พุทธวจน

โดย Nothing เมื่อ 30 September 2010 เวลา 5:30 pm ในหมวดหมู่ ธรรมะ #
อ่าน: 2693

ภิกษุ ท.! พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้, สุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตรเป็นเรื่องแนวนอก เป็นคำกล่าวของสาวก เมื่อมีผู้นำสุตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.

ภิกษุ ท.! ส่วน สุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา,เมื่อ มีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟังย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียนจึงพากันเล่าเรียน ไต่ถาม ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า “ข้อนี้เป็นอย่างไร ? มีความหมายกี่นัย ? ” ดังนี้. ด้วยการทำดังนี้ เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้. ธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เธอก็ทำให้ปรากฏได้, ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัย เธอก็บรรเทาลงได้.

ภิกษุ ท.! ภิกษุบริษัทเหล่านี้ เราเรียกว่า บริษัทที่มีการลุล่วงไปได้ด้วยการสอบถามแก่กันและกันเอาเอง, หาใช่ด้วยการชี้แจงโดยกระจ่างของบุคคล ภายนอกเหล่าอื่นไม่; จัดเป็นบริษัทที่เลิศแล.

-ทุก. อํ. ๒๐/๙๒/๒๙๒

    

     ด้วยเหตุที่พระพุทธศาสนาของเรามีอายุยาวนาน ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว เราโชคดีที่มีพระไตรปิฏกที่เป็นเอกสารชิ้นเอก ช่วยเก็บคำสอนของพระพุทธองค์ให้ชนรุ่นหลังอย่างเราๆ ได้ศึกษา และได้รับผลอันประเสริฐตามความสามารถตามกรรมของแต่ละคนๆ

     แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่ว่า ในพระไตรปิฎกนั้นไม่ได้มีแต่พระพุทธพจน์(ซึ่งหมายถึงที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสจากพระโอษฐ์เอง และมาจากการอ้างจากสาวกองค์อื่นและพระพุทธเจ้ารับรอง)เท่านั้น เพราะมีการเพิ่มเติมพระไตรปิฏกเรื่อยมา ยิ่งนานขึ้นเท่าไรพระไตรปิฏกของเราก็หนาขึ้นเท่านั้น

     สิ่งที่เติมเข้ามาก็คงเป็นความหวังดีของสาวก(อรรถกถาจารย์)รุ่นหลัง ที่พยายามอธิบายคำสอนของพระพุทธองค์ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยนั้นๆ เพื่อที่คนรุ่นใหม่ๆ จะได้เข้าใจง่ายขึ้น ถึงแม้ว่าอรรถกถาจารย์นั้นๆ จะได้รับการรับรองจากหมู่สงฆ์สมัยนั้นๆ ว่าเป็นพระอรหันต์แล้วก็ตาม เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคำสอนของท่านถูกต้อง ไม่ต้องพูดถึงว่าท่านเป็นพระอรหันต์จริงหรือไม่ เพราะถึงท่านจะเป็นพระอรหันต์จริงก็ไม่จำเป็นว่าสิ่งที่ท่านสอนจะถูกต้องทั้งหมด

     เหตุผลเหล่านี้นี่เองที่ทำให้เนื้อหาในพระไตรปิฏกถึงได้มากมายและสลับซับซ้อนยิ่งนัก ยากที่จะเข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย จริงๆ แล้วจะยากหรือง่ายไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ปัญหาใหญ่ก็คือสิ่งที่เล่าเรียนและสาธยายกันนั้นส่วนใหญ่ไม่ใช่พุทธพจน์ เป็นแต่เพียงสิ่งที่แต่งขึ้นเพิ่มเติมจากสาวกรุ่นหลังเท่านั้น

     เมื่อปัญหาเป็นเช่นนี้ เราจะแก้ปัญหากันอย่างไร ในเมื่อศึกษากันแทบเป็นแทบตาย ปฏิบัติกันมากมาย แต่มารู้ทีหลังว่าสิ่งที่เข้าใจกันนั้นพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงรับรอง มีโอกาสตายเปล่าสูง

     ความเห็นของผมเองก็คือ เราต้องเข้าถึงพุทธพจน์(พุทธวจน) ให้ได้ เพื่อจะได้รู้ว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสสอนอะไร ยากอย่างที่คิดหรือไม่ ไม่เข้าใจตรงไหนแล้วค่อยพึ่งครูบาอาจารย์ และจะได้ตรวจสอบด้วยว่าสาวกรุ่นหลังสอนถูกหรือไม่ โอกาสตายเปล่าจะได้น้อยลง

     ทีนี้เราจะหาพุทธพจน์จริงๆ ได้จากที่ไหน จะให้ค้นคว้าเองก็คงลำบาก โชคดีที่เรามีแหล่งข้อมูลพุทธพจน์ถึงสองแห่งด้วยกันคือ
          ๑). หนังสือชุดจากพระโอษฐ์ของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ซึ่งท่านและคณะได้ใช้เวลาทำนานถึงกว่า ๒๐ ปี สามารถสั่งซื้อโดยตรงได้จากสวนโมกข์ หรือ จากธรรมสภา
          ๒). หนังสือที่แก้ไขชุดจากพระโอษฐ์ของท่านอาจารย์พุทธทาส และรวบรวมเพิ่มเติมอีกมากมาย จากพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล และคณะวัดนาป่าพง ซึ่งต้องไปรับเองที่วัด หรือดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของวัดโดยตรง

     มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านอาจาย์พุทธทาสได้พูดว่าพระไตรปิฏกนั้นฉีกทิ้งสังหนึ่งในสามส่วนก็ได้ ยิ่งพระอภิธรรมนั้นไม่ต้องสนใจเลยก็ได้ หลังพูดเสร็จก็เป็นเรื่อง ผู้คงแก่เรียนทั้งหลายก็โจมตีท่านใหญ่ ทำนองว่าไม่เคารพพระไตรปิฎก หรือบ้างก็ว่าท่านเป็นคอมมิวนิสต์เข้ามาทำลายพระพุทธศาสนาบ้าง(นี่ไม่นับรวมปาฐกถาอันลือลั่นเรื่อง “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม” อันลือลั่นนะครับ) และไม่ได้พูดเปล่า ท่านอาจารย์พุทธทาสก็ได้ผลิตงานอันทรงคุณค่าไว้ด้วยคือ หนังสือในชุดจากพระโอษฐ์ อันประกอบด้วย:
   ๑). พุทธประวัติจากพระโอษฐ์
   ๒). อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น
   ๓). อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคปลาย
   ๔). ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์
   ๕). ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์

     นับแต่ท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นต้นมา ก็ได้ยินเรื่องนี้อีกครั้งจากพระอาจารย์คึกฤทธิ์ ท่านและคณะทำงานอย่างมุ่งมั่น เพื่อที่จะคัดแยกพุทธวจนแท้ๆ แยกออกมาจากพระไตรปิฎก ซึ่งจากที่ได้ติดตามมา พอจะทราบได้ว่าใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว

