข้มแข็งถึงลูกถึงคน ซึ่งหมายถึงการทุ่มเทสร้างนักวิจัยของชาติขึ้นมาอย่างมีแบบแผนเป็นระบบ

ประเทศอื่นๆเขาส่งคนไปเรียนในต่างประเทศ

ไม่ ไ ด้ ส่ ง ไ ป ใ ห้ จ ด จำ ว่ า ทำ อ ย่ า ง นั้ น อ ย่ า ง นี้

แต่ส่ง ไ ป เ รี ย น วิ ธี ทำ

เ มื่ อ ก ลั บ ม า ป ร ะ เ ท ศ บ้ า น เ กิ ด ก็ ท ด ล อ ง ทำ และ ทำ

ฝึกฝนพัฒนาทักษะความสามารถอย่างทุ่มเท

ทำให้นักพัฒนารุ่นบุกเบิกเหล่านี้สร้างต้นทุนวิทยาการและเทคโนโลยี

แล้วมาต่อยอดด้วยการช่วยกันวิจัยให้คมชัดยิ่งขึ้นอย่างกว้างขวาง

เกิดเป็นวิทยาการภายในของชาติตนเอง

เพื่อเอาไปเปรียบเทียบกับวิทยาการชาติตะวันตก

เปรียบเสมือนรางรถไฟที่วิ่งคู่กันไป

ก็จะเห็นว่าของเขาไปถึงไหน ของเราเป็นอย่างไร

สามารถเข้าไปยืนอยู่ในจุด..ที่ รู้ เ ข า รู้ เ ร า

ถ้าไม่เริ่มต้นจากเค้าโครงความรู้ที่เป็นเนื้อแท้ของเราเอง เราจะไม่หลงทางหรือครับ?

มองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ในช่วงที่ประเทศตะวันตกตระเวนเดินเรือนำปืนไฟไปยึดครองดินแดนต่างๆ คนพื้นเมืองเหล่านั้นหลังจากตื่นตระหนก ก็ต้องมาตระหนักกับความรู้ความสามรถที่เป็นต้นทุนของเผ่าพันธุ์ตนเอง “เกิดการเปรียบเทียบชุดความรู้อย่างกะทันหัน”

ทำอย่างไรจะสู้กับวิทยาการที่มีอิทธิฤทธิ์เหล่านั้นได้

จุดเหล่านี้เป็นพลังกระตุ้นต่อมความรู้ให้คิดค้นชุดความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ

เปรียบดั่ง หอก ดาบ ธนู จะสู้ปืนไฟไม่ได้หรอก

กรณีตัวอย่างที่ยกมาข้างบนนั้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้รู้ในสังคมอยู่เฉยไม่ได้แล้ว ต้องเร่งรีบปรับปรุงความรู้ความสามารถของตนเองอย่างแข็งขัน ผู้รู้ที่กล่าวถึงนี้ น่าจะเป็นนักวิจัยสายพันธุ์แท้ แสดงว่าในวิถีไทก็มีการฝึกฝน-มีการถ่ายทอด-พัฒนาการฝีมือจนกระทั้งเข้าเกณฑ์ความเชี่ยวชาญ จนเป็นที่ยอมรับว่ามีความสามารถทำกิจกรรมที่ตนถนัดได้บรรลุเรียบร้อย โดยไม่ต้องมีใบประกาศรับรองจากสำนักฯใดๆ อาศัยความเชื่อถือและชื่อเสียงที่ผ่านการพิสูจน์ผลงานซ้ำแล้วซ้ำอีก

ภูมิปัญญาท้องถิ่นในสาขาต่างๆ

ผู้เชี่ยวชาญเชิงช่างในพื้นถิ่นนี่เองที่ผู้เขียนเรียกว่า

“นักวิจัยไทบ้าน”

: ชาวบ้านทำวิจัยได้จริงหรือ?

: ชาวบ้านทำวิจัยลักษณะไหน?

: ชาวบ้านวิจัยออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร?

: ชาวบ้านมีปัญหาตรงไหน?

: งานวิจัยไทบ้าน อ ยู่ ที่ ก า ร ตี ค ว า ม

ท่านที่เถรตรงก็อาจจะเอากระบวนการงานวิจัยทางวิชาการมาจับ เอากรอบระเบียบวิธีวิจัยมาครอบ เอากฎเกณฑ์เชิงวิชาการมากำหนด ไปตีพิมพ์ในนิตยสารต่างประเทศได้หรือเปล่า เรื่องนี้ถ้าจับเข่าคุยกัน พบกันครึ่งทาง จะทำให้เห็นลายแทงงานวิจัยไทบ้าน ว่ามันมีความหมายความสำคัญ ไม่ได้แตกแยกไปออกไปจนสุดโต่ง แต่เป็นคุณประโยชน์อย่างมาก ถ้าจะหันมาร่วมมือและผนวกกำลังการวิจัยเข้าด้วยกัน

