ภาษาถิ่น

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 2 มกราคม 2012 เวลา 1:38 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1361

เนื้อเพลง หนุ่มขอนแจ่น
ศิลปิน พี สะเดิด

เป็นหนุ่มแจ่นขอน ขะหยอนเว้าไทย บ่ แฉ็ง
กกลิ้น บ่ ค่อยมีแฮง พอเว้าไทยแฉ่งกับหนุ่มเมืองไกล
พ้อหน้าผู้สาว อ้ายแคดแลดลาวจนเป็นนิสัย
เหลือโตนชาติอ้ายแหน่สาวไทย ผู้แก้มแดงใสคือบักเฉียเชีย

คึดพ้อหน้าครู ผู้สอนตอนเฮียนประถม
จับอ้ายออกไปอบรม ยืนหน้าซั่นหันลิ้นรอเรีย
จนฮอดมื้อนี้ อ้ายยังท่อง บ่ ได้จักเที่ย
เห็นสาวไทยอ้ายใจละเหี่ย สิได้เมียกับเขา บ่ น้อ

หลงฮักเจ้าหลาย ฝึกเว้าไทยจนเจ็บโผ่งแก้ม
หางตาเจ้ากะ บ่ แนม ตะแหล่มแต่มแตมสาว กทม.

บันทึกเปิดศักราช ๒๕๕๕ สอง ฮ่า ๆๆ ด้วยเพลงหนุ่มขอนแจ่นของพี สะเดิด

ต้อนรับปี พูดภาษาอังกฤษ ของ ศอ ธอ ท่านด้วย

โดยส่วนตัวผมไม่มีความเห็น ไม่สนับสนุน ไม่เห็นแย้ง ก็แล้วแต่ว่าท่านใดจะมองมุมไหน จะว่าภาษาสากลไม่สำคัญก็ไม่ถูก นึกถึงตอนที่ต้องนั่งตรวจรายงาน นั่งเขียน นั่งแก้งานที่น้องๆส่งมาแล้วก็อดที่จะอิจฉาคนรุ่นใหม่ไม่ได้ อีกหน่อยคงไม่ต้องมีการตรวจการแก้กันอีก เพราะคนไทยจะเก่งภาษากันหมดแล้ว ถึงตอนนั้นคนเรียนภาษาอังกฤษโรงเรียนภาคค่ำอย่างผมคงสบายขึ้นเยอะ

แต่มองอีกทางหนึ่ง ชักจะเห็นดีกับฝ่ายที่คัดค้าน ไม่ใช่อะไรหรอก ลองฟังเพลงหนุ่มขอนแจ่นข้างบนนี่สิครับ สะท้อนได้ว่าการใช้ภาษาไทยกลางในโรงเรียนนั้นเริ่มมาตั้งแต่เมื่อไหร่แล้ว จนบัดนี้คนเมืองก็ยังพูดภาษาไทยกลาง “ปะแลดคำเมือง” หรือมีสำเนียงข้าวนึ่ง(ไม่อยากยกตัวอย่าง…..ออกทีวีที่นักข่าวรุมเอาไมค์จ่อปากทุกวันๆนั่นก็คนหนึ่ง) (แต่ผมว่า…เน้นที่สาระที่ท่านท่องมาดีกว่าเนาะ จะสำเนียงไหนก็ช่างเหอะ) คนอีสานก็”แพดแลด”ความเว้าอีสานอย่างที่เพลงเขาว่า ส่วนคนทางด้ามขวานทองก็สำเนียงปนทองแดง อย่างนี้เป็นต้น

ต่อไปคนไทยก็จะพูดอังกฤษสำเนียง คนเมือง คนอีสาน คนใต้ กันบ้างละ

ทุกวันนี้ผมอยู่เมืองลาว ฟังภาษาลาวมากกว่าคำไทย พอมาอยู่ที่นี่ได้สองสามปี สามารถแยกสำเนียงภาษาเว้าของพี่น้องลาวได้ พบคนลาวส่วนใหญ่ใช้ภาษาถิ่นของตัวเองกัน มีส่วนน้อยมากที่พูดสำเนียงเวียงจันทน์ แม้กระทั่งในทีวี ข่าววิทยุ ในมหาวิทยาลัย หรือการอภิปรายในรัฐสภา เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นดี อยากเห็นละครทีวีเอาอย่างบ้างจัง

อยากให้คนไทยเอาอย่างบ้างจัง

ผมจะได้ไม่ต้องฝึกเว้าไทยจนเจ็บโพงแก้ม

 

 

 


หงสา ณ เดือนพะจิก

4 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2011 เวลา 2:52 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1364

เดือนพะจิกลาวกำลังใกล้ผ่านพ้น หงสาเปิดประตูบ้านรับความหนาวอย่างฉ่ำปอด ปีนี้หนาวมาแรงหมอกมาเยอะ แต่พอสายๆฟ้าเปิดแดดอาบเมืองอากาศก็อุ่นสบาย

มีหลายเรื่องราวเกิดขึ้นในเมืองหงสาในช่วงเวลานาทีของเดือนพะจิก

ชาวนาเกี่ยวข้าวนาปีในท้องทุ่ง ปีนี้มีเครื่องนวดข้าวมาปรากฏหลายเจ้า เพื่อให้สอดรับกับวันเวลาอันรีบเร่ง ที่ขาดแคลนแรงงาน (ก็หันไปทำงานก่อสร้างโครงการยักษ์กันหมด)….หมายถึงว่าวัฒนธรรมลงแขกลานข้าวก็คงจะจางหาย

ข้าวนาดอที่เก็บเกี่ยวไปก่อนหน้านี้ พี่น้องปลูกกระเทียมกันหมดแล้ว พร้อมๆกันก็หว่านเมล็ดผักกาดตีนหมี ผักกาดจ้อน ลงไปด้วย ที่ตลาดเริ่มมีผักสดๆมาขายหนาตา

ปีนี้ฝนมาก ข้าวนาลุ่มเป็นบั่วผลผลิตลดลงแทบทุกเจ้านา

กิจกรรมของโครงการฯ เดินหน้าอย่างเต็มฝีจักรหลังจากที่ต้องหยุดชะงักงันไปอย่างยาวนานกับสายฝน

กลางเดือนท่านรองประธานประเทศมาวางศิลาฤกษ์โรงงาน คณะนำ คณะติดตาม ทีมงานรปภ. มากันเพียบ ที่พักในเมืองเต็มจนล้น เห็นว่าจ้างนักจัดงาน ออร์แกนไนเซ่อ มาแต่เมืองหลวง งานหรูดอกไม้งามของกินอร่อยของฝากประทับใจ หมดไปหลายล้านบาท ว่ากันอย่างนั้น (แต่ลุงเปลี่ยนไม่ได้ไปชมกับเขา…..มีแต่แอบไปช่วยน้องๆปลูกผักชีในพื้นที่รับผิดชอบ)

ระหว่างที่เขายุ่งกับงานยักษ์ใหญ่ ลุงเปลี่ยนก็ถือโอกาสเตรียมงานเชิญผู้ใหญ่ท่านมอบอาคารโรงหมอให้ทางเมือง ทำง่ายๆ เสร็จจากงานวางศิลาฤกษ์ก็ไปจิ๊กเอาช่อดอกไม้ประดับงานเขามาสองสามช่อ แอบหยิบโบว์ริปบิ้นดอกไม้ที่ทำเองไม่เป็นมาขวางประตูห้องฉุกเฉิน เชิญประธานมากล่าวมอบ เชิญท่านสาธาฯแขวงกล่าวรับ ตัดริปบิ้น เดินชมตึกชมเครื่องมือ เป็นอันเสร็จพิธี แล้วเลี้ยงกาแฟ ข้าวหลาม ข้าวเหนียวหน้าสังขยา สิบโมงเสร็จพิธีมอบ อาคารฉุกเฉิน ตึกนอนคนเจ็บ เครืองไม้เครื่องมือ มูลค่ารวมกว่าสองตื้อกีบ