     ปัญหาในการทำงานด้านนี้ ใช่ว่าท่านอาจารย์พุทธทาสเท่านั้นที่ถูกโจมตี ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน(ที่เห็นได้ชัดคือที่วัดถูกขับจากสาขาหนึ่งของวัดหนองป่าพง) แต่เพื่องธำรงไว้ซึ่งพุทธธรรมที่แท้ท่านเหล่านี้ก็ไม่ย่อท้อ กาลเวลาและผลแห่งการกรรมเท่านั้นที่เป็นเครื่องพิสูจน์

     ที่เขียนมานี้ผมไม่ได้มุ่งที่จะถกเถียงหรือแสดงภูมิรู้อะไร เพราะรู้(ด้วยตัวเอง)อยู่ว่ายังโง่อยู่มาก เป็นก็แต่เพียงผู้ที่พยายามเดินตามรอยบาทแห่งพระพุทธองค์ และเป็นผู้หนึ่งที่ไม่อยากรู้ความจริงว่าสุดท้ายแล้วเราตามผิดคนและผิดทางครับ

« « Prev : เล่นหัว และกาลเทศะ

Next : ความสุขเจ้าเอย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

18 ความคิดเห็น

  • #1 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 September 2010 เวลา 7:18 pm

    บริษัทที่มีการลุล่วงไปได้ด้วยการสอบถามแก่กันและกันเอาเอง

    เมื่อเป็นเช่นนี้ก็สบอารมณ์ยิ่ง ^ ^

    เบิร์ดอ่านพระไตรปิฎกเฉพาะส่วนที่สนใจ ซึ่งเหมือนตำราตอบคำถามบางอย่าง แต่ไม่ค้นคว้าลึกมากมาย ยอมรับว่าฉบับประชาชนอ่านง่ายที่สุด และแปลกใจว่าทำไมพระไตรปิฎกถึงมีตั้ง 45 เล่ม 3 หมวดคือพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม (มันยาวและเยอะ)

    ประเด็นจึงอยู่ที่พระพุทธองค์ตรัสหลักธรรมไว้สั้นๆลึกซึ้ง ซึ่งการตีความเป็นเรื่องที่พึ่งความสามารถในการจับประเด็นสูงมาก รวมทั้งการถ่ายทอดด้วย

    การชำระพระไตรปิฎกจึงกระทำเป็นหมู่คณะ เพื่อฉันทามติและไต่ถามกันและกัน (อันนี้วาดภาพเองว่าการเก็บตัวเพื่อชำระพระไตรปิฎกเป็นเรื่องใหญ่ และคงไม่ใช่่พูดองค์เดียวแล้วที่เหลือพยักหน้า) แน่นอนว่าการขยายความย่อมเกิดขึ้นได้เพื่อให้คนอ่านเข้าใจมากขึ้น (จากจับประเด็นสำคัญ ก็กลายเป็นมีส่วนขยายและพลความเข้ามา)

    ส่วนขยายและพลความกลายเป็นส่วนที่เข้าใจได้ง่ายกว่าพุทธพจน์เดิม (จริงหรือ?) จึงเข้าถึงคนจำนวนมากขึ้น (แต่ที่จริงพระไตรปิฎกเก็บอยู่ในตู้ในวัดหรือห้องสมุดมากกว่ามีการหยิบอ่านอย่างจริงจัง) …แล้วส่วนขยายนี้เป็นส่วนที่ควรเชื่อถือหรือไม่? ซึ่งคุณทำอาวุธพูดเป็นนัยว่าอาจผิดก็ไ้ด้ จึงควรยึดพุทธพจน์มากกว่า

    เอาล่ะมาถึงการไต่ถามแล้วล่ะ่ค่ะ ว่าองค์ที่ค้นคว้าพุทธพจน์นั้น ท่านเชื่อถือได้มากกว่าองค์ที่ร่วมชำระพระไตรปิฎกหรือ? (ดักคอก่อนว่า อย่าตอบว่าเชื่อถือได้เพราะเป็นท่านพุทธทาสนะคะ จะกัดหูเลยเพราะมันง่ายไป ขะหมองไม่ได้ลับเท่าที่ควร ^ ^)

    ลากหมอนมานอนรอคำตอบด้วยความสบายใจ ประหนึ่งอยู่ในบ้านตัวเอง อิอิอิ

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 September 2010 เวลา 8:45 pm

    วันนี้ขับรถจากมุกดาหารมาขอนแก่น เปิดฟังพระเทศน์มาตลอด ท่านเทศน์เรื่องคนถ่อย…ซึ่งมี 20 ประเภท ดีมากเลย เมื่อไม่ได้อ่านประไตรปิฎก แค่ฟังพระท่านเทศน์ซึ่งท่านอ้างอิงพระไตรปิฎก ก็บุญหูมากเลย

    วิทยุที่มีการเทศน์มีมากนะครับเดี๋ยวนี้ ตั้งแต่พระอาจารย์หลวงตามหาบัวไปจนพระอาจารย์อื่นๆ เลยคิดไปว่า ตำราทางโลกมากมายที่เรียนกันไม่จบนั้น หากเราคัดเอาพระไตรปิฎกมาเรียนมาค้นคว้ากันบ้างก็น่าจะช่วยให้ธรรมซึมซาบเข้าสมอง เข้าจิตบ้างนะครับ

  • #3 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 September 2010 เวลา 9:07 pm

    สงสัยจะเป็นวสลสูตรที่ 7มั้งครับ — ค้นคำว่าคนถ่อย ในพระไตรปิฎกออนไลน์

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 September 2010 เวลา 9:21 pm

    ใช่แล้วครับ คอน ขอบคุณมาก

    พระอาจารย์ เล่าเรื่องพระอรหันต์องค์หนึ่ง ชื่อจำยากจริงๆ ท่านมีชาติปางก่อนเกี่ยวกับคำว่าถ่อยมานาน จนติดมาถึงชาติที่ท่านสำเร็จเป็นอรหันต์ แต่ก็ยังเรียกคนอื่นว่าคนถ่อย พระท่านเล่าว่า พบพราหมณ์ เอาดีปรีใส่กระจาดมาเต็มเลย พระท่านก็ถามว่า คนถ่อย ในกระจาดของท่นนั้นคืออะไร พราหมณ์โกรธที่ถูกเรียกว่าคนถ่อย จึงตอบพระท่านไปว่า ในกระจาดข้าฯคือขี้หนูพระเจ้าข้า… เมื่อผ่านไป ปรากฎว่าในกระจาดพราหมณ์นั้น ดีปลีทั้งหมดกลายเป็นขี้หนูไปหมดเลย ไปดูที่เกวียนทั้งหมดดีปรีก็กลายเป็นขี้หนูไปหมด… พราหมณ์ไปฟ้องพระองค์อื่น พระองค์นั้นรู้จักพระอรหันต์องค์นั้นดีจึงแนะนำพราหมร์ใหม่ว่า ให้เอาขี้หนูใส่กระจาดเหมือนเดิม แล้วให้เดินผ่านหน้าพระอรหันต์องค์นั้นใหม่ เมื่อทำตาม พระอรหันตืก็ถามอีก คนถ่อย ในกระจาดของเจ้าคืออะไร คราวนี้พราหมณ์ตอบว่า ในกระจาดของข้าคือ ดีปลี พระเจ้าข้า.. แล้วขี้หนูทั้งหมดก็กลายเป็นดีปลีคืนเดิม…

    พระองค์ที่เทศน์วกกลับมาที่คำว่าคนถ่อย แล้วหยิบเอาคำอธิบายในพระไตรปิฎกที่ คอนเอามาให้ดูนั้นมาอธิบายขยายความ ดีมากเลยครับ..

