Karma Therapy: ๒.กรรมกับอิทัปปัจจยตา

โดย Nothing เมื่อ 20 October 2009 เวลา 3:59 pm ในหมวดหมู่ ธรรมะ #
อ่าน: 3169

ผมได้รับคำถามจากคุณนักการหนิงจากบันทึกก่อนหน้านี้  ว่ากรรมกับอิทัปปัจจยตานั้นเรื่องเดียวกันหรือไม่ หรือต่างกันอย่างไร?

ผมรู้สึกประหลาดใจและดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ยินคำถามนี้  เพราะผมอยากเขียนหัวข้อนี้มานานแล้ว  ที่ว่าอยากเขียนไม่ใช่เพราะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้หรอกครับ  แต่เป็นเพราะหัวข้อของหนังสือพุทธธรรม(ฉบับเดิม) ที่ผมใช้ศึกษาเรื่องกรรมอยู่นั้น  ตั้งชื่อว่า “หลักธรรมที่สืบเนื่องจากปฏิจจสมุปบาท” ครับ

ว่ากันว่าหลักธรรมทั้งหมดในพระพุทธศาสนานั้นสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกันหมด  และเป็นไปเพื่อจุดหมายเดียวกัน  ก็อยู่ที่ว่าท่านผู้แสดงจะหยิบยกเรื่องใด เพื่อจุดประสงค์ใดเท่านั้น

เรื่องกรรมก็เช่นเดียวกัน กรรมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของปฏิจจสมุปบาท  จะเป็นส่วนหนึ่งอย่างไร  ผมขอแสดงโดยการคัดลอกจากหนังสือพุทธธรรม(ฉบับเดิม) ควบคู่กับ หนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ มาร้อยเรียงกันดูท่าจะดีกว่า ซึ่งหนังสือทั้งสองเล่มนี้ผู้รจนาเป็นท่านผู้เดียวกันคือ พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตฺโต) ครับ ท่านผู้ใดที่ต้องการศึกษาหลักพระพุทธศาสนา  ผมแนะนำให้ศึกษางานของท่านเจ้าคุณฯ รับรองได้ว่าไม่หลงทางไปไหนแน่นอนครับ

เอาล่ะ เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า…

กรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเห็นได้ชัดเมื่อแยกส่วนในกระบวนการนั้นออกเป็น วัฏฏะ ๓ คือ กิเลส กรรม และ วิบาก หลักปฏิจจสมุปบาทแสดงถึงกระบวนการทำกรรมและการให้ผลของกรรมทั้งหมด ตั้งต้นแต่กิเลสที่เป็นเหตุให้ทำกรรม จนถึงวิบากอันเป็นผลที่จะได้รับ เมื่อเข้าใจปฏิจจสมุปบาทดีแล้ว ก็เป็นอันเข้าใจหลักกรรมชัดเจนไปด้วยหนังสือพุทธธรรม(ฉบับเดิม) หน้า ๑๖๐

ก่อนอื่นเราคงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า “ปฏิจจสมุปบาท” กับ “อิทัปปัจจยตา” มีความหมายเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

อิทัปปัจจยตา “ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย”, ความเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย, กระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย, กฎที่ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี,เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น; เป็นอีกชื่อหนึ่งของหลักปฏิจจสมุปบาทหรือ ปัจจยาการพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์

