โมเดลบุรีรัมย์

อ่าน: 2056

(โม้ 3 ชั่วโมงน้ำลายเหนียวเลยละครับ)

ชื่อนี้ผมไม่ได้ตั้งเองหรอกนะครับ เกิดจากท่านที่สนใจเข้าร่วมรับฟังการนำเสนอ “งานวิจัยไทบ้าน : การบูรณาการปัญหาของชาวบ้านกับการทำวิจัย” ได้อภิปรายให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ อาจารย์สุภาพสตรีอาวุโสท่านหนึ่งได้สะท้อนความคิดเห็นหลังจากที่ผมเสนอภาพรวมกิจกรรมวิจัยในมหาชีวาลัยอีสาน ท่านกล่าวว่า “นี่แหละโมเด็ลบุรีรัมย์” บังเอิญช่วงนี้กำลังคิดเรื่องชื่อหนังสือที่จะพิมพ์เร็วๆนี้ ก่อนหน้านั้นฟันธงว่าจะให้ชื่อ “งานวิจัยไทบ้านสไตล์แซ่เฮ” เมื่อมีคนช่วยตั้งชื่อให้อย่างนี้แล้วก็ยอมหลีกทางให้ ทั้งๆที่บริบทของบุรีรัมย์ทั้งมวลยังมีเรื่องดีๆอีกมาก การทำเพียงแค่หางอึ่งจะมาทึกทักว่านี่คือ”บุรีรัมย์”ก็กระไรๆอยู่ แต่เมื่อมีคนเห็นเป็นประกายอย่างนี้แล้ว ก็ขออนุญาติใช้ชื่อนี่นะขอรับ

โมเดลบุรีรัมย์เป็นอย่างไรรึ

ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 20 ตุลาคม 2520 ดังนี้ “การทำความดีนั้น สำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเอง ผู้อื่นไม่สำคัญ และไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องเป็นห่วงหรือต้องรอคอยเขาด้วย เมื่อได้ลงมือลงแรงกระทำแล้ว ถึงแม้จะไม่มีใครร่วมมือด้วยก็ตาม ผลที่ดีก็จะเกิดขึ้นแน่นอน” ผมเป็นคนคิดช้าทำเร็ว นึกอยากจะทำอะไรขึ้นมาก็ทำๆๆ ขอให้ได้กระทำเสียก่อน แล้วค่อยมาคิดปะผุทีหลัง การลุยไปข้างหน้าอย่างนี้ ก็พบอุปสรรคบ้างล้มเหลวบ้าง ได้ผลลัพธ์ตามสมควรบ้าง แต่ที่ได้แน่ๆ ..คือการได้เริ่มต้น ตั้งต้น ตั้งไข่ ถึงจะมีบางเรื่องเค้เก้ไปบ้างก็ถือว่า..นั่นเป็นส่วนหนึ่งของวิธีทำงาน ซึ่งจะต้องเผชิญอยู่แล้ว เปรียบเสมือนออกเรือหาปลาในทะเล เราจะประสบผลสำเร็จได้ปลาเต็มลำเรือทุกเที่ยวย่อมเป็นการยาก คงได้บ้างมากน้อยตามเหตุและปัจจัยแวดล้อม บางทีเจอพายุถึงกับเรืออัปปางก็มี เจอเรือโจรสลัด หรือเครื่องยนต์เสียลอยเท้งเต้งก็ย่อมเกิดขึ้นได้ ไม่มีดอกกุหลาบโรยบนถนนของนักสู้ชีวิต อย่างโชคดีก็อาจจะได้กุหลาบสักดอกวางบนหลุมศพ

(มีเวลา 30 นาที ให้รีบแต่งมุมหน้าห้อง)

เมื่อวานนี้ไปโม้ในงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2554 ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนแวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็ลทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ ซึ่งเป็นสถานที่ๆไม่เคยเยื้องกรายมาก่อน เคยไปแต่เซ็นต์เตอร์พร้อย เจ้าภาพจัดให้พักที่นี่ แต่การติดต่อประสานงานไม่ลงตัว ผมจึงพักกับเจ้าเก่าที่คุ้นชิน 6 โมงเช้ามีโทรศัพท์ร้อนรนว่าหาตัวผมไม่เจอ “ครูบาพักที่ไหนครับ” พอรู้ว่าผมไม่ได้พักตามที่เขาจัดให้ ก็อลเวงซิครับ เจ้าภาพจะต้องประสานงานเรื่องการเตรียมการนำเสนอ บังเอิญว่าเที่ยวนี้ผมมี2สาวตามไปด้วย นัดแนะกับทีมเจ้าแห้วล่วงหน้า บอกไว้ว่าให้มารับแต่เช้าๆก็เแล้วกัน