ปัญหาอยู่ที่ว่า..ถ้าจะทำแบบวิจัยไทบ้าน นักวิจัยเชิงวิชาการมีความรู้สึกว่ามันคนละรูปแบบกัน ทำอย่างนี้ไม่ได้หรอก หน่วยงานหรือองค์กรยังไม่ยอมรับ เอาไปตีพิมพ์ เอาไปขอความดีความชอบ เอาไปแสดงผลงานได้ยาก จึงไม่สนใจที่จะร่วมมือร่วมคิดร่วมทำกับนักวิจัยไทบ้าน เรียกรวมๆว่า..สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนักวิจัยยังไม่กระจ่างใจกับการวิจัยไทบ้าน

ทั้งๆที่การร่วมมือกันวิจัยกับไทบ้านจะได้โจทย์ที่ตรงประเด็น

เกิดประโยชน์โดยตรงต่อผู้ที่ต้องการใช้ผลงานวิจัย

งานวิจัยไทยจะเต็มรูปแบบและส่งผลต่อบริบทของงานวิจัยทั้งระบบ

: ความพิเศษของงานวิจัยไทบ้านอยู่ตรงไหน?

ผ ล ง า น วิ จั ย ไ ท บ้ า น ไ ม่ เ ค ย ขึ้ น หิ้ ง ไม่กองคากระดาษเปื้อนหมึก แต่กระโดดโลดเต้นท่ามกลางสายลมแสงแดด แทรกอยู่ในชีวิตประจำวัน กระจายว่อนอยู่ในความครุ่นคิดคำนึง เป็นชุดความรู้ที่มีการสะสาง-พัฒนาต่อยอด ตรงจุดนี้ละครับที่..นักวิจัยสายวิชาการจะมาช่วยต่อยอดหรือพัฒนาโจทย์ร่วมกัน

: เหตุผลที่โจทย์วิจัยควรมาจากผู้ที่ต้องการใช้ผลงานวิจัย

จุดเปราะบางงานวิจัยของนักวิจัยในสถาบันต่างๆ ส่ ว น ม า ก จ ะ ทำ วิ จั ย ต า ม ใ จ ฉั น บางท่านยังไม่ทราบว่าตนเองต้องการค้นคว้าเรื่องหนึ่งเรื่องใด เมื่อมีไฟล์ให้ต้องทำผลงานวิจัย ก็คิดไม่ออกบอกไม่ได้ว่าตนเองต้องการรู้แจ้งแทงตลอดในเรื่องใด ในชีวิตไม่เคยมีเรื่องต้องการค้นคว้าเป็นพิเศษเลยเชียวหรือ! เมื่อจำเป็นต้องทำวิจัย งานวิจัยจึงออกมาแกนๆกระท่อนกระแท่น ไม่มีพลังพอที่จะลงจากหิ้งได้..หาคนสนใจเอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ทำให้เกิดความสูญเปล่างบประมาณและเวลาที่ทุ่มเทลงไป ทั้งๆที่สาระวิจัยเหล่านั้นอาจจะมีคุณค่ามากก็ได้ แต่ไม่ได้มองล่วงหน้าว่าจะขายความคิดนี้ให้กับกลุ่มไหนอย่างไร ถ้าไม่ปรับตรงนี้..สร้างหิ้งรออย่างไรก็ไม่พอเก็บงานวิจัยประเภทนี้หรอกนะครับ

: งานวิจัยไทบ้าน จึงยื่นมือมาขอแช็คแฮนด์ “มาทำวิจัยด้วยกันเถอะ”

ในบางประเทศเขาออกแบบเค้าโครงวิจัยแบบบูรณาการ

ชั้นแรก สถาบันส่งเสริมสนับสนุนทุนวิจัย ออกทุนให้นักวิจัยทำการวิจัยร่วมกับเจ้าของกิจการ 100% เพื่อสนับสนุนงานวิจัยต้นทางที่จำเป็นต้องได้รับการอุดหนุนเบื้องต้น

ชั้นที่สอง หลังจากทำการวิจัยได้ระดับหนึ่ง เกิดหมากผลเอาไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้พอสมควร เมื่อต้องการทำวิจัยต่อ สถาบันส่งเสริมสนับสนุนทุนวิจัยสมทบทุนให้ 50%

ชั้นที่สาม หลังจากทำการวิจัยจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ชุดความรู้ที่ได้สามารถเอาไปเพิ่มมูลค่าอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดผลตอบแทนคุ้มทุนคุ้มค่ากับ เจ้าของกิจการได้รับประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย สถาบันส่งเสริมสนับสนุนทุนวิจัยงดการให้ทุน ถ้าเจ้าของกิจการจะทำการวิจัยต่อยอดต่ออีก ฝ่ายดำเนินกิจการต้องออกทุนจ้างนักวิจัยมืออาชีพด้วยตัวเอง

: ด้วยวิธีนี้จะทำให้เกิดนักวิจัยมืออาชีพเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ทำให้เกิดระบบการจ้างนักวิจัยเพิ่มขึ้นจากการอุดหนุนของภาคธุรกิจ/เจ้าของกิจการต้องการวิจัยเรื่องใดมาสนองกิจการของตนเอง ก็สามารถติดต่อให้นักวิจัยเหล่านี้รับงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างกัน นอกจากงานวิจัยก็จะเกิดขึ้นประโยชน์อย่างกว้างขวางแล้ว ยังเป็นการสร้างนักวิจัยอาชีพเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบที่มีเจ้าภาพรองรับแทนสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมทุนของภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว ตัวต่อจุดนี้ทำให้นักวิจัยไทบ้านมีความหมายในฐานะกาวเชื่อมระบบวิจัยให้ก้าวหน้าไงครับ?