คราวนี้ก็ถึงคราวความหมายของปฏิจจสมุปบาท ซึ่งย้าวยาวแต่เคลียร์ครับ

ปฏิจจสมุปบาท [ปะ-ติด-จะ-สะ-หมุบ-บาด] “การที่ธรรมทั้งหลายอาศัยกัน เกิดขึ้นพร้อม”, สภาพอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น, การที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยต่อเนื่องกันมา มีองค์คือหัวข้อ ๑๒ ดังนี้
๑. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย สังขารจึงมี
๒. สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เพราะสังขาร เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
๓. วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ เพราะวิญญาณ เป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
๔. นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ เพราะนามรูป เป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
๕. สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส เพราะสฬายตนะ เป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
๖. ผสฺสปจฺจยา เวทนา เพราะผัสสะ เป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
๗. เวทนาปจฺจยา ตฺณหา เพราะเวทนา เป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
๘. ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ เพราะตัณหา เป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
๙. อุปาทานปจฺจยา ภโว เพราะอุปาทาน เป็นปัจจัย ภพจึงมี
๑๐. ภวปจฺจยา ชาติ เพราะภพ เป็นปัจจัย ชาติจึงมี
๑๑. ชาติปจฺจยา ชรามรณํ เพราะชาติ เป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี
โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสาสมฺภวนฺติ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงมีพร้อม
เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้จึงมีด้วยประการฉะนี้
ปฏิจจสมุปบาทที่ธรรมทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กันไปตามลำดับอย่างนี้ แสดงทุกขสมุทัยคือความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ จึงเรียกว่า สมุทัยวาร (พึงสังเกตว่า คำว่า สมุปบาท กับสมุทัย มีความหมายเหมือนกันว่า ความเกิดขึ้นพร้อม), เมื่อทุกข์เกิดขึ้นอย่างนี้ การที่จะดับทุกข์ ก็คือดับธรรมที่เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ ดังนั้น ท่านจึงแสดงกระบวนธรรมแบบที่ตรงข้ามไว้ด้วย คือ ปฏิจจสมุปบาทที่ธรรมอันเป็นปัจจัยดับต่อๆ กันไป (เริ่มตั้งแต่ว่า “เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ, เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ”) เป็นการแสดงทุกขนิโรธ คือความดับไปแห่งทุกข์ จึงเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทแบบนิโรธวาร ปฏิจจสมุปบาทนี้ บางทีเรียกชื่อเต็มเป็นคำซ้อนว่า อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท (ภาวะที่อันนี้ๆ มี เพราะอันนี้ๆ เป็นปัจจัย [หรือประชุมแห่งปัจจัยเหล่านี้ๆ] กล่าวคือการที่ธรรมทั้งหลายอาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม), ในคัมภีร์ท้ายๆ ของพระสุตตันตปิฎก และในพระอภิธรรมปิฎก มีคำเรียกปฏิจจสมุปบาทเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า ปัจจยาการ(อาการที่เป็นปัจจัยแก่กัน), เนื่องจากปฏิจจสมุปบาทแสดงอาการที่ธรรมทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กันต่อเนื่องไปเป็นวงจรหรือหมุนเป็นวงวน