จะหาหมอ(นวด)
งานสร้างอาชีพนวดแผนลาวบูราณเป็นอีกหนึ่งงานที่ท้าทาย
ท้าทายเพราะโดยส่วนตัวแล้วไม่ชอบนวด ไม่เคยนวด (จริงจริ๊ง…สาบานได้) ขนาดเอ็นเข้าแคป(เส้นยึด)คอเอียงปวดแทบตายยังไม่ยอมนวด ไม่ใช่อะไรหรอกเป็นคนบ้าจี้น่ะ สมัยก่อนพาเพื่อนซ้อนมอเตอร์ไซด์ไอ้เพื่อนเผลอมากอดเอวเข้า ตกใจขี่รถตกลงข้างถนนได้แผลถลอกปอกเปิก แล้วข้าพเจ้าจะไปหาประสบการณ์นวดมาจากไหนล่ะนี่?
ท้าทายยิ่งกว่านั้นก็คือเรื่องกฎระเบียบของบ้านเมืองนี้ ที่มีโรงเรียนดัดสร้างไว้ขังชายหนุ่มหญิงสาวที่มีพฤติกรรมผิดๆด้านชู้สาว มีกองหลอนหรือตำรวจบ้านที่กล่าวได้ว่า พี่น้องลาวมีหกล้านคน และเมืองลาวมีตำรวจหกล้านคน แปลว่าทุกคนสามารถสอดส่องแจ้งจับกันได้ (เพื่อนฝูงหลายคนบ่นว่า ที่เมืองอื่นทำไมไม่เคร่งครัดแบบนี้ ผมตอบเขาไปว่า ที่นี่สาธารณรัฐโว้ย แต่ละเมืองท่านสามารถมีกฎหมายพิเศษได้) ดั่งนั้นแล้วการไปขอเปิดร้านนวด ขออบรมหมอนวดนี่ต้องไม่ใช่เรื่องง่ายๆแน่ คงต้องไปขออนุญาตห้องการปกครอง ตำรวจเมือง สหพันธ์แม่ยิงเมือง วัฒนธรรมเมืองเผลอๆอาจถึงแนวโฮมเมือง ศึกษาเมือง สาธาฯเมือง ให้ได้เสียก่อน
เมืองหงสา เท่าที่สืบเสาะรวบรวมข้อมูลได้ พบว่ามีหมอนวดจับเส้นอยู่หกคนประมาณนั้น เป็นผู้อาวุโส ๓ท่าน แล้วก็มีป้าลัดดาอีกหนึ่งที่พาน้ำหนักเกินแปดสิบกิโลมานวดแบบหวาดเสียวกลัวป้าขึ้นเหยียบ มีรุ่นถัดลงมาเป็นผู้ชาย(ประเภทที่ชาวหงสาเรียกว่า..สองจังหวะ)อีกสองคน มีผู้สาวแท้ๆที่ผ่านการฝึกมาจากแขวงอีกหนึ่ง (ทั้งหมดทั้งมวลนี่ฟังคนเขาบอกมาทั้งนั้น) สนนราคาค่านวดก็ชั่วโมงละห้าสิบพันกีบ(๒๐๐บาท)
อยากจะหาอาชีพเสริมให้พี่น้อง โดยเฉพาะแม่ร้างแม่ม่ายที่ไปทำไร่ไถนาก็ลำบากไปเป็นกรรมกรก็ไม่ไหว
อยากจะเปิดโรงนวดให้เป็นกิจจะลักษณะที่ดูแลคุ้มครองเรื่องความสะอาด และเรื่องการเปิดเผยไม่ลับหูลับตาให้กองหลอนคอยมาสอดส่อง สร้างอาคารโล่งๆให้เห็นกันชัดๆ ผ้าปูสะอาดๆ มีมุมยาต้มสมุนไพร หรือขยายกิจการห้องฮมยาอบสมุนไพร ทั้งหมดนี้จะดำเนินงานโดยกลุ่มพี่น้องชาวบ้านเอง
โครงการหมอพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่นจะได้พื้นคืนชีพไม่สาบสูญถูกลืมเลือน
อย่างน้อย ในทางอ้อมชาวบ้านจะได้หันกลับมาดื่มน้ำต้มสุก (ทุกวันนี้ทุกบ้านนิยมดื่มน้ำจากโรงงานกรองน้ำ ที่ผลตรวจ ออกมาว่าทั้งหมดสามแห่งในเมืองมีเชื้อคลอริฟอร์มเกินมาตรฐาน…แต่พี่น้องเห็นว่าใส่มาในขวดเลยมั่นใจกินดื่มได้โดยไม่ต้องต้ม….คนเขียนก็กินไปกับเขาด้วยเหมือนกันแหละ)
