วาทะพี่Taxi “คุณนี่ท่าจะบ้า”

7 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 6 กันยายน 2011 เวลา 1:12 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1418

ตีสี่ ปั่นต้นฉบับเสร็จส่งเมล์แล้ว รีบเข้านอนเอาแรง เจ้านายมาเยี่ยมทั้งนายใหญ่นายรอง

๘ โมงเช้า มีหน้าอยู่เรือนพักสุพาพอน พาเจ้านายไปดู ดู ดู ดูงาน

๑๒ โมง พาเจ้านายแวะกินข้าวที่แคมป์ บอกลาเจ้าถิ่นก่อนกลับ

๒ โมงบ่าย ถึงเมืองเงิน ยังพอมีเวลาเหลือ พาเจ้านายไปเบิ่งน้ำของที่ท่าข้ามบักปากห้วยแคน บ่อนที่เพิ่นจะสร้างขัวข้ามแม่น้ำ

๓ โมงบ่าย กลับมาถึงด่านชายแดน ข้ามด่านกลับบ้านเรา ฉลองกาแฟเย็นหวานๆให้ฉ่ำใจ แล้วนั่งรถตู้มาน่านแวะกินหอยทอดแป้ง

๑ ทุ่ม ถึงสนามบินน่าน

๓ ทุ่ม ถึงสนามบินดอนเมือง เดินวนหลงทางก่อนเจอช่องเล็กๆพาไปโผล่ริมถนน

โบกแท็กซี่คันแรก “ไปนครชัยแอร์ครับ”….“หา…” “ไปนครชัยแอร์ไหมครับพี่” ...”ไปครับ”

………”ลงเครื่องแล้วไปต่อรถเหรอครับ” ….”ครับพี่ผมมาจากลาวขึ้นเครื่องที่น่าน แล้วจะต่อไปขอนแก่นครับ”

………”คุณจะบ้าเหรอ???????”

“พ่อเจ้าประคุณ….นี่ผมใครเขาจะเชื่อเนี่ย ว่ารับคนจากสนามบินไปส่งท่ารถทัวร์” “เอ่อ….พอดีผมเอ่อ…”

“นี่ผมเพิ่งตีรถมาจากวังน้อยนะนี่ คนเมื่อกี้ก็แปลกประหลาดไม่แพ้คุณหรอก มาไม่ทันรถจ้างผมพันหนึ่งให้ขึ้นทางด่วนไปดักรอรถทัวร์จะไปยโสธร ทั้งๆที่ถ้าทิ้งตั๋วใบนั้นแล้วซื้อตั๋วเที่ยวต่อไปหมดเงินแค่ห้าร้อยกว่าบาท”

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า หากขาดการจัดการที่ดีประชาชีอาจหัวร่อในความเขลา แต่ผมก็มีเหตุผลนะ สามทุ่มแล้วจะหาเครื่องที่ไหนต่อไปขอนแก่น รึว่าเราคิดชั้นเดียว ทำไมไม่นอนพักกรุงเทพฯแล้วรุ่งขึ้นจับเครื่องเที่ยวเช้าไปขอนแก่น ที่นัดหมอไว้ทันเหลือแหล่ ไม่เป็นไรพลาดไปแล้วหลับมาในรถหกชั่วโมงก็ถือว่าได้พัก แต่มันมาเป็นเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี่สิ

ลงรถที่ขอนแก่นใกล้ๆตีห้า นั่งงงง่วงอยู่พักใหญ่ด้วยความที่ไม่ได้จัดการเรื่องที่พักไว้ ญาติโยมที่เคยมารับเคยจัดการให้ท่านก็หมดโครงการกลับบ้านกันหมดแล้ว (นี่แหละหนา คุณชายเคยสบายจนเคยตัว) ไปแทมมารีนก็ไม่มีเบอร์ ไปพิมานรึ ไปบุษราคัมดีไหม ไม่เอาดีกว่าไปแถวโฆษะหรือเจิญธานีท่าจะดี เผื่อกลางวันจะได้เดินไปสอยเจ้ากระดานชนวนไฟฟ้ามาสักแผ่น ว่าแล้วก็แบกเป้สองใบเดินลัดเลาะสุ่มมืดไป (แล้วทำไมไม่เรียกรถ (ว่ะ…ขออภัย) เดินทำไม ไม่รู้สิคงไม่รู้จะบอกว่าไปไหนแน่นอนมั้งเดินไปดูไปดีกว่า)

อากาศเช้าๆที่ขอนแก่นเย็นดีเดินได้สบาย แต่พอใกล้จะถึงที่หมาย ตรงเยื้องๆร้านป้าหวานเท่านั้นแหละ เจ้าถิ่นสี่ตัวเห่าดังลั่น ตกใจ มัวแต่ระวังพวกที่ส่งเสียงข้างหน้าสาม เจ้าตัวที่สี่ดอดมาข้างหลังงับน่องแบบถากเฉี่ยวๆ แต่หนังก็เหวอะไปหลายอยู่ เสียงเจ้าของเขาตวาดมาให้เจ้าถิ่นเข้าบ้าน เลยรอดตัวไปแต่ตกใจขวัญหาย

เขยกไปสองโรงแรมที่หมาย ต้องหงายเก๋งกลับ เขาบอกว่าเต็มครับ (สงสัยเป็นเดือนถลุงเงินตามที่พี่บางทรายบอก) ม่ายไหวล่ะครับเดินไม่ไหวแล้ว ปลุกอ้ายสามล้อให้ไปตระเวนหาที่พักดีกว่า ตกลงได้ที่พิมานให้นอนปวดแผล ไปหาหมอเลยได้แถมฉีดยาแก้หมากัดอีกหนึ่งชุด อิอิ

นิทานเรื่องที่สองสอนคนขาดการวางแผนว่า ระวังหากไม่เตรียมการไว้น่องอาจเป็นแผล

กลับมากรุงเทพฯแล้วครับ แต่แผลยังตึงๆ อาบน้ำแบบสองขันตามวิธีของท่านจอหงวนม่วนคักๆ   


หนึ่ง(คืน)วัน ธรรมสวนะ ที่บ้านเวียงแก้ว

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 24 สิงหาคม 2011 เวลา 12:57 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1868

บันทึกนี้ตั้งใจมาก ด้วยความที่ต้องการถ่ายทอดสิ่งที่พบเห็นออกมาให้ทุกท่านจินตนาภาพตามกันไปได้อย่างชัดแจ่ม เป็นเรื่องราวของ หนึ่ง(คืน)วัน ธรรมสวนะที่บ้านเวียงแก้วครับ ชุมชนชาวลื้อแห่งนี้ยืนหยัดรักษาอัตลักษณ์ฮีตคองของตนเองได้อย่างเหนียวแน่น แม้ว่าจะอพยพมาลงหลักปักฐานแปลกปนเป็นคนส่วนน้อยของเมืองหงสาก็ตาม

“คนลื้อไปวัดเฮดบุญแต่เดิก(ดึก)” “ชาวลื้อไปวัดแล้วกลับมานอนหลับได้อีกหนึ่งตื่น” ความนี้ได้ยินพี่น้องคนลาวบอกเล่าผ่านหูอยู่บ่อยๆ แต่พอถามไถ่ซักไซร้ไล่เลียง ก็ไม่มีท่านใดให้รายละเอียดได้ ทำให้ใฝ่ฝันว่าสักวันต้องไปร่วมบุญที่วัดชาวลื้อสักครั้งให้ได้ รั้งรอมานานเนิ่นจนได้โอกาสเหมาะธรรมจัดสรร เมื่อวันขึ้นสิบห้าค่ำที่ผ่านมานี่เอง เห็นว่าตรงกับวันอาทิตย์พอดี ไม่ต้องเข้าสำนักงาน แถมมีแจ้งการว่าไฟฟ้าจะมอดอีก ลุงเปลี่ยนเลยนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ในคืนวันเสาร์จนถึงตีสาม อาบน้ำพาดผ้าเบี่ยงโทรปลุกน้องให้พาไปวัดบ้านเวียงแก้วตอนตีสี่ ผู้คนล้นวิหารแล้วครับ (นี่ถ้าไม่บอกกล่าวเอาไว้ก่อนว่าจะมีคนต่างถิ่นจะมาทำบุญร่วมสงสัยท่านทำพิธีกันไปแล้ว)

“เจ้าวาน” ท่านเรียกกันอย่างนี้ หมายถึงเจ้าภาพในการทำบุญแต่ละวันพระในระหว่างพรรษา สามเดือนๆละสี่ครั้งรวม ๑๒ครั้ง ที่บ้านเวียงแก้วจะแบ่งกันเป็น “เจ้าวาน”กันตามคุ้มบ้านหมุนเวียนกันไปจนครบทั้งหมู่บ้าน เมื่อถึงรอบที่คุ้มบ้านใดได้เป็นเจ้าภาพ ท่านจะเต้าโฮมกันแต่งกินดาทาน ตระเตรียมอาหารคาวหวานห่อหมกห่อขนมข้าวต้มมาทำบุญที่วัดตั้งวันโกน (ส่วนชาวคุ้มอื่นเอาแต่ข้าวเหนียวมาใส่บาตร แต่หากจะมีอาหารอื่นมาเสริมก็ไม่มีข้อห้าม) นอกจากนั้น “เจ้าวาน”ยังต้องตระเตรียมอมเมี่ยง มาเลี้ยงผู้เฒ่าผู้แก่ที่มาฟังธรรมกันในวันพระให้พร้อมพรัก

