การสร้างสิมหันหน้าสู่เบื้องตะวันตก : ปรากฎการณ์ก่อนการผสานทางวัฒนธรรม
มีข้อให้พิจารณากันมากเกี่ยวกับความพิเศษของงานศิลปกรรมอีสานที่แตกต่างจากพวกศิลปกรรมอีสานด้วยกันเอง ปรากฎการณ์แบบนี้สำหรับผมไม่ใช่สิ่งที่น่าประหลาดใจเลย เพราะหากท่านเดินทางไปทั่วอีสานและไม่เหมารวมว่าคนอีสานเหมือนกันหมด ท่านจะเห็นความไม่เหมือนกันหรือความผิดขนบของงานศิลปกรรมหลายชิ้นในเขตอีสาน
กรณีสิมเก่าวัดศรีมหาโพธิ์ก็เช่นเดียวกัน ความพิเศษที่ว่าหากศึกษาและวิเคราะห์สังเคราะห์พูดคุย เราก็เห็นแนวทางที่พอจะหาข้อสรุปเบื้องต้นได้ ส่วนข้อสรุปนี้ก็ไม่ถือเป็นข้อยุติหากมีงานศึกษาอื่น ๆ เข้ามาคัดค้าน ต้แย้งหรือมีมิติการตีความแบบใหม่ที่ชวนให้เชื่อได้
การหันหน้าสิมไปสู่เบื้องตะวันตกของสิมเก่าวัดศรีมหาโพธิ์ บ้านหว้านใหญ่ ตำบลหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหารนั้นเป็นความพิเศษที่แตกต่างจากมโนทัศน์ของเรา ๆ ที่ยึดถือในรูปแบบการสร้างสิมหันหน้าไปสู่เบื้องตะวันออก ปรากฎการณ์นี้ผมเอาไปเล่า อ่าน ค้น และเรียบเรียงมาพอสรุปได้ความถึงวัฒนธรรมอีสานก่อนการผสานทางวัฒนธรรม อันเป็นปรากฎการณ์หนึ่งของวัฒนธรรม(Culture)
สิมวัดสรีมหาโพธิ์ เป็นสิมขนาดเล็กรูปแบบศิลปะพื้นบ้านอีสานบริสุทธิ์ คือมีขนาดเล็กมาก เดิมคาดว่าเป็นสิมโปร่งแต่มีการปิดทึบด้วยหน้าต่างไม้ในภายหลัง ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามเรื่องพระเวสสสันดรชาดกซึ่งมีรูปแบบไม่ซ้ำใคร ตัวศาสนาคารหันหน้าไปสู่เบื้องตะวันตกหันหลังให้กับแม่น้ำโขงซึ่งห่างไปราวสิบเมตร
การหันหน้าไปสู่เบื้องตะวันตกนั้นมีนักวิชาการทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสาน ให้คำอธิบายไว้อย่างน้อยที่ค้นเจอก็สองท่านคือ รศ.ดร วิโรฒ ศรีสุโร (ปรมาจารย์ด้านสถาปัตยกรรมอีสานอดีตคณบดีคณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) และ ผศ.ดร ทรงยศ วีระทวีมาศ (คณบดีคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่นคนปัจจุบัน) ซึ่งทั้งสองท่านได้ให้เหตุผลของการหันหน้าสิมไปสู่เบื้องตะวันตกตรงกันว่า
การสร้างสิมหันหน้าไปในทิศอื่นนอกจากทิศตะวันออกว่า สิมอีสานในสมัยก่อนไม่ได้เคร่งครัดในการหันหน้าสิมไปสู่ทิศตะวันออกนัก ทั้งนี้เพราะไม่มีกฎเกณฑ์บังคับทางพระวินัยในเรื่องนี้ คงจะพิจารณาเอาตามสภาพภูมิประเทศและทางสัญจรเป็นหลักอย่างเดียวกับ วัดหน้าพระเมรุในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหันหน้าไปทางทิศใต้ที่มีลำคลองเป็นทางสัญจรที่สำคัญในสมัยนั้น วัดในแถบอีสานที่สิมไม่ได้หันหน้าไปสู่ทิศตะวันออกเช่น สิมวัดกลางโคกค้น(จังหวักาฬสินธุ์ หันหน้าสิมไปทางทิศตะวันตก) สิมเก่าวัดศรีสะเกษ(จังหวัดสกลนคร หัน
หน้าสิมไปทางทิศตะวันตก) สิมเก่าวัดศรีจันทร์[1] (จังหวัดขอนแก่น หันหน้าไปทางทิศใต้ซึ่งเป็นถนนศรีจันทร์ถนนสายหลักเมืองขอนแก่น)
กรณีนี้หากมองในมิติการผสานทางวัฒนธรรมเราจะพบสิมอีสานที่พบในอีสานในยุคต่อ ๆ มา ที่นิยมหันหน้าไปสู่เบื้องตะวันออกนั้นน่าจะเกิดจากการรับเอาและผสานทางวัฒนธรรมมาจากกรุงเทพฯ กรณีนี้มีประเด็นทางวัฒนธรรมที่น่าสนับสนุนโดยเฉพาะกรณีการขยายพุทธศาสนาแบบกรุงเทพฯมาสู่อีสาน
ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4 ) ความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาเจริญเป็นลำดับจากยุค “ใครศรัทธาสร้างวัดก็เป็นคนโปรด“ ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 3) ซึ่งปรากฎพระสงฆ์จากภาคอีสานได้เริ่มเดินทางเข้ามาศึกษาปริยัติธรรมในกรุงเทพมหานคร ตามสำนักพระปริยติธรรมต่าง ๆ ตั่งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2369 อาทิ พระอริยวงศาจารย์(สุ้ย)จากอุบลมาศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดสระเกศ พระครูบุญมาจากเมืองพนานิคมมาศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดจักรวรรดิ์ราชาวาส ท่านพระครูหลักคำพิมพ์จากเมืองขอนแก่นมาศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดสามจีน เป็นต้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาปริยัติธรรมนำจารีตทางพระพุทธศาสนาจากกรุงเทพฯไปขยายสู่ชุมชนในเขตภาคอีสาน เมื่อพระสงฆ์เหล่านี้กลับไปยังท้องถิ่นได้มีการเปิดสอนพระปริยัติธรรม ก่อสร้างถาวรวัตถุเลียนแบบกรุงเทพในท้องถิ่นของตน[2]
ดังนั้นต่อมาเมื่อมีการติดต่อกับกรุงเทพฯทั้งการปกครองและการศาสนารูปแบบของสิมจึงเปลี่ยนไปพร้อม ๆ กับแนวคิดกานพสร้างสิมที่หันหน้าไปสู่เบื้องตะวันออกและนิยมสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธานภายในสิม
กรณีการสร้างสิมเก่าวัดศรีมหาโพธิ์จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ประการใด
[1] ปัจจุบันรื้อแล้ว
[2] เปรมวิทย์ ท่อแก้ว,การก่อตั้งและขยายตัวของธรรมยุตินิกายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(พ.ศ.2394-2473).ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2534.
อืม ที่แท้การหันหน้าโบสถ์ไปทางตะวันออกคือการรับวัฒนธรรมจากภาคกลางนี่เอง แต่โบสถ์เก่าดั้งเดิมจะหันหน้าโบสถ์ตามแต่จะสมควร
ขอบคุณมากจ้า
ความคิดเห็น โดย น้ำฟ้าและปรายดาว — กรกฏาคม 15, 2009 @ 19:10
อิอิ ขอบคุณครับหมอครับ
ความคิดเห็น โดย ออต — กรกฏาคม 16, 2009 @ 16:11