ตื่นตี5 รีบลงไปจัดการเรื่องอาหารเช้า ยังไม่อิ่มแห้วก็โผล่มา จึงรีบเผ่นออกไปขนของขึ้นรถ ติดตามด้วยแท๊กซี่อีก1คัน มุ่งตรงไปยังที่จัดงาน ดีว่าทีมงานของแห้วสันทัดกรณี พาเราฝ่าจราจรขึ้นไปยังที่จอดรถชั้น5 เจ้าหน้าที่มารอรับ..พร้อมกับพนักงานช่วยขนสัมภาระไปยังห้องที่ติดป้ายบอกว่า “วิจัยไทบ้าน” เมื่อรู้ที่รู้ทางแล้วก็ช่วยกันขนปัจจัยที่จะมาตบแต่งหน้าห้อง มีเวลา30 นาที ขนลูกน้ำเต้าออกมาวาง เอาผัก-ผลไม้-ดอกไม้ มาจัดลงในภาชนะลูกน้ำเต้า ช่วยกันอย่างขมีขมัน ไม่มีรูปแบบไม่มีการคิดล่วงหน้า ต่างคนต่างก้มหน้าก้มตาจัดแทรกตรงนั้นตรงนี้จนดูดี แห้วเอาหนังสือเจ้าเป็นไผมาเรียง ผู้คนที่ลงทะเบียนทยอยมะรุมมะตุ้มซักถามเรื่องโน้นเรื่องนี้

(ยังไม่เรียบร้อยดี ผู้สนใจก็มาให้แห้วฉอดๆๆปากเปียกปากแฉะ)

อาจารย์บางท่านบอกว่าตั้งใจมางานนี้ เคยได้อ่านหนังสือเจ้าเป็นไผ ชอบมากมาก ได้นำเอาจุดพิเศษในหนังสือเล่มนี้ไปสอนนักศึกษา วันนี้มาเจอตัวจริงก็ขออุดหนุนอีกและขอลายเซ็นด้วย แถมขอถ่ายรูปเป็นหลักฐานอีกด้วยนะ งานนี้เจออาจารย์มากหน้าหลายตาจากหลายสำนักที่ติดตามเรื่องราวของเฮฮาศาสตร์และลานปัญญา เสียดายว่าไม่มีเวลาถามชื่อแซ่กันเลย นามบัตรผมก็ไม่มี หลายท่านต้องการมาเยี่ยมมหาชีวาลัยอีสาน จะติดต่อยังไง ..ผมก็ได้แต่โบ้ยไปหาแห้วสาระพัดนึก

แว๊บ เข้าไปในห้อง เตรียมทดลองสื่อและเครื่องเสียง ติดขัดเล็กน้อยก็ก็ผ่านไปได้ด้วย เสียงดังฟังชัด จัดวางน้ำเต้าหน้าเวทีด้วยนะ ตรงจุดนี้สะท้อนคิดเรื่อง ทำเรื่องธรรมดาให้เป็นเรื่องพิเศษ ประเด็นใหญ่เป็นเรื่องต้นไม้เรื่องโคและแพะแกะ เอาตัวจริงมาแสดงไม่ได้ ก็อาศัยสื่อภาพและเสียงแทน ระหว่างที่รอเวลา ผมก็เปิดเพลง”กอด” พร้อมกับเล่าเรื่องเครือข่ายชาวเฮและลานปัญญา เพื่อรอเสียงระฆังขึ้นชก

(แห้วทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ)

