ชุดบันทึก เรื่องไม่เล็ก ๑ คำกล่าวรายงานปิดกองประชุม

3 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 22 มิถุนายน 2011 เวลา 3:56 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1882

(๑) คำกล่าวรายงานสรุปงานสัมมนาว่าด้วย “งานช้างไชยะบุรี”

งานช้างเข้าครับ งานช้างจริงๆ ช้างที่มีงวง มีงา มีหูมีตา….หางยาว…….

มีโอกาสได้ไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง”ใหญ่” (ที่อย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ) นั่นก็คือเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาวางแผนจัดการ “ช้างและการจัดบุญประเพณีบายศรีช้าง” ของแขวงไชยะบุรี ซึ่งเป็นงานที่สร้างความปรีดาไม่น้อย ด้วยว่า ทีมงานที่เข้ามาศึกษาก็เป็นพรรคพวกเก่าที่สนิทชิดเชื้อ อีกทั้งเรื่องเกี่ยวกับเจ้าตัวมีงวงนี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ และตัวเองก็เคยได้ศึกษาช้างไทยมาหน่อยหนึ่งเมื่อครั้งกระโน้น..กับโครงการที่มีชื่อสุดหรู “สร้างโลกใหม่ให้ช้างไทย” (สร้างได้หรือไม่ได้ก็ไม่รู้ แต่ที่ยังรู้ยังเห็นก็คือทุกวันนี้ยังมีช้างมาหาเงินในเมืองใหญ่อยู่ดาษดื่น…..)  

ไปทำอะไรในกองประชุมสัมมนาบ้าง? ไปช่วยจัดห้องประชุม (ว่าคณะประธานท่านใดจะนั่งตรงไหนตามลำดับความสำคัญในพรรค) ติดต่อยื่นหนังสือขออนุญาตจัดกองประชุม  ส่งหนังสือเชิญ ดูแลแนะนำเรื่องการจ่ายอัตรากิน(เบี้ยประชุม)ให้ตรงกับตำแหน่งระดับขั้นของผู้ร่วมสัมมนา แล้วก็กล่าวรายงานประธานในพิธีเปิด แล้วเป็นวิทยากรบรรยาย เป็นพี่เลี้ยงกลุ่มย่อย ช่วยประกอบความเห็น ทำบทสรุปและกล่าวรายงานก่อนปิดการสัมมนา พอเสร็จงานเห็นร่างกระดาษต่างๆที่ได้ขีดเขียนไว้ในระหว่างการประชุมสัมมนา จะขยำทิ้งก็น่าเสียดายหากนำมาถ่ายทอดก็ไม่เสียหาย  

จึงขอเปิดชุดบันทึกนี้ด้วย ร่างคำกล่าวรายงานสรุปต่อท่านประธานก่อนที่จะเชิญท่านกล่าวปิดกองประชุม

“เรียนท่านหัวหน้าแผนกท่องเที่ยวแขวงฯที่เคารพนับถือ เรียนท่านหัวหน้าแขนง หัวหน้าห้องการ นับถือฮักแพงวิชาการ นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ที่เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน ข้าพเจ้าในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ ได้รับการมอบหมายจากผู้พัฒนาโครงการให้ต่างหน้ามาร่วมสัมมนาในครั้งนี้ ขออนุญาตรายงานสรุปความเป็นมา และเนื้อในของการจัดกองประชุมสัมมนาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดเทศกาลงานบุญช้างอันเป็นประเพณีประจำปีของแขวงไชยะบุรี อันนี้ก่ย้อนว่า ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของช้าง คนเลี้ยงช้าง และประเพณีการจัดงานบุญช้างอันเป็นเอกลักษณ์ของแขวงไชยบุรี โดยเฉพาะก่แม่นในเมืองหงสา ซึ่งเเป็นพื้นที่พัฒนาโครงการ ดังนั้นผู้พัฒนาโครงการ ธนาคารเจ้าของเงินทุน และทางพรรคทางรัฐผู้กำกับเบิ่งแยงโครงการ จึงเห็นพ้องกันว่า จำเป็นต้องหาเชี่ยวชาญมาทำการศึกษาวิจัย ซึ่งเราได้บริษัทที่ปรึกษาจากประเทศญี่ปุ่นมาเป็นผู้ศึกษาวิจัย โดยได้เริ่มเข้ามาศึกษาสภาพตัวจริง ตั้งแต่เดือนกุมภาในระหว่างที่มีงานบุญช้างที่เมืองปากลาย ในเทื่อนั้นทีมงานเชี่ยวชาญวิชาการได้ลงเก็บกำข้อมูลรอบด้าน เป็นต้นแม่น การสัมภาษณ์นักท่องเที่ยว นักธุรกิจชาวขาย กรรมการจัดงาน ควาญช้าง ภายหลังจากเสร็จงานบุญช้างแล้ว คณะผู้ศึกษายังได้สืบต่อเก็บกำข้อมูลรายละเอียด จากบุคคล และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนถึงการประชุมระดมความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มย่อยภายในเมืองที่เกี่ยวข้อง ประกอบมี เมืองปากลาย ทุ่งมีไซ ไชยะบุรี และเมืองหงสา แล้วจึงได้วิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดที่สังลวมได้

การจัดกองประชุมสัมมนาในครั้งนี้เป็นอีกเทื่อหนึ่งของขั้นตอนการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ ประการแรก เพื่อผ่านบทรายงานผลการศึกษาที่ได้เก็บกำข้อมูลในเทื่อที่ผ่านมาให้บรรดาท่านได้กวดกาดัดแก้ ประการที่๒ เพื่อเป็นการระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่างเมือง และระหว่างภาคส่วนต่างๆเกี่ยวกับการจัดงานบุญช้างที่ผ่านๆมา และประการที่ ๓ เพื่อวางแผนการจัดงานบุญช้าง ตลอดจนการสร้างแผนรองรับสำหรับช้าง และคนเลี้ยงช้างให้สามารถอยู่ได้อย่างยืนยงในแขวงไชยะบุรี

ภาคส่วนที่เข้าร่วมการประชุมสัมมนาเทื่อนี้ ประกอบมี  ผู้แทนจากบรรดาห้องการระดับแขวง และเมือง มีบรรดาผู้แทนจากสมาคมการค้า ธุรกิจการท่องเที่ยวภาคเอกชน มีคณะกรรมการจัดงานบุญช้างระดับแขวง เมือง และระดับบ้าน และนอกจากนั้นยังมีบรรดาเจ้าของช้างจากเมืองต่างๆที่เคยนำช้างมาร่วมงาน  แล้วก็ยังมีผู้แทนจากองค์กรพัฒนาภาคเอกชนอันได้แก่ อีเลฟองซ์อาซี (มูลนิธิอนุรักษ์ช้างอาเซีย) และโครงการพัฒนาชนบทจากเยอรมัน (GTZ)

พวกเฮาได้เฮดเวียกอย่างคุ้มเคี่ยวมาตลอดสองมื้อ หมากผลที่ได้รับมีเนื้อในสรุปได้ดังนี้

 มื้อทำอิด พวกเราได้ร่วมกันพิจารณาการผ่านบทรายงานผลการเก็บกำข้อมูลของคณะที่ปรึกษา ในนั้นหมู่เฮาได้รับฮู้เถิงมุมมองของนักท่องเที่ยว เกี่ยวกับการจัดงานบุญช้างของพวกเฮา ทั้งในด้านความประทับใจ และข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงด้านต่างๆ ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับสถิติตัวเลข และข้อเท็จจริงต่างๆเกี่ยวกับสภาพปัจจุบันของช้างและการเลี้ยงช้างภายในแขวงไชยบุรีนั้น พวกเฮาเห็นว่าคณะผู้ศึกษา ได้เก็บกำสังลวมได้อย่างถูกต้องเป็นส่วนหลาย มีเพียงข้อปลีกย่อยเล็กๆน้อยๆเท่านั้นที่ต้องดัดแก้

ในตอนสายของมื้อทำอิด (บ่ายโมงกว่าๆ….ผู้เขียน) กองประชุมสัมมนาได้ร่วมกันวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนโดยใช้กระบวนการ SWOT นอนอยู่ในนั้น พวกเราได้วิเคราะห์ว่า จุดแข็ง(S) ของการจัดบุญช้างของแขวงไชยบุรีนั้นมีหลายๆด้าน เป็นต้นแม่น การที่แขวงไชยบุรีเฮายังมีช้างเลี้ยงหลายกว่าหมู่ ประชาชนบันดาเผ่ามีความสมัครสมานสามัคคี มีสถานที่ท่องเที่ยวภายในแขวงหลายบ่อน อย่างไรก่ตามสำหรับจุดอ่อน (W) ในการจัดงานของพวกเฮาก็ยังคงมีอีกหลายด้าน ในนั้นส่วนหลายก่แม่นความบ่สดวกความบ่พร้อมในการกะเกียมสะถานที่ การเดินทาง และการเผยแพร่ควบคุมตาตารางการแสดงเป็นต้น ในด้านปัจจัยภายนอกที่เป็นโอกาส(O)ที่จะมาส่งเสริมผันขยายการจัดบุญช้าง พวกเฮาก่ได้วิเคราะห์ว่ายังมีหลายภาคส่วนองค์กรมหาชน เอกชนต่างๆจากภายนอก ที่มาซุกยู้ส่งเสริมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลนิธิช้างเอเชีย และสุดท้ายพวกเฮาได้เว้ากันถึงปัจจัยภายนอกที่เป็นความเสี่ยง (T) ต่อการจัดบุญช้าง เป็นต้นแม่น นโยบายการปิดป่า การพัฒนาทางอุตสาหกรรม และการขุดค้นบ่แร่