: มีตัวอย่างงานวิจัยไทบ้านบ้างไหม?

จะเอาแบบไหนละครับ ถ้าเอาตัวอย่างงานวิจัยสมัยก่อนมีมากมาย ยกตัวอย่าง เช่น ชาวบ้านไม่มีรถแทรกเตอร์ลากซุงไม้ออกจากป่าไม้เหมือนสมัยนี้ นักวิจัยไทบ้านก็ชวนกันไปคล้องช้างป่ามาใช้งาน ก า ร ค ล้ อ ง ช้ า ง ป่ า มันง่ายไหมละครับ กว่าจะสะสมชุดความรู้ขึ้นมาจนเป็นตำราคชศาสตร์ นักวิจัยไทบ้านต้องลงทุนลงแรงทำการวิจัยอย่างสุดจิตสุดใจ ล้มหายตายไปเพราะการต่อช้างกี่ร้อยชีวิตแล้วก็ไม่ทราบได้ คล้องช้างป่าได้แล้ว ต้องมาหาวิธีฝึกช้างให้เชื่องไว้ใช้งานได้ตามความประสงค์

อีกตัวอย่างหนึ่งง่ายๆ ชาวบ้านเอาไม้ไผ่มาใช้ประโยชน์ได้นานัปการ ทำการจักสานเป็นของใช้ไม้สอย เอามาสร้างบ้าน เครื่องมือดักจับสัตว์ เครื่องดนตรี เชื้อเพลิงฯลฯ สรุปว่าทำได้นับร้อยนับพันอย่าง การก่อเกิดสิ่งประดิดประดอยเหล่านี้ เรียกว่า..ผลงานวิจัยได้ไหมครับ หรือการที่แม่ครัวหัวป่าส์เหล่าเสน่ห์จวักทั้งหลาย คิดเมนูอาหารไทยขึ้นมาจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก เป็นอัตลักษณ์-เอกลักษณ์ประจำชาติ ..สิ่งเหล่านี้จะเรียกว่างานวิจัยไทบ้านได้ไหมครับ รึ จะต้องทำการถอดรหัสเป็นขั้นเป็นตอน สกัดผลการคิดค้นให้ออกมาเชิงวิชาการ หรือนำไปเป็นตำราในต่างประเทศ ไผ่จึงเป็นโจทย์ที่นักวิจัยไทบ้านเห็นว่ามีความสำคัญอย่างมากทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

(ไผ่ใครๆก็รู้จัก แต่ถ้าจะให้รู้อย่างลึกซึ้งครบกระบวนการต้องทำการวิจัย)

: ไผ่ ให้ผลผลิตเร็วและต่อเนื่อง ถ้าใช้เทคโนโลยีเข้าปรับปรุงคุณภาพ/คุณสมบัติ ไม้ไผ่จะใช้แทนไม้ทั่วไปได้อย่างดี

: ไผ่ ขึ้นที่ไหน ดินดีที่นั่น

: ไผ่ ใช้เป็นวัสดุเชื้อเพลิงได้หลากหลาย ทั้งผลิตก๊าชชีวมวลได้ดี

: ไผ่ มีนับร้อยสายพันธุ์ พันธุ์กินหน่อ พันธุ์ใช้ลำต้น พันธุ์ไม้ประดับ

: ไผ่ ควรเป็นไม้เบิกนำเชิงรุกในการแก้วิกฤติสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน

: ไผ่ ปลูกง่าย ลงทุนต่ำ เก็บเกี่ยวประโยชน์ต่อเนื่องระยะยาว

: ไผ่ เป็นปัจจัยการผลิตเบื้องต้นในการส่งเสริมอาชีพได้นานัปการ

: ไผ่ ช่วยอุ้มดินอุ้มน้ำ รักษาสภาพผิวดินได้ดี

: ไผ่ ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพได้นับหมื่นนับแสนครัวเรือน

: ไผ่ เหมาะที่จะเป็นโจทย์เพื่อการวิจัยอย่างยิ่ง

: ไผ่ เป็นไม้ที่ไม่ควรมองข้าม

: ถ้าติดตรงจุดนี้ ก็ช่วยๆกันทำให้เข้าหลักเข้าเกณฑ์สิครับ

ไม่อย่างนั้นเราจะเอาอะไรไปอธิบายว่าประเทศไทยก็มีแบบแผน มีต้นทุน มีวิธีวิจัยที่เป็นเนื้อแท้ มีโจทย์ มีวิธีคิด วิธีทำการวิจัยในสไตล์ของไทยแท้ๆ ถ้าเรามองข้ามตรงจุดนี้ การสร้างรากฐานงานวิจัยก็จะยังอิหลักอิเหลื่อ จะนำเสนอผลงานวิจัยก็ได้แต่ไปคิดไปอ้างไปยกเอาคำพูดหรือความเห็นของนักวิจัยต่างด้าวมายืนยัน จะหาคำยืนหยัดจากของไทยเราเองไม่มีเลย