ได้เวลา.. เจ้าหน้าที่(วช.)ที่ดูแลห้องนี้ บอกว่า..พวกเรามากันหลายคนขอให้ทำหน้าที่ดำเนินรายการเหมาโหลได้ไหม? ผมเหล่ตาไปที่แก้วสาระพัดนึก แห้วก้าวฉับๆๆไปคว้าไมค์เปิดรายการอย่างบรรเจิด โม้ซะฟุ้งกระจาย หลังจากนั้นทุกอย่างก็เรียงล่ายซ่ายตามกำหนดการ เป็นที่สังเกตงานว่านี้มาผู้ที่ตั้งใจมาฟังไม่น้อย มีกลุ่มที่เป็นตัวหลักปักฐานฟังแบบไม่ขยับไปไหนเลย จะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นขาจรสัญจรเข้าห้องโน้นห้องนี้ ห้องเราจึงมีคนหมุนเวียนเข้ามาตลอด มีทั้งที่มาวางก้นแม๊ะและย้ายก้นไปตามอัธยาศัย โดยภาพรวมแล้วก็อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้

(ท่านผู้ฟังลุกขึ้นให้ความเห็นหลายรอบ)

ท่านรองเลขาธิการ(วช.)ย่องมานั่งคุยกับผู้ฟังหลายจุด เพื่อจะขอทราบเสียงสะท้อนบริบทงานวิจัยไทบ้าน ที่คณะกรรมการ(วช.)ให้ความสนใจอยากจะเปิดประเด็น ท่านรองเล่าว่า..กว่าจะควานหาตัวครูบาเจอและเกี่ยวก้อยมาเอาในงานนี้ได้ก็ใช้เวลาไปไม่น้อย จึงให้ความสำคัญกับห้องนี้มาก หลังจากจบรายการท่านขอคุยด้วยในระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน ท่านฝากการบ้านให้ผมเอากลับมาคิดว่าจะทำยังไง 3 ข้อ

1 งานวิจัยเพื่อชุมชน คณะกรรมการพิจารณาผลงานทางวิชาการ ไ ม่ ถื อ ว่ า เ ป็ น ผ ล ง า น ท า ง วิ ช า ก า ร  ทั้งๆที่มีผู้รู้ผู้สันทัดกรณีบอกว่ามันมีความหมายและความสำคัญไม่ด้อยกว่าการวิจัยในแขนงอื่น แต่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิก็ยังไม่ปลงใจ ผมเองก็เพิ่งทราบประเด็นนี้ มิน่าละ..งานวิจัยชุมชนมันถึงตกหล่ม ออกอาการเหมือนถูกยาคุมกำเนิด  พูดกันจัง.. อยากให้มหาวิทยาลัยทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เป็นแม่และพี่เลี้ยงให้แก่ท้องถิ่น เป็นบ่มเพาะปัญญาให้ท้องถิ่น แต่ในทางด้านการส่งเสริมและสนับสนุนกลับทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลอง นี่แหละหนอประเทศไทย ไม่ส่งเสริมให้รู้จักกำพืดของตนเอง แล้วมันจะเจริญรู้เขารู้เราอย่างไรละครับ โธ่ๆๆๆ..

2 งานวิจัยเดี่ยว จะได้แต้มได้คะแนนในการพิจารณาผลงานสูงมากกว่างานวิจัยเป็นหมู่คณะ ผมก็ไม่เข้าใจว่าเดี่ยวมือหนึ่งมันพิเศษตรงไหน ต่างกับการระดมพลังสติปัญญากันทำการวิจัยตรงไหน ถ้าคำนึงถึงการส้างประชาคมวิจัย ให้ความสำคัญของการผลิดนักวิจัย ฝ่ายอุปการะงานวิจัยควรจะมองให้ทั่วถ้วนว่า แต่ละกรณีมีความเด่นอยู่ในตัว ถ้ามาออกแบบ2มาตรฐานอย่างนี้ การผลิตนักวิจัยต้นทางก็จะง่อยเปลี้ยกับความคับแคบของนโยบาย ผิดถูกผมไม่ทราบนะครับ คิดอย่างนี้ก็ฉอดๆๆๆยังงี้และขอรับ