โรงนวดสมุนไพร ที่จะเกิดขึ้น นอกจากจะช่วยบริการบรรดาพนักงานขี้เมื่อยทั้งหลาย ที่สำคัญก็คือ เป็นแหล่งสร้างรายรับให้กับผู้หญิง และคนเฒ่าคนแก่ ใครจะไปรู้ได้ว่าหากกิจการดี บรรดาพืชสมุนไพร ขมิ้น ไพล บอระเพ็ด ที่พี่น้องปลูกตามหัวไร่ปลายนายังสามารถเอามาขายให้กับที่ร้านนี่ได้อีก (ฝันไปไกล…ลุง…เอาเรื่องหมอนวดนี่ให้ได้ก่อนเหอะ)
วางแผนการฝึกอบรม และได้ประสานงานเบื้องต้นไว้ดังนี้
ขั้นตอนแรกต้องมีใบเบิกทาง เขียนแผนงานเสนอฝ่ายประสานงาน ที่เป็นผู้แทนจากท่านเจ้าแขวงฯให้ช่วยออกใบเบิกทางประสานงานไปยังบรรดาห้องการต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนการหาเสียงสนับสนุน เอาหน้าไปพบห้องการดังกล่าว เพื่อหาแนวร่วม และรับฟังแนวความคิดทิศชี้นำจากบรรดาท่าน
ขั้นตอนการหาครูฝึก งานนี้ก็ต้องรัดกุมหลายด้าน จะเอาครูข้ามชายแดนมาคงไม่ถูกใจเจ้าหน้าที่ทางฟากนี้ จะเอาผู้มีประสบการณ์ที่เคยผ่านร้านนวดจากเมืองใหญ่ตำรวจเมืองก็คงจะต้องสอบประวัติถามหาใบรับรองการ(ไม่เคย)ต้องโทษกันวุ่นวาย จึงได้พากันแอบไปใช้บริการร้านนวดที่แขวง(วานโชเฟอร์ไปนวดแทนพร้อมเขียนคำถามให้ไปแอบคุยกับพนักงาน) ดั้นด้นไปโรงอบสมุนไพรที่สวนไม้เป็นยาห้วยน้ำใส ที่ได้รับงบสนับสนุนจากธนาคารเอดีบีผ่านการท่องเที่ยวแขวงไชยะบุรี สอบถามข้อมูลได้ความว่าแผนกสาธารณสุขแขวงเคยจัดฝึกสอนให้ พอคลำทางได้แล้วค่อยโล่งใจขึ้นหน่อยอย่างน้อยหมอนวดของผมก็ผ่านการฝึกจากสาธาฯแขวงล่ะน่า
ด้วยสายพัวพันที่แนบแน่นกับคณะเชี่ยวชาญจากโรงหมอแขวงในคราวที่สร้างหอผู้ป่วยและจัดการซื้ออุปกรณ์แพทย์ให้โรงหมอเมือง พร้อมกับการผ่อนปรนกำหนดส่งรายงานผลการตรวจสุขภาพที่คณะท่านหมอกำลังจะพ้นกำหนดส่งมาให้ทางนี้ และคำรับปากกับคณะหมอว่า “จะช่วยตรวจแก้บทรายงานภาษาอังกฤษที่ท่านเคยทาบทามให้ช่วยเขียน” (ช่างกล้าแท้ลุง… ริจะแก้รายงานภาษาหมอ) ในที่สุดการประสานงานนัดหมายกับท่านดอกเตอร์ และการร่างหลักสูตรเบื้องต้นทางโทรศัพท์ก็สำเร็จในระดับหนึ่ง
หลักสูตรการฝึกอบรม มีดังนี้
วันแรก เต้าโฮมนักสัมมนากร ผ่านหลักสูตร(ชี้แจงรายละเอียดหลักสูตร) แล้วให้ทางสหพันธ์แม่ยิงเมือง กับ ปกส.เมือง(กองบัญชาการตำรวจ) มาร่ายยาวเรื่องฮีตคองกฏระเบียบข้อห้ามต่างๆของผู้ที่ประกอบอาชีพนวดแผนโบราณ ใช้เวลาสักครึ่งวันเสร็จแล้วเดินทางไปแขวงไชยะ ไปดูงานที่โรงนวดสมุนไพรของชาวบ้านห้วยน้ำใส กลางคืนค้างที่แขวงผู้ใดสนใจไปแวะชมโรงนวดแผนโบราณบ้านถิ่นก็จะพาไป