  • #5 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 September 2010 เวลา 9:52 pm

    สงสัยว่าจะมาตรงนี้ครับ

    อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๓ อรรถกถาสูตรที่ ๗ ประวัติพระปิลินทวัจฉเถระ เป็นเอตทัคคะ

    อรรถกถาเป็นส่วนที่ธรรมาจารย์ให้อรรถาธิบายเอาไว้ มักมีเกร็ดของเรื่องซึ่งไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎก แต่ว่านักศึกษาพระไตรปิฎกแยกแยะได้ครับ วัตถุประสงค์หลักเป็นการอธิบายบาลี

    เรื่อง #4 นี้ ค้นคำว่าขี้หนู จาก http://84000.org/ นะครับ ค้นในพระไตรปิฎกไม่เจอ ก็มาค้นในอรรถกถาต่อ

  • #6 Nothing ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 September 2010 เวลา 11:45 pm

    คุณเบิร์ดครับ

    ว่าแล้วว่าตอนเดินลดพุงอยู่ ทำไมเจ็บคอจัง อ้อ โดนดักคอนี่เอง

    ตอนแรกว่าจะเอาพุทธพจน์มาวางไว้ แล้ววิ่งหนีเหมือนครั้งก่อนๆ น่าจะปลอดภัย แต่เปลี่ยนใจชวนคุยด้วยดีกว่า…ไม่แสดงความโง่ออกมาบ้าง แล้วใครจะเห็นความโง่ของเราล่ะ อิอิ

    ผมเคยเห็นบางโรงแรมเขามีพระคัมภีร์ของศาสนาหนี่งวางไว้ให้อ่านในห้อง(อย่าบังอาจเดาว่าไปทำอะไรในโรงแรม ซึ่งไปไม่บ่อยนัก) เคยเห็นร้านหนังสือบางแห่ง บางโอกาส ก็วางพระคัมภีร์ให้ขอฟรี(ส่วนขั้นตอนการขอนั้นไม่ทราบครับ) ทำให้นึกถึงว่าพุทธศาสนาก็มีคัมภีร์ของเราเหมือนกัน แต่ไหงมันดันไปอยู่ในตู้ประหนึ่งตำราหมัดมวยขั้นสุดยอดในหนังจีนกำลังภายใน หรือไม่ก็เป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่ไว้บูชา ห้ามแตะต้องถ้าตบะไม่แก่กล้าจริง เหตุนี้กระมังครับที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้าใกล้พระไตรปิฏก

    ก็หวังว่าสักวันหนึ่งพระไตรปิฏกของเราจะเข้าไปอยู่ในห้องในโรงแรมบ้าง ผมเชื่อว่าคำสอนที่สาวกทั้งหลายอุตส่าห์ท่องจำกันมา แล้วรวบรวมมาเป็นตัวอักษร มีไว้ให้ศึกษา ไม่ใช้ไว้บูชาในตู้ครับ

    ผมเคยได้ยินมาว่าการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งหนึ่ง(ไม่แน่ใจว่าครั้งที่ ๓ หรือไม่) ใช้พระสงฆ์เป็นพันองค์ และใช้เวลาประมาณเจ็ดเดือน ผมก็ลองจินตนาการเล่นๆ ว่าการใช้จำนวนพระและเวลาที่มากขนาดนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และคงจะซักซ้อม ไต่ถาม ถกเถียง กันอย่างขะมักเขม้นทีเดียว กว่าจะชำระกันเสร็จ ผลงานที่ได้มาคงหาความผิดพลาดยาก

    จริงๆ แล้ว(ตอนนี้)ผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับพระไตรปิฏกหรอกครับ แต่ปัญหาที่อยากนำเสนอก็คือ เมื่อพระไตรปิฏกมีตั้งหลายเล่ม และเรารู้ว่าทั้งหมดไม่ใช่มาจากพุทธโอษฐ์เพียงอย่างเดียว สำหรับพระที่คงแก่เรียนท่านคงไม่มีปัญหา(แต่อาจมีปัญหาอย่างอื่น) แล้วคนธรรมดาอย่างผมจะทำอย่างไรถึงจะได้สัมผัสพุทธวจนะจริงๆ

    เวลาพูดถึงพระไตรปิฏกผมไม่รู้ว่าคนอื่นนึกถึงอะไร(คุณเบิร์ดนึกถึงอะไรครับ?) แต่สำหรับผมนึกถึงพระพุทธเจ้าครับ เวลาพระหรือใครสอนแล้วอ้างว่ามาจากพระไตรปิฎก ผมก็จะเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าสอน แล้วนั่งทำตาลอยๆ เชื่อตามที่ท่านสอน ไม่เคยมีความคิดจะตรวจสอบ ลืมหลักกาลามสูตรเสียสิ้นในบัดดล ซึ่งผมคิดว่ายังไม่พอ ต้องแยกให้เราเห็นว่ามาจากพระโอษฐ์หรือไม่ ถ้าเป็นของอรรถกถาจารย์ก็ต้องบอกว่ามาจากอรรถกถาจารย์ ไม่ใช่ตีขลุมบอกว่ามาจากพระไตรปิฎกอย่างเดียว

    ยกตัวอย่างง่ายๆ ครับ ซึ่งตอนนี้ผมก็ยังสงสัยอยู่(มิรู้คลาย) เช่นเรื่อง อานาปานสติ ในอานาปานสติสูตร บางท่านก็แบ่งเป็น ๑๖ ขั้น บางท่านก็บอกว่าแค่รู้ลมที่ปลายจมูกไปเรื่อยๆ บางท่านบอกว่าต้องบริกรรม บางท่านบอกว่าไม่ต้องบริกรรมเพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้สอน บ้างก็ว่าไม่ควรรฝึกอานาปานสติเพราะเราคนเมืองหาเวลาและสถานที่ทำความสงบยาก บ้างก็ว่าเป็นวิธีการของมหาบุรุษ บ้างก็แย้งว่าถ้าเป็นของมหาบุรุษจริงพระองค์จะทรงสอนไว้เป็นพระสูตรใหญ่และบอกว่าทำให้มากทำไม บ้างก็บอกทำแบบนั้นจะติดสมถะ ให้มาดูที่ท้องแทน บ้างก็ว่าอานาปานสติเหมาะกับคนส่วนใหญ่เพราะทรงบอกว่าเหมาะกับคนโมหะจริต ฯลฯ แค่นี้ผมก็จะอ้วกแล้วครับ

    มาพูดถึงบทสวดมนต์กันบ้าง ผมเชื่อว่าที่แต่งตำราขายกันนั้นเกือบทั้งหมดไม่แต่งขึ้นเองก็มีการปรับแต่งเพิ่มเติมจากพระไตรปิฏก และถ้าสอบสวนขี้นไปอายุคงสั้นได้คงไม่กี่ร้อยปี และสาวกในสมัยพุทธกาลคงไม่มีใครเคยได้ยิน ผมเคยได้ยินว่าพระพุทธเจ้า ว่างๆ พระองค์จะสวดสายปฏิจจสมุปบาท ผมพลิกๆ ดูในหนังสือบทสวดมนต์ที่เคยมีไม่ยักกะเจอ

