จะเป็นเพียงคนแปลกหน้าผู้ผ่านทาง หรือกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือจะเป็นสิ่งเร้าภายนอกที่มากระทบสังคม

โดย silt เมื่อ 4 ตุลาคม 2011 เวลา 4:53 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1376

จะเป็นเพียงคนแปลกหน้าผู้ผ่านทาง หรือกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือจะเป็นสิ่งเร้าภายนอกที่มากระทบสังคม

ทำไมชื่อบันทึกนี้ยาวจัง แต่ก็อยากตั้งอย่างนี้แหละ ชัดเจนในความหมาย

โจทย์มีอยู่ว่า “หากคนภายนอกเช่นท่านได้เข้าไปอยู่ในชุมชนแห่งหนึ่ง ที่มีวัฒนธรรมสังคมที่แปลกต่าง ท่านจะวางตัวอย่างไร?

คำตอบข้อที่ ๑) ท่านจะทำตัวเป็นเพียงผู้ผ่านทาง หรือ “คนนอก” เหมือนเป็นนักเดินทางทัศนาจร ที่เผอิญสัญจรผ่านมาแวะพักผ่อน หากเป็นเยี่ยงนี้ ท่านก็ควรที่จะแฝงกายอยู่ในที่เร้นจำเพาะมิให้เจ้าของชุมชนรับรู้ แล้วเฝ้าเสพสิ่งที่ท่านได้มองเห็น ได้สัมผัส ท่านอาจเฝ้าชื่นชมขนบประเพณีอันสวยงามไร้สิ่งเจือปนเร้ารุมจากภายนอก แต่ท่านไม่อาจปรบมือให้พวกเขาได้ยิน ในทางกลับกัน ท่านอาจรู้สึกขัดเคือง คับแค้น หรือเศร้าโศก กับเรื่องราวความเป็นไปในสังคมนั้นๆ แต่ท่านไม่อาจเสนอหน้าไปยุ่งเกี่ยวได้

คำตอบข้อที่ ๒) ท่านพยายามย้อมสีให้ตัวเองกลืนกลมไปกับวิถีชุมชนชนิดที่มองไม่เห็นความต่าง หากเลือกตอบข้อนี้ ท่านจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่ท่านจะรู้สึกว่า “เป็นเนื้อเดียว”กับชุมชนจนเกินไป จนขาดแรงกระตุ้นที่จะไปใยดีกับความเป็นไปในวิถีประเพณีท้องถิ่น น่าเสียดายหากท่านสูญเสียฌานสมบัติด้านนี้ไป แต่ก็ไม่แน่นัก หากเมื่อใดที่ท่านพาตัวออกพ้นจากชุมชนนั้น อาจบางทีหากท่านกลับมาสู่ภาวะที่แท้จริงแห่งตัวตนท่าน เมื่อนั้นแล้ว ประสบการณ์ที่ท่านผ่านพบในชุมชนท่านจากมาก็จะกลายเป็นความทรงจำ เป็นภาพความหลังที่สวยงาม

คำตอบข้อที่ ๓) ท่านทำตัวให้โดดเด่นล้ำเหนือจนบดบัง อัตลักษณ์วิถีของชุมชน จะด้วยความหวังดี หรือด้วยกุศลจิตประการใดก็ตาม จะด้วยฐานะบทบาทของท่าน หรือด้วยความพร้อมทางทรัพยกำลัง ทรัพยปัญญาก็ตาม หามิได้ ข้าพเจ้ามิได้กล่าวหาหรือตำหนิติเตียนท่าน ทราบดีว่าท่านเองอาจจะไหลลอยไปกับการร้องขอ การยกย่อง จากสังคมนั่นเอง ทั้งนั้นทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม หากท่านต้องแสดงบทบาทดังที่ว่าแล้วไซร้ ท่านอาจสัมผัสกับความยินดีชื่นบาน “ที่ได้ช่วยเหลือ” “ที่ได้ทำดี” แต่นั่นแหละ สิ่งที่ท่านจะไม่ได้สัมผัสก็คือ ตัวตนอัตลักษณวิถีของชุมชนนั่นเอง

ก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลที่จะเลือกอยู่ตรงไหน หากท่านต้องพาตัวเองเข้ามาอยู่ในสังคมอื่น