เช้าตรู่ของวันพระ ตีสอง สาธุท่านย่ำกลองสัญญาน ชาวบ้านต่างตื่นขึ้นมานึ่งข้าวเตรียมตัวมาวัด เจ้าวานนั้นมาตั้งแต่ได้ยินเสียงกลองแรกย่ำ ท่านมาตระเตรียมสถานที่ ปัดกวาด ปูเสื่อ เตรียมสำรับใส่อาหาร ที่ตักบาตร จุดเทียน ส่วนพระท่านสวดมนต์หนึ่งจบหลังย่ำกลอง แล้วกลับไปพักผ่อน

ตีสามกว่าๆ ชาวบ้าน (เกือบทั้งหมดเป็นแม่บ้าน มีพ่อบ้านสูงวัยมาวัดราวยี่สิบคนเท่านั้น) ท่านก็ทะยอยจุดโคมตามไฟกันมาที่วัด แต่งตัวสวยงามพาดผ้าเบี่ยง นอกจากกระติ๊บข้าวเหนียวอุ่นๆแล้วในขันเงินของแต่ละท่านยังมีดอกไม้ เทียน และ “ขวดน้ำหยาด..สำหรับกรวดน้ำ…คนละหลายขวดตามจำนวนญาติพี่น้องที่จะทำบุญไปถึง

เข้าไปในวิหาร กราบพระ ใส่ดอกไม้ใน “ขันแก้วทั้งสาม” ที่ฐานพระประธาน และที่ธรรมมาสน์ แล้วก็เดินเข่าไปตักบาตรที่ตั้งอยู่กลางวิหาร เอาขวดน้ำหยาดไปวางไว้หน้าอาสนะของสาธุท่าน “เก็บดอกไม้กับเทียนไว้ตอนพระมาสวดด้วย” แว่วเสียงแม่เฒ่ากระซิบบอกคนต่างถิ่นที่ท่าทางเก้ๆกังๆ

ก่อนตีห้า พระท่านเดินลงมาในวิหาร ไหว้พระ รับศิล กล่าวถวายทาน (สำเนียงที่อาราธนาศีล ใกล้เคียงกับของคนยวนที่บ้านหนองหล่ม บ้านเดิมของผม…เหมือนได้ย้อนเวลากลับไปบ้าน) ขณะไหว้พระรับศีลญาติโยมต่างจุดเทียนไว้หน้าที่นั่งตนเองด้วย พระท่านให้พร(ไปด้วย กรวดน้ำจากขวดน้ำหยาดที่วางเรียงรายข้างหน้าไปพร้อมๆกัน) ญาติโยมก็มีขวดน้ำหยาดของตนเองกรวดน้ำพร้อมกันไปอีก (ถึงบางอ้อว่า ทำไมวิหารวัดชาวลื้อถึงมีรูๆๆๆเยอะท่านเอาไว้กรวดน้ำนี่เอง) เสร็จแล้วพ่อออกแม่ออกก็กล่าวคำขอสะมาลาโทษที่อาจ ทำ-คิด-พลั้งปาก ออกไปในช่วงที่มาทำบุญ แต่ละที่ไม่เหมือนกันสักแห่ง จำไม่ได้ซักที

ยังไม่ถึงหกโมง ลานวัดว่างเปล่า ญาติโยมกลับบ้านกันหมด ลุงเปลี่ยนก็สะพายย่ามเดินลงชุมชนแถวหน้าวัด ราวหกโมงกว่าๆจะเป็นรายการ “ทานขันข้าว หรือสำรับข้าว” อุทิศให้ผู้ที่ไปอยู่โลกอื่น เห็นชาวบ้านทะยอยกันยกสำรับขึ้นไปถวายพระบนศาลา ได้รับเชิญให้กินข้าวแทบทุกเรือนที่เดินผ่าน แต่ต้องปฏิเสธเพราะมีเจ้าภาพจองตัวไว้ เช้านั้นได้กินอาหารชาวลื้อของแท้ น้ำพริกข่าอ่อนจิ้มหน่อไม้ไร่ต้ม ปิ้งหน่อปรุงด้วยเครื่องแกง และขะแหนบยอดและดอกฟักทองยอดแตงไทปรุงด้วยพริกขมิ้นตะไคร้ห่อด้วยใบทูนแล้วปิ้งจนหอม

แปดโมงครึ่งกลับมาวัดอีกครั้ง พ่อเฒ่าแม่เฒ่าเริ่มทะยอยกันมา รอบสายนี่ส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นอาวุโส บ้านเวียงแก้วมี “คองบ้าน” ที่น่าสนใจคือ คนสูงวัยตั้งแต่ห้าสิบปลายๆขึ้นไป หากวันพระวันศีล ไม่เคยเข้าวัดฟังธรรม ท่านจะไม่ยกเว้น “เวียกบ้าน”ให้ หมายความว่าหากมีงานเกณฑ์แรงงานพัฒนาบ้าน หรือออกแรงงานส่วนรวมแล้ว ท่านต้องไปออกแรงงาน ส่วนท่านที่มีหน้าปรากฏว่าเข้าวัดเข้าวา ท่านยกเว้นให้

ท่านเอาข้าวเปลือก ข้าวสาร ส้มสุกลูกไม้เปรี้ยวหวานมาใส่สำรับ เห็นท่านห่อประดิดประดอยด้วยใบตองแล้วเสียดายแทนคนที่ไม่ได้มาเห็น ส่วนเจ้าวาน ท่านก็หาบข้าวหนมข้าวต้มมาจากคุ้มบ้านท่าน นำมาใส่สำรับ ท่านเตรียมสี่ชุด เพราะมีพระเณรสามรูป อีกหนึ่งสำหรับมัคทายก ระหว่างนั่งรอ เจ้าวานก็เอาอมเมี่ยงห่อใบตองเป็นคำๆมาเลี้ยง

สิบโมงเศษๆ พระท่านลงมาประจำที่อาสนะ ไหว้พระรับศีลอีกรอบ แล้วก็อาราธนาธรรม พรรษานี้พระท่านเทศน์ ธรรมพื้นเมือง เป็นนิทานธรรมเรื่อง “จันทะคาด” แบ่งเป็นตอนๆจนจบเรื่องในพรรษา วันนี้ท่านว่าด้วย (หยังกะบ่ฮู้ ลุงเปลี่ยนไค่หลับ ก็ไม่ได้นอนมาทั้งคืน แถมบริโภคข้าวเหนียวกับอาหารเช้าแบบอิ่มไม่เป็น) จับเรื่องราวได้ตอนที่ เมียหลวงจะมาแก้แค้นพญาเจ้าเมือง พ่อลุงท่านที่นั่งข้างๆ อธิบายเสริมให้เข้าใจถึงบาปบุญคุณโทษตามท้องเรื่อง เช่นที่นางเมียหลวงถูกพญาเจ้าเมืองเอาใส่แพไหลน้ำ เพราะสมัยก่อนเคยโมโหแมวที่แง้วๆเซ้าซี้เอาข้าวเอาปลาให้ก็ไม่กิน เลยจับแมวโยนลงน้ำให้ไปหาปลากินเอง เป็นต้น

เทศน์จบตอน รับพรกรวดน้ำ ได้กราบลาพระเวลาใกล้เพล พ่อเฒ่าแม่แก่ให้ขนมข้าวต้มมาเต็มย่าม

นับเป็นวาระ ธรรมจัดสรร อีกหนึ่งวาระ


โบราณคดี นักปฐพี กับวิถีชาวถิ่น

5 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 22 สิงหาคม 2011 เวลา 1:18 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1483

 