ในตอนแลงของมื้อทำอิด พวกเฮาได้ช่วยกันกำหนดทิศทางและวิสัยทัศน์ของการจัดบุญช้าง   ผ่านการอภิปรายค้นค้วา สุดท้ายก่ได้ข้อสรุป ทิศทางและวิสัยทัศน์การจัดบุญช้างไว้ว่า “สืบต่อการจัดบุญประเพณีบายศรีช้าง สืบทอดฮีตคองบูฮาณ”

สำหรับในตอนเช้า จนฮอดตอนแลงของมื้อนี้ กองประชุมสัมมนา ได้แบ่งกลุ่มย่อยออกเป็นแต่ละเมือง แล้ววางแผนการจัดงานบุญช้าง โดยอาศัยการถอดถอนบทเรียนที่ผ่านมา แต่ละเมืองที่ได้หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดงาน ได้วางแผนการจัดงานซึ่งประกอบมี การวางแผนผังสถานที่บ่อนจัดงาน บ่อนเวทีแสดง ก้อนกำลัง(ขบวนพาเหรด….ผู้เขียน) ตาตะลางการแสดงของช้างและการแสดงศิลปะวัฒนธรรม การวางแสดงสินค้า การกะเกียมต้อนรับแขกเกียรติยศ(วีไอพี) แขกต่างด้าวท้าวต่างแดน และพี่น้องที่มาร่วมงานทั้งในด้านบ่อนพัดเซา ร้านอาหาร บ่อนรับชมการแสดง บ่อนประชาสัมพันธ์

ตีรวมแล้วถือว่าการประชุมสัมมนาครั้งนี้ ประสบผลสำเร็จเกือบร้อยส่วนร้อย

บรรดาท่านที่นับถือ

เวียกงานเกี่ยวกับช้างและการอนุรักษ์ช้างของแขวงไชยบุรีนี้ ทางผู้พัฒนาโครงการ และเจ้าของแหล่งทุน ภายใต้การชี้นำของพรรคของรัฐ ได้ตีราคาสูง(ให้ความสำคัญสูง…..ผู้เขียน) ย้อนว่าช้างเป็นสัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองลาวมาแต่โดนนานบูฮานกาลพู้น ดั่งนั้น จึงบ่เพียงแต่พวกเฮาจะมาวางแผนเฉพาะการจัดบุญช้างเท่านั้น พวกเฮายังต้องสืบต่อเวียกงานการวางแผนอนุรักษ์ช้างและการส่งเสริมให้คนเลี้ยงช้างสามารถมีชีวิตการเป็นอยู่ที่ดี มีรายรับที่เหมาะสม และเบิ่งแยงช้างให้มีความสบายตามอัตภาพ บ่ใช้งานจนหลายเกินกำลัง ซึ่งแน่นอนว่าทางโครงการฯที่ข้าพเจ้าเฮดเวียกอยู่นี้ต้องสนองงบประมาณให้ตามความเหมาะสม

อีกเทื่อหนึ่ง ข้าพเจ้าในฐานะต่างหน้าโครงการ และต่างหน้าของบริษัทที่ปรึกษาที่มาจัดสัมมนาในครั้งนี้ ขอแสดงความรู้บุญคุณ ทางคณะนำที่ได้กรุณาเข้าร่วมประกอบความคิดความเห็น ขอแสดงความรู้บุญคุณบรรดาท่านที่ได้สละเวลามาร่วมประชุมตลอดสองมื้อนี้

ขอขอบใจ

และขอเรียนเชิญท่านประธานขึ้นกล่าวให้โอวาท ให้ทิศชี้นำ และปิดกองประชุม…..ขอเรียนเชิญ

 หนังตัวอย่างตอนต่อไป

 (๒) ถอดบทเรียน จากการจัดงานช้าง “ท้องถิ่น ศูนย์กลาง สากล” หากไม่ยึดช้างเป็นตัวกลางระวังจะล้มเหลว

( คำสำคัญ บายศรีแล้วต้องพัก ช้างติดสัญญาจ้าง นักจัดงานมีอาชีพเหมาจัดการระวังชาวบ้านไม่ได้อะไร การมีส่วนร่วมภาคท้องถิ่น)


ส่งให้เดินทางข้ามผ่านภพ

6 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 11 มิถุนายน 2011 เวลา 6:32 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1265

บันทึกนี้ไม่เหมาะสำหรับ”คนซึมเศร้า” โปรดอย่าอ่านยามวิกาลหากท่านอยู่คนเดียว

เป็นเรื่องราวธรรมชาติของวงจรการทำงานทางสังคม ที่ต้องพาตัวเองเข้าไปพัวพันเป็นสักขีพยานในหลากหลายพิธีกรรม ไม่ว่าจะเป็น กินแขกแต่งดอง ทำขวัญเดือนแอน้อย(ผูกแขนทารกอายุครบเดือน) อุ่นเดือน(ไปเยี่ยม ดื่ม เล่นไพ่ เป็นเพื่อนคนอยู่ไฟ) รับโชค ผูกแขน ขึ้นบ้านใหม่ เฮดกองทานเฮือนผ้า แปลว่าอะไรบ้าง บางงานก็เขียนเล่าไว้ในบันทึกก่อนๆ แต่บางงานก็ยังไม่ได้เขียน….ขอแปะไว้ก่อนครับ

แต่วันนี้จะบันทึกเกี่ยวกับประเพณีหลังความตาย หรือ การ”ส่งสะก๋าน”

อันที่จริงผมก็สนใจประเพณีหลังความตายมาบ้างแล้ว หลังจากที่ได้ยินเพื่อนร่วมงานท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อน ท่านเคยเห็นงานส่งสะก๋านคนไทกลุ่มหนึ่งริมน้ำโขง ท่านส่งสะก๋านโดยการต่อแพไม้ไผ่ เอาร่างผู้วายชนม์วางบนแพกางร่มแดงให้ แล้วฝากธาราแม่ของพาร่างไหลล่องเดินทางข้ามภพ มีโอกาสผมจะดั้นด้นไปเมืองนั้นไปพูดคุยกับคนเก่าๆถึงรายละเอียดดูสักครั้ง แล้วจะนำมารายงานครับ

ภาษาหงสา “เฮือนดี หมายถึงบ้านที่กำลังมีผู้เสียชีวิต” “ขอน คือ ร่างที่ไร้ลมหายใจ”

กลับจากแปลงสาธิตบ่ายแก่ๆของวันศุกร์ วันนี้ฝนตกหนักเกรงจะออกจากพื้นที่ไม่ได้ จึงพาพี่น้องกลับก่อนค่ำ แวะส่งคนงานที่หมู่บ้านจัดสรร มีคนวิ่งมาแจ้งข่าวร้าย ข่าวการจากไปของอดีตพนักงานท่านหนึ่ง ที่ป่วยเรื้อรังยากที่จะรักษา ตามการพยากรณ์โรค และตามประสบการณ์ที่คนรอบตัว(รวมถึงพ่อ)ที่จากไปด้วยโรคไตวาย พอเห็นผลเลือดตอนที่ตรวจร่างกายชาวบ้าน ผมก็ทราบว่าอย่างไรก็ต้องเกิดสักวัน แต่เป็นการรู้ที่เหมือนน้ำท่วมปาก บอกใครก็ไม่ได้ยกเว้นไปปรึกษาท่านหมอที่โรงหมอแขวงสองท่าน เพราะอยากจะยื้อเวลาในการเข้าอยู่บ้านใหม่ให้นานอีกสักหน่อย ไม่อยากให้มีงานสีดำในช่วงนี้ ดังนั้นสำหรับผู้จากไปรายนี้ไม่สนิทก็เหมือนสนิทกัน เพราะติดตามเรื่องราวอยู่ตลอด

เดินฝ่าผู้คนและเสียงร่ำไห้ไปนั่งข้างร่างที่นอนสงบ ปลอบโยนให้กำลังใจคนข้างหลังไปตามโอกาส โลกช่างสีดำเทาทมึนเพราะเป็นช่วงที่ญาติทยอยกันมาถึง คนนี้มาร้องคนโน้นมากอดร่างคร่ำครวญ เห็นท่าจะปรึกษากันเรื่องงานในบ้านไม่ไหว ค่อยๆปลีกตัวออกมาดูภายนอก เห็นผู้ชายพากันแบกไม้กระดานมาคนละแผ่นสองแผ่น พร้อมฆ้อน ตะปู เลื่อย แว่วๆได้ยินเสียงคนพูดถึงกระดาษสี หมึก กาว ผ้าขาว และเครื่องใช้อีกสองสามอย่าง เลยรีบเสนอตัวออกไปจัดหาที่ตลาดแล้วขออนุญาตแวะลงจัดการกับตัวเองทั้งเรื่องอาหารใส่ท้องและยาเพื่อเตรียมตัวไปรอบดึก ไหว้วานทีมงานช่วยนำของไปส่ง ช่วยเป็นธุระพาพี่น้องไปซื้อหมูมาหนึ่งตัวเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงแขก แล้วก็ไปรับพระ ไปขนโต๊ะเก้าอี้

