(เมื่อน้ำเป็นภัย) ได้โปรดเถิด ช่วยกัน ช่วยกัน
ผมเองก็ไม่ใช่คนขยันนัก สมัยที่นั่งทำงานที่สำนักงานใหญ่บางกอก บางงานที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล(แต่ไม่อยากทำ) ก็ใช้วิธีเฉยๆเอ้อระเหยนั่งรอทีมงานแต่ละฝ่ายเอางานมาส่ง แล้วเราก็เอามารวมๆต่อๆกับเป็นรายงานเล่มหนึ่งส่งๆไป งานจึงไม่ก้าวหน้าไปไหน ถูกเจ้านายเรียนเชิญไปสรรเสริญว่า “คุณนี่ทำงานเหมือนไม่ได้หายใจ”
ย้อนกลับไปนานอีกหน่อย(ก็ไม่หน่อยแล้ว ราวปี ๒๕๓๓ นู้นนนน) คราวที่ภาคใต้ประสบกับพายุเกย์ พวกเรานักศึกษา และอาจารย์ในห้องเรียน เปลี่ยนหัวข้อการอภิปรายวิชาฮอร์โมนพืช มาวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะกับชีวิตพี่น้องชาวใต้ ยังจำได้ว่า เราสรุปกันว่า “เป็นเพราะการประกาศแจ้งเตือนภัยแบบไทย” ซึ่งเหมือนกับประกาศอุตุพยากรณ์ทั่วไป ที่ข้อมูลอาจครบถ้วน แต่ขาดท่วงทำนองที่ชวนให้พี่น้องได้ตระหนักถึงภยันตราย ทำไมไม่ทะลุกรอบแบบแผนราชการ มาเตือนแบบว่า “เร็ว เร้ว พี่น้องระวังตัวด่วนนนน พายุใหญ่ญญญญมาแล้ววว หนีเร้วววว ไม่หนีตายยยย” อะไรทำนองนี้ (นึกถึง ดร.ศุภชัย ท่านออกท่าทางออกเสียงสาธิตการประกาศเตือนภัยแล้วยังจำได้)
พาความคิดล่องลอยกลับคืนมาพักตรงช่วงปลายปีมหาวิปโยคจากธรณีพิบัติ ตอนนั้นก็เหมือนกัน มีคนคิด แล้วก็มีคนค้าน แล้วก็ปล่อยเลยจนกระทั่งเกิดความสูญเสียมหาศาล นี่เรียกว่า ไม่เปิดใจ
ทีนี้พอมาถึงเรื่องน้ำเรื่องท่าที่หลากมาท่วมทุ่งท่วมเมืองท่วมถนนหนทางบ้านช่องร้านรวงวัดวาอารามนิคมอุตสาหกรรมอยู่ทุกวันนี้
ผมว่า ข้อมูลเรื่องน้ำ เรื่องทางระบายน้ำ และสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง เมืองไทยมีอยู่อย่างเหลือเฟือเพียงแต่กระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงาน และสถาบันต่างๆ เฉพาะในส่วนเท่าที่นักวิชาการเล็กๆอย่างผมเคยร่วมศึกษาหรือเคยได้ยินมาก็สามารถยกตัวอย่างได้ยาวเหยียด อาทิเช่น โครงการ๒๕ลุ่มน้ำ โครงการเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก โครงการแผนบูรณการจัดการน้ำ โครงการป้องกันน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาของไจก้า โครงการระบายน้ำเมืองหลัก โครงการผังเมืองหลัก เหล่านี้เป็นต้น
โปรแกรมสมองกลเดี๋ยวนี้เขาก็เก่งอยู่นะครับ ผมว่าในเมืองไทยเดี๋ยวนี้มีมากหลายหมื่นคนที่สามารถ เข้าโปรแกรมประเมินได้ว่า ฝนตกมาเท่านี้น้ำจะไปทางไหนเท่าไร หากเห็นว่ารับไม่ไหวแล้วก็ต้องตีฆ้องร้องป่าวให้ชาวประชาที่จะถูกน้ำท่วมให้เตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ไม่เอาแค่การประกาศทางวิทยุโทรทัศน์ ต้องไปเคาะประตูบ้านบอกกล่าวให้ได้รู้