เมื่อนักปฐพีร่วมทีมขุดค้นโบราณคดี มีมุมมองแปลกต่างมานำเสนอครับ

แหล่งโบราณคดีที่เราทำงาน ถูกปกปักรักษาผ่านกาลเวลามานานเนิ่นโดยวิถีชาวถิ่น พี่น้องชาวบ้านจำปา เรียกแหล่งนี้ว่า “ดอนธาตุ” ถือเป็นแหล่งสิงสถิตย์ของผู้ที่เคารพนับถือที่ให้คุณให้โทษได้ ดังนั้นจึงไม่ไปบุกรุกหักร้างถางพงเอามาทำเป็นไร่เป็นนา พอถึงเทศกาลงานบุญหรือก่อนทำไร่ไถนาก็พากันจัดสำรับอาหารหวานกับเครื่องเหลืองมาคารวะ ดอนธาตุจึงเป็นดอนรกทึบอยู่อย่างนั้น อย่างไรก็ตามดอนธาตุก็มีร่องรอยขุดสมบัติบ้างจากกลุ่มคนที่มีคาถาอาคม พี่น้องเล่าว่าเคยมีชาวม้งที่อพยพมาอยู่ใหม่ พวกนี้ไม่กลัวผีสางนางไม้ พากันเข้ามาถางไร่อยู่ครั้งหนึ่งแต่คณะบ้านก็มาห้ามปรามไว้ทัน แม้กระนั้นยังเจ็บป่วยล้มตายกันยี่สิบกว่าคน (มองอีกด้าน อาจเกิดเจ็บป่วยจากการย้ายถิ่นฐานมาเจอไข้ยุง หรือมาเจอน้ำที่ไม่สะอาดเหมือนบนยอดดอย) สุดท้ายต้องย้ายออกไปอยู่บนเขาเหมือนเดิม

บอกกล่าว ก่อนขุดค้น

ก่อนการขุดค้นต้องบอกกล่าว แม้ว่าทีมงานจะมาจากกรมมรดกโลกก็ตาม แต่ทางสปป ลาวนี่ อำนาจการปกครองบ้าน(กรรมการหมู่บ้าน) มีบทบาทและสิทธิ์เสียงค่อนข้างสูง(เมื่อเทียบกับแดนดินถิ่นสยาม) พวกเราจึงเข้าไปบอกกล่าว พร้อมทั้งหารือเรื่องฮีตคอง และการขอความช่วยเหลือให้จัดระดมแรงงานมาช่วยขุดค้น (แรงงานระดมที่ทางบ้านหามาช่วยงานของทางส่วนกลางได้ค่าจ้างวันละ ๓๐พัน ในขณะที่เอกชนไปจ้างทำงานส่วนตัวค่าจ้างจะสูงถึง ๕๐-๖๐ พันกีบ) หารือกันเรื่องการบอกกล่าว “เจ้าที่” ยึดถือเอาฮีตคองของเฒ่าแก่แนวโฮมบ้านเพื่อให้พี่น้องสบายใจ ท่านตกลงให้มีทั้งพิธีสงฆ์ และการเลี้ยงผี ให้นิมนต์พระแก่พรรษาระดับเจ้าวัดมาสี่รูป ส่วนพิธีผีทางบ้านจะจัดเตรียมข้าวของเอง

วันรุ่งขึ้น จัดเตรียมข้าวของเครื่องพิธีกรรม ครบถ้วน มีเครื่องไทยทาน กระทงเลี้ยงเจ้าที่ และถาดเครื่องสมมา เฒ่าแก่ชาวบ้านและทีมงานขุดค้น รวมถึงแรงงานที่จะมาช่วยงานมาพร้อมกัน

สาธุสี่รูปมาถึงปะรำพิธีเก้าโมงเช้า ไหว้พระ รับศีล แล้วท่านก็อาราธนาธรรม นิมนต์สาธุท่านเทศน์ธรรมเมืองอีกหนึ่งผูก ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง พ่อเฒ่าว่าเป็นธรรมที่เทศน์แล้วคนจะแคล้วคลาดหายเจ็บหายไข้ จบธรรมพื้นเมืองแล้วพระท่านสวดชยันโต พระพรมน้ำมนต์ ถวายสังฆทาน พระให้พร ยถา…กรวดน้ำ แล้วท่านก็นิมนต์สาธุเจ้าตนเป็นประธานออกไปที่โนนดินที่เชื่อว่าเจ้าที่ท่านสถิตย์ พร้อมกระทงเลี้ยงเจ้าที่ พระท่านและเฒ่าแก่ทุกคนช่วยกันบอกกล่าวว่าขอเข้ามาทำงาน สรุปความว่า เชิญท่านออกไปอยู่ในที่ที่ดีกว่านี้(จะได้ไม่ต้องรำคาญคนมารบกวน) “ให้ไหลล่องไปตามน้ำไปอยู่ภูเขียวอย่าเหลียวหน้าคืน” แล้วเฒ่าแก่ก็เรียกตำรวจบ้านที่แต่งเครื่องแบบเต็มยศให้ถือกระทงไปไหลน้ำเลือก นัยว่าเอาเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาเชิญท่านออกไป

อย่างไรก็ตาม (เผื่อกันเหนียวไว้…หากท่านยังไม่ยอมไป) พิธีกรรมสุดท้าย เป็นการสมมา เฒ่าแก่ท่านถือถาดใส่กรวยดอกไม้พร้อมเครื่องเหลือง(ชุดผ้าไตรที่ยืมมาจากวัด) ไปยังดอนดินที่เดิมพร้อมทั้งกล่าวคำขอสมาลาโทษ หากสิ่งที่ได้ทำไปเมื่อครู่ ได้สร้างความขุ่นข้องหมองใจ วางกรวยดอกไม้ธูปเทียนไว้บนตอไม้ เป็นอันเสร็จพิธี

ลุงเปลี่ยนไปติดตามงานทุกวัน ทีมงานจากกองมรดกชุดนี้จัดมาทีมใหญ่ ท่านรองอธิบดีมาลุยเอง อีกท่านหนึ่งจบป.เอกมาจากเวียดนาม ส่วนท่านอธิบดีที่จบจากฝรั่งเศสมาวิจัยติดตามหลุมเจาะช่วงหลัง ผลการขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีหลายชิ้นที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของโบราณศาสนสถานแห่งนี้ ต่อไปคงจะจัดแสดงเป็นแหล่งที่น่าสนใจ พื้นที่บริเวณดังกล่าวถูกปรับเปลี่ยนแผนการใช้ที่ดินให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ (ขอขอบคุณฝ่ายโครงการอย่างสุดอกสุดใจ ที่ได้กรุณาปรับผังของโครงการ)

ความเป็นนักดินที่ได้เล่าเรียนมา ก็ได้มีโอกาสช่วยวินิจฉัยหลุมเจาะโบราณคดีได้เหมือนกัน ดังเช่นรูปด้านบน จะเห็นชั้นความหนาของดินที่ปกคลุมพื้นอิฐ บริเวณดังกล่าวเป็นเนินดินมีระดับสูงกว่าพื้นที่โดยรอบเกือบเมตร ดังนั้นชั้นดินที่ปกคลุมไม้ม่ทางที่จะถูกพัดพามาจากที่อื่น ต้องเป็นชั้นดินที่เกิดจากการทับถมของเศษหญ้าที่ขึ้นบริเวณนั้น ดูตามชั้นความหนาเกือบคืบก็แสดงว่าอายุการทับถมสามร้อยปีโดยประมาณ อีกรูปหนึ่งเป็นหลุมเจาะที่เห็นดินเปลี่ยนสีชัดเจน ตรงแนวสีดำนั่นแสดงว่าดินที่ใหม่ไหลมาแทรก แสดงว่าตรงนั้นเป็นหลุมของเสาไม้ที่พอพุเปื่อยก็เกิดเป็นที่ว่างดินสีดำด้านบนจึงไหลมาอยู่แทน เป็นเยี่ยงนี้นั่นเอง

ดีใจจังเลย ได้มีส่วนช่วยรักษาไว้


กล้ายางพาราที่หลวงน้ำทา รายงานสภาวะ ณ ปี ๒๐๑๑

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 18 สิงหาคม 2011 เวลา 1:10 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2439

 

เมล็ดยางพารา ๑ กิโลกรัม ราคา ๓๕๐๐ กีบ(๑๔ บาท) นำมาเพาะได้ ๑๒๐-๑๘๐ กล้า หลังจากเพาะในกะบะทรายให้แทงรากเป็นถั่วงอกแล้ว นำลงแปลงอนุบาลกล้ายางที่ไถพรวนเตรียมไว้แล้ว ท่านทำแปลงขนาดที่คนนั่งติดตาได้สะดวก วิธีย้ายลงแปลงท่านถอนแบบเปลือยรากแล้วเอาไม้จิ้ม เป็นรูๆค่อยๆหย่อนรากกล้ายางฯลงไป ทำทีละต้นๆ ต้องสิ้นเปลืองเวลาไม่น้อย (อันนี้เป็นวิธีของชาวเมืองสิง หลวงน้ำทา)

