เมษานี้..มีแขกมาเยือน..
อ่าน: 2618ปีนี้น่าจะเป็นปีมงคลของโรงเรียน..
นับตั้งแต่สิ้นปีการศึกษา มีคุณครูทยอยลาบวชกันสามคน ทั้งครูไทยครูฝรั่ง
ได้ร่วมทำบุญงานบวชให้อิ่มใจ
พอปิดเทอมได้ไม่นานนัก..ก็ได้รับการติดต่อ คณะพระสงฆ์และฆราวาสอยากจะมาศึกษาดูงาน
ในโอกาสที่จะปรับปรุงหลักสูตรโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
ในสังกัดมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
รับฟังรายละเอียดเรื่องราวแล้ว นึกอนุโมทนาในศรัทธาของคณะทำงาน
ที่ตั้งใจจะทำให้ผู้คนได้นำหลักธรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิต
คิดว่าหากจะมีส่วนช่วยอะไรได้บ้างก็ยินดี
นึกทบทวนว่าโรงเรียนจะมีอะไรให้ได้ศึกษา ด้วยจะมาในช่วงเวลาปิดเทอม
จึงนำเอาบันทึกในลานเวลาและเวปไซต์ของโรงเรียนส่งให้พระสงฆ์ผู้ประสานงานได้ลองดู
เพื่อจะเห็นภาพรวมของโรงเรียนอย่างคร่าวๆ
เมื่อถึงคราวได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์ จับประเด็นได้ว่าสนใจเรื่องของการพัฒนาทีม
และการจัดการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมที่ทำในโรงเรียน
จึงเรียนท่านไปว่า จะให้มาศึกษาดูงานบนพื้นฐานของความจริง
และการทำงานบนพื้นฐานของความไม่สมบูรณ์พร้อมซึ่งมีทั้งสิ่งที่ทำได้และยังทำไม่สำเร็จ
ส่วนการเรียนการสอนมีเพียงกิจกรรมในค่ายฤดูร้อนและร่องรอยของสิ่งที่ทำไว้ในภาคเรียนปกติ
มีทีมครูที่พร้อมจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน
ให้เป็นการมาดูโรงเรียนธรรมดาที่ตั้งใจพัฒนาการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์แก่เด็ก
นำเรื่องราวไปส่งข่าวแก่ทีม..
เห็นความยินดีที่จะได้มีประสบการณ์ที่แปลกใหม่
ทุกคนไม่ใคร่ได้ร่วมงานกับพระสงฆ์องค์เจ้าบ่อยนัก
ที่แอบกังวลใจกันกลับเป็นเรื่องจะพูดคุยกับท่านอย่างไรให้เหมาะสม..
จะสวัสดีหรือนมัสการ..จะแทนตัวว่าอย่างไร..ฯลฯ
ไม่คิดว่าเป็นเรื่องกังวลจริงจัง แต่ก็ต้องนั่งขำยามที่แนะนำตัวกันในวงประชุม
เมื่อเห็นใครบางคนเหลือบตามองโพยที่เขียนคำว่า “กราบนมัสการพระคุณเจ้า..”ไว้
เพื่อให้พูดตามที่ตั้งใจได้ถูกต้องก่อน แล้วจึงจะพูดคุยต่อได้ตามปกติ!! ^^
คณะสงฆ์ผู้ประสานงานเดินทางมาพักที่โรงเรียนล่วงหน้าก่อนคณะใหญ่จะมาถึง
ในค่ำวันที่เพิ่งจะเสร็จจากการระดมพลทั้งคนทำงานและลูกหลานเก็บกวาดกิ่งไม้ใบไม้มาตลอดวัน
ด้วยพายุพัดกระหน่ำมาก่อนหน้านั้นพอดี
มีเวลาพูดคุยเตรียมการกันเล็กน้อยและพลอยให้มีเรื่องประสานงาน