ได้โปรดเถอะ หากผ่านพ้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านี้ไป เชิญทุกหน่วยงาน สถาบัน กรม กอง มานั่งรวมหัวกัน วางแผน แต่ไม่ใช่ แผนนิ่ง (planning) มีแผนแล้วต้องลงมือปฏิบัติ ถือเป็นวาระแห่ง ชาติ อย่าให้หน่วยงานไหนเป็นเจ้าภาพ เดี๋ยวหน่วยงานสนับสนุนก็จะว่าธุรไม่ใช่ ส่งแต่ชั้นเด็กๆไปนั่งเฉยๆในกองประชุม จะทำอย่างไรก็ต้องทำ จะขุด จะรื้อม้างสูญเสียกระทบใครก็ต้องทำ อย่าหลีกเว้น ผู้ได้รับผลกระทบก็ค่อยเยียวยาอย่างเป็นธรรม (หากรัฐบาลไหนทำได้ผมยอมใส่เสื้อสีนั้นตลอดชีวิตเลยเอ้า)
มาถึงบรรดาพ่อแม่พี่น้องภาคส่วนประชาชนทั้งหลาย ที่ผมเห็นภาพข่าวในโทรทัศน์แล้วสะเทือนใจ เห็นใจในความทุกข์ยากลำบากของพี่น้องยิ่งนัก ขอให้รับรู้เถิดว่าชาวเราต่างเห็นใจในเคราะห์ภัยที่ท่านประสบ แต่อีกทางหนึ่งนั้นอยากให้บรรดาท่านมีวินัยและรับฟังข่าวสาร หากผมพูดแรงไปเหมือนกับซ้ำเติมท่าน กราบขออภัยมาณที่นี้หากท่านคิดเช่นนั้น ผมเพียงแต่อยากสื่อสารชักชวนพ่อแม่พี่น้องว่า หากเขาแจ้งเตือนมาก็ต้องรับฟัง ต้องเตรียมตัว ท่านให้ย้ายก็ต้องย้าย ห่วงสวัสดิภาพความปลอดภัยไว้ก่อนสิ่งอื่นใด บ้านเมืองดินฟ้าอากาศของโลกเดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปแล้ว อย่านึกว่าไม่เคยท่วมไม่เคยมีแล้วจะไม่ท่วม แต่ทั้งนั้นทั้งนี้หากประกาศให้พี่น้องอพยพก็ต้องจัดการเรื่องการขนย้ายและสถานที่อยู่อาศัยให้เรียบร้อยด้วย
ตอนนี้ทุกภาคส่วนองค์กร และประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่ากำลังระดมสรรพกำลังในการช่วยเหลือพี่น้อง ขอให้สำนึกแห่งการช่วยเหลือนี้แผ่กระจายไปยังบางคนบางหมู่ที่ยังไม่ได้เสียสละ ขอให้มีความโปร่งใสไร้เป้าหมายในการ “เอาหน้า” ขอให้มีการแบ่งปันในหมู่ผู้เดือดร้อนอย่างทั่วถึง
และขอให้นึกถึงแผนการ “เยียวยา” ฟื้นฟูภายหลังน้ำลดอย่างทันท่วงที อย่าให้เหมือนประเทศอื่นในดาวอังคาร (ไม่ใช่ประเทศไทยเด็ดขาดเมืองไทยไม่เคยมีเยี่ยงนี้) ที่เงินช่วยภัยแล้งมาถึงยามหน้าน้ำ แต่เงินช่วยน้ำท่วมมาถึงยามหน้าแล้ง
โชคดีมีชัยครับ พี่น้องชาวไทย
« « Prev : ๗ ตุลา ช่อมาลาแด่ “นายคู” ที่หงสา
Next : ธรรม(ทำ)มะ(ดา) จากเรื่องวุ้นๆ » »
1 ความคิดเห็น
ที่ลาวมีปัญหาแตกต่างจากของเราอย่างไรบ้างครับ
หรือว่ายิ่งตกยิ่งดีน้ำจะได้เต็มเขื่อนเป็นต้นทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้า