สู่หนใด?
อ่าน: 1678เมื่ออายุมากขึ้น ประสบการณ์มากขึ้น จากสิ่งที่ไม่เคยรู้ก็ได้รู้ สิ่งที่รู้น้อยก็รู้มากขึ้น แต่ปัญหาก็อยู่ที่ว่าเรารู้และทำไปเพื่ออะไร?
ทำเพื่อที่จะให้มีในสิ่งที่ไม่เคยมี?
ทำเพื่อให้มีมากขึ้น?
ทำให้รวยขึ้น?
ทำให้มีชื่อเสียงเกียรติยศมากขึ้น?
ทำให้หายสงสัย?
ทำเพราะความเคยชิน?
ทำเพราะอยากทำ?
ทำเพื่อการกุศล?
ทำเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์?
ฯลฯ
ผมคิดเอาเองว่าคนเราทำทุกอย่างก็เพื่อความสุข หรืออย่างน้อยก็หวังว่ามันจะทำให้เราได้รับความสุข แต่ปัญหาก็อยู่ที่ว่าสุขที่เราคาดหวังหรือได้รับในขณะนั้นๆ มันคือสุขจริงๆ หรือไม่
หรือเมื่อเราทำอย่างนั้นบ่อยๆ แล้ววันหนึ่งผลลัพธ์ที่คิดว่าสุขนั้นมันสะสมก่อตัวรวมกันเป็นงูพิษตัวใหญ่ ที่กลับมาฉกกัดเรายามที่เราเผลอหรืออ่อนแรง
ที่คุยมามิใช่จะเอาข้อธรรมอะไรมานำเสนอหรอกครับ แต่อยากชวนคุยเพราะผมได้เห็นผลลัพธ์กับคนที่รู้จักสองสามครอบครัว บางครอบครัวสมัยก่อนนั้นขยันทำมาหากิน หนักเอาเบาสู้ จนประสบความสำเร็จด้านฐานะ และเกียรติยศชื่อเสียง บางครอบครัวถึงแม้จะขยันแต่ในทางสังคมแล้วก็ไม่ได้เป็นหน้าเป็นตาอะไร
กาลเวลาผ่านไปเมื่อเขาเหล่านั้นเริ่มสู่วัยใกล้เกษียณ ถึงเวลาที่จะต้องเก็บดอกผลที่ฟูมฟักมาหลายปี แทนที่จะได้พักผ่อน ไม่ต้องดิ้นรนเหนื่อยล้าเรื่องปากท้องอีกต่อไป ครอบครัวที่ถือว่าประสบความสำเร็จทางสังคมกลับก่อปัญหาใหม่เพิ่มให้ตัวเอง เพราะเสพติดการทำงาน คืออยู่ว่างไม่เป็นเสียแล้ว เพราะคิดว่าการอยู่เฉยๆ เป็นการขี้เกียจ และอีกทางก็คิดว่าก็ฉันเหนื่อยมามากฉันก็ต้องได้รับรางวัลของฉันบ้าง ถึงครานี้แหละครับงูเห่าตัวเขื่องก็เริ่มแผลงฤทธิ์ จากไม่เคยเที่ยวก็เที่ยว จากไม่เคยมีบ้านเล็กบ้านน้อยก็เริ่มมี ใครจะตัดพ้อต่อว่ายังไงก็ไม่สน ฉันโตแล้ว เงินฉัน ฉันจะเสพย์ความสุขของฉันใครจะทำไม?
