ทำเรื่องเล็กๆ ให้เกิดผลที่ยิ่งใหญ่..
อ่าน: 3093ท่ามกลางกระแสวิพากษ์ที่โถมเข้าสู่ระบบการศึกษา
ทั้งบรรดาผู้รู้ก็คาดหวังให้เกิดคุณภาพประหนึ่งจะพลิกฟื้นได้ในพริบตา
จนปัญญาที่จะทำงานอันยิ่งใหญ่ จึงตั้งใจทำในสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัว
ด้วยถือคติ ถ้าจะเปลี่ยนแปลงโลก ก็เริ่มต้นที่ตัวเอง ^^
ชวนกันมุ่งมั่นต่อทิศทางในการพัฒนาให้นักเรียน เรียนรู้อย่างมีความสุข
เพื่อพึ่งตนเองได้ และใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า
บรรดาคุณครูทั้งหลาย จึงมีงานให้คิด ให้ทำ อยู่ไม่ขาด
กิจกรรมของโรงเรียนก็อาจสร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้ที่ได้พบเห็น
คิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆ แต่ที่แท้เป็นการเรียนรู้
ซึ่งกว่าครูจะเตรียมการให้เกิดขึ้นได้
ก็ใช้เวลาบ่มเพาะประสบการณ์ สั่งสมความรู้ร่วมกันอยู่ไม่น้อย
เป็นเรื่องไม่ง่ายนัก ที่จะชักชวนให้ทั้งครูและผู้ปกครอง มองการเรียนรู้ในมุมใหม่
ไม่ใช่เพียงวัดความสำเร็จด้วยคะแนนสวย เกรดดี โดยไม่รู้ว่าครูมีวิธีวัดผลที่ถูกต้องเพียงใด
ไม่ง่ายนัก ที่จะชักชวนให้เด็กมีวินัยใฝ่เรียนรู้อย่างรอบด้าน
รู้จักการทำงาน มีปฏิภาณแก้ไขปัญหา ให้มีปัญญารู้คิด
อีกทั้งบรรดาความรู้ ความสามารถอีกมากมายที่ประเทศชาติ ประชาชน คาดหวังให้เด็กเป็น
และไม่ง่ายนัก ที่จะจัดการศึกษาท่ามกลางทรัพยากรที่ไม่พรักพร้อมสมบูรณ์
เมื่อเริ่มก้าวแรกได้ ก้าวต่อไปก็ตามมา
เด็ก ครู ผู้ปกครอง เริ่มคุ้นเคยกับวิธีการเรียนรู้เชิงประจักษ์ ที่ครูปรับเปลี่ยนในแต่ละปี
ตามแต่จะมีข้อค้นพบในเรื่องใด ให้ปรับปรุงกิจกรรมใหม่ให้เหมาะสม
เหมือนเช่นในปีนี้ ที่ปรับเวลาให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยโครงงานอย่างจริงจังมากขึ้น
ตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กจนถึงเด็กโต
จึงเป็นโอกาสให้ได้ศึกษาหาความรู้ร่วมกันด้วยวิธีใหม่
โดยใช้ประโยชน์จากเวปไซต์ที่เผยแพร่ความรู้เป็นคู่มือในการศึกษา
ต่อมาฝ่ายวิชาการจึงเป็นฝ่ายแบ่งงานให้ครูรับผิดชอบดูแลเด็กแต่ละกลุ่มแยกตามระดับชั้นไป
นับแต่นั้นครูแต่ละทีม จึงได้เผชิญความท้าทายหลากหลาย
ด้วยเน้นให้ครูส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้โดยเริ่มต้นจากความสนใจของเด็ก
ไม่ให้ครอบงำความคิด ไม่ให้ยึดติดรูปแบบ
ขอเพียงส่งเสริมให้เด็กคิดได้ แสวงหาความรู้ได้ และทำงานเป็น
ไม่ต้องหวังผลงานจากการเรียนที่เลิศหรู แต่ขอให้ดูกระบวนการค้นพบความรู้และสร้างทักษะ
ให้รู้จักแก้ปัญหาจากการปฏิบัติร่วมกันเองของเด็ก
ย้ำให้ชัดๆ เรียนรู้จากความล้มเหลวก็ยังได้
และ สร้าง “ใจ” ที่ใฝ่รู้ ไม่ท้อถอย พากเพียรหาคำตอบ
เท่านี้ ครูก็เริ่มต้นด้วยอาการมึน..
