ไปเที่ยวงานที่ลาวใต้ (๓) ตามรอยพระเจ้าไชยเชษฐามหาราชแห่งล้านช้าง หลานตาของพระเจ้าเชียงใหม่
จากฝั่งเมืองที่ตั้งแขวงอัตปือ ข้ามลำเซกองไปอีกฟากหนึ่ง เป็นเมืองไชยเชษฐา ตั้งชื่อเมืองตามพระนามของมหาราชพระองค์ที่ ๒ ของล้านช้าง พงศาวดารล้านช้างได้บันทึกถึงเรื่องราวของพระองค์ไว้ว่า “ส่วนพระไชยเชษฐาธิราชเจ้าแต่ได้เสวยศิริสมบัติทั้งมวญนานประมาณได้ ๒๔ วรรษาถ้าจักกล่าวแต่ชาติมา อายุทั้งมวญได้ ๓๙ ปี ก็ไปกระทำยุทธกรรมสงครามในเมืองรามรักองการ กาลวิปริตผิดกองเลยถึงแก่พระองค์ก็หลงเสียในเมืององการนั้น ในปีระวายเม็ดเดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ ศักราชได้ ๙๓๓ ตัวนั้นแล”
พระองค์ทรงย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้างมาอยู่ที่เวียงจันทน์
คือพระองค์ที่ในประวัติศาสตร์อยุทธยาบันทึกไว้ว่า ทรงขอพระเทพกษัตรีย์พระธิดาในสมเด็จพระศรีสุริโยทัยไปเป็นมเหสี แต่ทางกรุงไทยส่งพระแก้วฟ้าธิดาในพระสนมไปแทน แล้วพระองค์ทรงส่งคืน
คือพระองค์ที่ทรงเป็นหลานตาของพระเจ้าเชียงใหม่ที่เคยรับเชิญมาครองเมืองต่อจากพระเจ้าตา(พระเมืองเกษฯ) ก่อนที่จะเสด็จคืนไปครองล้านช้างต่อจากพระบิดา และเป็นหลานยายของพระนางจิรประภามหาเทวีกษัตรีล้านนา (ที่คุณต่ายเพ็ญพักตร์ รับบทในหนังเรื่องสมเด็จพระสุริโยทัยได้อย่างอร่ามตา)
ในบั้นปลายรัชกาล พงศาวดารฉบับหลวงบันทึกไว้ว่า พระเจ้าไชยเชษฐาทรงหายสาบสูญไปในคราวราชการทัพเมืององการตามที่ได้แสดงไว้ข้างบน
แต่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กลับมีเรื่องราวที่ต่างออกไป ชาวประชาในเมืององการซึ่งปัจจุบันคือเมืองไชยเชษฐา เชื่อว่าพระองค์ทรง”ถูกปลงพระชนม์” และพระศพได้ถูกฝังไว้ ต่อมาพระโอรสชื่อ พระไชย ซึ่งเกิดจากนางสามผิวมเหสีชาวเมืององการ ได้มาขุดเอาพระอัฐิมาก่อเจดีย์ศิลาแลงเล็กๆไว้ พระไชยได้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่เตรียมอัญเชิญพระอัฐิพระบิดาขึ้นบรรจุ แต่พระไชยก็มาประสบชะตากรรมสิ้นพระชนม์ลงอีก เจดีย์ที่สร้างไว้จึงได้บรรจุอัฐิของพระโอรส แทนพระบิดา
วัดพระธาตุไชยเชษฐา ปัจจุบันมีเจดีย์สององค์นี้อยู่ และยังมีอีกสองเจดีย์ องค์หนึ่งบรรจุอัฐิของพระครูผู้สร้างวัด และอีกองค์หนึ่งเป็นเจดีย์หลักเมือง คุณลุงผู้เฝ้าวัด นำบรรยาย เล่าประวัติศาสตร์ฉบับท้องถิ่นอธิบายไว้อย่างนี้ครับ
ถัดไปอีกสามร้อยเมตรมีวัดเก่าอีกหนึ่งวัด ชื่อ วัดหลวงเก่าเมืองไชยเชษฐา ที่ป้ายไม้เขียนไว้ว่า สร้างโดยพระองค์เมื่อปีพุทธศักราช สองพันหนึ่งร้อยยี่สิบกว่าๆ พระอุโบสถหลังเก่าทรุดโทรมไปตามกาล แต่ยังมีร่องรอยของความงดงามอลังการ (นักวิชาการไทยจากมูลนิธิท่านอาจารย์องุ่นเคยเขียนไว้ว่าวัดเก่าทั้งสองแห่งมีร่องรอยศิลปะล้านช้างแกมล้านนา….)
