สงกรานต์กับครู

อ่าน: 1832

วันนี้กระต๊อบน้อยรับแขกทั้งวัน 3-4คณะได้

ด่วนสายตรงที่โทรมาค่อนข้างตะกุกตะกั๊ก..เพราะรับแขกนะเธอ

เมื่อวานนี้เล่นสงกรานต์กับนางเมฆขลาและรามสูรย์เปียกมะล๊อกมะแล๊กไปตามฟอร์ม วันนี้ฟ้าใสตั้งแต่เช้า พอเข้าบ่ายทำท่าครึ้มอกครึ้มใจอีกแล้ว ถ้าจะมาแถมอีกก็ขอเป็นช่วงกลางคืนเถิดนะพระพิรุณ ขอให้มดปลวกตั้งหลักกันบ้าง ฝนที่เทมาทำให้บ้านปลวกแมลงชำรุดไปพอควร ส่วน-กบขียด-คางคก-ร่าเริงระรื่น แมลงเม่าก็รอจังหวะเล่นออกมารำวงเล่นไฟยามค่ำคืน

ฝนมาแต่ละครั้งนำความเปลี่ยนแปลงให้แก่สรรพสิ่งทั้งปวง

น้ำฝนมีคุณค่าเหมือนน้ำใจ

หล่นลงตรงไหนมีแต่ความดีงาม

นึกถึงข้อมูลที่คุณหมอสารภีนำเสนอเกี่ยวกับคุณค่าของผักชนิดต่างๆ อ่านแล้วได้ความรู้และประทับใจมากๆ ทำให้เรารู้ว่าผักแต่ละชนิดในบ้านเรา มีคุณค่าทางเภสัชอย่างเอกอุ เพียงแต่คนไทยเราไม่ใส่ใจเท่าที่ควร บ้างก็ไปหลงละเมอเมนูและผักต่างด้าวจนลืมของดีใกล้ตัว ลองเข้าไปอ่านดูละครับ อ่านแล้วท่านจะรักผักไทยๆอย่างไม่รู้ตัว แต่ละตัวมีสารอาหารมากมาย ถ้าเรารับประทานผักปลอดสารพิษทุกวัน ก็เหมือนการเติมภูมิต้านทานให้กับตัวเองทุกวัน

ถ้าเราเห็นความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องใด

เราก็จะใส่ใจกับเรื่องนั้นๆได้ดี

  1. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของผักจากบล็อกคุณหมอสารภีและที่อื่นๆ
  2. ทดลองปลูกผักดูบาง
  3. ให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อผัก
  4. ทดลองประกอบอาหารรับประทานในครอบครัวบ่อยขึ้น
  5. วางแผนระยะยาวเรื่องการบริโภคผักในครัวเรือน
  6. ทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
  7. ออกทัศนศึกษาดูงานในจุดที่ท่านสนใจ
  8. ถามตัวเองว่า..พร้อมที่จะทำเรื่องนี้แล้วหรือยัง
  9. ถ้าสงสัย  กลับไปอ่านข้อ1-8

ผมมีเครือข่ายครูในพื้นที่มานมนาน เรียกตัวเองว่า “กลุ่ม3ก้อนเส้า”

ครูกลุ่มนี้มีแนวคิดเรื่องการศึกษาที่น่าสนใจ

กล้าคิด กล้าทำ กล้าเสนอแนะ และถ้าเบี้ยว ที่จะไม่ทำตามกระแสบ้าๆบอๆ

ด้วยพฤติกรรมเยี่ยงนี้จึงถูกผู้บังคับบัญชาบ้องตื้นหมั่นใส้

แต่..ด้วยความที่เป็นคนที่มีเจตนาดีต่อหน้าที่และรับผิดชอบลูกศิษย์

จึงพอประคับประคองตัวอยู่ในระบบได้ตามควรแก่อัตภาพ

พูดไปแล้ว..พวกเขตพื้นที่ ผู้บริหารก็ได้อาศัยผลงานของครูกลุ่มนี้แหละแก้ผ้าเอาหน้ารอดเนื่องๆ

 

ทุกปี วันสงกรานต์เขาก็จะนัดกันมาเยี่ยมยามผม และก็ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะบอกให้ผมรู้ตัวล่วงหน้า จึงไม่ทราบว่าจะจัดเลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำได้อย่างไร มาถึงเขาก็จะจัดที่จัดทาง เสริ์ฟน้ำ จัดพิธีการรดน้ำ แจกของฝากของขวัญ ถ่ายภาพ ผมมีหน้าที่ให้พร แล้วก็คุยสารทุกข์สุกดิบกัน นานๆได้พบกัน..จึงได้ฟังเรื่องดีๆของแต่ละคน ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ ผมได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆจากคุณครูกลุ่มนี้

ยกสุดท้าย..เขาจะบอกว่า..

ให้ครูบาเล่าเรื่องอะไรก็ได้สรุปท้ายให้ฟัง

แหม..เรื่องเล่ามีปะเลอะ

ให้ไปตามอ่านในลานปัญญาและFB.

แล้วก็อย่าลืมคอมเมนท์ด้วยละ

ไม่อย่างนั้น..เขาจะเป็นครูที่หัวไวใจสู้ได้อย่างไร?

ถ้าไม่ต่อแต้มความรู้กับคนอื่นๆ

จะ..เปิดห้องเรียนสู่โลกกว้าง ให้ทุกอย่างเป็นครูได้อย่างไร

ถ้าครู ไม่เปิดตา เปิดใจ เปิดโน๊ทบุกส์ กระโจนเข้าสนามความรู้อย่างชาญฉลาด

ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ครูทำไม่ได้ ถ้าครูอยากจะทำ


คิดเบาๆ >>

อ่าน: 1324

วิกฤติเที่ยวนี้

ทำให้ภาพที่ราบสูงอีสานมีความจะแจ้งขึ้นเยอะเลยเธอเอ๋ย

ที่ลุ่มภาคกลางนั้นยากที่จะซ่อมแซมอะไรให้มั่นคงได้

เพราะองค์ประกอบส่วนใหญ่มันเน่าหมดแล้ว

มีแต่จะโกลาหลขึ้นไปเรื่อยๆ

น้ำท่วมเที่ยวนี้พยายามเช็คข่าวไปถึงพี่น้องชาวเฮ มีใครได้อาบน้ำฝนจนล้นเหลือบ้าง ได้คำตอบว่ายังบ่เป็นหยัง โดนนิดหน่อยๆยังไม่ถึงกับมะล๊อกมะแล๊ก ฟังแล้วก็เบาใจ นึกล่วงหน้าไว้แล้วว่า ถ้ายังไงๆภัยพิบัติจะท่วมโลกในภายหน้า ขอให้มองมาที่บ้านสวน เพราะได้เตรียมการไว้ให้ญาติโกเฮโลมาพักได้สบายๆ อาหารการกินก็เพียบ เชื้อเพลิงก็ไม่มีปัญหา น้ำท่าก็กักเก็บไว้พอประมาณ หัวเผือกหัวมันก็ปลูกกันโรคตานขโมย

ให้คนงานเผาถ่านเตาใหญ่ไว้เรียบร้อย

มีถ่านตุนไว้ประมาณ 300 กระสอบป่าน

มีคนมาติดต่อขอซื้อไปจำหน่าย

เรื่องอะไรจะขาย

ปล่อยให้มันนอนเอ้งเม้งอยู่ในเตาอย่างนั้นแหละ

มีมูลสัตว์มากพอที่จะผลิตแก๊สไว้ให้แสงสว่าง

พืชผักยืนต้น อาหารสด อาหารแห้ง สะสมไว้เรื่อยๆ

ต่อไปนี้อาจจะต้องคิดอย่างจริงจังแล้วว่า

ถ้าเกิดวิกฤติจริงๆจะอยู่รอดด้วยวิธีใด

ไม่เกิดก็แล้วไป

แต่ถ้าภัยพิบัติไล่ต้อนจะได้ไม่จนมุม

แทนที่จะทุกข์กลับนึกสนุกเสียอีก

ที่พี่น้องชาวเฮจะมาชุมนุมกันได้อย่างยาวนาน

คงต้องแบ่งแผนกแล้วละนะ

หมอเจ๊ มาคราใดไม้ทิ้งไม้กวาด ขยันทำความสะอาดเหลือเกิน

ป้าหวาน กับป้าจุ๋ม อยู่โยงโรงครัวแสดงเสน่ห์ปลายจวัก

เบิร์ด อยู่แผนกดูสุขภาพจิต ใครคิดถึงบ้านเข้าไปโอ๋

ไอ่ตาหวาน ครูสุ อยู่แผนกเก็บผัก หาเสบียง

น้าอึ่ง ครูอาราม อาว์เปลี่ยน อยู่แผนกควงตะหลิว

เจ้าแห้ว เป็นโฆษก ร้องเพลงก็ได้ เรียกร้องก็เก่ง

อ.ไพลิน พรพรรณ นอกจากแต่งหนังสือเก่งแล้ว แอบทราบว่าร้องเพลงบรรเจิดมาก

อุ้ย ครูอึ่ง อยู่แผนกชิม ไม่อร่อยมีสิทธิ์โละแม่ครัวได้

สุวรรณา อยู่แผนกแจกบัตรคิว

รอกอด อยู่แผนกเติมไฟ ชวนเล่นไฟยามค่ำคืน

อัยการชาวเกาะ ร้องเพลงก็ได้ บรรยายก็ดี

.แป๋ว ถ่ายรูปเก็บประวัติ ทำแกงกระหรี่ญึ่ปุ่นเธอเอ๋ยอร่อยเป็นบ้า

ท่านจอมป่วน ชวนยั่วยุให้กระบวนการดิ้นได้

ท่านบางทราย กำกับงานสรุปประมวลผล

คนทางถาง ชิมไวน์กับย่างไก่

พระอาจารย์Handy อยู่แผนกกำกับระบบไฟฟ้าและเครื่องเสียง

ไอ่หนูจิ กับ จอมยุ่งลูกจอมป่วน ทำหน้าที่เสริมสุขบรรยากาศ

ออต กับ แม่ใหญ่ ให้อยู่ฝ่ายศิลปะบันเทิง

ใครอีกละ นึกได้ช่วยต่อขบวนด้วยก็เน้อ

อิ อิ ..


จดหมายคุณย่า

อ่าน: 1663

ท่านที่รัก

กลุ่มสมาชิกชาวเฮฮาศาสตร์ส่วนมากอายุค่อนไปทางหนุ่มสาวเหลือน้อย กลุ่มที่เป็นสาวซำน้อยต้อยติ่งก็พอมีอยู่บ้าง ได้แต่แอบหวังไว้ว่าสมาชิกที่เข้ามาลานปัญญาใหม่ๆจะอยู่ในวัยสดใสไฉไลประดุจดอกบัวบานกลางบึง ไม่ใช่อะไรหรอก อยากจะให้มาลดสัดส่วนกระชากวัยพวกแก่เกินแกงลงเสียบ้าง แต่ก็อีกนั่นแหละ หนุ่มสาวสมัยนี้ไม่นิยมเขียนหนังสือเป็นเรื่องเป็นราว ชอบใช้สื่อเจ๊าะแจ๊ะประเภทโชว์เบอร์ไม่โชว์ใจ เพราะเข้ากับวิถีชีวิตที่มะรุมมะตุ้มกับเรื่องวูบวาบและวับแวม..