และเมื่อมองต่อขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ก็เห็นสภาพชีวิตของสัตว์ทั้งหลายที่เร่ร่อนว่ายวนเวียนไปในภพภูมิต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ก็ได้เกิดมีคำเรียกความเป็นไปตามปฏิจจสมุปบาทนั้นว่า “วัฏฏะ” (สภาพหมุนวน) บ้าง “สังสาระ” (การเที่ยวเร่ร่อนไป) บ้าง “สังสารวัฏฏ์” (วงวนแห่งการเที่ยวเร่ร่อนไป) บ้าง ตลอดจนคำในชั้นอรรถกถา ซึ่งบางทีเรียกปฏิจจสมุปบาทว่า “ภวจักร” และ “สังสารจักร”
ในการอธิบายหลักปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าเองก็ตรัสไว้ว่าเป็นธรรมลึกซึ้งนี้ พระอรรถกถาจารย์ได้พยายามชี้แจงโดยจัดองค์ ๑๒ ของปฏิจจสมุปบาทนั้น เป็นกลุ่มเป็นประเภทและเป็นช่วงๆ คือ
องค์ที่ ๑ อวิชชา องค์ที่ ๘ ตัณหา และองค์ที่ ๙ อุปาทาน สามอย่างนี้เป็น กิเลส,
องค์ที่ ๒ สังขาร และองค์ที่ ๑๐ ภพ สองอย่างนี้เป็น กรรม,
องค์ที่ ๓-๗ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา และองค์ที่ ๑๑–๑๒ ชาติ ชรามรณะ เจ็ดองค์นี้เป็นวิบาก,
เมื่อมองตามกลุ่มหรือตามประเภทอย่างนี้ จะเห็นได้ง่ายว่า กิเลสเป็นเหตุให้ก่อกรรม แล้วกรรมก็ทำให้เกิดผลที่เรียกว่าวิบาก (แล้ววิบากก็เป็นปัจจัยให้เกิดกิเลส), เมื่อมองความเป็นไปตลอดปฏิจจสมุปบาทครบทั้ง ๑๒ องค์ เป็นการหมุนวนหนึ่งรอบ ก็คือครบ ๑๒ องค์นั้น เป็นวัฏฏะ ก็จะเห็นว่าวัฏฏะนั้นแบ่งเป็น ๓ ช่วง คือช่วงกิเลส ช่วงกรรม และช่วงวิบาก เมื่อวัฏฏะมีสามช่วงอย่างนี้ ก็จึงเรียกปฏิจจสมุปบาทว่าเป็น ไตรวัฏฏ์ (วงวนสามส่วน หรือวงวนสามซ้อน) ประกอบด้วย กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ และวิปากวัฏฏ์, การอธิบายแบบไตรวัฏฏ์นี้ เป็นวิธีที่ช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้นอย่างน้อยในขั้นเบื้องต้น ต่อจากนั้น อธิบายให้ลึกลงไปโดยแยกแยะอีกชั้นหนึ่งว่า ในรอบใหญ่ที่ครบ ๑๒ องค์นั้น มองให้ชัดจะเห็นว่ามีไตรวัฏฏ์ต่อกัน ๒ รอบ คือ รอบที่ ๑ องค์ที่ ๑ อวิชชา เป็นกิเลส, องค์ที่ ๒ สังขาร เป็นกรรม, องค์ที่ ๓-๗ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา เป็นวิบาก,
รอบที่ ๒ องค์ที่ ๘ ตัณหา และองค์ที่ ๙ อุปาทาน เป็นกิเลส, องค์ที่ ๑๐ ภพ เป็นกรรม, องค์ที่ ๑๑–๑๒ ชาติ ชรามรณะ เป็นวิบาก, จากนั้นอธิบายต่อไปว่า องค์ที่เป็นกิเลส เป็นกรรม เป็นวิบาก
ในรอบที่ ๑ มองดูแตกต่างกับองค์ที่เป็นกิเลส เป็นกรรม เป็นวิบาก ในรอบที่ ๒ แต่ที่จริง โดยสาระไม่ต่างกัน ความแตกต่างที่ปรากฏนั้น คือการพูดถึงสภาวะอย่างเดียวกันแต่ใช้ถ้อยคำต่างกัน เพื่อระบุชี้องค์ธรรมที่ออกหน้ามีบทบาทเด่นเป็นตัวแสดงในวาระนั้น ส่วนองค์ธรรมที่ไม่ระบุ ก็มีอยู่ด้วยโดยแฝงประกบอยู่หรือถูกรวมเข้าไว้ด้วยคำสรุปหรือคำที่ใช้แทนกันได้ เช่น ในรอบ ๑ ที่ระบุเฉพาะอวิชชาเป็นกิเลสนั้น ที่แท้ตัณหาอุปาทานก็พ่วงพลอยอยู่ด้วย ส่วนในรอบ ๒ ที่ว่าตัณหาอุปาทานเป็นกิเลส
นั้น ในขณะที่ตัณหาอุปาทานเป็นเจ้าบทบาทออกโรงอยู่ ก็มีอวิชชาอยู่เบื้องหลังตลอดเวลา, ในรอบ ๑ ที่ยกสังขารขึ้น
มาระบุว่าเป็นกรรม ก็เพราะเน้นที่การทำงาน ส่วนในรอบ ๒ ที่ระบุว่าภพเป็นกรรม ก็เพราะจะให้มองที่ผลรวมของงานที่ทำคือกรรมภพ, และ ชาติ ชรามรณะ ที่ว่าเป็นวิบากในรอบ ๒ นั้น ก็หมายถึงการเกิดเป็นต้น ของวิญญาณ นามรูป ฯลฯ ที่ระบุว่าเป็นวิบากในรอบ ๑ นั่นเอง ดังนี้เป็นต้น
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์

