งานวิจัยไทบ้านอยู่ไส?

อ่าน: 3572

บทที่ 4 เปิดโลกวิจัยสู่สังคมเรียนรู้

ปลายเดือนนี้ มหาชีวาลัยอีสานมีรายการจะเอามะพร้าวห้าวไปขายสวนที่บางกอก ในงานที่สำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติจัดให้มีการนำเสนอผลงานวิจัยประจำปี 2554 ระหว่างวันที่26-30 สิงหาคม งานนี้ชุมนุมเจ้ายุทธจักรนักวิจัยในระบบทั่วไทยแลนด์ ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนแวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ราชประสงค์ สำนักงานฯได้ชักชวนให้มหาชีวาลัยเสนอประเด็นเรื่อง “ปัญหาและอุปสรรคของงานวิจัยไทบ้าน” วันที่ 27 สิงหาคม 2554 เวลา 9.00-12.00 น. ห้องLotus ชั้น 22

งานนี้นับเป็นโอกาสที่หายากยิ่ง ที่ชาวบ้านผู้ซึ่งต้องการผลงานวิจัยของนักวิชาการและหน่วยงานต่างๆมาช่วยคลี่คลายปัญหาในวิถีชีวิต จะได้ไปบอกกล่าวถึงสภาพการใช้งานวิจัยที่หลุดตกลงมาจากหิ้งว่าเป็นอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่จะยกระดับงานวิจัยไทบ้านเข้าไปอยู่ในระบบของสภาวิจัยฯ หรือ จัดให้มีการพบกันครึ่งทางร่วมมือกันระหว่างผู้ใช้งานวิจัยกับผู้ทำการวิจัยอย่างที่ในต่างประเทศเขาทำกัน

ขั้นที่ 1 สถาบันสนับสนุนการวิจัยออกทุนงานวิจัย 100%

ให้นักวิชาการกับนักวิชาเกินไทยบ้าน ได้ทำการวิจัยร่วมกัน

ขั้นที่ 2 สถาบันสนับสนุนการวิจัยออกทุนสมทบงานวิจัย 50%

ที่เหลือให้นักวิจัยไทบ้านออกทุนกึ่งหนึ่ง

ขั้นที่ 3 ถ้าต้องการพัฒนาการวิจัยให้สูงขึ้น ผู้รับประโยชน์ออกทุนเอง100%

ถ้ามีทิศทางดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่าถ้าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยทำให้เกิดรายได้ สามารถที่จะเฉลี่ยออกมาเป็นทุนวิจัยได้ โดยขั้นที่ 2 สถาบันวิจัยมีภาระสนับสนุนลดลงกึ่งหนึ่ง ในขั้นสุดท้ายเมื่อมีรายได้หรือเกิดผลประโยชน์มาแล้ว ถ้านักวิจัยไทบ้านต้องการวิจัยต่อ จะต้องออกค่าใช้จ่ายให้นักวิชาการวิจัยทั้งหมด ตามแผนงานดังกล่าวนี้จะเห็นแนวทางการสร้างนักวิจัยมืออาชีพได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งทำให้เกิดอาชีพ”นักวิจัย”อิสระเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

ซึ่งน่าจะดีกว่าทำวิจัยตามใจฉันแล้วหาคนเอาไปใช้งานไม่ได้

ความรู้ดีๆที่อุตส่าห์ค้นคว้ามาแทบเป็นแทบตายหงายเก๋ง

ไม่สามารถแสดงอภินิหารกระโดดโลดเต้นออกมาจากหน้ากระดาษได้

ทำให้ผลประโยชน์งานวิจัยที่มีอยู่มากเดินทางไม่ถึงจุดหมายปลายทาง

(ถ้าคิดใหม่ ทำใหม่ ก็จะพบสิ่งใหม่ๆ)

ยุคนี้มนุษย์ทุกผู้ทุกนามตกอยู่กับความเปลี่ยนแปลง ภาคชุมชนก็ตกอยู่กับอาการดังกล่าวนี้ด้วย ทำให้การพัฒนาการด้านวิชาชีพเป็นไปอย่างลุ่มๆดอนๆ เพราะไม่มีชุดความรู้ที่เหมาะสมมาช่วยแก้วิกฤติแห่งความบ้องตื้นได้ การทำมาหากินสมัยนี้ต้องอาศัยวิชาการมาพัฒนาอาชีพ วิชา+อาชีพ=วิชาชีพ ถ้ายกระดับความเป็นมืออาชีพไม่ได้ ก็จะตกอยู่ระดับมือสมัครเล่น ในอดีตเราจะเห็นชาวไร่ชาวนาเป็นมืออาชีพ สามารถดำเนินชีวิตได้การพึ่งพาภูมิปัญญาและทักษะชีวิตของตนเองได้อย่างสมบูรณ์ แทบไม่ต้องพึ่งพาภายนอกใดๆ ต้องการได้ช้างมาลากซุงก็ไปคล้องช้างมาฝึกใช้งาน ต้องการได้เครื่องมือมาบรรทุกผลผลิตก็ช่วนกันสร้างล้อสร้างเกวียนขึ้นมาใช้ ต้องไถไร่ไถนาก็ฝึกวัวควายมาเป็นแรงงาน ถามว่า..ทำไมไม่ดำเนินการต่อไปละ

