Karma Therapy: ๑.คุณอยู่ลัทธิไหน?

โดย Nothing เมื่อ 2 October 2009 เวลา 3:53 pm ในหมวดหมู่ ธรรมะ #
อ่าน: 2222

ต้องยอมรับว่าคนไทยเรานี่เก่งจริงๆ  ไม่ว่ามีเรื่องอะไรเป็นข่าวดังขึ้นมา  เป็นต้องมีผู้มีความสามารถแต่งหนังสือแสดงปูมรู้ของตัวเองสลอนไปหมด  ไม่รู้อยู่อย่างเดียวว่าอะไรเป็นสัมมาทิฏฐิ อะไรเป็นมิจฉาทิฏฐิ

เรื่องอื่นไม่ว่าแต่ถ้ามาบิดเบือนพุทธศาสนา  ผมถือว่าเป็นหน้าที่ชาวพุทธอย่างผมที่จะต้องออกมาปกป้องอย่างเต็มกำลังของตน

แม้ตระหนักและเจียมตัวอยู่เสมอว่าตัวเองมีความรู้แค่ปลายก้อย  แต่ก็ต้องยอมเจ็บตัวที่จะต้องออกมาท้วงติง ตักเตือน และนำเสนอสิ่งที่ตนเองคิดว่าถูกต้อง  เปรียบเสมือนชาวบ้านธรรมดาที่ประเทศอันเป็นที่รักและหวงแหนของตนเข้าสู่ภาวะสงคราม ทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีความรู้ความสามารถด้านการรบ แต่เมื่อศัตรูเข้ามาอยู่ประชิดตัว พร้อมที่จะทำร้ายทำลายประเทศของเราให้ย่อยยับ เป็นอยู่เองที่เราจะต้องจับจอบจับเสียมขึ้นมาต่อสู้ เพื่อป้องกันผืนแผ่นดินเพื่อให้อยู่คู่กับตนเองและลูกหลานตราบนานเท่านาน

ผมก็หนึ่งในชาวบ้านเหล่านั้นแหละครับ

เรื่องกรรมนี้เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาต่างหรือเด่น ออกมาจากศาสนาอื่น  ถ้าชาวพุทธเราไม่เข้าใจ ไม่เอาใจใส่ ไม่ศึกษาเรื่องนี้ และปล่อยปละละเลยให้ความเข้าใจเรื่องเหล่านี้เป็นไปตามกิเลสของแต่ละคน ก็ไม่จำเป็นที่จะมีพระพุทธศาสนาอีกต่อไป…ให้เสียของ

ผมตั้งใจจะชวนคุยเรื่องกรรม-นี้ยาวๆ สักครั้งให้สมชื่อของบล็อก(ใครกันหนอที่ช่วยเปลี่ยนชื่อให้ รับกรรม(ดี)ไปเต็มๆ แล้วกัน อิอิ)  ต้องออกตัวก่อนว่าความรู้เรื่องนี้ของผมก็น้อยเช่นกัน  แต่อาศัยว่ามีหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้อ่านพอสมควร  ถือว่าเราศึกษาไปพร้อมๆ กัน  มีเรื่องไหนน่าสนใจผมก็จะเอามาเล่าให้ฟังตามสไตล์ของตัวเอง  ย้ำอีกครั้งครับว่าเมื่อตัวผมเองยังโง่อยู่เยอะสิ่งที่นำเสนอออกมาก็ย่อมมีข้อผิดพลาดมากมายอย่างมิต้องสงสัย  ก็หวังว่ากัลยาณมิตรทั้งหลายที่จรเข้ามาคงเข้าใจ ให้อภัยและพร้อมชี้แนะด้วยความรักและหวังดี

หลายวันก่อนผมเข้าร้านหนังสือแล้วเจอหนังสือเล่มหนึ่งมีชื่อว่า Karma Therapy(กรรมบำบัด) แหมตั้งชื่อได้จุกและโดนใจนัก ผมไม่รู้ว่าเนื้อหาเป็นเช่นไร แต่ก็พอเดาออกว่าไปในแนวไหน(ก็บอกแล้วว่าเรื่องทำนองนี้คนไทยน่ะเก่งนัก)  ผมเลยขอยืมชื่อมาใช้ แต่ผมให้ความหมายว่าเป็นการเอาความหมายที่แท้จริงของกรรม มานวด มาคลึง มาอบ ให้คลายโมหะจากเรื่องเหล่านี้กัน

