เพื่อนร่วมงาน 1
หน่วยงานที่นักการหนิงสังกัด ชื่อว่าเทศบาลนครพิษณุโลก เป็นองค์กรหนึ่งที่มีการพัฒนารุดหน้าไปหลายๆ เรื่องมาก แต่นั่นแหล่ะ กงล้อของงอค์กรที่หมุนเร็ว ก็ทำให้ผู้คนบอบช้ำ และยิ่งทุกคนมีคอมพิวเตอร์ประจำโต๊ะใครโต๊ะมัน การสื่อสารที่ว่าเป็นศาสตร์และศิลปะ กับยากยิ่งขึ้นนัก สำนักการช่างก็เช่นกัน โดยเฉพาะยิ่งแบ่งเป็นส่วนๆ คือแบ่งส่วนการงานภายในเป็นอีก 4 ส่วน มีผู้อำนวยการส่วนแต่ละส่วนรับผิดชอบภารงานของแต่ละส่วน ยิ่งทำให้การสื่อสารภายในยากมากขึ้น ทั้งการสื่อสารภายในรูปแบบและการสื่อสารนอกรูปแบบ
กล่าวคือ เปรียบเทศบาลนครพิษณุโลกเป็นกองทัพ สำนักการช่างก็เป็นหน่วยหนึ่งในกองทัพ แบ่งออกเป็นหน่วยรบ คือหน่วยที่จะทำให้องค์กรได้ชัยชนะคือบรรลุพันธกิจ นั่นคือกลุ่มช่าง และหน่วยสนับสนุน คือหน่วยของธุรการและการเงิน หน่วยรบจะรบได้ดี หน่วยสนับสนุนต้องเข้มแข็ง นี่คือสิ่งที่นักการหนิงคำนึงถึงตลอด และนักการหนิงเองก็อยู่ในส่วนของหน่วยสนับสนุน
จากเมื่อปีก่อนๆ นักการหนิงได้รับการพัฒนาในหลักสูตรกระบวนกร ที่สวนป่าครูบาสุทธินันท์ และที่ KM ที่มีชีวิตที่วงน้ำ เป็นหลักสูตรของมูลนิธิสังคมวิวัฒน์ รวมทั้งการผ่านกระบวนการสุนทรียสนทนา หลายๆ รอบที่เกิดในสังคมจังหวัดพิษณุโลก… มาเอ๊ะว่า ที่เราผ่านๆ มานี้ จะนำมาปรับใช้ แบบว่า ปรับใช้จริงๆ ไปเลยได้ไหม คำถามที่เกิดขึ้นในใจหลังจากที่ไปช่วยนักการอิ่ม จัดอบรมจิตวิวัฒน์ให้กับโรงพยาบาลพุทธชินราช ผู้คนก็มักคิดว่า จะสุนทรียสนทนาได้ก็ต้องอบรมก่อน .. จริงหรือ
จนกระทั่งเมื่อปี 2552 น้องชายของนักการหนิงได้เสียชีวิตไป.. ช่วงเวลานั้น นักการหนิงได้รับหนังสือของหลวงพ่อปราโมท์ ปราโมชโช จึงได้ศึกษาธรรมะมา อย่างต่อเนื่อง
จิตใจหลายส่วนค่อยๆ คลี่คลายผลิบาน
นักการหนิงเริ่มถักทอ หล่อเลี้ยง สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนหลายๆ คนในสำนักการช่าง รวมถึงคนที่ไม่ค่อยเอาไหน ในสายตาของเรา ถักทอด้วยความรู้สึกแห่งเมตตา
สำนัำกการช่าง มีบุคลากรหลักคือช่างโยธา วิศวกร สถาปนิก ช่างสำรวจ ช่างไฟฟ้า และมีบุคลากรสนับสนุนคือธุรการ บุคลากรของสำนักการช่างจึงเป็นผู้ชายเป็นส่วนใหญ่
พวกเขาไม่ค่อยมีปัญหาเหมือนพวกผู้หญิง จริงหรือ
พวกผู้ชายไม่ค่อยหยุมหยิม เรื่องมากเหมือนผู้หญิง ไม่ต้องสนใจจิตใจอะไรมากมายก็ได้ จริงหรือ