วันที่สอง เข้าห้องเรียนเรื่องเส้นเอ็นกระดูกกายวิภาคต่างๆ สอนโดยคณะเชี่ยวชาญจากแผนกกายภาพบำบัดโรงหมอแขวง เย็นๆเดินทางกลับ พร้อมพาคณะครูสอนนวดภาคปฏิบัติที่ทางสาธาฯแขวงแต่งตั้งมาเมืองหงสาพร้อมกันด้วย
วันที่สาม พักผ่อน ร่วมกันจัดห้องเรียน - สอน ที่โรงเรียนบ้านหาน(เด็กๆปิดเทอมไปดำนาพอดี ขอยืมใช้หน่อย)
วันที่สี่เป็นต้นไป สวนนวดกันจนนวดเป็น คุยกันไว้ว่าน่าจะสักสิบมื้อ
ขั้นตอนการคัดเลือกผู้เรียน คนทั้งเมืองรับได้แค่ยี่สิบสามสิบคนคัดเลือกลำบากเหมือนกัน คิดไว้ในใจอย่างนี้
มอบให้อำนาจการปกครองบ้าน(คณะกรรมการหมู่บ้าน)คัดเลือกจากคนที่มีคุณสมบัติดังนี้คือ อายุซาวห้าปีขึ้นไป มีใบรับรองประวัติไม่ด่างพร้อย มีสุขภาพแข็งแรงไม่เป็นโรคที่น่ารังเกียจ มีใบยินยอมจากผู้ปกครองหรือคู่สมรส คนที่มาจากครอบครัวทุกข์ยาก ครอบครัวแม่ร้างแม่ม่าย ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
ขั้นตอนการเปิดร้านนวด ไม่อยากคิดถึงความยากในกระบวนการขออนุญาต น่าจะยกให้คณะบ้านออกหน้า เราสนับสนุนเรื่องการจัดสถานที่ อุปกรณ์ ผ้าเสื่อ ผ้าปู หมอน จะดีกว่า ที่สำคัญคือกระบวนการตั้งกลุ่ม และการเป็นพี่เลี้ยงในการจัดการบริหารแบ่งปันผลตอบแทนให้กับคนที่มาทำงาน
เคียงคู่ไปกับการเตรียมเรื่องนวด จะต้องตระเตรียมเรื่องโรงอบสมุนไพร และหมอยาหม้อยารากไม้ ซึ่งต้องมีกระบวนการกลุ่ม การสังลวมองค์ความรู้ การเตรียมสถานที่ เตรียมห้องอบแยกชายหญิง พัฒนาสูตรสมุนไพร พากันไปดูงาน เยอะแยะจิปาถะน่าสนุกจริงๆนะ
นี่เป็นสองกิจกรรมในศูนย์ธุรกิจชุมชนบ้านหานที่วาดฝันไว้ ยังไม่นับเรื่องตลาดชุมชน ชวนพี่น้องตั้งกลุ่มการผลิตปลูกผักปลอดสาร เพาะเห็ด เลี้ยงปลาเลี้ยงกบเลี้ยงจิ้งหรีดมาขายที่ตลาด ตั้งร้านค้าชุมชน ร้านอาหารของกลุ่มแม่บ้าน ร้านขายเครื่องหัตถกรรม ตั้งกลุ่มอาชีพให้แม่ยิงเกี่ยวกับหัตถกรรมตำแผ่น ปรุงแต่งอาหาร ร้านซ่อมรถถีบรถเครื่อง ร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม ร้านโหลดเพลงลงมือถือ ร้านซักรีด ศูนย์เดย์แคร์ เอาไว้จะมาฝอยมาขายฝันในโอกาสอันควร
ปล. เป็นบทบันทึกที่คิดเป็นตัวหนังสือไว้ประกอบการเขียนแผนกิจกรรมของตัวเอง
ภาพประกอบเมื่อคราวจัดอบรมนวดแผนโบราณและหมอพื้นบ้านที่กกตูม ดงหลวง
« « Prev : คอบ
1 ความคิดเห็น
ทำไปปรับไปน่ะดีแล้วครับ ไม่มีอะไรสมบูรณ์ที่สุด