เอาล่ะ เกริ่นมามากพอแล้ว เข้าเรื่องสักที

ในสมัยพุทธกาลก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  ได้มีความเชื่อเรื่องกรรมต่างๆ นานา ตามแต่ลัทธิของตนๆ  พระพุทธองค์ได้ทรงจำแนกลัทธิกรรมเหล่านี้เป็นสามลัทธิใหญ่ๆ ด้วยกัน ดังพุทธดำรัสที่ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ลัทธิเดียรถีย์ ๓ ลัทธิเหล่านี้ ถูกบัณฑิตไต่ถามซักไซร้ไล่เลียงเข้า ย่อมอ้างการถือสืบๆ กันมา ดำรงอยู่ในอกริยา(การไม่กระทำ) คือ
๑. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า  สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเพราะกรรมที่กระทำในปางก่อน (ปุพเพกตเหตุ, เรียกว่า ปุพเพกตวาท)
๒. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า  สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า (อิสสรนิมมานเหตุ, เรียกว่า อิศวรนิรมิตวาท)
๓. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า  สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้นล้วนหาเหตุหาปัจจัยมิได้ (อเหตุอปัจจยะ, เรียกว่า อเหตุวาท)

อ่านแล้วลองจัดตัวเองดูนะครับว่าเราอยู่ในลัทธิไหน ไม่ว่าคำตอบจะเป็นข้อไหนก็ไม่ใช่หลักกรรมของพระพุทธศาสนาทั้ง ๓ ข้อแหละครับ

เหตุใดที่ทั้ง ๓ ลัทธิถึงขัดกับหลักพระพุทธศาสนา  ก็เพราะพระพุทธองค์ทรงบอกว่ามันเป็นการดำรงอยู่ในอกริยา คือการไม่กระทำ ไม่ก่อให้เกิดฉันทะ ไม่ก่อให้เกิดความเพียรในการกระทำ เพราะมัวแต่รอการดลบันดาล มัวแต่รอให้กรรมเก่าหมด ไม่ทำกรรมใหม่ ฯลฯ ซึ่งขัดกับหลักพระพุทธศาสนาที่เป็นศาสนาแห่งการกระทำ การปฏิบัติ

พระพุทธศาสนาไม่ปฏิเสธกรรมเก่า แต่ให้ถือว่ากรรมเก่าใช้เป็นบทเรียนในการทำกรรมใหม่ และให้ความสำคัญกับกรรมในปัจจุบันขณะมากที่สุด เพราะเราไปแก้กรรมเก่าไม่ได้ ปัจจุบันเป็นผลของกรรมเก่า และอนาคตก็เป็นผลของกรรมปัจจุบันเช่นกัน ทางแก้ทางเดียวก็คือทำกรรมปัจจุบันให้ถูกต้องเท่านั้น

ทีนี้เรามาดูพุทธพจน์อีกแห่งหนึ่งที่ตรัสถึงกรรมและการแก้กรรมไว้ได้กระชับและชัดเจนว่า
กรรมเก่าคืออะไร? จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน นี้ชื่อว่ากรรมเก่า;
อะไรชื่อว่ากรรมใหม่? การกระทำที่เราทำอยู่ในบัดนี้ นี่แหละชื่อว่ากรรมใหม่;
อะไรคือความดับกรรม? บุคคลสัมผัสวิมุตติ เพราะความดับแห่งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม นั้นชื่อว่าความดับกรรม;
อะไรเป็นทางดับกรรม? มรรคมีองค์ ๘ ประการ อันประเสริฐ คือ สัมมาทิฏฐิเป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นปริโยสาน นี้เรียกว่าทางดับกรรม”

ชัดไหมครับว่ากรรมคืออะไรและเราจะแก้กรรมได้อย่างไร  ใครที่ไม่เข้าใจหลักกรรมและดับกรรมในทางที่พระพุทธองค์ทรงสอนนี้  อย่าไปบอกใครเขาเชียวว่าเราเป็นชาวพุทธ เพราะถ้าเกิดเขาถามเรื่องนี้แล้วตอบเขาไม่ถูก หรือตอบเข้าทางลัทธิอื่น…เดี๋ยวจะอายเขานะจ๊ะ