ค่ำๆทีมงานมารับ ไปฟังสวดหนึ่งจบ แล้วก็เป็นรายการอยู่เป็นเพื่อน ที่นี่ถือเป็นหน้าที่ที่คนทุกครอบครัวต้องมีตัวแทนมาอยู่เป็นเพื่อน “เรือนดี” หมายถึงให้มาอยู่ตลอดคืน ได้ยินว่าบางหมู่บ้านมีการขานชื่อกันตอนหกโมงเช้าหากครอบครัวไหนขาดมีการปรับไหมสี่สิบพันกีบ ก็นั่งคุยกันเป็นวงๆแล้วแต่ใครสนใจเรื่องไหน มีเมี่ยง บุหรี่ เหล้าขาวไว้บริการ มีเลี้ยงข้าวรอบดึก แล้วก็มีวงไพ่ เล่นกินน้ำ กินเหล้า กินลูกอม ทั้งในบ้านนอกบ้านมีเกือบยี่สิบวง แต่เห็นมีวงที่เล่นกินเงินกีบกันเพียงเจ้ามือเดียวเท่านั้น ผมขอตัวกลับตอนใกล้ตีหนึ่ง กลับมาอาบน้ำ สระผมเสร็จตอนตีสอง

เช้าวันเสาร์ไปถึงบ้านเรือนดีราวสิบโมง เห็นคนวิ่งมาขอรถไปรับพระมาสวดรอบที่๑ ใช้พระเณรแปดรูปบทสวดไม่คุ้น (ก็จะคุ้นได้อย่างไรไม่ได้ไปงานสีดำเต็มๆแบบนั่งแถวหน้าอย่างนี้สักที) ถามพ่อเฒ่าข้างๆท่านว่ามีสองยก ยกแรกเรียกสวดกุสลา ยกสองเป็นสวดเทวดา แล้วก็ไปส่งพระที่วัด อีกสักพักราวครึ่งชั่วโมงก็พาพระท่านมาสวดอีกรอบที่๒ แล้วก็นิมนต์ท่านกลับไปรับเพลที่วัด รถรอรับท่านกลับมาสวนรอบที่๓ นิมนต์ท่านไปพักผ่อนอีกหน่อย ระหว่างนี้ผมอาสาแว๊ปออกไปซื้อน้ำมันมาสามแกลลอน ปรากฏว่าไม่มีแกลลอนเปล่าให้ยืมทั้งๆที่เห็นๆว่ามีกันอยู่โทนโท่ มีคนมากระซิบว่าเอาแกลลอนไปใช้ในการนี้เขาไม่ยืมกัน เลยใช้วิธีใหม่”ขอ… ไม่ใช่ยืม” มีคนไปหยิบมาให้จนเกินพอ อืม….แล้วก็มาสวดรอบที่๔ เป็นชุดใหญ่ก่อนที่จะทำการเคลื่อนย้ายไปสุสาน

ไม่สามารถหารถบันทุกไปได้ ด้วยความเชื่อของคนทางนี้ที่แม้แต่ญาติพี่น้องกันก็ไม่อยากทำ ที่หมู่บ้านอื่นมีรถอีแต๋นที่รับงานนี้โดยเฉพาะแต่ช่วงนี้พัง (หากเป็นพนักงานมักจะใช้รถของหน่วยงานไม่ใช้รถส่วนตัว) เจ้าภาพก็ออกจะเกรงใจในข้อนี้เกินกว่าที่จะออกปากขอ หนุ่มๆจึงเสนอตัวว่า ใช้วิธีแบกไส่ไม้คานหามสี่ผลัดกันไป เกือบสองกิโลครับท่านฝนก็ปรอยๆ รถทีมงานผมใช้ขนส่งพระเณรล่วงหน้าไปก่อน ขณะเคลื่อนขบวนโดยการหามและมีเณรเดินนำหน้า ผมก็เดินจ้ำเดินตามขบวนแทบไม่ทัน อาสาเดินเพราะอยากไปส่งและไม่อยากอยู่ที่บ้านท่ามกลางเสียงร้องไห้อาลัยของบรรดาญาติฝ่ายหญิงที่ไม่สามารถร่วมมาส่งได้ เจ้าหน้าที่อาวุโสทีมงานผมสองท่านอาสาอยู่เป็นเพื่อนฝ่ายหญิง การเคลื่อนขบวนงานนี้มีแต่ผู้ชายเท่านั้น แต่ละคนขัดมีดใส่ฝักสวยไว้กับเอว มีคุณแม่บ้านท่านหนึ่งเรียกผมไว้บอกว่าจะหามีดมาให้พอดีท่านเห็นสร้อยคอผมโผล่จากคอเสื้อท่านเลยบอกว่า “มีคำแล้วบ่ต้องเอามีดไปกะได้” เป็นความเชื่อที่ว่าเวลาไปสถานที่แห่งนี้ป่าอย่างนี้ต้องพกของแข็งของคมไปด้วย สิ่งชั่วร้ายจะทำร้ายไม่ได้ ยกเว้นเจ้านายที่มีทองคำท่านว่าป้องกันได้ทุกอย่าง (อย่างนี้นี่เองทองคำถึงเป็นโลหะมีค่า)

ป่าเฮ่ว ป่าช้า ป่ากำ เป็นป่าประเพณีที่จำเป็นและชาวบ้านปกปักรักษา ไม่เหมือนบ้านเราหลายแห่งที่รถไถมักจะบุกรุกป่าเฮ่ว แต่ที่นี่ยังคงเป็นป่าไม้ดงหนา ป่าไม้เป็นขน ต้นไม้ขนาดใหญ่หลายคนโอบ มีเถาวัลย์ห้อยระโยงระยาง ทรงพุ่มเบียดชิดจนแดดส่องไม่ถึงพื้น ตะไคร่น้ำเกาะตามต้นไม้ พรมหญ้าพื้นล่างรกทึบแน่นหนา ต้องเดินผ่านป่าสภาพอย่างนี้เข้าไปจนลึก จนถึงที่ประกอบพิธี ที่ที่หมู่ไม้เปิดโล่งไว้หน่อยหนึ่ง มีคนมาเตรียมการไว้ มาเอาฟืนใส่เชิงตะกอน มาก่อกองไฟเล็กๆไว้หนึ่งกอง แล้วก็มีไม้แปก(ไม้สน)เป็นท่อนๆยาวคืบกว่ากองไว้ห้าหกสิบชิ้น

พระท่านไม่ได้บังสุกุลที่สี่มุมเหมือนบ้านเรา แต่ท่านยืนเรียงแถวด้านทางหัว จับด้ายโยงแล้วก็สวดอีกหนึ่งจบ คนที่ร่วมขบวนมาส่งมีราวห้าสิบคนแต่มีคนปฎิบัติการจริงๆหกเจ็ดคน ที่เหลือก็แล้วแต่”ความกล้า” ว่าจะเข้าไปช่วยใกล้เพียงไหน บางคนก็ยกเสื้อขึ้นปิดจมูก ขั้นตอนที่มีการคว่ำหีบหลายคน(รวมถึงผมด้วย)ก็หันหลังให้ เมื่อจัดแจงเสร็จแล้ว ท่านก็เอาท่อนไม้สนไปจุดไฟในกองถือไปให้พระท่านเอาไปจุดในเชิงตะกอน พระท่านใส่ท่อนไม้ไฟ(บ้านเราคงเป็นดอกไม้จัน…เขียนไม่ถูกแหงๆ ขออภัย) ครบแล้วก็เป็นรอบของชาวบ้านต่างก็ถือไปคนละท่อนวางที่กองฟอนพร้อมอวยชัยให้พรให้ผู้เดินทางข้ามภพ

พระท่านอยู่เป็นเพื่อนสักครู่ก็เดินทางกลับ งานนี้ลุงเปลี่ยนพลาดที่ไม่ได้กลับพร้อมท่าน เพราะหลังจากนั้นชาวบ้านก็อยู่เป็นสักขีพยานการเดินทางข้ามผ่านแม้ว่าบางคนอยู่แบบห่างๆไม่มองกองไฟ ไม่มีใครขยับตัวกลับ มีเจ้าภาพรินเหล้าขาวจอกเล็กๆเวียนแจกทุกคน เมื่อรับมาแล้วผมเห็นเขายกมาจิบนิดหนึ่งส่วนที่เหลือเทล้างมือ อืม…น่าจะเป็นกุศโลบายของคนโบราณเพื่อลดการติดเชื้อกระมัง

ท่ามกลางบรรยากาศเงียบสงบ เสียงผู้คนพึมพำแผ่วทุ้ม เสียงลูกไฟแตกเปลวไฟสะบัดไหว เสียงลมพัดต้องใบไม้ซู่ดัง น้ำค้างยอดไม้ร่วงกราว เสียงกิ่งไม้เป๊าะหัก เสียงสูงต่ำของหมู่นก ตัวฮอกตัวไหน่กระรอกกระแตผลุบโผล่ไต่เต้น ผมเริ่มมองลึกลงไปในตัวตน ในจิตใจ และมองเห็นธรรมชาติ ว่าที่สุดทุกคนก็ต้องกลับสู่ผืนดิน (ไม่แน่ใจว่าเจ้าเหล้าจิบแรงๆนั้นจะเป็นตัวเร่งหรือไม่) เราอยู่เงียบๆกันอย่างนั้นกว่าหนึ่งชั่วโมง

เดินออกจากป่า ทุกคนเปลี่ยนทิศทางพาตัวเองผ่านวัด บางคนก็แวะไหว้พระเจดีย์ แล้วพวกเราก็กลับมายังบ้านงาน ทุกคนต้องไปที่กระด้งหน้าเรือนที่มีด้ายผูกข้อมือ หัวข่าหั่นแว่น มีด และเคียววางอยู่ แม่เฒ่าเรียกผมเข้าไปท่านให้เอาด้ายพันข้อมือหลวมๆพร้อมอวยชัยให้พร ให้แคล้วคลาด ให้ข่า(ม)ให้คง พร้อมจับมีดกับเคียวแตะแขนเบาๆ