มีข้อผิดพลาดนิดเดียวแต่หน้าหงายไปเหมือนกัน เชิญแขกมาร่วมงานเก้าโมง แต่ผู้กำกับรายการคือข้าพเจ้าเอง เห็นประธานทั้งสองฝ่ายมาพร้อมหน้าพร้อมตา เลยไปบอกพิธีกรเริ่มงานก่อนโดยไม่ได้ดูนาฬิกา ต้องไปรับแขกที่มาตามเวลาพาเข้ามานั่งในเต้นท์เกรงท่านๆจะไม่มั่นใจ พร้อมขอโทษขอโพย

งานกวดสุขภาพพี่น้องสองพันสี่ร้อยห้าสิบคนกำลังจะเริ่ม ต้องรีบกวดก่อนหนาวมา ไม่งั้นโรคทางเดินหายใจรับรองมีอัตราสูงปริ๊ดแน่ๆ เหมาค่าใช้จ่ายให้แผนกสาธาฯแขวงไปแล้วหนึ่งพันสองร้อยล้านกีบ เมื่อวันที่ ๒๑ พะจิกที่ฝ่านมา เป็นวัน “สักยากันพะยาดแห่งชาด” ทำการหยอดวัคซีนกันโปลิโอในเด็กเล็ก ฉีดวัคซีนกันหมากแดง(หัด?รึเปล่า)ในเด็กโต กันทั่วบ้านทั่วเมือง การป้องกันโรคใน สปป ลาว ปัจจุบันค่อนข้างทั่วถึง บรรดาผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนก็ได้ฉีดวัคซีนกันบาดทะยัก

วันก่อนมีคนเติมลมยางรถต็อกๆอีแต๋น ที่จะเอาไปขนทราย เติมมากเกินไปยางระเบิดกะทะล้อรถไปโดยคนได้รับบาดเจ็บสองราย หนึ่งในนั้นต้องส่งเข้าไปรักษาที่น่าน

ผู้คนจากหลายทิศ หลายเมืองเข้ามาทำงานในหงสา คนขับรถ ช่างปูน ช่างเครื่อง บ้านหลังงามๆถูกคนต่างถิ่นเช่าไปหมด โรงแรมเต็มตลอดต้องเอาเงินวางล่วงหน้า เย็นวานเดินช่วยฝรั่งซำเหมาหาห้องพักรอบเมืองกว่าจะได้ที่นอน  ตลาดของกินไม่พอเพียง หมู ไก่ ผัก ปลา และไข่ต้องเอามาจากต่างเมือง ร้านอาหารผุดขึ้นหลายบ่อน มีร้านปิ้งแบ้ ร้านอบหมา ร้านอาหารจีน”เซซวน”

หลังจากที่อ้ายน้องทีมงานไปนอนค้างอ้างแรมในป่าเพื่อจัดสรรที่ดินทำกิน เมื่อวานพาพี่น้องไปดูที่ทำกินแห่งใหม่ แอบลุ้น แอบดูสีหน้าท่าทางพี่น้องว่าจะคิดเห็นอย่างไร ปรากฏว่าสอบผ่าน พี่น้องไม่บ่น ไม่ว่าแม้จะเห็นเป็นเพียงป่าหญ้าคาหญ้าสาบเสือสุดสายตา …..งานต่อไปคือ การจับเอาแต่ละครอบครัวลงแปลงที่ดิน คงต้องให้พี่น้องมีส่วนร่วมให้มากๆ

การจัดสรรที่ดินนี่ก็เป็นอีกประเด็นให้ได้คิดว่า จะจัดสรรเป็นรายหมู่บ้านแบบเบ่งเป็นโซนๆ เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารคุ้มครอง แต่ทางแขวงมีแนวคิดว่าน่าจะคละกันไปไม่ต้องแบ่งตามหมู่บ้าน ตามเผ่าพันธุ์ ท่านว่าคนเผ่าที่ขยันมากจะได้ไปช่วยกระตุ้นชาวเผ่าที่ “มีความพอเพียงสูง” ท่านว่าอย่างนั้น แต่ท่านก็ไม่ฟันธง ท่านให้เรียกประชุมถามความเห็นจากอำนาจการปกครองบ้านก็คือกรรมการหมู่บ้าน (ใครว่า สปป ลาวไม่ฟังเสียงประชาชน…ข้อนี้ขอเถียง ขอยืนยัน…ว่าท่านฟังเสียงประชาชน บ่เหมือนชาวเมืองกอกดอกเด้อที่เขากั้นบิ๊กแบคหน้าบ้านแท้ๆกะบ่อบอกเจ้าของเฮือน) แล้วพี่น้องก็เลือกแบบแรกที่แบ่งเป็นโซนตามหมู่บ้าน

งานต่อไปก็คือทำอย่างไรจะซุกยู้ผลักดันให้พื้นที่ทำกิน เป็นแหล่งทำมาหากินกุ้มปากกุ้มท้องน้องพี่ประชาชีได้อย่างยั่งยืนนี่แหละครับ


หูหนักกินฟาน คือพวกหน้ามึน

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 26 ตุลาคม 2011 เวลา 12:17 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2082

ดำเนินตามท้องเรื่อง ยังมีเมืองหนึ่งอันไกลโพ้นในหุบเขา มีบ้านเรือน มีแม่น้ำ มีท้องทุ่ง มีขุนเขา และมีชาวประชา อันว่าชาวประชาของพาราแห่งนี้ก็เหมือนกันกับชาวเมืองอื่นๆ ที่มีทั้งคนดี และคนเกือบดี มีทั้งคนขยัน และเกือบขยัน มีคนที่ทำเพื่อส่วนรวมและคนที่ทำเพื่อปากท้อง(ของตนเอง) ก็คนนี่ครับ มีดีมีเกือบดีปะปน”คน”คละกันไป

ชาวเมืองแห่งนี้หาอยู่หากินกันอย่างสบายปาก อิ่มอุ่นด้วยทรัพย์ในดินสินในน้ำ ด้วยที่ว่าพวกเขาไม่ได้ทำลายป่าไม้ ไม่ได้บุกรุกแม่น้ำลำธาร ไม่ได้ทำร้ายแม่ธรณี พวกชาวประชาท่านกินแต่พออิ่ม ท่านอยู่กันอย่างพอเพียง หน้าฝนก็ทำไร่ไถนา หน้าแล้งก็ซ่อมแซมบ้านช่อง เข้าป่าลงท่าหาเก็บผักหักหน่อไม้ หาปูหาปลามาเพียงแต่พอหม้อแกง ได้มาหลายก็แบ่งปันญาติมิตรบ้านใกล้เรือนเคียง การรวมกลุ่มชักชวนกันเข้าป่าไปไล่ราวเอาตัวเก้งตัวฟานมากินก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่บรรดาชายหนุ่มมักจะชวนกันไป ถือเป็นการพักผ่อนเปลี่ยนบรรยากาศหลังผ่านฤดูเวียกงานหนักในไร่นา พวกเขาไม่ได้เอาปืนผาหน้าไม้ไปไล่ล่า พวกเขาพากันไปเป็นหมู่เป็นพวก กางตาหน่างกั้นทางด่านไว้แล้วก็เดินอ้อมโห่ไล่เอาตัวฟาน ที่เจ้าป่าท่านปันแบ่งให้มากินพอแซบพอม่วนเพียงตัวสองตัวเท่านั้น

