ลานบ้านชลบถพิบูลย์

สิงหาคม 19, 2009

การจัดการความรู้ของชาวเฮฮาศาสตร์ : ประสบการณ์จากปัจจุบันขณะ

Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 10:51

หากใครที่ยอมรับแนวคิดเรื่องความเป็น “พหุลักษณ์” (pluralism)ก็ย่อมเข้าใจดีถึงกระบวนการของชาวเฮฮาศาสตร์ที่ประกอบด้วยบุคคลจากหลากหลายวิชาชีพ หลากหลายพื้นที่  หลากหลายวัย หลากหลายที่มาที่ไปและหลากหลายความคิด แต่ในความหลากหลายนั้นทุกคนต่างเคารพความหลากหลายว่าคือสิ่งที่งดงาม โดยเฉพาะความหลากหลายที่จะเกื้อหนุนงานที่ตนเองรับผิดชอบให้สำเร็จได้อันจะส่งต่อการพัฒนาสังคม ชุมชน ประเทศชาติเราต่อไป

สำหรับผมถือว่าได้รับอิทธิพลการทำงานโดยใช้การจัดการความรู้แบบธรรมชาติมาจากสวนป่าโดยตรง การใช้ชีวิตคลุกดิน ฝุ่น เดินชื่นชมใบไม้ ใบหญ้า มองหมา มองแมว มองวัว มองกาไก่ในสวนป่า ทำให้พยายามเรียนรู้แนวคิดของครูบาฯ ที่เชื่อว่าการทำงานกับชุมชนนั้นต้องใช้การจัดการความรู้แบบธรรมชาติเป็นพื้น แสวงหาพันธมิตรวิชาการและทำงานอิงระบบ นำความรู้จากแหล่งความรู้มาทดลองทำให้ชัด แจ้ง แทงตลอด(จอดบ้างเมื่อเหนื่อย)

ในการจัดการค่ายฮูบแต้มแคมของที่จะจัดขึ้นในระหว่างันที่ 1-3 กันยายน 2552 ที่จะถึงนี้ก็เป็นอีกกิจกรรมที่ผมเอาความรู้และกระบวนการจัดค่ายโดยอาศัยการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือทำงาน  ผมแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้หลายแหล่งทั้งความรู้ในตำราก่อนลงพื้นที่จริงสืบเสาะแสวงหาเรื่องของฮูบแต้มบนผนังสิมและเรื่องราวของชุมชนบ้านหว้านใหญ่ ซึ่งมีทั้งงานวิจัย บทความและหนังสือองค์ความรู้เหล่านี้ช่วยชี้ทางและย่อระยะเวลาให้การจัดกิจกรรมสะดวกขึ้น

ความรู้จากตัวคน การที่จะจัดค่ายให้ได้ดีผมต้องขอความรู้จากคนอื่นที่เชี่ยวชาญ  ในยุควิทยาลัยชาวบ้านของครูบาฯสุทธินัท์เอาแนวคิด การขอความรู้จากผู้รู้มาใช้ในการพัฒนา ผมก็เช่นเดียวกันพยายามหาผู้รู้และจัดกิจกรรมในลักษณะนักถอดความหมายทางวัฒนธรรม โดยเชิญผู้รู้เดินทางไปยังชุมชนบ้านหว้านใหญ่และเรียนนรู้ เสนอแนะองก์ความรู้สำคัญมาให้เราได้แปลความถ่ายทอดต่อไปยังเด็กในค่าย

ความรู้จากธรรมชาติและนิเวศวัฒนธรรม เป็นองค์ความรู้ที่อิงอยู่กับชุมชน โดยคนในชุมชน พื้นที่ อาณาบริเวณในชุมนซึ่งมีความรู้ คลังข้อมูลที่มากมาย เพียงแต่กระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่าง ๆ คนต่าง ๆ เราในฐานะนักจัดการคามรู้เพื่อนำไปใช้ในค่ายเรียนรู้ จำเป็นต้องเสาะแสวงหาเพื่อนำเอาอัตลักษณ์ที่สำคัญขึ้นมากล่าว ขึ้นมาแสดงให้เด็ก ๆ เกิดมุมมองที่สำคัญในการรู้จักตนเอง ไม่แยกคนออกจากวัฒนธรรมพื้นถิ่น

ความรู้จาก IT เรื่องนี้กระบวนการเฮฮาศาสตร์และลานปัญญานับว่าช่วยได้มาก อาจารย์บางทรายบุกปริมณฑลร้านกาแฟเพื่อมาช่วยเสนอแนะกิจกรรมในการจัดการเรียนรู้แบบค่ายให้แก่เด็ก ๆ นอกจากนั้นยังรับปากจะมาช่วยเป็นคุณครูประจำวิชา เครื่องมือวิทยาการเรียนรู้ชุมชน ซึ่งเปิดมุมมอง ความเชื่อมั่นและองก์ความรู้ที่สำคัญในพื้นที่ให้แก่เด็ก ๆ ได้สนใจ เข้าใจชุมชนตนเอง  นอกจากนั้นอาม่าที่ผมคิดฮอดโทรมายามเช้า รับปากอย่างจิตอาสาที่จะช่วยลงแรงลงความคิดมาช่วยสอนเรื่องอาหาร สมุนไพรและการออกกกำลังกายให้แก่เด็ก ๆ ได้สนุกสนาน ดังนั้นงานนี้ผมจึงผุดวิชา สุนทรียศาสตร์แห่งชีวิต วิชาใหม่ในค่ายให้อาม่าเปิดลานเรียนรู้อย่างเต็มที่ ซึ่งนี่คือพันธมิตรวิชาการที่ผมหาได้จากพหุลักษณ์ในกลุ่มเฮฮาศาสตร์