แหม เพิ่งรู้ว่าพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ นั้นมีประโยชน์อย่างไม่น่าเชื่อ  ก็ไม่รู้ว่าจะคลายข้อข้องใจท่านผู้ปุจฉาได้แค่ไหน
สรุปว่ากรรมเป็นส่วนหนึ่งของอิทัปปัจจยตา ส่วนจะให้อธิบายให้พิสดารจากความเข้าใจตัวเองนั้น ขอบอกว่า…ไม่สามารถครับ อิอิ

« « Prev : เซเว่น…กูไม่เชื่อมึงครับ!

Next : สู่หนใด? » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

8 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 October 2009 เวลา 7:19 pm

    ขอบคุณที่เอาธรรมมาสกิดสติให้น้อมนำมาพิจารณาให้มากขึ้น

  • #2 Nothing ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 October 2009 เวลา 7:43 pm

    ยินดีครับพี่บางทราย
    เรื่องเหล่านี้ เช่น ปฏิจจสมุปบาท, อิทัปปัจจยตา ผมไม่ค่อยกล้าที่จะอธิบายด้วยตัวเองมากนัก เพราะเป็นเรื่องที่ยากและเป็นเรื่องใหญ่เกินสติปัญญาของผมเอง  แต่คิดว่าคงดีถ้าคนที่ไม่เคยได้ยินเรื่องเหล่านี้จะได้เตะตาบ้าง  เพราะก่อนที่ผมจะได้ยินเรื่องเหล่านี้ก็ใช้เวลานานเหมือนกัน  และเมื่อพอได้ยินและได้อ่านมาบ้างว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นทั้งหมดของพุทธศาสนา(จะเรียกว่าครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง)ก็ว่าได้ครับ

  • #3 นักการหนิง ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 October 2009 เวลา 8:51 pm

    ขอบพระคุณมากๆ ค่ะ แต่ตาล้าย ตาลาย ขอพิมพ์ออกมาบนหน้ากระดาษออกมาอ่านก่อนนะคะ

    แล้วถามหน่อยค่ะ จุดล่าง จุดบนอ่านอย่างไรคะ งง  จำได้ัว่าครูเคยสอนแต่ไม่จำ เอ พูดอย่างไง งงใหญ่

    แปะก่อนนะคะอ่านและทำความแล้วจะมาเสวนาด้วย  ตอนนี้ขอผู้รู้ทั้งหลายให้ความคิดเห็นกันก่อนนะ  นักการหนิงขอแปะจริงๆ ฮี่ ฮี่ ฮี่ ๆๆๆๆ

  • #4 จอมป่วน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 October 2009 เวลา 10:20 pm

    ขอบคุณมากครับสำหรับบันทึก

    หนิงจะมาชิงฉายาจอมแปะจากเบิร์ดเหรอ? อิอิ

  • #5 Nothing ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 October 2009 เวลา 12:10 am

    คุณหนิงครับ
    ผมก็อ่านไม่ออกเหมือนกันครับ  ไม่เคยมีใครสอนผม  อ่านได้บางคำ  แต่ก็เคยพยายามเหมือนกันนะครับ  แต่สุดท้ายก็หยุดไว้เพราะยังไงก็แปลไม่ออกอยู่ดี

    แต่ถามมาจะตอบไป  เพราะในหนังสือพจนานุกรมเล่มเดียวกันท่านสอนไว้ด้วย ดังนี้ครับ

    วิธีอ่านคำบาลี

    ภาษาบาลีเป็นภาษาที่บรรจุพระพุทธศาสนาไว้อย่างครบถ้วน ผู้นับถือพระพุทธศาสนาจึงควรจะรู้ภาษาบาลีพอสมควร หรืออย่างน้อยก็ควรจะรู้วิธีอ่านคำบาลีให้ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการอ่านคำศัพท์ธรรมบัญญัติจำนวนมาก ที่ยืมจากภาษาบาลี (และสันสกฤต) มาใช้ในภาษาไทย เช่น อนุปุพพิกถา, ปฏิจจสมุปบาท

