ลานบ้านชลบถพิบูลย์

ธันวาคม 29, 2008

แกล้งไหม ทำไม?

Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 12:01

ในกระบวนการทอผ้าไหมนั้นมีกระบวนการแกล้งเส้นไหมอยู่ในหลายกระบวนการเพื่อให้เส้นไหมแข็งและอ่อน ซึ่งแต่ละกระบวนการมีจุดประสงค์แตกต่างกัน ทั้งนี้การกระทำแบบนี้ช่วยให้เราเรียนรู้การเตรียมเส้นไหมของช่างทอพื้นบ้านได้เป็นอย่างดี

 

 

เส้นไหมดิบ จากรังไหมสู่เส้นใย

          ในกระบวนการสาวไหมแบบพื้นบ้าน เส้นไหมที่สาวขึ้นจะประกอบด้วยเส้นใยและส่วนที่เป็นสารเคลือบเส้นใย ช่างทอผ้าโบราณฉลาดและเรียนรู้ว่า เส้นไหมดิบแบบนี้ทอผ้าใช้ไม่ดี เนื่องจากเป็นเส้นไหมแบบแข็ง ๆ กระด้าง ดังนั้นช่างทอโบราณจึงจัดการเอาสารที่เคลือบผิวไหมเหล่านั้นออกเสียด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์แบบพื้นบ้านที่ถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา

 

วิทยาศาสตร์แบบพื้นบ้าน

          การล้างสารเคลือบผิวเส้นไหมดิบนั้นจะถูกนำใจไหมมาผ่านกระบวนการต้มโดยการเติมน้ำดั่ง(น้ำด่าง) ซึ่งน้ำดั่งนี้ได้จากการเผากาบกล้วย กาบมะพร้าวหรือหญ้าโคยงู แล้วนำเอาถี่เถ้ามาผสมน้ำแล้วกรองเอาแต่น้ำ ซึ่งเป็นน้ำด่างแบบเข้มข้น  ก่อนที่จะต้มก็จะแช่ไหมดิบในน้ำด่างและนำไปต้มจนกระทั่งได้เส้นใยที่ปลอดสารเคลือบเส้นใย  ไหมที่ได้จึงอ่อนนุ่ม  หากการผลิตเส้นไหมในแต่ละปีได้ไม่มากก็สามารถเก็บไว้ได้นาน เส้นใยไม่กรอบไม่แห้งเหมือนการเก็บแบบไหมดิบ

 

นุ่มสู่แข็ง(แรง)

          เมื่อช่างทอผ้าสะสมไหมได้ในปริมาณที่พอเพียงจะลงมือทอผ้าสำหรับใช้งาน ซึ่งกระบวนการต่อไปนี้เป็นการทำเส้นใยให้แข็งแรง โดยเฉพาะเส้นใยที่ต้องนำมาทำเส้นยืน ก่อนนะไปย้อมจะต้องตีเกียวไหมให้แข็งแรงไม่ขาดง่าย เรียกว่าจากไหมที่เป็นเส้นพองนุ่มตีเกียวไปจนกว่าเส้นไหมจะกลม  ยิ่งกลมเท่าไหร่ก็จะได้คุณภาพผ้าที่เรียบสวยงามมากขึ้น

 

 

แข็งแรงจากการย้อม

          เส้นไหมที่ตีเกียวแล้ว เส้นใยจะแข็งแรงในระดับหนึ่ง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและเพิ่มสีสันลงในเส้นใย กระบวนการย้อมก็เป็นกระบวนการหนึ่งที่ทำให้เส้นมีความแข็งแรงมากขึ้นเนื่องจากสีจะเคลือบเส้ยใยเอาไว้ เพิ่มความแข็งแรงให้เส้นใยในอีกระดับหนึ่ง ทั้งการย้อมร้อนและการย้อมเย็น

 

แข็งแล้วแข็งอีก

          เมื่อมีการย้อมเส้นไหมให้มีความแข็งแรงทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่งแล้ว ยังีกระบวนการเพิ่มความแข็งแรงของเส้นใยอีกครั้งในกระบวนการหวีและการตบน้ำแป้ง(น้ำข้าวเหนียว)ของเส้นยืน ซึ่งก่อนการทอผ้าเพื่อเส้นใยที่จะต้องผ่านตะกอและทนแรงเสียดสีของฟันฟืมได้โดยขาดหรือเป็ฯขุยก่อน ช่างทอผ้าโบราณจะต้องหวีเส้นยืนด้วยก่อน โดยมีการลงน้ำเปล่าเพื่อให้เส้นใยคลายตัวหลังจากนั้นก็จะหวีน้ำแป้งลงไปหวีจนกระทั้งแข็งก่อนจะตบด้วยการหวีขี้เผิ่ง(ขี้ผึ้ง) ซึ่งกระบวนการนี้เป็นการเพิ่มความแข็งในอีกขึ้น

 

จากแข็งเป็นนุ่ม

          เมื่อทอผ้าได้จนหมดเส้นยืนแล้ว ช่างทอจะฤกษ์งามยามดีในการจัดผ้าไหมมาเก็บไว้ ซึ่งก่อนจะเก็บก็จะมีการซักเพื่อให้ผ้ามีความอ่อนนุ่ม และเป็นการล้างน้ำแป้งที่เคลือบเส้นไหมออก กระบวนการนี้เส้นไหมที่โดนล้างน้ำแป้งออกจะนุ่มนวลชวยสวมใส่ และไม่ถูกแมลงสาบ มดกัดกินผ้า  การเก็บรักษาก็ง่ายอีกด้วย

 

บันทึกแกล้งไหมครับ แต่อย่าเอาไปแกล้งใครนะครับ

 

1 ความคิดเห็น »

  1. แกล้งไหม แต่หลอกคน อิอิ

    ความคิดเห็น โดย จอมป่วน — มกราคม 1, 2009 @ 14:52

RSS feed for comments on this post. TrackBack URL

แสดงความคิดเห็น

*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word

Powered by WordPress