Aug 27

คุณโยม Logos แจ้งมาว่าจะเขียนลงใน เจ้าเป็นไผ หรือไม่ ? โดยประสงค์จะเอาชีวิตหลังบวชแล้ว ก็จะลองเล่าวิถีชีวิต ๒๕ พรรษาภายใต้ร่มเงากาสาวพัสตร์หรือเรียกกันตามสำนวนเก่าว่าดงขมิ้น แต่จะเล่าโดยย่อพอเห็นแนวทางและจะปูพื้นโดยชีวิตฆราวาสก่อนเล็กน้อย…

บทนำ : ฆราวาสวิสัย

ผู้เขียนเกิดที่ไหนไม่รู้ มาจำความครั้งแรกได้ว่าเป็นเด็กตำบลคูขุดซึ่งอยู่ติดกับทะเลสาบสงขลา นั้นเป็นบ้านเดิมของโยมแม่ ส่วนโยมพ่อเป็นคนตำบลกระดังงาซึ่งอยู่ใกล้ทะเลหลวงฝั่งอ่าวไทย ทั้งสองตำบลนี้อยู่ในอำเภอสทิงพระ จึงรวมความว่าผู้เขียนเป็นชาวอำเภอสทิงพระโดยกำเนิดและในวัยเด็กได้ซึมซับวิถีชีวิตชาวบ้านทั้งสองฝั่งทะเลตามที่ควรจะเป็นไป…

เริ่มเรียนหนังสือครั้งแรกที่โรงเรียนวัดคูขุดในปี ๒๕๑๒ จนกระทั้งจบชั้นป.๕ ครอบครัวจึงย้ายมาอยู่ในตัวอำเภอเมืองสงขลา จึงย้ายมาเรียนโรงเรียนเทศบาล ๓ เมื่อจบป.๗ แล้วก็เข้าเรียนม.ศ.๑ โรงเรียนมหาวชิราวุธ พอขึ้นม.ศ.๒ ก็หนีออกจากบ้าน ปีนั้นจึงพักการเรียนไป กลับมาเรียนใหม่จนขึ้นม.ศ.๓ ก็ย้ายไปเรียนโรงเรียนสทิงพระวิทยา แล้วก็ไปต่อระดับปวช.ที่วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ พอขึ้นปีที่ ๒ ก็ออกมาเที่ยวบ้างทำงานบ้าง อีกปีจึงกลับไปเรียนปีที่ ๓ ต่อ โดยยังค้างของปีสองเทอมสองไว้ จนอายุ ๒๑ จึงเข้ามาบวชครั้งแรกที่วัดแหลมวัง อำเภอสทิงพระ บวชอยู่เดือนกว่าแล้วก็ลาสิกขากลับไปเรียนของปีสองที่ค้างไว้ แต่ยังไม่ทันจบก็กลับมาบวชอีกครั้งที่วัดท่าแซ อำเภอหาดใหญ่ และก็อยู่เรื่อยมาจนกระทั้งปัจจุบันเป็นเวลา ๒๕ พรรษา

เรื่องราวต่อไป จึงเป็นวิถีชีวิตตลอด ๒๕ พรรษา ซึ่งผู้เขียนจะเล่าเป็นรายปี ตามที่พอจะำรำลึกได้

พรรษาแรก (๒๕๒๘)

วัดท่าแซ มีพ่อท่านแดงเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งผู้เขียนเคยหนีออกจากบ้านไปอยู่กับท่านตอนยังเรียนชั้นประถม (ไม่แน่ใจว่า ป.๖ หรือ ป.๗) และตอนบวชครั้งแรก (๒๕๒๗) ผู้เขียนก็ได้มาอยู่กับท่านประมาณหนึ่งเดือน ดังนั้น ครั้งนี้เมื่อจะบวช จึงได้ไปกราบท่านบอกว่าจะบวชอีก ก็อยู่วัดเป็นนาคอยู่ประมาณหนึ่งเดือน เรียนบทขานนาคและอื่นๆ ตามสมควรแล้ว ท่านก็กำหนดวันให้มาแจ้งทางบ้าน ผู้เขียนก็ได้บวชสมใจในปลายเดือนเมษา อยู่ปรนนิบัติรับใช้ท่านอยู่เดือนกว่า บังเอิญคุณอาน้องของโยมพ่อถึงแก่กรรม จึงได้กลับมายังกระดังงา ญาติก็ชักนำว่าลองไปอยู่สำนักสงฆ์นวชีวัน ดังนั้น จึงได้ย้ายจากวัดท่าแซไปอยู่สำนักสงฆ์นวชีวัน…

อาศรมนวชีวัน สภาพเป็นป่าละเมาะ ริมทะเลหลวง อยู่ที่ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ เป็นสำนักปฏิบัติธรรม ไม่มีการทำวัตรสวดมนต์ ไม่มีกิจนิมนต์ ไม่มีพิธีกรรมอะไรเลย มีเพียงแค่บิณฑบาตฉันแล้วก็อยู่ไปวันๆ เงียบสงบ ปราศจากผู้คนไปมาหาสู่ มีเพียงงูดินและแย้เป็นเพื่อน ผู้เขียนก็ฝึกหัดปฏิบัติและอ่านหนังสือธรรมะอยู่ที่นี้ประมาณสองเดือน ก็ไปเข้าพรรษาที่วัดกระดังงา ตามคำขอของก๋ง ซึ่งท่านไม่เห็นด้วยกับการอยู่ที่นั้น และวัดกระดังงาก็ยังมีพระจำพรรษาไม่ครบห้ารูปเพื่อจะได้รับกฐินด้วย…

จำพรรษาแรกที่วัดกระดังงา ท่านเจ้าอาวาสสร้างกุฏิมุงจากกั้นจากเรียบฟากไม้ไผ่ให้หนึ่งหลัง อาศัยแสงไฟจากตะเกียง แม้ในวัดจะมีไฟฟ้าก็ไม่ใช้ เรียนนักธรรมตรีโดยตนเองที่นี้ ออกพรรษาสอบนักธรรมเสร็จ จนถึงต้นเดือนธันวา ผู้เขียนก็ถูกส่งไปร่วมปฏิบัติธรรมเทิดพระเกียรติที่พุทธมณฑล นครปฐม ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรก และตอนนั้นพุทธมณฑลก็ยังไม่สำเร็จเรียบร้อยดังเช่นปัจจุบัน…

หลังจากเลิกงาน พระ-เณรแต่ละรูปที่ไปร่วมจะมีหนังสือเดินทางกลับฟรีหนึ่งฉบับ หลายท่านสมัครไปที่อื่นต่อ ผู้เขียนก็เช่นเดียวกัน สมัครใจเดินทางไปอยู่ที่วัดแพมกลาง อำเภอปาย แม่ฮ่องสอน ตามคำชวนของท่านเจ้าอาวาส ก็อยู่อำเภอปาย ๒-๓ เดือน แล้วเดินทางกลับมาเชียงใหม่ แบกกลดเดินออกจากเชียงใหม่มาลำพูน ถึงลำปางก็มีน้องเณรชวนไปอยู่ที่วัดม่อนธาตุ ตำบลกล้วยแพะ ได้รับการแนะนำให้ไปอยู่วัดดอยม่วงคำซึ่งตอนนี้ไม่มีพระอยู่ (ใกล้ๆ จะร้าง) ผู้เขียนก็ไปอยู่รูปเดียวบนดอย อยู่ได้ประมาณ ๑-๒ เดือน ก็จะเดินทางกลับ ต้องการจะไปเที่ยวศรีสัชนาลัยแล้วเข้าสุโขทัย แต่หลงทางจึงเข้าไปนอนแพร่หนึ่งคืนแล้วก็นั่งรถไปเชียงราย ไปเข้าปริวาสที่วัดผาเงา เชียงแสน แล้วก็ไปต่อที่วัดถ้ำผาจม แม่สาย ก่อนจะเดินทางกลับปักษ์ใต้บ้านเรา…

มาถึงก็ได้รับทราบผลว่าสอบนักธรรมตรีได้ ก็ไปเยี่ยมพ่อท่านแดงที่วัดท่าแซบ้าง กลับมาอยู่วัดกระดังงาบ้าง เที่ยวอยู่ตามวัดอื่นๆ บ้าง จนเข้าพรรษาที่สอง…

พรรษาสอง (๒๕๒๙)