ก็บอกแล้วไง ยุคนี้ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง

ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงก็คงจะลากตะบองล่าสัตว์และยังอยู่เป็นมนุษย์ถ้ำ

ตัววิชาความรู้ของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัยสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นทุกวัน

ประเทศไหนที่มีวิชาความรู้มากก็เจริญและเอาเปรียบประเทศด้อยปัญญา

สินค้าที่แพงที่สุดในโลกก็คือสินค้าความคิดใหม่ที่แฝงอยู่ในทุกเทคโนโลยี

จะตั้งราคาจะกำหนดสิทธิบัตรเอาไว้อย่างไรก็ได้

ประเทศที่อ่อนด้อยทางวิชาการก็ตกอยู่ในสภาพกินน้ำใต้ศอก

ต้องนำเข้าทุน-นำเข้าความรู้-นำเข้าเทคโนโลยี-จ่ายค่าโง่ที่เจ็บปวด

ประชาคมโลกแข่งขันกันตรงผลงานการวิจัยนี่เอง

วิ ช า ค ว า ม รู้ ใ ห ม่ ๆ คื อ อำ น า จ

(การใช้ใบไม้เลี้ยงโค-แพะ เป็นโจทย์วิจัยของเรา)

ถามว่า ชาวบ้านละ มีการวิจัยช่วยเหลือตัวเองบ้างไหม หรือดีแต่งอมืองอเท้ารอให้คนอื่นมาแนะนำมา มาอบรม มาชี้นิ้วบอก ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ หรือไม่ก็ฟังมาจากการโฆษณาจากสื่อต่างๆ ส่วนใหญ่ก็จะตกอยู่ในประมาณนี้ จุดบอดอยู่ที่คนบอกก็ไม่ได้ลงมือกระทำครบวงจร เป็นแต่ค้นคว้าลงลึกไปเรื่อยๆ บางที่ก็ไม่คำนึงถึงวิธีการถ่ายทอดไว้ด้วย มันจึงดูไม่ลงตัวทั้งเครื่องรับและเครื่องส่ง ยกตัวอย่างเช่นโทรทัศน์ ถ้าเราเปิดไม่ตรงช่องมันก็ยากที่จะเห็นภาพ ทั้งๆที่มันมีภาพพร้อมรออยู่แล้ว เพื่อแก้ปัญหาตรงจุดนี้ เป็นไปได้ไหมที่นักวิจัยจะมาทำการวิจัยร่วมกับชาวบ้านแบบพบกันครึ่งทาง จะได้ลดขั้นตอนการแปรรูปวิชาความรู้ได้อย่างมาก

(การค้นพบวิธีปลูกต้นไม้ที่เร็วและประหยัดต้นทุนเป็นกรณีศึกษา)

จึงแจ้งข่าวชวนชาวเฮฮาศาสตร์ไปโต๋เต๋และร่วมนั่งวิพากษ์เกี่ยวกับประเด็นนี้ ที่หมายตาและชวนไว้แล้วได้แก่ท่านจอหงวน รศ.ดร.ทวิช จิตรสมบูรณ์  “คนถางทาง” ที่ปักหลักก่อหวอดเรื่องโน้นเรื่องนี้ไม่เว้นวาย จุดพิเศษอยู่ที่อาจารย์เป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับนาสา ประกอบกับสนใจแก่นสารงานภูมิปัญญาไทย ได้รวบรวมสิ่งประดิษฐ์ที่สะท้อนให้เห็นวิธีการวิจัยของไทบ้าน อาจารย์เคยอธิบายว่า แม้แต่ละไลยักษ์ เครื่องหีบอ้อย เครื่องหีบน้ำมันงา ฯลฯ ที่จัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีนั้น เป็นตัวจริงตัวงานวิจัยของจริงที่ใครก็ไปสัมผัสได้ ถ้าพิจารณาให้ดีมันไม่ใช่ทรากของเก่าที่เอามาดูมาโชว์เท่านั้น