พวกรุ่นเก่าๆเล่าความหลัง ยังผ่านการเขียนจดหมายมาบ้าง เพราะยุคครั้งกระโน้นไม่มีสื่อที่ถึงอกถึงใจเหมือนสมัยนี้ บางคู่เขียนจดหมายโต้ตอบกันเป็นลังๆก็ยังปลงใจกันไม่ได้สักที..

ไปงานครูภูมิปัญญาไทย รับเครื่องราชฯ ถ่ายภาพกับองคมนตรี ท่านถามว่าครูบาจะให้ช่วยอะไร บอกเลยนะ ..รีบฝากหนังสือเจ้าเป็นไผกับหนังสือนี่คนนี่ไง”จารย์ปู” ครูพันธุ์ก๊าก เรียนท่านว่าจะทำหนังสือทำนองนี้ วันหลังจะส่งสำเนาให้ท่าน ชี้โพรงให้กระรอกแบบนี้ก็ขอคำนิยม “โมเดลอีสาน เล่มที่2″ เสียเลย อิ.

เมื่อไม่กี่วันนี้

เจอคนขายดอกไม้เป็นช่อเล็กๆ

เธอเล่าว่าเอาไว้ขาย..ให้วัยรุ่นสาวๆซื้อไปให้หนุ่มหล่อที่พอใจ

โอ้ยโย่! คำว่า ก ร ะ ช า ก วั ย ไม่ทันกินแล้ว

เดี๋ยวนี้ ถึ ง ขั้ น ก ร ะ ช า ก ใ จ กันแล้วเน้อ

ต่อไปจะพัฒนาการสื่อสารหัวใจจะไปถึงไหนๆก็ไม่รู้

กลับมาถึงบ้านเห็นจดหมายกองอยู่บนโต๊ะปึกหนึ่ง อ่านแล้วหงุดหงิดเป็นบ้า เป็นจดหมายที่ส่งล่าช้ามาก เมื่อก่อนไม่เป็นอย่างนี้ แสดงว่าระบบการจัดการไปรษณีย์ตำบลสนามชัยถอยหลังเข้าคลอง นึกจะส่งก็มาส่ง ไม่ได้รับผิดชอบเลยว่าเนื้อหาในจดหมายบางทีมีเรื่องเร่งด่วน เที่ยวนี้ผมโดนเข้าไปหลายกระทอก เช่น

1. สภาพัฒน์ฯเชิญประชุมเรื่อง”การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชามอาเชี่ยน(AC) ระหว่างวันที่ 16-18 กันยายน 2554 จดหมายส่งมาให้ตอบรับภายในวันที่ 31 สิงหาคม ผมเพิ่งจะได้รับวันนี้ เอกสารส่งทางEMS.ด้วยนะ เท่าที่อ่านเป็นเรื่องเชิงนโยบายเสียด้วยสิ นายกรัฐมนตรีใครต่อใครมาปาฐกถา มีการแบ่งกลุ่มวิเคราะห์แผนงานฯลฯ แสดงว่าEMS.เชื่อถือไม่ได้แล้ว ระบบราชการควรจะพัฒนาการส่งเอกสารทางไหนดี

2. มหาวิทยาลัยอุบลเชิญประชุมวิชาการระดับชาติประจำปี 2554 ระหว่างวันที่ 8-9 กันยายน 2554 โดยมีการดำเนินกิจกรรมภายใต้กรอบแนวทางการปฏิรูปการศึกษารอบสอง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบอุดมศึกษาไทยให้สามารถทัดเทียมได้กับสากล มีเรื่องน่าสนใจมากมาย เช่น

- พัฒนาคุณภาพบัณฑิตยุคใหม่

- พัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่

- เรื่องTQF สาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์

- พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่

- พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่

- ประกาศเกียรติคุณ และผลงานคุณภาพ

เอกสารฉบับนี้มาถึงวันที่ 14 กันยายนครับพี่น้อง หน่วยงานที่เชิญอาจจะมองว่าผมนี่เหลวไหลไม่ใส่ใจไปร่วมประชุมก็ได้

3.  หนังสือด่วนที่สุด จากสภาการศึกษาแห่งชาติ ส่งแบบตอบรับครูภูมิปัญญาไทย(รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์) และมีการประชุมสัมมนาเฉพาะเรื่องระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน 2554 ผมต้องตอบรับเรื่องการเดินทาง-เข้าที่พัก-และซักซ้อมพิธีการ จดหมายเพิ่งมาถึงเมื่อ2วันที่แล้ว ผมจะไปรู้เรื่องอะไรละครับ เขาให้ไปรับอะไรก็ไปทื่อๆยังงั้นแหละ เอกสารก็ไม่ได้ตอบรับ หน่วยงานอาจจะคิดว่า แก่แล้วไม่รู้ภาษาแถมยังหยิ่งอีกต่างหาก โธ่เสียแก่ก็อีตอนนี้แหละเธอ

4. เอกสารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชิญประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานโครงการบัณฑิตจิตอาสา (ครั้งที่ 2) ทางสำนักฯใจดีมีให้เลือกว่าจะเข้าร่วมประชุมวันที่ 19 หรือวันที่ 26 เมื่อจดหมายได้รับช้า ผมก็รับนัดอบรมดูงานนะสิครับ จะไปร่วมประชุมกับจุฬาฯยังไงนี่ ผมถูกแต่งตั้งให้เป็นวิพุทธิยาจารย์อาสา(แปลว่าอะหยังฮึ) ผมมีคิวจะต้องไปสอนนักศึกษาในโครงการนี้ที่จังหวัดน่าน

เมื่อไม่ได้ไปร่วมประชุมจะไม่อาจหาญไปหน่อยรึที่จะไปดำน้ำสอน!

ไปรษณีย์ หรือ ไปรษหนี ทำพิษอีกแล้ว

5. อีกฉบับหนึ่งเป็นจดหมายมาจากท่านพระมหากฤษณะ ตรุโณ ผศ.ดร.เจ้าอาวาสวัดเรไร เขตตลิ่งชัน กทม. ท่านให้ความเห็นกับคำถามที่สัมภาษณ์มาทางจดหมาย โดยสังเขป ดังนี้

5.1 คำถามด้านอภิปรัชญา 1-2-3

5.2 คำถามด้านญาณวิทยา 1-2-3

5.3 คำถามด้านจริยศาสตร์ 1-2-3

5.4 คำถามด้านสุทรียศาสตร์ 1-2-3

5.5 คำถามด้านตรรกศาสตร์ 1-3-4

5.6 คำถามทั่วไป และความคิดเห็นอื่น

ท่านส่งคำตอบวันที่20 ท่านใจดีบอกว่า ถ้าตอบจะมีค่าตอบ 1,500 บาท อิ

6. ขณะที่ความเซ็งกำลังจู่โจมหัวใจ ได้รับจดหมายฉบับสุดท้าย เขียนด้วยลายมือบรรจง ในกระดาษขาวว่างเปล่าไม่มีเส้นบรรทัด แต่ตัวอักษรเรียงตรงเป็นระเบียบเรียบร้อย อ่านแล้วน้ำตาซึม ขออนุญาตแกะเอาทุกตัวอักษรดังนี้ > >

เรียนคุณสุทธินันท์ ที่นับถืออย่างยิ่ง

ดิฉันได้อ่านหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอังคารที่ 30 สิงหาคม ที่มีบทความ”สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ นักวิจัย “บ้านๆ” ปราชญ์ที่ไม่ยอมหยุดเรียนรู้” แล้วมีความรู้สึกซาบซึ้งอย่างยิ่งในเรื่องวิถีชีวิตของคุณตามที่เขียนเล่าไว้ ชวนให้ระลึกถึงคุณพ่อของดิฉัน พระยามไหสวรรย์ ในอดีตเป็นผู้ที่มีรักความรักในเศรษฐกิจการเกษตร และดิฉันมีโอกาสทำงานที่ห้องสมุดธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เรียนรู้เรื่องนี้เสมอมา จึงขอแสดงความชื่นชมในกิจการงานอันทรงคุณค่าสูงส่งของคุณ

ด้วยความปรารถนาดียิ่งจริงใจ ขอให้คุณดำเนินการทุกสิ่งที่คุณรักพึงพอใจ เป็นผลดียิ่งยิ่ง เพื่อชีวิตอันทรงคุณค่าของคุณ และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ

ดิฉันจะติดตามเรียนรู้เรื่องที่น่าสนใจในกิจการที่คุณจะดำเนินการอีกในอนาคต

ด้วยความนับถือยิ่ง

กัทลี สมบัติศิริ

วันที่ 30 สิงหาคม พ..2554

หมายเหตุ : ขณะนี้ดิฉันมีอายุ 90 ปี ได้ทำบุญไปเมื่อกรกฎาคมปีนี้เอง

ท่านที่รัก

ได้อ่านจดหมายฉบับนี้แล้วลืมเรื่องขุ่นข้องหมองใจกับไปรษหนีข้างบนนั่นหมดเกลี้ยงเลยละครับ จดหมายของคุณย่า..

สะอาดทั้งตัวหนังสือ สะอาดทั้งในความรู้สึก

คืนนี้จะอ่านสัก 100 รอบ แล้วจะตอบจดหมายคุณย่า นะครับ


บทที่ 8 ตอน:ตอบแทนคุณแผ่นดินแบบกำปั้นทุบดิน

อ่าน: 2194

คนเรานี่นะครับ จะทำชีวิตให้สง่างามเต็มไปด้วยความสุขความหวังมีชีวิตชีวา มีตัวช่วยหลักอยู่2อย่าง คือหัวใจและ2มือของเรา ถ้าจิตใจที่ทรงพลังสองมือที่แข็งแกร่ง จะเนรมิตอะไรก็ได้ทั้งนั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราทำอะไรไปแค่ไหน ผลลัพธ์ออกมาอย่างไร ส่วนหนึ่งเก็บรวบรวมประมวลผลด้วยการผ่านบล็อกลานปัญญานี่แหล่ะ อย่างผมที่เขียนไม่เป็นโล้เป็นพายเอามาลงในลานสวนป่า แต่คนส่วนใหญ่จะทำแบบปิดทองหลังพระ ทำไปเรื่อยๆเหนื่อยก็ยิ้ม ไม่ต้องการร้องแรกแหกกระเชอให้เสียเวลา มีความสุขอยู่กับการทำก็สุขล้นแล้ว ตามอ่านลานซักล้าง ลานจอหงวน ก็จะรู้ว่าไผเป็นไผ อิ อิ..