ในการจัดค่ายคราวนี้ลำพังผมคงไม่มีงบประมาณในการจัดทำโครงการ งานอิงระบบจึงเป็นกระบวนการที่ใช้ในคราวนี้ ผมขอทุนศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่นในการจัดทำโครงการซึ่งเราต่างได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น องค์การที่ให้ทุนได้งานได้เผยแพร่วิชาการและได้วิชาการ   ชุมชนที่เราไปจัดได้มุมมองและทัศนะใหม่ ๆ ในการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนอันเป็นพลังของชุมชนในอนาคตไม่ไกล

ที่ผมเล่ามาทั้งหมดอยากชี้ให้เห็นว่ากระบวนการเฮฮาศาสตร์และการจัดการความรู้แบบเฮฮาศาสตร์เป็นการทำงานที่ธรรมชาติมาก ไม่ได้ถูกครอบด้วยกรอบของ “ศาสตร์การจัดการความรู้แบบตะวันตก”  ไม่ต้องมีหัวปลา ตัวปลา หางปลา แต่กลับรื่นไหลไปราวกับน้ำโขงจากเหนือลงใต้ แม้สายน้ำจะไหลลง แต่เหล่าปลากลับว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ กระจายพันธุ์์ต่อไปในพื้นที่ที่เหมาะแก่ปลานั้น ๆ อันเป็นธรรมชาติของปลาแต่ละสายพันธุ์ แปลกหน่อยที่ปลาสายพันธุ์เฮฮาศาสตร์เป็นฝูงปลาแบบพหุลักษณ์มีหลายสายพันธุ์ วางไข่ได้หลายพื้นที่ไม่เฉพาะเจาะจง วางไข่เมื่อไหร่มีความงดงามเกิดขึ้นที่นั้น

6 ความคิดเห็น »

  1. นี่ละค่ะผู้ใหญ่ใจดีของชุมชนเฮฮาศาสตร์ตัวจริงแล้วค่ะ ชื่นชมค่ะชื่นชม งานนี้พี่นิดส่งแรงใจไปค่ายด้วยนะคะ

    ความคิดเห็น โดย สุวรรณา — สิงหาคม 19, 2009 @ 11:13

  2. อาม่าได้รับการสนับสนุนจากหมียักษ์ผู้จัดการส่วนตัว เตรียมจัดการเรื่องการดินทาง เรื่องที่พักให้ ซึ่งไม่ลำบาก เพราะมีญาติๆ อยู่ขอนแก่นหลายคน แถมมี อ.แป๋วกับป้าหวานอีกที่อยากพบอีก ส่วนเรื่องที่คุยกันเมื่อเช้า ก็เพื่อให้รู้เขารู้เรา จะได้จัดองค์ความรู้ให้เหมาะกับวัย และสร้างความเบิกบานในใจเด็กๆ ที่ร่วมมือกันเรียนรู้ในสิ่งที่อยากรู้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่สามารถทำได้ง่ายๆ จากสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว ที่เป็นสถานที่หนึ่งเดียวในโลก ที่ไม่มีใครเหมือนในโลกใบนี้ ให้เด็กๆ ได้รู้จักจุดเด่นของชุมชน และภาคภูมิใจในชุมชนของตนเอง และที่สำคัญที่สุด เมื่อเด็กๆ ทำได้ เด็กๆ ก็จะกลับไปถ่ายถอดสิ่งที่เด็กๆ ทำได้ให้กับพ่อแม่พี่น้องครอบครัวของตัวเองได้ด้วย เป็นการถ่ายถอดองค์ความรู้ที่เป็นธรรมชาติที่งดงามค่ะ

    ความคิดเห็น โดย Lin Hui — สิงหาคม 19, 2009 @ 11:13

  3. กราบขอบพระคุณไปยังอาจารย์ panda ด้วยนะครับ

    ความคิดเห็น โดย ออต — สิงหาคม 19, 2009 @ 11:17

  4. ขอบพระคุณพี่นิด ลงกำลังใจคือความหมายแห่งมิตรภาพ แรงใจ และแรงขับให้มีแรงทำงานครับ
    ขอบพระคุณสำหรับแรงใจ

    ความคิดเห็น โดย ออต — สิงหาคม 19, 2009 @ 11:20

  5. เรื่องดีๆจากออตมาทันเวลาพอดี เกือบตกรถไฟขบวนสุดท้าย

    ความคิดเห็น โดย sutthinun — สิงหาคม 19, 2009 @ 11:35

  6. กราบพ่อครูงาม ๆ ครับที่แวะมาเยี่ยมและให้กำลัง
    ทั้งหมดเรียนมาจากพ่อ อันไหนไม่ถูก แทงเลยนะครับพ่อฯ

    ความคิดเห็น โดย ออต — สิงหาคม 19, 2009 @ 11:57

RSS feed for comments on this post. TrackBack URL

แสดงความคิดเห็น

*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word

Powered by WordPress