เครื่องฟักไข่
สองปีก่อนศูนย์สาธิตการเกษตรครบวงจรที่หงสาขอซื้อตู้ฟักไข่มาตู้หนึ่ง รับรู้รับทราบแล้วก็ไม่ได้สนใจติดตามถามข่าว จนกระทั่งได้อ่านบันทึกสวนป่าเรื่องไข่ไก่ต๊อกเน่า นึกขึ้นมาได้เลยถามไถ่พรรคพวกว่าตู้ฟักไข่ของศูนย์เป็นอย่างไรบ้าง
ปรากฏว่าได้รับคำตอบเหมือนๆกันครับ เขาบอกว่า “อาจ๋านไฟฟ้ามันมาๆดับๆไข่เน่าเหมิด ฟักสองสามเทื่อกะคือเก่า” แสดงว่าแม้นวิวัฒนาการสมัยใหม่จะทำเทียมได้เยี่ยมยอดเพียงไหน ก็มาตายตอนจบด้วยระบบไฟฟ้าชนิดที่สุนัขฉี่รดเสาไฟฟ้าก็ดับ ในเรื่องราวทำนองเดียวกับที่ได้ไปพูดคุยกับกลุ่มแม่บ้านผลิตกล้วยฉาบสอดไส้สับปะรดที่บางระจันวันนี้ คุยกันเรื่องการขอ อย. เห็นบอกว่าเรื่องความสะอาด โรงเรือน โรงบรรจุนั้นสามารถดัดแปลงให้ผ่านมาตรฐานได้ แต่หากน้ำที่ใช้ในการล้างกล้วยมีเชื้อคลอลิฟอร์มปนเปื้อน ทางกรมอาหารและยาก็ออกใบ อย.ให้ไม่ได้เหมือนกัน อันนี้ก็เรียกว่าตายตอนจบด้วยเรื่องน้ำ
ตอนเรียนหนังสือ อาจารย์เรียกว่าเป็นทฤษฏีถังไวน์(หรือถังหมักอะไรสักอย่างนี่แหละ จำไม่ได้แล้ว) เอาเป็นว่าเป็นถังของชาวฝาหรั่งที่เอาไม้โอ๊คเป็นแผ่นๆมาเรียงๆให้เป็นถังกลมๆ ปริมาณน้ำที่สามารถกักเก็บได้ในถังขึ้นอยู่กับไม้แผ่นที่สั้นที่สุด หากเติมมากกว่านั้นเมื่อไหร่น้ำย่อมไหลออกตามซี่ไม้ที่ต่ำที่สุดอยู่ดี
ย้อนกลับมาเรื่องตู้ฟักไข่หงสา ก็คงต้องรอรอต่อไปจนกว่าไฟฟ้าจะไม่ดับๆติดๆวันละสามเวลาเหมือนทุกวันนี้
ต้องให้เครดิตกับเจ้ากิจโชเฟอร์ที่รับผมจากด่านชายแดนมาสนามบินเมื่อวันก่อน คุยกันเรื่องตู้ฟักไข่นี่แหละเขาจำได้ว่าเป็นคนขนเข้าไปให้จากน่าน อยู่ๆเจ้ากิจก็ช่วยฟื้นความจำว่า “ลุงเปลี่ยน สมัยก่อนผมเห็นพ่อผมเอาบ่มหม้อข้าวสาร” เออ จริงด้วยแฮะ ทำไมเราหลงลืมข้อนี้ไป ลุงเองก็เคยเห็น นึกออกด้วยว่าลุงเองยามเด็กชอบแอบเปิดหม้อข้าวสารแล้วเอามือไปซุกเล่นจนโดนแม่เอ็ดบ่อยๆว่า “ใช้ไปหม่าข้าวหยังมาเมินแต้ว่า” จำได้ว่าหม้อดินเผาที่แม่ใช้เก็บข้าวสารนั้นจะอุ่นๆมือดี ไก่แม่ดำที่บ้านออกไข่คราวละสิบกว่าฟองกว่าจะครบกว่าจะฟักทำให้ไข่ใบที่ออกทีหลังมักจะออกเป็นตัวทีหลังเพื่อน พ่อมักจะไม่รอเพราะตัวที่ออกก่อนร้องจิ๊บๆเจี๊ยบๆหิวกันแล้วบางตัวก็ปีนตกจากรังไข่ทำให้ตัวแม่ดำละล้าละลังบินขึ้นบินลง สุดท้ายพ่อจะเอาไข่สองสามใบที่ยังไม่ฟักเป็นตัว(แต่มีเสียงจิ๊บๆดังจากในไข่)แอบไปซุกไว้ในถังข้าวสาร ที่ว่าแอบคือสองพ่อลูกต้องแอบไม่ให้อี่แม่รู้ ถ้ารู้ก็ต้องฟังเสียง “จ่ม” ว่า”ขี้จ๊ะ” เพราะบางทีเวลาเจ้าเจี๊ยบออกมาจะมีเลือดมีไข่ขาวออกเป็นเมือกมาปนในข้าวสารของอี่แม่