เมื่อเกิดปัญหาเหล่านี้ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน เพราะต่างก็เก่งด้วยกันทั้งคู่ ยอมกันไม่ได้ ความรักที่เคยมีไม่รู้หายไปไหน ถึงขั้นหย่าร้าง แยกกันอยู่ แยกสมบัติกันก็มี ฝ่ายลูกหลานแม้จะพยายามทำทุกทางก็ไม่สำเร็จ…ก็ใครจะทำไมเล่า ฉันโตแล้ว ทุกอย่างฉันสร้างมากับมือ พวกแกเป็นเด็ก ต้องพึ่งพาฉัน จะมาสอนฉันไม่ได้ พวกแกแหละต้องฟังฉัน
ในขณะที่อีกครอบครัว แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ร่ำไม่รวย อยู่ตามประสาชาวบ้านธรรมดา แม้อยากรวยก็ไม่สามารถ และยอมรับสภาพที่มันเป็น เมื่อถึงช่วงวัยที่ใกล้จะพักผ่อน เขากลับเห็นโลกตามความเป็นจริง ทั้งคู่กลับเห็นใจกันมากขึ้น ต่างขอบใจกันที่อยู่ด้วยกันมานาน และกล้าหาญที่จะพูดว่าถ้าตายไปก็ไม่ห่วงอะไรอีกแล้ว การพูดแบบนี้ พูดแบบธรรมชาติของคนธรรมดาที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไร ผมเชื่อได้เลยว่านักปฏิบัติธรรมหลายคนคงอายไปตามๆ กัน
ที่รำพึงมาทั้งหมดก็แค่อยากบอกว่า คนเราสะสมอะไรก็ได้สิ่งนั้น ปลูกมะละกอจะได้ผลเป็นมะม่วงย่อมเป็นไปไม่ได้ ถึงเวลานั้นอยากกินมะม่วงใจจะขาดก็ไม่สามารถกินได้
ปัญหาอยู่ที่ว่าเรารู้หรือไม่ว่าเรากำลังปลูกและรดน้ำพรวนดินต้นอะไรอยู่?
« « Prev : Karma Therapy: ๒.กรรมกับอิทัปปัจจยตา
10 ความคิดเห็น
ยังไม่มีเวลาแลกเปลี่ยนหรอกครับ แต่ชอบ ให้สติดีครับ
สวัสดีครับพี่บางทราย
ไม่มีเวลาก็ไม่เป็นไรครับ แค่แวะมาก็ดีใจแล้วครับ
เพราะผมเห็นตัวอย่างที่ใกล้ตัว ก็เลยอยากเล่าให้ฟัง เพราะคนที่คิดว่าตนดีแล้ว ประสบความสำเร็จแล้ว นั่นแหละอัตตาเต็มที่เลยครับ
ที่สำคัญแก้ยากเสียด้วยซีครับ
เห็นคำถามตรงใจและใช้บ่อย เลยอดแวะมาบอกไม่ได้ ว่าเป็นคำถามที่ตามหาคำตอบให้ตัวเองอยู่ทุกเมื่อเวลาลงมือทำอะไร “ทำไปเพื่ออะไร”
แล้วคำตอบมันออกมาต่างๆแล้วแต่เวลาและสถานที่
ได้คำตอบแล้ว คำถามก็จะยุติลง พอเปลี่ยนเวลาและสถานที่ไปก็แวะเวียนมาถามใหม่ เรื่อยไป
มีอีกคำถามหนึ่งที่ถามตัวเองบ่อยครั้ง ซึ่งน่าจะตรงกับความหมายที่บันทึกนี้ชี้ชวนให้หาคำตอบ คำถามนั้นคือ “ชีวิตทุกวันนี้คงอยู่เพื่ออะไร”
แวะมาสวัสดีค่ะ
คิดถึงโลกธรรม อิอิ
เป็นคำถามที่ถามตัวเองเหมือนกัน แต่ก็คิดหาคำตอบแบบงง งง นั้นซินะ เรารู้และทำไปเพื่ออะไร?
มันแล้วแต่เรื่องเหมือนกันค่ะ บางเรื่องทำเพราะว่ามันส์ดี (เช่นตอบบันทึกของคุณธรรมาวุธ รู้สึกมันส์ดีก็ทำ ถ้าไม่มันส์ก็ไม่ทำ) เห็นเหตุว่าเริ่มต้นจากต้วมันส์ ลงท้ายทำแล้วก็มันส์ แต่ผลปลายสุดไม่รู้อาจจะไม่มันส์ ก็ไม่เป็นไรตอนนั้นยังมาไม่ถึง คิดไปก็ไม่ได้เรื่องเพราะยังมาไม่ถึง ตอบไปแล้วเอาคืนไม่ได้ ความมันส์ที่มีตอนตอบก็ไม่เหมือนตอนกดคลิกตกลงส่งความเห็นและเอามาคาดหวังต่ออีกก็ไม่ได้ว่าคราวหน้าจะมันส์อีกไหม ความมันส์ตอนพิมพ์ตัวอักษรตอนแรกกับตอนสุดท้ายนี่ก็ระดับต่างกัน คราวหน้าย้อนมาอ่านก็คงต่างกันอีก..แต่คำว่า อิอิ ที่ต่อท้าย..ทำเพราะเคยชินไม่ใช่มันส์…อิอิ