ถ้าประมวลความตามเรื่องราว นักประวัติศาสตร์ลูกทุ่งสมัครเล่นอย่างข้ากระผม ก็เชื่อว่าพระเจ้าไชยเชษฐิราชเจ้าทรง “เคลื่อนไหว”อยู่ที่เมืองนี้ระยะหนึ่งจริงๆ ในช่วงนั้นมีความยุ่งยากในราชสำนักล้านช้างแตกเป็นหมู่เป็นเหล่า พงศาวดารจึงบันทึกข้ามไป ซึ่งถัดจากที่ปันทึกว่าพระองค์สาบสูญไปไม่นานพงศาสดารก็เขียนไว้ว่า มีชายชาวเมืองนี้อ้างตนเป็นพระองค์ยกทัพไปยึดกรุงเวียงจันทน์ได้ ดังนี้ “เมื่อศักราชได้ ๙๔๑ ตัวปีกัดเม้านั้น ยังมีคนอุบาทว์ผู้หนึ่งฉลาดด้วยสาตรศิลป์สำแดงตนว่า แม้นพระไชยเชษฐาธิราชเจ้าล้านช้างอันไปหลงเสียที่องการนั้น มันก็ปดประโลมเอาข่าส่วยทั้งหลาย …..แล้วก็ไปตั้งรั้วยกเวียงโรงศาล อยู่ในทุ่งแอกกระบือ ความไทยเราว่าทุ่งคี่ควาย มูลควาย ……แล้วก็ยกรี้พลไปรบพุ่งรี้พลพระเจ้า เวียงจันนี้แล ครั้งนั้นพระมหาอุปราชเจ้า จึ่งให้…… ขับเอารี้พลไปรบเขาที่นั้น ชาวแอกกระบือเขาก็เอารี้พล มารบท้าวพระยาฝ่ายเหนือนี้ เลยชนะกระจัดกระจายหนีมาคราวนั้น เขาเลยไล่เข้ามาถึงเมืองนครนั้นแล้ว ……ก็เลยแตกฟุ้งเสียเมืองเวียงจันปีนั้นแล……”(ที่มา พงศาวดารล้านช้าง)
ได้น้อมคารวะพระองค์ท่านด้วยความเคารพ ในฐานะข้าไทสายเลือดล้านนาคนหนึ่ง
พระเจ้าไชยเชษฐามหาราช ทรงเป็นสะพานเชื่อมสองฝั่งโขงมาช้านาน ดังเช่น พระธาตุศรีสองรักที่พระองค์ทรงสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความร่วมมือไท-ลาว พระองค์ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์ พระธาตุพนม และอีกหลายๆศาสนสถานทั่วสองฝั่งโขง
หากผู้เกี่ยวข้องคิดเป็นเล่นเป็น หยิบยกเอาประเด็นเป็น อยากให้นำเรื่องราวของพระองค์ท่านมาเป็นสะพานใจเชื่อมสองฝั่งโขง จะได้ผลดีกว่าสร้างสะพานคอนกรีตหลายเท่านัก
(แทนที่จะกำหนดเพดานประวัติศาสตร์ไทย-ลาวไว้ที่ช่วงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ให้หมองน้ำใจไทย-ลาวกันดังเช่นทุกวันนี้….เสนอถึงลุงเอก สสสส.ครับผม)
« « Prev : วิพุทธิยาจารย์อาสา จุฬาฯน่าน สิ่งที่ได้พูด ความหมายที่อยากบอก
Next : เที่ยวในงานแขวงเวียงจันทน์ ๑ ขึ้นเขาข้ามห้วยฝ่าดงทากพิชิตเมืองหลงเก่า » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ไปเที่ยวงานที่ลาวใต้ (๓) ตามรอยพระเจ้าไชยเชษฐามหาราชแห่งล้านช้าง หลานตาของพระเจ้าเชียงใหม่"