    มาเรื่องการแปลพระไตรปีฏก ยกตัวอย่างง่ายๆ ก่อนหน้านี้(ไม่กี่นาที)ผมพยายามค้นหาคำว่า ปาปกะ จากโปรแกรมพระไตรปิฏกกที่ดาวน์โหลดมา ข้างในท่านบรรจุพระไตรปิฏกแปลสองฉบับ คือ ฉบับบาลีสยามรัฐ และฉบับมหามกุฎฯ (ซึ่งผมก็เพิ่งลองใช้ครั้งแรกนี่แหละครับ) ปรากฏว่า สืบค้นพบคำนี้ในฉบับบาลีสยามรัฐ ๑ คำตอบ ส่วนฉบับมหามกุฏฯ ๔ คำตอบ แค่นี้ผมก็เห็นความต่างแล้วครับ แต่ยังสรุปไม่ได้ เพราะผมยังรู้น้อย ไม่รู้ว่าท่านแปลมาจากแหล่งเดียวกันหรือไม่(หรือมีหลายแหล่ง?) แบ่งจำนวนเล่มต่างกันอย่างไร แต่ก็ได้กลิ่นความต่างกันแล้วล่ะครับ

    มาช่วงตอบคำถามดักคอ อิอิ
    ผมไม่ได้เปรียบเทียบระหว่างองค์ที่ค้นคว้าพระไตรปิฎกกับองค์ที่ร่วมชำระพระไตรปิฏกครับ ผมให้ความสำคัญและนับถือท่านเหล่านั้นไม่ต่างกัน
    แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า พระรุ่นหลังๆ ที่อ้างว่านำพระไตรปิฏกมาสอนนั้น เคยตรวจสอบหรือไม่ว่าจริงๆ แล้วมาจากส่วนไหนของพระไตรปิฏก หรือมาจากพระไตรปิฏกจริงหรือไม่ หรืออ้างจากที่เขาอ้างมาอีกที ส่วนองค์ที่ค้นคว้าท่านก็มีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกของท่าน ว่าอันไหนเป็นพุทธวจะ อันไหนไม่ใช่ เช่น ถ้าขึ้นต้นว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เป็นสรุปได้ว่าเป็นพุทธวจนะ อะไรทำนองนี้ครับ จะผิดจะถูกยังไงผมไม่ทราบ อย่างน้อยผมก็รู้สึกปลอดภัยขึ้นอีกนิด ว่าอย่างน้อยก็ได้เข้าเฝ้าใกล้พระพุทธเจ้าขึ้นอีกนิด

    ลองสังเกตดูซีครับ แต่ละสำนักสอนแทบไม่ตรงกัน ต่างก็อ้างว่าตัวเองสอนถูกตรง เดี๋ยวนี้มีหลายสำนัก หลายนิกาย อีรุงตุงนังไปหมด บางอย่างหลากหลายก็ดีอยู่ แต่บางอย่างก็ไม่ควรหลากหลาย

    จะดีไหมครับ ถ้าบรรดาพุทธบริษัทมาชวนกันพูดคุยกันเรื่องพุทธวจนะเป็นหลัก สงสัยก็ตรวจสอบว่ามาจากพระไตรปิฏกจริงหรือไม่ มาจากส่วนไหน และใครเป็นคนพูด ไม่เข้าใจก็เข้าหาอรรถกฐาจารย์ เข้าหาหลวงปู่หลวงตา

    เปรียบเหมือนที่เราดื่มน้ำ เราสอนให้รู้ว่าน้ำบริสุทธิ์มีลักษณะอย่างไร ตรวจสอบด้วยวิธีใด มีประโยชน์อย่างไร ทำให้เป็น เมื่อรู้แล้วใครอยากดื่มน้ำหวน น้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม ยาดอง ฉี่ นำอัดลม น้ำเมา ก็ตามสบาย จะได้ไม่ต้องมาอ้างเมื่อมีพิษต่อร่างกาย…ว่าหนูไม่รู้ อิอิ

    ไม่รู้ว่าตอบตรงคำถามหรือไม่ แต่มีโอกาสตอบไม่ตรงสูง เพราะตอนเรียนผ่านมาได้ด้วย(เกรด) D ครับ
    แต่ที่แน่ๆ ก็คือได้คุยในสิ่งที่อยากคุยแร้ววววววว หุหุ โฮ่งๆ

  • #7 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 October 2010 เวลา 12:06 am

    โห ใช่เลย คอน ใช่เลย สงสัยพี่จะมีเรื่องทำอีกแล้ว อยากศึกษาเรื่องเหล่านี้น่ะซี ขอบคุณครับ

  • #8 Nothing ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 October 2010 เวลา 12:09 am

    โห คุณพี่สองคนเจ๊าะแจ๊ะกันมันส์เชียว ผมค่อยขอแจมทูมอโร่นะครับ หมอเบิร์ดคนเดียวก็นิ้วหงิกแล้วครับ อิอิ

  • #9 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 October 2010 เวลา 12:12 am

    ประเด็นที่ผมสนใจคือ ศาสนาท่านค้นพบสัจธรรม และแนวทางการดำรงชีวิตที่มีความสุขร่วมกัน ท่านค้นพบมานานแล้ว แต่สังคมเราไปค้นหาอะไรกัน ทำไมเราไม่ย้อนกลับไปศึกษาเรื่องราวเหล่านี้แล้วนำแก่น หลักออกมาใช้ในชีวิตประจำวัน ร่วมกัน แค่นี้ก็มหาศาล

  • #10 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 October 2010 เวลา 2:34 am

    การเรียนธรรมะด้วยภาษาไทยนั้น อาจให้ผลเทียบไม่ได้กับการเรียนธรรมะด้วยภาษาธรรม (การปฏิบัติ สังเกต เรียนรู้ จนเข้าใจในทางที่ถูกต้อง และเป็นความรู้เฉพาะตน) ผมเอาความตอนหนึ่งจากพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไร ของสมเด็จพระญาณสังวรฯ เฉพาะส่วนไตรลักษณ์มาฝากก็แล้วกัน ไม่ตีความล่ะครับ

    “ ไตรลักษณ์ ”
    หมายถึง ลักษณะที่ทั่วไป ไดแก่ สังขารทั้งปวง คือ อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา

    อนิจจ ไม่เที่ยง คือ ไม่ดำรงอยู่เป็นนิตย์นิรันดร์ เพราะเมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องดับในที่สุด ทุก ๆ สิ่งจึงมีหรือเป็นอะไรขึ้นมาแล้ว ก็กลับไม่มี เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ชั่วคราว

    ทุกขะ ทนอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ เหมือนอย่างถูกบีบคั้นให้ทรุดโทรมเก่าแก่ไปอยู่เรื่อย ๆ ทุก ๆ คนผู้เป็นเจ้าของสิ่งเช่นนี้ ก็ต้องทนทุกข์เดือดร้อนไม่สบายไปด้วย เช่นไม่สบายเพราะร่างกายป่วยเจ็บ

    อนัตตา ไม่ใช่อัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตน อนัตตานี้ ขออธิบายเป็นลำดับชั้นสามชั้นดังต่อไปนี้