: เราไม่คิดที่จะสร้างอัตลักษณ์วิจัยไทยแท้ๆขึ้นมาเลยหรือครับ

: ถามว่า เรายืนอยู่จุดไหนของเวทีวิจัยโลก ถ้าเรายังอ้างแต่ต่างด้าวร่ำไป

: เราไม่เฉลียวใจดูประเทศในเอเชียที่เขายกระดับการพัฒนาจนสำเร็จเลยหรือ

: ตัวอย่างงานวิจัยไทบ้านในมหาชีวาลัยอีสานเป็นอย่างไร?

แหม เรื่องการวิจัยแบบบ้านๆมีเยอะครับ แถมสนุกๆทั้งนั้น

· ด้านอาหารการกินจัดอยู่ในหมวด “งานวิจัยที่ชิมได้”

· ด้านการเลี้ยงปศุสัตว์จัดอยู่ในหมวด “งานวิจัยที่อุ้มได้”

· ด้านการป่าไม้จัดอยู่ในหมวด “งานวิจัยที่ให้ออกซิเจนได้”

เรื่องนี้พูดไปก็จะหาว่าโม้ อันที่จริงสิ่งที่ชาวบ้านดิ้นรนแสวงหาความรู้มาแก้ไขปัญหาในการทำมาหากินในการประกอบอาชีพ จำเป็นต้องอาศัยวิชาความรู้

: วิชา+อาชีพ=วิชาชีพ

ถ้าไม่พัฒนาให้เป็นมืออาชีพ ก็จะเป็นได้เพียงมือสมัครเล่น

การที่ประชาชนคนไทยขาดการสนับสนุนให้เป็นนักวิจัย-เป็นผู้เรียน-ผู้อยากรู้อยากเห็น-อยากค้นคว้า-อยากทดลอง-ตรงนี้ละครับที่เป็นหัวใจของการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยควรจะลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการวางแผนแม่บทส่งเสริมและพัฒนาระบบการวิจัยอย่างกว้างขวางให้กับผู้คนทุกชนชั้น ควรจะเอ็กซเรย์ให้เห็นจุดวางรากฐานงานวิจัยไทบ้าน ไปเชื่อมโยงกับระบบงานวิจัยของสำนักวิจัยในสถาบันต่างๆ

: กระบวนการดังกล่าวนี้ควรจะยืดหยุ่น

: ยินยอมให้ลองผิดลองถูก

: ใจเย็นพอที่จะรอดูการผุดพรายของงานวิจัยที่ค่อยๆงอกเงยขึ้นมา

: อย่าตัดสินว่าใช่ไม่ใช่โดยไม่วิเคราะห์เบื้องหลังและฟังเหตุผลให้ถ่อแท้

ที่ฝรั่งเข้มแข็งทางด้านการวิจัย เขาไม่ได้สร้างขึ้นมาภายใน10-100ปีหรอกนะครับ เป็นแต่ชาวตะวันตกมีวัฒนธรรมของการคิดค้นเพื่อแสวงหาวิธีที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดีขึ้น วิสัยทัศน์ชาวตะวันตก..ต้ อ ง ก า ร ที่ จ ะ ส น อ ง กิ เ ล ศ สิ่งไหนจะสะดวกสบายต่อการดำเนินชีวิตก็พยายามคิดค้นกันอย่างเต็มสติกำลัง พลังของการอยากรู้อยากเห็นส่งผลให้เกิดการปฏิวัติทางด้านอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาการอยู่ตลอดเวลา ตรงกันข้ามกับชาวตะวันออกที่มี แ น ว คิ ด ใ น ก า ร กำ กั บ ค ว บ กิ เ ล ศ พยายามทำอะไรอยู่ในกรอบที่สะดวกสบายตามสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ ใช้ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นยุทธศาสตร์

แต่ใช่ว่าชาวตะวันออกจะปรับเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้

ดังจะเห็นว่าประเทศญี่ปุ่น จีน อินเดีย เกาหลี ก้าวพ้นข้อจำกัดดังกล่าว

เมื่อเขารู้ว่า..อานุภาพงานวิจัยมีความสำคัญต่ออัตราความก้าวหน้าประเทศ

( โคกินใบไม้ไม่แปลกหรอก แต่ถ้าต้องการรู้ว่าดีและพิเศษอย่างไรต้องทำการวิจัย)

