กว่าจะงอกงาม..

โดย dd_l เมื่อ มกราคม 6, 2011 เวลา 10:29 (เย็น) ในหมวดหมู่ การศึกษา, เรียนรู้ชีวิต #
อ่าน: 3543

อยู่มานาน จนเห็นความต่างของวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป
ความสะดวกสบาย  ง่าย และรวดเร็ว มีให้เห็นในทุกเรื่อง
ถ้อยคำ..ไม่เป็นไร..ซื้อเอาก็ได้..ง่ายดี มีให้ได้ยินอยู่เสมอ
ก็เดี๋ยวนี้ทุกสิ่งที่ซื้อขายบริการได้ถึงที่ ไม่ใช่มีแค่รถส่งพิซซ่า
มีทั้งรถแปมแปม ตลาดดิลิเวอรี่ระดับชาวบ้าน
แถมยังมีร้านอาหารที่ส่งให้แม้สั่งไข่เจียวราดข้าวแค่กล่องเดียว

ในความสำเร็จรูป รวดเร็ว ล้ำยุค บางสิ่งก็สูญหาย
ทั้งการเห็นคุณค่าของการอดทน รอคอย ให้เห็นผล
ความสุข ความอิ่มใจยามทำเรื่องยากสำเร็จได้ด้วยฝีมือ
และการได้สัมผัสรับรู้ สิ่งใด ด้วยความละเมียดละไม ให้รู้ลึกซึ้ง


เมื่อต้องดูแลเด็กต่างวัยท่ามกลางวิถีชีวิตสำเร็จรูป
ได้เห็นความไม่รู้จริงในสิ่งที่ควรรู้ และการถอยห่างจากวิถีแห่งการพึ่งพาช่วยเหลือตนเองของเด็ก
จึงไม่อาจสอนเพียงบทเรียนตามตำรา
แต่ชวนกันสรรหาประสบการณ์นอกตำรามาให้ได้เรียนรู้และลงมือทำหลากหลายเรื่องราว
ซึ่งเคยนำมาเล่าไว้บ้างแล้ว

คราวนี้ชวนกันปลูกผักและต้นไม้ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่ผ่านมา
ไม่อยากทำแบบระดมคนมาเป็นพันเพื่อปลูกในวันเดียวแล้วปล่อยให้เหี่ยวแห้งตายไป
จึงใช้เวลายาวนานนับสองสามสัปดาห์กว่าจะเวียนกันมาครบทุกชั้น
เป็นการปลูกที่ตั้งใจตามรอยพระบาทของในหลวงอย่างจริงจัง
ตั้งแต่แรกเริ่มเตรียมความเข้าใจ  ให้รู้ถึงวิธีดูแล และช่วยกันทำแต่ละขั้นตอน

เด็กแต่ละวัย ได้งานที่ยากง่ายแตกต่างกันไปตามความสามารถ
น้องเล็กสุด  ได้ปักชำกล้าไม้ลงในกระถาง  ที่ครูช่างหลอกล่อไม่ให้ใช้เครื่องมือเหมือนพี่ๆ
ใช้เพียงนิ้วชี้ที่ชูกันสลอน เป็นอุปกรณ์จิ้มดินที่ผสมไว้ให้เป็นรู
น้องอนุบาลชั้นโต จนถึงพี่ประถมขึ้นไปจึงเพิ่มขั้นตอนให้ได้ทำเองมากขึ้น
พี่มัธยมชั้นสุดท้าย ได้โจทย์เป็นกล้วยและตะไคร้ให้หาที่ปลูกในบริเวณอันท้าทายใกล้ร่องน้ำ
ได้ไต่ข้ามไปทำงานท่ามกลางดินเฉอะแฉะ

น้องประถมห้าและประถมหกตกลงจะปลูกผักสวนครัวหลังอาคารเรียน
หลังลุงสล่าช่วยกันทำคันกั้นดินข้างร่องน้ำเรียบร้อย
ก็พลอยได้พื้นที่กว้างเมตรครึ่งยาวเท่าอาคาร ลุงภารโรงปรับพื้นที่ทำเป็นแปลงโรยผักกาดและผักชี
เติบโตงอกงามดีจนพอได้เลี้ยงหลายปากท้อง
แถมยังแอบเห็นโครงการทดลองปลูกมะเขือเทศของใครบางคน ที่ใช้เชือกฟางเก่าๆ ล้อมไว้
พร้อมทั้งมีป้ายเลอะเลือนวางบอกว่า “ห้ามเหยียบค่ะ”