สำนักการช่างแตกแยกเป็นส่วนๆ ไม่มีใครจริงใจต่อกัน จริงหรือ
จากการสัมผัส สัมพันธ์ อย่างมีจิตใจที่เอื้ออาทร พบว่า พวกเขารู้สึกบอบช้ำเช่นกัน พวกเขามีท้อแท้ พวกเขารู้สึกเพียงแค่อยู่รอด มีน้อยคนที่มีความรู้สึกว่า อยู่ร่วม พวกเขานับถอยหลังวันเวลา รอเวลาให้ใบไม้ผลัดใบ หวังว่าหลังจากที่ใบไม้หลายใบผลัดไป พวกเขาจะมีความรู้สึกที่ดีขึ้น
เขาก็เหมือนกบเลือกนายเช่นนั้นหรือ
ลองค่อยๆ ใช้ใจที่ผลิบานนั้น พูดคุยสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน … ฟังมากกว่าพูดนะ และพูดเล่นมากกว่าพูดจริง แต่ดูจิตตัวเอง งดเว้นการดูผู้อื่น …
ไม่นานนัก … บรรยากาศดูจะสบายๆ ขึ้น
คนในสำนักช่างชอบงานปาร์ตี้ แต่ที่ผ่านๆ มาไม่มีใครเป็นตั้งตัวตี หลายๆ เีสียงเริ่มเรียกร้อง… นักการหนิงจึงตัดสินใจจัดปาร์ตี้ กินนอนนอกสถานที่ดู ครั้งแรกไปบ้านญาติของนักการอิ่มที่เขาคล้อ มีแนวหน้ากล้าตายไปร่วมชะตากรรมด้วย 16 ชีวิต
ตึ๊ก ขวาน บั๊ม ขนเครื่องดนตรีไป มีกลองชุด กีตาร์และเบส สมรขนคาราโอเกะและอาหารการกินไป … ป๋องพาแฟนไป .. มีหลายคนพาลูกไป เราเก็บเงินกันคนละ 450 บาท บรรดาลูกๆ เก็บคนละ 100 บาท
บรรยากาศ .. เริ่มตั้งแต่เตรียมสถานที่ เพราะบ้านที่ไปกันถูกปิดทิ้งไว้เป็น กางเต็ณฑ์ และเตรียมทำอาหารกินกัน
พอเริ่มค่ำๆ วงดนตรีก็เริ่มบรรเลง บรรเลงกันเอง ร้องกันเอง เล่นกันเอง ..ดูดูแล้วเหมือนกับงานปาร์ตี้ทั่วๆ ไป นักการหนิงไม่ดื่มค่ะ แต่ร่วมร้องเพลง ทำกิจกรรมต่างๆ กับน้องๆ และเพื่อนร่วมงาน เสมือนมีอายุในวัยๆ เดียวกัน
แต่จากการที่ต้องไปใช้เวลาร่วมกันหลายชั่วโมง การปาร์ตี้จึงไม่ใช่แต่การดื่มกินและเล่นสนุกสนานเท่านั้น ในนั้นมีการแลกเปลี่ยนความรู้สึกกันและกัน.. ได้แลกเปลี่ยนการจัดการกับอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดใการทำงาน
เมื่อลงจากเขาคล้อ … ดูทุกคนทีความสุขขึ้น ดูผ่อนคลายมากขึ้น มีความเอื้ออาทรและห่วงใยกันมากขึ้น
สายใยที่เบาบาง ดูถักทอกันหนาแน่นมากขึ้น ที่นักการหนิงทำคือ แจกแจงบัญชีทุึกบาท ทุกสตางค์… แล้วติดบอร์ดให้อ่านทั่วๆ กัน ตาแห้งๆ ของคนบางคนมีประกายมากขึ้น … ทำไมเป็นเช่นนั้น
ถามกับตัวเองว่าควรนำพวกเขาเข้าสู่กระบวนการจิตวิวัฒน์ ดีไหม… หรือต้องสะสมอะไรบางอย่างก่อน บางอย่างที่ว่าคือความมั่นใจ ต่อการนำพา..