: งานวิจัยเรื่องการเอาใบไม้มาเลี้ยงโค

ขออนุญาตเท้าความเล็กน้อย มหาชีวาลัยอีสานดำเนินการปลูกป่าไม้ในพื้นที่แห้งแล้งมาตั้งแต่ปี พ..2521 ในพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ ได้เปลี่ยนพื้นที่โล่งเตียนมาเป็นต้นไม้นานาชนิด เห็นว่าวัชพืชที่เกิดขึ้นในป่าไม้น่าจะเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไปได้ จึงทดลองเลี้ยงโคเนื้อเรื่อยมา จนกระทั้งความแห้งแล้งมาเยือนอย่างรุนแรงในปีที่ผ่านมา ทำให้หญ้าต่างๆที่ปลูกไว้แห้งกรอบไม่เพียงพอต่อความต้องการของสัตว์เลี้ยง

โคทุกตัว เปลี่ยนจากโคเนื้อเป็นโคหนังหุ้มกระดูก

บอกพ่อค้ามาดู ต่างส่ายหน้าไม่รู้จะซื้อโคซี่โครงโผล่ไปทำอะไร

เมื่อความทุกข์เข้ามาเยือน ทำให้เกิดการดิ้นรนที่จะแสวงหาทางออก จึงทำลองไปตัดกิ่งไม้ชนิดต่างๆมาทดลองให้โคกินปะทังความอดอยาก ชาวบ้านบอกว่า”กินกันตาย” จะเป็นเพราะโคหิวจนหน้ามืดตาลายหรืออย่างไรไม่ทราบได้ ทุกตัวตั้งอกตั้งใจเขมือบใบไม้อย่างรีบเร่ง อิ่มแล้วก็ไปนอนเคี้ยวเอื้อง เวลาผ่านไป 6 เดือน โคตานขโมยฝูงดังกล่าวค่อยๆมีน้ำมีนวล มีเนื้อมีหนังอ้วนท้วนขึ้น

นักวิจัยไทบ้านเกิดกำลังใจอย่างมาก ตัดใบไม้ชนิดต่างๆมาลองให้โคชิมอยู่เรื่อยๆ สอบถามจากชาวบ้านที่ต้อนโคเลี้ยงตามป่าเขาต่างๆ ได้รับคำบอกเล่าว่า..โคไม่ได้กินเฉพาะหญ้าหรอกนะ ใบไม้ยอดไม้ชนิดต่างๆโคก็เดินและเล็มไปเรื่อย เจอใบไม้หรือผลไม้ป่าที่ชอบถึงกับยืนรอเลยเชียวแหละ เมื่อได้เค้าจากทุกทิศทุกทาง เราก็ประมวลผลไม้ว่ามีใบไม้ชนิดไหนบ้างที่โคชอบ หรือที่ชาวบ้านตัดให้โคกินเสริมอาหารในช่วงแล้ง

หลังจากนั้นใบไม้ชนิดต่างๆก็ทยอยมาเลี้ยงโคหลากหลายชนิด เช่น ใบไทร ใบมะม่วง ใบขนุน ใบกล้วย ใบกระถิน ใบข่อย ใบมะขามเทศ ใบก้ามปู ใบแดง ใบกระถินณรงค์ ใบมันสำปะหลัง ยอดอ้อย ใบขี้เหล็ก ฯลฯ นอกจากนี้ยังเอาใบผักพื้นถิ่นและวัชพืชต่างๆมาเลี้ยงโคด้วย

เพื่อช่วยให้โคเหล่านี้กินอาหารได้สะดวก มหาชีวาลัยอีสานใช้เครื่องสับกิ่งไม้มาสับใบไม้เลี้ยงโค กิ่งไม้ต่างๆผ่านเครื่องสับออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ เอาซ้อมตักใส่ราง..โคเคี้ยวกันแก้มตุ้ม เศษกิ่งไม้ที่ปนมา นึกว่าจะเป็นปัญหาไปทิ่มแถงกระเพาะโค พบว่าโคฉลาดมาก ใช้ลิ้นเตะออกเลือกกินเฉพาะใบไม้ ส่วนเศษกิ่งไม้เล็กๆก็ตกอยู่ก้นรางอาหาร คนเลี้ยงตักโยนเข้าไปในคอกสะสมเป็นปุ๋ยได้อีก

งานวิจัยทำให้เกิดชุดความรู้ใหม่เกี่ยวกับการปลูกป่าไม้ในระดับชุมชน ปัจจุบันมีชนิดไม้ให้เลือกปลูกแล้วเอามาใช้ประโยชน์ได้เร็ว ยกตัวอย่างเช่น การปลูกไม้อะคาเซีย ซึ่งเป็นไม้ตระกูลถั่ว เนื้อไม้ใช้ก่อสร้างได้ดี ใบเหมาะที่จะเอามาเลี้ยงสัตว์ ปลูกง่ายโตเร็ว สามารถตัดสางขยายระยะเอามาใช้งาานได้ภายใน7 ปี เป็นต้นไป

ยุคนี้ไม้ต้องไปปลูกไม้เนื้อแข็งที่โตช้าและรอเวลานานๆแล้วละครับ

ปลูกไม้เนื้อแข็งโตพอประมาณขนาดต้นกล้วย

ก็นำมาแปรรูปใช้งาน โดยใช้เทคโนโลยีไม้ประสาน

เราก็จะมีไม้ใช้สอยสร้างบ้านและทำเครื่องเรือน

ร่นระยะจากความคิดเดิมๆที่ปลูกต้นไม้แล้วรอ 4-50 ปี

: ถามว่า วิธีที่ค้นพบนี้เพียงพอแล้วใช่ไหม

เพิ่งจะเริ่มต้นตั้งไข่เท่านั้นละเธอ

มันเป็นเพียงจุดเริ่มของงานวิจัยไทบ้านเท่านั้น ..

