เล่นหัว และกาลเทศะ
อ่าน: 2504ตอนนี้ผมกำลังอ่านหนังสือ “ข้าพเจ้าทดลองความจริง” ของ มหาตมา คานธี ซึ่งแปลโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย จำได้ว่าสมัยเรียนอุดมศึกษาอยากได้หนังสือเล่มนี้มาก เคยเห็นเล่มปกแข็งในห้องสมุด กอปรกับหนังสือหนามาก เลยไม่กล้าอ่าน เรียนจบออกมานึกอยากอ่านก็หาซื้อไม่ได้เลย ตอนนี้มูลนิธิโกมลคีมทองนำมาพิมพ์ใหม่ก็รีบคว้าไว้ก่อน เดี๋ยวจะเสียโอกาสอีก หนังสือดีเขาไม่พิมพ์กันบ่อยนักหรอกครับ ตอนนี้ก็ค่อยละเลียดอ่านคืนละหน้าสองหน้าก่อนนอน
แม้จะอ่านได้ไม่กี่หน้าก็ให้รู้สึกชุ่มชื่นในหัวใจมากหลาย ต้องขอบคุณผู้แต่งที่หาบุคคลที่ดีขนาดนี้ได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน และผู้แปลที่แปลได้อย่างละเมียดละไม ได้อรรถรส ไม่รู้สึกขัดในสำนวนเวลาอ่าน อีกทั้งประวัติของผู้แปลทั้งสองท่านก็น่าสนใจยิ่งนัก เป็นปูชนียบุคคลที่ควรเอาเป็นแบบอย่าง เป็นที่น่าเสียดายที่ท่านกรุณาได้จากโลกนี้ไปแล้วอย่างสงบเมื่อไม่นานมานี้ ผมเคยได้ยินมาว่าตอนที่ท่านกรุณาเสียชีวิตนั้นก็อยู่ได้เคียงข้างกับคุณเรืองอุไร-ภรรยาตาบอด(ซึ่งมาบอดตอนวัยชรา)อันเป็นที่รัก ท่านทั้งสองนอนเตียงใกล้กันภายในห้องเดียวกัน แม้แต่ที่ท่านกรุณานอนปราศจากลมหายใจแล้ว คุณเรืองอุไรก็ให้ท่านนอนอยู่บนเตียง และคุณเรืองอุไรก็นอนบนเตียงของตัวเอง เหมือนกับท่านกรุณายังมีชีวิตอยู่
ควรอย่างยิ่งที่ชาวไทยเราควรนำเอาวิถีปฏิบัติของปูชนียบุคคลทั้งสองท่านนี้ และรวมกับของ มหาตมา คานธี มาเป็นแบบอย่าง ก่อนที่จะเป็นแค่ตำนาน และคิดว่าตำนานของคนเหล่านี้เป็นนิยายที่ไม่ใช่ความจริง
อ้อ และยังมีอีกเล่มที่เป็นของผู้เขียนและผู้แต่งเดียวกันคือ “ชีวประวัติของข้าพเจ้า” พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ASTV ซึ่งทายาทของผู้เสียชีวิตได้มอบลิขสิทธิ์การพิมพ์ฟรีเพื่อช่วยเหลือ ASTV ซึ่งน่าร่วมยกมือท่วมหัวอนุโมทนาสาธุเป็นอย่างยิ่ง
เขียนมาตั้งนานยังไม่ได้วกเข้าหัวข้อที่อยากคุยเลยครับ เอ้า กระชับพื้นที่เข้ามาอีกนิด
วันนี้ผมได้แวะไปร้านหนังสือ สายตาก็กวาดไปเห็นหน้าปกของนิตยสารการเมืองรายสัปดาห์ชั้นนำ ที่ตั้งเรียงคู่กันสองเล่ม สิ่งที่ทำให้ผมสนใจและนำมาชวนคุยคือ ภาพหน้าปกของนิตยสารทั้งคู่ครับ
เล่มหนึ่งมีภาพหน้าปกเป็นรูปชายผู้หนึ่ง ซึ่งผมไม่รู้จัก ยืนชูนิ้วกลางมือซ้าย แล้วมีข้อความโปรยทำนองตัดพ้อต่อว่าว่าอย่ามากำจัดสิทธิ์กูนะโว้ย และมุมขวาบนก็เป็นรูปเด็กหนุ่มที่เข้าประกวดเอเอฟ(ซึ่งผมก็ไม่ได้สนใจว่าเอเอฟนี่เขาทำอะไรกันบ้าง) ที่เป็นข่าวว่าใช้คำหยาบด่านายกคนปัจจุบันผ่านสื่อทางอินเตอร์เน็ต มิหนำซ้ำบางแห่งก็ละเมิดถึงสถาบันสูงสุดของเรา เคยได้อ่านมาว่าเด็กหนุ่มคนเดียวกันนี้ก็ใช้คำหยาบเป็นปกติกับบุพการีและคนรอบข้างตัวเองเช่นกัน
ส่วนนิตยสารอีกเล่มก็ขึ้นปกเด็กหนุ่มคนเดียวกันนี้แบบเต็มหน้า
ประเด็นที่ผมต้องเคาะสนิมนิ้วและสมองตัวเองมาชวนคุยก็คือ เดี๋ยวนี้เราไม่รู้กันแล้วหรือไรว่าใครหรือคนกลุ่มใดที่เราเล่นหัวได้หรือไม่ได้ เราไม่รู้กาลเทศะกันแล้วหรือไร?
วัฒนธรรมการเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ การให้เกียรติผู้อื่น การรู้กาลเทศะ ที่ดีงามของไทยเราหายไปไหนกันหมด หรือเราอยากเอาอย่างฝรั่งที่เด็กและผู้ใหญ่จับหัวเล่นกันได้ง่ายๆ จะเอาอย่างก็ได้แต่ก็ต้องเอามาให้หมด เราชอบเอาอย่างเพื่อนแล้วเอามาไม่ครบ เพราะชอบเอาบางส่วนมาสนองกำหนัดของตัวเองเท่านั้น
เช่นดังเด็กหนุ่มที่กล่าวถึง เมื่อเรารู้ว่าเขามารยาททราม เรายังจะเอาเขามาออกสื่ออีกหรือ? แม้ว่าเขาจะไม่ชนะการแข่งขัน แต่เมื่อเขาออกสื่อ เด็กคนอื่นก็ย่อมเอาเป็นแบบอย่าง จะโทษเด็กก็ไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่ผู้ที่มีแต่ความโลภโดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น-เอาให้เขาดู เขาต้องคิดว่ามันดี ยิ่งเด็กไทยเราเป็นผ้าขาวที่พร้อมจะย้อมติดทุกสีที่เขาเอามาย้อมอยู่แล้ว ก็ยิ่งน่าเป็นห่วง
ส่วนสื่อที่ขึ้นภาพหน้าปกแบบนั้น ผมไม่แน่ใจว่าเขาจะสื่ออะไร เพราะผมไม่ได้เปิดอ่านด้านใน แต่ลองมองในมุมของคนที่ไม่ได้สนใจการเมือง เช่น เด็กๆ ที่ไม่บรรลุนิติภาวะเห็นเข้า เขาจะเลียนแบบหรือไม่ หรือถึงเด็กเขาจะรู้ว่าการชูนิ้วแบบนั้นหมายถึงอะไร แต่เขาก็คงจะคิดว่ามันเป็นสิ่งดี ก็ถ้าไม่ดีผู้ใหญ่เขาจะเอามาพิมพ์และตั้งโชว์ไว้ได้อย่างไร?
เมื่อสภาพแวดล้อมเป็นเช่นนี้ สภาพแวดล้อมที่มีผู้ใหญ่เห็นแต่ประโยชน์ของตนและพวกพ้องเป็นที่สุด โดยไม่สนใจคุณธรรม จริยธรรม ฯลฯ และผลกระทบที่เลวร้ายต่อสังคมแต่อย่างใด ก็อย่าหวังที่จะเห็นเยาวชนเรามีคุณภาพ
ผมอยากเขียนต่อแต่รู้สึกตื้อๆ อึดอัด อัดอั้นอย่างไรบอกไม่ถูก ขอจบดื้อๆ อย่างนี้แล้วกันนะครับ
หรือว่าวิถีชีวิตแบบ มหาตมา คานธี เป็นเพียงนิยายที่ไม่มีวันเป็นจริงไปเสียแล้วครับ?