ผักรุ่นเดิมถูกเด็ดไปเกือบหมดแล้ว มะเขือเทศคงไม่ได้ผล
เด็กๆ หลายสิบคนจึงเข้าไปใช้พื้นที่  ถอนพืชเดิม ปรับดิน ขึ้นแปลงแบ่งเป็นกลุ่ม
ปลูกผักชี สะระแหน่ กระเพรา โหระพา ขมิ้น ตะไคร้ มะเขือเปราะ พริกขี้หนู บวบ แตงกวา
ทั้งผักสลัด กวางตุ้ง ผักบุ้ง คะน้า คื่นช่าย ครบครัน

ทุกเช้าทุกเย็นนับแต่วันนั้น จึงมีเสียงจ้อกแจ้กจอแจให้ได้ยินเป็นประจำ
ระวัง..ระวัง..อย่าเหยียบ..
เดี๋ยวซี่อย่าเพิ่งรดน้ำ..เอาฟางคลุมก่อน..
เฮ้ย..ทำไมมันยังไม่งอกนะ..
ว้าวๆ..แปลงของเรางอกแล้วววว..ฯลฯ

แม้ไม่ต้องดูแลใกล้ชิด ก็ยังเห็นติดตามมาทำงานกันเองอย่างสม่ำเสมอ
เรื่องราวที่พบเจอ ทำให้ได้เห็นความรู้ ความตั้งใจที่แตกต่าง
บางกลุ่มกว่าจะขุดหลุม ก็รอคอยนัดหมายกันอยู่นั่นแล้ว
เปลี่ยนมือลงจอบกันหลายครั้ง กว่าจะตั้งต้นผสมดิน
ก็ยังดีที่รู้จักแหล่งปุ๋ยที่พากันไปขุดคุ้ยเอาจากกองหมักใบไม้ของโรงเรียน

บ้าง ขุด..ขุด..แล้วหยุดพัก ด้วยไม่รู้จักจับจอบให้ถูกจุด เรี่ยวแรงจึงไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มกำลัง
แถมยังสับไส้เดือนขาดสองท่อน ต้องพักก่อน เพื่อนจะขอหาไส้เดือนส่วนที่เหลือ!!
เผื่อเจอจะเอาไปเลี้ยงให้งอกเป็นตัวใหม่..ไส้เดือนมันงอกส่วนที่ขาดได้นะครู..แน่ะ..

ขุด..ขุด..เจอตัวประหลาด ให้ได้พักถกเถียง กว่าจะรู้ว่าเป็นเพียงด้วงกว่าง
บางกลุ่มปลูกเสร็จก็แวะเวียนรดน้ำ  ไม่เว้นแม้วันหมอกจัด และฝนตก
กว่าจะรู้ รากก็เน่า มาเล่าให้ครูฟังว่า..เพื่อนมันรดน้ำเยอะไปค่ะครู
แต่เมื่อครูถาม  ต้นไม้ตายแต่มีสิ่งใดที่ได้เพิ่ม
ก็ได้คำตอบ ต้นไม้ตายแต่ได้ความรู้ค่ะ ว่ารดน้ำมากไปก็ไม่ดี
ว่าแล้วก็ก้มหน้าก้มตาทำงานต่อ