ผลงานอีกส่วนหนึ่งจะมีองค์กรหรือสถาบันต่างๆ ติดตามเก็บข้อมูลของบุคคลที่น่าสนใจ แล้วทำการคัดเลือกให้ไปจัดแสดงผลงาน-ไปนำเสนอ-และให้ไปรับรางวัล โครงการทำคุณแก่แผ่นดินจะมีเจ้าหน้าที่ผู้สื่อข่าวเก็บข้อมูลไปเสนอคณะกรรมการชุดเล็ก รอบแรกจะคัดเลือกไว้จังหวัดละ3คน หลังจากนั้นส่งผลงานไปให้คณะกรรมการใหญ่พิจารณาคัดเลือกให้เหลือ 1 คน

เราไม่รู้หรอกนะครับว่าคนมาพบเป็นใครมีเป้าประสงค์อะไร บางคนไม่แนะนำแม้แต่ชื่อของตนเอง ไม่บอกผมก็ไม่ถาม เมื่อไม่อยากให้รู้ชื่อแซ่ตำแหน่งหน้าที่การงานก็ไม่เป็นไร จะมาดูเฉยๆก็ได้ มาถ่ายรูปแวบๆก็ได้ จะมาแบบไหนได้ทั้งนั้นละครับ เชิญเลย..
จนกระทั้งกลางเดือนที่แล้ว มีโทรศัพท์มาบอกว่าให้ไปรับรางวัล รางวัลอะไรก็ไม่ชัดเจน อีกไม่ถึงสัปดาห์ก็มีโทรศัพท์มาอีกว่าให้ไปรับรางวัลที่ขอนแก่น ขอทราบหุ่น เจ้าภาพจะตัดเสื้อให้ด้วย ผมอยู่บางกอกไม่มีสายวัด จึงบอกว่าเอาเบอร์Lก็แล้วกัน วันที่สวมใส่เสื้อคับพุง เขาจับแต่งหน้าแต่งผมด้วยนะ แก่จวนเข้าโลงจะแต่งยังไงมันก็ไม่หล่อ ทำอย่างกับจะจับไปแสดงละครทีวี ทำไงได้ละ ผีถึงป่าช้า มีอะไรก็ว่าไปตามกัน สรุปว่าใช้เวลาไปค่อนครึ่งวันกับการซักซ้อมความพร้อมหลายรอบ ก็เข้าใจได้ละครับว่าทีมงานต้องการให้ภาพออกมาดูดีที่สุด

งานนี้เกี่ยวข้องกับการทำดีหลากหลายกรณีตามวิถีคนอีสานจำนวน20คน คณะกรรมการฯตั้งใจจะให้เป็นกรณีกิจกรรมสังคมในแต่ละพื้นที่ เพื่อจะเป็นแบบพิมพ์ให้แก่ชุมชนและสาธารณชนทั่วไป เรื่องนี้ไม่มีข้อจำกัดอะไร ทำอะไรก็ได้ตามที่เห็นว่าดี ออกแบบความดีตามอัธยาศัย ซึ่งคนส่วนใหญ่จะมองว่าการกระทำดีเป็นสิ่งยาก แต่ถ้าเราลองเริ่มต้นทำดีแบบง่ายๆ ความดีก็จะโผล่ขึ้นมาทันทีเช่นกัน



ไม่เชื่อก็ลองยิ้มดูสิครับ
เห็นไหม ใบหน้ายิ้มแย้มขึ้นมาทันที
ทำให้หน้าตาเรียบเฉยมีเสน่ห์ชวนมอง
ทั้งๆที่ยังไม่ได้แต่งหน้าทาปากด้วยซ้ำ
ลองเปิดสารบัญความดีด้วยรอยยิ้มก็ได้นะครับ
การยิ้มเป็นอาภรณ์วิเศษที่สุดในโลก
ยิ้มเถิดนะยิ้ม ยิ้มแย้มแจ่มใส ..

การลงมือปฏิบัติเป็นหัวใจของทุกเรื่อง
ถ้าได้แต่คิดแล้วไม่ลงมือทำ จะคิดทิ้งคิดขว้างไปทำไมละครับ?

นักพัฒนาความดีควรหลอมรวมหัวใจ รวบรวมพลังสองมือจากมิตรสหายให้เข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ถ้าไปชวนทศกรรฐ์มาช่วยได้ยิ่งดี เพราะเจ้ากรุงลงกามีกายาพิเศษกว่าคนอื่น เลือกเอามาเฉพาะจุดดีนะครับ เรื่องเจ้าชู้ประตูดินอย่าเอามา ผมหมายถึงว่า คนเราไม่มีใครสะอาดสมบูรณ์แบบผ้าขาว ถึงจะกระดำกระด่างไปบ้าง ถ้ารู้จักเลือกจุดดีก็จะเป็นประโยชน์ได้ เคยได้ยินคำว่า“ผ้าขี้ริ้วห่อทอง”บ้างไหมครับ นั่นแหละใช่เลย ใครจะเปรียบเปรยผ้าขี้ริ้วในแง่มุมอื่นก็ช่างเถอะ แต่ผมตีความง่ายๆตรงๆว่าผ้าขี้ริ้วทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง การที่เราไปเอาผ้าสวยๆราคาแพงมาห่อทองเสียอีกที่เป็นอันตราย อาจจะสะดุดตาโจรได้ จะเห็นว่าแม้แต่ผ้าขี้ริ้วก็เอามาใช้ประโยชน์ได้ดี มีตัวอย่างในวรรณคดีไทย เรื่องพระอภัยมณีหรือเรื่องอิเหนา นางเอกของเรื่องบางคนหน้าตาขี้ริ้ว แต่มีความดีในตัวเป็นอาภรณ์ กลายเป็นอภินิหารจูงใจให้พระเอกเข้ามาซบได้

คนหย่อนสวยอย่าเพิ่งท้อ ทำความดีไว้
สร้างปรากฏการณ์ความดีให้สำเร็จ
อานุภาพแห่งความดีอาจจะบันดาลให้พระเอกขี่ม้าขาวมาสยบก็ได้นะเธอ

เ ร า ม า เ ป็ น ตั ว คู ณ ค ว า ม ดี ข อ ง กั น แ ล ะ กั น เ ถิ ด น ะ ?
นะ นะ นะ

สรุปว่า..ไม่มีอุปสรรคใดๆในโลกนี้มาปิดกั้นการทำความดีได้ ดีมากดีน้อยค่อยบรรจง อานิสงค์แห่งความดีมีอยู่แล้ว การทำดีเล็กน้อยมีค่ามากกว่าการทำร้ายไม่รู้กี่ล้านเท่า ไม่มีมาตรวัดว่าอะไรดีมากดีน้อย ความดีมีค่าเท่าเทียมกันสม่ำเสมอ
พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่ 12 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 12 ธันวาคม 2513
“ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจในการกระทำสิ่งใดๆที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่วว่าเสื่อม เราต้องฝืนต้องต้านความคิด และความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่าขัดกับธรรมะ เราต้องกล้า ต้องบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดีเป็นความถูกต้องและเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ให้ได้จริงๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากขึ้นๆ ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนชีพดีขึ้นเป็นลำดับ”

จะเห็นว่าหลักการทำความดีนั้นมีอยู่แล้ว แต่พสกนิกรของพระองค์สนองพระราชดำริในเชิงทฤษฎีเป็นส่วนใหญ่ ยังมีผู้ที่นำเอาไปปฏิบัติไม่มากพอที่จะเกิดพลังค้ำชูดูแลบ้านเมือง บางส่วนก็ลอยแพสังคม บางส่วนก็ทำร้ายสังคม กำลังกระเหี้ยนกระหรือกับอำนาจเถื่อนที่ได้มา บางกลุ่มกล้าคิดแม้แต่จะขอพระราชทานอภัยโทษความเลว แทนที่จะทำความดีลดโทษตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ก็คิดจะปีนเกลียวอยู่ร่ำไป คนประเภทแหกคอกมีอยู่ทุกยุคทุกสมัยนะครับ ทำไงได้ นอกจากรอดูกฎแห่งกรรม ทำสิ่งใดได้สิ่งนั้น ไม่มีใครสบายใจจากการคิดนอกลู่นอกทางหรอกนะครับ ไม่งั้นจะมีคำว่า
“เข้าตามตรอกออกตามประตู” รึ

จิตนาการ สำคัญกว่าความรู้ ถ้าอยากรู้ว่า “อัลเบริต์ ไอสไตน์ พูดถูกหรือเปล่าเราต้องลงมือปฏิบัติดูว่าจริงไหม? วันนี้เธอมีจินตนาการอย่างไรบ้าง หรือมีแต่จินตนาเกา อะไรที่สำคัญกว่าความรู้ล้วนน่าพิจารณา เพราะแม้แต่แค่ความรู้เราก็ยังอิหลักอิเหลื่อ ถามว่า..
วันนี้เราอยู่กับชุดความรู้อะไร ?
โทมัส อัลวา เอดิสัน คนที่เราเป็นหนี้บุญคุณเรื่องแสงสว่างมาเท่าทุกวันนี้ บอกว่า..อัจฉริยะเกิดจากแรงบันดาลใจเพียงเล็กน้อย แรงผลักดันส่วนใหญ่เกิดจากความอุตสาหพยายาม แหมพูดอีกก็ถูกอีก ไม่ พ ย า ย า ม พ ญ า ย ม ก็ถามหานะสิ เราจะมีชีวิตอยู่เพื่อผลาญออกซิเจนอย่างนั้นรึ
เกี่ยวเถิดนะพ่อเกี่ยว อย่ามัวชะแง้แลเหลียว เดี๋ยวเคียวจะบาดใจเอย..