ฝ่ายหญิงที่ไม่ได้ไปป่าด้วย จัดแจงแต่งดาสำรับกับข้าวและเหล้าไว้รอ ส่วนผมนั้นมีเวียกประชุมตอนสี่โมงแลงต้องขอตัวกลับ   คืนนี้พี่น้องคงจะมาอยู่เป็นเพื่อนกันจนค่อนรุ่ง จนถึงอีกหลายๆคืน ข้อนี้ผมไม่ห่วง เพราะ”สายใยสังคม”ของที่นี่ยังเหนียวแน่นยิ่งนัก

จบบันทึก แต่ยังไม่จบงาน


บอวอรอ (บวร) บ้านวัดโรงเรียน

3 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 25 พฤษภาคม 2011 เวลา 11:09 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1794

บ้านวัดโรงเรียน เป็นแนวทางการประสานการพัฒนาชุมชน ที่ผมได้ยินบ่อยๆสมัยที่ทำงานพัฒนาชุมชนในแถบอีสาน

แต่เรื่องที่จะเล่าในบันทึกนี้เป็นเรื่องราวของ บอวอรอ ในหงสา

สถานการณ์ในการสืบสานพุทธศาสนาในเมืองหงสาทุกวันนี้ ก็คงจะคล้ายกับที่บ้านเรา ในด้านที่ทุกวันนี้หาคนบวชเข้าวัดได้ยากขึ้นทุกที โดยเฉพาะการที่จะหาเด็กที่สมัครใจมาบวชเป็นสามเณร เนื่องจากเดี๋ยวนี้พ่อแม่ต่างก็อยากให้เด็กๆได้เข้าโรงเรียน ไม่เหมือนสมัยก่อนที่การบวชเรียนเป็นทางเดียวที่จะทำให้กุลบุตรได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน แต่ทุกวันนี้หากบวชก็หมายถึงตัดโอกาสไม่ให้เด็กได้เรียน “ทางโลก” ที่เมืองหงสายังไม่มีโรงเรียนสำหรับพระเณร หากจะเรียนต้องเข้าไปอยู่ที่ตัวแขวงไชยะบุรีห่างออกไปกว่า ๙๐ กม.โน่น

บ้านเวียงแก้ว เป็นหมู่บ้านชาวลาวลื้อที่ดุหมั่นขยันขันแข็ง ได้รับการประกาศเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมหมู่บ้านที่ ๒ของประเทศลาว เศรษฐกิจของชุมชนบ้านเวียงแก้วนอกจากจะมีรายได้จากภาคกสิกรรมอันได้แก่ ข้าว และกระเทียมแล้ว แม่ยิงลาวลื้อบ้านเวียงแก้วยังมีฝีไม้ลายมือในการทอผ้าลายน้ำไหล และผ้าฝ้ายต่างๆศิลปะเอกลักษณ์ชาวลื้อที่เป็นที่ขึ้นหน้าขึ้นตา ชาวบ้านเวียงแก้วยังมีการเลี้ยงช้างเกือบยี่สิบตัว การจัดงานบุญช้างที่ขยายมาจากพิธีบายศรีสู่ขวัญช้างที่พี่น้องสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน สมัยก่อนเป็นพิธีกรรมที่ทำกันภายในครอบครัวที่มีช้างเลี้ยง ทุกวันนี้ได้รับการส่งเสริมให้เป็นงานประเพณีบุญช้างของแขวงไชยะบุรี ซึ่งหมุนเวียนกันจัดระหว่างเมืองต่างๆภายในแขวง บ้านเวียงแก้ว ได้เป็นตัวแทนของเมืองหงสารับเป็นเจ้าภาพจัดงานบุญช้างมา ๒ ครั้งแล้ว

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ของวัดบ้านเวียงแก้ว ก็ไม่ต่างไปจากทั่วๆไปที่กล่าวไว้เบื้องต้น กล่าวคือ “มีแต่ตุ๊เจ้าเฒ่า กับคูบาหนุ่มตนสองตน หาพระน้อยมาบวชมาเป็กบ่ได้” หมายความว่า ที่วัดบ้านเวียงแก้วมีแต่พระสูงวัย กับพระหนุ่มอีกรูปสองรูป แต่หาเด็กมาบวชเป็นสามเณรได้ยาก แต่ถึงกระนั้นที่วัดบ้านเวียงแก้วก็ยังมีสามเณรวัยรุ่นอยู่สองรูป

หลายๆท่านก็คงจะเช่นเดียวกับผมที่ เคยมองวัตรปฏิบัติของพระเณรชาวลื้อในลาวแถวเวียงแก้ว เมืองเงิน หลวงน้ำทา หรือในเมืองเชียงตุง เชียงรุ้ง สิบสองปันนา อย่างประหลาดใจที่เห็นท่านถีบจักรยาน ขับมอเตอร์ไซด์ เดินเล่นตามถนน เดินในตลาด นั่งเล่นในบ้านชาวบ้าน หรือเดินเข้าออกร้านขายของตอนเย็นๆ ทำให้นึกแคลงใจในวัตรปฏิบัติและพระวินัย

นั่นเป็นการมองจากคนภายนอกมิได้มองจากการเอาตัวเข้าไปอยู่ในชุมชนแล้วพยายามเข้าใจความเป็นไปหรือวิถีชุมชน ไม่เฉพาะเพียงแต่เราๆท่านๆที่คิดเช่นนี้ แม้แต่พี่น้องชาวลาวลุ่มที่ตั้งชุมชนอยู่ติดๆกันกับชาวลื้อก็ตาม ที่ผมพบเจอกับตัวเองก็ ในคราวนี้ที่ต้องมีส่วนในการสร้างชุมชนใหม่ให้ชาวลื้อกับชาวลาว เรื่องสร้างบ้านเรือนอยู่ใกล้กัน ใช้ตลาด ใช้โรงเรียนร่วมกันนั้นไม่มีปัญหา ไม่ได้รับคำโต้แย้งจากชุมชน  แสดงว่าทางด้านการปกครองสามารถกลมกลืนกันได้ แต่พอจะให้ใช้วัดร่วมกันแล้วกลับมีเสียงคัดค้านกันระงมจากฝั่งชาวลาวลุ่ม ด้วยเหตุที่ท่านอ้างว่า “พระลื้อกินข้าวเย็น” “เณรลื้อไปเล่นผู้สาว” “ชาวลื้อไปวัดแต่ดึก” “วัดลื้อตีกลองมื้อละสองเทื่อ” ฯลฯ ข้างต้นนี้เป็นคำบอกเล่า หรือมุมมองของชาวลาวลุ่ม ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้น ข้อนี้ผมยังไม่ยืนยัน

พุทธศาสนาของชาวไทเหนือ กับชาวลาวเข้าใจว่ามีที่มาที่แตกต่างกัน ของชาวลาวรับมาจากเขมร อ้างจากตำนานพระบางที่เจ้าฟ้างุ้มมหาราชท่านอัญเชิญมาจากพระนคร เจ้าฟ้างุ้มเจ้าชายจากกรุงลาวที่ไปศึกษาร่ำเรียนต่างเมืองถึงกัมโพชนคร จนท่านได้เป็นราชบุตรเขยกษัตริย์เขมร ท่านพานางแก้วกัลยาพระมเหสี พร้อมลี้พล และปราชญ์วิทยาการต่างๆขึ้นมารวบรวมอาณาจักรล้านช้างให้เป็นปึกแผ่น สำหรับชาวไทเหนือนั้นสมัยก่อนนับถือแถน ผีฟ้า ผีด้ำ ผีบรรพบุรุษ ดังจะเห็นตัวอย่างจาก ชาวไทดำ ไทขาว ไทแดง ชาวไทโบราณที่ตกค้างอยู่ถิ่นฐานเดิมแถบเมืองแถนนั้น หลายพากส่วนยังคงนับถือผีเหมือนเดิม พุทธศาสนาแบบเถรวาทเข้ามาสู่ชาวไทเหนือจากลังกา ผ่านสุโขทัยขึ้นไปเพาะบ่มเจริญรุ่งเรืองในล้านนาจนได้เป็นเจ้าภาพในการ สังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดเจ็ดยอด แล้วก็แตกเป็นสองนิกาย คือนิกายป่าแดง กับนิกายสวนดอก ทั้งสองนิกายได้เผยแผ่ไปยังดินแดนชาวลื้อสิบสองปันนา นั่นคือที่มาของพุทธศาสนาในหมู่ชาวลื้อ

พระหนุ่ม เณรโข่ง ไม่ว่าที่ไหนๆก็มักจะต้องต่อสู้กับอบายเย้ายวนภายนอกกำแพงวัด หนังสือพิมพ์ ทีวีบ้านเราก็เสนอข่าวกันไม่เว้นแต่ละวัน ที่บ้านเวียงแก้วก็ไม่ตกยุคเหมือนกัน