    การเขียนภาษาบาลีด้วยอักษรไทยและวิธีอ่าน
    ๑. รูปสระ เมื่อเขียนภาษาบาลีด้วยอักษรไทย สระทุกตัว (ยกเว้น สระ อ) มีทั้งรูป “สระลอย” (คือสระที่ไม่มีพยัญชนะต้นประสมอยู่ด้วย) และรูป “สระจม” (คือสระที่มีพยัญชนะต้นประสมอยู่ด้วย) ให้ออกเสียงสระตามรูปสระนั้น เช่น อาภา [อา-พา], อิสิ [อิ-สิ], อุตุ [อุ-ตุ] ทั้งนี้ก็เช่นเดียวกับในภาษาไทย
    ข้อพิเศษที่แปลกจากภาษาไทย คือ “สระ อ” จะปรากฏรูปเมื่อเป็นสระลอย และไม่ปรากฏรูปเมื่อเป็นสระจม ให้ออกเสียงเป็น [อะ] เช่น อมต [อะ-มะ-ตะ]
    นอกจากนี้ “ตัว อ” ยังใช้เป็นทุ่นให้สระอื่นเกาะ เมื่อสระนั้นใช้เป็นสระลอย เช่น เอก [เอ-กะ], โอฆ [โอ-คะ]

    ๒. รูปพยัญชนะ พยัญชนะเมื่อประสมกับสระใด ก็จะมีรูปสระนั้นปรากฏอยู่ด้วย (ยกเว้นเมื่อประสมกับสระ อ) และให้ออกเสียงพยัญชนะประสมกับสระนั้น เช่น กรณีย [กะ-ระ-นี-ยะ]
    พยัญชนะที่ใช้โดยไม่มีรูปสระปรากฏอยู่ และไม่มีเครื่องหมาย ฺ (พินทุ) กำกับ แสดงว่าประสมกับสระ อ และให้ออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมกับ [อะ] เช่น รตน [ระ-ตะ-นะ]
    ส่วนพยัญชนะที่มีเครื่องหมาย ฺ (พินทุ) กำกับ แสดงว่าไม่มีสระใดประสมอยู่ด้วย ให้ออกเสียงเป็นตัวสะกด เช่น ธมฺม [ทำ-มะ], ปจฺจตฺตํ [ปัด-จัด-ตัง] หรือตัวควบกล้ำ เช่น พฺรหฺม[พ๎ระ-ห๎มะ] แล้วแต่กรณี ในบางกรณี อาจต้องออกเสียงเป็นทั้งตัวสะกดและตัวควบกล้ำ เช่น ตตฺร [ตัด-ต๎ระ], กลฺยาณ [กัน-ล๎ยา-นะ]
    อนึ่ง รูป เอยฺย มักนิยมออกเสียงตามความสะดวก เป็น [ไอ-ยะ] ก็มี หรือ [เอย-ยะ] ก็มี เช่น ทกฺขิเณยฺย ออกเสียงเป็น [ทัก-ขิ-ไน-ยะ] หรือ [ทัก-ขิ-เนย-ยะ] เมื่อยืมเข้ามาใช้ในภาษาไทย จึงปรากฏว่ามีใช้ทั้ง ๒ รูป คือ ทักขิไณย(บุคคล) และ ทักขิเณยย(บุคคล)

    ๓. เครื่องหมายนิคหิต เครื่องหมาย ํ (นิคหิต) ต้องอาศัยสระ และจะปรากฏเฉพาะหลังสระ อ, อิ หรือ อุ ให้ออกเสียงสระนั้นๆ (เป็น [อะ], [อิ] หรือ [อุ] แล้วแต่กรณี) และมี [ง] สะกด เช่น อํส [อัง-สะ], เอวํ [เอ-วัง], กึ [กิง], วิสุํ [วิ-สุง]

    ตัวอย่างข้อความภาษาบาลีและวิธีอ่าน มีดังนี้
    สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา
    [สับ-พะ-ปา-ปัด-สะ] [อะ-กะ-ระ-นัง] [กุ-สะ-ลัด-สู-ปะ-สำ-ปะ-ทา]
    สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ
    [สะ-จิด-ตะ-ปะ-ริ-โย-ทะ-ปะ-นัง] [เอ-ตัง] [พุด-ทา-นะ] [สา-สะ-นัง]

