ลานบ้านชลบถพิบูลย์

กุมภาพันธ 24, 2010

ประสบการณ์การจัดนิทรรศการเส้นไหมใยฝ้ายลวดลายถิ่นอีสาน ตอน 1

นิทรรศการเส้นไหมใยฝ้ายลวดลายถิ่นอีสานปี 53 เป็นนิทรรศการที่ต่อเนื่องมาจากการได้รับเชิญจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้นำผลงานผ้าไหมมาจัดนิทรรศการเมื่อปีที่แล้วในงาน ท่องเที่ยวอีสาน 2552 มาปีนี้เจ้าหน้าที่ของ ททท ประสานให้จัดนิทรรศการในภาพรวมของผ้าทอมืออีสาน งานนี้จึงจำต้องปิดแฟ้มงานอื่น ๆ ลงแล้วเดินหน้าเพื่อรับการเชื้อเชิญในครั้งนี้

นิทรรศการครั้งนี้มีจุดที่ยากที่สุดอยู่ที่ การจัดหาผ้ามาจัดแสดง เพื่อให้ได้ผ้าที่สอดรับกับเรื่องราวที่จะเรียงร้อยเพื่อนำเสนอในนิทรรศการ ลำพังผ้าที่ผมสะสมไว้ก็ไม่ได้มีมากอะไรส่วนใหญ่ก็เป็นผ้าที่ทำด้วยเทคนิคมัดหมี่ ดังนั้นผ้าในรูปแบบอื่น ๆ จึงอยู่แค่ในแผนการจัดนิทรรศการเท่านั้น ส่วนตัวผ้ายังไม่มีดังนั้น งานภัณฑารักษ์ซึ่งความจริงน่าจะได้นั่งเลือกผ้า กลับต้องออกสนามเพื่อตามหาผ้าที่จะจัดแสดง

เนื่องด้วยเวลาจำกัดผมจึงลางานสอนศิลปะในเดือนกุมภาพันธ์ที่แสนจะสนุกไป สัปดาห์ต้นกุมภาพันธ์จึงเป็นสัปดาห์ที่ต้องร่ำลาเด็ก ๆ ของผมเพื่อออกเดินทาง ด้วยระยะเวลาที่จำกัดและในพื้นที่ขนาดใหญ่ของภาคอีสาน ทำให้ต้องลาเด็ก ๆ ไป แล้วการทำงานของเราก็เริ่มขึ้น

ในแผนงานนิทรรศการเส้นไหมใยฝ้ายลวดลายถิ่นอีสานปี 53 คราวนี้ ผมออกแบบนิทรรศการเหมือนการจำลองพิพิธภัณฑ์ผ้าอีสานมาแสดงในศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์(ซึ่งเป็นความฝันที่อยากทำพิพิธภัณฑ์ผ้าสักแห่งไว้ประดับแผ่นดินอีสาน) ซึ่งเน้นการบอกเล่าเรื่องราวผ่านห้องจัดแสดงทั้งสิ้น 3 ห้องคือ ห้องผ้าในพิธีกรรม ห้องผ้าในวิถีวัฒนธรรมและห้องผ้าอีสานร่วมสมัย

เจ้าหน้าที่ ททท แจ้งถึงรูปแบบการนำชมว่าต้องการให้มีการเข้าชมเป็นรอบ ๆ ดังนั้นผมจึงไม่ได้ทำป้ายแนะนำวัตถุจัดแสดงให้เกะกะรกรุงรัง ซึ่งเป็นการบังคับผู้ชมไปในตัวว่าเข้ามาในนิทรรศการจำเป็นต้องฟังเพราะไม่มีอะไรให้อ่าน รูปแบบการนำเสนอก็ดีเพราะผู้ชมกับผู้นำชมจะได้มีการแลกเปลี่ยนกันตลอดเส้นทางการนำชมมีการชักถามพุดคุยกันสนุกสนาน และเป็นการง่ายในการดูแลความปลอดภัยของผ้าที่นำมาจัดแสดง(วิชาไม่มีป้ายในวัตถุจัดแสดงนี้ ผมเรียนรู้ที่สวนป่า มหาชีวาลัยอีสานเพราะครูบาฯท่านไม่ได้เขียนป้ายที่ต้นไม้ในสวนป่า อยากรู้ต้องถามเอา อ่านเฉย ๆ ก็จะรู้แค่ชื่อต้นไม้เฉย ๆ แต่ไม่รู้เรื่องราวอื่น ๆ ของต้นไม้)

เมื่อมองกลับไปยังห้องจัดแสดงผ้าทั้งสามห้อง ผมวางแผนการเดินทางไปเป็นกลุ่ม ๆ ตามนิเวศวัฒนธรรมซึ่งมีผ้าที่มีแปรผันตามโครงสร้างวัฒนธรรมใกล้กันเช่น เลือกอุดรธานีเพื่อให้ได้ผ้าที่เป็นตัวแทนของแอ่งสกลนครด้านตะวันตก เลือกสกลนครเพื่อเป็นตัวแทนของแอ่งสกลนครทิศตะวันออก เลือกขอนแก่นเพื่อเป็นตัวแทนของแอ่งโคราชตอนบน เลือกอุบลราชธานีเพื่อเป็นตัวแทนของแอ่งโคราชทิศตะวันออกและเลือกสุรินทร์ในฐานะตัวแทนแอ่งโคราชตอนล่าง ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผ้าที่มีความเฉพาะตามแต่ละนิเวฒวัฒนธรรม

ผมโชคดีที่มีเพื่อนทำงานด้านวัฒนธรรมอยู่ในเกือบทุกพื้นที่ ซึ่งเพื่อนที่ผมมีเป็นมากกว่าเพื่อนคือเป็นกัลยาณมิตรที่คอยอำนวยความสะดวก ในข้อแนะนำและบางคนถึงกับเป็นเพื่อนร่วมเดินทางในการลงไปเลือกผ้ามาจัดแสดง การมีตัวแทนและกัลยาณมิตรเหล่านี้ช่วยร่อนระยะเวลาในการลงพื้นที่ไปได้มากและผ้าหลายชิ้นที่เป็นของนักสะสมหากไม่ได้คนในพื้นที่ก็อย่าหมายว่าจะได้ผ้ามาจัดแสดง แต่สำหรับผมนั้นค่อนข้างโชคดีที่มีกัลยาณมิตรเหล่านั้น

2 ความคิดเห็น »

  1. ฮื่อ..ดูยังไม่อิ่มเลย..จบซะละ..ขออีกๆๆๆ ^___^

    ความคิดเห็น โดย dd_l — กุมภาพันธ 25, 2010 @ 7:13

  2. อิอิ ขอบพระคุณครับครู แล้วจะทยอยเขียนงับ

    ความคิดเห็น โดย ออต — กุมภาพันธ 27, 2010 @ 15:06

RSS feed for comments on this post. TrackBack URL

แสดงความคิดเห็น

*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word

Powered by WordPress