๖๕.ความไว้วางใจ๑

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2008 เวลา 13:52 ในหมวดหมู่ เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 1699

ผมมีภารกิจในการว่าความบ่อยทุกอาทิตย์ ก็เลยไม่ค่อยมีเวลาถอดบทเรียนมาเล่าสู่กันฟัง ความจริงได้ฟัง อ.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว บรรยายมาเกือบเดือนแล้ว อิอิ แต่ไม่ได้ฤกษ์เอามาโพสต์ขึ้นบันทึก วันนี้ฤกษ์งามยามดีแล้วจึงขอเอามาเล่าให้ผู้สาธุชนผู้สนใจได้สดับตรับฟัง อิอิ และเป็นการถอดความรู้มาจากคำบรรยายประกอบสไลด์ของผู้บรรยายด้วยครับ

อ.ฉันทนา ชวนให้เราคิดถึงความไว้วางใจกับการสร้างความไว้วางใจ เพราะการแก้ปัญหาของสังคมถ้าไม่มีความไว้วางใจระหว่างกันก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพราะต่างฝ่ายต่างระแวงซึ่งกันและกัน (เหมือนพันธมิตรบอกว่าให้รัฐบาลออกไป ลาออกก็ไม่ไว้ใจเพราะเดี๋ยวก็ยังอาศัยอำนาจในขณะที่รักษาการสร้างเรื่องวุ่นวายหาประโยชน์ให้พวกพ้อง ฝ่ายรัฐบาลก็ว่าไม่ลาออก ไม่ยุบสภาเดี๋ยวเกิดศาลตัดสินยุบพรรคหลังจากยุบสภาจะทำยังไง เข้าพรรคใหม่ก็ไม่ทัน เดี๋ยว กกต. ประกาศเลือกตั้งภายใน ๖๐ วัน ยังหาพรรคอยู่ไม่ได้ไม่กลายเป็นสัมภเวสีเหรอ…นี่ผมว่าของผม อิอิ)

อ.ฉันทนา ให้พวกเราคิดว่า ปัญหาความไว้วางใจในเรื่องต่อไปนี้เรื่องใดเป็นปัญหาความไว้วางใจมากที่สุด

๑.ทำไม คนในพื้นที่จึงไม่ให้ข้อมูลผู้ก่อการร้าย ทั้งที่อาจรู้เบาะแส

๒.ทำไมการชุมนุมของคนในพื้นที่ซึ่งน่าจะเป็นวิถีทางประชาธิปไตย จึงถูกมองว่าเป็นปัญหา

๓.ทำไม จึงไม่เห็นผู้นำทางศาสนาแสดงบทบาทกำกับ ควบคุมความรุนแรง

๔.ทำไม คนที่ทำงานเยียวยาจึงมีชื่ออยู่ในบัญชีดำ และทำไมอีกหลายคนก็มีชื่ออยู่ในบัญชีดำ

๕.ทำไม จึงไม่เห็นการตื่นตัวของประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

๖.ทำไม ปอเนาะซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาและหัวใจของวัฒนธรรม จึงถูกเพ่งเล็ง

๗.ทำไม คนจำนวนหนึ่ง ไม่ต้องการให้ทหารอยู่ในพื้นที่ ทั้งๆที่เขามีหน้าที่ดูแล

๘.ทำไม วิธีการของนิติวิทยาศาสตร์ที่ชาวบ้านเรียกร้อง เมื่อถูกนำมาใช้จึงถูกต่อต้านในภายหลัง

ทำไม ทำไม และทำไม……..

ความไว้วางใจ ทำหน้าที่อย่างไรในสังคม

อาจารย์อธิบายให้พวกเราฟังว่า ความไม่ไว้วางใจไม่ได้เป็นปัญหาความขัดแย้ง แต่เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความขัดแย้งได้ง่าย หากมีความไม่ไว้วางใจสะสม และ ไม่มีการแก้ไข

ถ้าตกลงในข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งได้ อาจทำให้ความไว้วางใจดีขึ้น ในทำนองเดียวกัน การแก้ไขความขัดแย้งบางครั้งต้องสร้างหรือหามาตรการสร้างความไว้วางใจทั้งก่อน และ หลังข้อตกลง

การฟื้นฟูความไว้วางใจกลับคืนมาได้ ไม่ได้หมายความว่าความขัดแย้งหมดไป (แต่อย่างน้อยหากมีการพูดคุยทำความเข้าใจกันบ่อย จะทำให้เกิดความไว้วางใจมากขึ้น) เมื่อมีความไว้วางใจเกิดขึ้นแล้ว การดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกันอาจเกิดขึ้น และ พัฒนาต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและความยั่งยืนได้มากกว่าและจะเป็นประตูไปสู่ความร่วมมือกัน และร่วมสร้างสรรค์ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วการแก้ไขปัญหาไม่อาจเริ่มขึ้นได้ หรือ ไม่อาจนำไปสู่การปฏิบัติได้

อาจารย์ให้ข้อสังเกตว่า เหตุของความขัดแย้ง กับเหตุของความไม่ไว้วางใจ อาจจะมีความใกล้เคียงกันได้ แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุเดียวกันเสมอไป เพราะทั้งสองเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสียเลยทีเดียวนัก แต่สัมพันธ์กัน เหตุของความขัดแย้งอาจจะมาจากปัญหาพื้นฐานความต้องการของมนุษย์ แต่โจทย์ของความไว้วางใจเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ ที่อยู่บนพื้นฐานของความคาดหวังต่อบทบาท ความคาดหวัง และ การไม่เป็นไปตามความคาดหวัง หรือ ผิดหวัง รู้สึกถูกหักหลัง หลอกลวง