กรรมสวัสดีครับ

« « Prev : สแกนกำ

Next : เซเว่น…กูไม่เชื่อมึงครับ! » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

13 ความคิดเห็น

  • #1 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 October 2009 เวลา 6:41 pm

    โห แปะไว้ก่อนนะคะ ขอลุยงานด่วนเฉพาะหน้าก่อน แล้วจะมาใหม่แน่นอน !

  • #2 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 3 October 2009 เวลา 2:03 pm

    ตอบความเห็นก่อนว่าไม่อยู่ลัทธิไหนสักอย่าง อิอิอิ
    กรรมเป็นเรื่องละเอียด มีที่มาที่ไปมากมาย อ่านบันทุกนี้แล้วนึกถึงกรรมทีปนี (กรรม 12อย่าง) เพราะเรามักเข้าใจเรื่องกรรมกันแค่เป็นผลของอดีต เลยเอามาฝากไว้ก่อนเผื่อคุณทำอาวุธจะอรรถาธิบายต่อ

    1. กรรมพาให้เกิด (ชนกกรรม) อธิบายความก็คือ คนเรามาเกิดก็ด้วยเหตุปัจจัยในอดีตชาติที่สะสมไว้ อันเป็นพลังอำนาจของกรรมจึงเรียกว่ากรรมพาให้เกิด

    2. กรรมสนับสนุน (อุปัตถัมภกรรม) กรรมนี้มีทั้งสนับสนุนกรรมฝ่ายดีให้ดียิ่งขึ้น (ถ้าทำดี) และสนับสนุนกรรมฝ่ายชั่วให้ชั่วยิ่งขึ้น จึงเรียกว่ากรรมสนับสนุนซึ่งขึ้นอยู่กับ”ผู้กระทำ”เป็นสำคัญว่าสร้างไว้ในทางใด

    3. กรรมเบียดเบียน (อุปปีฬกรรม) เป็นกรรมที่เบียดเบียนกรรมที่กำลังให้ผล ซึ่งจะเป็นในทางตรงข้าม เช่นพระสงฆ์ผู้เป็นที่นับหน้าถือตา ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องลาสิกขา เพราะกรรมเบียดเบียนทำให้ไม่สามารถบรรลุธรรมดังหวัง กรรมเบียดเบียนนี้มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดีและจะค่อย ๆ เกิด ซึ่งส่งผลกับชีวิตได้มากค่ะ

    4. กรรมตัดรอน (อุปฆาตกรรม หรืออุปเฉทกรรม) เด็ดขาดมากกว่ากรรมเบียดเบียน เพราะทำหน้าที่”ฆ่า”กรรมอื่นให้สิ้นสุดลงทันที มีผลทั้งทางดีและทางชั่วเช่นกัน อย่างพระเจ้าอชาตศัตรูที่ฆ่าพ่อซึ่งถือเป็นกรรมหนัก แม้ภายหลังจะทำนุบำรุงศาสนามากมายแต่ก็ตกนรกถึง 60,000 ปี หรือคนจนถูกรางวัลที่หนึ่งก็เข้าข่ายนะคะ

    5. กรรมหนัก (ครุกรรม) มี 5 อย่างเรียกว่าอนัตริยกรรม ที่ไม่ว่าจะทำกรรมดีอย่างไรก็ต้องโดน! คือ สังฆเภท โลหิตปาท อรหันตฆาต มาตุฆาต และ ปิตุฆาต

    อีก 7 คุณทำมาวุธช่วยต่อหน่อยค่ะ ขี้เกียจพิมพ์ อิอิอิ

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 3 October 2009 เวลา 5:34 pm

    สำหรับท่านที่มุ่งลงละเอียดเรื่องการดำรงตนให้หลีกเลี่ยงละเว้นการกระทำกรรมไม่ดี และท่านที่สนใจศึกษาเรื่องกรรมและมุ่งสร้างกรรมดีนับว่ามีประโยชน์นัก