ก็เข้าพรรษากุฏิหลังเดิม เรียนนักธรรมโทโดยตนเอง ออกพรรษาสอบนักธรรมเสร็จแล้ว ผู้เขียนต้องการไปเที่ยวอีสาน โดยจะไปเยี่ยมเพื่อนสหธรรมิกที่เคยรู้จักมักคุ้นตอนปฏิบัติธรรมพุทธมณฑลปีที่แล้ว เป้าหมายครั้งแรกคือ วัดประชานิมิตร อำเภอบัวใหญ่ โคราช ไปเยี่ยมหลวงพี่ณรงค์ ท่านจำปาฏิโมกข์ และได้ชักชวนให้ผู้เขียนเรียนโดยมอบหนังสือให้หนึ่งเล่ม จึงเริ่มท่องปาฏิโมกข์ที่นี้ พักอยู่บัวใหญ่ประมาณ ๑-๒ เดือนก็จากลามาโดยไม่ได้เจอหลวงพี่ณรงค์ (ท่านไปเฝ้าอาจารย์ซึ่งอาพาธอยู่ที่ชัยภูมิ) ไปเที่ยวอำเภอชนบท ๒-๓ คืน แล้วมาเข้าปริวาสที่อำเภอนาเชือก ๑๐ ราตรี อัพภาณแล้วก็แบกกลดเดินไปบ้างนั่งรถบ้างจนไปถึงวัดกลางกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเยี่ยมหลวงพี่อัสมาลา พักอยู่ ๔-๕ คืน ก็เดินทางไปสกลนคร เลยไปอุดรเพื่อเที่ยวบ้านเชียง แล้วก็ย้อนกลับมาเพื่อขึ้นไปยังนครพนม พักอยู่กับท่านพระครูฯ (จำชื่อไม่ได้) ที่วัดปทุม ตำบลนามะเขือ อยู่จนถึงานไหว้พระธาตุพนม (ประมาณ ๒-๓ เดือน) ท่านพาไปเที่ยวงานแล้วก็กราบลาท่านย้อนลงมาศรีษะเกษ มาเยี่ยมท่านพระครูบุญมาที่วัดศรีโพนดวน มาทันงานบุญข้าวจี่ เพ็ญเดือนสามที่นี้ ใคร่จะพักกับท่านนานๆ แต่คิดถึงบ้านเต็มที่แล้ว ดังนั้น พักได้เพียง ๔-๕ คืน ก็กราบลาท่านกลับปักษ์ใต้บ้านเรา…

มาถึงวัดกระดังงาก็ทราบข่าวว่าสอบนักธรรมโทได้ หนังสือบาลีซื้อไว้ตั้งแต่บวชได้เดือนแรก แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มเรียนจากครู จึงเริ่มจะหาสำนักเรียนบาลี พอดีเจอหลวงพี่ซึ่งเป็นญาติห่างๆ กลับมาเยี่ยมบ้าน ชักชวนว่าน่าจะไปเที่ยววัดสะปำ ภูเก็ต ที่นั้นเป็นสำนักปฏิบัติ ถ้าจะไปเรียนบาลีในเมืองก็ได้ จึงได้ไปอยู่วัดสะปำ ซึ่งต้องตื่นตีสี่ทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ตอนเย็นเริ่มจากหกโมงไปสิ้นสุดสองทุ่ม อาจารย์ช่วงเจ้าสำนักวัดสะปำเป็นพระปฏิบัติที่ผู้เขียนนับถือด้วยใจรูปหนึ่ง ตามที่เคยประสบพบมา

ต่อมาก็ไปสมัครเรียนบาลีที่วัดวิชิตสังฆาราม (วัดควน) ในตัวเมือง ก็ย้ายไปอยู่วัดควนได้ประมาณ ๒-๓ เดือน พอเริ่มเรียนบาลีได้ไม่นาน ก็มีความเห็นแย้งกับอาจารย์สอน จึงกราบลาท่านเจ้าคุณ ตั้งใจจะมาเรียนที่วัดใหม่พัฒนาราม สุราษฎร์ฯ แต่ท่านเจ้าคุณฯ ส่งมาอยู่วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ ดอนสัก ผลสุดท้ายก็ตัดสินใจมาสมัครเรียนวัดเลียบ สงขลา โดยมาจำพรรษาที่สามที่วัดสุวรรณคีรี

(คืนนี้ เหนื่อยแล้ว ค่อยเขียนต่อ ยี่สิบห้าพรรษา เพิ่งผ่านไปสองพรรษาเท่านั้น 5 5 5…)

Jun 05

ปี ๒๕๑๘ ครอบครัวผู้เขียนก็ได้ย้ายมาอยู่ในตัวเมืองสงขลา สาเหตุก็คือ ปีนั้นน้าท่วมใหญ่ หมู เป็ด และไก่ จะนำมาไว้นอกชานบนเรือนก็ไม่สะดวก ดังนั้น จึงจับใส่รถบรรทุกเพื่อจะพาไปฝากไว้ที่กระดังงาบ้านก๋ง แต่เหตุบังเอิญว่าคนรถเข้าใจผิดว่าจะนำมาขายในตัวเมืองสงขลา จึงพาเลยเข้าไปในตัวเมืองแล้วทิ้งไว้แถวคิวรถ โยมพ่อจึงตามหมูเป็ดไก่มา ขายก็ไม่มีใครรับซื้อเพราะน้ำท่วม จึงนำไปฝากไว้บริเวณหลังบ้านของญาติห่างๆ แถว วังเขียว … ครั้งแรกนั้นโยมพ่อบ้างโยมแม่บ้างผลัดเปลี่ยนกันมาดูแล และต่อมาครอบครัวจึงค่อยขยับขยายมาอยู่ในตัวเมือง…

แม้จะฝากหมูเป็ดและไก่ไว้แถววังเขียว แต่ครอบครัวย้ายมาครั้งแรกก็มาอยู่ที่ ซอย๑๐.วชิรา เป็นเรือนไม้ยกพื้น บ้านหลังนั้นโยมพ่อซื้อไว้ แต่ที่ดินนั้นเป็นของอีกเจ้าหนึ่ง เค้าไม่ขาย จึงต้องเช่าที่ดินหรือย้าย… อยู่ซอย ๑๐ วชิรา ไม่กิ่เดือนทางบ้านก็ตัดสินใจรื้อบ้านไม้หลังนั้นมาปลูกใหม่แถว วังขาว เป็นดินเปล่าสองห้องของน้าสาวซึ่งเป็นน้องของแม่ โดยเรือนนั้นปลูกอยู่ด้านหน้าส่วนด้านหลังจะเป็นเล้าเป็ดไก่และคอกหมู… บริเวณที่เรียกว่าวังขาวสมัยนั้น มีบ้านคนอยู่ไม่ถึงสิบหลังคาเรือน ยังเป็นพื้นที่ลุ่มในบางจุดก็มีน้ำท่วมขังในฤดูฝน…

เมื่อแรกมาอยู่ ผู้เขียนก็สงสัยว่าทำไมเค้าจึงเรียกว่า วังขาว วังเขียว (นอกจากเพราะทาสีขาวและสีเขียวแล้ว) เพิ่งมาทราบไม่นานนักว่า สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ ราชสกูลระดับสูงได้มาสร้างไว้เพื่ออาจเป็นที่หลีกเร้นในคราวมีภัย เพราะเหตุการณ์ข้างหน้าไม่อาจคาดคะเนได้ ซึ่งบ้านหรือวังทำนองนี้ บรรดาเชื้อเจ้าหรือราชสกูลได้สั่งให้บริวารสร้างไว้ตามท้องถิ่นต่างๆ… เฉพาะวังขาวกับวังเขียวนี้ ระยะห่างก็น่าจะไม่เกินหนึ่งกิโลเมตร ผู้เขียนก็ไม่ทราบว่าเดิมที่เป็นของใคร ซึ่งเมื่อแรกมาอยู่นั้น วังขาวเป็นหอพักของเอกชน แต่ปัจจุบันวังขาวสภาพโทรมมากแล้วไม่อาจใช้อยู่อาศัยได้… ส่วนวังเขียวอยู่ในค่ายทหาร เมื่อก่อนเป็นของทหารอากาศ แต่ปัจจุบันโอนเป็นของทหารเรือ ได้รับการบูรณะใหม่…

เมื่อแรกมาอยู่ ก็ต้องลองผิดลองถูกหลายเรื่องว่าจะประกอบอาชีพอะไร จำได้ว่าเคยทดลองขายข้าวต้มโจ๊กที่หน้าบ้านตอนเช้า และเคยขายของชำ แต่ก็ไม่ได้ผล (ลูกค้าเซ็นต์เชื่อ ไม่จ่าย หนี้สูญ)… ต่อมาโยมพ่อก็ไปเป็นกรรมกรเข็นปลาที่ท่าประมงเพื่อจะได้ซื้อเศษปลามาเป็นอาหารเป็ดด้วยตอนกลับ ฝ่ายโยมแม่ก็ยึดอาชีพขายปลา.. และเมื่อหมูขุนลงราคาเหลือหาบละ ๙๐๐ บาท ทางบ้านก็ขายหมูเป็ดไก่หมด หันมายึดอาชีพขายปลาในตลาดอย่างเดียว…

จำได้ว่าปีนั้นเลี้ยงหมูขุนประมาณ ๑๐ ตัว และผูกเศษอาหารของโรงครัวทหารเรือ ผู้เขียนต้องปั่นสามล้อไปเก็บเศษอาหาร ต้องใ้ห้หมูกินข้าวและล้างคอกหมูเป็นต้น ด้วยความหวังว่าจะได้กางเกงยีนส์สักตัว (แต่ก็ไม่ได้)… จนกระทั้งทุกวันนี้ คราวใดที่มีปัญหาหมูราคาถูก ผู้เขียนจะนึกถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ทุกครั้ง รู้ซึ้งถึงทุกข์ของคนเลี้ยงหมู…

ส่วนการเลี้ยงเป็ดนั้น อาหารของเป็ดก็คือเศษปลากับข้าวเปลือก โดยโยมพ่อจะเอาปลาเป็ดมาจากท่าเรือ ซึ่งบางครั้งถ้ามีปลาตัวใหญ่ก็ต้องสับ (หั่น) เป็นชิ้นเล็กๆ โยนให้เป็ดกิน ส่วนผู้เขียนมีหน้าที่ต้องเก็บไข่เป็ดในตอนเช้านำไปขายที่ตลาดหลาลุงแสง แล้วก็ซื้อข้าวเปลือกใส่รถเข็นกลับมาตอนสายๆ… สำหรับไก่บ้านทั่วไปนั้น ปล่อยทิ้งไว้ในเล้าเป็ด ไม่ต้องดูแลเรื่องอาหาร เพียงแต่ทำรังให้เมื่อมันจะออกไข่แล้วฟักเป็นตัวเท่านั้น นอกจากนี้ทางบ้านเคยเลี้ยงไก่พันธุ์เนื้อและไก่พันธุ์ไข่ โดยซื้ออาหารกระสอบให้กิน แต่ก็ไม่คุ้ม จึงเลิกไปไม่นานนัก…

