กล้ายางพาราที่หลวงน้ำทา รายงานสภาวะ ณ ปี ๒๐๑๑

โดย silt เมื่อ 18 สิงหาคม 2011 เวลา 1:10 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2418

 

เมล็ดยางพารา ๑ กิโลกรัม ราคา ๓๕๐๐ กีบ(๑๔ บาท) นำมาเพาะได้ ๑๒๐-๑๘๐ กล้า หลังจากเพาะในกะบะทรายให้แทงรากเป็นถั่วงอกแล้ว นำลงแปลงอนุบาลกล้ายางที่ไถพรวนเตรียมไว้แล้ว ท่านทำแปลงขนาดที่คนนั่งติดตาได้สะดวก วิธีย้ายลงแปลงท่านถอนแบบเปลือยรากแล้วเอาไม้จิ้ม เป็นรูๆค่อยๆหย่อนรากกล้ายางฯลงไป ทำทีละต้นๆ ต้องสิ้นเปลืองเวลาไม่น้อย (อันนี้เป็นวิธีของชาวเมืองสิง หลวงน้ำทา)

จากนั้นก็เฝ้าดูแล ดายหญ้าแปลงกล้ายางฯจนอายุครบ ๑ปี แล้วก็เริ่มติดตา ยางพารานี่ก็แปลกทำไมต้องติดตาก็ไม่รู้ เพาะกล้าแล้วปลูกเลยก็ไม่ได้ พ่อเฒ่าเลามาบอกว่า ต้นที่ไม่ติดตาใหม่จะให้น้ำยางไม่เยอะ สมัยที่มีการเพาะกล้ายางกันใหม่ๆ ชาวบ้านงุนงงกับ “ต้นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์” แอบมาฟ้องว่า ทำไมต้นพ่อต้นแม่ที่เอามาติดตา บางทีขนาดเล็กเท่าๆกับกล้ายางฯเลย ทำให้ไม่เชื่อมั่นต่อผู้ผลิตกล้ายางฯรายนั้น บางคนก็มากระซิบกระซาบว่าสงสัยเขาเอาตาข้างบนจากต้นเดียวกันแกะมาติดตาล่างบ้างก็มี เป็นความเข้าใจผิดของชาวบ้านที่ “แอบจอบเบิ่งกัน แล้วคิดกันไปเอง” ลุงเปลี่ยนก็ต้องไปเสาะหาความรู้ และข้อเท็จจริง แล้วพาชาวบ้านมาดูของจริงให้หายกังวล ผู้รู้ท่านว่ากิ่งที่นำมาติดตายิ่งเอามาจากต้นพันธุ์ที่อายุน้อยเท่าไหร่ยิ่งดี หากเอามาจากต้นแก่จะเหมือนคนแก่มีลูกอ่อนท่านอธิบายว่าอย่างนั้น ส่วนการเอาตาบนมาติดต้นเดิมตาล่างนั้นท่านว่าดูออกง่ายนิดเดียวที่สีของตาใหม่จะดำไม่เขียวเหมือนการติดตาทั่วไป แล้วเราก็บัญญัติคำใหม่ ใช้คำว่าต้นพี่น้องพันธุ์ดี แทนคำว่าต้นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ป้องกันการเข้าใจผิด

สรุปแล้วก็คือ ดูแลกล้ายางฯอายุครบปีก็ต้องติดตา โดยเอากิ่งพันธุ์ดีมาติด วิธีการติดตาต้องมีขั้นตอนเทคนิคตั้งแต่การแกะตาออกมาจากกิ่งพันธุ์ให้ได้ตุ่มตา (บ่แม่นตาตุ่มเน้อ) ติดมาด้วย จากนั้นก็ค่อยๆปาดที่ต้นตอเอาตาใหม่มาติดพันด้วยให้มิดชิด เป็นอันจบกระบวนการ เจ้ารูปหล่อหมวกแดงข้างบนบอกว่าวันหนึ่งทำได้แปดร้อยต้น(หากเป็นลุงเปลี่ยนก็น่าจะได้สามสิบต้นเท่านั้น) ปกติจะติดตากันช่วงเดือน ๖-๑๐ เท่านั้นหากเข้าหน้าหนาวเป็นระยะพักตาก็ติดไม่ได้ หลังจากติดตาแล้วต้องบำรุงรักษาต้นกล้าไปอีกอย่างน้อย ๗-๘เดือน ก็จะถึงฤดูต้นฝนก็ย้ายไปปลูกได้ ก่อนย้ายไปปลูกสักหนึ่งสัปดาห์ต้องตัดยอดเพื่อกระตุ้นตาที่ติดไว้ให้งอกมาแทน สำหรับการจำหน่ายออกไปปลูกในที่ห่างไกล การขุดกล้ายางต้องทำแบบเปลือยราก หมายถึงตัดต้นเหลือแต่ตอขุดรากมามัดรวมกัน ป้องกันส่วนที่เป็นตาติดใหม่จะเสียหายด้วยการตัดไม้ไผ่มาประกบไว้ นำส่วนรากจุ่มลงในน้ำโคลนส่วนตอที่มีรอยตัดจุ่มน้ำสีป้องกันเชื้อรา เป็นอันพร้อมขนส่งเดินทางไกล