    1. ไม่ยึดมั่นกับตนเกินไป เพราะถ้ายึดมั่นกับตนเกินไป ก็ทำให้เป็นคนเห็นแก่ตัวฝ่ายเดียว หรือทำให้หลงตน ลืมตน มีอคติ คือลำเอียงเข้ากับตน ทำให้ไม่รู้จักตนตามเป็นจริง เช่นคิดว่า ตนเป็นฝ่ายถูก ตนต้องได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ด้วยความยึดมั่นตนเองเกินไป แต่ตามที่เป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่
    2. บังคับให้สิ่งต่าง ๆ รวมทั้งร่างกายและจิตใจไม่ให้เปลี่ยนแปลงตามความต้องการไม่ได้ เช่นบังคับให้เป็นหนุ่มสาวสวยงามอยู่เสมอไม่ได้ บังคับให้ภาวะของจิตใจชุ่มชื่นว่องไวอยู่เสมอไม่ได้
    3. สำหรับผู้ที่ได้ปฏิบัติไปได้จนถึงขั้นสูงสุด เห็นสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งร่างกายและจิตใจเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้นแล้ว ตัวตนจะไม่มี ตามพระพุทธภาษิตที่แปลว่า “ตนย่อมไม่มีแก่ตน” แต่ก็ยังมีผู้ซึ่งไม่ยึดมั่นอะไรในโลก ผู้รู้นี้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็สามารถปฏิบัติสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปตามสมควรแก่สถานที่และสิ่งแวดล้อม โดยเที่ยงธรรมล้วน ๆ (ไม่มีกิเลสเจือปน)
  • #11 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 October 2010 เวลา 8:24 am

    สำหรับเบิร์ด พระไตรปิฎกนึกถึงอะไร นึกถึงตำราที่จะไขความกระจ่างในสิ่งที่สงสัยค่ะ ส่วนพระพุทธองค์จะปรากฎทุกครั้งที่เบิร์ดจัดการทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะโกรธ ไม่ชอบใจ หรือดีใจ เสียใจ ฯลฯ คงเป็นแนวที่ประหลาดอีกทางหนึ่งเพราะเบิร์ดไ้ด้เข้าเฝ้าท่านทุกวันในชีวิต ไม่ใช่ในวัด ฮี่ฮี่ฮี่

    เราลืมว่าหลักกาลามสูตรคือหลักที่พระพุทธองค์ทรงให้ไว้ และธรรมไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในวัดแต่อยู่ในตัวเราต่างหาก ใบไม้กำมือเดียวคือใบไม้ในตัวเรานี่แหละเพราะกำมือที่ควรทำความรู้จักที่สุดคือกำมือของเราเอง แต่มักไพล่ไปพยายามทำความรู้จักกำมือของคนอื่นซะนี่

    การบรรลุ มรรค ผล นิพพานไม่ได้ยากเกินกำลัง และมันจะมีกี่ขั้น กี่ตอนก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญเพราะหน้าที่เราคือวางตัวเองบนบันไดให้ถูกขั้นตามที่พระพุทธองค์กล่าว

    เอางี้เดี๋ยวจะงง อย่างเช่นการศึกษาเราออกแบบมาแบบเหมาโหลคืออายุ 7 ขวบต้องอยู่ ป.1 แต่มีเด็กหลายคนที่มีความสามารถมากกว่านั้น จำเป็นที่ต้องมาอยู่ ป.1 ด้วยมั้ย? กระโดดไปม.1เลยได้หรือเปล่า? และเค้าต้องรู้มั้ยว่าป.1คืออะไร?

    และมีเด็กอีกไม่น้อยที่อายุ 7 ขวบแต่ความสามารถยังไม่ถึง เค้าต้องมาเข้าป.1 เพื่อวัดผลสิ่งที่เค้าทำด้วยเกณฑ์ของป.1หรือเปล่า? หรือว่าเค้าเดินทางอื่นได้ โดยอยู่บนขั้นบันไดที่เหมาะสมกับตัวเอง

    การสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นการหาฉันทามติ จึงเป็น”ความเห็น”ของคนส่วนใหญ่ ซึ่งความเห็นนั้นเปลี่ยนแปลงได้ไม่เที่ยง (ตามที่พี่รุมกอดยกมา ซึ่งอธิบายตามหลักข้อผิดพลาดทางคณิตศาสตร์ อิอิอิ) แต่พุทธพจน์ของพระองค์คือความถูกต้องที่เป็นกฎธรรมชาติจึงไม่เปลี่ยนแปลง

    อย่างเช่นดีของเบิร์ด กับดีของคุณทำอาวุธคงไม่เหมือนกัน เพราะมันเป็น”ความคิดเห็น” แต่ดีของพระพุทธองค์เป็นดีเดียว เพราะนั่นคือความจริงตามกฎของธรรมชาติ

    เอาล่ะพุทธษสนาจะยั่งยืนไม่ใช่เพราะเอาไปผูกกับพระ หรือใส่เข้าไปในรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่การทำความเข้าใจและแลกเปลี่ยน ต่อยอดกันได้เพื่อความเข้าใจให้กระจ่าง รวมทั้งอยู่ในวิถีชีวิตของตัวเอง (ซึ่งเบิร์ดเชื่อว่าในอดีตคงไม่มีการสวดมนต์มากมายหรอกค่ะ เพราะเท่าที่เห็นบทสวดในปัจจุบัน บางส่วนก็เป็นการเอาพุทธพจน์ของพระองค์มาเป็นบทสวด เช่น บทสวดปฎิจสมุปบาท http://www.oknation.net/blog/buddhamantra/video/6539 …แต่พราหมณ์มี ซึ่งคำสวดส่วนมากเรียกโองการ เรามีบทสวดมนต์มากมายในระยะหลังน่าจะมาจากอิทธิพลของพราหมณ์ด้วยมั้งคะ)

    ที่เบิร์ดสนุกกับการไต่ถาม พูดคุยกับคุณทำอาวุธก็เพราะมันต่อยอดความคิดได้ดี แหม หยิบน้ำชามาด้วย ดังนั้นปักหลักจิบน้ำชา ดูการเจรจาอยู่ในนี้เลย 555

  • #12 Nothing ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 October 2010 เวลา 12:49 pm

    พี่บางทรายครับ

    ผมเสียดายที่ตอนเด็กหรือแม้แต่ปัจจุบันเป็นคนไม่ใกล้ชิดวัด จริงๆ ก็แอบอิจฉาคนที่ผู้ปกครองจูงมือเข้าวัดบ่อยๆ กะว่าถ้ามีโอกาสมีลูก(นั่นหมายความว่าต้องหาภรรเมียให้ด้ก่อน อิอิ) ก็จะทำบ้านให้เหมือนวัด และจะพาเข้าวัดจริงๆ บ่อยๆ

    เชื่อว่าเมื่อก่อนการเทศน์ของพระคงอาศัยเรื่องเล่าที่เป็นเรื่องเป็นราว เช่น ทศชาดก เป็นต้น มาดำเนินเรื่องแล้วค่อยแฝงด้วยคติธรรมต่างๆ เหมือนๆ กับตอนเรายังเด็ก เราก็ชอบฟังนิทาน จริงไม่จริงไม่รู้แต่เราชอบ แล้วก็เชื่อตามนั้น และสิ่งเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมความเป็นผู้ใหญ่ของเรา ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์หมอประเวศ ผมเคยอ่านประวัติว่าตอนเด็กๆ ท่านชอบอ่านหนังสือจีนกำลังภายใน สิ่งเหล่านี้จึงหลอมให้ท่านเป็นคนรักความดีความยุติธรรมในปัจจุบัน ยาขอบก็เช่นกัน ตอนเด็กๆ โดนบังคับให้อ่านหนังสือให้ผู้ปกครองฟัง(จำรายละเอียดไม่ได้แล้วครับ)