3 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สนใจที่จะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต.อบจ. เทศบาล หรือประชาคมที่หลากหลายได้ช่วยกันทำงานวิจัย เพื่อจะได้เชื่อมโยงสังคมแห่งการเรียนรู้ให้รุมมะตุ้มช่วยกันสังเคราะห์ความรู้ ค้นหาแนวทางในการพัฒนาองค์กรและบทบาทของตนเองให้เกิดวิธีทำงานเชิงรุก แต่ท่านรองฯบอกว่ายังหนักใจ ไม่รู้จะเจาะตรงไหน ทำอย่างไรกระบวนการวิจัยเชิงประจักษ์จะไปปักฐานลงในองค์กรในระดับต่างๆเหล่านี้ได้ ท่านมองว่า..ในอนาคตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหนีเรื่องนี้ไม่ออกหรอก แต่ช้าเท่าไหร่ก็น่าเสียดายเท่านั้น

(ท่านที่ให้กำลังใจและซื้อหนังสือขอถ่ายภาพด้วยก็เลยถ่ายยกชุดเสียเลย)

ท่านโอดครวญว่า คนไทยให้ความสนใจงานวิจัยน้อยมาก สำนักงานฯตั้งใจลงทุนจัดงานนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เต็มที่กับงานอย่างที่สุด แต่คนไทยก็เรื่อยๆมาเรียงๆ โดยเฉพาะวันหยุดด้วยแล้ว ไทยบางคนไม่ยอมสละเวลามาหาปัญญา แม้แต่อาจารย์ที่สอนเรื่องการวิจัยก็ยังซึมกะทือกับวิธีการเดิมๆๆ  เอาแต่จะสอนๆๆ..ไม่ดูตาม้าตาเรือ แทนที่จะบอกให้นักศึกษามาตระเวณดูงาน เข้าสู่บรรยากาศของการวิจัย ห้องโน้นเข้าห้องนี้ รับรู้รับทราบวิธีวิจัย ชมผลงานวิจัย สอบถามความรู้จากผู้สันทัดกรณีทางด้านนี้ ที่มีเวทีคอยอธิบายเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ล้วนมีความจำเป็นต่อการเป็นนักวิจัยทีดีทั้งนั้น มีอาจารย์ท่านหนึ่งมาจากเชียงใหม่ ขนนักศึกษามา50ชีวิต ให้แบ่งกันออกไปประจำห้องโน้นห้งนี้ แต่ตัวท่านอาจารย์กลับมาปักหลักอยู่ที่ห้องของเรา หลังเวทีอาจารย์บอกว่าอยากจะเชิญไปโม้ที่เชียงใหม่ ผมละนึกถึงหน้าครูอึ่งครูอารามและอุ้ยขึ้นมาทันที หาเรื่องจะไปกวนใจอีกแล้วหรือนี่

งานนี้เหมาะที่นักวิจัยทุกระดับจะมาร่วมเรียนรู้ มีประเด็นเด็ดๆรออยู่ เช่น

- แหล่งสืบค้นข้อมูลทางการวิจัย

- ขั้นตอนการขอรับทุนวิจัยจากหน่วยงานที่ให้ทุน

- การจัดทำข้อเสนอการวิจัยเพื่อรับทุน

- การติดตามประเมินผลโครงการ

- กระบวนการต่อยอดงานวิจัย

- การบริหารทรัพย์สินทางปัญญา และ การจดสิทธิบัตร

(ขอบคุณทุกความเห็นและข้อเสนอแนะดีๆ)

KeyWord  จะวิจัยหรือวิจุ้ย!..การลงมือทำเป็นวิธีที่ดีที่สุด

ความสำเร็จของการจัดงาน  “การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2554″ ในปีนี้ เกิดขึ้นด้วยความร่วมมืออย่างดียิ่งของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ในการนำ “ต้นทุน” ทางความรู้อันเกิดจากการศึกษาค้นคว้าและวิจัยในหลากหลายประเด็นและลัษณะ อันได้แก่งานวิจัยที่เป็นองค์ความรู้ งานวิจัยและพัฒนา งานวิจัยเชิงนโยบาย งานวิจัยจากการต่อยอดและขยายผล รวมถึงงานวิจัยที่ผ่านกระบวนการสร้างมูลค่าและคุณค่า ซึ่งทรัพยากรทางปัญญาเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นความพยายามและตั้งใจของทุกภาคส่วนในการผลักดันให้เกิดงานวิจัย ที่มุ่งหมายการนำสู่การพัฒนาและแก้ปัญหาของประเทศในหลากหลายหลายระดับ โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ทำหน้าที่หน่วยงานกลางเพื่อประสานและเชื่อมโยงและยุทธศาสตร์ระดับประเทศ ผู้ผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติโดยใช้กระบวนการวิจัย ผู้บริหารทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ใช้ประโยชน์จากการวิจัย