บ่าอ้ายลูกโตนก็จะต้องอาสาเป็นคนไปตักข้าวสารมาหม่าในระยะนั้น หมั่นไปดูไปฟังเสียงอีกสองสามวันก็จะได้เห็นไก่หน้อยออกมา แต่บางทีบ่าอ้ายก็ไปจับไปพลิกบ่อยเกินไปจนกลายเป็นไข่ข้าวไข่ฮ่วนไปเลยก็มี เจ้าเจี๊ยบที่ออกทีหลังเพื่อนนี้ต้องหาวิธีหลอกล่อให้นางดำเค้ารับเป็นลูกพ่อต้องแอบเอาไปซุกไว้รวมๆกับเพื่อนมันตอนนางดำกกไว้ใต้ปีกตอนกลางคืน ไม่งั้นนางดำจิกเอาๆไม่รับเป็นลูก มีหลายตัวที่บ่าอ้ายเผลอ(ไม่ใช่สิ บ่าอ้ายตั้งใจ แต่พ่อเผลอต่างหาก) บ่าอ้ายเอาซุกถุงเสื้อไปเล่นแอบเอาข้าวเปี๋ยนมาให้ลูกเจี๊ยบกิน และแล้วมันก็ไม่ยอมไปไหนได้แต่วิ่งตามบ่าอ้ายต้อยๆ อย่างนี้เรียกว่า “ไก่ติ๊กหรือไก่อุ้ม” บางตัวก็อยู่ด้วยกันจนมีแฟนมีลูกแล้วยังพาลูกมาป้วนเปี้ยนอยู่กับคน บางตัวก็อยู่เล่นกับแมวก็มี ไอ่หวาดแมว”ขี้มิ้ง”เจ้าอารมณ์แม้มันจะหงุดหงิดไล่ตะปบหน้าหมาบ่อยๆ หากมันเห็นเป็นไก่ติกของบ่าอ้ายแล้วมันก็จะยอมๆไม่กัด
ไหนก็ตั้งใจเขียนเรื่องตู้ฟักไข่แล้ว จะเล่าถึงนวัตกรรมตู้อบไก่ของบ่าอ้ายลูกโตนคนคึ ดำเนินความตามท้องเรื่องเกิดขึ้นสมัยที่เรียนชั้นมัธยมแล้วล่ะ ต่อไฟฟ้าเป็นแล้ว บ่าอ้ายคิดการประดิษฐ์ตู้ฟักไข่ ไปหาลังไม้อัดมา ไปเอาฟางแห้งมา ไปลักนุ่นที่แม่เตรียมยัดที่นอนมาปู แล้วก็เอาไข่ที่มีเสียงจิ๊บๆข้างในสามใบมาวางเรียง แล้วก็ไปเอาหลอดไฟกลมๆหกสิบวัตต์มาแขวนไว้ในกล่อง เสียบปลั๊กไฟทิ้งไว้แล้วก็ออกไปเลาะบ้านใต้บ้านเหนือ
นานโขพอดู ได้ยินเสียงเอะอะว่าไฟ ไฟ แถวบ้านรีบกลับมาดูปรากฏว่าตู้ฟักไข่บ่าอ้ายดำเป็นถ่าน กองหนังสือที่แอบซุกตู้ฟังไข่นวัตกรรม เปียกโชกด้วยน้ำ โชคดีที่ใต้ถุนบ้านมีแม่ๆป้าๆมาชุมนุมให้แม่สอนเย็บที่นอนกันหลายคน เลยได้กลิ่นแล้ววิ่งไปดับไฟได้ทัน โชคดีที่ฟิวส์ขาดตัดไฟฟ้าให้ก่อนคนมาช่วยสาดน้ำ ตู้ฟักไข่ของบ่าอ้ายจึงเอวังด้วยประการฉะนี้
แต่ว่าถังข้าวสารช่วยฟักไข่ที่ใกล้จะออกเป็นตัวได้จริงๆนะครับ ไม่เหมือนตู้นวัตกรรมของบ่าอ้าย
Next : เมื่อความเชื่อเรื่องภูตผีช่วยเร่งกระบวนการย้ายบ้านเรือน » »
4 ความคิดเห็น
อาจจะเว่อร์ไปนะครับ แต่ถ้าแปลงไฟฟ้ามาชาร์ตแบตเตอรี่รถยนต์ แล้วเอาไฟจากแบตเตอรี่รถยนต์ไปแปลงกลับเป็นไฟฟ้าเพื่อจ่ายให้กับหลอดไฟเพื่อฟักไข่นี่ จะยุ่งไปไหมครับ วิธีนี้หลอดไฟฟักไข่เหมือนมี UPS