จากนั้นก็เฝ้าดูแล ดายหญ้าแปลงกล้ายางฯจนอายุครบ ๑ปี แล้วก็เริ่มติดตา ยางพารานี่ก็แปลกทำไมต้องติดตาก็ไม่รู้ เพาะกล้าแล้วปลูกเลยก็ไม่ได้ พ่อเฒ่าเลามาบอกว่า ต้นที่ไม่ติดตาใหม่จะให้น้ำยางไม่เยอะ สมัยที่มีการเพาะกล้ายางกันใหม่ๆ ชาวบ้านงุนงงกับ “ต้นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์” แอบมาฟ้องว่า ทำไมต้นพ่อต้นแม่ที่เอามาติดตา บางทีขนาดเล็กเท่าๆกับกล้ายางฯเลย ทำให้ไม่เชื่อมั่นต่อผู้ผลิตกล้ายางฯรายนั้น บางคนก็มากระซิบกระซาบว่าสงสัยเขาเอาตาข้างบนจากต้นเดียวกันแกะมาติดตาล่างบ้างก็มี เป็นความเข้าใจผิดของชาวบ้านที่ “แอบจอบเบิ่งกัน แล้วคิดกันไปเอง” ลุงเปลี่ยนก็ต้องไปเสาะหาความรู้ และข้อเท็จจริง แล้วพาชาวบ้านมาดูของจริงให้หายกังวล ผู้รู้ท่านว่ากิ่งที่นำมาติดตายิ่งเอามาจากต้นพันธุ์ที่อายุน้อยเท่าไหร่ยิ่งดี หากเอามาจากต้นแก่จะเหมือนคนแก่มีลูกอ่อนท่านอธิบายว่าอย่างนั้น ส่วนการเอาตาบนมาติดต้นเดิมตาล่างนั้นท่านว่าดูออกง่ายนิดเดียวที่สีของตาใหม่จะดำไม่เขียวเหมือนการติดตาทั่วไป แล้วเราก็บัญญัติคำใหม่ ใช้คำว่าต้นพี่น้องพันธุ์ดี แทนคำว่าต้นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ป้องกันการเข้าใจผิด

สรุปแล้วก็คือ ดูแลกล้ายางฯอายุครบปีก็ต้องติดตา โดยเอากิ่งพันธุ์ดีมาติด วิธีการติดตาต้องมีขั้นตอนเทคนิคตั้งแต่การแกะตาออกมาจากกิ่งพันธุ์ให้ได้ตุ่มตา (บ่แม่นตาตุ่มเน้อ) ติดมาด้วย จากนั้นก็ค่อยๆปาดที่ต้นตอเอาตาใหม่มาติดพันด้วยให้มิดชิด เป็นอันจบกระบวนการ เจ้ารูปหล่อหมวกแดงข้างบนบอกว่าวันหนึ่งทำได้แปดร้อยต้น(หากเป็นลุงเปลี่ยนก็น่าจะได้สามสิบต้นเท่านั้น) ปกติจะติดตากันช่วงเดือน ๖-๑๐ เท่านั้นหากเข้าหน้าหนาวเป็นระยะพักตาก็ติดไม่ได้ หลังจากติดตาแล้วต้องบำรุงรักษาต้นกล้าไปอีกอย่างน้อย ๗-๘เดือน ก็จะถึงฤดูต้นฝนก็ย้ายไปปลูกได้ ก่อนย้ายไปปลูกสักหนึ่งสัปดาห์ต้องตัดยอดเพื่อกระตุ้นตาที่ติดไว้ให้งอกมาแทน สำหรับการจำหน่ายออกไปปลูกในที่ห่างไกล การขุดกล้ายางต้องทำแบบเปลือยราก หมายถึงตัดต้นเหลือแต่ตอขุดรากมามัดรวมกัน ป้องกันส่วนที่เป็นตาติดใหม่จะเสียหายด้วยการตัดไม้ไผ่มาประกบไว้ นำส่วนรากจุ่มลงในน้ำโคลนส่วนตอที่มีรอยตัดจุ่มน้ำสีป้องกันเชื้อรา เป็นอันพร้อมขนส่งเดินทางไกล

จะเห็นว่า กว่าจะได้กล้ายางพารามาปลูกสักต้นหนึ่งก็ต้องผ่านหลายขั้นตอน และใช้เวลาอย่างน้อยปีกว่าๆ ในการตระเตรียม หงสาต้องการกล้ายาง ๑๐๐๐๐๐ กล้าภายในปีหน้านี้ และในปีต่อไปต้องการมากกว่านี้อีก ทำให้ต้องรีบไปติดต่อทาบทามทั้งต้นกล้าสำหรับปีหน้า และเมล็ดสำหรับเพาะกล้าไว้ปลูกปีโน้นอีกแปดร้อยถึงหนึ่งพันกิโล ยิ่งปีนี้ได้ข่าวว่าทางฝั่งจีนยางพาราไม่ติดผลเนื่องจากฝนตกหนักอีก ไม่ใช่คลั่งบ้ายางพาราหรอกครับ แต่เป็นโจทย์ที่เขากำหนดให้ต้องทำ

สำหรับราคากล้ายางพาราที่หลวงน้ำทา สมัยก่อนซื้อขายกันในหมู่เพื่อนบ้านกล้าละ ๑พันกีบ(สี่บาท)ก็นับว่าแพงแล้ว แต่มาเมื่อปีสองปีก่อน เริ่มมีคนจากทางไกล จากต่างแขวง จากจีน จากเวียดนาม และจากไทยแลนด์มากว้านซื้อ ทำให้ราคาถีบตัวสูงพรวดๆจนถึง ๑๒พันกีบ(เกือบห้าสิบบาท) ม่ายรู้จะแย่งกันซื้อไปถึงไหน   

เราไปทาบทามกล้ายางกันสามแหล่งใหญ่ จุดแรกเป็นกลุ่มชาวลาวสูง(ม้ง)ลูกหลานพ่อเฒ่าเลามา ต้องออกจากหลวงน้ำทาไปอีกเกือบร้อยกิโล ที่เมืองสิง ชาวม้งแต่ละครอบครัวผลิตกล้ายางฯรายละห้าหกหมื่นกล้า แต่ละเจ้ากำลังง่วนอยู่กับการติดตา แต่มีข้อเสียคือ ตาที่นำมาติดเป็นแบบคละพันธุ์ ทำใจลำบากเหมือนกัน เพราะเราอยากได้พันธุ์ที่ทนทานสำหับมือใหม่ชาวหงสา เกรงว่าเอาชนิดที่ต้องมืออาชีพแต่ให้น้ำยางสูงนั้นน่าเป็นห่วง แต่ก็ใช่ว่าเจ้าของเขาอยากขายให้หรอกครับ มีแต่แบ่งรับแบ่งสู้ หรือให้มัดจำไว้ก่อน แต่ตอนส่งมอบขออิงตามราคาตลาด ล่าสุดเพิ่งโทรมาแจ้งว่าหมดเกลี้ยงไปแล้ว ชาวจีนเข้ามาเหมากล้าละ ๖พันกีบ เพิ่งติดตาได้สองอาทิตย์เอง เขาว่าชาวจีนเอาไปลงถุงดำแล้วเพิ่มราคาอีกหลายเท่า เขาบอกว่ารีบขายเพราะไม่งั้นถูกขโมยไปยกสวน

จุดที่สองไปเมืองเวียงพูคา เป็นของบริษัทเสินห่าว ที่ได้รับสัมปทานมาส่งเสริมการปลูกยางทั่วแขวงหลวงน้ำทาสามหมื่นเฮกตาร์ โดยใช้หลักส่วนแบ่ง บริษัทได้๗๐ ส่วนชาวสวนเจ้าของที่ดินได้ ๓๐ แต่ชาวสวนไม่ต้องลงทุนใดๆ บริษัทสนองกล้ายาง ปุ๋ย ค่าปลูก ค่าดายหญ้าจนได้กรีดยางฯ ในระหว่างที่ยังไม่ได้กรีดยาง ชาวสวนจะมีรายได้จากการรับจ้างดูแล ดายหญ้าในสวนตัวเอง และรายได้จากการปลูกพืชแซมระหว่างแถวต้นยาง ได้ข่าวว่าปีกลายบริษัทนี้แบ่งขายกล้ายางฯให้เวียดนามไปหลายคันรถสิบล้อ ก็นั่นแหละต้องรอให้เขาเหลือใช้ก่อนถึงจะขายออกนอกโครงการได้

ฝากความหวังไว้ที่หลวงน้ำทา ขากลับแวะทาบทามที่แผนกกะสิกำและป่าไม้แขวงอุดมไซ โชคดีเจอผู้ประสานงานที่เคยมาฝึกงานที่หงสาสมัยสิบกว่าปีก่อน เคยร่วมงานกับลุงเปลี่ยนหลายป่า(หลายเมา) เขาพาไปดูที่ศูนย์วิจัยส่งเสริมการเกษตรที่จีนมาสร้างไว้ให้ ที่นี่มีนโยบายส่งเสริมการปลูกยางพาราเก้าแขวงภาคเหนือ(จีนนี่เล็งผลระยะยาวได้แจ๋ว ปลูกแถวลาวเหนือพอได้ผลผลิตก็คงไม่พ้นส่งเข้าจีน) ที่นี่น่าจะมีความหวังสูงกว่าแหล่งอื่นๆ เพราะอยู่ในโครงการในแผนเขาพอดี แต่พวกเราก็เป็นธุรกิจเอกชนนี่ละสิ จีนเขาจะปันให้อย่างไรจะขายกันอย่างไรก็ยังต้องค้นคว้าหาช่องทางกันอีกที