ตลาดหลาลุงแสงอยู่ปากซอย เช้าตรู่พวกจากนอกเมืองเช่น เขาแก้ว เกาะถ้ำ บางด่าน จะนำสินค้ามาขายแล้วซื้อของบางอย่างกลับไป สินค้าอย่างหนึ่งที่จะนำมาก็คือข้าวเปลือกบรรจุอยู่ในสอบปุ๋ย… เช้าตรู่ ผู้เขียนจะเก็บไข่เป็ดร้อยกว่าฟองใส่เข่งแล้วบรรทุกรถเข็นไปวางขายที่นี้ ก็ขายตามราคาที่พอใจ (พ่อเล้ามาเอง 5 5 5) พลางสำรวจดูว่าข้าวเปลือกมากหรือไม่ ถ้าข้าวเปลือกมากค่อยซื้อเพราะจะราคาถูกเมื่อสายๆ แต่ถ้าข้าวเปลือกน้อยก็ต้องรีบซื้อเพราะสายๆ จะหมด ซึ่งเป็ดที่เล้าจะกินข้าวเปลือกวันละปี๊ปกว่าๆ (เป็ดประมาณสองร้อย)… ไข่เป็ดที่เหลือนั้น ผู้เขียนก็จะไปติดต่อตามร้านของชำในตลาดบ้างในซอยบ้าง เพื่อให้เค้านำไปขายต่ออีกครั้ง… ตอนนั้นผู้เขียนอยู่เพียง ป.๖-๗ ก็คิดไปตามประสา แต่เมื่อโตขึ้นมา รู้สึกภูมิใจว่าสิ่งที่ผู้เขียนคิดตอนนั้นมีสอนอยู่ในวิชาเศรษฐศาสตร์… ยังคิดอยู่ถึงปัจจุบันว่า เศรษฐศาสตร์น่าจะเป็นวิชาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้เขียน

เมื่อเลิกเลี้ยงหมูเลี้ยงเป็ดหันมาค้าขาย… บ้านเล้าเป็ดเดิม ก็ค่อยๆ อัปเกรดขึ้นมา โดยเรือนไม้ยกพื้นเก่าก็ยกไปไว้ด้านหลัง ด้านหน้าก็สร้างบ้านชั้นครึ่งสองห้อง แต่ไม่ค่อยมาตรฐานนัก อยู่เองหนึ่งห้อง ส่วนเรือนไม้ด้านหลังและอีกห้องให้เค้าเช่าถูกๆ… ต่อมาเรือนไม้ยกพื้นด้านหลังก็รื้อออก สร้างเป็นเรือนสองชั้น แต่ก็ไม่ค่อยมาตรฐานนัก แล้วครอบครัวก็ย้ายมาอยู่ด้านหลัง ด้านหน้าให้เค้าเช่าถูกๆ… และก็อยู่สภาพนี้มาถึงปัจจุบัน เพียงแต่ซ่อมแซ่มบ้างตามสมควรเท่านั้น…

เรื่องการเรียน เมื่อครอบครัวย้ายมาแล้วนั้น น้องๆ ยังมิได้เข้าโรงเรียนอย่างจริงจัง จึงไม่มีปัญหาเมื่อต้องออกจากโรงเรียนมาอยู่ในเมือง แล้วค่อยย้ายสำมะโนครัวมาเรียนใหม่ในปีหน้า… แต่ผู้เขียนยังอยู่ในช่วงปลายปีของ ป.๕ ดังนั้น บางคราวก็พักอยู่บ้านเดิมที่คูขุดโดยฝากท้องไว้กับบ้านตาๆ ยายๆ เท่าที่จำเป็น บางคราวก็ไปนอนบ้านก๋งที่กระดังงา หรือบางช่วงก็มาอยู่ในตัวเมือง โดยตอนเช้าก็นั่งรถตุ๊กๆ ไปขึ้นรถประจำทาง จากตัวเมืองไปลงปากทางแล้วต่อรถเครื่องรับจ้างลงไปคูขุด ตอนเย็นก็ขึ้นรับจ้างแล้วมาต่อรถประจำทางก่อนที่จะนั่งตุ๊กๆ หรือบางครั้งก็เดินกลับบ้าน… สมัยนั้นยังเป็นถนนลูกรัง มีฝุ่นแดงฟุ้งไปทั่ว เฉพาะระยะทางจากตัวเมืองไปสทิงพระปากทางลงคูขุดก็ ๓๗ กม. จึงค่อนข้างจะตรากตรำและแปลกเกินไปสำหรับเด็กในยุคนั้น… และจากเหตุการณ์ที่ผู้เขียนไม่รู้นอนที่ไหนในช่วงนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทางบ้านไม่ค่อยห่วงหรือกังวลนัก เมื่อผู้เขียนไม่อยู่บ้าน…

จบป.๕ ก็ย้ายมาเรียนป.๖ ที่โรงเรียนเทศบาล๓. วัดศาลาหัวยาง ซึ่งห่างจากบ้านกิโลกว่าๆ ก็เดินตัดผ่านทางวังขาวบ้างวังเขียวบ้าง (เดินหลีกที่น้ำท่วมตามฤดูกาล) เมื่อจบป.๗ ก็เข้าเรียนต่อ ม.ศ. ๑ โรงเรียนมหาวชิราวุธ…

มีสนิมใจที่ไม่อาจแก้ได้ก็เรื่องภาษาอังกฤษ นั่นคือ ตอนเรียนป.๕ นั้นจะเริ่มเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งจำได้ว่าระยะแรกนั้นผู้เขียนก็ชอบและสนใจดี ท่องศัพท์ใหม่ทุกวัน เพราะคุณครูจะเฆี่ยนทุกวันถ้าจำศัพท์ใหม่ไม่ได้ ศัพท์ละ ๑ ที… แต่เทอมปลายของปีนั้น ครูภาษาอังกฤษลาคลอดทำให้ขาดครู ครูคนไหนว่างก็มักจะเข้ามาสอนหรือพูดอะไรตามใจของท่าน พวกเราจึงมักมิค่อยได้เรียน และเมื่อย้ายมาเรียนป.๖ ในเมือง ผู้เขียนก็เรียนไม่ทันคนอื่น ไม่ชอบครูอังกฤษคนใหม่ และเกลียดภาษาอังกฤษตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา… เพิ่งมาสนใจเรียนภาษาอังกฤษใหม่เมื่อเรียนมจร.เป็นทั่นมหาฯ แล้วนี้เอง แต่เรียนยังไงก็ยังไม่เป็นที่พอใจ รู้สึกว่ามีปมด้อยด้านภาษาอังกฤษกระทั้งปัจจุบัน….

เรื่องอ่านหนังสือ ผู้เขียนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่พออ่านหนังสือออก ไม่เคยรู้เลยว่าอ่านหนังสือมากระดับไหน เพิ่งมาทราบเมื่อบวชแล้วนี้เอง เมื่อมีเพื่อนสหธรรมิกรูปหนึ่งซึ่งเคยเป็นนักเขียนเรื่องสั้น ด้วยผู้เขียนสามารถพูดคุยเรื่องหนังสือกับเค้าได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นปมด้อย…

ย้อนกลับไปยังบ้านคูขุด โยมพ่อชอบอ่านหนังสือบางกอกรายสัปดาห์ และเป็นหน้าที่ของผู้เขียนจะต้องไปเอาจากบ้านโน้นมาบ้านนี้ ตอนเดินไปเดินมาเปิดดูไปพลาง นี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้สนใจ และเมื่ออ่านหนังสือออกก็เริ่มอ่านนิยายในบางกอก… ที่บ้านคุขุดนี้มีญาติห่างๆ ซึ่งเป็นครูจะซื้อหนังสือเด็กก้าวหน้ามาให้ลูกหลานอ่าน ผู้เขียนก็ได้อาศัยอ่านกับเค้าด้วย จำได้ว่ามีเรื่องเจ้าอสรพิษ พระเอกชื่อพายุสุริยัน เป็นนิยายภาพวาด พวกเราติดกันมาก ต้องเข้าคิวจองกัน แต่พวกโตๆ มักจะถืออภิสิทธิ์แย่งไปอ่าน (น่าเจ็บใจจริงๆ)…

นอกนั้น ที่คูขุดยังมีบ้านคุณตาอีกหลังหนึ่ง ซึ่งลูกของท่านที่กำลังเรียนระดับมัธยมมักจะซื้อหนังสือเด็กก้าวหน้ามาอ่าน ผู้เขียนก็มักจะไปเที่ยว เผื่อได้อ่านอย่างสบายใจ (ไม่มีใครแย่ง) บ้านคุณตาที่นี้จะมีชั้นวางหนังสืออยู่ด้วย มีหนังสือมากพอสมควร ซึ่งผู้เขียนมักจะไปนั่งพลิกอ่านเล่นได้เป็นครึ่งวัน… เกือบสิบปีก่อน เมื่อได้คุยกับพวกหนอนหนังสือซึ่งแก่กว่าผู้เขียนสักสิบปี ก็คุยแรกเปลี่ยนกันได้โดยผู้เขียนไม่รู้สึกว่าอ่อนกว่าด้านหนังสือ เมื่อทบทวนว่าหนังสือเหล่านั้นเคยเห็นเคยอ่านที่ไหน ก็มานึกถึงบ้านคุณตาที่นี้ได้ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าที่นี้น่าจะคล้ายห้องสมุดแห่งแรกในชีวิตของผู้เขียน…

