แปลงนาสาธิตข้าวหอม มะลิ ๑๐๕ บ้านใหม่อุดม

3 ความคิดเห็น โดย Lin Hui เมื่อ กันยายน 24, 2011 เวลา 21:49 ในหมวดหมู่ เรื่องเล่าของLin Hui, แปลงนาสาธิตบ้านใหม่อุดม #
อ่าน: 2811

แปลงนาดำสาธิต ข้าวหอมมะลิ 105 จำนวน 2 ไร่ บ้านใหม่อุดม ต.บ้านใหม่ อ.หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา ของแม่เสม ชำนาญพนา ที่อาม่าได้ขอความช่วยเหลือจากทีมงานนาสาธิต ของบริษัทคูโบต้า (คุณกิตติพงษ์ และคุณศิริรัตน์) ดำนาด้วยเครื่องดำนา เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2554

หลังจากปักดำได้ 22 วัน ข้าวเจริญเติบโตได้อย่าง ที่เห็นในภาพ สภาพแปลงนา มีน้ำขังเป็นหย่อมๆ เนื่องจากการปรับแปลงนาไม่ได้ระดับ แปลงนา 2 ไร่เป็นรูปสี่เหลี่มผืนผ้ามีด้านกว้างแคบกว่าด้านยาวเกือบสองเท่า

สภาพแปลงนาทั้งหมด อยู่ในสภาพเรียบร้อย สวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย ต่างกับวันปักดำกล้า อายุ 15 วัน ต้นข้าวเล็กมากในสายตาชาวนาทั่วๆไป ได้ยินชาวนาบางคนแอบพูดว่ามันจะรอดเหรอ ต้นข้าวเล็กนิดเดียว ผ่านไปได้ 22 วัน ชาวนาที่ผ่านมาเห็นอีกครั้ง เอ้าทำไมมันงามเป็นระเบียบดีจัง

ภาพล่าสุดที่ได้รับจากคุณ กิตติพงษ์ (23 กย.2554) อายุข้าวประมาณ 74 วัน ความสูงของต้นข้าว 80-110 ซม.

ดูสภาพการแตกกอ ของข้าว สภาพแปลงนาไม่มีหญ้า ไม่ถูกหอย และแมลงทำลายต้นข้าวทั้งๆ ที่แปลงนาแปลงนานี้ ฝากเทวดาเลี้ยง เนื่องจาก แม่เสมเจ้าของแปลงนาไม่มีเวลามาดูแลแปลงนาเลย เนื่องจากสามี ตาบอด และลูกมีหลานแรกเกิดให้ต้องเลี้ยงดูเป็นภาระของแม่เสมแต่ผู้เดียว ในการเลี้ยงดูทุกคนในบ้าน อาม่าขอให้ท่านผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แวะเวียนไปดู หากมีปัญหาให้รีบแจ้งทันที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือ

คุณกิติพงษ์ จากคูโบต้าก็แวะเวียนมาดูแปลงนานี้เป็นระยะๆ เสมอมา ตลอดจนถ่ายภาพแปลงนา รายงานให้อาม่าทราบ ขอขอบคุณมากค่ะ ดีใจมากที่ต้นข้าวแข็งแรงไม่ถูกแมลงและโรคเบียดเบียน ข้าวแปลงนี้โตตามธรรมชาติ