ให้ศิษย์รุ่นน้องร่วมอาจารย์จากเชียงใหม่ที่ตั้งใจจะมาร่วมต้อนรับได้รับมอบหมายหน้าที่
โดยวิธีให้งานอย่างกระทันหัน ซึ่งก็รับลูกกันเดี๋ยวนั้นด้วยสปิริตอันแรงกล้า
คณะสงฆ์เตรียมงานอย่างขันแข็ง แบ่งขั้นตอน จัดระบบงาน
เพื่อจัดประสบการณ์แก่คณะที่จะตามมาถึงกว่าห้าสิบรูป/คน
ทั้งคุณครู อาจารย์ที่มีจิตอาสาจะร่วมพัฒนาหลักสูตร ผู้ปกครองนักเรียน
รวมถึงเจ้าตัวเล็กที่ติดตามมากับคณะ ล้วนมาจากต่างถิ่นที่
จึงจัดเตรียมให้มีช่วงเวลาที่จะเสวนาระหว่างกันด้วย
เรียนคณะผู้ประสานงานก่อนนมัสการลากลับบ้านว่า
อย่าเกรงใจขอให้โรงเรียนนี้เป็นเสมือนวัดของท่าน
ต้องการดูอะไร หรือต้องการให้เรียนรู้ร่วมกันในเรื่องใดขอให้บอก
อาจด้วยเหตุนี้ ในยามเช้าที่ตั้งใจจะให้ทีมงานในโรงเรียนปรับเปลี่ยนห้องประชุมที่เตรียมไว้
ให้ได้บรรยากาศใกล้ชิดระหว่างกันมากกว่าเดิม
ได้ยินเสียงเลื่อนโต๊ะเก้าอี้ กันคึกคัก จึงโฉบไปดู นึกชมทีมอยู่ในใจว่ามากันได้เร็วดี
แต่กลับพบบรรดาหลวงพี่ยกย้ายข้าวของกันเองโดยไม่ต้องรอให้ใครบริการ ^^
เมื่อเด็กค่ายเริ่มทยอยมา หลังจากไม่ได้เจอหน้าเพื่อนหน้าครูหลายวัน
เสียงทักทายกันจ้อกแจ้กจอแจ บ้างก็ตื่นเต้นกับสภาพบ้านในค่ายที่เจอผลพวงจากพายุ
บ้างช่วยปัดกวาดเช็ดถู ซ่อมแซมบ้านของตัวที่เสียหาย
แถมยังมีพระสงฆ์มาเดินดู คุยกับคุณครู คุยกับเด็ก ดูแปลกไปจากทุกวัน
แต่ด้วยเด็กคุ้นเคยกับการพบคนแปลกหน้า จึงไม่มีปัญหากับการดำเนินค่ายไปตามปกติ
แม้เมื่อมีเสียงตามตัวว่าคณะใหญ่เดินทางมาถึงแล้ว
ก็ยังถูกหนุ่มน้อยดึงให้ไปถ่ายรูปมดที่อพยพมาอยู่ในรูไม้ที่ใช้ตกแต่งบ้าน
ให้ได้โอกาสอวด..บ้านผมมีที่เลี้ยงมดแบบใหม่..อยากให้ครูไปดูหน่อย..
ทั้งอีกหนุ่มน้อยก็คอยจะอวด..นี่ผมมีรองเท้าใหม่..ด้วยใบหน้ายิ้มซื่อใส..
จนต้องเอาใจด้วยการแวะไปดู ก่อนจะขอตัวไปรับแขก
ยามนึกถึงบรรยากาศการดูงานโดยทั่วไป
ซึ่งมักจะได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการในสถานที่ที่ตกแต่งอย่างหรูหรา
นำเสนอเนื้อหาเรื่องราวด้วย power point , วิ.ดิ.โอ, แฟ้มรูปภาพ,แฟ้มงาน, บอร์ด สารพัด
มีความเห็นตรงกันกับผู้ประสานงาน ที่ไม่อยากทำเช่นนั้น
จึงจัดการต้อนรับแบบเรียบง่ายและไม่เน้นการใช้เทคโนโลยีในการนำเสนอ
หลังจากพบเจอ แนะนำตัวระหว่างผู้มาเยือนกับเจ้าบ้านกันเรียบร้อย
จึงค่อยๆ เล่าเรื่องราวของโรงเรียนให้รับรู้ภายในเวลาไม่นานนัก
ตั้งแต่ที่มาของการก่อตั้งโรงเรียน ซึ่งเริ่มต้นมาจาก
ความตั้งใจให้การศึกษาแก่บรรดาลูกหลานชาวจีนในเมืองเล็กแห่งนี้
จนมีเหตุให้ต้องเปลี่ยนแปลงจากโรงเรียนจีนมาเป็นโรงเรียนในปัจจุบัน