แต่มีกะทาชายนายหนึ่ง สมมุตินามกรว่า บักสี ชาวบ้านคุ้มหลังวัด บักสีผู้นี้เป็นคนร่างงามหน้าใสด้วยเหตุที่ไม่ชอบออกแรงงานในไร่ในนาสักเท่าไหร่ ทั้งๆที่ตีนมือก็ครบถ้วนเหมือนคนอื่นๆ บักสีขี้โม้ เที่ยวแวะบ้านโน้นออกบ้านนี้เจ๊าะแจ๊ะขายฝัน หยอกผู้เฒ่า จีบผู้สาว โวข่มเด็กน้อยไปวันๆ

เช้ามืดวันนี้ มื้อจั๋นวันดีมื้อป่าเปิด หนุ่มๆชวนกันไปไล่ราวอีกครั้ง อ้ายแก้ว อ้ายคำ นำขบวน ไอ่หน้อย ไอ่สิน ไอ่มา ไอ่มีกับหมู่พวกอีกเกือบซาวคนพร้อมหน้าพร้อมตาตามนัดหมาย เหมือนเช่นเคยที่ไม่เห็นหัวไอ่สีขี้โม้

ตะวันบ่ายคล้อยพวกนายพรานกลับจากราวป่า หามฟานหนุ่มมาตัวหนึ่ง กับหมูป่าขนาดสิบสองกำอีกตัวหนึ่ง พวกเขาตกลงยกหมูป่าให้ไอ่มี มันจะกินดองกับอี่นางจันอ่อนมื้ออื่น ส่วนตัวฟานก็จัดการชำแหละแบ่งปันไปเรือนไผเรือนมัน บ้างก็เอาไปปันพ่อแม่ลุงตา พวกเขาแบ่งเนื้อขาหลังไว้ข้างหนึ่งเป็นของหน้าหมู่ เอามาลาบกินคาบแลงนำกัน เสียงฟักลาบ เสียงซุมแซว ม่วนงันยามแลงนี้อุนอัวหัวม่วน

แล้วก็ยกสำรับกับข้าวมานั่งกินกัน ลาบฟานขม ต้มเครื่องในใส่ผักแปม ผักกับลาบเพี้ยฟาน หูเสือ หอมด่วน ผักไผ่ ใบมะกอก ยอดมะตูม ฯลฯ ในวงข้าวแลงนอกจากเหล่านายพรานสมัครเล่นที่ไปออกแรงออกเหงื่อช่วยกันแล้ว มีไอ่สีหน้าหล่อมานั่งวงในใกล้ถ้วยลาบกว่าหมู่ กินหลายกว่าหมู่ พุ้ยข้าวเหนียวกับลาบฟานคำใหญ่กว่าเพื่อน ซดต่อนเครื่องในต้มถี่กว่าหมู่ วันนี้ไม่ได้ยินเสียงปากไอ่สีขี้โม้เหมือนวันอื่นๆ มันเก็บปากเก็บคำ มันใช้ปากในการกินอย่างเดียว คนในวงข้าวคุยกันเรื่องราวการไปไล่เหล่าเมื่อกลางวัน เรื่องเสียงเสือ เรื่องรอยเท้าช้าง รอยเล็บหมีที่ต้นมะแก๋วน เรื่องเสียงผีก็องก็อยย่ำน้ำขึ้นห้วยจ๋อมๆ แต่ไอ่สีขี้คุยก็ยังสงบปากสงบเสียงนั่งเคี้ยวลาบฟานตุ้ยๆ

เขาคุยกันเรื่องบทบาทหน้าที่เวียกงานของแต่ละคนในการไปล่าฟานวันนี้ (นั่นแนะ มีการถอดบทเรียนกันด้วย) อ้ายมีเฝ้าด่านใต้ อ้ายมาเฝ่าตาหน่าง ไอ่แก้วไปโห่จากห้วยก้างปลา ไอ่คำกับไอ่มีไปตีเกราะเคาะไม้จากไฮ่เหล่าดอนไม้แดง ฯลฯ ไล่เลียงกันเกือบรอบวงขันโตกข้าว จนมาถึงไอ่สีจอมโว

ไอ่สีจอมโว บ่ปาก บ่เล่า บ่เว้า บ่ว่า ไอ่สีนั่งทำทองไม่รู้ร้อน ไอ่สีนั่งทำหูหนัก(หูหนวก)ไม่ได้ยินคำถาม ไอ่สีนั่งกินลาบฟาน กิน กิน กิน ไม่สนใจใครจะว่าจะด่าจะเสียดสียังไงก็ตาม มันยังนั่งกินลาบกินต้ม มันยังนั่งทำเป็น “หูหนักกินฟาน”

“หูหนักกินฟาน” เป็นคำพังเพยของพี่น้องคนลาวครับ

ภาวะภิบัติภัยจากน้ำเช่นนี้ หลายท่านหลายภาคส่วน นักการเมือง ราชการ เอกชน มูลนิธิ ต่างช่วยกันคนละไม้ละมือ ขอยกย่องชื่นชม นับถือ นับถือ

แต่ก็ยังมีอีกหลายคน ที่ยังทำเป็นไอ่สี หูหนักกินฟาน ยามกินตรูกินด้วยแต่ยามต้องช่วยกลับหายหัว พวกที่เคยยกมือไหว้เป็นฝักถั่วขอคะแนนจากชาวประชา พวกที่”ข้าของพระราชา”ที่อาสามาทำ”การ”แต่ทำงานแบบหัวกลวงหัวสี่เหลี่ยม  เฮ้อไม่อยากจ่ม ขออภัยหากไม่สุภาพ

เพียงแต่ผมอยากให้ทุกคนออกมาช่วยๆกัน ในภาวะเช่นนี้ นี่ยังแค่น้ำจิ้มนะครับ ไม่รู้สิผมเอนตามคำพยากรณ์ ในหนังสือนิตยสารรายสัปดาห์หน้าปกรูปสาวสวยๆที่ท้ายๆปีมักมีบททำนายทายทักไว้ ตรวจสอบย้อนหลังพบว่าพยากรณ์ใกล้เคียงหลายเรื่องทีเดียวเชียวครับ

ขอเถิดครับอย่าเป็นคน หูหนักกินฟาน  


ธรรม(ทำ)มะ(ดา) จากเรื่องวุ้นๆ

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 12 ตุลาคม 2011 เวลา 1:00 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1650

 

หาวิธีคลายเครียดจากข่าวน้ำท่วม อยู่ที่ทำงานก็เปิดเน็ตเช็คข่าวตลอด บางวันก็หาเหตุกลับเร็วกว่ากำหนดแวะซื้อข้าวเย็น แล้วไปนั่งเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์ วันๆไม่พูดไม่จากับใครนอกจากเรื่องน้ำท่วม แล้วก็คับข้องใจว่าทำไม ทำไม ทำไมไม่ทำอย่างโน้น ทำไม่ไม่ทำอย่างนี้ อึมมม เป็นเอามาก

อ่านบันทึกครูใหญ่ที่ไปทอดอารมณ์กับเพลี้ยให้หายเพลีย วันนี้ลุงเปลี่ยนจึงได้คิดว่าต้องพาตัวพาใจออกจากข่าว หาเรื่องทำ “คะ-หนม-หัว-งุ้น” บ้านผมคนเฒ่าคนแก่เรียกกันอย่างนี้ แต่วันนี้เอาแบบทันสมัยหน่อย เรียก “เยลลี่” อิอิ

