๑๙. สันติวิธีกับความมั่นคงแห่งชาติในมิติใหม่ ๒

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 19 กรกฏาคม 2008 เวลา 9:48 ในหมวดหมู่ เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 7620

พี่แจ๋หรือป้าแจ๋ ได้ยกตัวอย่างเพื่อทำความเข้าใจกับพวกเราโดยเอาเรื่องที่เกิดขึ้นจริงมาเล่า สู่กันฟัง จึงทำให้การบรรยายของพี่แจ๋ น่าสนใจมากยิ่งขึ้นครับ พี่แจ๋ยกตัวอย่าง…

ตัวอย่างกรณีคนกัมพูชาในกรุงพนมเปญ เผาสถานฑูตไทยและทำลายสถานที่ประกอบธุรกิจของคนไทย เพราะเป็นความเชื่อสะสมว่าคนไทยเป็นเช่นไร  นี่ คือตัวอย่างการแก้ปัญหาที่ไม่ใช่สันติวิธีและมองข้ามความรู้สึกของประชาชน บางทีการใช้เหตุใช้ผลไม่ตรงกัน จึงเกิดใช้อารมณ์ความรุนแรง

เพื่อนบ้านเรา ภาคเอกชนในประเทศและต่างประเทศ หลังเกิดเหตุการณ์ที่พนมเปญ ถามคนลาวที่อยู่เวียงจันทร์ ถามคนลาวรู้สึกอย่างไร คนลาวตอบว่า สมน้ำหน้าโดนเสียบ้างก็ดี เพราะชอบดูถูกคนอื่น เลยไม่กล้าไปถามพม่า….(เพราะกลัวจะหนักกว่านี้…ฮา….ตรงนี้ผมเติมเอง อิอิ)

ทุกคนเป็นตำราเรียนของกันและกัน เคยไปถามหมอบุญเรือง เรื่องเด็กติดยาเสพติด ปัญหาอยู่ที่ทักษะการเรียนรู้เพื่อเผชิญกับยาเสพติดมีไม่เพียงพอ จึงต้องเสริมสร้าง มิฉะนั้น การยับยั้งชั่งใจจะไม่เพียงพอเมื่อเผชิญกับปัญหา

บางเรื่องที่เป็นเรื่องเล็กน้อยทำไมเอามาพูด ตอบได้เลยว่าเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้แหละที่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ รัฐจะต้องเข้ามาแก้ไข แต่ถ้ารัฐทำตัวลงมาต่อสู้เองก็จะยิ่งทำให้มีปัญหา แล้วจะเข้าไปจัดการเองก็จะยิ่งยากเข้าไปใหญ่

สมช.นำเสนอแนะความเห็นวิธีการจัดการที่เหมาะสม การจัดการความขัดแย้งที่ไม่ให้เกิดความรุนแรง คือการส่งสัญญาณสำคัญสำหรับคิดหาทางออก กรณีบ่อนอกหินกรูดไปเตรียมเลือดไว้ที่โรงพยาบาลใกล้เคียง ทุกคนที่มีความพร้อมจะเก็บเลือดไว้ใช้ ติดชื่อกลุ่มของตัวเองไว้ รัฐแปลกใจว่าทำไมทำอย่างนี้ กรรมการสันติวิธีตอบไปว่า การเตรียมเลือดคือการส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะสู้ แม้ชิวิตก็ยอม เมื่อเสียเลือดเขาเตรียมเลือดของเขาไว้แล้ว เขาเกรงว่าเมื่อเกิดบาดเจ็บเขาจะถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการรักษา แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต่อสู้ด้วยความรุนแรง รัฐจึงต้องมีวิธีการจัดการ

ท่อก๊าสที่จะนะ ก็จะเกิดความรุนแรงจะเข้ามาที่โรงแรมเจบี รัฐถามมาอีก แต่ตอบไปไม่ทัน ว่าทำไมต้องมีธงสีแดงที่มีไม้ปลายแหลมเป็นด้าม ทำไมต้องผูกผ้าสีแดงเหมือนคอมมิวนิสต์จีน ความระแวงของรัฐเห็น ปชช.ใช้สีแดงจึงสลายม๊อบเสียก่อน มีภาพที่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศถ่ายไว้ทำให้เกิดปัญหา

กรณีพันธมิตร สัญญาณไม่ใช้อาวุธและไม่ใช้ความรุนแรงชัดเจน เมื่อมีกลุ่มที่จะแก้ไขกรณีจะมีผู้ใช้อาวุธ แกนนำจะสั่งให้นั่งลง เพราะนั่นคือสัญญาณของการไม่สู้

กรณีนายกสุรยุทธ ส่งสัญญาณด้วยการขอโทษ และประกาศจุดยืนสันติวิธี แต่คำประกาศนั้นไม่มีอะไรเพิ่มเติมในส่วนที่พื้นจะปฏิบัติ ทุกอย่างจึงยังเหมือนเดิม