เมื่อมาอยู่ในเมือง หนังสือบางกอกก็ซื้อได้ที่ปากซอยวังขาว โดยทุกเย็นของวันจันทร์ผู้เขียนจะขอตังโยมแม่มาซื้อหนังสือบางกอก แล้วก็นั่งอ่านอยู่แถวใต้ต้นมะขามข้างๆ วัง เพราะถ้ากลับถึงบ้านอาจถูกโยมพ่อใช้อภิสิทธิ์ไปอ่านก่อน หรือโยมแม่ขอคั่นเวลาเพียงเรื่องเดียวในบางครั้ง ดังนั้น ผู้เขียนจึงรีบอ่านให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะค่ำดูตัวหนังสือไม่เห็น และนี้น่าสาเหตุหนึ่งที่ผู้เขียนอ่านหนังสือได้เร็วโดยไม่รู้ตัว…

ตอนเรียนเทศบาล ๓. ขณะอยู่ ป.๗ ทางโรงเรียนเริ่มโครงการสร้างห้องสมุด โดยมอบหมายให้ครูที่มาอยู่ใหม่เป็นผู้รับผิดชอบ ผู้เขียนมักไปขลุกอยู่กับคุณครูคนนี้ สามเกลอพลนิกรกิมหงวน พวกเรารู้จักกันตอนนี้… และเมื่อไปอยู่ม.ศ.๑ มหาวชิราวุธ ผู้เขียนก็เลือกเข้าชมรมห้องสมุด โดยมิได้รับการชักชวนจากใคร คงจะเป็นวาสนาในบางก่อน หรือเพราะคุ้นเคยมาตั้งแต่เล็กๆ ก็ไม่อาจบอกได้ (หรือทั้งสองอย่าง) อยู่ชมรมห้องสมุด ก็ต้องไปช่วยงานห้องสมุด ได้อภิสิทธิ์ยืมหนังสือได้มากและระยะให้ยืมก็ยาวกว่าคนทั่วไป แต่ผู้เขียนก็ช่วยงานไม่นานนัก เริ่มเป็นวัยรุ่น เริ่มหนีโรงเรียน (5 5 5…)

ผู้เขียนมักทบทวนเรื่องราวในอดีต แต่ที่คลุมเครือและประติดประต่อไม่ค่อยได้ก็คือช่วงอยู่ ม.ศ.๑-๒ คล้ายกับช่วงความจำในตอนนี้เลอะเลือนหรือถูกไวรัสกินไป อาตมาเป็นไผ ถ้ามีตอนต่อไป จะลองกู้ข้อมูลตอนนี้มาบันทึกไว้สักครั้ง…

Apr 22

กำลังเรียน ป.๑ คุณยาย แม่เฒ่า หรือนม ได้ถึงแก่กรรมลง ครอบครัวจึงได้ย้ายไปอยู่บ้านแม่เฒ่าซึ่งเป็นบ้านเดิมของแม่… เรือนหลังนี้ จัดอยู่บ้านหัวนอนของบ้านคูขุด อยู่ระหว่างบ้านที่หนองหม่าวกับบ้านที่คลองหลาซึ่งเพิ่งย้ายจากมา ระยะห่างก็อยู่กึ่งกลางบ้านเก่าทั้งสองแห่ง โดยทั้งสามแห่งนี้ก็ตั้งอยู่ริมถนนดินเส้นเดียวกัน… สำหรับเรือนหลังนี้ แม้จะไม่เคยมาอยู่เป็นทางการ แต่ก็แวะเวียนมากินมาเที่ยวอยู่เสมอ…

ลักษณะของเรือน จะเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูงประมาณสองเมตรทรงปันหยา เป็นเรือนปลูกติดกันหลายๆ หลัง โดยแบ่งเป็น ๒ ครอบครัว… ครอบครัวผู้เขียนจะมีปู่หรือพ่อเฒ่าเป็นผู้ใหญ่สุด ส่วนอีกครอบครัวหนึ่งจะมีทวดหญิง (แม่ของแม่เฒ่า) ซึ่งอายุมากแล้วและมียายอีกคนซึ่งเป็นลูกของทวดเป็นผู้ดูแล… สองครอบครัวนี้ใกล้ชิดกันมาก สามารถใช้ห้องครัวหรือห้องส้วมแทนกันได้ และบางครั้งประตูเรือนด้านในระหว่างครอบครัวก็อาจไม่จำเป็นต้องปิด…

แรกที่ย้ายมาอยู่นั้น บ้านพ่อเฒ่ายังมีคนเยอะ กล่าวคือ มีน้าชายและน้าสาวที่ยังไม่มีครอบครัวอยู่อีก ๓ คน ส่วนป้าและน้าอีก ๓ คนที่มีครอบครัวแล้วได้ย้ายเข้ามาอยู่ในตัวเมืองสงขลานานแล้ว (น่าจะมาตั้งแต่ผู้เขียนไม่เกิดหรือจำความไม่ได้)… ส่วนบ้านทวดนั้น ลูกของยายที่รุ่นราวคราวเดียวกับผู้เขียนก็หลายคน (ยายคนนี้เป็นลูกสุดท้องของทวด) เพียงแต่ผู้เขียนมีศักดิ์เป็นหลาน พวกเขามีศักดิ์เป็นน้าเท่านั้น…

ทวดมีลูกหลายคน นอกจากสองครอบครัวที่อยู่ชิดกันแล้ว ยังมีตาอีก ๓ ครอบครัวซึ่งอยู่ในบ้านคูขุด โดยทุกเช้าและเย็น แต่ละครอบครัวของตาซึ่งเป็นน้องของแม่เฒ่า จะยกสำรับกับข้าวมาให้ทวด… ส่วนที่ครอบครัวของผู้เขียนนั้น จะจัดสำรับเป็นพิเศษสองที่ ที่หนึ่งจะยกไปให้พ่อเฒ่าที่ท่านนั่งประจำ ส่วนอีกสำรับจะยกไปให้ทวดที่บ้านยาย…

พ่อเฒ่าเป็นคนบ้านแหลมวัง (บ้านคูขุดอยู่ในหมู่๔ และ๕ ส่วนบ้านแหลมวังอยู่ในหมู่๖) ชอบทำนา เลี้ยงวัว แต่ไม่หากินทางทะเลเพราะฆ่าสัตว์เป็นบาป… ตั้งแต่จำความได้ พ่อเฒ่าได้ถือศีลอุโบสถทุกวันพระ ซึ่งตอนนั้นผู้เขียนยังไม่รู้รายละเอียด รู้แต่เพียงว่า เมื่อถึงวันพระ พ่อเฒ่าไม่กินข้าวเย็น และเป็นหน้าที่ของผู้เขียนต้องไปซื้อชาร้อนใส่กระป๋องนมจากคลองหลามาให้พ่อเฒ่า… พ่อเฒ่ามักจะพาผู้เขียนไปแหลมวังและบางครั้งก็เลยไปดอนคัน (หมู่ ๗ และ๘) โดยไปที่บ้านญาติและเพื่อนของท่าน หรือบางครั้งก็ไปที่วัด ในคราวที่มีงานหรือมีธุระอื่น… ชีวิตผู้เขียนผูกพันกับพ่อเฒ่าพอสมควร จำได้ว่าตอนที่ท่านถึงแก่กรรมนั้น ผู้เขียนอายุเกือบยี่สิบแล้ว และกำลังเรียนอยู่เทคนิคหาดใหญ่…

ครอบครัวของยายหรือบ้านทวดนั้น จะเป็นร้านขายของชำเกือบทุกอย่าง เช่น ผงซักฟอก สะบู่ ยาสีฟัน บุหรี่ น้ำมันก๊าด ยารักษาโรค ตลอดถึงรำข้าวซึ่งเป็นอาหารหมู ซึ่งสินค้าที่นำมาขายในยุคนั้น จะซื้อมาจากพัทลุงมากกว่าซื้อมาจากตัวเมืองสงขลา เพราะตาของยายบ้านทวดเป็นนายท้ายเรือโดยสารวิ่งระหว่างคูขุดกับลำปำ (จ.พัทลุง) แต่มิได้เป็นเจ้าของเรือ และผู้เขียนยังมีตาอีกคนหนึ่งที่อยู่คลองหลาเป็นเจ้าของเรือโดยสารและเป็นนายท้ายเรือเองด้วย… สมัยนั้น จะมีเรือโดยสารและบรรทุกสินค้าแล่นไปมาคูขุด-ลำปำ ๓ ลำ ชื่อเรือสินธ์ประพาส สหสิน และดาวประสิทธิ์  โดยไปวันหนึ่ง นอนลำปำคืนหนึ่ง อีกวันจึงกลับมา สับเปลี่ยนกันไปทุกวัน… บรรดาลูกหลานชาวคูขุดสมัยนั้น จึงมีโอกาสติดเรือไปเที่ยวเสมอ ซึ่งผู้เขียนก็เคยไปบ้างเป็นครั้งคราว…