(ทรัพย์สินทางปัญญาของมหาชีวาลัยอีสาน)

คำว่า ทรัพย์สินทางปัญญานี่แหละ

ถามว่าจะไปแสวงหาได้จากที่ไหน

ถ้าเราไม่ช่วยกันวิจัยเพื่อกระเทาะปัญญาให้ส่องแสงวับแววดั่งแก้วก่องประภัสสร

รวบรวมผลงานวิจัยของประเทศนี้มีอะไรบ้าง

มีเท่าไหร่..ก็หมายถึงต้นทุนหรือสินทรัพย์ทางปัญญา

ถ้าพิจารณาดูให้ถ่องแท้ก็จะทราบว่าประเทศนี้มีกึ๋นอยู่เท่าใด

เอาไปเปรียบเทียบกันชาติอื่นเราอยู่ในระดับไหน

ระดับปลายแถว-ระดับกลางแถว-หรือระดับตกแถว

(อาจารย์ท่านนี้อ่านเจ้าเป็นไผ บอกชอบมากจะเอาไปสอนนักศึกษา)

ปีนี้มีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและนิทรรศการจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศมากกว่า 10 หน่วยงาน ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยและกิจกรรมวิจัยกว่า500เรื่อง มีกรณีพิเศษอยู่เรื่องเดียวคือ “งานวิจัยไทบ้าน” ที่ยังไม่ได้ทำผลงานวิจัย แต่ไปเสนอเค้าโครงให้เห็นว่าบริบทงานวิจัยไทบ้าน(นอก) เป็นอย่างนี้นะขอรับ ต่อเมื่อได้รับทุนสนับสนุนให้ทำการวิจัยเรื่องเอาใบไม้เลี้ยงโค คราวหน้ามหาชีวาลัยอีสานถึงจะได้มานำเสนอกิจกรรมวิจัยกับเขาบ้าง

เรียกว่างานนี้..เสียงมาก่อนเห็นตัวว่างั้นเถอะ

เรื่องสาระ/เสนอหน้าเสนองานยังเป็นการบ้านที่ต้องติดตามอย่างระทดระทวยกันต่อไป

เท่าที่รับฟังเสียงท่านผู้ฟังที่ลุกขึ้นมาอธิบายขยายความ

มีคำถามไม่กี่ข้อ

ส่วนใหญ่จะกล่าวสนับสนุนให้ความเห็นแบบเข้าข้างอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

อาจารย์อาวุโสหลายท่านยืนยันต่อหน้าไมค์โคโฟนว่า..

วิจัยแบบไทบ้านนี้แหละ..ควรอุดหนุนและสนับสนุนอย่างยิ่ง


ผมพยายามบอกว่า นักวิจัยไทบ้านต้องการเป็นพันธมิตรกับนักวิจัยมืออาชีพหรือนักวิจัยวิชาการ เราเองก็มีขีดจำกัดเหมือนกัน และถ้ายอมรับความจริงก็จะเห็นว่า..ไม่ว่างานวิจัยประเภทไหนๆก็มีข้อจำกัดด้วยกันทั้งนั้น ถ้าเปิดสะพานเชื่อมโยงกัน-ร่วมกันคลุกเคล้างานวิจัยด้วยกัน ความสมบูรณ์ผลลัพธ์ของงานวิจัยก็จะเต็มเปี่ยมครบสูตร คิด-ค้น-คว้า-ตีแตกปัญหา-ให้แตกมัน-กลั่นกรองเอาแต่หัวกะทิไปใช้อย่างหนึ่ง-เอาหางกะทิไปใช้อีกอย่างหนึ่ง-ต่อยอดความคิดไปสู่การผลิตผลทางปัญญา-ช่วยกันปรับนักวิจัยมือสมัครเล่น-ให้เป็นนักวิจัยมืออาชีพ- ถ้าทำได้อย่างนี้ก็ไม่ต้องไปเสียเงินสร้างหิ้งมารอรับงานวิจัย