มีคำถามโผล่มามากมาย

· เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใบไม้แต่ละชนิดมีคุณค่าหรือมีพิษต่อสัตว์เลี้ยง

· ใบไม้แต่ละชนิดมีสารอาหารแตกต่างกันอย่างไร

· ถ้าเอาใบไม้ผสมเลี้ยงสัตว์ ควรจะมีสัดส่วนผสมในแต่ละชนิดอย่างไร

· ใบไม้ชนิดไหนบ้างที่เราควรจะปลูกเพื่อนำมาเสริมใบไม้ที่มีอยู่เดิม

· โคแต่ละตัวต้องการสารอาหารจากใบไม้ปริมาณเท่าใด

· นอกจากใบไม้ยังมีวิธีอื่นมาเสริมอีกไหม

· จะรู้ได้อย่างไรว่าโคชอบใบไม้ชนิดไหนมากที่สุด

: คำถามมีมาให้ค้นหาตอบไม่จบสิ้น โจทย์มาจากการสังเกตที่เกิดขึ้นกับกระบวนการเลี้ยงและดูที่ตัวโค ปัญหาอยู่ที่ว่า..เ ร า จ ะ ไ ป เ อ า คำ ต อ บ ม า จ า ก ที่ ไ ห น อาศัยความรู้ของภูมิปัญญาท้องถิ่น ก็คงได้คำตอบมาระดับหนึ่ง ไม่เพียงพอที่จะตอบในเชิงวิชาการได้ ตรงจุดนี้ละครับที่ นั ก วิ จั ย ไ ท บ้ า น ต้องการตัวช่วย โ ห ย ห า นั ก วิ จั ย เ ชิ ง วิ ช า ก า ร

จะเห็นว่า..มีความต้องการที่จะขอความร่วมมือจากนักวิจัยในสถาบันต่างๆเพียงแต่จุดที่จะมาพบกันครึ่งทางนี้ยังไม่มีระบบเชื่อมโยง นักวิจัยไทบ้านต้องดิ้นรนไปติดต่อขอความร่วมมือนักวิชาการในสถาบัน โดยอาศัยความสนิทสนมส่วนตัว ในการติดต่อขอความรู้เบื้องต้น

ถ้าจะให้วิเคราะห์คุณค่าสารอาหารในใบพืช

หรือคิดค้นสูตรอาหารตามหลักวิชาการ

จำเป็นจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการวิจัย

ถ้าสถาบันที่สนับสนุนงบประมาณส่วนนี้

งานวิจัยไทบ้านก็จะเดินหน้าฉะลุย

สามารถต่อแขนต่อขางานวิจัยให้เข็มแข็งได้

เช่น งานส่งเสริมการปลูกป่าไม้หลากหลายวัตถุประสงค์ การส่งเสริมอาชีพที่เอื้อต่อสภาพแวดล้อม การผลิตปุ๋ยจากมูลสัตว์ การผลิตพลังงานชีวภาพจากมูลสัตว์ การปลูกพันธุ์ไม้เพื่อการวิจัย การสร้างธนาคารแม่ไม้พันธุ์ดี การชี้แนะวิธีการเลือกปลูกพันธุ์ไม้ที่ยั่งยืน

จุดพิเศษของเรื่องนี้อยู่ที่ ชาวบ้านไม่ต้องตัดต้นไม้ ตัดเอากิ่งเอาใบหมุนเวียนมาใช้ประโยชน์ อนึ่ง วิธีนี้ทำให้ชาวบ้านมองเห็นการได้ประโยชน์จากการปลูกต้นไม้มากขึ้น ทำให้เกิดแรงกระตุ้นที่จะปลูกต้นไม้มากขึ้น เกิดการเอากิ่งไม้ใบไม้มาสร้างประโยชน์หลากได้ขึ้น ที่สำคัญงานวิจัยเรื่องนี้ช่วยให้คำตอบเบื้องต้น..