พูดถึงการเป็นคนดีแทนคุณแผ่นดินในปีนี้แล้วเขินเป็นบ้า
คณะผู้อภินันทนาการรางวัลได้คัดย่อผลงานไปแสดงไว้ดังนี้

“ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ปราชญ์เกษตรชาวบ้าน ผู้พัฒนาวิธีการปลูกยูคาลิปตัสแบบผสมผสานสลับกับไม้ยืนต้นพื้นเมืองอื่นเพื่อสร้างความหลากหลาย รวมทั้งอาศัยการจัดการระบบน้ำหยดเข้าช่วย จนดินกลายเป็นดินดำ ทำให้ป่าอุดมสมบูรณ์ขึ้นอย่างรวดเร็ว และระหว่างรอให้ต้นไม้โตก็ได้ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ระหว่างแถวต้นไม้ควบคู่ไปด้วย โดยเลี้ยงโคเนื้อ แพะแกะ และรวมทั้งสัตว์ปีกจำพวกไก่ สุกรพันธุ์พื้นเมืองและการเลี้ยงผึ้ง นอกจากนี้ยังจัดตั้งระบบการเรียนรู้แบบโฮมสคูล เพื่อให้เด็กเรียนรู้จากของจริง”

ก่อนขึ้นรับรางวัลของตัวแทนแต่ละจังหวัด เจ้าภาพจะฉายสไลด์วิดีโอผลงานสั้นๆขึ้นจอ แล้วแต่ละท่านเดินขึ้นไปรับรางวัลกับองคมนตรี ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล รับรางวัลแล้วเดินไปที่โฟเดี้ยมเพื่อพูดความในใจสั้นๆ.. ผู้ดำเนินรายการมากระซิบว่าให้พูดสั้นๆ สั้นๆ ก็สั้นๆ..
“ท่านที่รัก มีคำถามเบาๆแต่เอาจริงว่า
มีเหตุผลอะไรที่เราไม่ช่วยกันแทนคุณแก่แผ่นดินนี้ ขอบคุณครับ”


(เปิดห้องเรียนให้กว้างๆแล้วจะเห็นทุกอย่างเป็นครู)

กลับมาถึงบ้าน มีครูอาจารย์จากโรงเรียนกนกศิลป์พิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์ นำขบวนโดยอาจารย์พันดา เลิศปัญญา พาเด็กๆมานอนเข้าค่ายศึกษาเรื่องศิลปะเพื่อธรรมชาติรอจำนวน50กว่าชีวิต ในช่วงที่ให้เด็กๆสอบถามข้อข้องใจ .. คำถามยอดฮิตที่ได้รับจากเด็กๆและผู้ที่มาเยี่ยม คือ

เ ค ย ท้ อ ไหมครับ?
เอาทุนมาจากไหน?
เอาแรงบัลดาลใจมาจากไหน?
ทำมากอย่างนี้ต้องดูแลยังไง?
ทำไมถึงมาเลือกปลูกสร้างสวนป่า?
ในอนาคตสถานที่นี่จะใครจะมารับช่วงทำต่อ?

ความฝันอันสูงสุดคืออะไร

มีคำตอบมากมายสำหรับคำถามเหล่านี้ บางคนมีปณิธานว่าจะใส่ใจทำงานให้บรรเจิด ตั้งเป้าประสงค์ที่จะทำความดีต่อช่วงความฝันให้บรรลุ แต่คนอีกส่วนหนึ่งก็ตีค่าความใฝ่ฝันให้ออกนอกลู่นอกทาง ไม่ตระหนักว่าความฝันมีเครื่องหมายบวกและเครื่องหมายลบอยู่ด้วย ในความฝันมีทาง2แพร่ง จะแปลค่าความฝันให้ออกหัวหรือออกก้อยดีละครับ เมื่อไม่แน่ใจก็วิ่งโร่ไปหาหมอดูคู่กับหมอเดา

ถ้าคิดดีคิดได้ก็ทำความใฝ่ฝันให้เป็นปณิธาน ถ้าคิดไม่ได้คิดไม่ดีทำความฝันให้แปดเปื้อน แสดงว่าความฝันคงมีหลายกระบวนท่า บางคนฝันเตี้ยๆเรี่ยพื้นดิน บางคนฝันครึ่งๆกลางๆ ตีความเป็นลางร้ายลางดี เอาไปวิเคราะห์เป็นตัวเลขเด็ด สรุปได้ว่าความฝันกับความใฝ่ฝันยืนเคียงคู่กัน จะยกระดับให้สูงขึ้นหรือจะทำให้เตี้ยลงสาวะวันขึ้นอยู่กับ เ ร า จ ะ บ ริ ห า ร ค ว า ม ฝั น อ ย่ า ง ไ ร ? บางคนคิดทำเพื่อตนเอง แต่บางคนก็คิดเผื่อแผ่ไปถึงคนอื่นด้วย ความฝันอันสูงสุดจึงขึ้นอยู่กับการกระทำที่ทรงพลังของตัวเรา

ความฝันของมหาชีวาลัยอีสาน ต้องการหาวิธีเอาใบไม้ต้นไม้ปกคลุมผืนดินสีแดงๆตุ่นๆให้เหมือนสภาพผืนดินผืนป่าในอดีต จึงควานหารูปแบบที่จะนำมาส่งเสริมขยายผลที่เหมาะกับสภาพของสังคมปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่มุ่งแต่จะกอบโกยเอาประโยชน์จากป่าเขาลำเนาไพร ไม่ใคร่มีใครคิดที่จะมาช่วยกันเติมเต็มให้สภาพแวดล้อมธรรมชาติ ต้นทุนทางธรรมชาติ คือต้นทุนที่สำคัญของชาติ ชาติไหนธรรมชาติเปราะบาง สังคมนั้นๆก็จะอ่อนแออ่อนไหว หลังจากคิดสาระตะแล้วจึงเสนอ “โมเดลบุรีรัมย์”

ไม่ปลูกป่าแต่อยากจะอยู่ในที่อากาศดีๆมีทิวทัศน์สวยงาม
นอกจากจะไม่ลงทุนลงแรงช่วยฟื้นฟูธรรมชาติแล้ว
ใจคอตั้งหน้าแต่จะกอบโกย

เอาอย่างนี้ดีไหมครับ?
ใครอยากจะปลูกสร้างรีสอร์ท
ก็ควรวางแผนพัฒนาสภาพแวดล้อมในพื้นที่เอกสารสิทธิ์ของตนเอง
อย่าก้าวล่วงมือยาวสาวได้สาวเอา
พวกมือยาวสติสั้นนี้น่ากลัวนัก
ใครพบเจอที่ไหนช่วยแนะนำให้กลับไปอยู่ในจุดที่ชอบๆด้วยเถิด

เท่าที่ปลูกต้นไม้มาพอสมควร มั่นใจว่าถ้าคนอีสานเข้าใจเรื่องการปลูกป่าหลายวัตถุประสงค์ อีสานบ้านผมจะฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ได้ภายใน10ปี ไม่นานเลยนะครับ ระหว่างที่รอเวลาป่าไม้เติบโต เราก็เก็บเกี่ยวประโยชน์จากร่มไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ มาเป็นรายได้ชุดเบิกนำ การทำการเกษตรที่เอื้อต่อธรรมชาติเป็นวงจร ทุกอย่างก็จะเชื่อมโยงกัน เช่น เปลี่ยนใบไม้มาเป็นอาหารสัตว์ เปลี่ยนใบไม้มาเป็นมูลสัตว์ เปลี่ยนมูลมาเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ ทำไปทำมาก็จะเข้าใจเองละครับว่าความมั่นยืนคืออะไร จะเกิดการเปรียบวิธีทำงานแบบล้างผลาญสิ่งรอบข้าง กับการทำงานแบบเอื้ออาทรต่อธรรมชาติ มีคนดีจำนวนมากพยายามพูดโน้มนำเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ภาพรวมของการเกษตรระดับรากหญ้าก็บอบช้ำจากการช่วงชิงผลประโยชน์

รู้จักหมูในอวยไหมครับ?
รู้จักหมูวิ่งชนปังตอไหมครับ?
รู้จักสุกรนั้นไซร้เป็นหมาน่อยธรรมดาไหมครับ?

เรื่องการเกษตรจะมาพูดกันอ้อมแอ้มไม่ได้หรอก กระทรวงศึกษาธิการจะต้องเข้ามาเป็นเพื่อนคู่คิดอย่างสำคัญ ถ้าเกษตรกรอยู่ไม่ได้ ลูกหลานเกษตรกรจะอยู่ได้อย่างไร วิชาความรู้ที่สอนๆกันอยู่ในโรงเรียน เอามาใช้มาช่วยการงานพ่อแม่ได้ไหม ผมชื่นชมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนมานาน เขาบูรณาการหลักสูตรให้เข้ากับสภาพของสังคมพื้นถิ่น ให้เด็กๆได้ลงมือเรียนวิชาการงานอาชีพควบคู่กับวิชาสามัญฆาตกรรม แต่พอมาดูโรงเรียนในชนบทของเขตพื้นที่การศึกษา สอนบ้าอะไรก็ไม่รู้ เกณฑ์ให้ครูและเด็กเรียนแต่เรื่องไกลตัว เรียนวิชาทิ้งถิ่น ไม่มีสำนึกดีว่า จะผสานความรู้ในโรงเรียนกับความรู้ในท้องถิ่นให้เนียนเป็นเนื้อเดียวกันอย่างไร

• วิทยาลัยการอาชีพสอนอาชีพอะไร
• วิทยาลัยสารพัดช่างสอนช่างอะไร
• วิทยาลัยเกษตรสอนเกษตรอะไร
• วิทยาลัยเทคนิคสอนเทคนิคอะไร
• วิทยาลัยชุมชนสอนชุมชนอย่างไร
• การศึกษานอกโรงเรียนสอนวิชานอกโรงอย่างไร
• มหาวิทยาลัยราชภัฎ เป็นมันสมองท้องถิ่นได้แค่ไหน

ถ้าบทบาททางการศึกษายังคลำเป้าไม่เจอ ปริมาณของเกษตรกรอาจลดลงจนแทบสูญพันธุ์ได้ นโยบายการศึกษาทุกวันนี้คุมกำเนิดความก้าวหน้าของภาคการเกษตรกรรม ตั้งหน้าตั้งตาแต่จะป้อนตลาดแรงงาน ทำเอาสังคมชนบทซวดเซอย่างหนัก ถึงกระนั้นก็ยังไม่รู้สึกรู้ร้อนรู้หนาว
การศึกษาไทยควรแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ
1 กลุ่มที่อยู่ชายแดน กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ควรเรียนหลักสูตรตำรวจตระเวนชายแดน
2 กลุ่มที่อยู่ในชนบทที่ไม่มีความพร้อมมากนัก เรียนหลักสูตรท้องถิ่นประยุกต์
3 กลุ่มที่อยู่ในเขตเมือง เรียนหลักสูตรปกติในปัจจุบัน

ถ้าไม่ยอมเปลี่ยนแปลงหลักการ ยังจะตะบี้ตะบันจัดการศึกษาแบบเหมาโหล พยายามตัดตีนให้พอดีกับเกือก มันไม่ทารุณไปหน่อยรึครับ ถามว่า..ผู้ปกครองต้องการให้ลูกเป็นเจ้าคนนายคน ไม่ต้องการให้ลูกเต้าตกระกรรมลำบากอยู่ในท้องไร่ท้องนาเหมือนตน จึงผลักไสไล่ส่งให้ลูกเข้าเรียนสูงๆ จะให้กระทรวงการศึกษาทำอย่างไร?
ไม่ผิดหรอกที่จะสนองความต้องการภาคประชาชน แต่การสนองความต้องการแบบไม่สมเหตุสมผล จำเป็นที่จะต้องจับเข่าบอกเล่าความเป็นจริงให้ญาติร่วมแผ่นดินได้ตระหนักถึงความเป็นไปได้ อีกไม่กี่ปีก็จะมีหุ่นยนต์มาทำงานแทนมนุษย์กันแล้ว เราจะเอาบัณฑิตไปกองไว้ที่ไหนละครับ

นโยบายที่สมบูรณ์แบบคือการจัดการศึกษาให้ทั้งสังคม
ไม่ใช่จะมาต๊อกๆอยู่แต่ในสถาบันการศึกษาเท่านั้น

มีเด็กไกลปืนเที่ยงรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกาไปได้กี่คน เรามีเด็กที่ถูกสังคมกระทำบ้าๆบอๆจนกรุแทบแตก เรามีเด็กเกเรเกตุงหนักข้อขึ้นทุกวัน ปัญหาเหล่านี้มีวิธีแก้ที่หวังผลได้แล้วหรือ ไปอั้นวิทยาลัยเทคนิคไว้ไม่ยอมให้เปิดสอนระดับปริญญา จิกให้อยู่ในขั้นอนุปริญญา ความสำนึกของเด็กวัยร้อนทำให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจอยู่ลึกๆ ถ้าให้เขาเหล่านี้ได้เรียนในระดับบัณฑิต บางทีรัศมีของวุฒิปริญญาตรี อาจจะทำให้เด็กเทคนิคปรับกริยามารยาทให้สมกับวุฒิภาวะของบัณฑิตก็ได้นะเธอ


ความเท่าเทียมกันทางการศึกษาอย่าจัดแบบปิดประตูตีแมวสิครับ..