มีบางท่านเอาเป็นเอาตายกับกรอบงานวิจัย

ผมมองว่าที่เขามีกรอบไว้นั้นเหมาะกับนักวิจัยมือสมัครเล่น

ที่หันรีหันขวาง..ก็จับมาเข้าลู่ที่เรียกว่ากรอบ

แล้วค่อยให้ฝึกการตั้งไข่กับวิธีการวิจัย

คงเหมือนหัดถีบจักรยาน..ต้องมีคนคอยจับประคองสักระยะหนึ่ง

แต่นักวิจัยไทบ้านไม่ได้คิดติดกรอบ ต้องการความอิสระอย่างยิ่ง งานวิจัยต้องได้การยอมรับให้ลองผิดลองถูก ถ้ามุ่งแต่จะเอาความถูกต้องโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ  เราจะได้รู้ลึกถึงแก่นความผิดถูกหรือครับ ผิดก็ได้เรียน ถูกก็ได้เรียน มันถึงจะรู้เรื่องไหนผิดเรื่องไหนถูก ไม่งั้นก็จะเข้าใจยันเตว่าของตนเองถูกๆๆแบบน่าเวทนา งานวิจัยไทบ้านคิดในเรื่องปัญหาที่เผชิญอยู่ ว่าจะหาทางแก้ไขปัญหา ลดวิกฤติต่างๆ หาช่องทางที่ใหม่และดีกว่า เมื่อทดลองทำไปแล้วก็เก็บสาระระหว่างทางถึงจุดดีจุดด้อย ยังไม่จำเป็นต้องมามีกรอบขีนเส้นให้ทำต๊อกๆ ..ถ้ามีใครรู้ดีถึงกับเขียนกรอบมาให้ ก็แสดงว่างานนั้นไม่จำเป็นต้องทำแล้วละครับในเมื่อรู้แจ้งจ่างป่าง ไปก๊อปปี้เอามาอย่างที่นิยมชมชื่นกันไม่ดีกว่าหริอ

ผมมองว่า คนที่จะเขียนกรอบได้

คือคนที่ลงมือกระทำงานวิจัยเรื่องนั้นๆผ่านมาแล้ว

รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวเองแล้วถึงมาสรุปขั้นตอนหรือกระบวนการในเรื่องนั้นๆ

แต่ผมก็ไม่อยากจะเรียกว่า “กรอบ” อยู่ดี

เพราะงานวิจัยไม่ใช่เรื่อง “วัวหายล้อมคอก”

แ ต่ ถ้ า เ ห็ น ว่ า จำ เ ป็ น จ ะ ต้ อ ง มี ค อ ก ขั ง ค ว า ย

ข้อยบ่ว่าอิหยังดอก อิ อิ..

เมื่อคืนนี้กลับมาสลบเหมือด สองสาวที่หนีบมาด้วยจากบุรีรัมย์มีเวลาน้อย ก็คุยๆๆๆอธิบายถึงงานทำวิทยานิพนธ์ ผมฟังเรื่องนี้มาข้ามคืนข้ามวัน ให้ความเห็นบ้างอือออๆแล้วก็หม่อยหลับไป จวน4ทุ่ม 2สาวมาปลุกว่าได้เวลาเผ่นกลับบ้านแล้วนะพ่อ เออๆๆ..งึมงำลุกไม่ขึ้นไม่ได้ไปส่ง  ตื่นเช้ามามีงานจังก้ารออยู่พะเรอ  ต้องนั่งปั่นหนังสือขอคำนิยมจากท่านอาจารย์สุเมธ ตันติเวชกุล ทราบว่าท่านจะมาบรรยายที่งานวันนี้ จะชวนแห้วไปอีกแห้วก็เหินหาวไปกับคณะนักศึกษาป.โท มีโทรฯมาสอบถามเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะขอไปดูงาน จะขอเชิญไปร่วมงาน จะขอมาพบ โอ้ยๆๆ..จะแย่แล้ว เรียงลำดับงานไม่ถูก ช่วงสายๆพระอาจารย์เฮ็นรี่อยู่ทางใต้ กำลังอบรมคุณครู โทรสายด่วนมาบอกว่า..อยากจะให้คุยกับคุณครูทางโทรศัพท์ด่วนจี๋ ในประเด็น “บริบทคุณครูผู้สร้างชาติ” สัก 5 นาที ผมก็ฉอดๆให้เป็นที่เรียบร้อยไปแล้วละครับ

ขาใหญ่โทรมาบอกว่ายังชั่วจากการเป็นหวัด

จะมาชวนไปดวลอาหารอีก

ผมขอบาย ..ไม่ไหวแล้ว หายใจขัดๆแล้ว เอวัง..