ส่วนแม่เฒ่านั้น ก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรม มีอาชีพขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปและผ้าผืนผ้าพับ ดังนั้น เมื่อแม่เฒ่าจากไป กิจการนี้จึงตกทอดมาถึงแม่ โดยจะนำเสื้อผ้าไปขายตามตลาดนัดในละแวกนั้น กรณีนี้ทำให้ผู้เขียนคุ้นเคยกับตลาดนัดวัดคูขุดเพราะต้องไปหาแม่ในวันนัดคูขุดทุกครั้ง (เคยเล่าส่วนที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี้)

อีกอย่างหนึ่ง นอกจากจะเป็นช่างตัดเสื้อผ้าเองแล้ว แม่ยังรับเป็นครูสอนการตัดเสื้อผ้าด้วย ซึ่งผู้เขียนเคยเห็นการสอนวิธีตัดเสื้อผ้ามาตั้งแต่จำความได้ เริ่มตั้งแต่เอากระดาษมาวาดแล้วตัดเป็นแบบ… ลูกศิษย์ของแม่ก็เป็นสาววัยรุ่นในสมัยนั้น ซึ่งผู้เขียนเรียกว่าน้าๆ บรรดาน้าเหล่านั้นเคยเลี้ยงดูโดยให้ผู้เขียนอาบน้ำหรือกินข้าวบ้างตามสมควร จนกระทั้งทุกวันนี้ เมื่อเจอกันผู้เขียนก็ยังจำบางคนได้ แต่จำรายละเอียดในตอนนั้นไม่ได้เท่านั้น…

นอกจากขายเสื้อผ้าแล้ว แม่เฒ่ายังขายเบอร์ด้วย (เบอร์ ก็คือ หวย ขายเบอร์ ก็คือขายหวย) ตอนที่แม่เฒ่ายังอยู่นั้น น่าจะมีหลายหุ้น เพราะในความทรงจำนั้น ในวันหวยออก ผู้เขียนจะนอนดูผู้ใหญ่มาทำบัญชีหวยที่เรือนหลังนี้ นอนฟังเค้าคุยกันเรื่องหวย นินทานาย (ตำรวจ) ที่มาไล่จับ หรือมารีดไถ… กิจการนี้ก็ตกมาถึงแม่เช่นเดียวกัน เพียงแต่ภายหลังการเข้าหุ้นและคิดบัญชีหวยจะหายไป…

เมื่อก่อนหวยจะออกเดือนละสามงวด หลังจากหวยออกแล้วก็จะมีการคิดบัญชี… ถ้างวดใดได้กำไร ก็จะมีการซื้อหัวหมู หรือไก่ปากทอง (ไก่ต้มทั้งตัวแล้วใช้แหวนทองตั้งที่ปากไก่) เพื่อเซ่นไหว้ผีกลางบ้าน (เรือนเสาเดียวเล็กๆ สร้างไว้กลางหมู่บ้านเพื่อเป็นที่อยู่ของผีกลางบ้าน.. พวกเราเรียกกันว่าบ้านพ่อเฒ่า เมื่อก่อนบ้านพ่อเฒ่าทำนองนี้ ในบ้านคูขุดจะมีมาก แต่ตอนหลังค่อยๆ ถูกรื้อเพื่อใช้พื้นที่ปลูกบ้าน)… แต่ถ้างวดใดขาดทุน ก็จะไม่เซ่นไหว้ด้วยหัวหมูหรือไก่ปากทอง โดยจะเซ่นไหว้เพียงขนมเปียะลูกโตที่มีไข่แดงตรงกลางแทน ซึ่งโดยมากก็เป็นหน้าที่ของผู้เขียนต้องเดินไปซื้อขนมเปียะมาจากคลองหลา จำได้ว่าสมัยนั้นลูกละ ๗ บาท…

กำไรหรือขาดทุนของหวยแต่ละงวดนั้น จึงเกี่ยวพันถึงผู้เขียนอีกอย่าง คือ มีป้าและยายแก่ๆ บางคนที่ถือฝ่ายเจ้ามือหวย ดังนั้น ถ้างวดใดคิดบัญชีแล้วขาดทุน ผู้เขียนก็ต้องเดินไปเอาเบี้ยจากป้าหรือยายแก่ๆ เหล่านั้น… แต่ถ้างวดใดคิดบัญชีแล้วได้กำไร ป้าหรือยายแก่ๆ ก็มักจะเดินมาเอาเบี้ยที่เรือนของผู้เขียนเอง นานๆ ครั้งที่ผู้เขียนจะถูกใช้ให้เอาไปให้… จำได้ว่า บรรดาป้าและยายแก่ๆ เหล่านั้น มักจะล้อผู้เขียนเสมอทำนองว่า “เวลาขาดทุนก็มาเอาถึงเรือน แต่เวลาได้กำไรไม่ค่อยจะเอามาให้” … ซึ่งจำนวนเงินก็คนละ ๒๐-๕๐ บาทนี้แหละ…

ฝ่ายพ่อ นอกจากหากินทางทะเลสาบแล้ว มีช่วงหนึ่งได้สร้างเครื่องไฟหรือเครื่องขยายเสียง ซึ่งสมัยนั้น อำเภอสทิงพระทั้งหมดยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ยกเว้นบริเวณใกล้ๆ ที่ว่าการอำเภอเท่านั้น โดยหุ้นกับน้าเขยซึ่งอยู่ตำบลกระดังงา (บ้านก๋ง ตำบลกระดังงา กับบ้านแม่ตำบลคูขุด ห่างกันประมาณ ๘ กิโล) และเปิดให้บริการทั่วไป ในคราวที่ใครมีงานบวช งานศพ หรืองานมหรสพอื่นๆ… ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีโอกาสไปงานต่างๆ กับพ่อเสมอ ในฐานะลูกเจ้าของเครื่องไฟ (5 5 5…)

จำได้ว่า ผู้เขียนเคยตามเสียงเพลงหรือหนังตะลุงที่เปิดในงานเพื่อไปหาพ่อหลายครั้ง เพราะเมื่อเจอพ่อก็จะได้กินข้าวในงานและได้เบี้ยติดถุงไว้กินขนมอีกต่างหาก… ไปแล้วบางคราวไม่เจอพ่อก็ต้องนั่งคอยอยู่ข้างๆ เครื่องไฟ หรือเดินตามหาอยู่ภายในงาน…

ที่น่าเบื่อที่สุดก็คือ โรงรำวง (คณะรำวง เปิดเป็นเวที มีดนตรีเล่น มีนางรำวง บริการขายบัตร ให้นักเต้นมาเลือกนางรำวงไปเต้นเป็นรอบๆ… จำได้ว่า หัวค่ำรอบละบาท พอดึกหน่อยรอบห้าสิบสตางค์ ถ้ายังไม่เลิก ใกล้ๆ รุ่ง ก็รอบละสลึง) คณะรำวงสมัยนั้น โดยมากไม่มีเครื่องไฟเองจึงต้องมาเช่าเครื่องไฟไปใช้ ในเวลากลางคืนที่ไปเฝ้าเครื่องไฟกับพ่อที่โรงรำวง ความรู้สึกสมัยนั้นบอกว่า รำวงเลิกช้าหรือเล่นนานมาก ผู้เขียนจะกลับบ้านก็ไม่ได้เพราะไกลและมืด บางครั้งต้องนั่งเอาคางเกยเวทีรำวงหลับไป ตื่นขึ้นมาสองรอบแล้ว รำวงก็ยังไม่เลิก เบื่อสุดๆ เลย ไม่รู้เค้าจะเต้นไปทำไมกัน ซ้ำๆ ซากๆ ไม่รู้สนุกตรงไหนเลย (5 5 5…)

ผู้เขียนคุ้นเคยกับอุปกรณ์เครื่องไฟพอสมควรในตอนเด็กๆ เช่น ลำโพงงอนจะใช้พริกเผ็ดๆ ทาไว้เพื่อกันเด็กเป่าเล่น หรือสายเทปเก่าๆ เอามาขึงเล่น เป็นต้น แต่ก็ไม่มีความรู้ในเรื่องเครื่องไฟจนกระทั้งปัจจุบัน เพราะกิจการนี้ได้เลิกไป ก่อนที่ผู้เขียนโตพอที่จะเรียนรู้ได้…

บ้านเดิมของแม่นั้น ตอนแรกไปอยู่ก็มีคนเยอะ ต่อมาน้าสาวซึ่งเป็นครูก็แต่งงานมีครอบครัวแล้วก็ย้ายไปอยู่หาดใหญ่ น้าชายก็สอบตำรวจได้ย้ายไปอยู่สตูล น้าชายคนเล็กก็มาเีรียนหนังสือต่อในตัวเมืองสงขลา… ฝ่ายพ่อเฒ่า บางคราวก็ไปนอนที่ป่าช้าแหลมวังกับตาหลวง (ป่าช้าแหลมวังในสมัยก่อน มีกุฏิพระอยู่ด้วย และฟังมาว่า เมื่อก่อนนั้น ป่าช้ามีสภาพเป็นวัด เรียกกันว่า วัดออก แต่เดียวนี้รู้สึกว่า คำว่าวัดออกจะเลือนหายไปจากคนในท้องถิ่น) หรือบางครั้งก็ไปอยู่กับลูกคนโน้นคนนี้… ดังนั้น ที่บ้านยังมีแต่พ่อ แม่ ผู้เขียน และน้องอีกสองคนเท่านั้น