อาทิตย์ก่อนโน้น มีคนเอาหมากตุมกา คือกระทกรก หรือเสาวรส มาฝากถุงใหญ่ ชวนสาวๆทานเป็นของว่างตำรับใส่น้ำผึ้งกับเกลือแบบสวนป่าอย่างไรก็ไม่หมด เลยได้ซ้อมฝีมือทำวุ้นไปฝากสาวๆปรากฏว่าเปรี้ยวถูกลิ้นคนชิม(ไม่รู้พูดเอาใจรึเปล่า?) พรุ่งนี้เช้าไปตักบาตรวัดโพนไซ สายไปตานกว๋ยสลากวัดเวียงแก้ว ค่ำไปไหลเรือไฟวัดศรีบุญเรือง มีเสียงเรียกร้องอยากกินวุ้นอีก

เอ้าไหนๆก็ไหนๆทำบุญ แล้วต้องทำทาน เผื่อจะหาสาวแก่แม่เรือนมาเรียนสืบวิชาไปทำมาหากินได้สักสี่ส้าห้าหกคน ตกลงใจทำขนมอีกสักครั้ง หลังจากที่คิดค้นกำกับติชมให้”วุ้นคุณยาย”ติดตลาดเชียงใหม่เมื่อสิบปีก่อน ….(เดี๋ยวนี้หายไปแล้ว)

ผงวุ้น ๓ ซอง น้ำตาลทรายขาว ๒ กก. กระทิ ๑กล่อง หมดเงินไป ๕๐พันกีบเท่ากับ ๒๐๐บาท

ของค้างตู้เย็น กระทกรก ๒ผลเหยี่วๆ แก้วมังกร ๓ลูก หมากหมัน ๑ลูก น้ำผึ้ง น้ำกระเจี๊ยบ ๑ขวด เกลือป่น

ผักข้างรั้ว ใบเตย ดอกอัญชัน

ยืมถาดจากร้านขายกับข้าวมาสามใบ มีกล่องแก้ว locklockที่บ้านอีกสองใบปกติเอาไว้ห่อข้าวกลางวัน

คั้นน้ำใบเตยได้สีเขียว๑ น้ำดอกอัญชันได้สีน้ำเงิน๑ น้ำกระเจี๊ยบให้สีแดงรสเปรี้ยว๑ กระทิสีขาวธรรมดาเกินไปเหยาะน้ำใบเตยให้เขียวตองอ่อน๑

ต้มน้ำใส่ผงวุ้นกับน้ำตาลทรายพอเดือดเติมสีที่เตรียมไว้ทีละอย่าง ตั้งไฟต่อจนเดือด ยกลงเทในถาดในกล่อง แล้วก็ต้มน้ำวุ้นเติมสีและกลิ่นรสใหม่เทลงในถาดอีกชั้น ทำไปก็ออกแบบไปว่าจะเอาสีไหนรสไหนอยู่กับสีไหน ชั้นบนชั้นล่างควรเป็นอะไร บางถาดก็ลองฝานแก้วมังกรบางๆวางไว้ระหว่างชั้นวุ้น

จบสี่สีแล้วยังมีผงวุ้นเหลือ ต้มต่อได้อีกหม้อหนึ่ง หันซ้ายหันขวาเห็นกระทกรกเหลืออีกสองลูก คิดสูตรใหม่หม้อนี้ใส่เสาวรสไปทั้งเนื้อไม่ได้กรอง ต้มลงในน้ำวุ้นเติมน้ำตาลน้อยกว่าหม้อก่อนๆครึ่งหนึ่งแต่ตัดเปรี้ยวด้วยเกลือ แถมน้ำผึ้งอีกหนึ่งช้อน พอเดือดยกหม้อลงใส่แก้วมังกรหั่นชิ้นเล็กๆกับลูกอะไรไม่รู้ของจีน(คนขายเขาว่าหมากหมัน) กลายเป็นเยลลี่ผลไม้ขึ้นมาทันที อร่อยกว่าพวกชั้นๆที่บรรจงทำอีกแหนะ

เสร็จงานทุ่มครึ่ง หิวตาลาย แต่ก็เพลินดีเหมือนกัน ลืมดูข่าวพนังประตูแตกรั่วไปเสียสนิท

พรุ่งนี้จะเอาไปชวนชิมที่งานวัดครับ หากมีคนสนใจจะบอกว่า “อยากกินอีกต้องมาเรียน” ได้ถ่ายทอดเป็นปัญญาทาน      หงสาจะได้มีวุ้นลุงเปลี่ยนเพิ่มอีกหนึ่งอย่าง นอกเหนือจาก เห็ด แหนมเห็ด ผักกาดดอง ผักหวานป่า หวาย ปลาดุก งาเจียง …..


(เมื่อน้ำเป็นภัย) ได้โปรดเถิด ช่วยกัน ช่วยกัน

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 8 ตุลาคม 2011 เวลา 4:04 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1283

 

ผมเองก็ไม่ใช่คนขยันนัก สมัยที่นั่งทำงานที่สำนักงานใหญ่บางกอก บางงานที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล(แต่ไม่อยากทำ) ก็ใช้วิธีเฉยๆเอ้อระเหยนั่งรอทีมงานแต่ละฝ่ายเอางานมาส่ง แล้วเราก็เอามารวมๆต่อๆกับเป็นรายงานเล่มหนึ่งส่งๆไป  งานจึงไม่ก้าวหน้าไปไหน ถูกเจ้านายเรียนเชิญไปสรรเสริญว่า “คุณนี่ทำงานเหมือนไม่ได้หายใจ”

ย้อนกลับไปนานอีกหน่อย(ก็ไม่หน่อยแล้ว ราวปี ๒๕๓๓ นู้นนนน) คราวที่ภาคใต้ประสบกับพายุเกย์ พวกเรานักศึกษา และอาจารย์ในห้องเรียน เปลี่ยนหัวข้อการอภิปรายวิชาฮอร์โมนพืช มาวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะกับชีวิตพี่น้องชาวใต้ ยังจำได้ว่า เราสรุปกันว่า “เป็นเพราะการประกาศแจ้งเตือนภัยแบบไทย” ซึ่งเหมือนกับประกาศอุตุพยากรณ์ทั่วไป ที่ข้อมูลอาจครบถ้วน แต่ขาดท่วงทำนองที่ชวนให้พี่น้องได้ตระหนักถึงภยันตราย ทำไมไม่ทะลุกรอบแบบแผนราชการ มาเตือนแบบว่า “เร็ว เร้ว พี่น้องระวังตัวด่วนนนน พายุใหญ่ญญญญมาแล้ววว หนีเร้วววว ไม่หนีตายยยย” อะไรทำนองนี้ (นึกถึง ดร.ศุภชัย ท่านออกท่าทางออกเสียงสาธิตการประกาศเตือนภัยแล้วยังจำได้)

พาความคิดล่องลอยกลับคืนมาพักตรงช่วงปลายปีมหาวิปโยคจากธรณีพิบัติ ตอนนั้นก็เหมือนกัน มีคนคิด แล้วก็มีคนค้าน แล้วก็ปล่อยเลยจนกระทั่งเกิดความสูญเสียมหาศาล นี่เรียกว่า ไม่เปิดใจ  