« « Prev : คำสอนหลวงปู่ชา ๒ - มีความรู้ ต้องมีความดี
Next : พุทธวจน » »
6 ความคิดเห็น
โฮ่ เรื่องนี้เล่นได้ยาวค่ะ เพราะ”มารยาท” เป็นสิ่งสำคัญ -เราสับสนกับคำว่าเปิดเผย ตรงไปตรงมา จนคิดว่าคน”เปิดเผย” กับคน”ก้าวร้าว” นั้นเป็นเรื่องเดียวกัน
ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม ถ้าถึงขั้นขึ้นคำหยาบกับบุพการี ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องค่ะ จะเสียใจภายหลังหรือฉุกคิดได้ภายหลังก็ยังดีกว่าไม่สามารถคิดได้เลย แต่จะดีกว่านั้นถ้ามันไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะอีกกี่ครั้งก็ตามค่ะ
จะโกรธเพียงใด ไม่พอใจอะไรขนาดไหน อย่าถึงขั้นควบคุมตัวเองไม่ได้ เพราะมันแสดงถึงการขาดวุฒิภาวะของตัวเราเอง คำว่าวุฒิภาวะไม่ได้จำกัดที่อายุ แต่มันหมายถึงเมื่อถึงเวลาที่ควรกระทำก็กระทำได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับ เวลา สถานที่ และบุคคล
การแสดงความคิดเห็นก็ไม่จำเป็นต้องหยาบคาย แม้จะอยู่บนโลกเสมือนที่อาจไม่รู้ว่าเป็นใครก็ตาม เพราะเป็นการไม่เคารพตัวเองอย่างสูงสุด
ถ้าเราไม่เคารพตัวเราเอง แล้วใครจะเคารพเรา ?!?
ถูกใจจริง ขอเอาตัวเองสะท้อนจากพัฒนาการบางส่วน
หมอเบิร์ดครับ
ผมว่าเรื่องนี้คนอื่นๆ คงเห็นกันมายาวนานกว่าผม และคงเือือมที่จะบ่น ผมเชื่อว่าหลายคนคงกำลังแก้และหาทางแก้อยู่ แต่เชื่อว่าคงเป็นคนส่่วนน้อยแสนน้อยของสังคม ไม่งั้นคงไ่ม่เห็นพฤติกรรมของเยาวชนและผู้ใหญ่อย่างปัจจุบัน
ไร้”มารยาท” - คำนี้โดนใจผมมากครับ คนเดี๋ยวนี้ไร้มารยาทกันมาก โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ออกทีวีอยู่ประจำแทบทุกวัน อันเป็นแบบอย่างให้เยาวชนเอาอย่างดังที่กล่าวในบันทึกนี้
ผู้ใหญ่ที่คอยแต่เห็นผลประโยชน์ส่วนตัว ขอให้ได้ออกสื่อ ให้คนเห็นหน้าบ่อยๆ ไม่สนใจว่าออกสื่อด้วยเหตุผลอะไร ขอให้ออกไว้ก่อน ซึ่งเป็นการทำตลาดและจิตวิทยาที่น่ารังเกียจอย่างที่สุด
ไม่เห็นแปลกที่เราได้เห็น เยาวชนที่เป็นแบบนี้ คนสนับสนุนเยาวชน(แบบนี้)แบบนี้
อย่างทีุ่คุณเบิร์ดว่า เราไม่เคารพตัวเอง แล้วใครจะเคารพเรา แต่ผมเสริมนิดหน่อยว่า ก็พวกแบบเดียวกันไงล่ะครับที่เคารพกันน่ะ อิอิ
พูดถึงความเหลวแหลกทางสังคม ผลลัพธ์อย่างหนึ่งที่ผมอยากชวนคุย แต่แค่คิดก็ปวกตับ นิ้วไม่กระดิก คือเรื่อง “พ่อปู่ชูชก” ครับ ถึงกับมีเครื่องราง คาถาบูชา มีหนังสือขาย ผมไม่กล้าอ่าน เห็นแค่ภาพกับข้อความสั้นๆ ตับก็เริ่มแสดงอาการผิดปกติแล้วครับ อิอิ
