วิพุทธิยาจารย์อาสา จุฬาฯน่าน สิ่งที่ได้พูด ความหมายที่อยากบอก
ที่ประชุมกลางดึกในห้องหัวหน้าคณะ”พ่อครู” ได้รับมอบหมายให้ลุงเปลี่ยนอยู่ในกลุ่มครูห้อง ๒ “บริบทการพัฒนาการเกษตร การพัฒนาชุมชน ในชนบทภาคเหนือ และ ประเทศเพื่อนบ้าน” หัวขบวนตั้งธงมาให้อย่างนี้ ทราบแล้วก็ไม่ได้วิตกว่าจะเอาอะไรไปเล่า แต่แอบกังวลว่าจะเล่าอย่างไรให้น่าสนใจ จะสื่ออย่างไรดี เรียกร้องหาผู้กำกับเวทีด่วน โชคดีที่ได้ครูใหญ่ผู้มากประสบการณ์มากำกับ และได้พี่หมอเจ๊ กับครูอาราม มาช่วยเติมเต็ม ดูไปแล้วทีมเราก็ครบเครื่องทีเดียว ครูใหญ่เรียกประชุมกลุ่มย่อยเตี๊ยมทางหนีทีไล่อีกนิดหน่อย เป็นอันหมดกังวล
ภาคเช้าหลังจากพ่อครูเปิดประเด็น ครูป้อมชวนนิสิตผ่อนคลาย แล้วแบ่งกลุ่มนิสิตออกเป็นสามกลุ่ม ทีมครูกลุ่มสองเตรียมพร้อม อ้าว..ทีมครูกล่มสามของหมอป่วนประสงค์ดีไปจองลานโล่งๆเสียแล้ว ทีมลุงอยู่ห้องสองเพิ่นว่า ดีเหมือนกันห้องสองมีอุปกรณ์สื่อสารครบจะได้ฉายรูปประกอบ ว่าแล้วก็ติดตั้งอุปกรณ์…
ชุดแรก…นิสิตมารอแล้ว เอ้าหนูๆจัดห้อง เอาโต๊ะออก นั่งแบบห้องเรียนไม่เข้าท่าจัดเก้าอี้เป็นวงกลมดีกว่าจะได้เห็นหน้ากัน ระหว่างนั้นลุงก็พยายามหาบันทึกในลานฯที่แต่งโคลงร่ายกาพย์กลอนชมวัดในเมืองน่านไว้ กะว่าจะนำเข้าสู่บทเรียนด้วยคำเหล่านั้น แต่จนแล้วจนรอดด้วยความหลงๆลืมๆหาไม่เจอ จนครูใหญ่สแกนนิสิตเสร็จเริ่มโยนไมค์มา พี่หมอเจ๊ลุกมาช่วยหาบันทึกแทน ลุงเปลี่ยนนี่ติดอยู่อย่าง ถ้าวางขั้นตอนไว้หากติดอยู่ขั้นที่หนึ่งก็จะไปขั้นสองสามสี่ไม่ได้ เขียนรายงานก็เช่นกันหากไม่จบบทสองก็ไปต่อบทอื่นไม่ได้ แต่เมื่อผู้กำกับรายการโยนไมค์มา ก็จำต้องงัดเอาเรื่องที่ตั้งใจจะพูดมาจากบ้านชิงเอามาขายไอเดียเสียก่อน นั่นคือเรื่อง ระบบนิเวศน์วัฒนธรรมเกษตร โดยยกตัวอย่างเล่าถึงประสบการณ์กับพี่น้องโส้ที่ดงหลวง อยากให้น้องๆนิสิตที่จะกลับไปทำงานด้านพัฒนาชุมชนเกษตรกรรม คำนึงถึงสองคำหลักคือ ระบบนิเวศน์ของพื้นที่ที่จะไปอยู่ และคำหลักที่สองคือ วัฒนธรรมของพี่น้องที่จะไปพัฒนา แถมท้ายด้วยการโฆษณาบล็อคให้ไปติดตามรายละเอียดเพิ่ม