« « Prev : บ้าหอบฟาง

Next : โม้จนเจอดี » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 สิงหาคม 2011 เวลา 13:50

    “ผมมองว่าที่เขามีกรอบไว้นั้นเหมาะกับนักวิจัยมือสมัครเล่น” — กรอบ (และคอก) มีไว้เพื่อไม่ให้หลง แต่ก็เหมือนกับกระถางครับ ใช้ปลูกต้นไม้เล็กๆ ได้ แต่ถ้าเอาไปปลูกไม้ยืนต้นแล้ว ไม่โตตามศักยภาพนะครับ

  • #2 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 สิงหาคม 2011 เวลา 14:01

    งานเข้าแบบนี้ดีจังเนาะบาท่าน ได้กระจายไอเดีย ออกไปเขี่ยฝุ่นให้มันกระจายบ้าง ดีกว่าปล่อยให้กองถมหมักหมมอยู่นานปี

    ว่าแต่ว่าแหม..เห็นอิงแอบแนบนิ่ม แล้ว อิจฉา นะ มีแอบถ่ายซะโต้ย

    เรื่องวิจัย โฮ้ย เหนื่อย ทุกวันนี้ผมอยากเลิกขอ เราเป็นนักวิจัย เหมือนขอทาน
    หน่วยให้ทุนวิจัยหลายหน่วย ต้องเลี้ยงดูปูเสื่อ จึงจะได้เงิน อจ.มหาประลัยหลายต่อหลายก็เป็นนักวิจัยปูเสื่อไปเสียอีก เอาเงินวิจัยเป็นสิบ ร้อย ถึงหลายร้อยล้าน มาผลาญกันสนุกสนาน มากหลาย

    ส่วนเราขอครึ่งล้าน แถมผลงานนวัตกรรมหลาย อด (ทราบภายหลังว่า ขอน้อยไป ไม่พอค่าเหนื่อยในการพิจารณา และไม่มีนายหน้าไปนำเสนอ % ค่าหัวคิว)

  • #3 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 สิงหาคม 2011 เวลา 18:15

    อย่าเพิ่งท้อ คราวหน้าขอสัก100ล้าน (กีบ) เลยยยยยยยยยยย อิอิ

  • #4 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 สิงหาคม 2011 เวลา 18:20

    ขอยืมความเห็นของรอกอดส์ไปขยายความต่อ เป็นความเห็นที่มีเหตุผลอย่างยิ่ง
    ฝากเจ้าน้ำเต้ารูปมดเอ๊กซ์ไปให้แล้วนะครับ อยู่กับเจ้าแห้ว อิ

  • #5 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 สิงหาคม 2011 เวลา 20:59

    ขอบคุณครับ ภรรยาผมเป็นนักวิจัยของสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น
    ผมแค่อยู่ใกล้ๆก็จะกระอักเลือดแล้ว มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

    อย่างที่สรุปกัน กรอบงานวิจัยมีเอาไว้ตีวง การทำวิจัย อะไรที่อยู่นอกวง นอกกรอบ พูดไม่ได้ เพราะไม่ได้วิจัย
    กราบหลายๆกรอบมันไม่เป็นจริงในชีวิตปกติ ผลงานก็ออกมาแค่รู้ในกรอบ เอาไปคุยที่ไหนๆก็คุยได้ไม่เต็มปาก

    ยิ่งนักประเมินผล ก็คล้ายๆนักวิจัย ประเมินผลเอาเฉพาะช่วงเวลาที่กำหนด แต่ในชีวิตจริงนั้น คนหนึ่งคนมีที่มาที่ไปเท่ากับชีวิตเขา พ่อแสนจะมาเป็นพ่อแสนวันนี้ ไม่ใช่เพราะมีโครงการที่ผมลงไปทำ พ่อแสนแก่ศึกษา สังเกตุธรรมชาติ คิด อ่านมาก่อนแล้ว ผมไปด่วนสรุปเอาว่าพ่อแสนดังเพราะงานที่ผมไปทำไม่ได้ ผมไม่กล่าวอ้างเช่นนั้น เพียงแต่เรามีส่วนเสริมเติมแต่งนิดหน่อย พ่อแสนก็ไปโลด เหมือนเรือติดเครื่องแล้วแต่ไม่ได้ปลดเชือกที่ผูกอยู่ เมื่อเราไปปลด มันก็วิ่งฉิวไปเลย