จะทำได้ไหมเนี่ย..เด็กๆ คงวุ่นวายน่าดู
ต้องอยู่กับเด็กทีละตั้งสอง สามชั่วโมงรวด
แถมให้แต่ละกลุ่มมีอิสระในการจัดการตัวเอง ไม่ต้องอยู่ในห้องเรียนก็ได้
เจ้าตัวแสบมันจะรับผิดชอบกันเร้อ..ฯลฯ
แต่ครูคงเริ่มคุ้นเคยกับประโยค “สถานการณ์สร้างวีรบุรษ/วีรสตรี”
(และบางครั้งมีคนแอบเติมว่า “ที่ตายแล้ว!!.”)
ที่ฝ่ายบริหารยัดเยียดให้เป็นประจำ
ตามด้วยการสัมมนาที่อาจารย์โสรีช์ โพธิแก้วกรุณาพาน้องๆ บ้านมกรา จุฬาฯ กว่าสิบคน
มาชวนครูเรียนรู้ ให้รู้จัก เข้าใจเรื่องชีวิต และความเป็นครูให้ลึกซึ้ง
เพิ่มความใกล้ชิดผูกพันกันมากขึ้น
ทั้งปลุกปลอบใจให้ฮึกเหิม “ภูเขาแม้ไม่สูง หากมีเซียนก็เลื่องลือไกล”
และด้วยฝีมือเซียนมือใหม่ทั้งหลาย ในปีนี้โรงเรียนจึงมีภาพที่แปลกไป
ทั้งในช่วงที่จัดให้เป็นเวลา “วิชาโครงงาน” และ ช่วงเวลาพัก
บางวันอาจจะพบกลุ่มเด็กเล็กเดินถือถุงพลาสติกใบโตแวะเวียนไปทั่ว
หากล่องนมมาทำโครงงานของกลุ่ม
บ้างก็มุด ปีน อยู่ตามต้นไม้ เก็บตัวอย่างยางไม้ไปทดสอบพิษ
ที่คิดวิธีทดสอบด้วยข้าวสารตามที่ยายบอก!!!
บ้างนั่งรอมดเดินผ่านเพื่อทดสอบสเปรย์ที่ทำจากพริก..
บ้างสนใจเรื่องประเภทของมด บ้างสนใจกระดาษเหลือใช้
บ้างได้ความคิดใช้ดอกไม้ใบหญ้าสารพัดชนิดในโรงเรียนพยายามทำกระดาษลิสมัต
และพยายามต่อยอดให้วัดความเป็นกรดด่างได้ละเอียดขึ้น
บ้างเริ่มต้นที่ปลา แต่เลี้ยงไปเลี้ยงมามีกบอยู่ในอ่าง ปลาหาย..
บ้างคิดไกลถึงขั้นจะผสมปลากัดข้ามสายพันธุ์
และกลายเป็นภาระในวันหยุดของครู ที่จะต้องรับปฏิบัติตามคำขอร้อง
“ครูครับ ฝากเลี้ยง ให้ปลากินอาหารตัวละสองเม็ดนะครู
ถ้าให้เยอะเกินน้ำมันจะเน่า”…ตัวละสองเม็ดเนี่ยนะ..ละเอียดจริงๆ
บ้างก็ให้ครูช่วยพิสูจน์กลิ่นเทียนหอม ที่อบอวล อยู่ใกล้ครูที่แพ้กลิ่น
ทำเอาเป็นลม ขาดงานไปสองสามวัน!!
