กำลังเรียน ป.๑ คุณยาย แม่เฒ่า หรือนม ได้ถึงแก่กรรมลง ครอบครัวจึงได้ย้ายไปอยู่บ้านแม่เฒ่าซึ่งเป็นบ้านเดิมของแม่… เรือนหลังนี้ จัดอยู่บ้านหัวนอนของบ้านคูขุด อยู่ระหว่างบ้านที่หนองหม่าวกับบ้านที่คลองหลาซึ่งเพิ่งย้ายจากมา ระยะห่างก็อยู่กึ่งกลางบ้านเก่าทั้งสองแห่ง โดยทั้งสามแห่งนี้ก็ตั้งอยู่ริมถนนดินเส้นเดียวกัน… สำหรับเรือนหลังนี้ แม้จะไม่เคยมาอยู่เป็นทางการ แต่ก็แวะเวียนมากินมาเที่ยวอยู่เสมอ…
ลักษณะของเรือน จะเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูงประมาณสองเมตรทรงปันหยา เป็นเรือนปลูกติดกันหลายๆ หลัง โดยแบ่งเป็น ๒ ครอบครัว… ครอบครัวผู้เขียนจะมีปู่หรือพ่อเฒ่าเป็นผู้ใหญ่สุด ส่วนอีกครอบครัวหนึ่งจะมีทวดหญิง (แม่ของแม่เฒ่า) ซึ่งอายุมากแล้วและมียายอีกคนซึ่งเป็นลูกของทวดเป็นผู้ดูแล… สองครอบครัวนี้ใกล้ชิดกันมาก สามารถใช้ห้องครัวหรือห้องส้วมแทนกันได้ และบางครั้งประตูเรือนด้านในระหว่างครอบครัวก็อาจไม่จำเป็นต้องปิด…
แรกที่ย้ายมาอยู่นั้น บ้านพ่อเฒ่ายังมีคนเยอะ กล่าวคือ มีน้าชายและน้าสาวที่ยังไม่มีครอบครัวอยู่อีก ๓ คน ส่วนป้าและน้าอีก ๓ คนที่มีครอบครัวแล้วได้ย้ายเข้ามาอยู่ในตัวเมืองสงขลานานแล้ว (น่าจะมาตั้งแต่ผู้เขียนไม่เกิดหรือจำความไม่ได้)… ส่วนบ้านทวดนั้น ลูกของยายที่รุ่นราวคราวเดียวกับผู้เขียนก็หลายคน (ยายคนนี้เป็นลูกสุดท้องของทวด) เพียงแต่ผู้เขียนมีศักดิ์เป็นหลาน พวกเขามีศักดิ์เป็นน้าเท่านั้น…
ทวดมีลูกหลายคน นอกจากสองครอบครัวที่อยู่ชิดกันแล้ว ยังมีตาอีก ๓ ครอบครัวซึ่งอยู่ในบ้านคูขุด โดยทุกเช้าและเย็น แต่ละครอบครัวของตาซึ่งเป็นน้องของแม่เฒ่า จะยกสำรับกับข้าวมาให้ทวด… ส่วนที่ครอบครัวของผู้เขียนนั้น จะจัดสำรับเป็นพิเศษสองที่ ที่หนึ่งจะยกไปให้พ่อเฒ่าที่ท่านนั่งประจำ ส่วนอีกสำรับจะยกไปให้ทวดที่บ้านยาย…
พ่อเฒ่าเป็นคนบ้านแหลมวัง (บ้านคูขุดอยู่ในหมู่๔ และ๕ ส่วนบ้านแหลมวังอยู่ในหมู่๖) ชอบทำนา เลี้ยงวัว แต่ไม่หากินทางทะเลเพราะฆ่าสัตว์เป็นบาป… ตั้งแต่จำความได้ พ่อเฒ่าได้ถือศีลอุโบสถทุกวันพระ ซึ่งตอนนั้นผู้เขียนยังไม่รู้รายละเอียด รู้แต่เพียงว่า เมื่อถึงวันพระ พ่อเฒ่าไม่กินข้าวเย็น และเป็นหน้าที่ของผู้เขียนต้องไปซื้อชาร้อนใส่กระป๋องนมจากคลองหลามาให้พ่อเฒ่า… พ่อเฒ่ามักจะพาผู้เขียนไปแหลมวังและบางครั้งก็เลยไปดอนคัน (หมู่ ๗ และ๘) โดยไปที่บ้านญาติและเพื่อนของท่าน หรือบางครั้งก็ไปที่วัด ในคราวที่มีงานหรือมีธุระอื่น… ชีวิตผู้เขียนผูกพันกับพ่อเฒ่าพอสมควร จำได้ว่าตอนที่ท่านถึงแก่กรรมนั้น ผู้เขียนอายุเกือบยี่สิบแล้ว และกำลังเรียนอยู่เทคนิคหาดใหญ่…