บอกเล่าถึงความหมายของชื่อโรงเรียนทั้งจีนไทย
จาก หวุนเจิ้ง(เจริญและเที่ยงธรรม) มาเป็น มงคลวิทยา
ที่ให้ความหมายว่า สถานศึกษาที่ให้วิชาความรู้ซึ่งนำสู่ชีวิตที่ดีงาม
ทั้งเจตนาอันดีที่เป็นจุดเริ่มก่อตั้ง และความหมายของชื่อโรงเรียน
จึงได้รับการสืบทอดและใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง
เล่าถึงแนวคิดในการจัดการศึกษาของโรงเรียนที่มุ่งพัฒนาให้เด็ก
เป็นผู้ที่เรียนรู้อย่างมีความสุขเพื่อการพึ่งตนเองได้และใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า
ทั้งการพัฒนาครูที่จะสอนด้วยความรัก ความรู้และความเป็นครูอย่างแท้จริง
บรรยากาศการทำงาน การเรียน ที่เป็นเสมือนครอบครัวใหญ่
ทั้งวิธีการเรียนที่จัดให้เด็กเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติและได้ประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง
ผ่านการทำกิจกรรมอย่างหลากหลาย
ให้ได้เรียนรู้ทั้งจากความสำเร็จและความล้มเหลว
บอกแหล่งข้อมูลให้รู้ สำหรับผู้อยากจะดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากเวปไซต์
และแจกจุลสารของโรงเรียนที่รวบรวมเรื่องราวที่ได้ทำในแต่ละปีการศึกษา
พอให้ได้เห็นภาพ เพื่อจะเลือกศึกษาในประเด็นที่สนใจได้ตามสะดวก
ก่อนจะแบ่งกลุ่มแยกย้ายให้คุณครูฝ่ายเจ้าบ้านพาไปชมสถานที่และกิจกรรม
นำท่านหัวหน้าคณะไปเริ่มต้นที่ห้องครูเซี้ยง
ผู้ซึ่งวางรากฐานความเป็นครูผู้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง สมถะ
และใช้เวลาศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเป็นครูจนตลอดชีวิต
ได้ชมข้าวของที่เชื่อมโยงกับการเรียนการสอนในอดีตแล้วจึงพาเดินต่อ
ลัดเลาะชมสวนผัก สวนถาด สวนครัวข้างอาคาร
ทั้งงานจัดการแหล่งเรียนรู้จากธรรมชาติ
ทั้งพืชพรรณ เป็ด ไก่ ไส้เดือน ที่เลี้ยงไว้ให้ศึกษานานาชนิด
ในโรงเรียนนี้นอกเหนือจากการเรียนรู้ที่ครูจัดเตรียมแล้ว
ยังจัดสถานที่ในโรงเรียนไว้ให้เรียนรู้โดยธรรมชาติของเด็ก
ให้เป็นเรื่องของการเล่น การสำรวจสิ่งต่างๆ ตามที่อยากรู้อยากเห็น
ชมผลงาน ร่องรอยของกิจกรรมและการเรียน ที่ทิ้งไว้
ให้ได้เห็นกระทั่งแปลงปลูกใบชะพลูที่ขึ้นอยู่หรอมแหรม
และบ่อที่กลุ่มเด็ก ม.1 ทั้งหญิงชาย ช่วยกันขุดไว้จะเลี้ยงปลา
แต่เจอปัญหาขังน้ำไม่ได้ จึงเปลี่ยนไปเลี้ยงในบ่อซีเมนต์
ได้เป็นเรื่องให้ขบขันปนสงสาร เมื่อเห็นผลงานที่นำเสนอตอนสิ้นเทอม
ก็ปลาช่อนตัวโตหลายตัวล้วนสีข้างถลอกกันถ้วนทั่ว คงอยู่กันอย่างแออัดมานาน!!