    งานวิจัย หรืองานประเมินผลมักขาดมิติศึกษาพัฒนาการของสิ่งนั้นๆ
    หรือบางชุมชนเขามีพื้นฐานเพียบอยู่แล้ว พอเราไปลงกิจกรรมเท่านั้น ไปโลด ทีมประเมินผลก็มาสรุปเอาว่าเพราะโครงการ แต่ไม่พูดถึงก่อนโครงการที่มันพร้อมมาก่อนแล้ว ประเด็นนี้ขัดหูขัดตาผมมามาก หลายครั้งผมสรุปว่า นักพัฒนาคนนั้นโชคดีที่ชุมชนเขาดีอยู่แล้ว ผู้นำดีอยู่แล้ว ชาวบ้านดีอยู่แล้ว ไปเคาะนิดเดียววิ่งติดลมบนไปเลย

    ตรงข้ามชุมชนชายขอบเชิงเขา พัฒนาการมาจากพึ่งพิงป่า เพิ่งเปิดโลกมาไม่กี่ปี เข็นเท่าไหร่ก็ไม่ไปไหน ทุ่มเทเท่าไหร่ก็ไม่ไปไหน แถมติดลบอีก นักประเมิน นักวิจัยมาก็สรุปว่างานพัฒนาแย่ ไม่ก้าวหน้า ไม่มีฝีมือ ห่วยแตก ผมหละอยากจะอัญเชิญไปฝังตัวสักสิบปีในชุมชนนั้นบ้างดูซิว่านักวิชาการนั้นจะเป็นไงบ้าง

    กรอบมีน่ะดีแล้ว แต่อย่าติดมากนัก

    หากพูดคำว่าวิจัย ก็ไปเข้ากรอบวิชาการ แต่หากพูดว่า “ศึกษา สรุปผล และค้นพบ” มันก็ไม่ติดกรอบวิชาการ แต่เราอิงความมีหลักมีเกณฑ์บ้าง ไม่ใช่ใช้สูตรคณิตรศาสตร์ ยาวสองบันทัดมาคำนวนหาความสอดคล้อง นั่นทางวิชาการเรียกเชิงปริมาณ ซึ่งปัจจุบันอ่อนลงไปมาก คนให้ความสนใจเชิงคุณภาพมากกว่า แต่อิงปริมาณบ้าง

    ลุงแสนแกค้นพบสิ่งสำคัญมากมาย ไม่เห็นต้องทำวิจัยวิจุ้ยอย่างพ่อครูกล่าวเลย พ่อครูค้นพบการเอาใบไม้สารพัดชนิดมาให้วัวกิน นี่ก็คืองานวิจัยไทบ้าน เป็นการค้นพบหลักแรก หากจะอยากรู้ค่าว่าใบไม้ที่มาผสมผสานกันแต่ละคำของวัวนั้นมีโปรตีน คาร์โบไฮเดรทเท่าไหร่ เออนักวิชาการก้าวเข้ามาช่วยหย่อยดิ… อิอิ

    นักวิจัยไทบ้านนั้นมีความจำเป็นมากๆ เพราะเป็นการศึกษา สรุป ค้นพบเบื้องต้น ของการก้าวต่อไปในเบื้องสูงที่จำเป็นต้องใช้ความเป็นวิชาการเข้ามาช่วย

  • #6 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 สิงหาคม 2011 เวลา 21:40

    นักวิชาการทำดีก็มาก ถ้าเข้าใจนักวิชาเกินอย่างชาวบ้านบ้างน่าจะดี จะไปโลดด้วยกันทุกฝ่าย แทนที่จะป่ายปีนกำแพงเมืองจีนอย่างทุกวันนี้ บางคนติดกรอบจนกระทั้งไม่มีกรอบทำอะไรไม่เป็น อิ อิ ไม่ออก อิ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 1.3093678951263 sec
Sidebar: 1.9981641769409 sec