นโยบายทางการศึกษาควรรื้อหลักสูตร ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องมีแผนกอบกู้วิกฤติทางภาคการเกษตร โดยจัดระบบการศึกษาและการส่งเสริมอาชีพให้เข้มข้นถูกทิศถูกทาง ให้ชาวไร่ชาวนามีรูปแบบการพัฒนาวิชาชีพที่ชัดเจน ใ ห้ วิ ท ย า ลั ย ต่ า ง ๆ เ อ า วิ ช า เ ข้ า ไ ป ห า อ า ชี พ ถ้าทำได้ครบถ้วนเป็นวงจร ความเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นกับสังคมเกษตรและสังคมการศึกษา จะ ทำ ใ ห้ ภ า ค ก า ร ศึ ก ษ า ม อ ง เ ห็ น จุ ด โ ห ว่ ที่ จ ะ ต้ อ ง เ ป ลี่ ย น แ ป ล ง เ นื้ อ ห า ก า ร เ รี ย น เ น้ น ม า ส อ น เ ชิ ง รุ ก มุ่งสอนการปฏิบัติที่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูการงานอาชีพในพื้นที่ วิทยาลัยต่างๆก็จะเห็นช่องทางที่จะเข้าไปสอดแทรกความรู้ จัดเป็นหลักสูตรสนองต่อผู้ปกครองและลูกศิษย์ของตนเอง ถ้านึกไม่ออกลองไปศึกษางานในศูนย์ศีลปาชีพดอยตุง ที่สมเด็จย่าได้วางลู่ทางไว้ให้ ไปฟังเสียงชาวบ้านชาวดอยเขาพูดถึงวิธียกระดับความเป็นมืออาชีพได้อย่างไร แทนที่จะมางมโข่งสอนวิชาตกงาน ก็สอนวิชาสร้างงานไม่ดีกว่ารึ เอาอย่างนี้ดีไหมครับ อย่าทำเป็นแผ่นเสียงตกร่องอยู่เลย นึกว่าสงสารลูกหลานตาดำๆที่ทนเรียนแบบซังกะตาย


เด็กทุกคนต้องได้เรียน
เด็กทุกคนต้องได้รับการสนับสนุนเรียนฟรี
เร็วๆนี้เด็ก ป.1 ยังจะได้รับแจกแท็ปเลท
ลูกอีช่างแจกจริงๆเลยนะเนี๊ย..

ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเป็นอย่างไรไม่กล้ากระเอม
การวัดประเมินผลแต่ละกลุ่มวิชาเป็นอย่างไรได้แต่กลอกหน้า
เรื่องนี้โทษครูโทษโรงเรียนไม่ได้หรอก
ต้องพิจารณาต้นตอที่ใจคอจะจัดการศึกษาดำน้ำไปเรื่อยๆ
บทนี้ทำท่าจะเป็นหนังเรื่องยาว
ท่านราชบัณฑิตเมธีทางการศึกษา ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
บอกว่า..ครูบาทำไมไม่พูด
จะยกยอดไปอีกหนึ่งกระทอกจะดีไหมนี่?

เอ๊ะ เขียนอย่างนี้น่าจะได้รางวัลปาก-มาอีกสักอย่างนะเธอ

อิ อิ..


เรื่องยาวๆ ที่ไม่ใช่เพลงยาว

อ่าน: 3197

ได้รับการบ้านจากสภาวิจัยแห่งชาติให้ไปโม้ประเด็นนี้

บังเอิญยาวไปหน่อย ถ้าไม่มีเวลาก็เปิดข้ามไปเถิดนะครับ อิ อิ

(ทำไมแพะตัวเมียถึงมีเครา ถ้าอยากรู้ว่าเคราแพะมีประโยชน์หรือไม่ก็ต้องทำการวิจัย)

: ปัญหาของชาวบ้านกับการทำวิจัย

: ถ้าโจทย์ออกมาอย่างนี้

แสดงว่ามีผู้เข้าใจและสนใจเกี่ยวกับการวิจัยไทบ้านบ้างแล้ว

บางท่านอาจจะสงสัยว่าชาวบ้านต้องทำการวิจัยได้หรือ

พูดถึงงานวิจัย บางคนร้องโอ๊ก มองเป็นยาขมหม้อใหญ่

ทั้งๆที่ในความเป็นจริง..งานวิจัยเป็นขนมหอมหวานอร่อย

จริงหรือ จริงสิ แน่นะ อ๋อแน่สิ ..เชิญตามมา >>

: ประเด็นนี้ละครับที่จะต้องมาฉุกคิดกัน

โดยข้อเท็จจริงมนุษย์เราทุกผู้ทุกนามต่างก็มีความรู้ในตัวตนทั้งนั้นละครับ เพียงแต่สิ่งที่รู้และทักษะชีวิตมีหลายชั้นหลายระดับ เกิดเป็นความชำนาญที่หลากหลาย แยกแยะเป็นผู้ชำนาญการที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ช่าง” เช่น ช่างไม้ ช่างปูน ช่างก่อสร้าง ช่างทำเครื่องเรือน ช่างทำบ้าน ช่างทำเรือฯลฯ บ้างก็เรียกว่า “หมอ” หมอยา หมอพื้นบ้าน หมอทำขวัญฯลฯ บ้างก็เรียก”นายฮ้อย” หมายถึงผู้ชำนาญด้านการค้าขายเกี่ยวกับปศุสัตว์ บ้างก็เรียกว่า”ครู” ครูเพลง ครูดนตรีฯลฯ

: ผู้รู้เหล่านี้ปัจจุบันเรียกรวมๆว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่น”

ภูมิปัญญาเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

ธรรมชาติของคนเรา อยู่ที่ไหนก็ต้องดิ้นรนแสวงหาความรู้มาแก้ไขอุปสรรคในการดำเนินชีวิตให้เกิดความมั่นคงยิ่งขึ้น มนุษย์เริ่มวิจัยตั้งแต่สมัยลากตะบองอาศัยอยู่ในถ้ำ.. ต่อมาก็คิดค้นเรื่องการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์แทนที่การไล่ล่าสัตว์ซึ่งไม่แน่นอน เมื่อสภาพธรรมชาติเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ก็คิดค้นเอาหนังสัตว์มาทำเครื่องนุ่งห่มเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น คิดไปคิดมาก็ได้เสื้อผ้าถุงมือถุงเท้าที่มีคุณภาพสามารถสู้ทนกับความหนาวเย็นได้ พัฒนาการไม่หยุดนิ่งจนกระทั้งสามารถไปอาศัยอยู่ในเขตหนาวได้ ชาวเอสกิโมคิดได้แม้กระทั้งการสร้างบ้านด้วยก้อนน้ำแข็ง

: ความรู้เป็นพลังที่เปล่งประกายความสามารถ

ความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองแห่งยุคสมัยต่างๆ ทำให้เกิดโจทย์ใหม่ๆให้มนุษย์ต้องปรับปรุงความรู้ความสามารถตลอดเวลา ต่อเมื่อโลกมีการติดต่อไปมาหาสู่กันมากขึ้นเร็วขึ้น วิทยาการต่างๆได้เชื่อมโยงกันไปทั่วโลก กระตุ้นให้สังคมมนุษย์ในแต่ละยุคสมัยต้องดิ้นรนพัฒนาตนเองเพื่อความอยู่รอด และแข่งขันกันอยู่ในที

: วิทยาการใหม่ๆคืออำนาจ สามารถกำหนดความต้องการได้อย่างอิสระ จะเอาเปรียบจะกำหนดค่าวิชาความรู้ จะตั้งเกณฑ์สิทธิบัตรต่างๆนานา การซื้อขายสิทธิทางปัญญาเกิดขึ้นทั่วโลก

ประเทศที่ด้อยพัฒนาต้อง..

นำเข้าทุน

นำเข้าความรู้

นำเข้าเทคโนโลยีและวิทยาการ

ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “จ่ายค่าโง่” ในอัตราแพงลิ่ว

ทำให้ประเทศที่ล้าหลังเสียเปรียบอย่างยากที่จะดิ้นหลุด

ตราบใดที่ไม่ดิ้นรนค้นคว้าวิทยาการให้มีขีดความสามารถเทียบทัน

หลุดพ้นจากการจำต้องซื้อความรู้ของชาติอื่น

ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน อินเดีย สามารถพัฒนาการยกชั้นขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนารอบด้านได้อย่างน่าชื่นชม สามารถที่จะแลกหมัดความรู้ความสามารถกับชาติตะวันตกได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะประเทศพัฒนาใหม่เหล่านี้มีวิธีเรียนรู้ที่เข้มแข็งถึงลูกถึงคน ซึ่งหมายถึงการทุ่มเทสร้างนักวิจัยของชาติขึ้นมาอย่างมีแบบแผนเป็นระบบ

ประเทศอื่นๆเขาส่งคนไปเรียนในต่างประเทศ

ไม่ ไ ด้ ส่ ง ไ ป ใ ห้ จ ด จำ ว่ า ทำ อ ย่ า ง นั้ น อ ย่ า ง นี้

แต่ส่ง ไ ป เ รี ย น วิ ธี ทำ

เ มื่ อ ก ลั บ ม า ป ร ะ เ ท ศ บ้ า น เ กิ ด ก็ ท ด ล อ ง ทำ และ ทำ

ฝึกฝนพัฒนาทักษะความสามารถอย่างทุ่มเท

ทำให้นักพัฒนารุ่นบุกเบิกเหล่านี้สร้างต้นทุนวิทยาการและเทคโนโลยี

แล้วมาต่อยอดด้วยการช่วยกันวิจัยให้คมชัดยิ่งขึ้นอย่างกว้างขวาง

เกิดเป็นวิทยาการภายในของชาติตนเอง

เพื่อเอาไปเปรียบเทียบกับวิทยาการชาติตะวันตก

เปรียบเสมือนรางรถไฟที่วิ่งคู่กันไป

ก็จะเห็นว่าของเขาไปถึงไหน ของเราเป็นอย่างไร

สามารถเข้าไปยืนอยู่ในจุด..ที่ รู้ เ ข า รู้ เ ร า

ถ้าไม่เริ่มต้นจากเค้าโครงความรู้ที่เป็นเนื้อแท้ของเราเอง เราจะไม่หลงทางหรือครับ?

มองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ในช่วงที่ประเทศตะวันตกตระเวนเดินเรือนำปืนไฟไปยึดครองดินแดนต่างๆ คนพื้นเมืองเหล่านั้นหลังจากตื่นตระหนก ก็ต้องมาตระหนักกับความรู้ความสามรถที่เป็นต้นทุนของเผ่าพันธุ์ตนเอง “เกิดการเปรียบเทียบชุดความรู้อย่างกะทันหัน”

ทำอย่างไรจะสู้กับวิทยาการที่มีอิทธิฤทธิ์เหล่านั้นได้

จุดเหล่านี้เป็นพลังกระตุ้นต่อมความรู้ให้คิดค้นชุดความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ

เปรียบดั่ง หอก ดาบ ธนู จะสู้ปืนไฟไม่ได้หรอก

กรณีตัวอย่างที่ยกมาข้างบนนั้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้รู้ในสังคมอยู่เฉยไม่ได้แล้ว ต้องเร่งรีบปรับปรุงความรู้ความสามารถของตนเองอย่างแข็งขัน ผู้รู้ที่กล่าวถึงนี้ น่าจะเป็นนักวิจัยสายพันธุ์แท้ แสดงว่าในวิถีไทก็มีการฝึกฝน-มีการถ่ายทอด-พัฒนาการฝีมือจนกระทั้งเข้าเกณฑ์ความเชี่ยวชาญ จนเป็นที่ยอมรับว่ามีความสามารถทำกิจกรรมที่ตนถนัดได้บรรลุเรียบร้อย โดยไม่ต้องมีใบประกาศรับรองจากสำนักฯใดๆ อาศัยความเชื่อถือและชื่อเสียงที่ผ่านการพิสูจน์ผลงานซ้ำแล้วซ้ำอีก

ภูมิปัญญาท้องถิ่นในสาขาต่างๆ

ผู้เชี่ยวชาญเชิงช่างในพื้นถิ่นนี่เองที่ผู้เขียนเรียกว่า

“นักวิจัยไทบ้าน”

: ชาวบ้านทำวิจัยได้จริงหรือ?

: ชาวบ้านทำวิจัยลักษณะไหน?

: ชาวบ้านวิจัยออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร?

: ชาวบ้านมีปัญหาตรงไหน?

: งานวิจัยไทบ้าน อ ยู่ ที่ ก า ร ตี ค ว า ม

ท่านที่เถรตรงก็อาจจะเอากระบวนการงานวิจัยทางวิชาการมาจับ เอากรอบระเบียบวิธีวิจัยมาครอบ เอากฎเกณฑ์เชิงวิชาการมากำหนด ไปตีพิมพ์ในนิตยสารต่างประเทศได้หรือเปล่า เรื่องนี้ถ้าจับเข่าคุยกัน พบกันครึ่งทาง จะทำให้เห็นลายแทงงานวิจัยไทบ้าน ว่ามันมีความหมายความสำคัญ ไม่ได้แตกแยกไปออกไปจนสุดโต่ง แต่เป็นคุณประโยชน์อย่างมาก ถ้าจะหันมาร่วมมือและผนวกกำลังการวิจัยเข้าด้วยกัน

ปัญหาอยู่ที่ว่า..ถ้าจะทำแบบวิจัยไทบ้าน นักวิจัยเชิงวิชาการมีความรู้สึกว่ามันคนละรูปแบบกัน ทำอย่างนี้ไม่ได้หรอก หน่วยงานหรือองค์กรยังไม่ยอมรับ เอาไปตีพิมพ์ เอาไปขอความดีความชอบ เอาไปแสดงผลงานได้ยาก จึงไม่สนใจที่จะร่วมมือร่วมคิดร่วมทำกับนักวิจัยไทบ้าน เรียกรวมๆว่า..สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนักวิจัยยังไม่กระจ่างใจกับการวิจัยไทบ้าน

ทั้งๆที่การร่วมมือกันวิจัยกับไทบ้านจะได้โจทย์ที่ตรงประเด็น

เกิดประโยชน์โดยตรงต่อผู้ที่ต้องการใช้ผลงานวิจัย

งานวิจัยไทยจะเต็มรูปแบบและส่งผลต่อบริบทของงานวิจัยทั้งระบบ

: ความพิเศษของงานวิจัยไทบ้านอยู่ตรงไหน?

ผ ล ง า น วิ จั ย ไ ท บ้ า น ไ ม่ เ ค ย ขึ้ น หิ้ ง ไม่กองคากระดาษเปื้อนหมึก แต่กระโดดโลดเต้นท่ามกลางสายลมแสงแดด แทรกอยู่ในชีวิตประจำวัน กระจายว่อนอยู่ในความครุ่นคิดคำนึง เป็นชุดความรู้ที่มีการสะสาง-พัฒนาต่อยอด ตรงจุดนี้ละครับที่..นักวิจัยสายวิชาการจะมาช่วยต่อยอดหรือพัฒนาโจทย์ร่วมกัน

: เหตุผลที่โจทย์วิจัยควรมาจากผู้ที่ต้องการใช้ผลงานวิจัย

จุดเปราะบางงานวิจัยของนักวิจัยในสถาบันต่างๆ ส่ ว น ม า ก จ ะ ทำ วิ จั ย ต า ม ใ จ ฉั น บางท่านยังไม่ทราบว่าตนเองต้องการค้นคว้าเรื่องหนึ่งเรื่องใด เมื่อมีไฟล์ให้ต้องทำผลงานวิจัย ก็คิดไม่ออกบอกไม่ได้ว่าตนเองต้องการรู้แจ้งแทงตลอดในเรื่องใด ในชีวิตไม่เคยมีเรื่องต้องการค้นคว้าเป็นพิเศษเลยเชียวหรือ! เมื่อจำเป็นต้องทำวิจัย งานวิจัยจึงออกมาแกนๆกระท่อนกระแท่น ไม่มีพลังพอที่จะลงจากหิ้งได้..หาคนสนใจเอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ทำให้เกิดความสูญเปล่างบประมาณและเวลาที่ทุ่มเทลงไป ทั้งๆที่สาระวิจัยเหล่านั้นอาจจะมีคุณค่ามากก็ได้ แต่ไม่ได้มองล่วงหน้าว่าจะขายความคิดนี้ให้กับกลุ่มไหนอย่างไร ถ้าไม่ปรับตรงนี้..สร้างหิ้งรออย่างไรก็ไม่พอเก็บงานวิจัยประเภทนี้หรอกนะครับ

: งานวิจัยไทบ้าน จึงยื่นมือมาขอแช็คแฮนด์ “มาทำวิจัยด้วยกันเถอะ”

ในบางประเทศเขาออกแบบเค้าโครงวิจัยแบบบูรณาการ

ชั้นแรก สถาบันส่งเสริมสนับสนุนทุนวิจัย ออกทุนให้นักวิจัยทำการวิจัยร่วมกับเจ้าของกิจการ 100% เพื่อสนับสนุนงานวิจัยต้นทางที่จำเป็นต้องได้รับการอุดหนุนเบื้องต้น

ชั้นที่สอง หลังจากทำการวิจัยได้ระดับหนึ่ง เกิดหมากผลเอาไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้พอสมควร เมื่อต้องการทำวิจัยต่อ สถาบันส่งเสริมสนับสนุนทุนวิจัยสมทบทุนให้ 50%

ชั้นที่สาม หลังจากทำการวิจัยจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ชุดความรู้ที่ได้สามารถเอาไปเพิ่มมูลค่าอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดผลตอบแทนคุ้มทุนคุ้มค่ากับ เจ้าของกิจการได้รับประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย สถาบันส่งเสริมสนับสนุนทุนวิจัยงดการให้ทุน ถ้าเจ้าของกิจการจะทำการวิจัยต่อยอดต่ออีก ฝ่ายดำเนินกิจการต้องออกทุนจ้างนักวิจัยมืออาชีพด้วยตัวเอง

: ด้วยวิธีนี้จะทำให้เกิดนักวิจัยมืออาชีพเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ทำให้เกิดระบบการจ้างนักวิจัยเพิ่มขึ้นจากการอุดหนุนของภาคธุรกิจ/เจ้าของกิจการต้องการวิจัยเรื่องใดมาสนองกิจการของตนเอง ก็สามารถติดต่อให้นักวิจัยเหล่านี้รับงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างกัน นอกจากงานวิจัยก็จะเกิดขึ้นประโยชน์อย่างกว้างขวางแล้ว ยังเป็นการสร้างนักวิจัยอาชีพเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบที่มีเจ้าภาพรองรับแทนสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมทุนของภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว ตัวต่อจุดนี้ทำให้นักวิจัยไทบ้านมีความหมายในฐานะกาวเชื่อมระบบวิจัยให้ก้าวหน้าไงครับ?

: มีตัวอย่างงานวิจัยไทบ้านบ้างไหม?