พาเดินจนผู้ชมคงเหนื่อยอ่อน จึงแวะมาดูกิจกรรมการเรียนการสอนของทั้งสองค่าย
เป็นสัปดาห์ใกล้สงกรานต์ค่ายอนุบาลจึงเรียนเรื่องการเตรียมข้าวของเพื่อดำหัวผู้ใหญ่
ซึ่งคุณครูพาเด็กๆ ไปตั้งฐานเรียนกันในที่ต่างๆ
ใต้ต้นสารภีมีป้ายติดไว้ให้ได้รู้ ว่าดอกที่ลอยอยู่ในน้ำมะกรูดส้มป่อยมาจากต้นนี้
มีฐานทำหมากสุ่มใกล้สระว่ายน้ำที่มีต้นหมากไว้ให้ลองหาลูกหมากมาประกอบกิจกรรม
ต้นกล้วยที่พี่ ม.3 ปลูกไว้ในวันพ่อปีที่แล้ว
มีมากพอที่จะพาเด็กไปดูวิธีการตัดใบตองมาใช้ในงานนี้
เสียดายที่ไม่มีเวลาพอให้ได้เห็นขั้นตอนกระบวนการของค่าย
ที่ครูพาให้เด็กๆ ได้ลงมือลองทำอะไรหลายสิ่ง คั่วข้าวตอก พับกระสวย
ผสมน้ำส้มป่อย กระทั่งสอนกันเคาะฆ้องกลองเตรียมนำขบวนกันเป็นที่สนุกสนาน
ค่ายอนุบาล ต้องค่อยทยอยทำวันละสิ่งสองสิ่ง กว่าจะครบขั้นตอนก็ครบสัปดาห์พอดี
ไม่เหมือนค่ายของพี่ประถม ที่ระดมกันทำขนมเทียนในวันนี้
โดยมีทีมครูหนุ่มๆ เป็นผู้รับผิดชอบ
จึงมีการเต้น “แร็พขนมจ็อก”ประกอบการนำเสนอให้เป็นทีฮือฮา
แถมยังพาเด็กๆ แต่ละบ้านไป “ต๊กต๋อง” “ตัดต๋อง” นวดแป้ง ห่อขนม ฯลฯ จนทันชิมในวันเดียว
พาคณะแวะชมค่ายประถม ที่นอกจากทำขนมเทียนแล้ว
คุณครูยังนำเอาผลงานจากการเรียนของเด็ก วิธีการสรุปเรื่องเรียนรู้ของเด็กๆ
นิทานร้อยขา หนังสือพิมพ์ข่าวประจำสัปดาห์ของค่าย
ที่พระท่านบอกว่าสำนวนคล้ายจะออกแนวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาไว้ให้ชม
สมควรแก่เวลาก็ได้เวลาเพลกันพอดี
มีเวลาพักผ่อนหลังอาหารกันพอสมควรแล้วก็เริ่มกิจกรรมยามบ่าย
ที่ได้น้องอ้อมกับน้องตี๋ซึ่งแม้มีงานกันตอนเช้าก็ยังรีบขับรถมาทันเวลาช่วยงาน
ด้วยการนำกิจกรรมผ่อนพักตระหนักรู้ ให้ทั้งครูฝ่ายเจ้าบ้านและผู้ดูงานได้ร่วมผ่อนพัก
ทั้งห้องประชุมใหญ่จึงมีเพียงเสียงหายใจอันผ่อนคลายให้ได้ยินไปทั่ว
หลังจากเติมความสดชื่นแล้วก็ถึงเวลาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ที่เริ่มด้วยการตอบข้อซักถามเพิ่มเติมในเรื่องที่ผู้มาดูงานสนใจ
ทั้งเรื่องของการทำอย่างไรในการสร้างทีม
จุดเริ่มในการสร้างหลักสูตรที่เน้นการปฏิบัติของโรงเรียน
และวิธีในการสร้างสรรค์กิจกรรมที่นำมาใช้
โรงเรียนอยู่ได้อย่างไรโดยเน้นความร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน
แรงกดดันที่ต้องทำคะแนน O-net, NT ให้ดีตามที่ภาครัฐกำหนดไม่มีหรืออย่างไร