จะเห็นว่า กว่าจะได้กล้ายางพารามาปลูกสักต้นหนึ่งก็ต้องผ่านหลายขั้นตอน และใช้เวลาอย่างน้อยปีกว่าๆ ในการตระเตรียม หงสาต้องการกล้ายาง ๑๐๐๐๐๐ กล้าภายในปีหน้านี้ และในปีต่อไปต้องการมากกว่านี้อีก ทำให้ต้องรีบไปติดต่อทาบทามทั้งต้นกล้าสำหรับปีหน้า และเมล็ดสำหรับเพาะกล้าไว้ปลูกปีโน้นอีกแปดร้อยถึงหนึ่งพันกิโล ยิ่งปีนี้ได้ข่าวว่าทางฝั่งจีนยางพาราไม่ติดผลเนื่องจากฝนตกหนักอีก ไม่ใช่คลั่งบ้ายางพาราหรอกครับ แต่เป็นโจทย์ที่เขากำหนดให้ต้องทำ

สำหรับราคากล้ายางพาราที่หลวงน้ำทา สมัยก่อนซื้อขายกันในหมู่เพื่อนบ้านกล้าละ ๑พันกีบ(สี่บาท)ก็นับว่าแพงแล้ว แต่มาเมื่อปีสองปีก่อน เริ่มมีคนจากทางไกล จากต่างแขวง จากจีน จากเวียดนาม และจากไทยแลนด์มากว้านซื้อ ทำให้ราคาถีบตัวสูงพรวดๆจนถึง ๑๒พันกีบ(เกือบห้าสิบบาท) ม่ายรู้จะแย่งกันซื้อไปถึงไหน   

เราไปทาบทามกล้ายางกันสามแหล่งใหญ่ จุดแรกเป็นกลุ่มชาวลาวสูง(ม้ง)ลูกหลานพ่อเฒ่าเลามา ต้องออกจากหลวงน้ำทาไปอีกเกือบร้อยกิโล ที่เมืองสิง ชาวม้งแต่ละครอบครัวผลิตกล้ายางฯรายละห้าหกหมื่นกล้า แต่ละเจ้ากำลังง่วนอยู่กับการติดตา แต่มีข้อเสียคือ ตาที่นำมาติดเป็นแบบคละพันธุ์ ทำใจลำบากเหมือนกัน เพราะเราอยากได้พันธุ์ที่ทนทานสำหับมือใหม่ชาวหงสา เกรงว่าเอาชนิดที่ต้องมืออาชีพแต่ให้น้ำยางสูงนั้นน่าเป็นห่วง แต่ก็ใช่ว่าเจ้าของเขาอยากขายให้หรอกครับ มีแต่แบ่งรับแบ่งสู้ หรือให้มัดจำไว้ก่อน แต่ตอนส่งมอบขออิงตามราคาตลาด ล่าสุดเพิ่งโทรมาแจ้งว่าหมดเกลี้ยงไปแล้ว ชาวจีนเข้ามาเหมากล้าละ ๖พันกีบ เพิ่งติดตาได้สองอาทิตย์เอง เขาว่าชาวจีนเอาไปลงถุงดำแล้วเพิ่มราคาอีกหลายเท่า เขาบอกว่ารีบขายเพราะไม่งั้นถูกขโมยไปยกสวน