    แต่ด้วยกระแสวัตถุนิยมที่พุ่งแรง เราจะใช้แนวการสอนแบบนี้กับคนรุ่นใหม่ยากขึ้นเรื่อยๆ (นั่นหมายความว่ายังใช้ได้กับคนรุ่นก่อน อิอิ) ด้วยเหตุผลประการนี้กระมังครับ ที่ทำให้พระพุทธศาสนาเราแบ่งเป็นหลายนิกาย เพราะต้องใช้กลยุทธ์กลวิธีในการทำให้คนในพื้นที่นั้นๆ หันมาสนใจ บางนิกายก็ไปได้ดี บางนิกายก็ตกคลองไปเลยก็มี

    เราโชคดีที่ตอนนี้เรามีเทคโนโลยีที่ช่วยให้การสื่อสาร การค้นคว้าง่ายขึ้น แต่มันก็มากับความน่ากลัวหลายประการ นั่นก็ขึ้นกับปัญญาของแต่ละคน ใกล้คว้าอะไรก็ได้สิ่งนั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ นะครับ ที่เว็บไซต์แห่งหนึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ใช้คุยธรรมระดับต้นๆ ของเมืองไทยทีเดียว เขามีการรวบรวมเงินไปทำบุญด้วยชายผู้หนึ่ง หากมีการรวมเงินทำบุญผ่านเน็ตโดยไม่เห็นหน้ากันได้ ก็ต้องแสดงว่าผู้รวบรวมต้องน่าเชื่อถือพอสมควร และทุกคนก็เชื่ออย่างนั้น เพราะชายคนนี้สามารถตอบข้ออรรถข้อธรรมได้อย่างดี มีการยกพระสูตรในพระไตรปิฎกมาคุยได้อย่างน่าเชื่อถือ แต่ความมาแตกก็ตอนโดนเงินไปแล้วไม่ได้ผลตามวัตถุประสงค์ครับ เงินหายระหว่างทาง สืบสาวราวเรื่องกันจนรู้ว่าชายคนนั้นอมเงิน และที่น่าเจ็บใจก็คือเขาผู้นั้นเป็นกะเทยเสียด้วยซี อะเหอๆ

    กลับมาพูดถึงเรื่องเล่าในพระไตรปิฏกต่อนะครับ
    ผมเชื่อว่าหลายเรื่องคงมีเค้าจากพระไตรปิฏก แต่เพื่อเหตุผลหลายประการก็คงมีการแต่งเพิ่มเติมให้เป็นเรื่องเป็นราวน่าฟัง ไม่ชวนง่วง พูดถึงเรื่องเล่าแล้ว ทำให้นึกถึงเรื่องหนึ่งของพระสารีบุตร แม้ท่านจะเป็นพระอรหันต์แล้วก็ตาม เวลาเดินผ่านบ่อน้ำหรือมีอะไรกั้นขวางทาง ถ้ากระโดดข้ามได้ท่านก็กระโดดข้ามเลยครับ ซึ่งกิริยาอย่างนี้ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นของพระอริยเจ้า จึงมีผู้นำความไปฟ้องพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงบอกว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าพระสารีบุตรเคยเกิดเป็นลิงมาก่อนหลายร้อยชาติ ฉะนั้นใครที่ปรามาสพระคุณเจ้าองค์ต่างๆ ที่ท่านดูจะไม่เรียบร้อยก็ระวังไว้ด้วยนะครับ มันอันตราย แต่ไม่ยืนยันนะครับว่าเรื่องนี้มาจากพระไตรปิฏกหรือไม่

    ใช่แล้วครับ ไม่รู้ว่าคนปัจจุบันนี้ค้นหาอะไรกัน แต่คงห้ามไม่ได้เพราะทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราก็ต้องศึกษาต้องพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แต่ปัญหาก็คือยิ่งรู้มาก ยิ่งทุกข์มาก ยิ่งทะเลาะกันมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต้องอื่นไกลแค่สถานการณ์ในบ้านเมืองเรานี้ ฆ่ากันแทบทุกวัน ระเบิดกันบ่อยขึ้นเรื่อยๆ และทำให้เราชาชินไปเรือยๆ เช่นกัน นั่นหมายความว่าเราไม่สนใจเรื่องศีลธรรมกันเลย เราเห็นแก่ตัวเห็น แก่พวกพ้อง เห็นแกผมประโยชน์ส่วนตัวกันอย่างน่ารังเกียจ นี่ถ้าเอาหลักพระพุทธศาสนาง่ายๆ เช่น ศีล ๕ มาจับ มาปฏิบัติกันจริงจัง เรื่องเหล่านี้แทบไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย เอาแค่ศีล ๕ ตรงๆ ไม่ต้องขยายความอย่างที่ท่าน ติช นัท ฮันต์ อธิบายไว้อย่างดี เป็นหลายๆ ข้อ แค่นี้ประเทศไทยก็อยู่กันอย่างสงบสุขแล้ว ว่าไหมครับ?

  • #13 Nothing ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 October 2010 เวลา 1:02 pm

    คุณพี่รอกอดครับ

    ขอบคุณที่ช่วยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และอัญเชิญพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันมาให้อ่าน รู้สึกว่าอีกไม่กี่วันก็จะเป็นวันครบรอบวันประสูตรของพระองค์ท่านแล้วใช่ไหมครับ? ผมรู้สึกว่าสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้มีพระจริยวัตรที่งดงามดีจริงๆ ครับ พระธรรมเทศนาของท่านก็ไพเราะงดงาม และพุ่งไปยังแก่นของพระพุทธศานาจริงๆ

    การศึกษาธรรมะที่เป็นตัวอักษรนี้ก็คงเหมือนตำราอาหาร ถ้าเรามัวแต่อ่าน ท่องจำ ว่าอาหารชนิดไหนปรุงอย่างไร จะท่องได้เก่งขนาดไหน แต่งตำราหนาเพียงใด ถ้าไม่เคยแม้แต่จะลองปรุงเองสักครั้งก็คงเปล่าประโยชน์ สู้คนที่ฟังข้ออรรถข้อธรรมมาบ้างแล้วปฏิบัติอย่างถูกตรงไม่ได้

    การปฏิบัติธรรมนั้นจุดหมายก็เพื่อเห็นกฏไตรลักษณ์นี่เอง ที่ว่าเห็นก็ต้องเห็นจริงๆ ไม่ใช้ด้วยการคิด หรือเห็นด้วยตาเนื้อ ถ้าทำได้แล้วท่านว่าจะได้เป็น “บัณฑิต” ในพระพุทธศาสนาใช่ไหมครับ?