ผ่านมาหลายสัปดาห์แล้ว  ต้นไม้เริ่มเติบโตให้ได้เห็น
เอ๊ะ..ทำไมผักชีเป็นแบบนี้  ก็มีเปลือกติดอยู่นี่ไง ทำไมไม่มีใบหยักๆ
นี่ไง..ใบนี้เหมือนผักชีจริงๆ แล้ว มีใบสองแบบแฮะ  ต้นคื่นช่ายก็มีสองแบบเหมือนกัน
ผักกาดกับผักคะน้าต้นเล็กๆ นี่ทำไมเหมือนกันจัง
อ๋อ..ผักสลัดเริ่มใบหยิก ตอนมันโตขึ้นเนาะ
เย้..ต้นโหระพางอกแล้ว..แต่กระเพรายังไม่งอกเลย
เอ๋..ทำไมของเราไม่งอก หรือว่า มดมันมาคาบเม็ดที่เราโรยไว้ไป
ว้าย..แปลงเรามีคางคกตัวเล็กๆ ด้วย

หนูรู้แล้ว..ที่ตอนต้นเล็กๆ ผักมันเหมือนกันเพราะมันเป็นใบเลี้ยงน่ะ
ตรงนี้หว่านเมล็ดไม่สม่ำเสมอ  ผักเลยเบียดกันไปหน่อย
ตรงนี้รดน้ำน้อยไป มันเลยไม่งอก..
คุณครูชิมผักหนูมั้ยคะ..นี่ล้างแล้ว..
ชิมผักสลัดสดๆ เนี่ยนะ..เอ้า..ชิมๆ..

กลุ่มปลูกขมิ้น รอ ร้อ รอ อยู่นานวันไม่เห็นความคืบหน้า
กลับไปถามตาและหาข้อมูลจากพี่กูเกิ้ลจึงได้ความรู้
ตาบอกว่าฤดูนี้ขมิ้นจำศีล  มันพักตัวค่ะครู
ทั้งได้ความรู้  ต้องถึงเดือนเมษาถึงจะงอก หนูจะปลูกอย่างอื่นแทนดีกว่า

แวะเวียนไปดูต้นไม้ของแต่ละชั้น เห็นร่องรอยอันยืนยันว่าคงเติบโตอยู่รอด
กว่าจะปิดเทอม คงมีอีกหลายเรื่องราวจากแปลงพืชผัก
ที่ทำให้นักเรียนและครูได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์
ซึ่งหากจะทำงานง่ายๆ ก็เพียงใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงสอนตามแบบเรียนไม่กี่หน้า
ให้นักเรียนหาประสบการณ์จากรูปวาดและรูปถ่ายในหนังสือ ต่อด้วยคำถามท้ายบทอีกไม่กี่ข้อ
ก็เพียงพอแล้วที่จะมีหลักฐานประกอบการให้เกรด
แต่การเรียนรู้เพียงแค่นี้ คงทำให้รู้จักผักชีเพียงเฉพาะที่โรยมาในอาหาร
ประสบการณ์อันมีค่า ทั้งความรู้นอกตำราสารพัน ก็เป็นอันว่าไม่ได้พบ

สอนด้วยการปลูกต้นไม้ หากเข้าใจและทำจริง ก็มีสิ่งที่เกิดประโยชน์มากมาย
จุดหมายไม่ใช่เพียงหวังให้ได้พืชผล  แต่กลับเป็นการปลูกคนให้งอกงาม
งอกงามในความรู้จริง  ความใส่ใจ ละเอียดอ่อน ทั้งสอนวิถีการใช้ชีวิต
กว่าจะได้ชื่นชมในพืชผล เด็กต้องอดทน รอคอย เรียนรู้ดูแล อย่างเหมาะสม
กว่าจะได้ชื่นชมกับความงอกงามของศิษย์
ครูก็ต้องคิดหาวิธีชี้นำทางสร้างความรู้ อันนำสู่การปฏิบัติด้วยปัญญา
ทั้งแก้ไขปัญหา ปรับเปลี่ยนลีลาให้เท่าทันสถานการณ์

ไม่ใช่งานง่ายนัก..
แต่เมื่อพืชผักเติบโต คนปลูก ภาคภูมิยินดี และมีความสุขเพียงใด
ความงอกงามที่บ่มเพาะอยู่ภายในศิษย์ที่พร้อมจะเติบโตในเวลาอันควร
ทั้งเรื่องราวชวนให้แย้มยิ้มอิ่มใจ ที่ได้พบเห็นยามร่วมเรียนรู้ด้วยกัน
ก็คงเติมเรี่ยวแรงอันทำให้ครูมีใจเพียรพยายามทำต่อไปได้