ขอให้ได้ทีเถิด เพี้ยง


ทิศทั้งแปด บทท่องจำตามโคลงบุราณลาว

4 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 16 สิงหาคม 2011 เวลา 12:56 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 5364

มีโอกาสได้เก็บเกี่ยวความรู้ ในการเข้าร่วมเป็นคณะขุดค้นโบราณสถาน กับคณะจากกรมมรดกของลาว (งานนี้เสนอหน้า อาศัยความเป็น อาจานเปลี่ยน จนเขาเชิญเข้าร่วมทำงานด้วย…ก็ของชอบ อิอิ)

เราขุดค้นจอมปลวกเก่าจนพบสิมโบราณ มีการปักพุทธเสมา แปดทิศด้วยกองหินที่เรียก “เก้าค้ำเก้าคูณ” ไล่เลียงกันเรื่องทิศทั้งแปด ปรากฎว่าไล่กี่รอบก็ลืมทิศ หรดี (ไอ้เราก็ได้แต่ ภูติบรพาอึ้งเยี๊ยะซือเจ้าเกาะดอกท้อ อั้งชิกงยาจกอุดรเจ้าของฝ่ามือพิชิตมังกร พิษประจิมอาวเอี๊ยงฮง ต้วนอ๋องทักษิณ จากมังกรหยก) จนท่านทองสา อธิบดีกรมฯท่านมอบบทท่องทิศทั้งแปดตามแบบลาวโบราณ ลองดูนะครับ

” ครุฑ ทะเนา นั่งเบื้องแห่งหนบูรพา

อาคเนย์ แมวอยู่เฝือแฝงฝัน

ทักษิณ ก้ำ ราชสีห์แหนแห่

บักเค่าเม่า นั่งเฝ้าหรดี (บักเค่าเม่า แปลว่านั่งตระหง่า แผลงเป็นเสือ)

ปัดสินเม(ประจิม) นาคเกี้ยวพันดอน

พายัพก้ำ โคจรหนูอยู่

อุดร ช้างพลายสารล้านเถื่อน

เลื่อนๆงัวแม่ง้อง กินหญ้าฝ่ายอีสาน”

ยังมีอีกหนึ่งบทเป็นโคลงสอง ท่านสอนว่า

” ซกงก(ช้าง) ทกเกวียน(งัว) เหียนแอ่น(ครุฑ) แบนโต(แมว) โสภาพ(ราชสีห์) นาบฟาน(เสือ) หานน้ำ(นาค) ช้ำโกลน(หนู)”

อันนี้ต้องออกเสียงตามภาษาลาวจะได้สัมผัสดีครับ

ลองเอาสัตว์ประจำทิศทั้งแปดวางตามตำแหน่ง จะเห็นว่าคนโบราณท่านกำหนดตำแหน่งของแต่ละคู่กัดไว้เป็นคู่ๆนะครับ

มีเวลาจะรายงานภาพรวมของผลการขุดค้นโบราณสถานแห่งนี้ (ให้กองมรดกฯท่านได้เผยแพร่ก่อนครับ ให้เกียรติคนขุดค้นท่าน) แต่ก็อดเอาคำลาวงามๆมาอวดก่อนไม่ได้


ว่าด้วยเรื่องจรรยาบรรณ

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 13 สิงหาคม 2011 เวลา 1:13 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1789

 

เสียงเรียกเข้าของมือถือที่ตั้งเป็น “เพลงกาสะลอง” ที่มักถูกแซวว่า “เพลงคนเฒ่า”ดังขึ้นในขณะที่กำลังคุยกับทีมงานเรื่องการจัดฝึกอบรมการเฮดตัวหนอนปูทางเดินเป็นอาชีพเสริมให้พี่น้อง

“อาจานเปลี่ยน มีเซรุ่มแก้งูกะปะบ่ นี่โทรจากโฮงหมอเด้อ ที่นี่ยังแต่แก้งูแมวเซา ไทบ้านนาหนองคำถูกงูกะปะโตบักใหญ่ตอดตอนนี้มาอยู่โรงหมอนี่แล้ว” รีบโทรไปหน่วยพยาบาลขอเบิกด่วน ขอรถวิ่งเอาไปให้โรงหมอทันที อืมม…กลายเป็นศูนย์รวมเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยไปซะแล้วเรา

คิดอยู่นานว่าจะจั่วหัวเรื่องของบันทึกนี้ว่าอย่างไรดี “เห่อฝรั่ง” รึก็กลัวไปกระเทือนซางใครบางคนโดยเฉพาะนายจ้าง หรือจะเอา”ฝรั่งขี้เท่อ”ก็จะกลายพวกเป็นขี้แพ้จอมโวย อย่ากระนั้นเลยเอาชื่อกลางๆ “ว่าด้วยจรรยาบรรณ”นี่น่าจะเข้าท่าที่สุด

เวียกงานด้านสุขภาพอนามัยของโครงการฯ มีหลายงานที่ต้องปฎิบัติ เช่น การตรวจสุขภาพชาวบ้านกลุ่มเป้าหมายที่๑ การติดตามเฝ้าระวังเรื่องสุขภาพอนามัยของชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่ง งานด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของพนักงาน งานปรับปรุงโรงหมอเมือง งานซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ งานสร้างหน่วยฉุกเฉินในแคมป์ทำงาน งานประสานความสัมพันธ์แพทย์สองประเทศว่าด้วยการส่งต่อผู้ป่วย ฯลฯ ซึ่งกระโถนอย่างไอ้กระผม ที่เขาเรียกแบบหลอกใช้งานว่า Resource Person (แปลว่าอะไรก็ไม่รู้….) ก็ต้องเข้าไปยุ่งด้วยมากบ้างน้อยบ้างตามที่เขาใช้สอย ประมาณว่าหาใครทำไม่ได้ เอ้าจานเปลี่ยนช่วยเป็นธุระที อะไรประมาณนั้น

แต่ก็ใช่ว่าเขาจะปล่อยให้จานเปลี่ยน ทำทุกอย่างแต่เพียงผู้เดียวหรอก เขาก็มีหมอ มีพยาบาล มีฝ่ายเซฟตี้ทีมใหญ่ บางงานเขาก็จ้างที่ปรึกษา หรือที่เรียกหรูๆว่า Consults ซึ่งไม่นับรวมลุงเปลี่ยน (ฟามจริงไอแอมก็คอนเซาท์คนหนึ่งเหมียนกันนะ) ทางโครงการได้จ้างที่ปรึกษาทั้งไทย จีน เมกา ออสซี่ เดินกันขวักไขว่ ดังเช่นเวียกงานวางแผนรวมด้านการป้องกันสุขภาพอนามัยของพนักงานและชาวบ้านที่อยู่รอบๆโครงการ ทางเจ้าของงานก็ส่งเทียบเชิญบริษัทที่ปรึกษาหลายเจ้า ที่ยื่นข้อเสนอมา รวมถึงบริษัทในเครือของผมด้วย (แต่อ่านดูยังไงก็ขาดๆเกินๆ ตรงไปตรงมาก็คือหากให้ผมเป็นกรรมการคัดเลือกก็คงทำใจลำบากที่จะให้งานชิ้นนี้) สรุปแล้วด้วยความโดดเด่น ด้านประสบการณ์และคุณวุฒิของบุคลากรหลัก ทางโครงการจึงตกลงเลือก ทีมงานที่ปรึกษาด้านสุขภาพจากเมกา เห็นว่าท่านเคยมาทำงานที่น้ำเทินของลาว และอีกสามสิบกว่าประเทศส่วนใหญ่จะดูแลด้านอาชีวอนามัยของแหล่งขุดเจาะน้ำมัน

แล้วคณะเชี่ยวชาญท่านก็มาดูพื้นที่ครั้งแรก มีสามท่านเป็นฝาหรั่งเมกาชายหญิงดูตามนามบัตรเห็นมีวุฒิการศึกษาห้อยหลังชื่อยาวเหยียดว่า MD, MPH, DABT, DTM&H แล้วก็มีสุภาพสตรีชาวไทยหนึ่งท่าน สำหรับชาวไทยท่านนี้มีพื้นเพ รากฐานใกล้กับลุงเปลี่ยน คือเป็นคนอู้กำเมืองและเริ่มอาชีพที่พยาบาลเหมือนกัน แต่ท่านไปจบโทและเอกที่ออสเตรเลีย ปัจจุบันทำงานด้านการป้องกันวัณโรคให้รัฐบาลปาปัวนิวกินี ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นคนที่รู้จักกันมาก่อน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันหลายเรื่องโดยเฉพาะ วิทยาการวิจัย ทางสาธารณสุขที่ทันสมัย เช่นการตรวจมะเร็งปากมดลูกจากตัวอย่างปัสสาวะ ซึ่งสมัยก่อนต้องขึ้นขาหยั่งลูกเดียว อิอิ ถือเป็นโอกาสดีที่ได้เปิดรับข้อมูลใหม่ๆ