พี่บางทรายครับ
แม้จะเกิดในสังคมชนบท แต่ผมก็ไม่ทันเรียนโรงเรียนวัด มีแต่ก็ชื่อโรงเรียนที่มีคำว่าวัดนำหน้า ส่วนตัวโรงเรียนก็อยู่ติดวัด คั่นด้วยถนนตัดแบ่งและกำแพงล้อมรอบวัด ซึ่งก็แยกกันเป็นเอกเทศ ขณะนั้นเด็กที่อยู่วัดส่วนใหญ่เป็นเด็กแถวนั้นที่เหลือขอ คือพ่อแม่ไม่สนใจจะเลี้ยง ไม่ใช่เพราะจนเพียงอย่างเดียว แต่ก็มีน้อยมาก ทำให้ผมพาลเกลียดเด็กวัดไปด้วย
ได้ฟังที่พี่เล่าทำให้ผมนึกอิจฉา อยากมีชีวิตวัยเด็กแบบนั้นบ้าง แม้ตอนนี้พยายามที่จะเป็นคนดี แต่ก็เป็นแบบแกนๆ เห็นพระก็ทำตัวไม่ถูก จะหยุดหรือไม่หยุดดี จะไหว้หรือไม่ไหว้ดี หรือเข้าวัดก็ทำตัวไม่ถูก
มีเรื่องเล่าสนุกๆ ที่เกิดกับตัวผมเองประมาณปีกว่าๆ ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับพระที่ทำเอาผมขยาดไปอีกนาน
เช้าวันหนึ่งขณะที่ผมกำลังเดินลดพุงอยู่นั้น ซึ่งเป็นข้างถนน มีพระหนุ่มสองรูปลงจากรถโดยสาร แล้วจะเดินสวนกับผม ผมนึกได้ว่าเดินสวนกับพระควรต้องหยุดและพนมมือไหว้ ผมก็ทำดังว่านั้น แล้วพระหนุ่มสองรูปก็หยุดตรงหน้าผม ถามผมว่าร้านอาหารที่ใกล้ที่สุดอยู่ตรงไหน เพราะเป็นพระต่างจังหวัด จะไปที่วัดแห่งหนึ่งถ้าไปถึงอาจเลยเที่ยง ผมก็พยายามนึกร้านอาหารที่ใกล้ที่สุด แล้วชี้ทางให้เพราะเดินไปไม่ไกลก็ถึง หรือถ้าไม่มีปัจจัยผมก็อาจซื้อถวายท่าน
แต่ไม่ทันที่เราจะจากกัน ท่านก็พูดทำนองว่าไม่มีปัจจัยพอที่จะจ่ายค่ารถไปถึงเป้าหมายได้ ผมเลยถามว่าต้องใช้เงินประมาณเท่าไร ผมจำตัวเลขไม่ได้ชัด แต่คาดว่าประมาณสักสามร้อยบาท ปกติผมติดเงินในกระเป๋าไม่เงินสามร้อยบาท แต่วันนั้นมีกิจที่ต้องเอาเิงินไปใช้อย่างอื่นเลยพกประมาณพันสอง
เมื่อถวายเสร็จ เพราะรูปนั้น(ซึ่งอีกรูปไม่ค่อยพูด) ก็เอ่ยปากอีกว่า เพื่ออาตมามีจีวรที่เก่ามากอยากได้จีวรใหม่(ซึ่งตอนนั้นทั้งสองรูปก็นุ่งจีวรใหม่!?) ผมงงแต่ก็ต้องถามไปว่าจีวรใหม่ต้องใช้ปัจจัยเท่าไหร่? ท่านบอกว่าประมาณเจ็ดร้อยกว่าบาท เหมือนโดนสะกดจิต ผมก็ควักเงินในกระเป๋าให้อีกประมาณแปดร้อยบาท
เท่านั้นยังไ่ม่พอ ไม่หนำใจ ท่านยังถามอีกว่า เ่อ่อ โยม ไ้ด้ข่าวว่าคนใต้นิยมบูชาจตุคามฯ ไม่ทราบว่าโยมมีบ้างไหม? บร๊ะเจ้า ท่านอยากได้จตุคามฯ ผมเลยรีบตอบว่าผมไม่มี และรีบลาไปจากไป เพราะถ้าอยู่สนทนานานกว่านั้น ท่านอาจถามว่ามีบ้านพร้อมที่ดินหรือไม่?