เขียนเนื่องในบุญแข่งเรือ เมืองหงสา ที่จะจัดในวันที่ ๙ ตุลา ที่สิฮอดนี้

« « Prev : การพึ่งพิงป่าของพี่น้องหงสา

Next : ๗ ตุลา ช่อมาลาแด่ “นายคู” ที่หงสา » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

5 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 ตุลาคม 2011 เวลา 9:47 (เย็น)

    เอ้า ถามเอง ตอบเอง “ก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลที่จะเลือกอยู่ตรงไหน…”

    ประเด็นนี้ดีจัง
    - นักมานุษยวิทยา จะใช้วิธีทำตัวเป็น “คนใน” เท่าที่จะดัดแปลงได้ เช่น แต่งตัว ประพฤติ ปฏิบัติ เดินตามครรลองวิถีที่ชุมชนทำ กินสิ่งที่เขากิน ทำในสิ่งที่เขาทำ แต่นักมานุษย์วิทยามักทำตัวเป็น “คนใน” เพราะต้องการศึกษาเขา กระบวรการศึกษาที่ดีที่สุดคือการเป็น “คนใน” นักมานุษยวิทยาหลายคน แต่งงาน อยู่กินกับชนเผ่าไปเลยเพราะเขากำลังทำปริญญาเอกอยู่… แต่วัตถุประสงค์อื่นก็มี เช่น อเมริการู้ว่าจะแพ้สงครามเวียตนาม เพราะขนเอาเทคโนโลยี่ทางการรบที่ดีที่สุดมาใช้ก็ไม่สามารถชนะเด็ดขาดเหนือเวียตกงได้ สิ่งที่อเมริกาทำคือ ส่งนักมานุษยวิทยามาในคราบพลเรือนมาแต่งงานกับสาวเวียตนาม มาเป็น “คนใน” แล้วก็มาศึกษาด้านลึกว่า ทำไมอเมริกาจึงไม่สามารถชนะเวียตนามได้…..
    - พี่เตือนใจ ดีเทศน์ หรือพี่แดงของพี่ และตุ๊ ความจริงเราสนิทกันมาก เพราะ ตุ๊สมัยเป็นบัญฑิตอาสา ธรรมศาสตร์นั้น ไปอยู่กับชนเผ่าผกากญอที่แม่แฝก โดยมีพี่แดงเป็นพี่เลี้ยง…เมื่อจบโครงการ พี่แดงซึ่งเป็นสาวตระกูลสูงในสังคมกรุงเทพ นามสกุลเดิมของพี่แดงคือลงท่้ายด้วย ณ อยุธยา แต่พี่แดงไม่กลับบ้าน เดินขึ้นเขาไปทำงานกับชาวเขา และแต่งงานกับข้าราชการที่ทำงานบนเขาเช่นกัน พี่แดงเลือกใช้ชีวิตเช่นนั้นมาตลอด และพูดปกากญอ แต่งตัวปกากญอ ศรัทธา ชื่นชมวัฒนธรรม ประเพณีของเขา แต่พี่แดงก็เป็นพี่แดง ที่มองหาจุดอ่อนของสังคมปกากญอแล้วเอาสิ่งที่เหมาะสมกว่าเข้าไปแทนที่ โดยเฉพาะหลักคิดต่างๆที่เอาไปเติมช่องว่างของเขา พี่แดงมาขอนแก่นจะไม่พักโรงแรม แต่จะมาพักบ้านพี่…
    - มีการพูดกันมากว่า กลุ่มคริสเตียนทำอย่างอย่างไรจึงไปเปลี่ยน ปกากญอตลอดแนวชายแดนไทยพม่าจากการนับถือผีมาเป็นนับถือพระเจ้าได้ ซึ่งทางหลักสังคมวิทยา-มานุษยวิทยากล่าวว่า สังคมเดิมของเรานั้นนับถือผีมาทั้งนั้น แต่ก่อนก้าวมานับถือพระเจ้านั้นต้องผ่านสังคมที่ไม่มีศาสนา ก่อนจึงหันไปนับถือพระเจ้า มิชชั่นนารี ทำงานอย่างไรจึงสามารถเปลี่ยนแปลงความเชื่อคนได้ ซึ่งยากมากๆ แต่มิชชันนารีทำได้ และทำได้ดี ทำได้สำเร็จงดงาม งานพัฒนาคนทำไมไม่เรียนรู้จากมัชชันนารี เอาแต่สอนกันในห้องเรียน…
    - ไอ้ อี จากชนบท ไม่ว่าภาคไหนก็ตาม แม้มันจะมาฝังตัวในเมืองกรุง แต่คราบไครของความเป็นคนบ้านนอกก็มองออก ด้วยท่าทาง คำพูด การแต่งตัว รสนิยม..ฯลฯ แต่เมื่อแมคโดนัล เอา ไอ้ อีเหล่านี้ไปฝึก อบรม่มเพาะ แล้วออกมาเป็นพนักงาน ทั่วโลก เหมือนกันหมด แต่งตัวเหมือนกัน การรับใช้ลูกค้า การต้อนรับ มองไม่ออกเลยว่า เป็นไอ้ชนบทเมื่อวานนี้ บุคลิคภาพเปลี่ยนไปหมด แต่ด้านลึกข้างใน เขาอาจจะแอบไปหลังร้าน ฟาดส้มตำปลาร้าก็ได้ แต่เบื้องหน้า เขาไม่ใช่เด็กชนบทแล้ว

