๖๖.ความไว้วางใจ๒

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2008 เวลา 18:16 ในหมวดหมู่ เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 2396

เรามาต่อกันที่ความไว้วางใจที่ว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างของสองฝ่ายทั้งระดับบุคคลและทางสังคม ที่ฝ่ายหนึ่งมีความคาดหวังในทางบวกจากพฤติกรรมของอีกฝ่ายหนึ่งและมันยังขึ้นอยู่กับการตอบสนองของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย นอกจากนี้มันยังเกี่ยวกับผลลัพธ์ ผลประโยชน์ที่คาดหวังจากอีกฝ่ายหนึ่งด้วยว่ามันคุ้มหรือไม่ ถ้าคุ้มความไว้วางใจก็อาจจะมีมาก และมันยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของคนที่เราจะให้ความไว้วางใจด้วย อาจารย์ยกตัวอย่าง ของการให้กู้ยืม ถ้าเราไม่ไว้ใจคนกู้เราจะให้เขายืมไหม..อืมม์ ผมว่าเข้าใจง่ายดี อิอิ เพราะฉะนั้นจึงพิสูจน์ว่า ความไม่ไว้วางใจก็คือการคาดหวังต่อการแสดงออกของฝ่ายอื่นในทางลบ ใช่บ่….

แล้วมันมีที่มายังไง ไอ้เจ้าความไว้วางใจนี่…เฉลยว่ามันมีที่มา ๒ ประเภท คือ ความไว้วางใจที่เกิดจากความสัมพันธ์ใกล้ชิด และความไว้วางใจที่ไม่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ใกล้ชิด

ความไว้วางใจที่เกิดจากความสัมพันธ์ใกล้ชิด

เช่น ผู้หญิงผู้ชายรู้จักกันใหม่ โดยผู้ชายไปจีบผู้หญิง ผู้หญิงยังไม่รู้จักดี ผู้ชายแตะมือนิดหนึ่งก็หลบเลี่ยง พอรู้จักกันสักพักหนึ่งก็จับมือได้ แล้วก็ค่อยเริ่มเป็นกอดนิดหนึ่ง แล้วต่อเป็นหอมแก้มอีกนิด….พอแล้ว อย่าจินตนาการมาก… เราจะเห็นว่ายิ่งไว้ใจมากก็ใกล้ชิดมาก ฮ่าๆ..นี่ผมอธิบายของผมเอง ทางวิชาการเขาบอกว่ามันเป็นลักษณะของความไว้วางใจในแบบของสังคมประเพณี ที่อาศัยความรู้จัก ความคุ้นเคย การเป็นพวกเดียวกัน หรือมีบางสิ่งบางอย่างร่วมกัน พอหาลักษณะร่วมกันได้ความไว้วางใจก็เกิดขึ้นได้ง่าย ผมยกตัวอย่างของผมอีกนะ…เวลาเราไปอยู่ต่างจังหวัด แล้วรู้ว่าที่นี่มีศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนที่เราเคยเรียน และได้รู้จักกันกัน เราจะไว้วางใจเขามากกว่าคนอื่น ถูกไหม….และความไว้วางใจแบบนี้จะมีความสำคัญมากกว่า จึงยืดหยุ่นมากกว่าเพราะหากแม้จะผิดหวังบ้างแต่ก็ยังมีสิ่งยึดเหนี่ยวให้คงความสัมพันธ์ต่อไปได้

ความไว้วางใจที่ไม่ได้มาจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดหรือจะเรียกว่าเป็นแบบพันธะสัญญา

ซึ่งเป็นเรื่องของสังคมสมัยใหม่ เป็นเรื่องของการคาดหวังผลลัพธ์จากการให้ความไว้วางใจ มาจากการประเมินว่าจะได้อะไรจากความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น แล้วมันก็ยังขึ้นอยู่กับกติกาและบรรทัดฐานที่ยึดติดในสังคม ทำให้เราทำนายได้ว่าจะเป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่ และคนที่จะทำตามสัญญาก็จะขึ้นอยู่กับความคิดของเขาที่คิดว่าจะได้รับผลประโยชน์ใดๆหรือไม่จากการรักษาคำพูด ซึ่งมันจะเป็นความไว้วางใจในสถาบันหรือองค์กรทางสังคมรวมไปถึงธุรกิจด้วย นอกจากนี้กติกาหรือบรรทัดฐานยังต้องประกอบไปด้วยกับกลไกที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึง ความสามารถที่จะทำนายได้ว่าพฤติกรรมของคนจะเป็นไปตามครรลองที่คาดเดาได้

อาจารย์บอกว่าในทางปฏิบัติ ความไว้วางใจอาจมีที่มาหลายทาง การวิเคราะห์การเกิดขึ้นของความไว้วางใจ จึงควรตรวจสอบที่มาของความไว้วางใจหลายทางพร้อมๆกัน

แล้วที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ความไว้วางใจบกพร่องไปในส่วนไหนมากที่สุด คิดหรือยัง หึหึ…