ต่อมาแม่เลิกขายเบอร์ เริ่มมาค้าขายในตัวเมืองสงขลา ที่จำได้ก็คือเอาลูกหมูมาขาย บางคราวก็มาครั้งละหลายๆ วัน ฝ่ายพ่อก็ออกทะเลหาปลาบ้าง เอาเครื่องไฟไปตามงานบ้าง… จำได้ว่าช่วงนี้ บางครั้ง ผู้เขียนต้องอยู่กับน้องอีกสองคนเท่านั้น (แต่มีบ้านทวดหรือยายที่อยู่ติดกัน) ตื่นเช้า ผู้เขียนก็ต้องหุงข้าวเอง เอาไข่เป็ดใส่ในหม้อข้าวสองฟอง (ที่บ้านเลี้ยงเป็ด เคยเล่าส่วนที่เชื่อมโยงเรื่องนี้ไว้ คลิกที่นี้ ) ฟองหนึ่งสำหรับผู้เขียนคนเดียว อีกฟองหนึ่งแบ่งให้น้องคนละครึ่ง (น้องอ่่อนกว่าผู้เขียนคนละ ๖-๗ ปี)… เกือบทุกวัน เฝ้าคอยว่าตอนสายๆ เที่ยง หรือบ่ายๆ พ่อจะกลับมา แต่บางวันพ่อก็ไม่มา ! … และต้องนับวันว่า วันนี้แม่ยังไม่มา ! วันนี้แม่ยังไม่มา ! บางครั้งนับได้ถึงหกเจ็ดวันกว่าแม่จะกลับมา…

ผู้เขียนก็เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดคูขุดไปปีละชั้นตามปกติ… ที่บ้านนั้น บางครั้งก็คนเยอะ บางครั้งก็มีแต่ผู้เขียนกับน้อง และต่อมา แม่ก็เพิ่มน้องชายให้ผู้เขียนอีกหนึ่งคนที่เรือนหลังนี้…

เพราะเกิดนาน นิทานจึงเยอะ ดังนั้น อาตมาเป็นไผ จึงต้องต่อตอนต่อไป…

Apr 19

บ้านห้องแถวชั้นครึ่งที่คลองหลานั้น จำได้ว่า ตอนที่ยังไม่เข้าโรงเรียนนั้น ในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น ขณะที่นักเรียนเดินผ่านหน้าบ้าน ผู้เขียนจะอยู่ที่ริมหน้าต่างชั้นบนแล้วมองลงมา ก็มักจะส่งเสียงเรียกร้องความสนใจ เมื่อใครเงยหน้ามามอง ก็มักจะแลบลิ้น หรือทำตาหลุน ทำนองผีหลอกเด็กนักเรียนที่ผ่านไปผ่านมาอยู่เสมอ (คงจะทำบ่อย จึงจำพฤติกรรมเรื่องนี้ได้ 5 5 5…) จนกระทั้งได้เข้าโรงเรียน ป.๑ ห้องครูเพ็ญศรี ซึ่งเรื่องนี้เคยเล่าไว้แล้ว (คลิกที่นี้) จะคัดลอกมาไว้ที่นี้

“”" ยกเว้นพ่อแม่ซึ่งจัดว่าเป็นครูคู่แรกแล้ว เมื่อแรกเข้าเรียน ป.๑ ครูเพ็ญศรีซึ่งเป็นครูประจำชั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นครูคนแรกของผู้เขียน….

พ.ศ.๒๕๑๒ คือปีแรกที่ผู้เขียนเริ่มเข้าเรียน ป.๑ ที่โรงเรียนวัดคูขุด (เพื่อมประชานุกูล) จำได้ว่า วันแรกที่เข้าเรียนนั้น บรรดาเพื่อนชักชวนกันว่า ไปอยู่ห้องพี่ศรีดีกว่า ครูเพียรตีเจ็บ กล่าวคือ ป.๑ มีสองห้องเรียน โดยมีครูเพ็ญศรีและครูเพียรเป็นครูประจำชั้นในแต่ละห้อง ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสมัครใจ…

ครูเพียร เป็นครูผู้ชาย อายุมากแล้ว (แก่กว่าโยมพ่อ เพราะบางครั้งผู้เขียนก็เรียกว่า ลุงเพียร) ส่วน ครูเพ็ญศรี ครูผู้หญิง เป็นคนในบ้านคูขุด ซึ่งพวกเรามักจะเรียกกันติดปากว่า พี่ศรี จนกระทั้งปัจจุบัน…

สมัยนั้น ป.๑ ยังคงใช้กระดานชนวน ส่วน ป. ๒ ขึ้นไปจะใช้สมุด… และยังมีอดีตที่ผู้เขียนจำไม่ลืม เพราะวันแรกที่เข้าโรงเรียนนั้น กระดานชนวนของผู้เขียนหายไป… เล่าเรื่องว่า ในภาคบ่าย พี่ศรีจะให้วาดๆ เขียนๆ อะไรก็ได้ลงในกระดานชนวนแล้วก็นำไปส่ง ตอนเย็นเมื่อเลิกเรียนก็ไปเอาคืน แต่ตอนเลิกเรียนนั้น ผู้เขียนไปเอาคนสุดท้าย (จำไม่ได้ว่า ทำไมไปเอาคนสุดท้าย อาจเพราะไปเข้าห้องน้ำ หรือหลับอยู่ในห้อง ไม่แน่ใจ ?)

เมื่อไปที่โต๊ะครู กระดานชนวนหายไปหมดแล้ว ผู้เขียนจึงต้องเดินกลับบ้านตัวเปล่า กลับมาบอกที่บ้าน… น้าชายซึ่งเป็นน้องของโยมแม่ ผ่านมาที่บ้านก็แนะนำผู้เขียนทันทีว่า วันนี้ เพื่อนเอาของหมึง ต่อเช้า หมึงต้องเอาของเพื่อนมาสักสองอัน… แต่ตอนเย็นใกล้ๆ ค่ำ โยมพ่อก็ไปเอาคืนมาได้…. ผู้ที่เอาไปก็คือ ปุ (ผู้หญิง) สาเหตุก็คือ เพื่อนเอาของเธอไปให้แล้ว แต่เธอไม่รู้ เมื่อมาเอา เห็นมีอยู่เพียงอันเดียว เธอจึงเอาไป…

อาคารเรียนสมัยยังอยู่ ป. ๑ นั้น เป็นอาคารไม้สองชั้น ชั้นบนสามห้อง ชั้นล่างสามห้อง… ห้องผู้เขียนเรียนนั้น อยู่ชั้นล่างติดกำแพงวัดด้านตะวันตก โดยพื้นของห้องเรียนนั้นเป็นดินเหนียว มิได้เทคอนกรีต ริมด้านล่างของฝาห้องแต่ละด้านจะมีช่องโหว่ เรียกกันว่า ช่องหมาลอด แต่พวกเราเด็กๆ มักจะลอดเข้าลอดออกได้ เช่น บางคนจะเข้าห้องน้ำไม่ขออนุญาตคุณครูออกทางประตู แต่แอบลอดออกไปทางช่องใต้ฝาห้อง ก็มักจะถูกเฆี่ยน เมื่อครูจับได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับพวกเรา

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้เขียนยังจำได้ตอนอยู่ ป.๑ ก็คือ ในภาคเช้าของวันหนึ่ง ครูเพ็ญศรีหาปากกาที่โต๊ะไม่พบ จึงยังไม่ปล่อยกลับไปกินข้าวที่บ้าน (ขึ้นเที่ยง) ซึ่งนักเรียนเกือบทุกคนมักจะกลับไปกินข้าวที่บ้าน… ผู้เขียนไม่ได้ขโมย ดังนั้น เมื่อเพื่อนอีกห้องผ่านมาชวนกลับบ้าน ผู้เขียนจึงแอบลอดช่องหมากลับบ้านไปพร้อมเพื่อน…. เมื่อกลับมาเรียนตอนบ่าย ผู้เขียนจึงถูกครูเพ็ญศรีเฆี่ยนในข้อหากลับก่อนได้รับอนุญาต…(ส่วนปากกานั้น มิได้หายไป และมิได้มีใครขโมย รู้สึกว่าท่านจะหาเจอ หรือครูบางท่านยืมไปนี้แหละ ไม่แน่ใจ ?)

ครูเพ็ญศรีสอนอย่างไรบ้าง ผู้เขียนก็เลือนๆ ประติตประต่อไม่ค่อยจะถูก แต่ผลเชิงประจักษ์ก็คือ ผู้เขียนสามารถ อ่านออก เขียนได้ บวกเลขเป็น และได้รับการผ่านชั้นขึ้นไปเรียน ป.๒ ในปีต่อมา….