    ไม่มีข้อสรุป แต่มีแง่คิดดังกล่าว

  • #2 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 ตุลาคม 2011 เวลา 11:14 (เย็น)

    ทำให้ดีที่สุด แต่มองไม่เห็นว่าใครเป็นผู้ทำ ทำด้วยจิตว่าง ทำไปแบบเป็นกิริยา ที่ไม่มีกรรม

  • #3 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 ตุลาคม 2011 เวลา 9:49 (เช้า)

    ตอนที่เรียนเรื่องการวิจัยเชิงคุณภาพที่แคนาดา ในชั้นเรียนมักมีการให้ความเห็นขัดแย้งและให้ประเด็นชวนคิด ในคำถามคล้ายๆที่ลุงเปลี่ยนชวนคิดนะคะ

    ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยก คือกรณีของMead มาให้ชวนวิเคราะห์การทำตัวเป็น “คนใน” แบบนักมนุษยวิทยา งานของ Mead นั้นเป็นเหมือนคัมภีร์การวิจัยเชิงคุณภาพแบบชาติพันธุ์วรรณา ใช่ไหมคะ …แต่ก็มีข้อคิดเห็นในแง่มุมว่า

    นักวิจัยที่เข้าไปอย่างนั้น คือเพื่อไปศึกษาและเขียนรายงานให้ได้เนื้อหาที่ “ลึกซึ้ง” ที่สุด โดยจะอธิบายคนถูกวิจัยก็เกรงได้ข้อมูล “ไม่จริงๆๆแท้ๆๆ” แต่ก็คือไปสังเกตศึกษา “คนอื่น” อะไร ทำตัวเนียนๆ แล้วเก็บข้อมูลทั้งหมดไปวิเคราะห์ว่า เป็นนักวิจัยที่ขาด “การแบ่งปันเยี่ยงมนุษย์” เพราะ นักวิจัยไม่เคยบอกคนถูกวิจัยว่ากำลังทำอะไร เมื่อท่านกลับออกไป ท่านย่อมได้ชิ้นงาน ได้ตำแหน่งยศฐา ขณะที่การเคลื่อนตัวของท่านระหว่างเป็นคนใน วิถีการกินอยู่ การคิด มันก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนไม่มากก็น้อยนั้น….ท่านได้รับผิดชอบอย่างไร

    อีกกรณีคือเรื่องจริงๆ ที่เกิดขึ้นกับนักศึกษา ป. เอก รายหนึ่ง ที่ไปศึกษาชนเผ่าพื้นเมืองหนึ่ง เขาทำตัวได้กลมกลืนได้รับการยอมรับเป็นเพื่อนกับคนที่นั่น แบ่งปันสาระทุกข์สุขดิบ เเมื่อครบโปรเจก เขาจะออกจากพื้นที่ ชนเผ่าก็จัดงานเลี้ยงอำลา งานสนุกสนานมาก ทุกคนร่าเริงมีความสุข …ก่อนแยกย้ายกันกลับ หัวหน้าชนเผ่าก็มาจับมือแสดงความยินดีและบอกว่า “ที่นี่ยินดีต้อนรับคุณเสมอ ขอให้คุณไปประสบความสำเร็จในชีวิตการงานและการเรียน …เมื่อคุณประสบความสำเร็จแล้วขอให้คุณกลับมาเยี่ยมเราอีก แล้วเราจะบอกความจริงทั้งหมดให้คุณ”