เช้าวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม เสียงนายบ้านแจ้งตามสายป่าวประกาศ เรียกชาวบ้านมาประชุม(รวมบ้าน)ที่ห้องประชุมบ้านหน้าข่วงวัด กลางห้องประชุมมีวัยรุ่นสามคนถูกผ้าผูกมัดนั่งรวมกันอยู่ สองในสามเป็นเณรโข่งของวัดนั่นเอง เรื่องของเรื่องเกิดจากการที่มีคนไปร้องเรียนว่าเณรชอบ “สิกปก”(ภาษายวน แปลว่าแอบสึกเป็นฆราวาสตอนกลางคืน) หนีไปเที่ยวดึกๆดื่น เฒ่าแก่แนวโฮมได้ฟังดังนั้นแล้วจึงแต่งให้กองหลอนบ้านมาซุ่มอยู่ที่กุฏิหน้อยสถานที่แปลงกายของเณร คืนนั้นเมื่อเณรย่องกลับเข้าวัดจะมาหยิบสบงจีวรที่ถอดซ่อนไว้ ก็เลยถูกจับได้โดยละม่อม แล้วก็พามาไว้ที่หอประชุมบ้าน ถูกจับทั้งเณรและทั้งวัยรุ่นที่เอามอเตอร์ไซด์มาพาเณรไปเที่ยว รุ่งเช้านายบ้านจึงประกาศ”รวมบ้าน”ให้มาเป็นสักขีพยาน เฒ่าแก่แนวโฮมท่านให้สึก แต่ไม่ใช่แค่ให้สึกเฉยๆ ยังมีแถมบทลงโทษหนักไม่ใช่เล่น ท่านให้ถางหญ้าในลานวัดให้เอี่ยม ท่านให้มาหาบหินร้อยหาบ หาบทรายร้อยหาบเข้ามากองไว้ในลานวัด ไม่รู้ป่านนี้ “อ้ายน้อย”(ภาษายวน เรียกคนที่สึกจากเณร) จะดายหญ้า หาบทรายครบหรือยัง

เขียนเรื่องนี้ด้วยความชื่นชมชาวเวียงแก้ว พร้อมๆกับการได้เปิดทัศนะเกี่ยวกับพุทธศาสนาในหมู่ชาวลื้อ ทำให้เห็นว่า “ในความหย่อนยาน ก็มีความเข้มงวด”  วิถี ฮีตคองของใครก็ของใคร ไม่ควรเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน    


พิธีออกวัด

4 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 12 พฤษภาคม 2011 เวลา 11:03 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2436

ซองบัตรเชิญสีขาว วางอยู่บนโต๊ะทำงานเมื่อเช้า นึกแปลกใจที่เป็นบัตรเชิญสีขาว ปกติถ้าเป็นงานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ผูกแขนทำขวัญ มักเป็นซองสีชมพูหรือสีหวานๆ

แต่นี่เป็นซองสีขาว

หน้าซองเขียนไว้ว่า “เชิญท่านอาจารย์เปลี่ยน พร้อมครอบครัว” อันนี้ไม่แปลก ปกติบัตรเชิญที่หงสามักจะเชิญพร้อมครอบครัว แต่สำหรับจานเปลี่ยนแล้ว จำแนกได้ว่าเจ้าของบัตรเชิญไม่ใช่บุคคลวงในใกล้ชิด เพราะถ้าหากเป็นคนที่รู้จักกันดีจะรู้ว่าจานเปลี่ยน”โสดสนิท” บัตรเชิญก็ต้องเขียนว่า “เชิญท่านอาจารย์เปลี่ยน พร้อมคู่รัก”

เปิดดูเนื้อความข้างในซอง “เนื่องในโอกาสพิธีออกวัด ข้าพเจ้า….พร้อมด้วยญาติมิตรขอเชิญท่านเข้าร่วมงานดังกล่าว ซึ่งจะจัดขึ้นที่…ในวันมื้อออกใหม่…ค่ำ เดือน ๖ ตรงกับวันที่…. เวลา ๑๐ โมงเช้าจะได้สูดขวัญตามฮีตครองประเพณี หลังเสร็จพิธีแล้ว ขอเชิญท่านรับประทานอาหารเที่ยงและม่วนซื่นนำพวกข้าพเจ้า หวังว่าท่านคงจะสละเวลาอันมีคุณค่าเป็นเกรียติเข้าร่วมในงานนี้ด้วย ในวงเล็บ ขออภัยที่บ่ได้มาเชิญด้วยตนเอง”

พิธีออกวัด เป็นพิธีที่ทำขึ้นเมื่อผู้ที่ครองเพศบรรพชิต หรือพระสงฆ์ท่านตัดสินใจลาออกมาเป็นฆารวาส สำหรับพระรูปนี้ถือว่าคุ้นเคยกันดี สมัยแรกๆที่พอมีเวลาว่างเคยเดินเลาะวัดเลาะบ้านตอนเย็นๆ เคยแวะสนทนากับท่าน บางทีก็ไปนั่งฟังท่านสอนเณรหัดท่องบทสวด บางคราวอยากเข้าไปนั่งสงบใจต่อหน้าพระประธานในโบสถ์ท่านก็กรุณาไขกุญแจเปิดประตูให้ ท่านหมดบุญผ้าเหลืองออกมาดูแลโยมแม่ที่อายุมากแล้ว ชาวบ้านชาวช่องอาลัยแต่ไม่อาจขัดเจตนาของท่านได้ พระรูปนี้เองที่ผมเคยเล่าไว้ในบันทึกเมื่อราวๆหลังสงกรานต์ปีกลายที่เล่าว่า พ่อออกแม่ออกทำพานดอกไม้ธูปเทียนมาขอให้ท่านอยู่ต่อ ท่านก็อยู่ให้อีกหนึ่งปีจนถึงสงกรานต์ปีนี้เวียนมา รอบนี้ท่านได้สึกสมใจ ชาวบ้านรวบรวมกันจัดงานสู่ขวัญให้ตามรายละเอียดในบัตรเชิญ

พิธีกรรมหลังสึกของชาวหงสา ยังเป็นศรัทธาที่ละเอียดอ่อน ท่านต้องนุ่งขาวห่มขาวอยู่วัดอีกหลายวันจนกว่าจะได้มื้อดี บันทึกหนึ่งของพี่บางทรายเคยแสดงรูปถ่าย เด็กหนุ่มหลังสึกที่มารดน้ำต้นโพธิ์ที่ลานวัดบ้านหาน ยังมีความเชื่ออีกในเรื่องการหาสาวบริสุทธิ์มาจูงแขนพี่ทิดออกจากวัด ท่านเชื่อกันว่าพอออกไปสร้างครอบครัวจะได้แต่งงานกับสาว แต่ตอนนี้ที่หงสาก็เหมือนกับบ้านเราที่สาวๆออกไปไกลหูไกลตาพ่อแม่ บ้างก็ไปเรียนต่อ บ้างก็ไปทำงาน จึงเป็นเรื่องหนักใจที่จะเชื่อได้ว่าใครนางใดจะมีคุณสมบัติข้อนี้ครบถ้วน เลยต้องหันมาใช้เด็กสาวตัวน้อยๆชั้นประถมมาจูงแขนพี่ทิด

อย่างไรก็ตาม ในบางท้องถิ่นพี่น้องก็มักจะขัดข้องไม่อยากให้ลูกสาวหลานสาว มาจูงแขนพี่ทิดออกจากวัด เพราะมองเห็นว่า เป็นตัวการทำให้ทายาทพุทธศาสนาสึกออกมา ท่านว่าสาวพวกนั้น เป็น “มารศาสนา”

จะอย่างไรก็ตาม ธรรมเนียมปฎิบัติ ที่เป็น”กรอบของสังคม” ของที่หงสายังนับว่า ยังคงหลงเหลือสืบทอดกันมาได้อย่างเหนียวแน่น เมื่อเทียบกับบ้านเรา


คิดหลายหัวแตก แบกหลายหลังหัก

4 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 10 พฤษภาคม 2011 เวลา 10:04 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1270

ไม่ได้ว่าใครนะครับ บ่ได้ว่าไผ

พอดีครูบามากระทุ้งเรื่องให้ยุบความขี้เกียจเขียนบันทึก แต่บ่มีหยังในไส้ในบุ๋มสำหรับเขียน ก็เลยยกคำผญาเมืองลาวที่ได้ฟังจากคนรอบข้าง มาจั่วหัว

คิดหลายหัวแตก แบกหลายหลังหัก หากจะว่าก็คงต้องว่าตัวเอง ที่ชอบเผลอใจเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น หยิบเอาเรื่องเล็กๆน้อยๆมาหงุดหงิดโมโห นานๆทีถึงจะรู้ตื่นมาสำรวจใจ ลบไฟล์ขยะออกจากหัวได้นิดหน่อย…แล้วก็ลืมตัวลืมใจใหม่รับเอาไฟล์ไวรัสมาแฝงไว้ในใจใหม่…เป็นเช่นนี้เองใจดิบดิบ เรื่องแบกนี่ก็เข้าตัวเหมือนกัน ความขี้เกียจสอนขี้เกียจตรวจเลยต้องอมงานหลายๆชิ้นไว้ทำซะเอง แต่พอไม่ทันเข้าก็ทำได้แค่เขี่ยๆให้พอได้ส่ง ไม่เห็นจะดีเด่นกว่าของชาวบ้านเขาไปซะที่ไหน สงสัยต้องหัดผ่องถ่ายงานเสียบ้างแล้ว

เรื่องผลการตรวจร่างกายก็อยากเขียนเล่า แต่ขอเวลารวบรวมหน่อย ที่น่าสนใจคือ เด็กๆที่นี่ร้อยส่วนร้อยได้กินนมแม่จนอายุขวบกับอีกหกเจ็ดเดือน อย่างนี้น่าจะเลี้ยงง่ายสอนง่าย ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์เกือบทุกคนเข้าโครงการคุมกำเนิด(โครงการลูกห่าง) และได้รับการฉีดวัคซีนบาดทะยักจากการช่วยเหลือของสากล ผู้ชายเกินร้อยละแปดสิบกินเหล้า และสูบบุหรี ส่วนผู้หญิงร้อยละแปดสิบก็บอกว่าดื่มเหล้ายามมีเทศกาลงานบุญเหมือนกัน มีคนตุ้ยที่ BMI เกิน ๒๕ อยู่แค่สองสามคน(จากทั้งหมดสองร้อยคน)