เมื่อพาชาวนาเจอชาวนามืออาชีพ

อ่าน: 4276

๑๘ กันยายน ๒๕๕๔ คือวันที่

อาม่าพาชาวนาจากที่ราบสูง ไปพบชาวนามืออาชีพ ที่ราบลุ่มภาคกลาง นามลุงทวี คุ้มรักษา ผู้พ่อ ที่ทดสอบลูกชาย นาย ธำรงศักดิ์ (ต่อ) คุ้มรักษา หลังจากฝึกปรือวิทยายุธ การทำนาดำเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว ใส่แหนแดงในแปลงนา ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ที่มีคุณพ่อทวีผู้พิชิตนาล่ม บ่มเพาะเทคเนิคต่างๆ จนมั่นใจ จึงปล่อยให้ลูกชายแสดงฝีมือเดี่ยว ทำนาเอง ทุกเรื่องต้องบริหารจัดการเอง ตั้งแต่ต้นจนจบ จนขายข้าว ในรอบการทำนาในครั้งนี้ เป็นการสอบวัดผลการศึกษา ปริญญาชาวนามืออาชีพ วันที่ ๑๘ กย.นี้ กรรมกาสอบมาจากทั้งกรุงเทพ และที่ราบสูงโคราช มาถึงสนามสอบ ประมาณ สิบโมงเช้า ที่น้องต่อผู้เข้ารับการทดสอบครั้งสุดท้าย คือวัดผลผลิต และกำไรจากการทำนารอบนี้ น้องต่อนัดรถเก็บเกี่ยวข้าวที่ทำความสะอาดพร้อมเก็บเกี่ยวข้าวคุณภาพเมล็ดพันธุ์

น้องต่อคือชายหนุ่มที่ตกอยู่ใวงล้อมของกรรมการสอบจากกรุงเทพ และจากที่ราบสูงโคราช กำลังสอบปากเปล่าอย่างเข้ม

DC95GM รถเกี่ยวข้าวกำลังทำงานภาคเช้าในแปลงนาพันธุ์ข้าว กข ๔๑ หลังเก็บเกี่ยวนวดข้าวได้เต็มพิกัด ก็จะมาถ่ายใส่รถบรรทุกเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เตรียมไว้พร้อมแล้ว

ภาพเอ้ือเฟื้อจาก รศ.ดร. อรรณพ วราอัศวปติ

ในการเกี่ยวข้าวครั้งนี้ใช้รถเกี่ยวข้าวไทยประดิษฐ์อีกคันหนึ่งด้วยค่ะ ในภาพคือรถเกี่ยวข้าวด้านซ้ายมือค่ะ

อาม่ามีเวลาคุยกับลุงทวีในนาได้ไม่นาน เพราะรถเกี่ยวข้าวกำลังจะมาเก็บเกี่ยวข้าวแปลงนาซ้ายมือ ภาพเอื้อจากทีมงานน้องต้นกล้าค่ะ

รวงข้าวอายุ ๑๒๐ วัน พร้อมเก็บเกี่ยวในวันนี้ เอื้อภาพจาก รศ.ดร.อรรณพ วราอัศวปติ

ผลการสอบการทำนาดำ นวัตกรรมใหม่ ของน้องต่อ ในพื้นที่ทั้งหมด ๔๒ ไร่ เป็นพื้นที่คันนา ร่องน้ำ และพื้นที่บางแปลงไม่สารมารถทำได้เต็มพื้นที่  ทำนาได้จริงประมาณ ๔๐ ไร่ ผลผลิตเก็บเกี่ยวเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพได้ ๓๙.๕ ตัน ต่ำกว่าที่ลุงทวีทำที่ไม่ต่ำกว่า ๑ ตัน/ไร่  แต่โดยสรุปแล้วสอบผ่านค่ะ ถึงไม่เต็มร้อยแต่ก็กำไรค่ะ ชาวนาจากที่ราบสูงตื่นเต้นมาก หลังจากสอบถามข้อมูลอย่างละเอียด ครอบคลุมทุกด้าน จนสร้างแรงจูงใจให้ชาวนาที่ราบสูง อยากทำนาแบบชาวนามืออาชีพ ที่ราบลุ่มภาคกลาง