ทีนี้พอมาถึงเรื่องน้ำเรื่องท่าที่หลากมาท่วมทุ่งท่วมเมืองท่วมถนนหนทางบ้านช่องร้านรวงวัดวาอารามนิคมอุตสาหกรรมอยู่ทุกวันนี้

ผมว่า ข้อมูลเรื่องน้ำ เรื่องทางระบายน้ำ และสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง เมืองไทยมีอยู่อย่างเหลือเฟือเพียงแต่กระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงาน และสถาบันต่างๆ เฉพาะในส่วนเท่าที่นักวิชาการเล็กๆอย่างผมเคยร่วมศึกษาหรือเคยได้ยินมาก็สามารถยกตัวอย่างได้ยาวเหยียด อาทิเช่น โครงการ๒๕ลุ่มน้ำ โครงการเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก โครงการแผนบูรณการจัดการน้ำ โครงการป้องกันน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาของไจก้า โครงการระบายน้ำเมืองหลัก โครงการผังเมืองหลัก เหล่านี้เป็นต้น

โปรแกรมสมองกลเดี๋ยวนี้เขาก็เก่งอยู่นะครับ ผมว่าในเมืองไทยเดี๋ยวนี้มีมากหลายหมื่นคนที่สามารถ เข้าโปรแกรมประเมินได้ว่า ฝนตกมาเท่านี้น้ำจะไปทางไหนเท่าไร หากเห็นว่ารับไม่ไหวแล้วก็ต้องตีฆ้องร้องป่าวให้ชาวประชาที่จะถูกน้ำท่วมให้เตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ไม่เอาแค่การประกาศทางวิทยุโทรทัศน์ ต้องไปเคาะประตูบ้านบอกกล่าวให้ได้รู้

ได้โปรดเถอะ หากผ่านพ้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านี้ไป เชิญทุกหน่วยงาน สถาบัน กรม กอง มานั่งรวมหัวกัน วางแผน แต่ไม่ใช่ แผนนิ่ง (planning) มีแผนแล้วต้องลงมือปฏิบัติ ถือเป็นวาระแห่ง ชาติ อย่าให้หน่วยงานไหนเป็นเจ้าภาพ เดี๋ยวหน่วยงานสนับสนุนก็จะว่าธุรไม่ใช่ ส่งแต่ชั้นเด็กๆไปนั่งเฉยๆในกองประชุม จะทำอย่างไรก็ต้องทำ จะขุด จะรื้อม้างสูญเสียกระทบใครก็ต้องทำ อย่าหลีกเว้น ผู้ได้รับผลกระทบก็ค่อยเยียวยาอย่างเป็นธรรม (หากรัฐบาลไหนทำได้ผมยอมใส่เสื้อสีนั้นตลอดชีวิตเลยเอ้า)

มาถึงบรรดาพ่อแม่พี่น้องภาคส่วนประชาชนทั้งหลาย ที่ผมเห็นภาพข่าวในโทรทัศน์แล้วสะเทือนใจ เห็นใจในความทุกข์ยากลำบากของพี่น้องยิ่งนัก ขอให้รับรู้เถิดว่าชาวเราต่างเห็นใจในเคราะห์ภัยที่ท่านประสบ แต่อีกทางหนึ่งนั้นอยากให้บรรดาท่านมีวินัยและรับฟังข่าวสาร หากผมพูดแรงไปเหมือนกับซ้ำเติมท่าน กราบขออภัยมาณที่นี้หากท่านคิดเช่นนั้น ผมเพียงแต่อยากสื่อสารชักชวนพ่อแม่พี่น้องว่า หากเขาแจ้งเตือนมาก็ต้องรับฟัง ต้องเตรียมตัว ท่านให้ย้ายก็ต้องย้าย ห่วงสวัสดิภาพความปลอดภัยไว้ก่อนสิ่งอื่นใด บ้านเมืองดินฟ้าอากาศของโลกเดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปแล้ว อย่านึกว่าไม่เคยท่วมไม่เคยมีแล้วจะไม่ท่วม แต่ทั้งนั้นทั้งนี้หากประกาศให้พี่น้องอพยพก็ต้องจัดการเรื่องการขนย้ายและสถานที่อยู่อาศัยให้เรียบร้อยด้วย

ตอนนี้ทุกภาคส่วนองค์กร และประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่ากำลังระดมสรรพกำลังในการช่วยเหลือพี่น้อง ขอให้สำนึกแห่งการช่วยเหลือนี้แผ่กระจายไปยังบางคนบางหมู่ที่ยังไม่ได้เสียสละ ขอให้มีความโปร่งใสไร้เป้าหมายในการ “เอาหน้า” ขอให้มีการแบ่งปันในหมู่ผู้เดือดร้อนอย่างทั่วถึง

และขอให้นึกถึงแผนการ “เยียวยา” ฟื้นฟูภายหลังน้ำลดอย่างทันท่วงที อย่าให้เหมือนประเทศอื่นในดาวอังคาร (ไม่ใช่ประเทศไทยเด็ดขาดเมืองไทยไม่เคยมีเยี่ยงนี้) ที่เงินช่วยภัยแล้งมาถึงยามหน้าน้ำ แต่เงินช่วยน้ำท่วมมาถึงยามหน้าแล้ง

โชคดีมีชัยครับ พี่น้องชาวไทย

 


๗ ตุลา ช่อมาลาแด่ “นายคู” ที่หงสา

6 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 6 ตุลาคม 2011 เวลา 1:42 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2388

 

วันสองวันนี้ หงสายามเช้าสดใสสวยงามเป็นพิเศษ ยามเมื่อเห็นเด็กน้อยนักเรียนแต่งเครื่องแบบใหม่ ในอ้อมแขนน้องน้อยทุกคนประคองดอกไม้ช่อโต เดินมุ่งหน้าไปโรงเรียนด้วยประกายตาฉายแววสุข(เพราะไม่ต้องเรียนหนังสือ) บรรดาเหล่าทโมนหนุ่มรุ่นแตกพานแก๊งค์เด็กรถ(ถีบ)ซิ่ง ประจำโรงเรียนมัธยม ก็ไม่ได้ยกเว้นที่จะเหน็บช่อดอกไม้เยินๆติดรถจักรยานไปโรงเรียนด้วยเช่นเดียวกัน

นายคู คือคุณครู ….ที่หงสา ครูบาอาจารย์ทุกท่านไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย เราจะเรียกคำนำหน้าท่านว่า “นายคู”  

๗ ตุลาคมของทุกปีถือเป็น “วันครู” ประจำชาติของ สปป ลาว ที่เริ่มสสถาปนามาตั้งแต่สมัยเปลี่ยนระบอบใหม่ๆ (อันที่จริงเรื่องการไหว้ครูนี่ทั้งลาวทั้งไทยสมัยบุราณ ท่านก็มีพิธีกรรมอันศักสิทธิ์ประจำสำนักมานานเนิ่น) กลับมาที่เมืองลาว สมัยที่เป็น สปป ใหม่ๆท่านให้จัดเป็นวันครูสากล โดยยึดถือวันที่ตรงกับของสหภาพโซเวียต ต่อมาราวปี ๑๙๙๓-๙๔ ท่านจึงให้เปลี่ยนมาเป็นวันที่ ๗ตุลา โดยถือเป็นการยกย่อง ท่านนายคูคำ ท่านนายคูคำท่านเป็นครูสอนหนังสืออยู่เวียงจันทน์ในสมัยที่จักรวรรดิฝรั่งเข้ามาเมืองลาว ในวันที่ ๗ตุลา ท่านนายครูคำเป็นผู้นำพาบรรดาครูลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องเอกราช ดังนั้นทาง สปป ลาวจึงกำหนดให้วันนี้เป็น “วันครู”