    ยกสองกรณีนี้มาชวนคิดค่ะ ว่า….ในความเห็นของแต่ละท่าน รู้สึกอย่างไร และคิดเห็นอย่างไรบ้าง

  • #4 silt ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 ตุลาคม 2011 เวลา 10:33 (เช้า)

    ขอบพระคุณครับ
    มุข อุ๊ยเจ๋งจริงๆ “…แล้วเราจะบอกความจริงทั้งหมดให้คุณ ฮ่า ฮ่า”

    ที่หงสา อาจจะต่างออกไปตรงที่คนต่างถิ่นจำนวนมาก มีรถ มีทรัพย์ เป็นหัวหน้า อะไรประมาณนี้ ที่เข้ามาอยู่ในชุมชน ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อท้องถิ่นได้ในวงกว้างครับผม

  • #5 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 ตุลาคม 2011 เวลา 12:15 (เช้า)

    งานของ Margaret Mead เป็นคัมภีร์ของนักมานุษยวิทยา จริงๆ
    งานของคนไทยก็มีที่น่าสนใจหลายเล่มเช่น งานของ อ.ดร.ปริตตา เขียนเรื่อง “คนใน” งาน “ยกกระบัตร” ของ อ.อคิน งาน “กู่แดง” ของ….. งานของ อ.สุเทพ สุนทรเภสัช (อ.คณะสังคมศาสตร์ มช. สมัยพี่เรียน) งานของ อ.ฉลาดชาย รมิตานนท์ แม้งานของ อ.ที่รักของ สุทธิจิตต์ งานเรื่อง “บางชัน” ของฝรั่ง จำชื่อไม่ได้

    หรือหากเปลี่ยนกลับไปเชียงใหม่ แนะนำให้ไปคุยกับ คุณพ่อนิพจน์ เทียรวิหาร เป็นพระคริสเตียนที่สังฆมณทล เชัยงใหม่ ท่านเป็นคนแรกในเมืองไทยที่ยกเอาเรื่องการพัฒนาแนวทางวัฒนธรรมมาพูด เขียน และนักพัฒนาเอามาศึกษาจนดังเป็นพลุแตก แล้ว ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ก็เดินแนวชุมชนมาตลอดทั้วที่ท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์

    มีหนังสือที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่เปลี่ยนควรหามาอ่านคือเรื่อง “การเป็นสมัยใหม่กับแนวคิดชุมชน” โดย อาจารย์ดร.ฉัตรทิพย์ พี่คิดว่านักพัฒนาทุกคนควรหามาอ่าน หรือคนที่ทำงานเกี่ยวกับคนชนบทควรศึกษาเล่มนี้ เข้าใจว่าหายากมาก พี่ตามหา 3 เดือนเพิ่งได้มา เพราะไม่มีขายในร้านหนังสือ ต้องไปที่ จุฬา

    ประเด็น Post Modern นั้นเป็นเรื่องที่นักพัฒนาและนักวิชาการกลุ่มหนึ่งคุยกันมานาน แต่พี่ไม่ค่อยได้ตามเรื่องนี้ เรื่องนี้ก็น่าสนใจมากๆ เพราะ

    ชุมชนถูกทุนนิยม(กระแสหลัก)กระทำย่ำยีไปทั่วสารทิศ
    ชุมชนไม่เป็นตัวของตัวเอง(กระแสรอง)เท่าที่ควร
    ชุมขนกลุ่มไหน พื้นที่แบบไหน เผ่าพันธ์ใด โครงสร้างชุมทชนแบบไหนที่ต้านกระแสหลักได้ทนทาน และปรับตัวได้ดีที่ไม่เป็นทาส

    ทำไมชุมชน “อโศก” ทั้งหลายจึงดูเหมือนเป็นกลุ่มเดียวที่ต้านกระแสหลักได้ดีที่สุด เป็นตัวของตัวเองได้ดีที่สุด เพราะอะไร ทำไม อย่างไร ???
    ศาสนา ความเชื่อ ความศรัทธา อุดมการณ์ ฯลฯ อะไรคือแก่นแกนของตัวชี้ขาดว่าจะต้องสร้างขึ้นมาเพื่อการคงอยู่ที่เหมาะสมที่สุด…..


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.085302114486694 sec
Sidebar: 0.017054796218872 sec