การพาชาวนาจากโคราชไปพบปะชาวนามืออาชีพที่ราบลุ่มภาคกลาง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ตอนช่วงการเก็บเกี่ยว เพื่อให้เห็นผลผลิตกับตา ทำให้ทุกคนตั้งอกตั้งใจ สอบถามข้อมูล เพื่อตอบโจทย์ตัวเองและอาม่า ที่บอกโจทย์ก่อนออกเดินทางไปดูงานในครั้งนี้ พร้อมแจกกระดาษคนละแผ่น ทุกคนทำการบ้านเสร็จ และพร้อมเพรียงกันส่งก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน อาม่าตรวจการบ้านถือว่าทุกคนสอบผ่านค่ะ แล้วพรุ่งนี้เราจะทำงานให้ดีกว่าวันนี้ค่ะ


พาชาวนาโคราชพบลุงวีชาวนามืออาชีพ

อ่าน: 3403

ความมั่นคงทางอาหาร คือความมั่นคงของชีวิต คือความมั่นคงของแผ่นดิน อาม่าได้พยายามสร้างความเข้าใจ เรื่องความมั่นคงทางอาหาร เรื่องแรกที่พยายามทำอยู่ในขณะนี้คือ ช่วยชาวนาให้ทำนาที่ได้ผลผลิตที่เพียงพอ ทั้งเมล็ดพันธุ์ และข้าวที่กินอย่างพอเพียง แม้เจอวิกฤติทางธรรมชาติก็ไม่ท้อ ขอเพียงแต่ต้องเข้าใจธรรมชาติ ชาวนาต้องรู้จักสังเกตุ รู้จักจดบันทึก ชาวนาต้องรู้จักพันธุ์ที่เหมาะกับพื้นที่ ในแต่ช่วงฤดูกาลปลูก เพื่อให้ได้ผล สิ่งที่ยากยิ่งกว่าสิ่งใด คือภัยจากธรมชาติ ที่ชาวนาต้องเรียนรู้ จะทำให้ความเสียหายน้อยลง สำหรับวิธีการทำนาในยุคสมัยนี้ต้องปรับ ขบวนการตั้งแต่ความคิด การรวมกลุ่มกัน ร่วมแรงร่วมใจกันทำนาแบบนวกรรมลงแขก ทั้งปัญญาและความคิด ทั้งเครื่องมือและแรงงาน แบ่งปันหน้าที่ตามความถนัดและชำนาญ สิ่งที่สำคัญที่สุดเหนืออื่นไกล คือความเข้าใจการทำนาดำรูปแบบแกล้งข้าวแห้งสลับเปียก ที่ต้องมีการวางแผนก่อนปลูก การเตรียมดิน บำรุงดินให้มีธาตุอาหารเพียงพอต่อการทำนาดำ เตรียมอนุบาลนางฟ้าแหนแดงประจำแปลงนา เตรียมอนุบาลเทพธิดาเป็ด ผู้พิชิตหอยและแมลงในแปลงนา ผู้ย่ำหญ้าไม่ให้แย่งอาหารต้นข้าวในแปลงนา ที่ว่ามาทั้งหมดเป็นเพียงเล่าขาน แค่เกริ่น

การจะทำนาดำนวัตกรรมร่วมสมัย จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ลงมือทำ โดยมีชาวนามืออาชีพ ชาวนาวันหยุด และ นักวิชา ร่วมด้วยช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลือ จนสามารทำเองได้

พรุ่งนี้ อาม่าจะพาชาวนาสองกลุ่มที่มีความตั้งใจ จะทำนาแบบนาดำนวัตกรรมร่วมสมัยไปดูการเก็บเกี่ยวข้าว ที่นาลุงทวี ผู้ผ่านปัญหามามากมาย จนในทีสุด ลุงทวี สามารถแก้ปัญหานาล่ม ด้วยภูมิปัญญา ลดต้นทุน ด้วยหัวใจชาวนานักสู้  ปัจจุบันนี้ลุงทวีคือผู้ให้ที่เต็มใจให้ทั้งเทคนิค และวธีการ แบบชาวนายุคใหม่หัวใจนักวิทยาศาตร์ ทุกปัญหามีคำตอบค่ะ สิบปากว่า ไม่เท่าสองตาเห็น ทุกประเด็นมีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน นี็แหละปราชญ์แห่งการทำนา แห่งท้องทุ่งลาดหลุมแก้วปทุมธานี