ผมเข้าร่วมทีมกับคณะนี้ตั้งแต่การถ่ายทอดเรื่องราวข้อมูลด้านสา-สุขของชาวเมืองหงสา งานที่ต้องทำตามสัญญาสัมปทาน พาไปเยี่ยมชมโรงหมอเมือง พบปะพูดคุยกับคีย์อินฟอร์แม้นท์ต่างๆ อยากให้เขาเห็นภาพรวมของโครงการให้มากๆ อีกทั้งจะหาโอกาส”ครูพักลักจำ”เรียนรู้อะไรจากเขาบ้าง อันที่จริงก็แอบลักจำมาได้หลายกระบวนท่า เช่น เรื่องการเฝ้าระวังวัณโรคเชื้อดื้อยาที่อาจติดมากับแรงงานอพยพชาวจีน เรื่องการใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ทำงานเหมือนเครื่องเอ็กเรย์ เรื่องวิธีการป้องกันโรคที่จะเกิดจากการรักสนุกของพวกกลัดมันทั้งหลาย รวมถึงการวัดฝุ่นขนาดเล็กมากๆ (พีเอ็มสอง พีเอ็มสี่) แถมโฆษณาขายเครื่องวัดแบบพกพาไปในตัวด้วย

แต่ธรรมเนียมฝาหรั่ง ก็ชวนให้ปวดหัวกับการไม่รู้จักเกรงใจคนลาว ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว การไม่รู้จักแสร้งฟังเรื่องที่ท่านอยากเล่า แม้ไม่ตรงกับคำตอบที่เราอยากได้ บางที่นัดไว้แล้วก็เปลี่ยนใจไม่อยากไป บางเรื่องก็ถามตรงๆเกินไป (ดีที่เราไม่ต้องเป็นนายภาษาแปลให้คนลาวฟัง….สุภาพสตรีชาวไทยท่านที่ร่วมคณะมาก็เหนื่อยหน่อย)

ก่อนกลับ ทางเราขอฟังสรุปว่าท่านได้อะไรไปบ้าง ยังจะมาทำอะไรอีกเมื่อไหร่ และมีประเด็นเร่งด่วนใดบ้างที่เราต้องรีบแก้ไข พี่ท่านสองฝาหรั่งก็เปิดเลกเชอร์สอนวิชาหลักการป้องกันสุขอาชีวอนามัยเบื้องต้นให้ฟัง ทำเอาในที่ประชุมเอ๋อว่าทำไมไม่เข้าประเด็นซะที (ก็ทนๆฟังกันไป ฝาหรั่งพูดต้องฟังไว้)

สุดท้าย ผมขอฟังความเห็นเกี่ยวกับรูปแบบและรายการตรวจสุขภาพ (ที่ผมรับผิดชอบอยู่) ก็เห็นท่านเป็นฝาหรั่ง มีปริญญาหมอพ่วงหลายใบ และโฆษณาว่าเป็นคนทำที่น้ำเทิน (อันที่จริงผมก็แอบไปเลียนแบบมาจากน้ำเทินนั่นแหละ พร้อมกับแอบถามหมอเจ๊บ้าง) ที่ขึ้นจอขอความเห็นพี่ท่านคือร่าง หน้าเวียกหรือ ทีโออาร์ที่เรากำลังประกาศจ้างใหม่ที่ผมยกร่างไปประชุมกับคณะท่านหมอจากแขวงที่กำกับโครงการปรับแก้กันมาหลายรอบแล้ว

ความเห็นที่ได้เปิดเผยธาตุแท้ก็คือ มันว่าพวกเราตรวจเยอะเกินไป หากภาษาอังกฤษโรงเรียนภาคค่ำผมแปลไม่ผิดได้ยินว่า “ตรวจเยอะก็เจอปัญหาเยอะต้องแก้ไขเยอะ” ไรฟ่ะเอ้ย นี่ตรูก็ไปเอามารตฐานที่เอ็งสร้างไว้ที่น้ำเทินมานะ แล้วกรรมการในลาวก็ถือเป็นคัมภีร์อ้างอิง(เพราะมีโครงการเดียวที่ทำในลาว) พี่แกรบอกว่า ที่น้ำเทินเขียนไว้เยอะแต่ทำจริงๆไม่หมดหรอก นั่นฟังมันพูดเข้า หรือว่ามันมาหลอกว่าไปทำที่น้ำเทินมาก็ไม่อาจทราบได้ บอกมันไปว่างั้นขออัดเทปที่พูดเมื่อกี้ไปให้กรรมการฟังละกัน เผื่อจะได้ลดรายการตรวจโรคชาวบ้าน งานจะได้ง่ายเข้า เผื่อจะมีใครหลงเชื่อฝรั่งอีก


ผมจะพาชาวหงสา “ปลูกเร่ว”

3 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 28 กรกฏาคม 2011 เวลา 12:33 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 5875

“กองบ้านไผ่ อยู่ในเขตเมืองจำพอน (ชุมพร) แขวงสุวรรณเขตปัจจุบัน นายกองมี บรรดาศักดิ์ว่า “หลวงสุริยวงษา” เก็บส่วยผลเร่วส่วย (หมากแหน่ง) ปีละ 10 หาบหลวง (จากเอกสาร ร.3 จ.ศ.1206 เลขที่ 33 หอสมุดแห่งชาติ) กองบ้านผึ่งแดด อยู่ในแขวงสุวรรณภูมิเขตดินแดนลาวปัจจุบัน นายกองส่วยมีนามว่า “ท้าวโพธิสาร” เก็บส่วยเป็นเงินปีละ 3 ชั่ง 10 ตำลึง ส่งเมืองมุกดาหารหรือผลเร่ว (หมากแหน่ง) หนักปีละ 14 หาบหลวง” (เครดิต http://nipapon.wordpress.com/author/nipapon/)

กำลังจะปูเข้าเรื่องหมากแหน่ง หรือเร่ว ซึ่งเป็นพืชที่คุ้นชื่อมาหลายปีดีดักตั้งแต่สมัยที่คลุกคลีกับพี่น้องชาวดงหลวง มุกดาหาร ข้อความข้างบนก็เป็นส่วนหนึ่งจากประวัติเมืองมุกดาหารครับ สมัยนั้นท่านส่งผลเร่วเป็นส่วยเข้าฉางหลวง แล้วคลังท่านก็ขายลงสำเภาไปเมืองจีนอีกต่อหนึ่ง เคยอ่านเจอว่าสมัยก่อนที่ชายฉกรรน์ต้องไปเข้ากะทำงานหลวงปีละสามเดือนหกเดือนนั้น หากใครไม่อยากไปก็ให้ส่งผลเร่วไปแทนคนละหาบ แสดงว่าเร่วหรือหมากแหน่งนี่ถือเป็นสินค้ามีค่ามาช้านาน

บริเวณสองข้างทางในแขวงหลวงน้ำทา และอุดมไช จะพบเห็นแปลงปลูกเร่วกระจายอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่มักปลูกบริเวณหุบร่องห้วยที่มีความชื้นสูง เย็นวันที่กลับจากเมืองสิง ตามหมู่บ้านชาวกิมมุเห็นพ่อค้าชาวเมืองหลวงน้ำทามารอรับซื้อผลเร่วดิบกันหลายจุด มีผู้หญิงและเด็กๆแบกกะชุออกจากป่ามาขายกัน กิโลละ ๓๐๐๐กีบ เป็นผลเร่วที่เก็บจากในป่า รอบๆหมู่บ้านเห็นมีแปลงสวนเร่วหลายแปลง อ้ายคำออน เล่าให้ฟังว่าที่บ้านปลูกสองแปลง แปลงหนึ่งปลูกเร่วธรรมดาหรือที่เรียกกันว่าพันธุ์ปากช่อง พันธุ์นี้ปลูกในที่โล่งได้แต่ราคาขายถูก (๓๐๐๐กีบต่อกิโล) ส่วนพันธุ์กวางตุ้งที่ปลูกอีกสวนหนึ่งนั้นต้องการร่มไม้รำไรแต่ราคากิโลละ ๗๐๐๐กีบ ติดต่อขอซื้อพันธุ์ไว้ทั้งสองพันธุ์ อ้ายคำออนนัดไว้ว่าเดือนสี่ปีหน้าค่อยมาเอา เอาไปตอนนี้ปลูกไม่ทันฤดูแล้ว