  • #14 Nothing ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 October 2010 เวลา 1:40 pm

    คุณเบิร์ดครับ

    แหม น่าอิจฉาจริง ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแทบทุกวันเลยนะครับ อิอิ

    ก็จริงของคุณเบิร์ดนะครับ
    “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นเราตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม”
    “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท”

    พูดถึงบทสวดมนต์ ก่อนหน้านี้ผมเคยคิดจะสวดบทสวดบทหนึ่งที่คนสวดกันมากๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็เพื่อลาภทางโลก พอดูความหมายแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ ไหงเอาพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ มาปิดส่วนโน้นส่วนนี้ของร่างกายเราล่ะ เลยรู้สึกหวาดเสียวไม่กล้าท่อง และลองสืบเล่นๆ ก็รู้มาว่ามีที่ท่องเหมือนกันหรือสมบูรณ์กว่าอยู่ที่ลังกา แต่ไม่ยากกะสาวถึงพระไตรปิฏกแฮะ

    ก่อนหน้านี้ผมพยายามหาบทสวดปฏิจจสมุปบาท บทสวดน่ะได้แล้ว แต่อยากฟังเสียงสวดเพื่อเอาทำนองมาฝึกจะได้ง่ายแก่การจำ พยายามพึ่งคุณพี่กูเกิ้ลก็ได้อันเดียวกับที่คุณเบิร์ดให้ลิ้งก์มานี่แหละครับ สรุปว่าฟังไม่ได้ มันยานเกินไป และก็ไม่น่าเชื่อนะครับว่าหาได้แค่อันเดียวเอง ส่วนบทสวดอื่นๆ ที่อยู่นอกพระไตรปิฏกหาได้เกลื่อนไปหมด ผมเลยท่องเองลุ่นๆ เลยครับ ด้วยเป็นคนจำไม่เก่งแต่ก็ได้แล้วครับ ปฏิจจสมุปบาทสายสมุทยวาร(ฝ่ายเกิด) แต่ยังไม่คล่องปาก ต่อไปจะเป็นสายนิโรธวาร(ฝ่ายดับ) ก่อนหน้าก็ท่องบทสั้นๆ และคล่องปากแล้ว คือ กฏอิทัปปัจจยตา และถ้าสมองไม่ทึบเกินไปกะจะท่อง มรรค ๘ และ อานาปานสติสูตร ได้แค่นี้ก็พอใจแล้วครับ แต่ก็ยังแหยงอยู่เพราะสองพระสูตรหลังยาวมาก และการท่องแบบลุ่นๆ อย่างไม่มีทำนองจะจำยาก แต่ก็จะพยายาม…สู้โว้ย

    ก็อย่างที่คุณเบิร์ดว่าแหละครับ

    “การสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นการหาฉันทามติ จึงเป็น”ความเห็น”ของคนส่วนใหญ่ ซึ่งความเห็นนั้นเปลี่ยนแปลงได้ไม่เที่ยง (ตามที่พี่รุมกอดยกมา ซึ่งอธิบายตามหลักข้อผิดพลาดทางคณิตศาสตร์ อิอิอิ) แต่พุทธพจน์ของพระองค์คือความถูกต้องที่เป็นกฎธรรมชาติจึงไม่เปลี่ยนแปลง”

    เราจะทำอย่างไรให้”พุทธพจน์ที่ถูกต้อง” นั้นเป็นที่ปรากฏนั้นอย่างเสมอหรือมากกว่า “ความเห็นของคนส่วนใหญ่” เพราะพุทธพจน์จริงๆ เลือนหายไปจากการท่องจำของพุทธบริษัทเรื่อยๆ จนจะกลายเป็นบริษัทอื่นอย่างไม่รู้ตัวกันแล้ว

    คุณเบิร์ดพอจะเสนอไอเดียอะไรได้บ้างครับ
    เอ้า เข้ามาล้อมวงอีกที อิอิ

  • #15 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 October 2010 เวลา 4:37 pm

    มาฟังคนคุยกันค่ะ

    เป็นคนห่างธรรมค่ะ เรื่องปริยัติก็ไม่ถนัด แถมยังไม่สืบค้น อีกทั้งไม่เชื่อตามอภินิหาร จึงไม่ค่อยมีข้อสงสัย ทุกวันนี้บทสวดมนต์มีไว้สวดเพื่ออุบายแห่งภาวนา

    แต่ชอบฟังคนที่มีความรู้ทางธรรมะมากๆ อยากท่านข้างบนทั้งหลายคุยกัน ฟังแบบเฉยๆค่ะ เพราะไม่มีปัญญาพอที่จะไปคล้อยตามหรือไปขัดแย้ง ฟังเพราะอยากฟังแบบคนกิเลสเยอะค่ะ

  • #16 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 October 2010 เวลา 7:05 pm

    การทำให้พุทธวจนยังอยู่ในความทรงจำของคนส่วนใหญ่ก็คือการทำให้อยู่ในชีวิตประจำวัน เหมือนที่คุณทำอาวุธพยายามท่องและทำความเข้าใจอาณาปานสติกับปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละค่ะ ใครใคร่เลือกตรงไหนก็ตามจริตตน แต่รู้ว่าเหตุที่เลือกนั้นคืออะไร อย่างตัวเบิร์ดเองการสวดมนต์คืออุบายของภาวนาเหมือนพี่สร้อย และเป็นการน้อมจิตลงต่ำเพราะในการทำงานส่วนใหญ่เราจะ”ตัดสิน”และพยายามควบคุมสถานการณ์ต่างๆอยู่เสมอเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของตัวเราเอง เมื่อมันไม่เป็นดังที่คาดไว้เราก็ทุกข์ ฟูมฟาย แกว่งไกว แต่ก็ยังไม่ทิ้งอัตตา

    การสวดมนต์จึงเป็นระฆังแห่งสติสำหรับตัวเองที่จะระลึกรู้ว่าแท้ที่จริงเราไม่ได้คุมหรือตัดสินทุกอย่างได้ มีสิ่งที่เราน้อมต่ำด้วยศรัทธา ลดวางทิฐิเพื่อพิจารณาสิ่งที่เกิดแม้ในชั่วขณะก็ตาม มือที่เคยหยิบจับ ขีดเขียน ลงความเห็นกลับเป็นกระพุ่มไหว้ไม่เคลื่อนไหว จิตจึงสงบพอที่จะเห็นตามจริง เพราะถ้าจิตไม่น้อมต่ำเบิร์ดพิจารณาตามจริงยากค่ะ ยิ่งอิริยาบถการเคลื่อนไหวยิ่งบดบังความไม่เที่ยงของไตรลักษณ์หมดเลย ดังนั้นเวลาที่กำหนดรู้ในวิถีชีวิตทุกวันเบิร์ดจำเป็นต้องนิ่ง หยุดการเคลื่อนไหวถึงจะ”เห็น”ความไม่เที่ยงได้น่ะค่ะ

    ธรรมของพระพุทธองค์มีให้เลือกตามจริตตน ที่ควรรู้คือ”ตน”ที่จะเลือกนี่แหละค่ะว่ารู้ถึงเหตุที่เลือกหรือเปล่า เลือกเพราะอะไร ทำไม ใช้ยังไง ได้ผลแบบไหน มากกว่าการท่องจำทั้งหมด ถามมาตอบได้ แต่ปฏิบัติไม่รู้เลย ซึ่งการเป็นแบบนั้นจะทำให้เรากลวงและพร้อมจะเชื่อคนที่เห็นว่าพูดดี ตอบสิ่งที่สงสัยไ้ด้สอดคล้องกับความเชื่อเรา มันก็เข้าข่ายหลงอีกครั้ง