สวัสดีครับหมอเจ๊
จริงๆ แล้วสิ่งที่เราคุยๆ กันก็หนีไม่พ้นเรื่องของกรรมครับ
ถ้าตั้งโจทย์ถูกก็มีโอกาสได้คำตอบที่ถูก ถ้าตั้งโจทย์ผิดโอกาสได้คำตอบที่ถูกก็ยาก
สิ่งที่เราทำในอดีตและปัจจุบันมีผลต่ออนาคตทั้งนั้น ทั้งนี้ก็แล้วแต่ความหนักเบาของกรรมที่จะแสดงผลก่อนหลังหรือไม่แสดง
ถ้าหากถามว่า “เราเกิดมาทำไม” หรือ “เราอยู่ไปเพื่ออะไร?” ทางพระพุทธศาสนาจะตอบว่า อยู่เพื่อพ้นทุกข์ คืออยู่เพื่อทำกรรมให้อยู่เหนือทุกข์และสุข(จริงๆ แล้วสุขก็คือทุกข์นั่นแหละ)
ผมสังเกตุเห็นว่าคนเราทั่วไปมักละเลยการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การพูดโกหกเล็กๆ น้อยๆ การฆ่าสัตว์ตัวเล็กๆ การผูกใจอาฆาตพยาบาท การโกงคนอื่นโดยทางอ้อม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการสะสมอกุศลกรรมทีละนิดๆ จนเมื่องูพิษโตเต็มที่มันก็กัดเอาจนรักษาไม่ได้
จึงไม่แปลกใจเลยนะครับว่าบางคนเมื่อก่อนเป็นคนสุภาพ ดูดี พูดเพราะ เยือกเย็น น่าคบ อยู่มาวันหนึ่งเมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็กลายเป็นปีศาจไปได้
คุณหมอจอมป่วนครับ
แหม ชอบมาพูดสั้นๆ แต่ให้ตีความกันยาวๆ นะครับ ไอ้ผมก็บ้าจี้เสียด้วย
ว่าแล้วก็เปิดดูความหมายของ โลกธรรม ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ซะเลย
“โลกธรรม ธรรมที่มีประจำโลก, ธรรมดาของโลก, ธรรมที่ครอบงำสัตวโลกและสัตวโลกก็เป็นไปตามมัน มี ๘ อย่างคือ มีลาภ ไม่มีลาภ มียศ ไม่มียศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์”
มันเป็นธรรมดาของโลกที่ต้องรู้เท่าทันจริงๆ นะครับ ถ้าเราหลงว่าสิ่งเหล่านี้มันเที่ยงแท้ เมื่อเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเมื่อไรก็ทุกข์เมื่อนั้น แต่ถ้าอยู่กับมันแบบรู้เท่าทัน เราก็อยู่เป็นสุขบนโลกใบนี้ได้แม้โลกจะลุกเป็นไฟใช่ไหมครับ
คุณนักการหนิงครับ
ผมว่าในชีวิตประจำวันเราจะทำอะไรก็ทำไปเถอะครับ โลกจะประเมินว่าอย่างไรก็ช่าง แต่อย่าผิดศีลเป็นพอ
แต่ถ้าให้ดีที่สุดเราควรฝึกหัดปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันให้มากไว้ ถ้าทำได้ถูกทาง งูพิษมันก็ฝ่อตายไปเอง ทีนี้เราก็ไม่ต้องกังวลอนาคตอีกต่อไป ปลูกมะม่วงแล้วจะได้มะพร้าวก็ให้มันรู้ไป อิอิ
อุ๊ยจั๋นตาครับ
ผมนับความมันส์ของอุ๊ยจั๋นตาได้ ๑๐ มันส์ แสดงว่ามันส์จริงๆ อิอิ
ผมว่าความมันส์ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง ถ้าเรามันส์ด้วยเจตนาดีก็ถือว่ากรรมดี และถ้ามันส์แล้วมีความสุขก็ได้สองเด้ง
ทั้งมันส์ ทั้งเจตนาดี ทั้งมีความสุข แล้วจะไม่มันส์ได้อย่างไรล่ะครับ
อ้อ ระวังนะครับ แถวนี้ใครที่ชอบพูดอะไรซ้ำๆ จะมีบุรุษท่านนึงชอบตรวจจับแล้วมอบฉายาให้ ระวังจะเป็นจอมมันส์นะครับ เดี๋ยวจะหาว่าบ่าวไม่เตือน อิอิ