ชีวิตนายคูเมืองหงสา “เป็นตาน่ายกย่องชมเชย” และทำให้หวนคิดถึงคุณครูประชาบาลสมัยที่เพิ่งหัดเขียน ก.ไก่ กล่าวคือ เห็นว่าบรรดาคุณครูท่านยังมีบทบาทเป็นที่เคารพนับถือของเด็กประเภทที่ยังยกเป็น “ของสูง” ครูที่เป็นพนักงานสัญญาจ้าง มีค่าตอบแทนที่ถือว่าน้อยมาก (เมื่อเทียบกับค่าครองชีพในบ้านเรา คือประมาณ ๒-๓ พันบาทต่อเดือน) ครูต้องออกไปอยู่ตามหมู่บ้านห่างไกลเดินเท้าหลายสิบกิโล ฯลฯ แต่นายครูท่านก็ยังประกอบสัมมาชีพ อย่างสมถะ กระเตงลูกน้อยขึ้นหลังมาสอนหนังสือ กลางวันกลับไปหุงหาอาหารที่บ้าน วันหยุดไปทำไร่ไถนา น่าชมเชยท่าน”เรือจ้าง” แต่ก็อดห่วงใยไม่ได้เมื่อได้อ่านลิ้งค์ในเวปซ์ไวด์ที่อ้ายน้องส่งมาให้อ่านเกี่ยวกับนโยบายการศึกษาฯ (เซ็นเซอร์ คนนอก คนนอก คนนอก ท่องไว้)

การจัดงานวันครูเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากการซอกแซกซักถามเพื่อนพ้องน้องพี่ที่เคยเป็นนักเรียน ได้รับการถ่ายทอดว่าสมัยก่อนงานวันครูจะให้นักเรียนเอาข้าวต้มมัดมาจากบ้าน โรงเรียนเตรียมน้ำอ้อยน้ำตาล มะพร้าวไว้ให้ บางปีก็มีหมูหัน หรือวัวที่จัดเตรียมไว้ เมื่อถึงเวลานักเรียนมานั่งรวมกัน ตัวแทนนักเรียนกล่าวอวยพรครู ครูให้โอวาทพร้อมเล่าประวัติความเป็นมาของวันครู แล้วก็กินข้าวกินขนมสามัคคี สำหรับทุกวันนี้ มีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้สองประการ คือ ๑. เรื่องการมอบของขวัญพบว่าปัจจุบันเป็นประเพณีปฏิบัติที่นักเรียนทุกคนตั้งแต่ชั้นอนุบาลขึ้นไป ต้องมีช่อดอกไม้และของขวัญมอบให้อาจารย์ แล้วยังมีของขวัญพิเศษมอบให้กับครูที่ “สอนเสริม คือ สอนพิเศษ” อีกต่างหากตามความสมัครใจ การเปลี่ยนแปลงประการที่ ๒. ได้แก่การจัดงานเฉลิมฉลอง มีการแจกบัตรเชิญ เชิญแขกมาร่วมทานอาหาร เครื่องดื่ม เบียร์ มีดนตรีอิเลคโทน แล้วก็จัดรอบรำวง

“คนนอก” ควรมีบทบาทเยี่ยงใด? ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม คนนอกที่คุ้นเคยกับห้องการต่างๆ ต้องได้รับบัตรเชิญร่วมงานวันครูทุกปีๆละหลายโรงเรียน โดยส่วนตัวแล้วตรงไปตรงมาคือ ไม่ไป(เพราะไม่อยากเมา) ส่วนการ “ส่งบัตรเชิญ หมายถึง เอาบัตรเชิญหรือซองไปส่งคืน” ก็ใช้วิธีฝากเงินใส่ซองให้น้องๆที่ไปร่วมงานถือไปให้ หรือบางทีก็เอาเงินฝากให้น้องซื้อเบียร์ไปร่วม ๑-๒ ลัง ทำอย่างนี้อาจรอนน้ำใจกันบ้าง ความสนิทชิดเชื้ออาจไม่แนบแน่น (แต่ไม่เป็นไร จารย์เปลี่ยนไปหาพรรคในวงวัดได้) มีความคิดว่าโครงการน่าจะมีวิธีเข้าไปมีส่วนในงานวันครูได้อย่างไร หรือในรูปแบบใด นอกเหนือจากการ “ส่งบัตรเชิญ”โดยการสนับสนุนเงินในงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง…….

เนื่องในวันครูแห่งชาติ สปป ลาว ขอฝากความคิดถึงไปยัง ครู(s)นันทวิศาลเมืองหละปูน ครูแม่ใหญ่ ครูบู๊ธ ครูออตแก่นขอน ครูพยาบาลสวนดอก ครูอาม่าอากงโคราช ครูสอนครูท่านที่ย้ายไปอยู่เมืองใต้ ครูสอนเลขจบเยอรมัน ครูแห้วเมืองกรุง ครูเหน่อเมืองเลาขวัญ ครูสุ ครูคิม ครูมิมเมืองสองแคว ครูอะไรอีกบ้างหนอ อ้อ ครูบาฯแห่งสวนป่า และบรรดาครูผู้มีพระคุณทุกๆท่านในโลกหล้า


จะเป็นเพียงคนแปลกหน้าผู้ผ่านทาง หรือกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือจะเป็นสิ่งเร้าภายนอกที่มากระทบสังคม

5 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 4 ตุลาคม 2011 เวลา 4:53 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1374

จะเป็นเพียงคนแปลกหน้าผู้ผ่านทาง หรือกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือจะเป็นสิ่งเร้าภายนอกที่มากระทบสังคม

ทำไมชื่อบันทึกนี้ยาวจัง แต่ก็อยากตั้งอย่างนี้แหละ ชัดเจนในความหมาย

โจทย์มีอยู่ว่า “หากคนภายนอกเช่นท่านได้เข้าไปอยู่ในชุมชนแห่งหนึ่ง ที่มีวัฒนธรรมสังคมที่แปลกต่าง ท่านจะวางตัวอย่างไร?

คำตอบข้อที่ ๑) ท่านจะทำตัวเป็นเพียงผู้ผ่านทาง หรือ “คนนอก” เหมือนเป็นนักเดินทางทัศนาจร ที่เผอิญสัญจรผ่านมาแวะพักผ่อน หากเป็นเยี่ยงนี้ ท่านก็ควรที่จะแฝงกายอยู่ในที่เร้นจำเพาะมิให้เจ้าของชุมชนรับรู้ แล้วเฝ้าเสพสิ่งที่ท่านได้มองเห็น ได้สัมผัส ท่านอาจเฝ้าชื่นชมขนบประเพณีอันสวยงามไร้สิ่งเจือปนเร้ารุมจากภายนอก แต่ท่านไม่อาจปรบมือให้พวกเขาได้ยิน ในทางกลับกัน ท่านอาจรู้สึกขัดเคือง คับแค้น หรือเศร้าโศก กับเรื่องราวความเป็นไปในสังคมนั้นๆ แต่ท่านไม่อาจเสนอหน้าไปยุ่งเกี่ยวได้