    การจับประเด็นจึงเป็นทักษะที่สำคัญและควรรู้ตัวว่ามีพร้อมใช้หรือเปล่า ไม่งั้นจะเหมือนคนไข้ที่ตระเวนไปทั่วเพื่อ”หา”คำตอบที่ตรงกับความเชื่อของตัวเอง แต่ไม่ลงมือรักษาตัวในทางที่ถูกควร โรคที่เป็นก็หนักขึ้นเรื่อยๆ

    แหม บ้านนี้สนุกแฮะ อิอิอิ

  • #17 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 October 2010 เวลา 9:44 pm

    พี่ไม่ใช่คนที่ธรรมะธรรมโมจ๋า กิเลสหนาอีกต่างหาก แม้จะบวชเรียนมา 1 พรรษา ปฏิบัติธรรมแบบเคร่งมา 5 ปี ตอนนี้ก็คลายตัวออกมาแปดเปื้อน แต่ไม่มีความสงสัยใดๆเลยเกี่ยวกับศาสนาและคำสอน น้อมรับ และเตือนสติไว้ กราบพระทีไรก็นึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์ พ่อแม่ ผู้มีพระคุณทั้งหลาย และกราบกรานพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทำงานกับชาวบ้านในป่าในดอย เอาปัญหาของชาวบ้านมาแบกมากมาย ร่วมคิดหาทางแก้ปัญหาเขาจนหลายครั้งปัญหาเราไม่ได้แก้ อิอิ

    แต่การตั้งใจทำดีมักแคล้วคลาดอย่างประหลาด การเคารพนบไหว้อยู่เป็นนิด แม้หน้าตาจะดูดุดุ แต่ข้างในใจดี แม้พูดจาแข็งๆ แต่ข้างในอ่อน ถูกใจใครน้ำตาไหลเอาดื้อๆ ทำงานมานานยิ่งทำยิ่งบอกว่ามีแต่ศาสนาเท่านั้นที่เป็นทางออกของสังคมของโลกครับ

    ขุมความรู้หรือพระไตรปิฎก หากน้อมนำเอามาใส่ไว้ข้างในเรา ทุกจังหวะก้าวของลมหายใจก็วิเศษ แต่คนกิเลสหนาปัญญาทึบอย่างพี่ ต้องดัน เข็น เคาะ กันอีกเยอะครับ ของพวกนี้ต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเป็นนิจเป็นอาจิน เราเข้าไปหาชาวบ้านแค่เห็นหน้าชาวบ้านใจก็หลุดลอยไปกับปัญหา และงานที่เผชิญข้างหน้า จนจิตหลุดไปหมด

    งานคือธรรม ธรรมคืองาน แต่ทำทีไรใจกระเจิงไปหมด นี่แสดงว่าพี่ยังปฏิบัติไม่ถึงระดับ ใจลึกๆชอบปฏิบัติมากกว่าปริยัติครับ ตอนบวชพระอาจารย์กล่าวว่า ใครเอาหนังสือธรรมมาเอามากองที่หน้ากุฏิพระอาจารย์นี่ ไม่ต้องอ่าน ปฏิบัติอย่างเดียว 1 พรรษานั้นสั้นนัก

    ดีที่ในลานนี้มีกัลยาณมิตรหลายท่านครับ

  • #18 Nothing ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 October 2010 เวลา 11:47 pm

    อุ๊ยสร้อยครับ

    ยินดีที่มาฟัง และยินดีที่มาแสดงความเห็นกันครับ

    ถ้าพูดว่ากิเลสหนาก็หนาด้วยกันทั้งนั่นแหละครับ แล้วที่บอกว่าห่างธรรมะนั่นผมขออนุญาตไม่เชื่อครับ
    ทำไมถึงไม่เชื่อน่ะหรือครับ ก็ที่บอกว่า “ทุกวันนี้บทสวดมนต์มีไว้สวดเพื่ออุบายแห่งภาวนา” นั่นแหละครับ

    ถ้ามีการสำรวจคนที่สวดมนต์ทั้งหมดแล้วถามว่าสวดมนต์ทำไม? ผมเชื่อว่านับนิ้วได้เลยว่ามีคนตอบแบบอุ๊ยสร้อยสักกี่คน
    รู้ว่าการสวดมนต์เป็นอุบายยังไม่พอ ยังรู้ว่าอุบายเพื่อภาวนาอีก…ไม่ธรรมดาหรอกครับ

    มาคุยกันเถอะครับ ถ้าผมคิดแบบอุ๊ยผมก็คงไม่เขียนบันทึกนี้หรอกครับ เพราะรู้ตัวเองดีว่าภูมิรู้น้อยแค่ไหน ถ้าไปแสดงที่อื่นรับรองว่าตายหยังเขียดครับ
    แต่ผมชั่งน้ำหนักดูแล้วว่าเขียนแล้วผมได้กำไร เพราะที่นี่มีแต่กัลยาณมิตร ผมสังเกตเห็นหลายครั้งแล้วที่ผมแสดงความเขลาออกมา แทนที่จะถูกกระหน่ำซ้ำเติม คนที่นี่กลับมีวิธีสอนแบบน่ารัก บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น ได้ทั้งความรัก ความอบอุ่น ได้ทั้งปัญญา มาลงทุนเถอะครับ ได้กำไรเห็นๆ อิอิ

    ส่วนบทสวดจะเลือกบทไหนก็ตามสบายเลยครับ ผมหวังแต่เพียงว่าถ้าเราเอาพุทธพจน์แท้ๆ มาท่องจำและเข้าใจความหมายกันก็จะช่วยให้พระพุทธศาสนาดำรงได้ยาวนานขึ้นเท่านั้นเอง แม้แต่เอาชื่อกิ๊กมาท่องแทนบทสวด ถ้าทำให้เป็นสมาธิได้ท่านก็ไม่ว่าครับ อิอิ

    ว่าแล้วก็ขอปิดท้ายด้วยพุทธพจน์สักหน่อยครับ

    “…อีกอย่างหนึ่ง, ภิกษุ ทำการสาธยายธรรม ตามที่ฟัง
    ได้เรียนมาโดยพิสดาร, แต่เธอไม่รู้ทั่วถึงความหมายอันยิ่งแห่งธรรมนั้นๆ
    ด้วยปัญญา. ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้มากด้วยการสวด(นักสวด) ยังมิใช่
    ธรรมวิหารี (ผู้อยู่ด้วยธรรม)…
    …เธอไม่ใช้วันทั้งวันให้เปลืองไปด้วยการเรียนธรรมนั้นๆ
    ไม่เริดร้างจากการหลีกเร้น, ประกอบตามซึ่งธรรมเป็นเครื่องสงบใจ
    ในภายในเนืองๆ. ภิกษุอย่างนี้แล ชื่อว่า ธรรมวิหารี (ผู้อยู่ด้วยธรรม)…”
    อํ. ปญฺจก. ๒๒/๙๙-๑๐๐/๗๓-๗๔


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.37241506576538 sec
Sidebar: 0.060172080993652 sec