    การอ่านคำที่มาจากภาษาบาลี (และสันสกฤต)

    หลักพื้นฐานดังกล่าวข้างต้นอาจนำมาประยุกต์กับการอ่านคำไทยที่มาจากภาษาบาลี (และสันสกฤต) โดยอนุโลม แต่ยังต้องดัดแปลงให้เข้ากับรูปคำและวิธีออกเสียงแบบไทยด้วย เช่น การออกเสียงอักษรนำในคำว่า สมุทัย [สะ-หมุ-ไท] แทนที่จะเป็น [สะ-มุ-ไท]
    นอกจากนี้ หากจะออกเสียงให้ถูกต้องตามความนิยมในวงการศึกษาพระพุทธศาสนา ผู้อ่านต้องมีความรู้เพิ่มเติมว่า รูปเดิมของศัพท์คำนั้นเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องทราบว่า พยัญชนะตัวใดมีพินทุกำกับด้วยหรือไม่ เช่น ปเสนทิ มีรูปเดิมเป็น ปเสนทิ จึงต้องอ่านว่า [ปะ-เส-นะ-ทิ] ไม่ใช่ [ปะ-เสน-ทิ] แต่ อนุปุพพิกถา มีรูปเดิมเป็น อนุปุพฺพิกถา จึงต้องอ่านว่า [อะ-นุ-ปุบ-พิ-กะ-ถา] ไม่ใช่ [อะ-นุ-ปุบ-พะ-พิ-กะ-ถา] หรือ ปฏิจจสมุปบาท มีรูปเดิมเป็น ปฏิจฺจสมุปฺปาท จึงต้องอ่านว่า [ปะ-ติด-จะ-สะ-หมุบ-บาด] ไม่ใช่ [ปะ-ติด-จะ-สะ-หมุบ-ปะ-บาด]

    ว่าแล้วก็อย่าลืมพิมพ์ออกหน้ากระดาษมาอ่านอีกนะครับ เพราะอ่านแล้วมันตาลายครับ อิอิ

  • #6 Nothing ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 October 2009 เวลา 12:14 am

    สวัสดีครับคุณหมอจอมป่วน
    ขอบคุณครับที่เข้ามาอ่าน  ทั้งๆ ที่อ่านเสร็จแล้วอาจทำให้ตาลายได้
    เรื่องฉายาจอมแปะนี่ ผมกำลังนับอยู่ครับว่าใครใช้คำว่าแปะมากที่สุด ซึ่งรวมทั้งไม้ยมกด้วย  ถ้าตัดสินได้แล้วจะให้คุณหมอเป็นผู้มอบฉายาให้ครับ อิอิ

  • #7 นักการหนิง ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 October 2009 เวลา 9:13 pm

    ธรรมะของพระพุทธองค์นั้นลึกซึ้งยิ่งนัก

    และขอบอกค่ะ นอกจากพิมพ์ออกมาอ่านแล้วยัง คัดลอกเก็บไว้ด้วยค่ะ 

    แต่ฉายาจอมแปะไม่ใช่นักการหนิงแน่นอน พึ่งแปะครั้งแรกเองไม่เหมือนหมอเบิร์ดหรอกค่ะ

    ที่อรรถาธิบายมานั้นทำให้เข้าใจความเป็นไปของสัตว์โลกเป็นอย่างมาก ได้ประโยชน์ต่อการศึกษาธรรมมะในลำดับต่อๆ ไปมากเลยค่ะ  ที่ผ่านมางูๆ ปลาๆ ชัดๆ   แถมเป็นงูๆ ปลาๆ ที่เกือบจะเป็นชาวพุทธแต่ชื่อ อย่าว่าแต่ปฏิบัติอย่างถูกต้องเลย พื้นฐานก็ยังไม่มีอีก ยังไม่พอไปเห็นคนอื่นเขาไหว้พระก็ว่าเขาได้แต่กระพี้ แต่จริงๆ แล้วคนว่านั่นแหล่ะ ค่ะ ไม่ได้ทั้งเปลือกและกระพี้