จุดที่สองไปเมืองเวียงพูคา เป็นของบริษัทเสินห่าว ที่ได้รับสัมปทานมาส่งเสริมการปลูกยางทั่วแขวงหลวงน้ำทาสามหมื่นเฮกตาร์ โดยใช้หลักส่วนแบ่ง บริษัทได้๗๐ ส่วนชาวสวนเจ้าของที่ดินได้ ๓๐ แต่ชาวสวนไม่ต้องลงทุนใดๆ บริษัทสนองกล้ายาง ปุ๋ย ค่าปลูก ค่าดายหญ้าจนได้กรีดยางฯ ในระหว่างที่ยังไม่ได้กรีดยาง ชาวสวนจะมีรายได้จากการรับจ้างดูแล ดายหญ้าในสวนตัวเอง และรายได้จากการปลูกพืชแซมระหว่างแถวต้นยาง ได้ข่าวว่าปีกลายบริษัทนี้แบ่งขายกล้ายางฯให้เวียดนามไปหลายคันรถสิบล้อ ก็นั่นแหละต้องรอให้เขาเหลือใช้ก่อนถึงจะขายออกนอกโครงการได้

ฝากความหวังไว้ที่หลวงน้ำทา ขากลับแวะทาบทามที่แผนกกะสิกำและป่าไม้แขวงอุดมไซ โชคดีเจอผู้ประสานงานที่เคยมาฝึกงานที่หงสาสมัยสิบกว่าปีก่อน เคยร่วมงานกับลุงเปลี่ยนหลายป่า(หลายเมา) เขาพาไปดูที่ศูนย์วิจัยส่งเสริมการเกษตรที่จีนมาสร้างไว้ให้ ที่นี่มีนโยบายส่งเสริมการปลูกยางพาราเก้าแขวงภาคเหนือ(จีนนี่เล็งผลระยะยาวได้แจ๋ว ปลูกแถวลาวเหนือพอได้ผลผลิตก็คงไม่พ้นส่งเข้าจีน) ที่นี่น่าจะมีความหวังสูงกว่าแหล่งอื่นๆ เพราะอยู่ในโครงการในแผนเขาพอดี แต่พวกเราก็เป็นธุรกิจเอกชนนี่ละสิ จีนเขาจะปันให้อย่างไรจะขายกันอย่างไรก็ยังต้องค้นคว้าหาช่องทางกันอีกที

ขอให้ได้ทีเถิด เพี้ยง

« « Prev : ทิศทั้งแปด บทท่องจำตามโคลงบุราณลาว

Next : โบราณคดี นักปฐพี กับวิถีชาวถิ่น » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 18 สิงหาคม 2011 เวลา 9:23 (เย็น)

    ฝากถึงรัฐบาลลาวด้วยว่าอย่าโง่แบบรัฐบาลไทย ให้เร่งสร้างโรงงานผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ยางรถยนต์ ถุงมือยาง จนถึง ถุงยางอนามัย เอาไว้เพิ่มมูลค่ายางพารา

    ยางดิบ กก.ละ 100 บาท แต่พอเอาไปทำยางรถยนต์ กก.ละ 1000 บาท เพิ่มมา 900 บาท ไร่หนึ่งได้ 300 กก. เพิ่มมูลค่าได้ 270,000 บาท จากการขายยางดิบแบบไทยๆ …ผมเตือนรัฐบาลไทยมานานเรื่องนี้ ไม่มีใครฟัง ..ลาวคงฉลาดกว่านั้น อย่าไปขายให้จีนสดๆ ต้องทำผลิตภัณฑ์สุกขาย แล้วไม่นานลาวจะรวยแซงหน้าไทยที่เป็นได้แค่ขี้ข้าขายแรงงานให้ต่างชาติ

  • #2 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 18 สิงหาคม 2011 เวลา 9:28 (เย็น)

    ไม่ใช่แต่เพิ่มมูลค่ายาง กก . ละ 900 บาท โรงงานผลิตสินค้าสุกยังสร้างงานให้ปชช. และเสียภาษีให้รัฐ (สูงเสียด้วยคือ 35%) ปชช.มีรายได้มากก็ต้องเสียภาษีเงินได้ให้รัฐ พอบริโภคสินค้ามากขึ้นก็เสียภาษีทางอ้อม (vat) โรงงานอื่นๆ ก็ต้องผลิตสินค้าเพิ่มเพื่อให้แรงงานเหล่านี้บริโภค ก็ต้องซื้อวัตถุดิบเพิ่ม จ้างคนงานเพิ่ม …มันได้เพิ่มร้อยต่อเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ไม่ใช่แค่สองสามต่อนะครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.18068909645081 sec
Sidebar: 0.020616054534912 sec