มีเกร็ดเล็กๆน้อยๆ เรื่องการไม่ยอมให้ตรวจเลือด บางคนก็มาร้องเรียนว่าเจาะเลือดแล้วหมดแรงไปทำไร่ไม่ได้ บางรายก็หนีเข้าป่าตั้งแต่เช้ามืด คุณป้าท่านหนึ่งหลบอยู่ในห้องน้ำลูกผัวไปตามก็ไม่ยอมออกมา

ไปประชุมเวียงจันทน์เมื่อต้นเดือน เครื่องบินฝ่าพายุเกือบยี่สิบนาทีก่อนจะร่อนลงแบบเฉไปส่ายมาที่สนามบินวัตไต ทำให้เห็นอาการตื่นตระหนกของคนหลายชาติหลายภาษา ต่างคนต่างหยิบมือถือโทรหาลูกเมียกันวุ่นวาย “การเฉียดบางครั้งก็กระตุกใจของคนได้หลายคน” ส่วนตัวก็มีผลเล็กๆ ไปงวดนี้ซื้อหนังสือแบบไม่ยั้งไม่ดูราคา “ก็คิดถึงตอนนั้นแล้ว ก็เกรงว่าจะไม่มีโอกาสได้ใช้ตังค์”

วันอาทิตย์ที่ผ่านมาไฟฟ้าดับทั้งวัน ถือโอกาสอ่านหนังสือ “ประวัติศาสตร์ประเทศลาว” ของ ศ. กรานท์ เอแวนส์ เขียนได้ดีอย่างเป็นกลางดีจริงๆ สมกับคำวิจารณ์ที่ว่า ท่านเขียนได้เหมือนกับรูปที่วาดอยู่บนกำแพงที่เรียงกันเป็นลำดับ เล่มนี้มีสองภาษา อังกฤษ และแปลเป็นลาวอีกหนึ่งเล่ม อันนี้ก็มีหลายประเด็นที่อยากหยิบยกมาเล่า (แต่ก็ติดอยู่ที่….สมาธิและความคร้าน)

เมื่อเช้าเพื่อนฝูงในกลุ่มเวปไซด์ ลาวลิ้งค์ ส่งข่าวมาให้อ่านว่า ท่านนายกลาวท่านไปกล่าวไว้ที่จากาตาร์ว่าจะชะลอการสร้างเขื่อนไชยะบุรีออกไปตามการร้องขอของเวียดนาม อือมม อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปล่ะ รอติดตามด้วยใจระทึก

หงสาฝนมาเร็วเหมือนกับบ้านเรา แอบเป็นห่วงพี่น้องชาวไปร ชาวข่า ว่าจะไม่ทันเผาไร่ จะไม่มีข้าวกิน แต่ลูกทีมกลับมาบอกว่า บ่มีปัญหา พี่น้องเขาเผาไว้ตั้งแต่เดือนสามหมดแล้ว “โล่งอกไปหนึ่งเปราะ” ”มีแต่สวนสาธิตของอาจารย์นี่แหละยังบ่ทันอะนาไม” อ้าว กลายเป็นสวนของเราเองที่ไม่ทัน “ใครว่าเราฉลาดกว่าชาวบ้านกันล่ะนี่”

ปิดท้ายบันทึกด้วย ผญาอีกคำ “ไค่กิ๋นหลาย ได้กิ๋นเท่าป๋ายก้อย ไค่กิ๋นหน้อยได้กินเท่าโป้ตี๋นโป้มือ” อันนี้พ่อเสาร์บ้านหาญพูดให้ฟังเด้อ ท่านเปรียบให้ฟังถึงตอนที่เลี้ยงลูกเด็กๆ เวลาป้อนข้าวปั้นข้าวเหนียวแจกกับฉีกเนื้อย่างให้คนละนิด เจ้าคนที่ชอบขัดคอก็ยืนกระทืบเท้าจะเอาชิ้นโตๆไม่ยอมรับไปสักที ส่วนเจ้าคนที่ว่าง่ายก็รับไปกินหมุบๆหมดแล้วยื่นมือมารับชิ้นใหม่ ปล่อยให้ไอ้เจ้าโยเยดิ้นเร่าๆอยู่นั่น สุดท้ายชิ้นปิ้งก็เหลือไว้ให้กินนิดเดียว

คนหงสานี่สุดยอด พูดคำแทรกคำผญาคำ  


รายงานสดการเลือกตั้ง สส.จากหงสา

5 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 29 เมษายน 2011 เวลา 9:04 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1547

การเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติของ สปป ลาว กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ ๓๐ เมษา ๒๐๑๑

ก่อนหน้านั้นราวหนึ่งเดือน มีการกำหนดจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้ง และจำนวนสมาชิกสภาฯของแต่ละแขวง ที่นี่มีการเลือกตั้งแบบพวงใหญ่ กล่าวคือ ในแต่ละแขวงจะเลือกสมาชิกสภาได้หนึ่งชุด จำนวนสมาชิกแต่ละแขวงขึ้นกับจำนวนประชาชนในแขวงนั้นๆ สำหรับแขวงไชยบุรี การเลือกตั้งครั้งนี้กำหนดให้มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ๑๐ ท่าน เลือกเอา ๗ ท่าน ปีนี้มีท่านนางปราณี ประธานสภาแห่งชาติ คณะกรรมการศูนย์การพรรคมาเป็นผู้สมัครหมายเลข ๑

สัปดาห์ที่แล้วคณะผูสมัครยกขบวนเดินสายมาแนะนำตัว ท่านจัดให้มาพร้อมกันทุกคน มีการรวมคนรับฟังในแต่ละจุด เริ่มการปราศัยที่หัวหน้าคณะมาเล่าถึงบทบาทภาระหน้าที่ของสมาชิกสภาแห่งชาติ จากนั้นผู้สมัครแต่ละท่านมีเวลาแนะนำตัวเอง ประวัติการทำงาน คนละ ๗ นาที มีการติดประกาศประวัติของผู้สมัครทุกคนไว้ที่หน่วยเลือกตั้งให้ประชาชนได้อ่าน

ก่อนหน้านี้สองสามวัน คณะกรรมการเลือกตั้งแต่ละบ้าน ได้แจกบัตรลงคะแนนให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนทุกคน ในบัตรระบุชื่อ อายุ ที่อยู่ อาชีพ เพื่อให้ถือไปแสดงในวันเลือกตั้งจริง

วันนี้ก่อนการเลือกตั้งหนึ่งวัน เป็นการลงคะแนนรอบพิเศษสำหรับคณะกรรมการเลือกตั้ง คณะรักษาความสงบ และผู้ที่มีหน้าที่ในการดำเนินการเลือกตั้งของแต่ละหน่วย

พรุ่งนี้มีประกาศเริ่มรวมพลกันตั้งแต่ตีห้า การรวมกันท่านให้รวมเป็นกลุ่มตามคุ้มบ้าน (ทางนี้เรียกหน่วยคุ้มครอง แต่ก่อนเรียกหน่วยผลิต แต่ละหน่วยมี ๑๕ ถึง ๓๐ ครัวเรือน ในหนึ่งหมู่บ้านมี ๑๐-๓๐ หน่วยฯ) หัวหน้าหน่วยจะตรวจสอบสมาชิกให้มาครบทุกคน หากไม่ครบต้องรอหรือไปตามกันมา เมื่อครบแล้วหัวหน้าหน่วยไปรายงานคณะกรรมการเลือกตั้ง แล้วพากันเรียงแถวเข้าคูหา แต่บางหมู่บ้านที่มีหลายหน่วยก็แบ่งกันมาช่วงเช้า-บ่าย

ผู้ป่วย คนชราที่มาลงคะแนนไม่ได้ ท่านให้เอาหีบบัตรไปให้ลงคะแนนที่บ้านได้

หลังปิดหีบ ท่านให้ขนมานับคะแนนรวมกันที่ห้องว่าการเมือง

เย็นนี้หงสาเงียบ ร้านรวงห้ามขายเหล้า สาวๆน้องนางพากันกลับบ้านไปเลือกตั้ง

พรุ่งนี้พนักงานลาวหยุดทำงาน คนไทยต้องขับรถเอง ห่อข้าวไปกินเองเพราะโรงอาหารที่แคมป์ปิด

พรุ่งนี้ต้องหุงข้าวกินเอง เพราะร้านเจ้าประจำเขาถูกนัดหมายให้ไปรวมตัวกันตั้งแต่ตีห้า เฮ้อ

จบข่าว


พักผ่อน …..สุนทรียอักษร

7 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 21 เมษายน 2011 เวลา 1:11 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1793

ทางเดินหน้าตึกทอดผ่านต้นกากะเลา ที่ยืนคู่เคียงกับต้นอะลาง

ทอดสายตาไปตามทางเดิน

คุณเห็นนั่นไหม

พรมดอกไม้ผืนงาม คลี่ปกคลุมแปรเปลี่ยนเป็นทางเดินที่โรยด้วยกลีบดอกไม้

ยามเมื่อสัมผัสสายลมอุ่น โชยพัดแผ่วเบา

ต้นไม้ค้อมกิ่งทักทาย สนองตอบการหยอกเอินของสายลม

กลีบบางเบาสีเหลืองทอง ของดอกอะลาง

ปลิดปลิว คว้าง คว้าง ลอยร่วงหล่น ….คล้ายดั่งยังอาวรณ์ไม่อยากจากลาค่าคบ

ก่อนที่จะทิ้งกลีบสัมผัสผืนดินอย่างแผ่วเบา

กลีบแล้ว ดอกเล่า พร่างพรูเป็นละอองฝนกลีบดอกสีทอง พร่างพรมผืนดินเหมือนดั่งเป็นพรมดอกไม้เหลืองละออ

ดอกกากะเลา สีม่วงโศก ราวกับยังโศกเหงากับเวลาที่ต้องพรากลาจากช่อดอก

กลีบดอกบางเบาสีสวยโศก พริ้วลอยเริงล้อลม

อ้อยอิ่ง ทิ้งตัว ลงแต่งแต้มลวดลาย ประดับบนพรมดอกไม้

งดงาม ….ยิ่งงดงาม….ไร้คำเปรียบเปรย

กางเขนบ้านปราดเปรียว กระโดดเต้น เริงระบำบนผืนพรมดอกไม้

กระจิบ กระจอกไต่เต้น โผบินอยู่ตามค่าคบ

นกเอี้ยงเซ็งแซ่สรวลเสียง ขับบรรเลง

อิ่มสุข สงบใจ มากหลาย…..