เงื่อนไขที่ทำให้เกิดความไว้วางใจ

บุคลิกภาพ/เงื่อนไขทางสังคม/จิตวิทยา

คนเราจะเป็นคนที่ไว้ใจคนอื่นได้ง่ายหรือไม่ บุคลิกภาพก็มีส่วนเพราะลักษณะนิสัยหรือการแสดงออกของบุคคลซึ่งอาจจะมาจากการเลี้ยงดูและการกล่อมเกลาทางสังคมให้เป็นคนแบบใดแบบหนึ่ง ประสบการณ์ส่วนตัวก็เป็นตัวสร้างเสริมให้เกิดการหล่อหลอมบุคลิกภาพด้วย

เงื่อนไขทางสังคม เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้และเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะสร้างความไว้วางใจในระดับองค์กร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการสื่อสารเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่าทั้งไว้วางใจและไม่ไว้วางใจ (การพูดไม่เข้าหูคนบางทีก็ทำเอากระเจิดกระเจิงได้เหมือนกัน อิอิ) บทบาทขององค์กรหรือหน่วยงานหรือแม้แต่ระดับบุคคลที่ไม่มีความชัดเจนก็จะมีผลต่อความคาดหวังที่ไม่ตรงกับบทบาท และในที่สุดแล้วผู้ที่สวมบทบาทนั้นไม่สามารถบรรลุความต้องการของผู้คาดหวังได้ ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจได้ง่าย

แนวจิตวิทยา ท่าทีของฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องง่ายๆแต่มีความสำคัญ เพราะเป็นความประทับใจเบื้องต้นที่จะเปิดไปสู่การเปิดรับความสัมพันธ์ที่ดี โดยการแสดงความจริงใจ รักษาคำพูด รวมไปถึงความอาทรห่วงใย (ไม่ใช่เขาพูดอะไรก็สวนกลับทันทีด้วยกิริยาวาจาของผู้ที่ถืออำนาจอยู่ในมือ อิอิ หรือปากว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแต่การจะจัดกระบวนรัฐมนตรีต้องโฟนอินก่อน ๕๕๕…) ตัวอคติมันไม่ได้เกิดขึ้นเองแต่มันถูกสร้างขึ้นมาโดยผ่านการหล่อหลอมจากครอบครัว การศึกษา กลุ่มเพื่อนฝูง สื่อมวลชน อคติก็คือการรับรู้เกี่ยวกับผู้อื่นที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง อาจารย์ยืนยันว่า สังคมที่ไม่ยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมย่อมมีแนวโน้มไปสู่การมีอคติได้ง่ายกว่า

สรุปบทเรียนในเรื่องเงื่อนไขการไว้วางใจ

เงื่อนไขที่ทำให้คนทำตามสัญญา

การกลัวผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับตนหากไม่รักษาสัญญาหรือกลัวถูกลงโทษ

การคาดหวังผลประโยชน์

การมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคู่สัญญาหรือความรัก ความเอื้ออาทร ความเป็นพวกเดียวกัน

เงื่อนไขที่ทำให้ไว้วางใจ

ความคุ้มค่าความเสี่ยง ซึ่งอาจมาจากการพึ่งพาต่ออีกฝ่ายได้

พฤติกรรมที่ผ่านมา

การค้ำจุนสัญญาด้วยความสัมพันธ์ที่หลากหลาย

เงื่อนไขแวดล้อมความไว้วางใจ

ความไว้วางใจไม่ได้อยู่ในสุญญากาศ แต่อยู่ท่ามกลางเงื่อนไขอื่นๆในสังคม เช่น สภาพแวดล้อมทางการเมืองและสังคม

ความไว้วางใจขึ้นอยู่กับระบบการตรวจสอบด้วย หรืออาจจะมีกลไกที่ทำให้แต่ละฝ่ายวางใจได้ การไว้ใจจึงไม่ได้หมายความว่าไม่มีข้อสงสัย แต่ข้อสงสัยนั้นไม่เกินความเสี่ยงที่แต่ละฝ่ายยอมรับได้

ความไว้วางใจมีข้อจำกัดในตัวเอง โดยเงื่อนไขของเวลา(อดีตและอนาคตเป็นสิ่งที่เข้าไม่ถึง) และความเฉพาะเจาะจงและความแปรเปลี่ยนของสรรพสิ่งตลอดเวลา ไม่ใช่ปัญหาของบุคคล เหตุการณ์และสถานการณ์บางอย่างอาจมีนัยยะทำให้เกิดการสูญเสียความไว้วางใจชั่วคราว แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปก็อาจปรับเปลี่ยนได้ เช่น ภาวะความรุนแรงบางขณะ นโยบายรัฐในบางช่วง

ความสัมพันธ์ทางสังคมบางอย่าง(การคบหาสมาคม)เป็นพื้นฐานที่เอื้อให้เกิดความไว้วางใจและส่งผลให้ชุมชนหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงได้

มันชักจะยาวอีกแล้วพระเดชพระคุณ แต่ที่ทำอย่างนี้เพราะนึกถึงท่านที่ไม่เป็นนักเรียนร่วมห้อง เพราะถ้าใส่แต่หัวข้อท่านก็คงจะอ่านแบบงงๆแล้วก็พาลให้ไม่ใส่ใจบทเรียน จึงขอจบตอนหน้าแล้วกันนะ จนได้…..

« « Prev : ๖๕.ความไว้วางใจ๑

Next : ๖๗.ความไว้วางใจ๓ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

13 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.57277703285217 sec
Sidebar: 0.35894298553467 sec