ครอบครัวของยายหรือบ้านทวดนั้น จะเป็นร้านขายของชำเกือบทุกอย่าง เช่น ผงซักฟอก สะบู่ ยาสีฟัน บุหรี่ น้ำมันก๊าด ยารักษาโรค ตลอดถึงรำข้าวซึ่งเป็นอาหารหมู ซึ่งสินค้าที่นำมาขายในยุคนั้น จะซื้อมาจากพัทลุงมากกว่าซื้อมาจากตัวเมืองสงขลา เพราะตาของยายบ้านทวดเป็นนายท้ายเรือโดยสารวิ่งระหว่างคูขุดกับลำปำ (จ.พัทลุง) แต่มิได้เป็นเจ้าของเรือ และผู้เขียนยังมีตาอีกคนหนึ่งที่อยู่คลองหลาเป็นเจ้าของเรือโดยสารและเป็นนายท้ายเรือเองด้วย… สมัยนั้น จะมีเรือโดยสารและบรรทุกสินค้าแล่นไปมาคูขุด-ลำปำ ๓ ลำ ชื่อเรือสินธ์ประพาส สหสิน และดาวประสิทธิ์ โดยไปวันหนึ่ง นอนลำปำคืนหนึ่ง อีกวันจึงกลับมา สับเปลี่ยนกันไปทุกวัน… บรรดาลูกหลานชาวคูขุดสมัยนั้น จึงมีโอกาสติดเรือไปเที่ยวเสมอ ซึ่งผู้เขียนก็เคยไปบ้างเป็นครั้งคราว…
ส่วนแม่เฒ่านั้น ก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรม มีอาชีพขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปและผ้าผืนผ้าพับ ดังนั้น เมื่อแม่เฒ่าจากไป กิจการนี้จึงตกทอดมาถึงแม่ โดยจะนำเสื้อผ้าไปขายตามตลาดนัดในละแวกนั้น กรณีนี้ทำให้ผู้เขียนคุ้นเคยกับตลาดนัดวัดคูขุดเพราะต้องไปหาแม่ในวันนัดคูขุดทุกครั้ง (เคยเล่าส่วนที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี้)
อีกอย่างหนึ่ง นอกจากจะเป็นช่างตัดเสื้อผ้าเองแล้ว แม่ยังรับเป็นครูสอนการตัดเสื้อผ้าด้วย ซึ่งผู้เขียนเคยเห็นการสอนวิธีตัดเสื้อผ้ามาตั้งแต่จำความได้ เริ่มตั้งแต่เอากระดาษมาวาดแล้วตัดเป็นแบบ… ลูกศิษย์ของแม่ก็เป็นสาววัยรุ่นในสมัยนั้น ซึ่งผู้เขียนเรียกว่าน้าๆ บรรดาน้าเหล่านั้นเคยเลี้ยงดูโดยให้ผู้เขียนอาบน้ำหรือกินข้าวบ้างตามสมควร จนกระทั้งทุกวันนี้ เมื่อเจอกันผู้เขียนก็ยังจำบางคนได้ แต่จำรายละเอียดในตอนนั้นไม่ได้เท่านั้น…
นอกจากขายเสื้อผ้าแล้ว แม่เฒ่ายังขายเบอร์ด้วย (เบอร์ ก็คือ หวย ขายเบอร์ ก็คือขายหวย) ตอนที่แม่เฒ่ายังอยู่นั้น น่าจะมีหลายหุ้น เพราะในความทรงจำนั้น ในวันหวยออก ผู้เขียนจะนอนดูผู้ใหญ่มาทำบัญชีหวยที่เรือนหลังนี้ นอนฟังเค้าคุยกันเรื่องหวย นินทานาย (ตำรวจ) ที่มาไล่จับ หรือมารีดไถ… กิจการนี้ก็ตกมาถึงแม่เช่นเดียวกัน เพียงแต่ภายหลังการเข้าหุ้นและคิดบัญชีหวยจะหายไป…