มันเป็นต้นทุน และ ต้นทาง ให้นักวิจัยยุคนี้เอาไปคิดต่อยอด

แต่ก็นั่นแหละ..ในเมื่อเราไม่มีจิตวิญาณของนักวิจัย

ไม่มีสายตาเอกซเรย์แบบนักวิจัย

เราไม่มีสัญชาตญาญของนักวิจัย

เ ร า จึ ง ม อ ง ไ ม่ เ ห็ น อ า นุ ภ า พ ง า น วิ จั ย ไ ท บ้ า น

พูดไปก็ไลย์บอย เมื่อมีโอกาสไปขายความคิดในเรื่องนี้ ก็จะบอกกล่าวเล่าแจ้งว่า ถ้าสนับสนุนชาวบ้านให้เป็นนักวิจัยตามอัตลักษณ์ของเขาเอง ลงทุนทำอย่างต่อเนื่อง อาจจะเขี่ยเอาวิสัยทัศน์เก่าๆออกมาได้ เช่น ถ้าชาวบ้านอยากจะรู้ว่าในหมู่บ้านของตนเองควรจะปลูกผลไม้ชนิดไหนได้ผลดีที่สุด ก็ควรเอาผลไม้ชนิดนั้นหลายๆสายพันธุ์มาทดลองปลูก แล้วติดตามดูผลผลิตผลลัพธ์อย่างละเอียด ก็จะทราบว่าผลไม้ต้นไหนดีที่สุด ชนิดไหนอยู่ในระดับรองสองสาม เมื่อรู้ข้อเท็จจริงแล้วก็ส่งเสริมให้ปลูกกันมากขึ้น แล้วทดลองยกระดับคุณภาพของผลไม้ชนิดนั้นต่อไปอีก จนได้เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ดังคำว่า ..ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวสวย ทำให้เกิดสายพันธุ์ไม้ผลคุณภาพประจำถิ่นชนิดต่างๆ เรื่องลักษณะนี้มีอยู่ทั้วไป เช่น กล้วยไข่กำแพงเพชร มะขามหวานเมืองเพชรบูรณ์ ฯลฯ

งานวิจัยที่มหาชีวาลัยจะนำเสนอมีมากมายหลายเรื่อง โดยจะหยิบยกเอาทั้งงานที่ค้นพบด้วยตัวเอง และงานที่เชื่อมโยงกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ในกรอบเศรษฐกิจพอเพียง-เกษตรประณีต-และการแก้ไขปัญหาในการงานอาชีพ ยกตัวอย่างเช่น กาารปลูกต้นไม้ เอาเอากิ่งใบมาสับเลี้ยงโคและแพะ การปลูกน้ำเต้า การนำหวดข่ามาหมักไวน์ การปลูกไผ่ ปลูกไม้อาคาเซีย แล้วอธิบายว่า..ตรงไหนคือผลของการวิจัยไทบ้าน ทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อตนเองและมีประโยนช์ต่อสังคมการเกษตรบ้านเราอย่างไร


ปลูกต้นไม้ -ไม่ต้องตัดลำต้น -ตัดเอาเฉพาะกิ่งไม้ทำฟืนทำเชื้อเพลิง-ใบไม้นำไปเป็นอาหารสัตว์-มูลสัตว์นำไปเป็นปุ๋ย-นำไปทำก๊าซชีวภาพ-นำไปใส่ต้นไม้และแปลงผัก งานลักษณะนี้อธิบายเรื่องแนวทางการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมของธรรมชาติได้อย่างมีเหตุมีผลเรียกความสนใจให้ผู้คนหันมาใส่ใจกับต้นไม้ได้อย่างจริงจังมากขึ้น เพราะเห็นช่องทางการได้รับประโยชน์ที่หลากหลายในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวชัดขึ้น โดยเอาประสบการณ์ตรงมาขยายความ..แล้งหนักปีที่ผ่านมาหญ้าแห้งตาย โคขาดอาหารอย่างมาก ผมอโซเห็นแต่หนังหุมกระดูก เมื่อเอาใบไม้มาสับเลี้ยงทดแทนหญ้าสด พบว่าโคฟื้นคืนสภาพอ้วนท้วนได้ จุดเล็กๆตรงนี้ละครับ ที่จะช่วยให้สัตว์ทั่วประเทศรอดตาย แล้วยังจะขยายผลไปสู่การแก้ไขปัญหาอาหารสัตว์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เห็นช่องทางที่ปรับปรุงงานการปศุสัตว์ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เช่นการปรับปรุงพันธุ์โค การยกระดับการเลี้ยงขุน มีโจทย์ร่วมกับนักวิจัยในสถาบัน เช่น ร้องขอให้นักวิชาการวิเคราะห์คุณค่าอาหารในใบไม้แต่ละชนิด วิเคราะห์การนำผลไม้มาหมักทำไวน์เลี้ยงโค การใช้หัวกราวเครือขาวมาผสมอาหารเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

(การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ช่วยให้ปลูกง่าย-ต้นไม้โตไว-งานเร็วขึ้น)