คำตอบข้อที่ ๒) ท่านพยายามย้อมสีให้ตัวเองกลืนกลมไปกับวิถีชุมชนชนิดที่มองไม่เห็นความต่าง หากเลือกตอบข้อนี้ ท่านจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่ท่านจะรู้สึกว่า “เป็นเนื้อเดียว”กับชุมชนจนเกินไป จนขาดแรงกระตุ้นที่จะไปใยดีกับความเป็นไปในวิถีประเพณีท้องถิ่น น่าเสียดายหากท่านสูญเสียฌานสมบัติด้านนี้ไป แต่ก็ไม่แน่นัก หากเมื่อใดที่ท่านพาตัวออกพ้นจากชุมชนนั้น อาจบางทีหากท่านกลับมาสู่ภาวะที่แท้จริงแห่งตัวตนท่าน เมื่อนั้นแล้ว ประสบการณ์ที่ท่านผ่านพบในชุมชนท่านจากมาก็จะกลายเป็นความทรงจำ เป็นภาพความหลังที่สวยงาม

คำตอบข้อที่ ๓) ท่านทำตัวให้โดดเด่นล้ำเหนือจนบดบัง อัตลักษณ์วิถีของชุมชน จะด้วยความหวังดี หรือด้วยกุศลจิตประการใดก็ตาม จะด้วยฐานะบทบาทของท่าน หรือด้วยความพร้อมทางทรัพยกำลัง ทรัพยปัญญาก็ตาม หามิได้ ข้าพเจ้ามิได้กล่าวหาหรือตำหนิติเตียนท่าน ทราบดีว่าท่านเองอาจจะไหลลอยไปกับการร้องขอ การยกย่อง จากสังคมนั่นเอง ทั้งนั้นทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม หากท่านต้องแสดงบทบาทดังที่ว่าแล้วไซร้ ท่านอาจสัมผัสกับความยินดีชื่นบาน “ที่ได้ช่วยเหลือ” “ที่ได้ทำดี” แต่นั่นแหละ สิ่งที่ท่านจะไม่ได้สัมผัสก็คือ ตัวตนอัตลักษณวิถีของชุมชนนั่นเอง

ก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลที่จะเลือกอยู่ตรงไหน หากท่านต้องพาตัวเองเข้ามาอยู่ในสังคมอื่น

เขียนเนื่องในบุญแข่งเรือ เมืองหงสา ที่จะจัดในวันที่ ๙ ตุลา ที่สิฮอดนี้


การพึ่งพิงป่าของพี่น้องหงสา

4 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 28 กันยายน 2011 เวลา 12:21 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1595

enter-post-title-here

นั่งปั่นรายงานเรื่องนี้อยู่ครับ พาสาลาวเสียด้วยแต่เอาขึ้นโชว์ไม่เป็น

กลุ่มบ้านที่1

กลุ่มที่2

กลุ่มที่ 3

ประเภทการใช้สอย % ประเภทการใช้สอย % ประเภทการใช้สอย %
1. อาหารจากพืชป่า 87 1. อาหารจากพืชป่า  72 1. ฟืน  99
2. ไม้ไผ่ 83 2. ฟืน 71 2. ไม้ไผ่ 94
3. ฟืน 75 3. ไม้ไผ่ 68 3. อาหารจากพืชป่า 94
4. หาของป่ามาขาย 47 4. อาหารจากสัตว์ป่า 17 4. หาของป่ามาขาย 60
5. ไม้สำหรับก่อสร้าง 42 5. สมุนไพร 15 5. อาหารจากสัตว์ป่า 23

เปอร์เซนต์ หมายถึง ร้อยละของครอบครัวทั้งหมดที่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากป่า

ประเด็นที่อยากอวดก็คือว่า พี่น้องชาวหงสามีการพึ่งพิงป่าสูงมากๆ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ไม้ใช้สอย ฟืน หาเก็บของป่ามาขาย หรือแม้กระทั่งสมุนไพร นึกไม่ออกจริงๆว่าหากขาดป่าแล้วพี่น้องจะอยู่กันได้อย่างไร

หากจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ที่อยู่ที่กินของพี่น้องบรรดาท่านเหล่านี้แล้ว ไม่เพียงแต่จัดสรรที่ทำกิน หาพืชมาให้ปลูก หางานให้ทำเพียงเท่านั้น

ต้องหาป่ามาคืนให้พี่น้องด้วย ดีที่คิดเรื่องนี้ไว้เมือสองปีก่อน ทำให้พอขอตังค์เขาเอาไว้ได้บ้าง ตอนนั้นมีแต่คนหัวร่อว่า จานย์ผีบ้านี้เอาหยังใส่ในดำรัสให้รุ่มร่ามทำไม

อย่าลืมเด้อ จานเปลี่ยน


บุรีรัมย์โมเดล ทางออกของภาวะ ข้าวขาดแลง แกงขาดหม้อ

3 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 19 กันยายน 2011 เวลา 2:51 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1546

 

ไม่ว่าคนทางสยามจะพูดว่า “ข้าวยากหมากแพง” หรือคนทางลุ่มน้ำโขงจะพูดว่า “ข้าวขาดแลง แกงขาดหม้อ” ก็พอจะแปลความหมายออกว่าเป็นภาวะทุกข์เข็ญยากลำบาก ที่ไพร่ฟ้าประชาอาณาราษฎร ต้องเดือดร้อนกันทั้งผอง

ด้วยว่าข้าว เป็นพืชอาหารหลักของคนในแถบอุษาคเนย์ มาช้านาน  ท่านสุจิตต์ วงษ์เทศน์ เขียนไว้ว่าคนโบราณที่เคยอาศัยอยู่แถวๆนี้ ท่านปลูกข้าวเป็นมาตั้งแต่ ๕-๖๐๐๐ ปีที่แล้ว บรรพชนชาวเราจึงผูกพันกับข้าวตั้งแต่นั้นมา การพัฒนาการปลูกข้าวนั้น เริ่มตั้งแต่การปลูกข้าวไร่บนที่ดอน การหว่านข้าวตามริมบึง จนมาถึงการทำนาที่ควบคุมระดับน้ำชลประทานได้ มีทั้งนาหว่านน้ำตม นาหว่านกะชุที่หว่านไว้รอฝน ส่วนที่เขมรแถบริมโตนเลสาบนอกเมืองเสียมเรียบนั้นผมเห็นชาวนาหว่านข้าวฟางลอยไว้ตั้งแต่ก่อนฝนแรก ปล่อยวัวควายเดินแทะเล็มไปพลางๆ หลังจากฝนมาน้ำฟ้าหลั่ง น้ำหน้าดินก็มาท่วมขัง

ปัจจุบัน ท่านพากันหันมาปลูกข้าวแบบกล้าต้นเดียว และล่าสุดแม่ใหญ่ท่านกำลังนำพาน้องน้อยนักเรียนทำนาโยน บางเสียงก็โอดครวญมาว่า การทำนาแบบขังน้ำเป็นบ่เกิดของก๊าซโลกร้อนไปโน่น (ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเหมือนนิทานอีสปเรื่องหมาป่ากับลูกแกะหรือไม่….) นี่ก็เกี่ยวพันกับเรื่องข้าวทั้งนั้น  

วิถีชีวิตของชาวกสิกร ต่างผูกพันกับฮีตคองประเพณีที่เกี่ยวกับ “ข้าว” นั้น มีมาตั้งแต่บุราณในทุกสังคมทุกชนชั้น เช่น พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญของพระราชา หรือพิธีแฮกนาในท้องถิ่น พิธีทำขวัญข้าว พิธีเปิดประตูเล้าข้าวหรือบุญก่ำฟ้า ไปจนถึงการแต่งพิธีไหว้สาเวลาควายพระอินทร์มากัดกินข้าว ฯลฯ