หลังจากพ้น ป.๑ ไปแล้ว รู้สึกว่าอีก ๑-๒ ปีต่อมา พี่ศรีหรือครูเพ็ญศรีได้แต่งงานแล้วก็ย้ายไปสอนโรงเรียนอื่น… ส่วนผู้เขียนเมื่อจบ ป.๕ แล้วครอบครัวก็ย้ายมาอยู่ในเมืองสงขลา จึงได้ย้ายมาเรียน ป.๖ ที่โรงเรียนเทศบาล ๓ (วัดศาลาหัวยาง) และตั้งแต่นั้นมาเกือบจะไม่ได้เจอพี่ศรีอีกเลย…

ครั้งสุดท้ายที่ได้เจอ รู้สึกว่าจะเป็นที่โรงเรียนวัดกลาง ต.กระดังงา ประมาณปี ๒๕๒๙-๓๐… ซึ่งช่วงนั้น ผู้เขียนบวชได้ราวสองพรรษา ญาติคนหนึ่งซึ่งเป็นครูสอนอยู่ที่นั้นได้นิมนต์ผู้เขียนเพื่อไปพูดให้เด็กนักเรียนฟังในโอกาศวันครู จึงได้เจอครูเพ็ญศรีโดยบังเอิญ… พี่ศรีย้ายมาสอนที่นี้หลายปีแล้ว หลังจากคุยกันเล็กน้อย ก็ทราบว่าสามีของท่านเป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ที่นี้…

ตอนนี้ ครูเพ็ญศรี หรือ พี่ศรี ถ้ายังไม่เกษียณก็คงจะใกล้ๆ แล้ว… ในโอกาสที่วันนี้ เป็นวันครู ผู้เขียนจึงนำเรื่องนี้มาเล่าเพื่อเป็นที่ระลึกถึงครูคนแรกที่สอนให้ผู้เขียน อ่านออก เขียนได้ บวกเลขเป็น

  • ครูคือคนคู่โค้ง            ความคิด
  • ควรใคร่คู่ควรคิด         คัดค้าน
  • ครองคำคู่ครองคิด      ควรค่า   คือครู
  • ควรเคาคบคำคึ้ง         เคียดแค้น   คล่อนคลาย

………….

ตำบลคูขุดคือบ้านเดิมของแม่ตามที่เล่ามาในตอนแรก… ส่วนตำบลกระดังงาคือบ้านเดิมของพ่อ ซึ่งผู้เขียนได้เคยเล่าไว้แล้ว (คลิกที่นี้) ดังนั้น จึงคัดลอกมาเป็นส่วนเติมเต็มที่นี้อีกครั้ง…

“”" แม้ผู้เขียนจะเป็นคนอำเภอสทิงพระโดยกำเนิด แต่ถ้าแยกออกไปแล้ว โยมแม่เป็นคนตำบลคูขุด ส่วนโยมพ่ออยู่ตำบลกระดังงา… ตำบลคูขุดอยู่ติดทะเลสาบ ส่วนตำบลกระดังงาอยู่ติดทะเลหลวง โดยเหตุที่อำเภอสทิงพระมีทะเลกระหนาบทั้งสองด้าน ดังนั้น พวกที่อยู่ริมทะเลสาบซึ่งมีพื้นที่ต่ำกว่าจะถูกเรียกว่า พวกบ้านต่ำ หรือ พวกโสดล่าง … ขณะที่พวกที่อยู่ติดทะเลหลวงจะเรียกกันว่า พวกเนิน หรือ พวกโสดเนิน… เพราะเหตุว่า โยมพ่อเป็นพวกเนิน ส่วนโยมแม่เป็นพวกบ้านต่ำ ดังนั้น ผู้เขียนจึงซึมซับเอาวิถีความเป็นอยู่ทั้งสองฝ่ายไว้…

แม้เด็กๆ ผู้เขียนจะเป็นอยู่และแรกเข้าเรียนที่คูขุด แต่ก็จะไปอยู่กระดังงาบ้างตามโอกาส… และโอกาสหนึ่งในแต่ละปีที่จะไม่พลาดก็คือวันตรุษจีน หรือ วันไหว้ก๋อง เพราะโยมพ่อมีเชื้อสายคนจีนอยู่หลายส่วน และพ่อของพ่อ ผู้เขียนไม่เีรียกว่า ปู่ แต่เรียกว่า ก๋อง (คือ ก๋ง นั่นเอง แต่สำเนียงใต้ออกเสียงว่า ก๋อง )

บ ้านก๋อง ตามความทรงจำในตอนเด็กๆ นั้น สภาพภายในบ้านยังมีความเป็นคนจีนอยู่มาก แต่เมื่อผู้เขียนเป็นวัยรุ่นแล้ว รู้สึกว่าความเป็นคนจีนก็สลายไปเกือบหมด (ฟังว่า โยมพ่อและน้องๆ ของท่านทุกคน สมัยก่อนก็ใช้ชื่อจีน เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นชื่อไทยก็เมื่อแรกเข้าโรงเรียน)

บ้านก๋องในสมัยก่อนมีหลายหลัง เช่น บ้านไม้สองชั้นสองคูหา ด้านหนึ่งเป็นร้านขายของชำ ซึ่งนอกจากขายที่บ้านแล้ว คุณย่าจะนำไปขายตามตลาดนัดในหมู่บ้านใกล้ๆ ด้วย… อีกด้านหนึ่งเป็นร้านขายเครื่องยาจีนทั่วๆ ไป ซึ่งเมื่อโตขึ้น ผู้เขียนเห็นร้านขายยาสมุนไพรหรือร้านขายยาในหนังจีนโบราณแล้ว ก็มักจะนึกถึงบ้านก๋องเสมอ เช่น มีเครื่องชั่งยาโบราณ มีตะกร้าหลากชนิดใส่เครื่องยา และมีตู้ลิ้นชักเรียงขึ้นไปเป็นชั้นๆ ไว้เก็บเครื่องยาสำคัญ เวลาจะเอาก็ต้องพาดบันไดขึ้นไป… ซึ่งพวกเราเด็กๆ มักจะวิ่งไล่จับขึ้นบันไดในคราวผู้ใหญ่ไม่อยู่เสมอ….

นอกจากร้านขายของชำและขายเครื่องยาสมุนไพรแล้ว ด้านข้างจะเป็นโรงสีข้าวขนาดใหญ่พอสมควร ซึ่งผู้เขียนทันเห็นเครื่องสีเดินเครื่องอยู่ไม่เท่าไหร่นัก เพราะไม่ทันได้เป็นวัยรุ่น เครื่องสีก็หยุด แล้วก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นโกดังเก็บของแล้วก็ถูกรื้อไป… ต้นมะขามขนาดใหญ่ด้านหน้าบ้านก็ถูกโค่นลง… บ้านหลังอื่นๆ ถูกรื้อบ้าง สร้างใหม่บ้าง จนสภาพเดิมค่อยๆ หมดไป… ด้านหลังบ้านนั้น สมัยก่อนเป็นส่วนกล้วยขนาด ๑-๒ไร่ ซึ่งผู้เขียนมักจะเข้าไปเที่ยวแล้วเดินหลงเสมอนั้น ก็ค่อยๆ เล็กลงๆ….

ก๋อง มีลูก ๑๐ คน และอยู่มานานถึงเก้าสิบกว่าปี เพิ่งถึงแก่กรรมไปเมื่อ ๓-๔ ปีนี้เอง… เดียวนี้ บ้านก๋องไม่มีแล้ว เพราะถูกแบ่งออก ๔ ส่วนสำหรับลูกและหลานของก๋อง ๔ ครอบครัวที่สมัครใจอยู่บ้านเดิม ส่วนลูกคนอื่นๆ ของก๋องอีก ๖ คนก็แยกย้ายกันไปอยู่อื่น ชีวิตของก๋อง กลายเป็นเรื่องเล่าประจำตระกูลและคงจะเลือนหายไปตามธรรมดา…

ก๋องมีแนวคิดว่า ลูกหลานนั้น ถ้าอยู่ใกล้กันมักทะเลาะกัน จึงต้องการให้อยู่ห่างออกไปเพื่อจะได้พึ่งพาอาศัยกันตามโอกาส ดังนั้น ก๋องจึงวางแผนไปซื้อที่ดินไว้ในที่ต่างๆ เพื่อต้องการให้ลูกๆ ได้ไปอยู่… ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อประมาณ ๕๐-๖๐ ปีก่อน ก๋องกับก๋องอีกท่าน (พี่หรือน้องของท่าน) ชวนกันเดินทางมาซื้อที่ดินที่แถวหน้ามอ. หาดใหญ่ วันที่ตกลงจะจ่ายเงินนั้น บังเอิญก๋องมองไปที่ยอดยาง เห็นใบยางแดงและและกิ่งยางแห้ง จึงรู้ว่าน้ำใต้ดินไม่สมบูรณ์จึงขอลดราคาที่ดินลงอีก เมื่อไม่ตกลง ก๋องทั้งสองจึงชวนกันไปซื้อแถวสถานีรถไฟทุ่งลุง อำเภอสะเดา…

ฟังว่า เมื่อโยมพ่อโยมแม่แรกแต่งงานนั้น ได้ไปอยู่ที่ดินทุ่งลุงผืนนี้ แต่อยู่ได้สองเดือนก็กลับมาอยู่คูขุด โยมแม่เล่าว่า สมัยนั้น ยังไม่มีไฟฟ้า อยู่กลางสวนยางตามเกียงป๋อง (ตะเกียงน้ำมันกาด)

ประเด็นที่ดินหน้ามอ.หาดใหญ่นี้ ลูกหลานคุยสนุกๆ กันว่า ถ้าได้ซื้อแล้วตกทอดมาถึงปัจจุบัน ลูกหลานคงจะรวยระเบิด…

เมื่อก๋องยังอยู่ ก๋องก็จะทำพิธีไหว้ก๋องไหว้ศพทุกปี (มีฮ้วงซุ้ยหรือหลุมศพก๋องของก๋องที่มาจากเมืองจีนอยู่ที่ป่าช้าหน้าวัด กระดังงา) แต่เมื่อก๋องจากไป ลูกหลานของก๋องบางครอบครัวก็ยกเลิกไม่ไหว้ ซึ่งก็คงจะเป็นไปตามความสมัครใจของแต่ละคน…

อย่างไรก็ตาม ในโอกาสตรุษจีนปีนี้ ผู้เขียนก็เล่าถึงบ้านก๋องเพื่อเป็นที่ระลึกถึงก๋อง บรรพบุรุษคนสุดท้ายที่ทันเห็นก๋องในฮ้วงซุ้ยและบรรดาญาติอื่นๆ ที่มาจากเมืองจีน….