เมื่อก่อนหวยจะออกเดือนละสามงวด หลังจากหวยออกแล้วก็จะมีการคิดบัญชี… ถ้างวดใดได้กำไร ก็จะมีการซื้อหัวหมู หรือไก่ปากทอง (ไก่ต้มทั้งตัวแล้วใช้แหวนทองตั้งที่ปากไก่) เพื่อเซ่นไหว้ผีกลางบ้าน (เรือนเสาเดียวเล็กๆ สร้างไว้กลางหมู่บ้านเพื่อเป็นที่อยู่ของผีกลางบ้าน.. พวกเราเรียกกันว่าบ้านพ่อเฒ่า เมื่อก่อนบ้านพ่อเฒ่าทำนองนี้ ในบ้านคูขุดจะมีมาก แต่ตอนหลังค่อยๆ ถูกรื้อเพื่อใช้พื้นที่ปลูกบ้าน)… แต่ถ้างวดใดขาดทุน ก็จะไม่เซ่นไหว้ด้วยหัวหมูหรือไก่ปากทอง โดยจะเซ่นไหว้เพียงขนมเปียะลูกโตที่มีไข่แดงตรงกลางแทน ซึ่งโดยมากก็เป็นหน้าที่ของผู้เขียนต้องเดินไปซื้อขนมเปียะมาจากคลองหลา จำได้ว่าสมัยนั้นลูกละ ๗ บาท…
กำไรหรือขาดทุนของหวยแต่ละงวดนั้น จึงเกี่ยวพันถึงผู้เขียนอีกอย่าง คือ มีป้าและยายแก่ๆ บางคนที่ถือฝ่ายเจ้ามือหวย ดังนั้น ถ้างวดใดคิดบัญชีแล้วขาดทุน ผู้เขียนก็ต้องเดินไปเอาเบี้ยจากป้าหรือยายแก่ๆ เหล่านั้น… แต่ถ้างวดใดคิดบัญชีแล้วได้กำไร ป้าหรือยายแก่ๆ ก็มักจะเดินมาเอาเบี้ยที่เรือนของผู้เขียนเอง นานๆ ครั้งที่ผู้เขียนจะถูกใช้ให้เอาไปให้… จำได้ว่า บรรดาป้าและยายแก่ๆ เหล่านั้น มักจะล้อผู้เขียนเสมอทำนองว่า “เวลาขาดทุนก็มาเอาถึงเรือน แต่เวลาได้กำไรไม่ค่อยจะเอามาให้” … ซึ่งจำนวนเงินก็คนละ ๒๐-๕๐ บาทนี้แหละ…
ฝ่ายพ่อ นอกจากหากินทางทะเลสาบแล้ว มีช่วงหนึ่งได้สร้างเครื่องไฟหรือเครื่องขยายเสียง ซึ่งสมัยนั้น อำเภอสทิงพระทั้งหมดยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ยกเว้นบริเวณใกล้ๆ ที่ว่าการอำเภอเท่านั้น โดยหุ้นกับน้าเขยซึ่งอยู่ตำบลกระดังงา (บ้านก๋ง ตำบลกระดังงา กับบ้านแม่ตำบลคูขุด ห่างกันประมาณ ๘ กิโล) และเปิดให้บริการทั่วไป ในคราวที่ใครมีงานบวช งานศพ หรืองานมหรสพอื่นๆ… ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีโอกาสไปงานต่างๆ กับพ่อเสมอ ในฐานะลูกเจ้าของเครื่องไฟ (5 5 5…)
จำได้ว่า ผู้เขียนเคยตามเสียงเพลงหรือหนังตะลุงที่เปิดในงานเพื่อไปหาพ่อหลายครั้ง เพราะเมื่อเจอพ่อก็จะได้กินข้าวในงานและได้เบี้ยติดถุงไว้กินขนมอีกต่างหาก… ไปแล้วบางคราวไม่เจอพ่อก็ต้องนั่งคอยอยู่ข้างๆ เครื่องไฟ หรือเดินตามหาอยู่ภายในงาน…