เด็กที่จบไปแล้วปรับตัวได้กันบ้างหรือเปล่า
โรงเรียนได้นำพุทธศาสนามาใช้อย่างไร ฯลฯ
แม้บรรดาคุณครูรุ่นใหญ่ไม่ได้มาร่วมต้อนรับ ด้วยตรงกับช่วงเวลาที่ลูกหลานพาไปพักผ่อนประจำปี
มีเพียงครูรุ่นกลางๆ ที่ชวนกันร่วมในวงสนทนา
กลับพบว่า คำบอกเล่าที่มาจากประสบการณ์ตรงของครูช่วยทำความกระจ่าง
และเติมมุมมองของผู้ปฏิบัติได้ชัดเจน
ทั้งรายละเอียดปลีกย่อยในการอยู่กับเด็กให้เกิดผล
ทั้งระบบการบริหารงานที่หัวหน้ากลุ่มสาระบอกเล่าถึงการทำงานร่วมกับรองผู้อำนวยการโรงเรียน
ที่หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสอนมีบทบาทเป็นลูกทีมของตน
แต่เมื่อเป็นเรื่องการบริหารบุคคลก็เปลี่ยนบทบาทของตนเป็นลูกทีมบ้าง
ทั้งระบบการใช้งบประมาณที่ต้องบริหารด้วยปัญญา
ต้องหาวิธีใช้ข้าวของชิ้นเดิมให้แปลกตาไปในกิจกรรมใหม่อย่างไร
ทั้งบอกเล่าถึงกระบวนการที่ถูกเคี่ยวกรำมาจนมั่นใจในวันนี้
ถึงขั้นมีสโลแกน กำกับก้าวย่างของการพัฒนาตน”เราทำได้ เราได้ทำ เราทำดี”เป็นของแถม
น้องและเพื่อนร่วมอาจารย์ ยังร่วมแบ่งปันความคิด ความเห็น
เพิ่มเติมมุมมองของผู้ที่ได้ร่วมรับรู้เส้นทางการทำงานของโรงเรียนให้มากขึ้น
เป็นบรรยากาศ..เล่าสู่กันฟัง..เพื่อ..เรียนรู้
มากกว่าการชวนดูความเลิศหรูอลังการของความสำเร็จ
สิ่งใดทำได้ก็บอกให้รู้ บางสิ่งก็ยังอยู่ในระหว่างการพยายามทำให้เป็นผล
เป็นบรรยากาศของการพูดคุยอย่างวางใจและให้เกียรติซึ่งกันและกัน
เป็นบรรยากาศของการให้ความหวังและกำลังใจที่จะก้าวไปในเส้นทางสร้างประโยชน์สุข
เป็นหนึ่งวันที่ได้ร่วมพบปะกับผู้ที่มุ่งมั่นและตั้งใจให้เกิดสิ่งดีงาม
ก่อนจาก..ท่านพระครูผู้นำคณะมาเยี่ยมเยือน
มอบของที่ระลึกทั้งพระพุทธรูปและหนังสือไว้ให้แก่โรงเรียน เป็นการขอบคุณที่เอื้อเฟื้อให้เรียนรู้
แต่สำหรับความรู้สึกของบรรดาคุณครูฝ่ายเจ้าบ้าน
คณะของท่านกลับเป็นฝ่ายได้นำบุญมาให้แก่มงคลวิทยา
ให้มีกำลัง สติและปัญญา ก้าวไปในเส้นทางของการจัดการศึกษา
เพื่อมุ่งสู่ชีวิตที่ดีงามได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น..ต่อไปและต่อไปอีก..
กราบนมัสการพระครูวิสุทธิปริยัติคุณ
และคณะทำงานจิตอาสาเพื่อปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรฯ
โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ที่กรุณามาเยี่ยมเยือน
……..
…..