ควรนำพาเพื่อนร่วมงานอย่างไร เพื่อให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลาย รักองค์กร มีความรู้สึกที่ดีต่อองค์กร รักและจริงใจต่อกัน และจริงใจต่องาน
ยากหรือง่ายนะโจทก์นี้ ในเมื่อนักการหนิงไม่ได้เป็นผู้นำองค์กรเล็กๆ นี้ ไม่แม้แต่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในองค์กรนี้
ที่ไ้ด้เรียนรู้ คือ
1. จะไม่รัก หรือจะรัก ล้วนต้องใช้เวลาทั้งสิ้น … คงไม่ใช่ว่าเห็นหน้าก็ไม่่ถูกชะตาเสียเลยทีเดียว
2. ศรัทธาที่จะมีต่อกัน ย่อมไม่มาจากตำแหน่ง หรือการเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ หรือการเป็นผู้บังคับบัญชา
3. เสียงสะท้อน “จะให้เคารพได้อย่างไร ในเมื่องานใดๆ ก็ไม่เอา งานไหนเสี่ยงนิดหนึ่งก็ไม่ทำ ปล่อยให้เด็กๆ ทำกันไปลุยกันไป”
4. การฟังและรอยยิ้ม คำขอบคุณ ขอโทษ คำชม ล้วนมีความหมายต่อจิตใจคนทั้งสิ้น
5. การทำงานที่ผ่านมา ด้วยบทบาทของหน่วยสนับสนุนที่ดี และความยุติธรรมที่มีให้กับเพื่อนร่วมงาน ทำให้พวกเขามองเห็นพื้นที่ปลอดภัย
6. สิ่งที่สำคัญคือการกระทำ มากกว่าคำพูด แต่ก็ต้องแลกเปลี่ยน และบอกกล่าวสื่อสารกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
Next : เรื่องดีดีในเดือนที่ผ่านมา เรื่องที่หนึ่ง พาแม่เที่ยวกระบี่ » »
4 ความคิดเห็น
สวัสดีจ้าน้องหนิง…เข้ามาแค่บอกว่าคิดถึงมากเลยจ้า เรื่องงานนั้นป้าจุ๋มปลดระวางแล้วจ้า แต่ก็เป็นกำลังใจให้ค่ะสำหรับคนที่ทำงานอยู่ทุกท่านค่ะ
การสื่อสารที่ว่านั้นรวมท่านรองฯด้วยมั้ยคะพี่หนิง 555
ป้าจุ๋มที่คิดถึงมากๆ นอกจากจะปลดระวางแล้ว ป้าจุ๋มก็เดินสายอีกต่างหาก ขอบพระคุณสำหรับกำลังใจมากๆ เลยค่ะ.. การที่คนจะอยู่อย่างมีความสุขได้ส่วนหนึ่งก็มาจากความสัมพันธ์เนอะ การที่เราจะสัมพันธ์กับคนอื่นได้ดีส่วนหนึ่งก็มาจากการสื่อสารนี่แหล่ะค่ะ อย่างการส่งกำลังใจให้ก็เป็นการสื่อสารหอย่างหนึ่ง
หนิงว่าป้าจุ๋มเป็น ผู้หญิงทำงาน น่าจะมีเทคนิควิธีการในการสื่อสารทั้งในรูปแบบและนอกรูปแบบมาเล่าเป็นวิทยาทานให้น้องๆ ฟัง ไม่งั้นคุณสมพิศ ไม้เรียง คงไม่เป็นที่คุ้นชื่อและคุ้นหูเป็นอย่างยิ่ง หนิงอยากจะบอกว่ารู้จักชื่อป้าจุ๋มก่อนรู้จักตัว ก่อนเกิดลานปัญญาอีกค่ะ …
น้องเบิร์ดขา รวมท่านรองหมอสุธีด้วยค่ะ ท่านเนี่ยพยายามลุ้น ให้สำนักการช่างที่พี่หนิงทำงานมีการสื่อสารกันมากขึ้น ..ดูเหมือนลุ้นให้เกิดเวที สุนทรียสนทนาด้วยซ้ำ พี่หนิงกำลังดำเนินการอยู่ ผู้คนไม่เคยชินกับการมานั่งคุยกันจริงๆ และคุยกันอย่างสร้างสรรค์และฟังอย่างตั้งใจ มันเป็นการนำพาค่ะ พี่หนิงก็กำลังหาช่องทางอยู่ แต่ถ้าเป็นแบบไม่เป็นทางการ ไม่เป็นเรื่องเป็นราวเท่าใดนักกำลังไปได้ดีเลยค่ะ พี่หนิงกำลังสะสมความเชื่อมั่นอยู่ค่ะ