บางห้องอาจได้กลิ่นเหม็นเน่าลอยมา ด้วยบรรดาผู้จะทดลองหมักน้ำชีวภาพ
เกิดเกี่ยงกันเอากากน้ำตาลมาเติม จนเลยเวลา พาให้เน่าเหม็น
บ้างก็ใช้เวลานับเดือนกว่าบ่อเลี้ยงกบจะลงตัว
บางกลุ่มก็สนใจคิดประดิษฐ์อุปกรณ์บำบัดน้ำเสีย
บ้างอยากทำข้าวหลากสีสัน ทำการ์ตูนภาษาอังกฤษ ปั้นอิฐจากเศษใบไม้
ทำแม้กระทั่งประดิษฐ์เครื่องเก็บอุจจาระสุนัข ฯลฯ
บางกลุ่มปรับเปลี่ยนวิธีคิดสารพัน จากกังหันไม้ไผ่บำบัดน้ำที่ทำได้จริง
กลายเป็นสิ่งที่อยากทำต่อในเชิงช่าง ทดลองทำเครื่องเก็บผลไม้
ที่ใช้เคียวและไม้พลองลูกเสือที่อยู่ใกล้ตัว ลองทดสอบสารพัดวิธีแต่ไม่เป็นผล
จนค่อยพัฒนามาใช้ท่อน้ำพลาสติก ที่ยังไม่รู้ว่าจะสำเร็จเพียงใด
โครงงาน กว่า 150 โครงงาน ตามความสนใจของเด็กต่างกลุ่มต่างวัย
บอกได้ถึงความเข้าใจ ความสามารถที่แตกต่าง
ซึ่งหากมองด้วยมาตรฐานวิชาการอันเข้มข้น
ผลงานและกระบวนการเรียนรู้ของเด็กที่คุณภาพอยู่ในระดับดีอาจยังมีไม่มากนัก
แต่ในมุมมองของการเรียนที่มีจุดเริ่มจากตัวเด็กที่แท้จริง ก็นับว่าเป็นก้าวที่น่าพอใจ..
บันทึกจะยาวเกินไปแล้ว..
โปรดติดตามต่อไป บันทึกหน้าก็แล้วกันนะคะ
« « Prev : ท่องราตรี..กับ..ดร.เม้ง
Next : ทำเรื่องเล็กๆ ให้เกิดผลที่ยิ่งใหญ่ ตอนที่ 2 » »
2 ความคิดเห็น
ตามมาอ่านจากบันทึกหลัง…5555….
ชอบอ่านหนังสือจากด้านหลังเล่มไปด้านหน้าค่ะ
อ่านแล้วรีบยกมือสนับสนุน (ตามความคิดเห็นของคุณ Logos) กลัวพี่จะไม่เห็นเลยต้องพิมพ์ ๆ ตัวหนังสือไว้ด้วย
การศึกษาเป็นโจทย์ใหญ่ที่ซับซ้อนอยู่เสมอมา ผู้ที่ำทำงานด้านการศึกษาโดยเฉพาะ “ครู” มักต้องเป็นผู้ตอบโจทย์นี้ และต้องคอยระมัดระวังให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็น “จำเลย” ของสังคมไปโดยไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว
แต่น้องก็คิดว่า หากเรามุ่งมั่นจริงจังเต็มตามสติปัญญากำลังของเราแล้ว… เราก็ย่อมได้รับ “รางวัล” นั้นอยู่แล้วในใจ
อ่านไปก็ยิ้มไป… อยากร้องเพลงเด็ก ๆ ที่ได้ยินบ่อย ๆ … โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน เด็ก ๆ ก็….
โรงเรียนพี่ครูอึ่งนี่ ทำให้อยากกลับไปเป็นเด็กอีก…จะได้ไปเรียนค่ะ
และบางทีผู้คนก็มองว่าการศึกษาคือยาวิเศษ ที่จะแก้ไข พัฒนา ทุกสิ่งได้ บางทีก็ชวนกันฝันไปซะไกล ชวนกันหลงอยุ่ในโลกอุดมคติที่ไม่พอดีกับชีวิตจริงๆ ที่เด็กเผชิญอยู่