เอาเถอะ..
ไม่ต้องมีพื้นที่หลายร้อยไร่  ก็ชวนปลูกผักกันได้ข้างอาคารนี่แหละนะ…

« « Prev : เที่ยวละมุน อบอุ่นละไม สวัสดีปีใหม่ค่ะ

Next : แหม..อยากให้ได้เห็น.. » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

9 ความคิดเห็น

  • #1 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 มกราคม 2011 เวลา 10:51 (เย็น)

    แหม ตั้งสหกรณ์เมล็ดพันธุ์แห่งหริภุญชัยเลยดีไหมครับ

  • #2 dd_l ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 มกราคม 2011 เวลา 11:04 (เย็น)
    5555..เอาแค่ลุ้นให้รอดทุกแปลงก่อนค่า..
  • #3 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 มกราคม 2011 เวลา 11:34 (เย็น)

    ตอนเด็กประถมครูให้ปลูกผัก
    ด้วยความขยันไม่ต่อเนื่อง
    ทำให้แปลงผักกาดกอใหญ่บ้างเล็กบ้าง
    แต่ก็ติดใจสืบเนื่องเป็นความชอบมาเท่าทุกวันนี้
    -บางเรื่องถ่้าไม่สอนไม่เรียนตอนนี้ อีกหน่อยก็ยากแล้ว
    โตขึ้นกว่านี้มักจะมีข้ออ้างเรื่องเวลา
    เห็นภาพเด็กสนุกอยู่ในแปลงผัก จึงอยากไปปลูกด้วย อิ อิ
    ตอนนี้น้ำเต้าทะยอยออกผลรูปร่างแปลกๆตามพันธุ์แล้ว
    เอาไว้ลูกโตกว่านี้จะถ่ายรูปมาอวด
    การปลูกน้ำเต้าดีตรงที่รอลุ้นว่า  ผลจะออกมารูปร่างเป็นอย่างไร?
    แต่บางผลก็พอมีแววว่าจะมีรูปผลไปทางใด บ้างแล้ว อิอิ

  • #4 dd_l ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มกราคม 2011 เวลา 7:20 (เช้า)
    ครูให้เด็กปลูกพืชต่างชนิดกัน ที่ได้ประโยชน์ตามมาคือได้เห็นความเติบโตที่แตกต่างกันไปด้วยค่ะ  ไปดูแปลงของคนนู้นคนนี้อย่างน่าสนุก  ที่ชอบใจคือเค้าสนใจจะมาดูแลเองโดยไม่ต้องบอก คงเป็นเพราะความตื่นเต้นที่เห็นความเปลี่ยนแปลงนี่แหละค่ะ

    อารามอุตส่าห์บริจาคเม็ดน้ำเต้าอียิปต์ที่ได้มาให้เด็กไปสองสามเมล็ด แต่ก็เอาไปหายซะ  เพื่อนบ่นเสียดายกันงึมงำ
    รอดูน้ำเต้าจากสวนป่าด้วยค่ะ   แต่ว่าถ้าครูบามาปลูกต้นไม้กับเด็กๆ ด้วยได้  คงเป็นการเรียนรู้ที่ติดใจกันมากค่ะ อิอิ ^^
  • #5 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มกราคม 2011 เวลา 8:39 (เย็น)