ที่น่าเบื่อที่สุดก็คือ โรงรำวง (คณะรำวง เปิดเป็นเวที มีดนตรีเล่น มีนางรำวง บริการขายบัตร ให้นักเต้นมาเลือกนางรำวงไปเต้นเป็นรอบๆ… จำได้ว่า หัวค่ำรอบละบาท พอดึกหน่อยรอบห้าสิบสตางค์ ถ้ายังไม่เลิก ใกล้ๆ รุ่ง ก็รอบละสลึง) คณะรำวงสมัยนั้น โดยมากไม่มีเครื่องไฟเองจึงต้องมาเช่าเครื่องไฟไปใช้ ในเวลากลางคืนที่ไปเฝ้าเครื่องไฟกับพ่อที่โรงรำวง ความรู้สึกสมัยนั้นบอกว่า รำวงเลิกช้าหรือเล่นนานมาก ผู้เขียนจะกลับบ้านก็ไม่ได้เพราะไกลและมืด บางครั้งต้องนั่งเอาคางเกยเวทีรำวงหลับไป ตื่นขึ้นมาสองรอบแล้ว รำวงก็ยังไม่เลิก เบื่อสุดๆ เลย ไม่รู้เค้าจะเต้นไปทำไมกัน ซ้ำๆ ซากๆ ไม่รู้สนุกตรงไหนเลย (5 5 5…)
ผู้เขียนคุ้นเคยกับอุปกรณ์เครื่องไฟพอสมควรในตอนเด็กๆ เช่น ลำโพงงอนจะใช้พริกเผ็ดๆ ทาไว้เพื่อกันเด็กเป่าเล่น หรือสายเทปเก่าๆ เอามาขึงเล่น เป็นต้น แต่ก็ไม่มีความรู้ในเรื่องเครื่องไฟจนกระทั้งปัจจุบัน เพราะกิจการนี้ได้เลิกไป ก่อนที่ผู้เขียนโตพอที่จะเรียนรู้ได้…
บ้านเดิมของแม่นั้น ตอนแรกไปอยู่ก็มีคนเยอะ ต่อมาน้าสาวซึ่งเป็นครูก็แต่งงานมีครอบครัวแล้วก็ย้ายไปอยู่หาดใหญ่ น้าชายก็สอบตำรวจได้ย้ายไปอยู่สตูล น้าชายคนเล็กก็มาเีรียนหนังสือต่อในตัวเมืองสงขลา… ฝ่ายพ่อเฒ่า บางคราวก็ไปนอนที่ป่าช้าแหลมวังกับตาหลวง (ป่าช้าแหลมวังในสมัยก่อน มีกุฏิพระอยู่ด้วย และฟังมาว่า เมื่อก่อนนั้น ป่าช้ามีสภาพเป็นวัด เรียกกันว่า วัดออก แต่เดียวนี้รู้สึกว่า คำว่าวัดออกจะเลือนหายไปจากคนในท้องถิ่น) หรือบางครั้งก็ไปอยู่กับลูกคนโน้นคนนี้… ดังนั้น ที่บ้านยังมีแต่พ่อ แม่ ผู้เขียน และน้องอีกสองคนเท่านั้น
ต่อมาแม่เลิกขายเบอร์ เริ่มมาค้าขายในตัวเมืองสงขลา ที่จำได้ก็คือเอาลูกหมูมาขาย บางคราวก็มาครั้งละหลายๆ วัน ฝ่ายพ่อก็ออกทะเลหาปลาบ้าง เอาเครื่องไฟไปตามงานบ้าง… จำได้ว่าช่วงนี้ บางครั้ง ผู้เขียนต้องอยู่กับน้องอีกสองคนเท่านั้น (แต่มีบ้านทวดหรือยายที่อยู่ติดกัน) ตื่นเช้า ผู้เขียนก็ต้องหุงข้าวเอง เอาไข่เป็ดใส่ในหม้อข้าวสองฟอง (ที่บ้านเลี้ยงเป็ด เคยเล่าส่วนที่เชื่อมโยงเรื่องนี้ไว้ คลิกที่นี้ ) ฟองหนึ่งสำหรับผู้เขียนคนเดียว อีกฟองหนึ่งแบ่งให้น้องคนละครึ่ง (น้องอ่่อนกว่าผู้เขียนคนละ ๖-๗ ปี)… เกือบทุกวัน เฝ้าคอยว่าตอนสายๆ เที่ยง หรือบ่ายๆ พ่อจะกลับมา แต่บางวันพ่อก็ไม่มา ! … และต้องนับวันว่า วันนี้แม่ยังไม่มา ! วันนี้แม่ยังไม่มา ! บางครั้งนับได้ถึงหกเจ็ดวันกว่าแม่จะกลับมา…
ผู้เขียนก็เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดคูขุดไปปีละชั้นตามปกติ… ที่บ้านนั้น บางครั้งก็คนเยอะ บางครั้งก็มีแต่ผู้เขียนกับน้อง และต่อมา แม่ก็เพิ่มน้องชายให้ผู้เขียนอีกหนึ่งคนที่เรือนหลังนี้…
เพราะเกิดนาน นิทานจึงเยอะ ดังนั้น อาตมาเป็นไผ จึงต้องต่อตอนต่อไป…
ความคิดเห็นใหม่