บุรีรัมย์โมเดล ทางออกของภาวะ ข้าวขาดแลง แกงขาดหม้อ

โดย silt เมื่อ 19 กันยายน 2011 เวลา 2:51 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1517

 

ไม่ว่าคนทางสยามจะพูดว่า “ข้าวยากหมากแพง” หรือคนทางลุ่มน้ำโขงจะพูดว่า “ข้าวขาดแลง แกงขาดหม้อ” ก็พอจะแปลความหมายออกว่าเป็นภาวะทุกข์เข็ญยากลำบาก ที่ไพร่ฟ้าประชาอาณาราษฎร ต้องเดือดร้อนกันทั้งผอง

ด้วยว่าข้าว เป็นพืชอาหารหลักของคนในแถบอุษาคเนย์ มาช้านาน  ท่านสุจิตต์ วงษ์เทศน์ เขียนไว้ว่าคนโบราณที่เคยอาศัยอยู่แถวๆนี้ ท่านปลูกข้าวเป็นมาตั้งแต่ ๕-๖๐๐๐ ปีที่แล้ว บรรพชนชาวเราจึงผูกพันกับข้าวตั้งแต่นั้นมา การพัฒนาการปลูกข้าวนั้น เริ่มตั้งแต่การปลูกข้าวไร่บนที่ดอน การหว่านข้าวตามริมบึง จนมาถึงการทำนาที่ควบคุมระดับน้ำชลประทานได้ มีทั้งนาหว่านน้ำตม นาหว่านกะชุที่หว่านไว้รอฝน ส่วนที่เขมรแถบริมโตนเลสาบนอกเมืองเสียมเรียบนั้นผมเห็นชาวนาหว่านข้าวฟางลอยไว้ตั้งแต่ก่อนฝนแรก ปล่อยวัวควายเดินแทะเล็มไปพลางๆ หลังจากฝนมาน้ำฟ้าหลั่ง น้ำหน้าดินก็มาท่วมขัง

ปัจจุบัน ท่านพากันหันมาปลูกข้าวแบบกล้าต้นเดียว และล่าสุดแม่ใหญ่ท่านกำลังนำพาน้องน้อยนักเรียนทำนาโยน บางเสียงก็โอดครวญมาว่า การทำนาแบบขังน้ำเป็นบ่เกิดของก๊าซโลกร้อนไปโน่น (ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเหมือนนิทานอีสปเรื่องหมาป่ากับลูกแกะหรือไม่….) นี่ก็เกี่ยวพันกับเรื่องข้าวทั้งนั้น  

วิถีชีวิตของชาวกสิกร ต่างผูกพันกับฮีตคองประเพณีที่เกี่ยวกับ “ข้าว” นั้น มีมาตั้งแต่บุราณในทุกสังคมทุกชนชั้น เช่น พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญของพระราชา หรือพิธีแฮกนาในท้องถิ่น พิธีทำขวัญข้าว พิธีเปิดประตูเล้าข้าวหรือบุญก่ำฟ้า ไปจนถึงการแต่งพิธีไหว้สาเวลาควายพระอินทร์มากัดกินข้าว ฯลฯ

วิถีพุทธแบบสยาม รวมถึงภาคพื้นอุษาคเนย์ ก็มีงานบุญที่เกี่ยวพันกับ”ข้าว”เกือบตลอดทั้งปี อาทิเช่น บุญข้าวประดับดิน บุญข้าวสาก บุญคูณลาน บุญประทายข้าวเปลือก บุญข้าวจี่ ตานข้าวใหม่ เป็นต้น

“ข้าวกุ้มกิน” หรือข้าวพอกินตลอดปี จึงเป็นประเด็นคำถามหลักที่ผมมักใช้ถามไถ่ เพื่อเป็นดัชนีประเมินความอุดมพูนสุขของชุมชน หรือครอบครัวนั้นๆ

การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องใน สปป ลาว ท่านกำหนดไว้ว่า ประชาชนที่เสียสละเพื่อการพัฒนาโครงการ ต้องได้รับการเลี้ยงดูข้าวสารอาหารแห้งให้เพียงพอตลอดระยะเวลา ๓ปี หมายความว่าเฉพาะข้าวสารนั้น ท่านให้เลี้ยงดูคนละ ๒๕กิโลต่อคนต่อเดือน อันนี้ท่านอิงตามมาตรฐานสากล อย่างไรก็ตามทางผู้หลักผู้ใหญ่ทางฝ่ายเจ้าของประเทศท่านก็อดห่วงใยไม่ได้ว่า จะทำให้ประชาชนท่านเกียจคร้านนั่งงอมืองอเท้ารอกินข้าวฟรีหรือไม่? ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายรอการแก้ไข ไม่นับรวมถึงโจทย์เกี่ยวกับวิธีการ ว่าจะจ่ายเป็นเงินดีไหม หรือหาข้าวสารมาให้ แล้วจะควบคุมคุณภาพได้อย่างไร?  หากจ่ายเป็นเงินแล้วผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่ถนัดรถราจะไปซื้อที่ไหน? ลองชวนจัดตั้งร้านค้าชุมชนจะเป็นไร ทั้งหมดเป็นเศษเสี้ยวของโจทย์ที่ต้องค่อยๆแก้ไข

ปีนี้น้ำท่วมหนัก ข้าวกล้าเสียหาย ทั้งในที่ในลุ่มน้ำ ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา แม่กลอง รวมถึงในพื้นที่อ่างโต่งน้ำแม่โขง แม่น้ำชี น้ำมูล น้ำสงคราม ลำโดม และทางอีกเบื้องฝั่งหนึ่งของแม่ของในเขต สปป ลาว เห็นทีปีนี้ประชาชีคงหนีไม่พ้นภาวะ ข้าวยากหมากแพง ข้าวขาดแลงแกงขาดหม้อ เป็นแน่แท้

แต่ผมว่าทั้งนี้ทั้งนั้น หากเป็นคนเดินดินท่านหนึ่ง ที่ชื่อ ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธ์ ท่านคงไม่นั่งเฉยรอรับ ภาวะข้าวขาดแลงแกงขาดหม้ออย่างเด็ดขาด ครูบาฯท่านเป็นนักคิด นักทดลอง นักปฏิบัติ ที่สำคัญท่านรู้จักถอดบทเรียนแล้วนำมาถ่ายทอดได้อย่างน่าอัศจรรย์ ท่านเป็น สว(สูงวัย)ไอที ที่ผู้น้อยต้องยอมคำนับ ข้อเขียนถ้อยคำของท่านครูบา ชวนติดตาม เรียบง่าย แต่ความหมายล้ำลึก นั่นเพราะท่านถ่ายทอดมาจากของจริงที่ได้ทำจริงๆมากับมือ

มนุษย์เรา ไม่ใช่แม่เหล็กที่จะสามารถมีแรงดึงดูดคนอื่นได้ แต่สำหรับครูบาสุทธินันท์ท่านนี้ เป็นหนึ่งในจำนวนน้อยคนนักที่สามารถดึงดูดมหาชน จากมหาสาขาให้เข้ามาหาท่านได้อย่างไม่รีรอ ลองไล่เลียงดูรางวัลที่เชิดชูท่าน ลองไล่เลียงดูประดาคณะกรรมการต่างๆที่ท่านได้รับเชิญเข้าไปร่วม ไม่อาจแจกแจงได้จริงๆ ลองไล่เลียงดูพันธมิตรที่มาพัวพัน ฝากตัวเป็นน้องนุ่งลูกหลานรอบกายท่านผมว่า(หากยกเว้นผมไว้สักคนแล้ว)แต่ละท่านระดับสุดยอดหัวกะทิทั้งนั้น สิ่งใดทำให้ท่านมีแรงดึงดูดได้ถึงเพียงนี้ สิ่งนั้นคือ ท่านเป็น “ของจริง” หนังสือ บุรีรัมย์โมเดล ในมือของท่าน จึงเป็นเรื่องราว “ความจริง” ที่กลั่นกรองยกหยิบมาจาก “คนจริง” ที่ท่านสามารถนำไปใช้กับ “ชีวิตจริง” ได้แน่นอน

« « Prev : ร่ำเปิง หละปูน

Next : การพึ่งพิงป่าของพี่น้องหงสา » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.10420107841492 sec
Sidebar: 0.019471883773804 sec