ขอบคุณ อ.วิชชุดา ฐิติโชติรัตนา ที่เชื่อมโยงให้คณะผู้มาเยือนได้พบกับโรงเรียนมงคลวิทยา
ขอบคุณ ผศ.ดร. ธีราวรรณ ธีระพงษ์(อ้อม), อ.สหรัฐ เจตมโนรมย์ (ตี๋), อ.อนงค์ สารีรัตน์(หมวย)
และพี่น้องมงคลวิทยาทุกคนที่ร่วมกันต้อนรับและเรียนรู้กับผู้มาเยือน
« « Prev : ปะ..ไปดูลุงบางทรายยึดลานกัน..^^
Next : ปล่อยให้รกเรื้อบ้าง..ก็ได้นะ.. » »
2 ความคิดเห็น
ใช้สรรพนามสนทนากับพระตามปกติแหละ อย่าไปใช้อาตมาก็แล้วกัน อิอิ
เป็นการดีมากที่มีผู้มาเยือน เพราะเหมือนเป็นกระจกส่องหน้าเรา เหมือนกับมีทีมมา monitoring แต่เป็นอีกบรรยากาศหนึ่ง
โดยเฉพาะคณะสงฆ์ ที่ท่านมีฐานของธรรมเป็นมุมมอง
แน่นอนบางเรื่องก็อาจจะเว่อร์ไปสำหรับเงื่อนไขของมงคลวิทยา แต่ก็อาจมีบางเรื่องที่ เออ..ไปกันได้นะ
การมีผู้มา monitor ช่วยทำให้เราเห็นประเด็นหลัก รอง จุดเด่นจุดอ่อน แนวทางต่อเติม ได้อีกแยะ ในทางตรงข้ามเป็นการย้อนกลับไปว่า แนวทางที่โรงเรียนทำนั้นไปตอบโจทย์ทางสังคมมากน้อยแค่ไหน
จะดูผลการศึกษาต้องดูกันยาวๆ กระบวนการ และวิถีโรงเรียนมงคลวิทยานั้นพยายามสร้างบรรยากาศ สาระในโรงเรียนให้เอื้อต่อการสร้างเด็ก สร้างคน แต่ครูก็ทราบดีว่า ทำดีแค่ไหนก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของช่วงชีวิตของเด็ก และเป็นส่วนหนึ่งของเวลาแห่งชีวิตของเด็ก เพราะ เขาไม่ได้อยู่โรงเรียนตลอดเวลา เขากลับไปอยู่ในวิถีบ้าน(ที่เราไม่อาจไปสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ได้ : อาจจะได้บ้าง) เขากลับไปอยู่วิถีสังคมใหญ่ บางเรื่องก็เอื้อ บางเรื่องก็ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ บางเรื่องก็จูงไปทางที่ไม่พึงประสงค์ ก็เป็นปกติ หากมองในมุมบวก ก็คือ เออ เด็กเขาจะได้ผ่านบททดสอบของจริงบ้างนะ
ครูอาจจะตั้งประเด็นถามว่า ช่วงวันหยุดที่ผ่านมาเธอมีอะไรมาเล่าให้ครูฟังบ้าง เอาสามเรื่องนะ เรื่องที่หนึ่ง ความประทับใจ มีไหม เรื่องที่สองความไม่ประทับใจ เรื่องที่สาม ความไม่เข้าใจ และอยากถาม เหล่านี้ก็กลายเป็นหัวข้อพูดคุยประจำวัน มีจุดดีตรงที่ให้เด็กได้เป็นผู้ช่างสังเกต เก็บประเด็นของชีวิตในแต่ละช่วงของเวลา มิใช่ผ่านไปเฉยๆ หากสร้างสมนิสัยแบบนี้ได้ ก็น่าที่จะมีส่วนเสริมสร้างนิสัยการเรียนรู้ ซึ่งเชื่อว่าโรงเรียนมีสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วครับ
การมีคณะสงฆ์ฒาเยี่ยมเยือนถือเป็นมงคลจริงๆนะ
การจัดการศึกษากว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลาจริงๆ แถมในระหว่างกระบวนการที่ก้าวไปสู่ปลายทางยังมีปัจจัยแทรกซ้อนเข้ามาให้เรียนรู้ ให้ปรับเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ทั้งต้องคอยระวังไม่ให้หลงทางไปกับปัจจัยแทรกซ้อนจนไม่รักษาทิศทาง รักษาแก่นของการทำงาน จะดูให้สนุก ท้าทาย ก็สนุกอยู่นะคะ
ประทับใจกับความมุ่งมั่นของคณะทำงานด้วยค่ะ ท่านเตรียมมาดูงานอยู่สองสามโรงเรียน มีข้อมูลเบื้องต้นของโรงเรียนที่จะไปดู มีประเ้ด็น ที่จะนำมาพูดคุย สรุป และทำงานต่อ ทำเป็นเอกสารแจกทุกคน แถมยังมีการประสานงานที่ช่วยกันวางแผนกับฝ่ายเจ้าบ้านอย่างไม่ติดกรอบใดๆ สนุกคิดกันใหญ่ค่ะ สำหรับบรรดาคุณครูเอง น้องก็ได้เห็นความเติบโตของเค้า เห็นความตั้งใจที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างอ่อนน้อม ซึ่งก็แอบชื่นใจอยู่นะคะ^^