ช่วยงาน KM ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

อ่าน: 2163

อาม่าและหมียักษ์ได้รับการแต่งตั้งจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ให้เป็นกรรมการตัดสินผลงานโครงการ การจัดการความรู้วิธีปฏิบัติที่ดี[Good Practice For Knowledge Management :KM ] ของมหาวิทยาลัยฯ รวม ๕ วิทยาเขต มีวิทยาเขต ขอนแก่น, สกลนคร, กาฬสินธุ์. สุรินทร์ และนครราชสีมา

เอกสารงานที่ส่งมาให้พิจารณา เป็นผลงาน KM ของแต่ละหน่วยงาน ที่มีการลงมือทำและปฏิบัติจริง ส่วนเนื้องานและวิธีการมีหลากหลายมาก  แบ่งเป็น ๗ ประเด็นความรู้ค่ะ

  • กระบวนการจัดการเรียนการสอนใช้ทักษะที่มีเทคโนโลยีเป็นฐาน [Technology Base Education - training]
  • ระบบและกลไกการสร้างความเชี่ยวชาญวิชาชีพ [Professional Oriented] ให้กับนักศึกษา
  • ระบบกลไกพัฒนานักศึกษาให้เป็นยัณฑิตนักปฏิบัติ [Hand-on]
  • การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน
  • การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
  • การบริการวิชาการแก่สังคมแบบมีส่วนร่วม
  • การพัฒนากระบวนการทำงานของหน่วยงานสายสนับสนุน

หลังจากพิจารณาเอกสารเสร็จ ก็จะเป็นกิจกรรมนำเสนอผลงาน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งกิจกรรมนี้จัดขึ้นในวันที่ ๙ กย. ๒๕๕๔ ณ ห้องประชุมมรกตอีสาน ชั้น ๕ อาคารสำนักงานวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มทร.อีสาน จ.นครราชสีมา มีบรรยากาศที่สบายๆ แบบไม่เครียด ไม่เป็นการแข่งขัน แต่แบ่งปันความรู้ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบบเรียนลัด ไม่มีลับถามกันได้ช่วยกันทำให้ดีๆ ขึ้นไปค่ะ


การจัดห้องประชุมเป็นรูปตัว U โต๊ะกรรมการอยู่ตรงกลาง ผู้นำเสนอผลงานนั่งด้านข้างทั้งสองข้าง ผู้ที่ยังไม่เสนอผลงานนั่งด้านหลังเพื่อร่วมฟังการเสนอผลงานที่มีเทคนิดหลากหลายเป็นการเรียนรู้ไปพร้อมๆกันค่ะ บรรยากาศแบบสบายๆ จะลุกเดินได้สะดวกในการจะเดินไปดูโปสเตอร์ทีจัดไว้ด้านหลัง

หลังเสร็จสิ้นการเสนอผลงานของทุกกลุ่ม คณะกรรมการทั้สามท่าน มี รศ.ดร.อรรณพ วราอัศวปติ , ผศ.ดร.พรรณี วราอัศวปติ และ อ.สถาพร ซ้อนสุข ได้ร่วมกันพิจารณา และตัดสินรางวัล ผลการตัดสินมอบให้มหาวิทยาลัยฯ จากนั้นประกาศผล และแจกรางวัล ตามประเด็นความรู้ ๗ ประเภทค่ะ รางวัลที่ ๑ เป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท รองอันดับหนึ่ง ๒,๐๐๐ บาท รองอันดับสอง ๑,๐๐๐ บาท และรางวัลชมเชยเป็นเกียรติบัตร ค่ะ