เครื่องแปลงไฟจาก 220V มาประจุแบตเตอรี่ 12Vdc พร้อมตัดไฟอัตโนมัติเมื่อแบตเต็มราคา 280 บาท แบตเตอรี่ก็ซื้อเอาในท้องถิ่น เป็นแบตมอเตอร์ไซค์ 12Vdc ก็พอครับ ราคา 480 บาท แล้วเครื่องแปลงไฟ 12Vdc กลับเป็นไฟฟ้า 220V ราคา 300 บาท — ทั้งหมดเป็นราคาที่ตลาดสตึกและไม่ได้ต่อราคาครับ
ดูตามราคาแล้วการลงทุนน่าจะคุ้มค่าครับ แต่ต้องดูระยะเวลาที่สามารถสำรองไฟว่าจะเหมาะสมกับช่วงความยาวนานที่ไฟดับหรือไม่ครับ
เคยนั่งสังเกตแม่ไก่เลี้ยงลูกเจี๊ยบหรือไม่ครับ
ไก่บางตัวดูแล สั่งสอน ปกป้องลูกดีมากๆ มีการซ้อมระบบเตือนภัยทางอากาศด้วย
ดังเช่นไก่แม่ดำตัวเก่งแม่นี้
พ่อบอกว่าเป็นเชื้อไก่ชนเมืองพาน
เคยเห็นเธอสอนลูกให้รู้จักสัญญานเสียง
หากเป็นเสียงกุ๊กๆๆธรรมดา แปลว่า เรียกลูกให้เดินทางต่อ
หากส่งเสียงกุ๊กๆๆๆถี่ๆแสดงว่าแม่ดำคุ้ยเจออาหาร แล้วเรียกลูกมากิน
แต่หากแม่ดำส่งเสียงแหลมกุ๊กกกกยาวๆ แสดงว่าเตือนภัยลูกว่ามีเหยี่ยวโฉบมา ได้ยินเสียงนั้นเมื่อไหร่ลูกเจี๊ยบต้องรีบวิ่งมาซุกปีกแม่ ตัวไหนอยู่ไกลต้องไปหลบใต้พุ่มหญ้า
ไก่แม่ดำจะซ้อมเตือนภัยทางอากาศบ่อยๆ
บางครั้งบ่าอ้ายลูกโตนนึกสนุกก็แกล้งไก่แม่ลูกด้วยการทำเสียง ซิ้วๆๆๆซิ๊วๆๆๆ เลียนเสียงปีกเหยี่ยว ไก่แม่ดำกับลูกได้วิ่งกันหัวซุกหัวซุน
ไก่แม่ดำเคยหาญสู้กับเหยี่ยวตัวย่อมจนเลือดโชกบางตาย บ่าอ้ายกับพ่อได้ยินเสียงไก่ตีกันโครมคราม เสียงลูกเจี๊ยบร้องตื่นตระหนก รีบไปดูเห็นไก่แม่ดำกำลังต่อกรกำเหยี่ยวที่จะมากินลูกเจี๊ยบ พ่อเอาก๋วยครอบได้ตัวเหยี่ยวมาเลี้ยงไว้หลายวันก่อนจะปล่อยไปเพราะขี้เกียจหาเนื้อดิบให้กิน
ไก่ที่สวนป่า จะพาลูกปีนต้นไม้ขึ้นไปนอนบนคบไม้ แต่มีแม่ไก่ตัวหนึ่ง ท่าทางจะเป็นแม่ไก่ใจร้อน ลูกเจี๊ยบเดิน+ปีนตามขึ้นต้นไม้ไปได้ แต่แม่ไก่ดันเปลี่ยนใจ บินข้ามไปอีกกิ่งหนึ่ง แล้วก็มาร้องโวยวายลูกเจี๊ยบ คล้ายๆ กับว่าทำไมไม่บินตามมา
ส่วนไฟสำรองนั้น ใช้ได้นานแค่ไหน ก็ดูที่ขนาดของแบตว่าเราสำรองไฟไว้ได้เท่าไหร่ครับ เช่นแบตขนาด 12 Ah เหมือนกับไฟสำรองฉุกเฉินที่ผมทำไว้ที่กระต๊อบเจ้าป่า จะเก็บพลังงานไว้ได้ 12V x 12Ah = 144 Wh ถ้าเอาไปจ่ายให้หลอด 40W หนึ่งหลอด ก็จ่ายได้ 144/40 = 3.6 h ครับ ถ้าต้องการนานกว่านี้ ก็หาแบตทีใหญ่ขึ้นกว่า 12 Ah ผมไม่แน่ใจว่าแบตมอเตอร์ไซค์มีขนาดไหนบ้าน แต่ที่ซื้อมานี้เป็นตัวเล็กมากครับ