วิถีพุทธแบบสยาม รวมถึงภาคพื้นอุษาคเนย์ ก็มีงานบุญที่เกี่ยวพันกับ”ข้าว”เกือบตลอดทั้งปี อาทิเช่น บุญข้าวประดับดิน บุญข้าวสาก บุญคูณลาน บุญประทายข้าวเปลือก บุญข้าวจี่ ตานข้าวใหม่ เป็นต้น

“ข้าวกุ้มกิน” หรือข้าวพอกินตลอดปี จึงเป็นประเด็นคำถามหลักที่ผมมักใช้ถามไถ่ เพื่อเป็นดัชนีประเมินความอุดมพูนสุขของชุมชน หรือครอบครัวนั้นๆ

การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องใน สปป ลาว ท่านกำหนดไว้ว่า ประชาชนที่เสียสละเพื่อการพัฒนาโครงการ ต้องได้รับการเลี้ยงดูข้าวสารอาหารแห้งให้เพียงพอตลอดระยะเวลา ๓ปี หมายความว่าเฉพาะข้าวสารนั้น ท่านให้เลี้ยงดูคนละ ๒๕กิโลต่อคนต่อเดือน อันนี้ท่านอิงตามมาตรฐานสากล อย่างไรก็ตามทางผู้หลักผู้ใหญ่ทางฝ่ายเจ้าของประเทศท่านก็อดห่วงใยไม่ได้ว่า จะทำให้ประชาชนท่านเกียจคร้านนั่งงอมืองอเท้ารอกินข้าวฟรีหรือไม่? ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายรอการแก้ไข ไม่นับรวมถึงโจทย์เกี่ยวกับวิธีการ ว่าจะจ่ายเป็นเงินดีไหม หรือหาข้าวสารมาให้ แล้วจะควบคุมคุณภาพได้อย่างไร?  หากจ่ายเป็นเงินแล้วผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่ถนัดรถราจะไปซื้อที่ไหน? ลองชวนจัดตั้งร้านค้าชุมชนจะเป็นไร ทั้งหมดเป็นเศษเสี้ยวของโจทย์ที่ต้องค่อยๆแก้ไข

ปีนี้น้ำท่วมหนัก ข้าวกล้าเสียหาย ทั้งในที่ในลุ่มน้ำ ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา แม่กลอง รวมถึงในพื้นที่อ่างโต่งน้ำแม่โขง แม่น้ำชี น้ำมูล น้ำสงคราม ลำโดม และทางอีกเบื้องฝั่งหนึ่งของแม่ของในเขต สปป ลาว เห็นทีปีนี้ประชาชีคงหนีไม่พ้นภาวะ ข้าวยากหมากแพง ข้าวขาดแลงแกงขาดหม้อ เป็นแน่แท้

แต่ผมว่าทั้งนี้ทั้งนั้น หากเป็นคนเดินดินท่านหนึ่ง ที่ชื่อ ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธ์ ท่านคงไม่นั่งเฉยรอรับ ภาวะข้าวขาดแลงแกงขาดหม้ออย่างเด็ดขาด ครูบาฯท่านเป็นนักคิด นักทดลอง นักปฏิบัติ ที่สำคัญท่านรู้จักถอดบทเรียนแล้วนำมาถ่ายทอดได้อย่างน่าอัศจรรย์ ท่านเป็น สว(สูงวัย)ไอที ที่ผู้น้อยต้องยอมคำนับ ข้อเขียนถ้อยคำของท่านครูบา ชวนติดตาม เรียบง่าย แต่ความหมายล้ำลึก นั่นเพราะท่านถ่ายทอดมาจากของจริงที่ได้ทำจริงๆมากับมือ

มนุษย์เรา ไม่ใช่แม่เหล็กที่จะสามารถมีแรงดึงดูดคนอื่นได้ แต่สำหรับครูบาสุทธินันท์ท่านนี้ เป็นหนึ่งในจำนวนน้อยคนนักที่สามารถดึงดูดมหาชน จากมหาสาขาให้เข้ามาหาท่านได้อย่างไม่รีรอ ลองไล่เลียงดูรางวัลที่เชิดชูท่าน ลองไล่เลียงดูประดาคณะกรรมการต่างๆที่ท่านได้รับเชิญเข้าไปร่วม ไม่อาจแจกแจงได้จริงๆ ลองไล่เลียงดูพันธมิตรที่มาพัวพัน ฝากตัวเป็นน้องนุ่งลูกหลานรอบกายท่านผมว่า(หากยกเว้นผมไว้สักคนแล้ว)แต่ละท่านระดับสุดยอดหัวกะทิทั้งนั้น สิ่งใดทำให้ท่านมีแรงดึงดูดได้ถึงเพียงนี้ สิ่งนั้นคือ ท่านเป็น “ของจริง” หนังสือ บุรีรัมย์โมเดล ในมือของท่าน จึงเป็นเรื่องราว “ความจริง” ที่กลั่นกรองยกหยิบมาจาก “คนจริง” ที่ท่านสามารถนำไปใช้กับ “ชีวิตจริง” ได้แน่นอน


ร่ำเปิง หละปูน

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 6 กันยายน 2011 เวลา 11:09 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2131

เห็นพ่อครูบา กับขาใหญ่ท่านแวะเวียนไปหละปูนชัย เป็นตาสะออนหลาย นึกขึ้นได้ว่ามีรูปรอยคราวที่ไปทัวร์ไม้ไผ่ครั้งกระโน้นที่ยังไม่ได้นำมาอวด จึงใคร่ขอร่วมร่ำเปิงเมืองหละปูนด้วยคนครับ

 

หละปูนเหยงามฟ้า          ยามแลง

สูรย์ส่องงามสาดแสง      แต่งแต้ม

ระบำเมฆร่วมแสดง         งามแม้น

ดุจดั่งเป็นแว่นแคว้น        แดนสรวงเมืองแมน

 

อารามงามสงบ               พาเข้าพบนิพานสถาน

มีมาแต่โบราณ                เป็นหลักฐานความฮุ่งเฮือง

 

ดอกสาละวางบนมือสื่อสาระ                   

อยู่ที่จะปล่อยวางหรือยึดถือ

ว่าตัวกูของกูไม่ปล่อยมือ                          

มุ่งยึดถือทั้งอำนาจและสินทรัพย์

 

  

นวลนาฏน้องนาง ร่ายรำขับฟ้อน   แขนเอวแอ้นอ้อน อรชรแช่มช้อย

เยื้องย่างวาดแขน แป๋งตาชม้อย งามหยดย้อยนงคราญ

งามแม่กวงไหลผ่านหน้าพระธาตุ งามศิลปะหม้อดอกตอง เหมือนกับสัญญานว่าเมืองลำพูนมีอัตลักษณ์ของตนเอง แม้นว่าจะผ่านวันเวลายุครุ่งเรือง ร่วงโรย ฟื้นฟู หลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่ครั้งสมัยพระนางจามเทวีแห่งทวาราวดีละโว้  ผ่านการอพยพหนีโรคร้าย แล้วกลับมาใหม่ จนถึงยุคฟ้าเมืองยองมาตั้งหลักแหล่ง

ลำพูนเป็นตัวอย่างของการอยู่ร่วมกัน ของสังคมเกษตร กับนิคมอุตสาหกรรม เป็นตัวอย่างของความเจริญทางวัตถุควบคู่ไปการรักษ์ฮีตโบราณ

ทำไมไม่มีใครคิดทำ โมเดลหละปูนบ้างน้อ

อ้าว อ้าว เลอะเลือนลามปามไปแล้ว (สงสัยพิษหมากัดกำเริบ อิอิ)



Main: 0.2092559337616 sec
Sidebar: 0.11853814125061 sec