ประเมินรายรับจากการปลูกเร่ว หลังจากปลูกแล้วสามารถเก็บผลได้ในปีที่ ๓ พื้นที่ปลูก ๑เฮกตาร์จะได้ผลเร่ว ๑ตันครึ่ง หากขายผลเร่วดิบจะได้เงินราว ๑๐ล้านกีบถ้าเป็นพันธุ์กวางตุ้ง เอามาปลูกแซมป่าไม้ไผ่ก็น่าสนใจ คิดว่าน่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับพี่น้องชาวกิมมุบ้านนาหนองคำ กับนาไม้ยม ที่ปฏิเสธบ่มักสวนยางเพราะ    ”บ่อยากตื่นแต่เดิกไปปาดยาง” เดินเลาะเล่นในเมืองหลวงน้ำทาเห็นสาวแก่แม่บ้านนั่งแกะผลเร่วตากแดดกันหลายบ้าน เป็นครอบครัวของพ่อค้าที่ไปรับซื้อผลดิบจากชาวกิมมุนั่นเอง เพิ่นเล่าว่าพอแกะเปลือกตากแห้งแล้วขายส่งพ่อค้าจีนกิโลละ ๕๐พันกีบ(๒๐๐บาท) เลยคิดต่อว่าหากเราขายแบบแห้งพี่น้องก็น่าจะมีรายได้สูงขึ้นอีก ท่องเน็ตดูข้อมูลการปลูกเร่วบ้านเราเห็นมีการทำผลิตภัณฑ์ เร่วผง น้ำมันหอม เจลล้างมือด้วย นี่ก็น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้

ฝันเข้าไป….ลุงเปลี่ยน


คาสิโน no more

4 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 27 กรกฏาคม 2011 เวลา 12:29 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2006

ทริปตามล่าหากล้ายางพาราแขวงลาวเหนือคราวนี้ ทีมงานฝันหวานไว้ว่าจะพากันไป “ดูสาวจีน”ที่คาสิโนบ่อเต็นสักคืน หรือหากมีโอกาสก็จะปลอมเป็นคนลาวขอเข้าไปเยี่ยมชมสวนยางในเขตเมืองลาประเทศจีนสักหน่อย ที่ต้องปลอมตัวก็เพราะพวกเราคนไทยไม่ได้ทำเรื่องขอเข้าเมืองไว้ หากเป็นพี่น้องลาวนั้นทำใบผ่านแดนก็เข้าไปเที่ยวในเขตเชียงรุ้งได้นานสิบวัน

แต่ที่ฝันไว้ก็ต้องเป็นฝันค้าง จะปลอมตัวเข้าเมืองจีนเอาเข้าจริงๆก็ไม่กล้า จะไปดูสาวจีนก็ไปเจอแต่บ่อนคาสิโนร้าง ร้านรวงปิดหมด มีแต่คนเฝ้าร้านมานั่งเล่นไพ่นกกระจอก ๒-๓ วง

บ่อนคาสิโนบ่อเต็น ตั้งอยู่ที่ด่านชายแดนระหว่างเมืองหลวงน้ำทา สปป ลาว กับเมืองลาของจีน เปิดมาได้หลายปีอยู่ แต่หลังๆมาซบเซาปิดตัวลงได้สองเดือนมาแล้วด้วยเหตุใดไม่ทราบแน่ชัด บ้างก็ว่าเพราะทางการจีนกดดันตัดน้ำตัดไฟ เพราะไม่อยากให้ชาวจีนข้ามมาเล่น บ้างก็ว่าเป็นนโยบายที่เปลี่ยนใหม่ของ สปป ลาว เพราะท่านเปลี่ยนนายกฯใหม่

บ่อนคาสิโนชายแดนจีน อันที่จริงก็มีมาก่อนหน้านี้สองสามแห่งในเขตเมืองลา เขตปกครองตัวเองในพม่า สมัยโน้นก็เดิมทีเปิดที่ติดชายแดน ต่อมาขยับย้ายลึกเข้ามาในแดนเมืองลาสิบกว่ากม. ตอนนั้นทางการจีนก็ปวดหัวหนักกับชาวจีนที่เอาเงินมาทิ้งในบ่อน ออกมาตรการห้ามคนจีนเข้ามาค้างคืน จำกัดวงเงินที่พกออกนอกด่าน จนสุดท้ายก็แกมบังคับให้ปิดคาสิโนที่เมืองลา กลุ่มผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจบางส่วนจึงย้ายมาเปิดที่บ่อเต็น แต่กลุ่มรายใหญ่ “ดอกงิ้วคำ”นั้นลงทุนเปิดกิจการใหญ่โตที่ห้วยเผิ้ง แขวงบ่อแก้ว ติดกับสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งในวงนักคิดนักโพสต์ชาวลาวก็กำลังรอดูกันว่าทางการท่านจะเอายังไงกันต่อไป แต่เห็นว่าเช่าที่ดินนานหลายสิบปี

อันที่จริงในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สมัยก่อนก็มีการเล่นการพนัน แทงหวยที่เรียกว่า “มะก่องถี่”กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จำได้ลางๆว่าปู่เคยเล่าให้ฟังตอนยังเด็ก เรื่องที่ท่านไปผจญภัยในบ่อนแถบรัฐฉาน สำหรับชาวจีนตามหัวเมืองนั้น (หรือแม้กระทั่งชาวจีนที่มาเปิดร้านค้าตามหัวเมืองลาว) แดดร่มลมเย็นก็มักเห็นตั้งวงเล่นไพ่กันอย่างเปิดเผยริมถนน ตอนไปสำรวจดินในเมืองซินลี่ ริมฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียง ผมก็ไปยืนดู(สาว)ทุกเย็นจนเกือบได้(ลูก)สาวกลับเมืองไทย ซื้อขนมไปหลอกฝึกพูดภาษาหลายวันจนพ่อแม่เขาออกปากยกให้ (สมัยนั้นเขายิ่งอยากได้ที่ว่างสำหรับลูกชายอยู่)

กลับมาที่คาสิโนบ่อเต็นที่ไปเห็นเป็นเมืองร้างคราวนี้ ก็รู้สึกเสียดายอาคารตึกรามสีสันสดใส รวมถึงร้านรวงต่างๆที่ปิดประตูเหล็กไร้ผู้คน คิดไม่ออกว่าจะเอาไปใช้ทำประโยชน์ในทางใดได้อีก โรงแรม สถานพักฟื้น ฟื้นฟูสุขภาพครบวงจร หมอทางเลือกแผนจีน ไท ลาว แขก ดีไหม หรือทำเป็นวิทยาลัยการโรงแรมดี …….คิดเรื่อยเปื่อยเผื่อพี่น้องลาว อาจบางทีจะสามารถมีการจ้างงานให้คนหนุ่มสาวที่ตกงานเพราะบ่อนปิดได้สักหลายๆคน


เสนอคำจีน ในทริปลาวเหนือ

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 16 กรกฏาคม 2011 เวลา 11:20 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2513

 ลูกติดพันจากทัวร์ไม้ไผ่ กลับมาถึงหงสาพักได้คืนเดียวถูกเชิญกึ่งลากให้ร่วมทัวร์ลาวเหนือเพื่อตามหา”กล้ายางพารา” กับหาลู่ทางส่งเสริมการหาอยู่หากินแนวอื่นตามรายทาง เพื่อนำมาเสนอพี่น้องชาวหงสา

เส้นทาง หงสา-เมืองเงิน-ปากแบง-อุดมไช-หลวงน้ำทา-เมืองสิง-เวียงพูคา-เมืองหลา

ไปเที่ยวนี้เจาะลึกหลายด้าน พบเจอเรื่องราวน่าสนใจหลายอย่าง เอาไว้โหลดรูปได้ และมีเวลาเรียบเรียงสาระ คงมีโอกาสได้นำมาถ่ายทอด

แต่บันทึกแรกของชุดนี้ นำเสนอคำจีนสองสามคำ เนื่องในวาระที่ครูบาจะไปดูไม้ไผ่เมืองจีน (และแอบมีวาระแฝงที่แอบคิดถึงสาวจีนบางคนนิดๆ อิ อิ)

คำแรก “ที ที อี้” ทางหลวงน้ำทาออกเสียง ที ที ยี่ หากเป็นคนลาวภาคกลางจะออกเสียง เต เต ยี่ ความจริงมีคำจีนในนี้เพียงคำเดียวคือ อี้ ที่แปลว่า หนึ่ง (อี้ เอ้อ ชาน ซื่อ อู่ ลิ่ว ชี ปา จิ่ว สือ ผมนับหนึ่งถึงสิบเพราะรู้ภาษาจีนไม่ได้มากไปกว่านี้แล้วล่ะครับ) แปลรวม ที ที อี้ ก็คือ TT 1 เป็นชื่อพันธุ์ยางพารา พันธุ์แรกๆที่ปลูกในจีน และแถวๆลาวเหนือครับ เซียนยางฯที่นี่ท่านว่าปลูกแล้วไม่เรื่องมาก ทนหนาวได้ดี มีน้ำค้างแข็งก็ไม่ตาย แต่ปริมาณน้ำยางไม่มากเท่าพันธุ์ใหม่ๆที่มาทีหลัง