นิสิตชุดแรก ย้ายกลุ่มออกไป ทีมครูรวมหัวสรุปบทเรียน แล้วก็ต้อนรับนิสิตกลุ่มที่ ๒ ครูใหญ่สแกนกลุ่มด้วยการยื่นไมค์ให้น้องๆพูดถึงความคาดหวัง เรื่องที่อยากรู้ หรือเล่าที่ไปที่มาของตัวเอง แล้วอวยไมค์ ลุงเปลี่ยนจับคำว่า “ยางพารา” และ ระบบเกษตรแบบการค้า มาขยายความ ได้เล่าถึง เรื่องราวของยางพาราตั้งแต่แรกเริ่มเข้ามาที่ภาคใต้ แล้วขยายมาภาคอีสานภาคเหนือได้อย่างไร และต่อด้วยเรื่องของการสัมปทานปลูกยางในประเทศเพื่อนบ้าน จบด้วย ผลกระทบของการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องแผ้วถางป่าจนเลี่ยนเตียนโล่ง ปีนี้พี่น้องเมืองภูวง จะอดข้าวด้วยเหตุการณ์ถางป่าปลูกยางฯ ทำให้กองทัพตั๊กแตนกัดกินข้าวไร่จนผลผลิตหายไปกว่าครึ่ง และในที่สุดบันทึกชมวัดเมืองน่านก็หาเจอ เลยได้อ่านบทกลอนชมวัดให้นิสิตฟังหนึ่งบท ก่อนที่จะโยกย้ายฐาน
นิสิตชุดที่สาม เข้ามา ลุงเปลี่ยนอาสานำเข้าสู่การสนทนาด้วยบทกวีชมวัดในเมืองน่านอีกสามสี่วัด ที่แต่งไว้เป็น ค่าวฮ่ำ ร่ายโบราณ โคลงสี่สุภาพ ตั้งใจจะแสดงให้นิสิตที่มาจากต่างถิ่น หรือนิสิตเมืองน่านเอง ให้รู้จักการ “เข้าถึง”ท้องถิ่น และให้รู้จักการมองอย่างพินิจ มองให้เห็นรายละเอียด ไม่ใช่ไปวัดกราบพระสามทีแล้วก็ได้แค่นั้น (แต่ลืมสรุป ฮ่า ฮ่า ดีที่ ท่านรอง ผอ. อาจารย์ไก่ ช่วยสรุปให้ว่า เป็นการทำงานด้วยสมองสองซีก …) ถึงรอบส่งไมค์จากครูใหญ่ ลุงเปลี่ยนจับประเด็นที่นิสิตหลายคนเล่าว่าอยากกลับคืนถิ่นไปช่วยเหลือเกษตรกร แต่ยังไม่รู้จะเริ่มตรงไหน จึงได้หยิบยกเรื่องราวของ ท่านลาวมาลี ที่ยกให้เป็นบิดาของยางพาราในเมืองลาว ตั้งใจให้น้องๆศึกษารูปแบบวิธีการ (แต่ไม่ได้ให้ดูเรื่องยางพาราที่ส่งเสริม) และรอบสุดท้ายได้เล่าถึงเรื่องที่ประเทศเมืองหนาวเขาทำท่อน้ำร้อนไปอุ่นดินเพื่อปลูกมันฝรั่ง อยากให้เห็นว่าต่างชาติเขาเห็นความสำคัญของการเกษตร
ขอบคุณโอกาสที่ได้พูด ขอบคุณนิสิตที่ตั้งใจฟัง ขอบคุณผู้กำกับรายการที่ปฏิบัติหน้าที่ได้เยี่ยมยอด และขอบคุณผู้ร่วมทีมครูกลุ่ม๒ ที่เติมเต็มเรื่องราวให้สมบูรณ์…พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ คริ คริ
« « Prev : ไปเที่ยวงานที่ลาวใต้ (๒) ปากเซ เซกอง อัตตะปือ สายัญตะวันรอน
Next : ไปเที่ยวงานที่ลาวใต้ (๓) ตามรอยพระเจ้าไชยเชษฐามหาราชแห่งล้านช้าง หลานตาของพระเจ้าเชียงใหม่ » »
1 ความคิดเห็น
อ่านแล้ว 3 รอบ คักทั้ง3รอบ จะมีต่ออีกบ่อ้าย