กรณีพันธมิตร เป็นเรื่องการสะสมความคิดที่แตกต่างกัน ในสันติวิธีบอกว่าต้องให้เกียรติและเห็นคุณค่าของคนเท่าเทียมกัน สิทธิมนุษยชนจะต้องเท่าเทียมกัน การละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนการละเมิดสัญญาที่ทำไว้กับต่างประเทศ

ปัญหาชายแดนภาคใต้ ความจริงที่แตกต่างกันระหว่างของรัฐและประชาชน เรากำลังทำให้กระบวนการยุติธรรมใช้ความจริงให้ปรากฏให้ใช้เครื่องมือทำความ จริงปรากฏได้อย่างโปร่งใส ความระแวงจะไม่มี และจะสามารถฟื้นคืนความไว้เนื้อเชื่อใจ กรณีป้อมมหากาฬ ก็เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ รัฐก็ระแวงประชาชน/ เรื่องคนชายขอบ กฎหมายใหม่ จนท.รัฐที่เกี่ยวข้องต้องไม่ใช้ดุลยพินิจเกินความจำเป็นคือการไม่ไปรีดไถ เรียกร้องเงินเพื่อผลประโยชน์ให้ตีความเป็นไปอย่างที่ต้องการ

การใช้กฎหมายไม่เข้าใจกฎหมายหรือใช้กฎหมายแบบบิดเบี้ยวแล้วออกนอกกรอบของกฎหมาย แล้วอธิบายให้เข้าใจไม่ได้ มันก็ทำให้เกิดปัญหา

การบังคับใช้กฎหมาย กรณีพรก.ฉุกเฉิน เชิญตัวผู้ ต้องสงสัย ๓๐ วัน กับคำว่าเชิญตัวกับจับกุมตัว กับระยะเวลาพูดคุยกัน เพื่อให้เกิดการพูดคุยกันอย่างฉันท์เพื่อน เพื่อให้รู้ว่ามีเหตุผลอย่างไร ไม่ใช่เจตนาจะเอามารีดข้อมูล และให้ญาติเยี่ยมได้ในทันที แต่ทางปฏิบัติไม่ยอมให้เยี่ยมในทันที จึงเป็นเรื่องผิดกติกาสากล เมื่อคิดว่าเขาเป็นคนร้าย และต้องการรีดเอาข้อมูลจึงมีการละเมิดกฎหมาย ถูกซ้อมทำร้าย แต่เมื่อถูกปล่อยตัวมาแล้วเขาให้อภัยและต้องการเพียงแค่ว่าอย่าไปทำกับคน อื่นอีก

เด็กราชภัฎยะลาที่ถูกซ้อมทรมาน มีหลายวิธี ถูกซ้อมแล้วไม่มีบาดแผลแต่เจ็บปวดอยู่ข้างใน เอาเข็มแทงที่ซอกเล็บ แทงแล้วแทงอีก เด็กเล่าอยากให้คนทำเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าพวกเราไม่รับความเจ็บปวดของคนอื่นเราจะไม่รู้ว่าเพื่อนร่วมแผ่นดินเจ็บ ปวดและทุกข์อย่างไร เด็กในโรงเรียนปอเนาะถูกบังคับคว่ำหน้า ก็พูดกันไปทั่ว แต่ภาพเชิงบวกของรัฐซึ่งมีมาก แต่ประชาชนไม่ค่อยพูด รัฐจะประชาสัมพันธ์เองว่าทำดีอย่างโน้นอย่างนี้ก็พูดลำบาก (เพราะจะเป็นการ Make picture อิอิ สร้างภาพไง….) ความน่าเชื่อถือจะเกิดขึ้นหากประชาชนเป็นคนพูด

ขณะนี้คิดว่า สันติวิธี กับความมั่นคง และกระบวนการยุติธรรม ต้องอยู่ด้วยกัน ไม่ใช่อยู่เพียงแค่สองอย่าง

ความขัดแย้งไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ต้องมาจากความเป็นจริง มีการขับเคลื่อนมาทำให้การแก้ไขประสบผลสำเร็จ กระบวนการยุติธรรมจึงต้องเข้ามาร่วมดำเนินการด้วย

ขอต่ออีกตอนเหอะนะครับ เพราะอย่างที่บอก ผมบันทึกของพี่แจ๋ได้ค่อนข้างจะสมบูรณ์ และตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงมีเยอะ จะน่าเสียดายหากจะสรุปย่อแล้วไม่มีกรณีตัวอย่างจริงเพราะจะทำให้อรรถรสในการ เรียนรู้ขาดหายไปครับ….

« « Prev : ๑๘. สันติวิธีกับความมั่นคงแห่งชาติในมิติใหม่

Next : ๒๐. สันติวิธีกับความมั่นคงแห่งชาติในมิติใหม่ ๓ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1380 ความคิดเห็น