(แพะเลี้ยงด้วยใบไม้อย่างเดียวก็อยู่ได้ แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นต้องทำการวิจัย)

1. พบวิธีแก้ปัญหาเรื่องอาหารสัตว์ที่มีต้นทุนประหยัด

2. พบวิธีการประกอบอาชีพที่ไม่เสี่ยงต่อความแห้งแล้งและโรคแมลง

3. พบวิธีที่จะมีรายได้เสริมเช่น ผลิตอาหารสัตว์ ผลิตปุ๋ยจำหน่าย

4. พบวิธีที่จะแตกยอดกิจกรรมเช่น การเลี้ยงแพะแกะ

5. พบวิธีที่จะทำการศึกษาวิจัยไปสู่การงานเพาะปลูกแบบประณีต

6. พบวิธีที่จะศึกษาวิจัยเรื่องไวน์และกราวเครือขาว

7. พบวิธีที่จะยกระดับรายได้อย่างเป็นรูปธรรม

มองถึงการเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาทีละเปลาะ

เพื่อนำไปสู่การปรับสภาพการทำกิจกรรมให้ดีขึ้น

: ยกตัวอย่างเรื่องต้นไม้

เริ่มจากการ-เพาะชำกล้าไม้-ปลูกต้นไม้–คัดพันธุ์ไม้–ตั้งธนาคารแม่ไม้-แปลงสาธิตชนิดต้นไม้เพื่อการวิจัย-จัดทำแปลงปลูกผักยืนต้นพื้นเมืองระยะชิด-แปลงสาธิตการปลูกไม้พลังงานทดแทน-แปลงสาธิตการปลูกไม้ไผ่ป่าไม้-แปลงสาธิตการปลูกไม้โตเร็ว-แปลงสาธิตการปลูกไม้ผสมผสาน-ทำการแปรรูปไม้-ทำเครื่องเรือน-สร้างบ้าน-เผาถ่าน-สับกิ่งไม้ทำปุ๋ย

หลังจากทดลองเอาใบไม้มาเลี้ยงโค ทำให้เกิดความสนใจที่จะคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่มีคุณสมบัติต่อการเลี้ยงปศุสัตว์ วางแผนที่จะวิเคราะห์ข้อมูลคุณสมบัติของใบไม้ เพื่อค้นหาสูตรอาหารที่เหมาะสม และแตกยอดออกไปยังการผลิตอาหารสัตว์จากใบไม้

การเลี้ยงโคขังคอก แทนการต้อนโคไปหาหญ้า เปลี่ยนเป็นเอาหญ้าใบไม้มาเลี้ยงโค โดยใช้เครื่องสับกิ่งไม้สับย่อยให้โคกิน พบว่าโคกินอาหารสับได้มากขึ้น ทำให้เหลือกากอาหารน้อย มูลโคที่ได้มีจำนวนมาก เท่ากับโคเป็นโรงงานผลิตปุ๋ยที่ราคาถูกและดีที่สุดในโลก ปุ๋ยอินทรีย์เหล่านี้ยังนำไปปรับปรุงโดยการหมักผสมกับวัตถุอย่างอื่นให้มีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งโรงงานปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการใช้และจำหน่ายได้อีก นอกจากนี้ยังนำมูลโคไปหมักทำแก๊สชีวภาพสร้างพลังงานพึ่งตนเองได้ด้วย จากต้นไม้ นำไปสู่การเลี้ยงปศุสัตว์ คิดหยาบๆก็จะเห็นว่าการเอาต้นไม้กับปศุสัตว์มาอยู่ในระนาบเดียวกัน ต่างพึ่งพาซึ้งกันและกัน

นำไปสู่ช่องทางการส่งเสริมปลูกต้นไม้ที่เกษตรกรเป็นผู้ดำเนินการ

นำไปสู่การประกอบอาชีพปศุสัตว์ที่ปรับปรุงวิธีการเลี้ยงที่ประหยัด

นำไปสู่การวิจัยด้านการป่าไม้

นำไปสู่การวิจัยด้านการพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์โค –ผสมเทียม-เลี้ยงขุน

นำไปสู่การเขียนแผนแม่บทเพื่อพัฒนาการงานอาชีพและสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการ

(ไม้ต้นเดียวเป็นป่าไม่ได้สร้างบ้านไม่พอฉันใด ทำวิจัยเดี่ยวก็ฉันนั้น)

: Keyword

วันนี้เราอยู่กับความรู้อะไร ?

ความรู้เราพอเพียงพอใช้แล้วใช่ไหม ?

นักวิจัยเชิงวิชาการ ม า จั บ มื อ กั บ นักวิจัยไทบ้านกันเถิด

ช่วยกันสร้างรากฐานงานวิจัยให้ประเทศของเรา

เพื่อสร้างบรรยากาศการวิจัยให้ชื่นมื่นอี๋อ๋อไปด้วยกัน

« « Prev : คิดง่ายๆทำเบาๆแต่เอาจริงนะเธอ

Next : อุทกภัยเพื่อนใหม่ที่มาเยี่ยมประจำ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

7 ความคิดเห็น

  • #1 จอมป่วน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 สิงหาคม 2011 เวลา 8:25

    เรื่องนี้ยาว แต่ถูกใจมากครับ น่าจะกระตุกความคิดให้ชาวบ้าน คนที่ทำงานทั่วๆไปหันมาสนใจเรื่องนี้ขึ้นมาบ้าง
    เริ่มจากแค่สนใจว่า ที่ทำๆอยู่แต่ละวัน ได้ผลไหม? ดีไหม?
    ที่ผ่านมาแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี ตัวเรา หน่วยงานเรา สังคมเราดีขึ้นบ้างไหม? เป็นเพราะอะไร? จะทำไงดี?
    ฟังดูง่ายๆ แต่นักวิจัยเองยังงงเป็นไก่ตาแตก คงต้องให้ชาวบ้านคิดมั๊ง? อิอิ

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 สิงหาคม 2011 เวลา 8:32

    โห หมอมาแต่ไก่โห่ ไม่ไปเดินสายอีกหรือครับ

    ที่ 2 แคว ต้องวิจัยว่า..ช่วงน้ำท่วมจะทำอะไรดี
    1 ล้างบ้าน
    2 ล้างเมืองให้สะอาด
    3 พายเรือเก็บผักบุ้งมาผัด
    4 ฯลฯ ..