จะเอาแบบไหนละครับ ถ้าเอาตัวอย่างงานวิจัยสมัยก่อนมีมากมาย ยกตัวอย่าง เช่น ชาวบ้านไม่มีรถแทรกเตอร์ลากซุงไม้ออกจากป่าไม้เหมือนสมัยนี้ นักวิจัยไทบ้านก็ชวนกันไปคล้องช้างป่ามาใช้งาน ก า ร ค ล้ อ ง ช้ า ง ป่ า มันง่ายไหมละครับ กว่าจะสะสมชุดความรู้ขึ้นมาจนเป็นตำราคชศาสตร์ นักวิจัยไทบ้านต้องลงทุนลงแรงทำการวิจัยอย่างสุดจิตสุดใจ ล้มหายตายไปเพราะการต่อช้างกี่ร้อยชีวิตแล้วก็ไม่ทราบได้ คล้องช้างป่าได้แล้ว ต้องมาหาวิธีฝึกช้างให้เชื่องไว้ใช้งานได้ตามความประสงค์

อีกตัวอย่างหนึ่งง่ายๆ ชาวบ้านเอาไม้ไผ่มาใช้ประโยชน์ได้นานัปการ ทำการจักสานเป็นของใช้ไม้สอย เอามาสร้างบ้าน เครื่องมือดักจับสัตว์ เครื่องดนตรี เชื้อเพลิงฯลฯ สรุปว่าทำได้นับร้อยนับพันอย่าง การก่อเกิดสิ่งประดิดประดอยเหล่านี้ เรียกว่า..ผลงานวิจัยได้ไหมครับ หรือการที่แม่ครัวหัวป่าส์เหล่าเสน่ห์จวักทั้งหลาย คิดเมนูอาหารไทยขึ้นมาจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก เป็นอัตลักษณ์-เอกลักษณ์ประจำชาติ ..สิ่งเหล่านี้จะเรียกว่างานวิจัยไทบ้านได้ไหมครับ รึ จะต้องทำการถอดรหัสเป็นขั้นเป็นตอน สกัดผลการคิดค้นให้ออกมาเชิงวิชาการ หรือนำไปเป็นตำราในต่างประเทศ ไผ่จึงเป็นโจทย์ที่นักวิจัยไทบ้านเห็นว่ามีความสำคัญอย่างมากทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

(ไผ่ใครๆก็รู้จัก แต่ถ้าจะให้รู้อย่างลึกซึ้งครบกระบวนการต้องทำการวิจัย)

: ไผ่ ให้ผลผลิตเร็วและต่อเนื่อง ถ้าใช้เทคโนโลยีเข้าปรับปรุงคุณภาพ/คุณสมบัติ ไม้ไผ่จะใช้แทนไม้ทั่วไปได้อย่างดี

: ไผ่ ขึ้นที่ไหน ดินดีที่นั่น

: ไผ่ ใช้เป็นวัสดุเชื้อเพลิงได้หลากหลาย ทั้งผลิตก๊าชชีวมวลได้ดี

: ไผ่ มีนับร้อยสายพันธุ์ พันธุ์กินหน่อ พันธุ์ใช้ลำต้น พันธุ์ไม้ประดับ

: ไผ่ ควรเป็นไม้เบิกนำเชิงรุกในการแก้วิกฤติสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน

: ไผ่ ปลูกง่าย ลงทุนต่ำ เก็บเกี่ยวประโยชน์ต่อเนื่องระยะยาว

: ไผ่ เป็นปัจจัยการผลิตเบื้องต้นในการส่งเสริมอาชีพได้นานัปการ

: ไผ่ ช่วยอุ้มดินอุ้มน้ำ รักษาสภาพผิวดินได้ดี

: ไผ่ ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพได้นับหมื่นนับแสนครัวเรือน

: ไผ่ เหมาะที่จะเป็นโจทย์เพื่อการวิจัยอย่างยิ่ง

: ไผ่ เป็นไม้ที่ไม่ควรมองข้าม

: ถ้าติดตรงจุดนี้ ก็ช่วยๆกันทำให้เข้าหลักเข้าเกณฑ์สิครับ

ไม่อย่างนั้นเราจะเอาอะไรไปอธิบายว่าประเทศไทยก็มีแบบแผน มีต้นทุน มีวิธีวิจัยที่เป็นเนื้อแท้ มีโจทย์ มีวิธีคิด วิธีทำการวิจัยในสไตล์ของไทยแท้ๆ ถ้าเรามองข้ามตรงจุดนี้ การสร้างรากฐานงานวิจัยก็จะยังอิหลักอิเหลื่อ จะนำเสนอผลงานวิจัยก็ได้แต่ไปคิดไปอ้างไปยกเอาคำพูดหรือความเห็นของนักวิจัยต่างด้าวมายืนยัน จะหาคำยืนหยัดจากของไทยเราเองไม่มีเลย

: เราไม่คิดที่จะสร้างอัตลักษณ์วิจัยไทยแท้ๆขึ้นมาเลยหรือครับ

: ถามว่า เรายืนอยู่จุดไหนของเวทีวิจัยโลก ถ้าเรายังอ้างแต่ต่างด้าวร่ำไป

: เราไม่เฉลียวใจดูประเทศในเอเชียที่เขายกระดับการพัฒนาจนสำเร็จเลยหรือ

: ตัวอย่างงานวิจัยไทบ้านในมหาชีวาลัยอีสานเป็นอย่างไร?

แหม เรื่องการวิจัยแบบบ้านๆมีเยอะครับ แถมสนุกๆทั้งนั้น

· ด้านอาหารการกินจัดอยู่ในหมวด “งานวิจัยที่ชิมได้”

· ด้านการเลี้ยงปศุสัตว์จัดอยู่ในหมวด “งานวิจัยที่อุ้มได้”

· ด้านการป่าไม้จัดอยู่ในหมวด “งานวิจัยที่ให้ออกซิเจนได้”

เรื่องนี้พูดไปก็จะหาว่าโม้ อันที่จริงสิ่งที่ชาวบ้านดิ้นรนแสวงหาความรู้มาแก้ไขปัญหาในการทำมาหากินในการประกอบอาชีพ จำเป็นต้องอาศัยวิชาความรู้

: วิชา+อาชีพ=วิชาชีพ

ถ้าไม่พัฒนาให้เป็นมืออาชีพ ก็จะเป็นได้เพียงมือสมัครเล่น

การที่ประชาชนคนไทยขาดการสนับสนุนให้เป็นนักวิจัย-เป็นผู้เรียน-ผู้อยากรู้อยากเห็น-อยากค้นคว้า-อยากทดลอง-ตรงนี้ละครับที่เป็นหัวใจของการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยควรจะลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการวางแผนแม่บทส่งเสริมและพัฒนาระบบการวิจัยอย่างกว้างขวางให้กับผู้คนทุกชนชั้น ควรจะเอ็กซเรย์ให้เห็นจุดวางรากฐานงานวิจัยไทบ้าน ไปเชื่อมโยงกับระบบงานวิจัยของสำนักวิจัยในสถาบันต่างๆ

: กระบวนการดังกล่าวนี้ควรจะยืดหยุ่น

: ยินยอมให้ลองผิดลองถูก

: ใจเย็นพอที่จะรอดูการผุดพรายของงานวิจัยที่ค่อยๆงอกเงยขึ้นมา

: อย่าตัดสินว่าใช่ไม่ใช่โดยไม่วิเคราะห์เบื้องหลังและฟังเหตุผลให้ถ่อแท้

ที่ฝรั่งเข้มแข็งทางด้านการวิจัย เขาไม่ได้สร้างขึ้นมาภายใน10-100ปีหรอกนะครับ เป็นแต่ชาวตะวันตกมีวัฒนธรรมของการคิดค้นเพื่อแสวงหาวิธีที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดีขึ้น วิสัยทัศน์ชาวตะวันตก..ต้ อ ง ก า ร ที่ จ ะ ส น อ ง กิ เ ล ศ สิ่งไหนจะสะดวกสบายต่อการดำเนินชีวิตก็พยายามคิดค้นกันอย่างเต็มสติกำลัง พลังของการอยากรู้อยากเห็นส่งผลให้เกิดการปฏิวัติทางด้านอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาการอยู่ตลอดเวลา ตรงกันข้ามกับชาวตะวันออกที่มี แ น ว คิ ด ใ น ก า ร กำ กั บ ค ว บ กิ เ ล ศ พยายามทำอะไรอยู่ในกรอบที่สะดวกสบายตามสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ ใช้ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นยุทธศาสตร์

แต่ใช่ว่าชาวตะวันออกจะปรับเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้

ดังจะเห็นว่าประเทศญี่ปุ่น จีน อินเดีย เกาหลี ก้าวพ้นข้อจำกัดดังกล่าว

เมื่อเขารู้ว่า..อานุภาพงานวิจัยมีความสำคัญต่ออัตราความก้าวหน้าประเทศ

( โคกินใบไม้ไม่แปลกหรอก แต่ถ้าต้องการรู้ว่าดีและพิเศษอย่างไรต้องทำการวิจัย)

: งานวิจัยเรื่องการเอาใบไม้มาเลี้ยงโค

ขออนุญาตเท้าความเล็กน้อย มหาชีวาลัยอีสานดำเนินการปลูกป่าไม้ในพื้นที่แห้งแล้งมาตั้งแต่ปี พ..2521 ในพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ ได้เปลี่ยนพื้นที่โล่งเตียนมาเป็นต้นไม้นานาชนิด เห็นว่าวัชพืชที่เกิดขึ้นในป่าไม้น่าจะเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไปได้ จึงทดลองเลี้ยงโคเนื้อเรื่อยมา จนกระทั้งความแห้งแล้งมาเยือนอย่างรุนแรงในปีที่ผ่านมา ทำให้หญ้าต่างๆที่ปลูกไว้แห้งกรอบไม่เพียงพอต่อความต้องการของสัตว์เลี้ยง

โคทุกตัว เปลี่ยนจากโคเนื้อเป็นโคหนังหุ้มกระดูก

บอกพ่อค้ามาดู ต่างส่ายหน้าไม่รู้จะซื้อโคซี่โครงโผล่ไปทำอะไร

เมื่อความทุกข์เข้ามาเยือน ทำให้เกิดการดิ้นรนที่จะแสวงหาทางออก จึงทำลองไปตัดกิ่งไม้ชนิดต่างๆมาทดลองให้โคกินปะทังความอดอยาก ชาวบ้านบอกว่า”กินกันตาย” จะเป็นเพราะโคหิวจนหน้ามืดตาลายหรืออย่างไรไม่ทราบได้ ทุกตัวตั้งอกตั้งใจเขมือบใบไม้อย่างรีบเร่ง อิ่มแล้วก็ไปนอนเคี้ยวเอื้อง เวลาผ่านไป 6 เดือน โคตานขโมยฝูงดังกล่าวค่อยๆมีน้ำมีนวล มีเนื้อมีหนังอ้วนท้วนขึ้น

นักวิจัยไทบ้านเกิดกำลังใจอย่างมาก ตัดใบไม้ชนิดต่างๆมาลองให้โคชิมอยู่เรื่อยๆ สอบถามจากชาวบ้านที่ต้อนโคเลี้ยงตามป่าเขาต่างๆ ได้รับคำบอกเล่าว่า..โคไม่ได้กินเฉพาะหญ้าหรอกนะ ใบไม้ยอดไม้ชนิดต่างๆโคก็เดินและเล็มไปเรื่อย เจอใบไม้หรือผลไม้ป่าที่ชอบถึงกับยืนรอเลยเชียวแหละ เมื่อได้เค้าจากทุกทิศทุกทาง เราก็ประมวลผลไม้ว่ามีใบไม้ชนิดไหนบ้างที่โคชอบ หรือที่ชาวบ้านตัดให้โคกินเสริมอาหารในช่วงแล้ง

หลังจากนั้นใบไม้ชนิดต่างๆก็ทยอยมาเลี้ยงโคหลากหลายชนิด เช่น ใบไทร ใบมะม่วง ใบขนุน ใบกล้วย ใบกระถิน ใบข่อย ใบมะขามเทศ ใบก้ามปู ใบแดง ใบกระถินณรงค์ ใบมันสำปะหลัง ยอดอ้อย ใบขี้เหล็ก ฯลฯ นอกจากนี้ยังเอาใบผักพื้นถิ่นและวัชพืชต่างๆมาเลี้ยงโคด้วย