ทำให้เกิดการพิจารณาที่จะค้นหาชนิดของต้นไม้มาปลูกเพื่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ในงานนี้จะเสนอกลุ่มไม้อะคาเซีย ซึ่งใบเอามาเลี้ยงสัตว์ได้ เนื้อไม้มีคุณภาพสูงสามารถเอามาแปรรูปใช้สอยตั้งแต่ไม้มีอายุ7ปี ไม้อีกชนิดหนึ่งได้แก่ไม้ไผ่ ที่เรามองเห็นว่าจะเป็นไม้ที่มีความสำคัญมากในอนาคต ไม้ไผ่ปลูกที่ไหนก็ทำให้ดินดีขึ้น ไผ่บางชนิดให้หน่อทั้งปี ไผ่บางชนิดลำตรงเปลาตรงเนื้อไม้ดี สามารถตัดหมุนเวียนไปใช้งานได้ในปีที่3 ไผ่จึงเป็นชนิดที่ให้เนื้อไม้เร็วกว่าการปลูกไม้ยืนต้นทั่วไป ในงานนี้เราจะเอาหนอไผ่กิมซุงและหน่อไผ่หม่าจูไปให้ชมด้วย

(ตู้อบแสงอาทิตย์ ฝนตกก็บ่เป็นหยัง)

ส่วนน้ำเต้าปีที่แล้วปลูก20สายพันธุ์ ได้เอาวิชาความรู้ด้านการทำตู้อบแสงอาทิตย์ที่อาจารย์ทวิช จิตสมบูรณ์ ทำการวิจัยไว้ไปทดลองทำตู้อบขึ้นมา พบว่าตู้ดังกล่าวให้ความร้อนสูงมาก สามารถอบผลผลิตทางการเกษตรได้ทุกชนิด เช่น พริกแห้ง กล้วยอบ หน่อไม้อบแห้ง เนื้อแดดเดียว ปลาแห้ง อบสมุนไพร ฯลฯ งานนี้จะมีผลน้ำเต้าหลากสายพันธุ์และเมล็ดน้ำเต้าพันธุ์แปลกๆไปจำหน่ายด้วย  ยังมีงานที่ต้องตามเก็บเกี่ยวเอาไปโม้อีก เช่น การใช้สว่านเจาะดินปลูกต้นไม้ การจัดตั้งธนาคารแม่ไม้ การกลั่นน้ำมันยูคาลิปตัส การแปรรูปไม้สร้างบ้าน

การปลูกผักพื้นเมืองระบบชิด เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะเอาไปโม้ว่ามันดีอย่างไร ดีตรงไหน พิเศษจริงหรือเปล่า เสียดายที่เขาไม่ให้เอากระทะไปผัดโชว์ ไม่งั้นเธอเอย กลิ่นผัดผักกระทะร้อนกระจายฟุ้งไปทุกบู๊ทเชียวแหละ อาจจะใช้การฉายวีดีโอให้ชมแทน หรือไม่ก็จัดผักตัวอย่างไปให้ชม  งานวิจัยไทบ้านไม่ต้องขึ้นหิ้ง มีแต่จะขึ้นกระทะ ขึ้นจาน ขึ้นโต๊ะ ขึ้นโรงแรม และขึ้นเวทีงานวิจัย

หลังจากโพนทะนาเรื่องนี้ออกไป

เจ้าหน้าที่ฯบอกว่ามีผู้ลงทะเบียนเข้าห้องนี้หลายร้อยแล้วละครับ

หนังสือพิมพ์ ค ม ชั ด ลึ ก ไปได้ข้อมูลจากที่ไหนไม่ทราบ

เมื่อวานนี้โทรมาบอกว่า..ครูบาได้รับการคัดเลือกให้ไปรับโล่รับรางวัล

ตัดหน้างานวิจัยคราวนี้เสียอีก

เฮ้อ ..อะไรมันจะขนาดนั้นนนนนนน

ขออนุญาตประกาศ ประกาศ และประกาศ

ในช่วงวันที่ 27 ศกนี้

ถ้าท่านบางทรายย่องมาดูบ้านใหม่ ก็แวะมานะครับ

คุณหมอจอมป่วนถ้าลงมาเรียนสสส.3 ก็แวะมานะครับ

คุณรอกอสถ้าว่างจากช่วยงานน้ำท่วม ก็แวะมานะครับ

ท่านอื่นๆที่เผอิญมาบางกอกช่วงนั้น ก็แวะมานะครับ

เจอหน้าเมื่อไหร่ โยนไมค์เมื่อนั้น อิ อิ..

ช่วงนี้กำลังปั่นต้นฉบับ กะจะพิมพ์ให้ทันออกวางในงานนี้

ชื่อหนังสือ : งานวิจัย ให้ไทบ้านช่วยดีไหม?



Main: 0.043261051177979 sec
Sidebar: 0.089362859725952 sec