………………

อาชีพของครอบครัวที่คูขุดตอนนั้น นอกจากทำนาตามฤดูกาลแล้วก็เลี้ยงหมูเลี้ยงเป็ด ส่วนอาชีพเสริมอื่น แม่ก็รับจ้างตัดเสื้อผ้าทั่วไป และพ่อก็วางกัดหรือออกอวนหากินอยู่ในทะเลสาบเหมือนกับครอบครัวอื่นๆ … ยังมีอาชีพหนึ่งก็คือหาเพรียงขาย ซึ่งผู้เขียนเคยเล่าไว้ (คลิกที่นี้) ก็คัดลอกมาไว้ที่นี้เช่นกัน…

“”" ประมาณสองอาทิตย์ก่อน ผู้เขียนไปร่วมทอดกฐินที่วัดแหลมวัง ต.คูขุด ซึ่งเป็นดินแดนแห่งบรรพบุรุษ ก็ได้เจอกับจรัญเพื่อนเกลอระดับบรมโบราณอีกครั้ง เขาก็พาไปเที่ยวที่บ้าน ซึ่งผู้เขียนไม่ได้ไปนานเกินนาน (คงจะเกือบสามสิบปี) และเมื่อไหร่ก็ตามที่ได้เจอกัน เรื่องราวเก่าๆ ระหว่างเราทั้งสองก็จะผุดขึ้นสู่คลองความคิด…

ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๔ คือตั้งแต่ผู้เขียนยังไม่เข้าโรงเรียนจนกระทั้งราว ป.๑-๒ โยมพ่อของผู้เขียนกับพ่อของจรัญชวนกันไปเก็บเพรียงเพื่อนำมาให้เป็ดที่เลี้ยงไว้ และขายให้เจ้าของเป็ดอื่นๆ เมื่อไปเก็บเพรียงทั้งสองท่านก็พาลูกชายไปด้วย ผู้เขียนกับจรัญจึงเริ่มเป็นเพื่อนรักเพื่อนเกลอกันตั้งแต่นั้นมา…

สถานที่ไปหาเพรียงอยู่ในทะเลสาบสงขลาตอนใน ช่วงรอยต่อระหว่างจังหวัดสงขลากับพัทลุง จุดที่ไปหาเพรียงจะเลยเกาะแหลมกรวดออกไปแต่ยังไม่ถึงเกาะสี่เกาะห้า แถวนั้นน้ำค่อนข้างตื้น (ประมาณสะเอวของผู้ใหญ่ ) คนในท้องถิ่นเรียกกันว่า หาด ใต้แผ่นน้ำลงไปจะเป็นแผ่นหินหรือก้อนกรวดมากกว่าที่จะเป็นดินหรือทราย ซึ่งเพรียงก็จะเกาะเรี่ยราดอยู่ตามพื้นหินพื้นกรวดนี้เอง…

ชีวิตคนหาเพรียงเริ่มต้นเมื่อก่อนจะสว่าง โดยโยมพ่อจะปลุกผู้เขียนเพื่อลงเรือหางยาวแล้วก็แล่นเรือหางยาวจากบ้านคูขุด ผ่านไปทางเกาะโคบแล้วตัดเข้าคลองกูด (คลองกูดเป็นเส้นแบ่งระหว่างเกาะโคบกับเกาะแหลมกรวด) ออกจากคลองกูดก็แล่นตรงไปยังหาด ตอนนั้นแสงอาทิตย์จะส่องมาทางด้านหลังเรือ เมื่อใกล้ๆ ถึงจุดหมายก็จะเิริ่มเห็นเรือหางยาวอีกลำแล่นตาม นั่นก็คือ เรือของพ่อจรัญ

เครื่องเรือของพ่อจรัญเป็นเครื่องรุ่นใหม่ จึงมักจะมาแซงเรือของโยมพ่อก่อนจะถึงจุดหมายเสมอ แต่ก็มีบางครั้งที่โยมพ่อไปถึงก่อน และเมื่อเรือสองลำจอดเทียบเรียบร้อยแล้ว คุณพ่อทั้งสองก็จะเตรียมอุปกรณ์เพื่อเก็บเพรียง…

อุปกรณ์มีอย่างเดียว จะเป็นถุงทำด้วยเนื้ออวนเก่าๆ ซึ่งเป็นตาข่ายถี่ๆ มีขนาดสอบป่าน แต่ปากถุงจะมีไม้สองข้างถ่างออกมา และไม้จะยื่นออกมาเพื่อเป็นมือจับ เวลาจะเก็บเพรียงก็ต้องลงไปในทะเล เดินถอยหลังเอามือทั้งสองจับไม้ด้านบน ส่วนเท้าทั้งสองในน้ำก็ค่อยๆ กวาดเพรียงเข้าไปในถุง เมื่อได้พอสมควรก็จะนำขึ้นมาถ่ายใส่เรือครั้งหนึ่ง ทำเช่นนี้เรื่อยไปในแต่ละวัน…

คุณพ่อทั้งสองจะทำงานก่อนตอนเช้าพักหนึ่งแล้วจะทานอาหาร… ส่วนผู้เขียนกับจรัญ เมื่อเรือจอดก็จะนำเอาข้าวห่อซึ่งคุณแม่ทั้งสองเตรียมมาให้มาอวดกันว่า วันนี้ ของใคร แกงอะไร … ซึ่งกับข้าวเกือบทุกวันที่ขาดไม่ได้ก็คือปลาทอดกับไข่เป็ด…

ผู้เขียนกับจรัญจะมีอุปกรณ์เล็กๆ ซึ่งผู้ใหญ่ทำไว้ให้ด้วย แต่เราทั้งสองก็จะเล่นเสียมากกว่า เล่นไล่จับกันในน้ำบ้างบนเรือบ้าง เบื่อๆ เหนื่อยๆ ก็ขึ้นเรือมากินข้าว แล้วก็นั่งคุยกันตามประสาเด็ก แล้วก็ลงน้ำ แล้วก็ขึ้นมากิน คุยกัน เป็นอย่างนี้ทุกวัน จนกระทั้งตะวันบ่าย เมื่อผู้ใหญ่ขี้เกียจแล้ว จึงแยกย้ายกันกลับมา…

หากวันไหนจรัญไม่มา วันนั้นผู้เขียนค่อนข้างจะหงอยเหงา เพราะต้องอยู่คนเดียว ลงไปเก็บเพรียงได้นิดหน่อยก็เบื่อ เล่นโดดน้ำอยู่คนเดียวก็เบื่อ หลับอยู่ในเรือตื่นหนึ่งแล้ว โยมพ่อก็ยังไม่เลิก… และแม้นวันไหนผู้เขียนไม่ไป จรัญก็คงจะเป็นเหมือนๆ กับผู้เขียน…

ตะวันบ่ายคล้อยก็มาถึงบ้านคูขุด โยมพ่อก็จะนำเพรียงไปส่งตามเล้าเป็ดต่างๆ ที่สั่งไว้ โดยตวงเป็นปี๊บ ถ้าจำไม่พลาดรู้สึกว่าปี๊บละ ๒ บาทนี้แหละ (ค่าเงินมากเหลือเกินสมัยนั้น) โดยเทใส่ในเล้าเป็ดไว้เลย (เล้าเป็ดมักจะอยู่ติดน้ำเรือเข้าถึง)

อาชีพเก็บเพรียงมาขาย ตามที่เล่ามา นอกจากโยมพ่อของผู้เขียนกับพ่อของจรัญแล้ว ก็ไม่เห็นเคยมีใครทำ ต่อมาทั้งสองก็เลิกทำ จำสาเหตุตอนนั้นไม่ได้ เคยถามโยมพ่อ เมื่อโตแล้ว ท่านว่า เพรียงน้อยลง ช่วงที่ไปหานั้นเพรียงมากเป็นพิเศษ ตอนนี้โยมพ่อของผู้เขียนกับพ่อของจรัญก็ถึงแก่กรรมไปสิบกว่าปีแล้วทั้งสองท่าน…

ผู้เขียนกับจรัญเข้าเรียนป.๑ ห้องเดียวกัน เมื่อผู้เขียนย้ายมาอยู่ในเมืองตอนอยู่ ป.๖ ก็ไม่ค่อยได้เจอกัน หลายๆ ปีกว่าจะ้เจอและได้นั่งคุยกันนานๆ สักครั้ง เป็นความทรงจำสมัยเป็นเด็กตอนไปหาเพรียงกับพ่อ…

อนึ่ง จรัญจบแค่ ป.๗ ก็ออกเรียน ตอนนี้มีครอบครัวแล้ว มีลูก ๓ คน ลูกสาวคนโตเรียนอยู่ มอ. ใกล้จะจบแล้ว ผู้เขียนก็รู้สึกปลื้มใจในความสำเร็จของเพื่อน…

…………….

สรุปว่า “อาตมาเป็นไผ” ตอนนี้ นำเรื่องที่เคยเล่าไว้มาลงใหม่ แม้จะไม่เชื่อมต่อเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ก็หวังว่ากัลยาณมิตรในลานปัญญา คงจะใช้จินตนาการเชื่อมต่อกันได้…