ผมจากผู้ที่เรียกว่าบุตรตถาคตมาด้วยอาการงงๆ ในใจคิดว่ากูจะได้บุญไหมหนอ? การได้บุญก็ต้องรู้สึกอิ่มเอิบ เย็นสบาย ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่นี่ทำไมความรู้สึกกลับตรงข้าม รู้สึกเหมือนถูกปล้นยังไงยังงั้น เอ หรือว่าเราโง่เองหว่า? จบครับ
อย่างที่พี่บางทรายว่า ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยเราเริ่มจาก การยอมรับแนวคิดแนวพัฒนาจากชาติตะวันตก แล้วแยกวัน ชุมชน โรงเรียนออกจากกัน วันหยุดก็ทำเหมือนกันหมดทั้งประเทศ แทนที่จะให้แต่ละท้องถิ่นเลือกกันเอาเอง เช่น ศาสนาพุทธก็เน้นวันสำคัญทางศาสนา วันโกน วันพระ ทางภาคใต้จังหวัดที่มีมุสลิมเยอะๆ ก็จะมีหวัดหยุดของเขาเช่นกัน ซึ่งไม่มีทางตรงกันทั้งประเทศ การหยุดแบบใหม่ก็เป็นปัญหาว่าเมื่อหยุดแล้วจะเอาเวลานั้นไปทำอะไร? ถ้าหยุดถามวันสำคัญตามศาสนาของตนๆ ก็จะมีกิจกรรมตามศาสนาต่างๆ ซึ่งเป็นบุญเป็นกุศล กระชับความสัมพันธ์ของคนในชุมชน แต่การหยุดเสาร์อาทิตย์ ซึ่งไม่ตรงกับวันสำคัญทางศาสนา คนก็เอาเวลาไปทำอย่างอื่นแทน
และยังมีปัญหาอีกร้อยแปดพันประการที่เกิดจาก การแยกวัด-ชุมชน-โรงเรียน ออกจากกัน ซึ่งในบันทึกนี้ก็น่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหา้ข้างต้นเช่นกัน
อ้อ ความรู้เหล่านี้ผมไม่ได้รู้หรือคิดได้เองหรอกครับ ส่วนใหญ่มาจากการอ่านหนังสือเล่มหนึ่งของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แหละครับ แหะๆ
ปัญหาอยู่ที่ว่าแทนที่จะยืนมองผลที่เกิดจากปัญหากันตาปริบๆ แล้วเราจะแก้ปัญหากันอย่างไรดี? คร้าบบบบบ
คงไม่เสียดายเงินที่จ่ายไปกับท่านที่ขอเงินในลักษณะเช่นนั้นหรอกนะคะ …เดี๋ยวก็หาใหม่ได้…
แต่ประสบการณ์ที่เจอคงจะทำให้ได้โอกาสมองเห็นตัวเอง และย้อนทบทวนสภาวะจิตในตอนนั้น นะคะ
อุ๊ยสร้อยครับ
จะบอกว่าเสียดายก็ไม่ถูก จะบอกว่าไม่เสียดายก็ไม่ถูกเ่ช่นกัน มันขึ้นกับเวลาและสภาวะจิตของเรา
ตอนคุยกับท่านแรกๆ ก็อิ่มเอิบใจ อยากทำบุญ พอท่านรุกเข้ามาจนรู้สึกเกินเลยก็กึ่งอิ่มเอิบกึ่งกังวล พอท่านรุกเกินงามก็ฉุนครับ
ถามว่าตอนนี้ถ้าหวนคิดถึงเหตุการณ์นั้นจะรู้สึกอย่างไรบ้าง? คงต้องตอบว่าความอิ่มเอิบหายไปเป็นปลิดทิ้ง และยังเสียดายอยู่ นั่นก็หมายความว่าคงไม่ใช่บุญใช่ไหมครับ?
แต่เหตุการณ์นั้นก็เป็นประสบการณ์สอนตนเองให้รู้จักมีสติในทุกกรณี ถ้าเรามีสติ(ตัวจริง) เราคงไม่ทุกข์(ถึงไม่มากมายก็น่าจะถือว่าเป็นทุกข์) หรือทุกข์น้อย หรือหายทุกข์เร็ว
ผมว่าความใจบุญของชาวไทยพุทธเราเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในเวลาเดียวกัน จุดแข็งคือทำให้เป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส หายโกรธเร็ว ใจเย็น แต่จุดอ่อนก็คือเป็นเหยื่อให้กับพวกมิจฉาชีพ หรือผู้ไม่หวังดีต่างๆ ที่อาศัยความใจบุญของเรา
ทำบุญแต่ขาดสติและปัญญาก็อาจเป็นปัญหาเหมือนกันใช่ไหมครับ?
ขอบคุณที่ให้สติครับ