    น้อมครูอึ่งครับ พี่เสนอนิดหนึ่งนะครับ

    • สิ่งที่ทำวิเศษแล้ว ดีมากๆ ขอบอก
    • ขอเสนอเพื่อพิจารณาตามความเหมาะสม
    • ข้อเสนอนี้น้องครูอึ่งอาจจะทำอยู่แล้วก็โอเค ผ่านไป หากกำลังคิดอยู่ พี่ขอร่วมแลกเปลี่ยน คือ
    • ฝึกให้เด็กเป็นนักวิจัยแบบง่ายที่สุดสำหรับเด็ก คือการสังเกตุ
    • จัดกลุ่มเด็ก แล้วแต่ความเหมาะสม เช่น กลุ่มละ 3 คน 5 คน อาจจะผสมเด็กชาย เด็กหญิง หรือ แบ่งเพศ ชาย หญิง เพื่อดูความแตกต่าง
    • งานวิจัยคือ โจทย์ ให้เด็ก ทุกวัน หรือทุกสองวัน หรือ แล้วแต่เหมาะสม
      • ไปสังเกตุการเปลี่ยนแปลงของพืชผักที่ปลูกว่า มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แล้วเอามาเล่าสู่กันฟัง เช่น
      • ต้นผักสูงขึ้นเท่าไหร่ โดยเอาไม้บรรทัดไปวัดจริงๆ  มีจำนวนใบกี่ใบ  ลักษณะใบเป็นแบบไหน วาดรูปมาได้ไหม ฯ
      • วันนี้มีแมลงไหม มีกี่ตัว แมลงอะไร ไปหาความรู้เรื่องแมลงต่อได้ไหม ฯ
      • เขาใส่ปุ๋ยอย่างไร ใส่เมื่อไหร่ ปุ๋ยชนิดไหน ทำไมต้องใส่ปุ๋ย ฯ
      • เขารดน้ำเมื่อไหร่ รดแบบไหน ทำไมต้องรดแบบนั้น รดน้ำตอนเที่นง ตอนบ่ายโมงได้ไหม เพราะอะไร ฯ
      • ฯลฯ
    • เลือกเอาประเด็นง่ายๆสำหรับเด็กเล็ก สักหนึ่ง สองประเด็นก็ได้ การทำซ้ำๆจะสร้างบุคลิคการเป็นคนช่างสังเกตุ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของนักวิจัยขั้นพื้นฐานครับ
  • #6 ป้าจุ๋ม ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มกราคม 2011 เวลา 9:39 (เย็น)

    กิจกรรมของโรงเรียนมงคลวิทยาน่าสนุกจังเลยนะคะ…

    ส่วนกิจกรรมที่คุณบางทรายนำเสนอมานั้น  ป้าจุ๋มเห็นดีด้วยค่ะ แต่อย่างที่คุณบางทรายคิดไว้ว่า น้องครูอึ่งอาจให้เด็กทำไปแล้วก็ได้  หรือมีแผนอยู่แล้วก็ดีมากๆเลยค่ะ

    การlearnning by doing  เป็นประสบการณ์ที่ดีมากค่ะ  หนับหนุน…

    ขอชื่นชมค่ะ

  • #7 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 มกราคม 2011 เวลา 12:48 (เช้า)

    http://jusci.net/node/1507 ประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ครับ http://www.google.com/events/sciencefair/index.html

  • #8 dd_l ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 มกราคม 2011 เวลา 7:53 (เช้า)
    ขอบคุณพี่บางทราย ป้าจุ๋ม และ คุณคอน นะคะ  เรื่องความสำคัญของการสังเกตนี่เป็นพื้นฐานที่สนใจจริงๆ   โดยวัยและโดยโลกที่มีแต่ความง่าย รวดเร็ว ทำให้ทั้งครูและเด็กต้องฝึกฝนเรื่องนี้กันอีกมากทีเดียว   การปลูกฝังให้เด็กสนใจใคร่รู้อยากหาคำตอบอย่างต่อเนื่องยังเป็นงานที่ยังต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอีกค่ะ   พื้นฐานของเด็กที่เข้ามา โดยเฉพาะระดับมัธยมก็ยังมีเรื่องท่ต้องเติมต่อกันอีกพอสมควร  ก็พยายามพัฒนาไปจากฐานที่เค้าเป็นนี่แหละค่ะ

    ความคิดเห็นและ ข้อมูลที่ได้จากลานปัญญา ช่วยจุดประกายความคิดครูได้หลายเรื่องนะคะ  ขออีก..ขออีก..อิอิ
  • #9 ลานเวลา » เมษานี้..มีแขกมาเยือน.. ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 เมษายน 2012 เวลา 12:16 (เช้า)

    [...] ต้นกล้วยที่พี่ ม.3 ปลูกไว้ในวันพ่อปีที่แล้ว [...]


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.49538016319275 sec
Sidebar: 0.19930386543274 sec