  • #4 จอมป่วน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 3 October 2009 เวลา 11:05 pm

    อยู่ลัทธิสับสน  เลยไม่อยากไปว่าคนอื่น  แต่อย่างว่านะครับ  บางครั้งมันก็คันๆ  อิอิ

  • #5 nothing ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 October 2009 เวลา 1:10 am

    คุณเบิร์ดชอบแปะครับ
    ผมขอแปะมั่ง เพราะไม่เคยศึกษาเรื่องกรรมทีปนี เคยได้ยินไม่ถึงครึ่ง ขอเวลาคุ้ยแป๊บครับ
    ก็บอกแล้วว่ามีแค่จอบกับเสียม….ไง

  • #6 nothing ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 October 2009 เวลา 1:14 am

    พี่บางทรายครับ
    ในทางพุทธศาสนาเราท่านให้มุ่งละกรรมชั่ว ทำกรรมดี และทำกรรมที่ให้จิตใจผ่องแผ้ว
    จริงๆ แล้วปัจจุบันแค่ละกรรมชั่วก็ดีมากแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าคนเราแยกไม่ออกน่ะซิครับว่าอันไหนชั่วอันไหนดี
    อันไหนควรละ ไม่ควรละ เห็นชั่วเป็นดี เห็นดีเป็นชั่ว นี่แหละปัญหาใหญ่

    ยินดีและขอบคุณที่มาเยี่ยมครับ ผมชวนคุยเรื่องนี้คิดว่าคงต้องคุยกับคุณเบิร์ดแค่สองคนแหงมๆ
    ได้พี่มาชวนคุยอีกคนถือว่าทะลุเป้าครับ อิอิ

  • #7 nothing ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 October 2009 เวลา 1:16 am

    คุณหมอจอมป่วนครับ
    แสดงว่าเราอยู่ลัทธิเดียวกันครับ ผมก็สับสนเหมือนกันแหละ
    ปัญหาคือผมไม่ได้คันแค่ปาก ผมคันมือด้วย อิอิ

    ธรรมสวัสดีครับ

  • #8 nothing ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 October 2009 เวลา 12:21 am

    คุณเบิร์ดจอมแปะครับ (คล้องกับหมอจอมป่วนดี อิอิ)
    หลังจากศึกษามานิดหน่อย เรื่องกรรมทีปนีนี้น่าสนใจมาก ผมขอตอบแบบสั้นๆ ก่อน คิดว่าคงต้องเอาเรื่องนี้มาคุยเป็นหัวข้อใหญ่น่าจะดี และทีเด็ดจะอยู่ที่ตัวอย่างประกอบ ขอนึกตัวอย่างสนุกๆ สักพักก่อนนะครับ

    ๖. อาจิณณกรรม หรือ พหุลกรรม - กรรมที่ทำจนเคยชิน หรือทำมาก ทำสม่ำเสมอ กรรมนี้จะให้ผมยั่งยืนมาก
    ๗. อาสันนกรรม - กรรมที่บุคคลทำเมื่อจวนสิ้นชีวิต มีอานุภาพให้บุคคลไปสู่สุคติหรือทุคติได้ ถ้าเขาหน่วงเอากรรมนั้นเป็นอารมณ์เมื่อจวนตาย (ถ้าคิดไม่ผิด พระไพศาล วิสาโล จะเน้นเรื่องนี้มากนะครับ)
    ๘. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม - กรรมสักแต่ว่าทำ คือ ทำโดยไม่เจตนา (เรื่องนี้น่าสนใจมาก เพราะก่อนหน้านี้เราคุยกันว่าการกระทำอันมีเจตนาเป็นกรรม แต่นี่ไหงไม่เจตนาก็เป็นกรรมได้น้า)  
    ๙. ทิฏธัมมเวทนียกรรม - กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน
    ๑๐. อุปัชชเวทนียกรรม - กรรมที่ให้ผลในชาติต่อไปถัดจากชาติปัจจุบัน
    ๑๑. อปราปรเวทนียกรรม - กรรมที่ให้ผลหลังจากอุปัชชเวทนียกรรม คือ ให้ผลเรื่อยไป สบโอกาสเมื่อใด ให้ผลเมื่อนั้น
    ๑๒. อโหสิกรรม - กรรมที่ไม่ให้ผล เลิกแล้วต่อกัน