เพื่อช่วยให้โคเหล่านี้กินอาหารได้สะดวก มหาชีวาลัยอีสานใช้เครื่องสับกิ่งไม้มาสับใบไม้เลี้ยงโค กิ่งไม้ต่างๆผ่านเครื่องสับออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ เอาซ้อมตักใส่ราง..โคเคี้ยวกันแก้มตุ้ม เศษกิ่งไม้ที่ปนมา นึกว่าจะเป็นปัญหาไปทิ่มแถงกระเพาะโค พบว่าโคฉลาดมาก ใช้ลิ้นเตะออกเลือกกินเฉพาะใบไม้ ส่วนเศษกิ่งไม้เล็กๆก็ตกอยู่ก้นรางอาหาร คนเลี้ยงตักโยนเข้าไปในคอกสะสมเป็นปุ๋ยได้อีก

งานวิจัยทำให้เกิดชุดความรู้ใหม่เกี่ยวกับการปลูกป่าไม้ในระดับชุมชน ปัจจุบันมีชนิดไม้ให้เลือกปลูกแล้วเอามาใช้ประโยชน์ได้เร็ว ยกตัวอย่างเช่น การปลูกไม้อะคาเซีย ซึ่งเป็นไม้ตระกูลถั่ว เนื้อไม้ใช้ก่อสร้างได้ดี ใบเหมาะที่จะเอามาเลี้ยงสัตว์ ปลูกง่ายโตเร็ว สามารถตัดสางขยายระยะเอามาใช้งาานได้ภายใน7 ปี เป็นต้นไป

ยุคนี้ไม้ต้องไปปลูกไม้เนื้อแข็งที่โตช้าและรอเวลานานๆแล้วละครับ

ปลูกไม้เนื้อแข็งโตพอประมาณขนาดต้นกล้วย

ก็นำมาแปรรูปใช้งาน โดยใช้เทคโนโลยีไม้ประสาน

เราก็จะมีไม้ใช้สอยสร้างบ้านและทำเครื่องเรือน

ร่นระยะจากความคิดเดิมๆที่ปลูกต้นไม้แล้วรอ 4-50 ปี

: ถามว่า วิธีที่ค้นพบนี้เพียงพอแล้วใช่ไหม

เพิ่งจะเริ่มต้นตั้งไข่เท่านั้นละเธอ

มันเป็นเพียงจุดเริ่มของงานวิจัยไทบ้านเท่านั้น ..

มีคำถามโผล่มามากมาย

· เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใบไม้แต่ละชนิดมีคุณค่าหรือมีพิษต่อสัตว์เลี้ยง

· ใบไม้แต่ละชนิดมีสารอาหารแตกต่างกันอย่างไร

· ถ้าเอาใบไม้ผสมเลี้ยงสัตว์ ควรจะมีสัดส่วนผสมในแต่ละชนิดอย่างไร

· ใบไม้ชนิดไหนบ้างที่เราควรจะปลูกเพื่อนำมาเสริมใบไม้ที่มีอยู่เดิม

· โคแต่ละตัวต้องการสารอาหารจากใบไม้ปริมาณเท่าใด

· นอกจากใบไม้ยังมีวิธีอื่นมาเสริมอีกไหม

· จะรู้ได้อย่างไรว่าโคชอบใบไม้ชนิดไหนมากที่สุด

: คำถามมีมาให้ค้นหาตอบไม่จบสิ้น โจทย์มาจากการสังเกตที่เกิดขึ้นกับกระบวนการเลี้ยงและดูที่ตัวโค ปัญหาอยู่ที่ว่า..เ ร า จ ะ ไ ป เ อ า คำ ต อ บ ม า จ า ก ที่ ไ ห น อาศัยความรู้ของภูมิปัญญาท้องถิ่น ก็คงได้คำตอบมาระดับหนึ่ง ไม่เพียงพอที่จะตอบในเชิงวิชาการได้ ตรงจุดนี้ละครับที่ นั ก วิ จั ย ไ ท บ้ า น ต้องการตัวช่วย โ ห ย ห า นั ก วิ จั ย เ ชิ ง วิ ช า ก า ร

จะเห็นว่า..มีความต้องการที่จะขอความร่วมมือจากนักวิจัยในสถาบันต่างๆเพียงแต่จุดที่จะมาพบกันครึ่งทางนี้ยังไม่มีระบบเชื่อมโยง นักวิจัยไทบ้านต้องดิ้นรนไปติดต่อขอความร่วมมือนักวิชาการในสถาบัน โดยอาศัยความสนิทสนมส่วนตัว ในการติดต่อขอความรู้เบื้องต้น

ถ้าจะให้วิเคราะห์คุณค่าสารอาหารในใบพืช

หรือคิดค้นสูตรอาหารตามหลักวิชาการ

จำเป็นจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการวิจัย

ถ้าสถาบันที่สนับสนุนงบประมาณส่วนนี้

งานวิจัยไทบ้านก็จะเดินหน้าฉะลุย

สามารถต่อแขนต่อขางานวิจัยให้เข็มแข็งได้

เช่น งานส่งเสริมการปลูกป่าไม้หลากหลายวัตถุประสงค์ การส่งเสริมอาชีพที่เอื้อต่อสภาพแวดล้อม การผลิตปุ๋ยจากมูลสัตว์ การผลิตพลังงานชีวภาพจากมูลสัตว์ การปลูกพันธุ์ไม้เพื่อการวิจัย การสร้างธนาคารแม่ไม้พันธุ์ดี การชี้แนะวิธีการเลือกปลูกพันธุ์ไม้ที่ยั่งยืน

จุดพิเศษของเรื่องนี้อยู่ที่ ชาวบ้านไม่ต้องตัดต้นไม้ ตัดเอากิ่งเอาใบหมุนเวียนมาใช้ประโยชน์ อนึ่ง วิธีนี้ทำให้ชาวบ้านมองเห็นการได้ประโยชน์จากการปลูกต้นไม้มากขึ้น ทำให้เกิดแรงกระตุ้นที่จะปลูกต้นไม้มากขึ้น เกิดการเอากิ่งไม้ใบไม้มาสร้างประโยชน์หลากได้ขึ้น ที่สำคัญงานวิจัยเรื่องนี้ช่วยให้คำตอบเบื้องต้น..

(แพะเลี้ยงด้วยใบไม้อย่างเดียวก็อยู่ได้ แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นต้องทำการวิจัย)

1. พบวิธีแก้ปัญหาเรื่องอาหารสัตว์ที่มีต้นทุนประหยัด

2. พบวิธีการประกอบอาชีพที่ไม่เสี่ยงต่อความแห้งแล้งและโรคแมลง

3. พบวิธีที่จะมีรายได้เสริมเช่น ผลิตอาหารสัตว์ ผลิตปุ๋ยจำหน่าย

4. พบวิธีที่จะแตกยอดกิจกรรมเช่น การเลี้ยงแพะแกะ

5. พบวิธีที่จะทำการศึกษาวิจัยไปสู่การงานเพาะปลูกแบบประณีต

6. พบวิธีที่จะศึกษาวิจัยเรื่องไวน์และกราวเครือขาว

7. พบวิธีที่จะยกระดับรายได้อย่างเป็นรูปธรรม

มองถึงการเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาทีละเปลาะ

เพื่อนำไปสู่การปรับสภาพการทำกิจกรรมให้ดีขึ้น

: ยกตัวอย่างเรื่องต้นไม้

เริ่มจากการ-เพาะชำกล้าไม้-ปลูกต้นไม้–คัดพันธุ์ไม้–ตั้งธนาคารแม่ไม้-แปลงสาธิตชนิดต้นไม้เพื่อการวิจัย-จัดทำแปลงปลูกผักยืนต้นพื้นเมืองระยะชิด-แปลงสาธิตการปลูกไม้พลังงานทดแทน-แปลงสาธิตการปลูกไม้ไผ่ป่าไม้-แปลงสาธิตการปลูกไม้โตเร็ว-แปลงสาธิตการปลูกไม้ผสมผสาน-ทำการแปรรูปไม้-ทำเครื่องเรือน-สร้างบ้าน-เผาถ่าน-สับกิ่งไม้ทำปุ๋ย

หลังจากทดลองเอาใบไม้มาเลี้ยงโค ทำให้เกิดความสนใจที่จะคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่มีคุณสมบัติต่อการเลี้ยงปศุสัตว์ วางแผนที่จะวิเคราะห์ข้อมูลคุณสมบัติของใบไม้ เพื่อค้นหาสูตรอาหารที่เหมาะสม และแตกยอดออกไปยังการผลิตอาหารสัตว์จากใบไม้

การเลี้ยงโคขังคอก แทนการต้อนโคไปหาหญ้า เปลี่ยนเป็นเอาหญ้าใบไม้มาเลี้ยงโค โดยใช้เครื่องสับกิ่งไม้สับย่อยให้โคกิน พบว่าโคกินอาหารสับได้มากขึ้น ทำให้เหลือกากอาหารน้อย มูลโคที่ได้มีจำนวนมาก เท่ากับโคเป็นโรงงานผลิตปุ๋ยที่ราคาถูกและดีที่สุดในโลก ปุ๋ยอินทรีย์เหล่านี้ยังนำไปปรับปรุงโดยการหมักผสมกับวัตถุอย่างอื่นให้มีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งโรงงานปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการใช้และจำหน่ายได้อีก นอกจากนี้ยังนำมูลโคไปหมักทำแก๊สชีวภาพสร้างพลังงานพึ่งตนเองได้ด้วย จากต้นไม้ นำไปสู่การเลี้ยงปศุสัตว์ คิดหยาบๆก็จะเห็นว่าการเอาต้นไม้กับปศุสัตว์มาอยู่ในระนาบเดียวกัน ต่างพึ่งพาซึ้งกันและกัน

นำไปสู่ช่องทางการส่งเสริมปลูกต้นไม้ที่เกษตรกรเป็นผู้ดำเนินการ

นำไปสู่การประกอบอาชีพปศุสัตว์ที่ปรับปรุงวิธีการเลี้ยงที่ประหยัด

นำไปสู่การวิจัยด้านการป่าไม้

นำไปสู่การวิจัยด้านการพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์โค –ผสมเทียม-เลี้ยงขุน

นำไปสู่การเขียนแผนแม่บทเพื่อพัฒนาการงานอาชีพและสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการ

(ไม้ต้นเดียวเป็นป่าไม่ได้สร้างบ้านไม่พอฉันใด ทำวิจัยเดี่ยวก็ฉันนั้น)

: Keyword

วันนี้เราอยู่กับความรู้อะไร ?

ความรู้เราพอเพียงพอใช้แล้วใช่ไหม ?

นักวิจัยเชิงวิชาการ ม า จั บ มื อ กั บ นักวิจัยไทบ้านกันเถิด

ช่วยกันสร้างรากฐานงานวิจัยให้ประเทศของเรา

เพื่อสร้างบรรยากาศการวิจัยให้ชื่นมื่นอี๋อ๋อไปด้วยกัน



Main: 0.20097994804382 sec
Sidebar: 0.071125030517578 sec