ความไว้วางใจเป็นทุนทางสังคมประเภทหนึ่ง

สังคมประชาธิปไตยต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก หากไม่สามารถไว้วางใจกัน ก็จะเกิดอาการไม่ยอมรับ และจะปิดโอกาสการมีส่วนร่วมหรือการมีบทบาทในสังคม ผลการศึกษาก็พบว่าสังคมที่คนมีความไว้วางใจกันจะประสบความก้าวหน้ามากกว่า,ในการศึกษาก็เช่นกันพบว่า ผู้ที่สามารถไว้วางใจผู้อื่นได้ จะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จมากกว่าผู้ที่ไม่ค่อยไว้วางใจใคร ดังนั้นเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า ความไว้วางใจเป็นทุนทางสังคม เพราะโดยทั่วไปมักจะมีอยู่ในสังคมทั่วไป มีวัฒนธรรมประเพณีที่เชื่อมให้คนเข้าหากัน และทุนทางสังคมนี้อาจพร่องได้และเพิ่มได้

ความสำคัญของความไว้วางใจในชุมชนและในปัญหาความขัดแย้ง

ถ้าสังคมมีความไม่ไว้วางใจสูง สังคมจะมีความเปราะบาง หรือมันจะมีเงื่อนไขของความขัดแย้งแฝงอยู่ในตัวเองด้วย และจะทำให้ขยายตัวได้ง่าย คนที่ได้รับผลเสียก็ประชาชนชน เพราะคนไม่ไว้ใจรัฐ และรัฐก็ไม่ไว้ใจประชาชน เมื่อประชาชนไม่ไว้ใจรัฐ รัฐก็จะอ่อนแอ ประชาชนก็จะลุกขึ้นมาจัดการแก้ปัญหากันเอง และจะถึงกับใช้ความรุนแรงต่อกันด้วย ในทางกลับกันชุมชนที่ไม่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐ ก็จะทำให้สังคมอ่อนแอ ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตนเองได้เพราะจะถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์กับรัฐ และรัฐก็จะไม่ตั้งใจเข้าไปช่วยแก้ปัญหา และหากชุมชนไม่ไว้ใจกันเอง ก็ยิ่งจะมีความเปราะบาง และจะส่งผลถึงการเป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วมกัน

อาจารย์ให้เราทำความเข้าใจกับความไว้วางใจ ว่ามันมาจากไหน ขึ้นอยู่กับอะไร และการสูญเสียความไว้วางใจ ซึ่งให้พวกเราได้คิดว่าความไม่ไว้วางใจนั้นหากเราไม่วิเคราะห์ ไม่สนใจแจกแจงให้รู้เรื่องว่าสังคมไว้วางใจกันด้วยเงื่อนไขอะไรจะใช้เพียงสามัญสำนึกอย่างเดียว อาจจะส่งผลให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ามีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้นที่เป็นผู้กำหนดความสัมพันธ์หรือความเป็นไปในสังคม (เอ๊ะ เรื่องนี้มันคุ้นๆนะ อิอิ) แต่ที่แน่ๆความไว้วางใจนั้นต้องเป็นความสัมพันธ์ของคนสองฝ่ายแน่นอน จะมากจะน้อยก็อยู่ที่ความคาดหวังต่อกันและมันมาจากหลายสิ่ง ดังนั้นการสูญเสียความไว้วางใจในบางสิ่งก็ไม่ได้หมายความว่าสูญเสียไปทั้งหมด และทำนองเดียวกัน การไว้วางใจก็ไม่แน่ว่าจะได้เต็มร้อยเหมือนกัน

ความไว้วางใจมีความเสี่ยงอยู่ในตัว เพราะมันเกี่ยวข้องกับการประเมินว่าคุ้มหรือไม่ที่จะไว้วางใจคนๆนั้น หรือฝ่ายนั้น และเมื่อมันเสี่ยงก็แสดงว่ามันก็อาจจะผิดหวังได้ การประเมินเรื่องเงื่อนไขที่จะทำให้คนสามารถเรียนรู้ที่จะไว้วางใจกันได้ เรียนรู้ที่จะไม่ทำลายความไว้วางใจที่เป็นทุนทางสังคมนั้นลง เรียนรู้ที่ชุมชนจะสามารถสร้างความไว้วางใจที่เป็นทุนทางสังคมนั้น จึงเป็นข้อควรสนใจในกระบวนการแก้ไขความขัดแย้ง และการที่จะจะทำให้คนอื่นไว้ใจเรา เราก็จะต้องสามารถไว้ใจคนอื่นด้วย มันเป็นเรื่องที่ต้องเกิดคู่กัน ถ้ามันไม่คู่กันการเรียนรู้ที่จะไว้ใจมันก็เกิดขึ้นไม่ได้ เช่น อยากให้เขาไว้ใจเราแต่เราไม่ไว้ใจเขาจะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้อย่างไร

เอ..เดี๋ยวนี้เป็นไงชักงงตัวเอง เขียนยังไงก็ไม่ยอมจบในตอนเดียว ขอต่อตอนหน้าแล้วกันนะขอรับ….อิอิ

« « Prev : ๖๔.ไปคุยกับปราชญ์อีสาน๒

Next : ๖๖.ความไว้วางใจ๒ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

15 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.66775393486023 sec
Sidebar: 0.31052303314209 sec