    แค่เรื่องกรรมเรื่องเดียวก็มีรายละเอียดเยอะมากเลย ชักสนุกแฮะ ไหงตอนเด็กๆ ไม่มีใครสอนเราบ้างเลยเนี่ย งึ่มๆ

  • #9 นักการหนิง ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 October 2009 เวลา 3:08 pm

    ขออีกค่ะ จะได้หายงง และเง็ง

  • #10 nothing ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 October 2009 เวลา 8:05 pm

    สวัสดีีครับคุณหนิง

    ต้องรออีกสักแป๊บครับ  เรื่องที่จะเขียนมีในหัวแล้วครับ คุณเบิร์ดเปิดประเด็นไว้ให้แล้ว
    ขอจัดการงานด่วนก่อนแป๊บนึงครับ

  • #11 นักการหนิง ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 October 2009 เวลา 11:27 am

    แปะอีกแล้วครับท่าน

    ปุจฉา   กรรมกับอิทัปปัจยตา นี่เรื่องเดียวกันไหม  แตกต่างกันอย่างไร  บังเอิญวันก่อนอ่านหนังสือ ความสุข ของมาติเยอ ริการ์  สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา  พบคำว่า กฎแห่งเหตุปัจจัย  ก็ให้เกิดความสงสัย  สงสัยนี่สงสัยจริงๆ นะคะ เพราะกำลังเริ่มศึกษาธรรมมะและตามดูจิตค่ะ  จะได้นำไปต่อยอดปัญญาัอันน้อยนิดต่อ ต่อ ต่อไปอีก  ขอบคุณนะคะ ไม่ใช่นักการหนิงขี้เกียจค้นคว้านะ  แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจอะไรดีนัก

    และการเปิดประเด็นอย่างนี้เป็นกรรมด้วยหรือเปล่า

  • #12 Nothing ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 October 2009 เวลา 12:15 pm

    ฮั่นแน่ คุณนักการหนิงถามได้โดนมากเลยครับ

    ขอบอกก่อน(และจะย้ำไปเรื่อยๆ)นะครับว่าผมนั้นความรู้เรื่องธรรมะไม่ต่าง(หรืออาจน้อยกว่าเสียด้วยซ้ำ)จากนักการหนิงหรอกครับ  เพียงแต่ความอดทนต่ำเท่านั้น จึงมาร้องแรกแหกกระเชออยู่เนี่ยแหละครับ

    จริงๆ แล้วในใจก็กลัวว่าถ้ามีใครถามคำถามที่ตอบไม่ได้จะทำไงดีหว่า(แล้วตูจะไปถามใครเนี่ย) แต่ผมเชื่อว่าถ้าผมตอบไม่ได้คนในลาน(ซึ่งผมเชื่อว่ามีหลายคน)ที่มีความรู้สูงกว่าผมมากมายคงมาช่วยตอบครับ

    สำหรับคำถามที่ว่า กรรมกับอิทัปปัจจยตา นี่เรื่องเดียวกันไหม ขอบอกว่าผมสามารถหาคำตอบให้ได้ครับ(เย้ๆๆๆ) เพราะว่าได้ผ่านตาเรื่องนี้ในหนังสือมาแล้ว  แต่ติดนิสัยชอบแปะจากใครบางคน  ขอเวลาไปรื้อตำราสักแป๊บนะครับ อิอิ

    จากการสังเกตปุจฉาจากนักการหนิง กอปรกับที่บอกว่ากำลังตามดูจิตเนี่ย อยากตะโกนดังๆ ว่า ทางนี่แหละน่าเดินอย่างที่สุดครับ

    ธรรมสวัสดีครับ

  • #13 ลานกำ » Karma Therapy: ๒.กรรมกับอิทัปปัจยตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 October 2009 เวลา 3:59 pm

    [...] ผมได้รับคำถามจากคุณนักการหนิงจากบันทึกก่อนหน้านี้  ว่ากรรมกับอิทัปปัจจยตานั้นเรื่องเดียวกันหรือไม่ หรือต่างกันอย่างไร? [...]


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.24831008911133 sec
Sidebar: 0.051256895065308 sec