  • #3 จอมป่วน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 สิงหาคม 2011 เวลา 17:15

    เขตเทศบาลมีแม่น้ำน่านไหลผ่าน มีเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนนเรศวร และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนเป็นเครื่องมือบริหารน้ำ จึงไม่มีปัญหาน้ำท่วม
    ที่มีปัญหาน้ำท่วมทุกปีเป็นพื้นที่ที่แม่น้ำยมไหลผ่าน ของพิษณุโลกก็คือ อำเภอพรหมพิรามและอำเภอบางระกำ เพราะเขื่อนแก่งเสือเต้นก็มีปัญหา ก่อสร้างไม่ได้ครับ อิอิ

  • #4 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 สิงหาคม 2011 เวลา 20:37

    ผมเห็นว่างานวิจัยไทยก็เหมือนกับรายได้ประชาชาติ ช่องว่างมันกว้างมาก คือ 10% แรกเอาไป 50% 10% ท้ายเอาไป 1% …ต่างกัน 50 เท่า

    ผมเองโจมตีเรื่องนี้มาตลอดชีวิต เพราะเห็นนักวิจัยงาช้างมันขอกัน 500 ล้าน 50 ล้าน เป็นว่าเล่น

    เพื่อสนองตัณหานักวิจัย ปีนี้ วช. กำหนดว่า โครงการวิจัยที่เสนอขอ ในกลุ่มทุน 1500 ล้าน แต่ละโครงการต้องเสนอทุนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท (ไม่ได้พิมพ์ผิด “ไม่ต่ำกว่า” 1 ล้านบาท) …คือพวกอำมาตย์พวกนี้เขาคิดว่า ถ้าขอทุนเล็กๆ น้อย ๆ เป็นพวกไพร่วิจัย ทั้งที่เรากำลังช่วยมันประหยัดเงิน

    โครงการวิจัยผมน้บร้อย ใช้เงินโครงการละ 3-5 พันบาท แต่ได้ผลกระทบต่อชาติ และ โลก มากกว่าไอ้โครงการ ลด. 50 ล้านของไอ้พวกนั้น ร้อยล้านเท่า (แถมกรูควักเงินในกระเป๋าจ่ายเอง ไม่ต้องไปง้อขอทานเงินจากพวกมันให้เปลืองเวลาและอารมณ์อีกต่างหาก)

  • #5 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 สิงหาคม 2011 เวลา 5:59

    ดุเดือดตรงตรงตรงมาตามสไตล์ท่านจอหงวน นักวิจัยถ้าพะวงกับงบวิจัยมันก็แค่มือสมัครเล่น นักวิจัยตัวจริงไม่รออะไร ต่างทุ่มเทควักกระเป๋าทำเองทั้งนั้น บางเรื่องมันรอเวลาได้ที่ไหนเล่า ทุ่มเททำไปตามกำลังทรัพย์ ใครไม่รู้เรารู้ว่ามันได้ความรู้ความคิดใหม่พิเศษๆขึ้นมาประมาณไหน

    แต่งานวิจัยที่ใช้งบมากๆ ถ้าทำอย่างมืออาชีพก็เข้าท่าอยู่นะครับ
    เท่าที่เห็นหน่อมแน้มก็มาก มันก็ขนมผสมน้ำยาไปกันยังงี้แหละ อิ

  • #6 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 สิงหาคม 2011 เวลา 6:01

    เมืองสองแควเป็นทำเลการยุทธมาแต่ไหนแต่ไร น้ำท่วมเป็นยุทธปัจจัยที่ธรรมชาติสร้างมา

    เดาเอาว่าต่อๆไปน้ำจะมารบกวนใจมากขึ้น อิ

  • #7 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 สิงหาคม 2011 เวลา 15:47

    ผมเองก็เคยขอโครงการ 6 ล้าน 3 ล้านมาสองสามโครง ส่วนใหญ่เป็นค่าจ้างพนักกงาน และก่อสร้าง เพราะเราคิดไว้ยอกย้อน ก่วาจะสร้างออกมาเป็นต้นแบบได้ก็ต้องจ้างวานคนมากหลายคน สามปี สุดท้าย ฝึกมันเก่งแล้ว มันบินหนี ไม่อยู่กินเงินเดือนแสนต่ำต้อย (นี่แหละคือเรือจ้างที่เขาอุปมา)


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.10048818588257 sec
Sidebar: 0.062449932098389 sec