โลก ณ ยามนี้

……….

หน้าตึก อาร์ดีไอ ม.ขอนแก่น ก่อนเพลฯ


คำพรครูบาวัดห่างกลางเวียง

6 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 15 เมษายน 2011 เวลา 5:56 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2614

 ปี๋ใหม่เมือง ยืมกำปั๋นปอนตุ๊เจ้ามาฝาก ปี้น้องในลานเน้อ

ขอบคุณที่มา  www.watpratupa.com

เอวังโหนตุเอวังโหนตัง หื้อมูลละสัทธา

ได้กินทังกบตีนตังและเขียดตีนตังตกโตตีนตัง ซะเล้อตีนตัง

หื้อได้กินทัง แกงผักปังและแกงเปลือกกุกเปลือกกอก

หื้อได้กินทังแกงผักหนอกและรากคา หื้อมีสัพพะนานาอย่าหย่อน

หื้อมีทังพร้าหักและพร้าหล่อน พร้าเหลี้ยมเสียมหัก

หื้อบุญรักสมรักษาเต็มสองสามผืนคะลา และสองสามผืนสาด

หื้อได้นอนซาดราดอยู่ถ้าดากิน ส่วนว่าหนี้สิ้นอย่าหื้อมาถูก

หื้อมีลูกเต้ามากหลวงหลาย หื้อไว้ไข่งัวไข่ควายเต็มสองสามซ้า

หื้อมีไข่ช้าง ไข่ม้าเต็มสองสามก๋วย หื้อมีน้ำบวยเต็มสองสามล่าง

ปลายแถมสองสามถุน คันว่าเป็นขุนหื้อได้นั่งกว้าน

คันอยู่บ้านหื้อคนมาสู่มาหา คันว่าเถิงยามยะ ไร่นา

หื้อได้สองมือทือแพ่งเหล้า หื้อคนหลั่งเท้ามาชม

หื้อได้อมเหมี้ยงส้มและเหมี่ยงฝาด คันว่าไปกาด หื้อได้ขายของแพง

คันว่าเถิงตาวันแลงหื้อพ่อค้าแม่ค้ามาสู่

หื้อได้เงินธ็อกหมู่เงินถา หื้อได้หาบหามมาวันละสองสามแซ็ก

ของกับของแลกหื้อได้ไหลมาหา หื้อมีทังไก่พู้ ดำกาตีนฝ่า

หื้อได้ทังผ้าเช็ดหน้าผืนดี

หื้อได้ทังหมาพู้หมีแค่งโก้งโซ้งโพ้งอยู่เฝ้าหัวขั้นได

คันหันคนไปคนมาก็อย่าได้เห่า หื้อได้กินเต่า เมื่องาย

หื้อได้กินไข่งัวไข่ควายเมื่อเช้า หื้อได้ชิ้นกวางพู้เถ้า

มาลาบกินแลง หื้อได้ได้นอนสะแคงคาบทื้น

จนท้องขึ้นเพื่อได้กินอาหาร หื้อได้นอนอยู่ซานแยงแว่น

อย่าได้ลุกแล่นไปไหน หื้อสนุกสุขใจอยู่ในเรือนรั่ว

หมดเช่นหมดชั่วอนันตา

หื้อได้กินชิ้นปูชิ้นปลาซากบ้วนหื้อได้กินปลาก่อปลาก้วนตายพราย

หื้อได้กินชิ้นงัวชิ้นควายซากแร้ง

หื้อได้กินทังน้ำพริกข่าแห้งใส่แมงดา

หื้อได้กินทังมะสารกงัวรกควายตายหลอดหื้อได้กินทังตับทังปอดเยียงผา

ส่วนว่าเพียธิโรคาอย่ามาใกล้ คันว่าเจ็บไข้

ก็หื้อพ่อเลี้ยงใส่ยาแซ คันว่าหนักหนานาแค ก็หื้อพ่อแม่ได้ยืนผ่อ

ส่วนว่าลวงเผิ้งลวงต่อ ก็อย่าได้ผ่อได้หัน

อย่าหื้อพรากกันเหมือนไม้คานกับบ่า หื้อเจ้ามียสมีธ่า

เหมือนหนึ่งม้าเทียวทาง อย่าหื้อมีใจจืดใจจางเน้อเจ้า

คันว่าบ้านเมืองกั้นเข้า ก็หื้อเจ้าได้กินย้างกินก้อย

คันว่าเจ้าไปป่าไปดอย ก็หื้อเจ้าเว้นจากมะแฮ่เขี้ยวม้า

คันว่าเจ้าไปเธี่ยวไปค้า ก็หื้อคนใบ้คนบ้ามาซื้อมาขาย

หื้อได้กินขี้อกหลาย ๆ หื้อได้กินทางปลายเล็ก ๆ น้อย ๆ

หื้อเหมือนดั่งปราสาทส้อยเสาเดียวนั้นจุ่งจักมีเที่ยงแท้ดีหลี

 (และขอบคุณท่านผู้นำมาโพสต์ นายหนานเกษม ศิริรัตน์พิริยะ สำนักลอมกลางอรัญญาวาส น่าน เพิ่นบอกว่า

เอาลุกเว็ป http://www.nanculture.org/index5.5.htm)

ไผไค่ฮู้ คำแป๋ ไปถามอุ้ยสร้อยเอาเน้อ


เวียกงานกวดสุขภาพที่หงสา: เช้านี้ที่โฮงหมอ

ไม่มีความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 9 เมษายน 2011 เวลา 5:00 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1823

การตรวจสุขภาพพี่น้องกลุ่มแรก ๒๐๐ ชีวิต สำเร็จลงในมื้อนี้ ก่อนที่จะส่งท่านหมอกลับไปพักฉลองบุญปีใหม่ลาว ตรวจดูงานที่ที่ยังตกค้าง มีคนที่ยังไม่ได้เจาะเลือดอีกสิบกว่าคน และยังไม่มีรูปถ่ายหลักฐานการดูดเลือดไปใส่รายงาน

เช้านี้จึงจัดการให้รถไปรับสองแม่ลูกที่ยังตกค้างอยู่กับญาติที่บ้านเก่ามาเจาะเลือดที่โรงหมอ (เพราะคนแม่ป่วยส่วนลูกสาวก็ต้องอยู่ดูแลแม่ มีแต่คุณพ่อกับลูกชายที่ย้ายไปกับโครงการ) ส่งทีมเจาะเลือดบางส่วนไปตามเก็บคนที่ตกค้างในหมู่บ้าน พาตัวเองพร้อมกล้องคู่กายมานั่งประจำการที่โรงหมอ ตั้งแต่ก่อนเจ็ดโมงเช้า

โรงหมอเมืองหงสาเช้านี้มีกิจกรรมยุ่งเหยิงอยู่ไม่น้อย มีคนไข้นอน ๕คน

มีครอบครัวชาวขมุบ้านกิ่วศาลาพาลูกน้อยมาให้หมอรักษา “พะยาดถอกท้อง” โรคท้องร่วงนี่เป็นกันเยอะที่หงสาในหน้าร้อนอย่างนี้ เจ้าหนูนี่หมอสั่งให้เซรุ่ม (น้ำเกลือ) เอื้อยจัน กับเอื้อยตาสองพยาบาลอาวุโสจัดการเอากระดาษฝาลังมาเฮดเป็นหมอนวางมือเด็ก แล้วแทงฉึกเดียวผ่าน นึกชื่นชมความเก๋าส์ของเอื้อยจริงๆ

แล้วก็ย้ายไปนั่งหน้าบ่อนยื่นบัตร นั่งคุยกับแม่ม่ายสาวลูกสาม ที่มาทำแผลถูกรถชน แม่คุณเล่าถึงนาทีชีวิตที่รถวิ่งมาชน เล่นเอาระทดระทวยใจ โดยเฉพาะตอนที่เธอกลัวตาย เธอนึกห่วงลูกสาวทั้งสามโดยเฉพาะนางคนเล็กที่อายุเพิ่งได้ขวบกว่าๆ เธอเล่าว่าพ่อเด็กขับมอเตอร์ไซด์ตกร่องถนนจากโลกนี้ไปเมื่อหกเดือนที่แล้ว อ้อ เป็นรายที่ผมเคยเล่าไว้เรื่องที่มีการก่อสร้างถนนแล้วไม่มีการป้องกัน ทำให้คนหงสาเกิดอุบัติเหตุตายไปสามคนนั่นเอง ได้บทเรียนไว้เตือนตัวเตือนใจหลายบท “ชีวิต…มีสุข มีเศร้า เคล้ากันไป” “ไม่อยากเกิดอีกแล้ว….อยากเป็นพรหมลูกฟักแขวนอยู่นิ่งๆ เป็นน้ำเต้าสวนป่า” “การก่อสร้างที่ไม่มีการป้องกัน…ทำให้เกิดการสูญเสีย” “เสียพ่อไปคน…คนข้างหลังเดือดร้อน”