    ตอนนี้ก็ไม่ได้ไปสวดมนต์อะไรตามวัดวาต่างๆ ค่ะ แต่หากเมื่อใดต้องการสวดมนต์ก็จะสวดในใจนิ่งๆ  ไป

    ขอบพระคุณมากนะคะ สำหรับวิสัชนาที่ให้มา เพราะได้เป็นปัจจัยส่งต่อในการศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรมะมากยิ่งขึ้นและต่อเนื่องยิ่งขึ้น  และก็หากสงสัยสิ่งใดก็จะมาปุฉาอีกค่ะ คงไม่รังเกียจ ถึงรังเกียจก็จะปุจฉา อิอิ

  • #8 Nothing ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 October 2009 เวลา 11:42 pm

    นักการหนิงครับ

    งั้นเอาเป็นว่าฉายาจอมแปะมอบให้หมอเบิร์ดแล้วกัน  รอให้คุณหมอจอมป่วนมอบให้เป็นทางการอีกที อิอิ

    ท่านว่าสิ่งที่พระพุทธองค์สอนเรานั้นสรุปลงที่กายกับใจ หรือ รูปกับนาม เท่านั้น(เช่น ขันธ์ ๕ เป็นต้น) ถ้านอกเหนือจากนั้นไม่จำเป็นต่อการพ้นทุกข์ครับ
    คนเราเดี๋ยวนี้เที่ยวตระเวนไหว้พระไปทั่ว มันไม่ได้อะไรหรอกครับ มีแต่ศรัทธาแต่ขาดปัญญากำกับก็เสียเวลาเปล่าครับ ก็ธรรมะมันอยู่ที่กายกับใจเรา เราไปไหนมันไปด้วย แล้วจะไปที่อื่นให้เสียเวลาทำไม
    บางคนสวดมนตร์เพื่อหวังว่าเทวดาได้ฟังแล้วจะคุ้มครอง ซึ่งกลายเป็นพึ่งปาฏิหาริย์ไป อย่าลืมว่าเทวดาก็ยังไม่พ้นทุกข์นะครับ เอาเป็นที่พึ่งบ่ได้  ผมเชื่อว่าบทสวดมนตร์ที่พระท่านสวดนั้นเป็นเทคนิคในการรักษาคำสอนให้อยู่ยาวนานจนถึงปัจจุบันเป็นเหตุผลหลักครับ

    และอานิสงส์ของการสวดมนตร์ก็เป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่งเช่นกัน  จะเกิดปาฏิหาริย์อย่างไรหรือไม่ก็อยู่ที่กำลังสมาธิของเราเท่านั้น
    จะสวดมนตร์สองสามจบเพื่อเอาลาภน่าจะหวังสูงไปนะครับ เพราะแม้แต่ความหมายยังไม่เข้าใจ  ถ้าใครแอบแต่งบทสวดแล้วด่าเราเป็นภาษาบาลีก็คงสนุกพิลึก

    จริงๆ แล้วพุทธศาสนาเราท่านเน้นให้ปฏิบัติครับ ถึงเราไม่รู้บาลีสักตัว ท่องมนตร์ไม่ได้สักบท หากปฏิบัติถูกทางก็ถึงจุดหมายเช่นเดียวกัน  ปัญหาอยู่ที่ว่าเรื่องเหล่านี้เรารู้เองไม่ได้ ต้องพึ่งกัลยาณมิตร

    อย่างเราๆ คงศึกษาปริยัติพอหอมปากหอมคอคงพอกระมังครับ  เอาเวลาปฏิบัติให้มากน่าจะดีกว่า…ก็อย่างที่คุณนักการหนิงบอกว่ากำลังศึกษาการดูจิตอยู่ยังไงล่ะครับ

    ส่วนถ้ามีคำถามอะไรอีกก็ถามได้ครับ…ผมจะไปค้นมาให้ อิอิ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.20625782012939 sec
Sidebar: 0.053646087646484 sec