อาม่า มอบรางวัลให้กับหัวหน้าทีมงานที่ได้รับรางวัลที่หนึ่ง จากอีกหลายๆรางวัล ที่กรรมการแต่ละท่านจะเป็นผู้มอบให้ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ให้กับผลของการทำดีค่ะ ผู้ที่ไม่ได้รับรางวัลในคราวนี้ แต่ได้รับความรู้ไปแบบเต็มๆ ไปเลย ….พรุ่งนี้เราจะทำให้ดีกว่าวันนี้ค่ะ วลีที่เป็นพลังและกำลังใจให้ทุกกลุ่มค่ะ

ถ่ายภาพร่วมกัน ทุกคนพกพารอยยิ้มกลับภูมิลำเนาหลังงานเลิกค่ะ


งานของวุฒิอาสาธนาคารสมอง จ.นครราชสีมา

5 ความคิดเห็น โดย Lin Hui เมื่อ กันยายน 1, 2011 เวลา 7:47 ในหมวดหมู่ เรื่องเล่าของLin Hui #
อ่าน: 2732

อาม่าในฐานะวุฒิอาสาธนาคารสมอง จ. นครราชสีมา ซึ่งได้เรียนรู้ นวัตกรรมการทำนา จากชาวนาวันหยุด และชาวนามือชีพ ถึงเทคนิคการวิธีการทำนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ที่ผ่านการศึกษาทดลองทำ จนประสบความสำเร็จ อาม่าพิจารณาแล้วว่า จะเป็นประโยชน์ต่อชาวนา ที่หนองบุญมาก ที่วุฒิอาสาฯ ได้เข้าไปช่วยเหลือสนับสนุน ให้เป็นชุมชนเข้มแข็ง และทำการเกษตรที่ปลอดสารเคมี อาม่าจึงได้ขอความร่วมมือ และประสานไปยังรองผู้จัดการฝ่ายวิชาการ  ของบริษัทคูโบต้า ให้มาช่วยอาม่า มาทำแปลงนาสาธิต ในพื้นที่นาสองไร่ ที่บ้านใหม่อุดม อ. หนองบุญมาก ทางบริษัทได้ส่ง คุณกิตติพงษ์ บุญประการ และทีมงานมาช่วยอาม่า ตั้งแต่เพาะกล้าข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ ให้ ปักดำด้วยรถดำนาแบบสี่แถวให้ เมื่อวันที่ ๙ กค.๒๕๕๔ พร้อมแวะเวียนมาดูแล อย่างสม่ำเสมอ

๒๙ กค - ๗ สค. ๒๕๕๔ มทส. จัดงานเกษตรแห่งชาติ และเทคโนธานีร่วมจัด งาน GO GREEN GO ORGANIC อาม่า และอ.แพนด้า ในฐานะวุฒิอาสา

และเครือข่ายอาม่าหลินฮุ่ย ได้ให้ความร่วมมือช่วยงานในครั้งนี้ โดยออกบูธ ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์ สารสะกัดจากพืช ผักและผลไม้ ปลอดสารพิษ จากวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ผสมผสานเทคโนโลยี่ อ.สูงเนิน  และ ร้านขายผลิตถัณฑ์จากหนองบุญมาก มาร่วมด้วยช่วยกัน

นอกจากนั้นยังจัดทีมงานมาร่วมเสวนา เวที่กลางแจ้ง มีชาวนามืออาชีพตัวจริงเสียงจริง และชาวนาวันหยุด มาเปิดเวทีเสวนา วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๔ ภาคเช้า เล่าสู่กันฟังในหัวข้อ “นวัตกรรมลงแขกดำนาแบบร่วมสมัย”

ส่วนภาคบ่าย เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “บูรณาการองค์ความรู้สู่แปลงนา”



Main: 0.056712865829468 sec
Sidebar: 0.052152156829834 sec