เดินผละจากครอบครัวนี้ไปที่เพิงหลังน้อยด้านหลัง ที่เห็นเด็กชายชาวไปรสพายย่ามใบโตเดินหลบมุมแว๊ปไป เห็นคนแม่ที่กำลังนึ่งข้าวเพิ่งสุกกับคนลูกชายนั่งปั้นข้าวเช้ากันอยู่ ชวนคุยถึงได้รู้ว่ามาเฝ้าคนเจ็บเอาข้าวสารมานึ่งกินที่โรงหมอด้วย

ท่านหมอเจาะเลือดมาแล้ว สองแม่ลูกที่ส่งรถไปรับก็มาแล้ว ได้เวลาเก็บภาพไว้ใส่รายงาน

 

เสร็จแล้วก็จับมืออำลา ส่งทีมงานพร้อมตัวอย่างเลือดกลับแขวง รีบส่งสองแม่ลูกกลับบ้าน หิวข้าวแย่แล้วอดมาตั้งแต่เที่ยงคืน แบ่งขนมให้ก็ไม่กิน

จบข่าว


เวียกงานตรวจสุขภาพชาวหงสา: เกร็ด (๑)

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 2 เมษายน 2011 เวลา 12:04 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1326

ทีมงาน แต่ละวันประกอบมี

ท่านหมอดอกเตอร์ ๓ ท่าน

พยาบาล ๓ ท่าน

พยาบาลเจาะเลือด ๑ ท่าน

เจ้าหน้าที่ตรวจปัสสาวะ และตรวจอาจมหาไข่พยาธิ์ ๓ ท่าน

เจ้าหน้าที่วิเคราะห์เลือดที่ห้องวิเคราะห์โรงหมอแขวง ๔ ท่าน

เจ้าหน้าที่โครงการ ๒ ท่าน

ปิดท้ายด้วยที่ปรึกษาหย่าย ท่านหมอ เปลี่ยน คร๊าบผม ยกตัวเองเป็นที่ปรึกษาใหญ่เพราะกำเวียกรวมหลายหน้าที่

ขั้นตอนการดำเนินงาน

๑ ระยะเตรียมการ

จารย์เปลี่ยน…..ค้นคว้า วางรูปแบบการตรวจ แยกกลุ่มเป้าหมาย กำหนดดัชนีบ่งชี้ที่จะดำเนินการตรวจวัดสำหรับพี่น้องแต่ละกลุ่ม แต่ละเพศ แต่ละวัย

จัดกองประชุม ด้านวิชาการกับท่านหมอสาธารณสุขแขวง คณะวิชาการโรงหมอแขวง ดัดแก้แผนการตรวจตามคำคิดเห็นของท่านหมอ

จัดกองประชุม ด้านการบริหารงบประมาณ และบุคลากร จะดึงท่านหมอมาจากไหน พยาบาลจากไหน เอาเลือดไปวิเคราะห์ที่ไหน กล้องส่องไข่พยาธิ์แม่ท้องยืมจากที่ใด ใครจะเป็นคนเจาะเลือด รถรารับส่งท่านหมอ รับส่งชาวประชามาตรวจ สถานที่ตรวจยังเป็นอาคารโล่งๆ ต้องไปสั่งช่างไม้ต่อเตียงตรวจ ไปเช่าเก้าอี้มาให้คนนั่ง ติดตั้งผ้าม่านกันชาวบ้านจะโป๊ ตกลงต่อรองกันเรื่องค่าตอบแทนท่านหมอพยาบาล เพราะเป็นวิชาชีพพิเศษ….

จัดกองประชุม ด้านเทคนิคขั้นตอนการตรวจ แบ่งหน้าที่ จัดการยืมอุปกรณ์ เครื่องวัดความดัน เครื่องวัดส่วนสูงเด็ก …

๒ แผนงานที่ตกลงร่วมกัน

  • ตรวจสุขภาพพี่น้อง วันละ ๓๐ คน เช้า ๑๕ บ่าย ๑๕
  • ตรวจร่างกายแบบโอ พี ดี ทั่วไป
  • ตรวจเลือดสำหรับคนทั่วไป มี ตรวจนับเม็ดเลือด ๑๘ พารามิเตอร์ ตรวจไวรัสตับอักเสบบีและซี ตรวจการทำงานของตับเบื้องต้น ในวัยเจริญพันธุ์ขอตรวจวีดีซิฟิลิสเพิ่มอีกอย่าง
  • หากผลการตรวจเลือดขั้นต้นพบปัญหา จะสั่งตรวจพิเศษอื่นๆอีก (ก่อนตรวจขอให้หมอแจ้ง ท่านเปลี่ยนให้เห็นดีนำก่อน)
  • เช่นเดียวกัน หากต้องการเอกซ์เรย์(ส่องไฟฟ้า) หรือตรวจเอกโก้(อัลต้าซาวด์) ให้ท่านหมอกับท่านเปลี่ยนมีความเห็นร่วมกันก่อน (ผ่านมาสามวัน ท่านเปลี่ยนเห็นดีกับหมอไปทั้งหมดสามราย….โธ่ใครจะไปใจจืดค้านได้ลงคอ)
  • การเจาะเลือด ทำวันรุ่งขึ้นหลังจากการตรวจสุขภาพ จะได้รู้ว่าตรวจพิเศษอะไรเพิ่มบ้าง นัดรถกับพยาบาลเจาะเลือดไปเจาะในหมู่บ้านตั้งแต่หกโมงครึ่ง เจาะวันละ ๔๐คน แล้วรีบบึ่งไปส่งโรงหมอแขวง ห่างออกไปเก้าสิบกิโลบวกร้อยสิบสองโค้ง
  • ส่วน อาจม ท่านให้ส่องหา K O P A แม่ท้องชนิดใดบ้างก็ไม่รู้? ปัสสาวะให้ตรวจหา น้ำตาล โปรตีน กับส่องหาก้อนอะไรสักอย่าง หมอเปลี่ยนมีหน้าที่แค่ไปแจกกล่องตอนเย็นอธิบายวิธีเก็บ แล้วแว๊ปหนี อิอิ เลยไม่รู้แจ้ง งานนี้เรามีเจ้าหน้าที่สามท่าน รับตรวจได้วันละสิบคนต่อพนักงานหนึ่งท่าน

๓. ขั้นตอนการทำงานตัวจริง

  • ตอนเย็นก่อนวันตรวจ หมอเปลี่ยนนำผู้ช่วยไปนัดชาวบ้าน พร้อมแจกกล่อง อธิบายวิธีเก็บ (ดีที่ไม่ต้องถึงขั้นสาธิต)
  • เช้าส่งรถไปรับมา ๑๕ คนสำหรับภาคเช้า
  • เมื่อมาถึง จุดที่ ๑ ซักถามประวัติ โดยหมอเปลี่ยน และผู้ช่วย ๒ คน จบมาจากวิทยาลัยสาธารณสุขหลวงพระบาง ถามประวัติการเจ็บป่วยของครอบครัว ส่วนบุคคล การกินอาหารโปรตีน อาหารสุกๆดิบๆ น้ำดื่ม นอนในมุ้งย้อมยา การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เคี้ยวหมาก อมเมี่ยง การสักยากันพะยาด(วัคซีน)ที่ผ่านมา สำหรับผู้หญิงเพิ่มเรื่องการตั้งครรภ์ การเกิด จำนวนลูกที่ได้เลี้ยงที่เสียไป รวมถึงการเข้าโครงการลูกห่างด้วยวิธีไหน
  • เสร็จแล้วส่งเข้าจุดสอง นางพยาบาล วัดปรอท ความดัน ชั่งน้ำหนัก วัดลวงสูง แล้วจะเลือกส่งเข้าห้องตรวจตามความเหมาะสมกับท่านหมอ
  • จุดที่สาม ตรวจในห้องท่านหมอ ตรวจทุกระบบ
  • เป็นอันจบการตรวจ ยกเว้นรายไหนที่ต้องตรวจพิเศษ หรือต้องรีบรักษา ท่านหมอก็จะเอิ้นหาจารย์เปลี่ยน อีกที

……ม่วนดีอยู่ครับ

(ชอบพยาบาลอยู่แล้ว…)

บันทึกนี้มีเกร็ดย่อยคำลาวในแวดวงหมอมาฝากสองคำ

เกร็ดย่อย ๑ “ยาเชิดชู” หมายถึง ยาบำรุงกำลัง

เกร็ดย่อย ๒ “การคุมลูกห่างแบบ…..ขะคำ(ทำ-มะ-ชาด) อันนี้บ่เฉลย เพราะลุงกะบ่ฮู้ ซักประวัติมาถึงข้อนี้ แม่นางก็นั่งนิ่งทุกคนอ้ำๆอึ้งๆ จนต้องว่างไว้ แล้วให้นางเดินไปบอกกับพยาบาลเพิ่นเอง บอกว่าหยังกะบ่ฮู้

โปรดติดตามตอนต่อไป…..ครับผม



Main: 0.19457697868347 sec
Sidebar: 0.12057018280029 sec