คำที่สอง “ลิ่วเปยฮ่าว” เป็นพันธุ์ยางพาราชนิดใหม่ที่กำลังฮิตกันที่ลาว นำเข้ามาส่งเสริมโดยบริษัทชาวจีนที่มาสัมปทาน ที่ดินปลูกยางในลาว ท่านว่าให้น้ำยางดีมาก แต่ไม่ทนหนาว หากเกิดแม่คะนิ้งเมื่อไหร่ก็ยืนต้นตายเมื่อนั้น ลิ่วเปย แปลว่า หกร้อย “ลิ่วเปยฮ่าว” จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า T 600 ครับ

แทรกเรื่องพันธุ์ยางพาราอีกนิดครับ มีอีกพันธุ์หนึ่งที่มาใหม่มาแรงก็คือพันธุ์ 774 (ที่พันธุ์นี้ไม่ยักเรียกชื่อจีนว่า ชี ชี ซื่อ) ท่านว่าโตเร็วให้น้ำยางมาก ปลูกที่หนาวๆแถวเชียงรุ้งก็ไม่เป็นไร เสียแต่ว่ายังไม่มีสวนใดได้กรีดเลย จึงไม่สามารถยืนยันได้

คำที่สาม เที่ย ผี สือหู่ เป็นชื่อกล้วยไม้ที่เมืองจีนนำมาส่งเสริมให้พี่น้องชาวเผ่าในลาวเหนือเขตเมืองเชียงแข็ง เมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา ปลูกเป็นพืชทดแทนฝิ่นครับ ต้องการที่สูงเกิน ๑๐๐๐ ม จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ที่น่าสนใจคือ เขาไม่ได้ขายดอก แต่เขาต้องการต้นและใบทั้งหมดเอาไปทำยาครับ เห็นว่าบำรุงได้ทั้งตับ ไต หัวใจ เลือด ราคาที่รับซื้อ กิโลกรัมละ ๕๐๐ หยวน หยวนนะครับ (หลินหมิงปี้)บ่แม่นบาทหรือกีบ อันนี้ถามย้ำกับนายภาษาอีกรอบแล้วเพื่อความแน่ใจ ผมแอบขอมาได้สองกล้า จะลองเอามาปลูกบนยอดภูดูเผื่อพี่น้องชาวหงสาจะได้รวยกับเขาบ้าง

คำสุดท้าย “ฟาน เฉ่า” เป็นกล้วยไม้อีกชนิดหนึ่ง แต่ชนิดนี้ตัดดอกขาย สนนราคาเดียวกันกับกล้วยไม้ชนิดแรกครับ แต่ไม่ทันเห็นดอกหรอกครับเห็นแต่ต้นกล้า เอาไว้รอบหน้าจะหาเวลาตามไปดู

เห็นนายทุนคนจีนมาเช่าพื้นที่ทำสวนกล้วยหอมแบบประณีตเต็มไปหมด นำกล้าที่ขยายพันธุ์แบบเพาะเนื้อเยื่อ มาปลูก มีระบบน้ำหยด มีการห่อหุ้มเครือกล้วย ท่านว่าปลูกวิธีนี้สามารถเก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน ตัดเครือแล้วเอาใส่ตู้คอนเทนเนอร์เข้าจีนไปเลย ค่าเช่าที่ดินแพงมากๆ เฮกตาร์(หกไร่กว่าๆ)ค่าเช่าแปดพันหยวนหรือ สี่หมื่นบาท ต่อปี และต้องเช่าสามปีเรียกว่าจ่ายค่าเช่าทีก็หนึ่งแสนสองหมื่นบาท

ลองนึกดูว่าพี่น้องชาวจีนจะต้องกินกล้วยหอมราคาแพงขนาดไหน

เทียบกันแล้วเกิดเป็นคนไทยดีกว่าเยอะ (เฉพาะเรื่องกล้วย)

จบรายงานข่าวจากลาวเหนือ

                                                                                                            โรงแรมลาวงาม อุดมไชย

                                                                                                            ๑๖ กอละกด


คนแปลกเปลี่ยวที่บ้านเกิด (ป้อลุงขอฮ่ำฮิฮ่ำไฮ)

5 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 14 กรกฏาคม 2011 เวลา 11:38 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1617

ทอดสายตามองผ่านกระจกหน้าต่าง ยามหัวค่ำ

สายฝนปรอยโปรย รถราขวักไขว่ ดวงไฟสาดส่อง

ผู้คนมากหน้า เดินผ่านไปมาบนบาทวิถี

ประตูท่าแพ กำแพงเมือง คือเวียง ยังอยู่ที่เก่า

แต่ผมรู้สึกแปลกเปลี่ยวในบ้านเกิด

จึงได้แต่ขังตัวเองอยู่ในห้องหรู ของโรงแรมกลางเมือง

ที่ห่างเพียงเยื้องกับบ้านหลังเก่า ที่คุ้นเคยกับต้นไม้ใบหญ้าแทบทุกเส้น

            นั่งเหงาท่ามกลางนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในห้องอาหารมื้อเช้า

            ฝืนกลืนขนมปังปิ้ง ทาเนย กับไข่คนปนกลิ่นเนย

            ถ้วยกาแฟจืดๆตามแบบฉบับ บุฟเฟมื้อเช้าปล่อยไอลอยอ้อยอิ่ง

            นึกถึงข้าวนึ่งร้อนๆกับหมูทอดหอมๆที่กาดสมเพชร ห่างออกไปไม่กี่สิบก้าว

            แต่ความขี้เกียจก็สั่งให้คร้านที่จะย่ำเท้าไป

เชียงใหม่ในรอบห้าปีมานี่ แปลกตาไปจริงๆ

หรือว่าความรู้สึกของตัวเอง ที่ดัดจริตพาให้คิดไปว่าแปลกเปลี่ยว

รึ ผมห่างเหินจากบ้านเกิดไปนานเกินพอแล้ว

            เดินวนสองรอบผ่านบ้านหลังที่คุ้นเคย

            มองผ่านรั้วเข้าไปเห็นสนามหญ้าที่เคยมาช่วยแม่อุ้ยถอนแห้วหมูที่ขึ้นแซมหญ้ามาเลย์ ถูกปูทับด้วยพื้นซีเมนต์

            แล้วกอดอกดาหลากับต้นมะรุมหลังบ้านจะยังอยู่ไหมหนอ

            บริเวณบ้านตัวบ้านที่เคยโอ่โถง กลับดูคับแคบด้วยมีตึกทรงแท่งมาเบียดบัง

เป็นเช่นนี้เองหนอ มีเกิดมีเสื่อม ไปตามกลไกแห่งกาลเวลา และวิถีแห่งยุคสมัย

อย่าไปติดยึดกับสิ่งใดใดเลย

            อ้อมไปเหมาซื้อมาลัยดอกมะลิหลายพวง

            เดินซอกซอนเข้าไปไหว้พ่ออุ้ยแม่อุ้ยที่หลังวิหารวัดอู่ทรายคำ

            ฝากมาลัยไปไหว้พ่อแม่ที่อยู่อีกวัดไกลออกไปต่างอำเภอ

            อย่างไรท่านก็คงได้เจอกันที่เมืองบนโน้น

ไหว้พระ ถวายปัจจัยชี้ให้พระท่านดูชื่อบนกำแพง บอกว่ามาทำบุญให้ท่าน

ท่านสมภารให้เด็กมาชวนให้แวะคุย

ท่านแจ้งว่าญาติสายอื่น(ที่เหลือกันน้อยลงทุกที บางท่านก็หง่อมจนมาวัดไม่ไหว) อยากทำพิธีลอยอัฐิ ฝากให้มาถามความเห็น

กราบเรียนท่านสมภารฝากตอบไปว่า “สุดแล้วแต่พี่น้องและท่านสมภาร”

ส่วนตัวกระผมเองไม่ว่าจะมีตัวแทนของท่านอยู่หรือไม่อยู่ ก็ยังจะแวะเวียนมาไหว้พระวัดนี้ตามโอกาสอำนวย

            ไม่ได้คิดจะติดยึดกับวัตถุ แต่ยังรำลึกถึงความทรงจำและสิ่งดีงามที่ท่านได้ทำภายในวัดแห่งนี้

…………………………………………………………………………..

ช่วงเวลาหลังจากนั้นก็เป็นรายการรับอุปการะจาก พี่น้องสายเหนือ ครูใหญ่ ครูอาราม อุ้ย ติดสอยห้อยตามด้วยเด็กหญิง(ตัวโค่ง)เสื้อสีส้ม ที่พาไปโรงงานกระดาษสา มาแวะกินข้าวซอยฮ่อ ก่อนจะห้อมาขึ้นกานต์แอร์กลับเมืองน่าน แล้วเตลิดเข้าหงสา

ขอแจ้งข่าวชาวคณะทราบว่า กระดาษสาได้จุดประกายให้กลุ่มแม่บ้านเวียงแก้วเริ่มลงมือทำกระดาษสาใช้เองแล้วครับ หลังจากที่ห่างหายไปกว่ายี่สิบปี ….ขอได้รับการขอบพระคุณ

ขอขอบใจ……เด้อ



Main: 0.19491600990295 sec
Sidebar: 0.10314989089966 sec