บอวอรอ (บวร) บ้านวัดโรงเรียน

โดย silt เมื่อ 25 พฤษภาคม 2011 เวลา 11:09 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1805

บ้านวัดโรงเรียน เป็นแนวทางการประสานการพัฒนาชุมชน ที่ผมได้ยินบ่อยๆสมัยที่ทำงานพัฒนาชุมชนในแถบอีสาน

แต่เรื่องที่จะเล่าในบันทึกนี้เป็นเรื่องราวของ บอวอรอ ในหงสา

สถานการณ์ในการสืบสานพุทธศาสนาในเมืองหงสาทุกวันนี้ ก็คงจะคล้ายกับที่บ้านเรา ในด้านที่ทุกวันนี้หาคนบวชเข้าวัดได้ยากขึ้นทุกที โดยเฉพาะการที่จะหาเด็กที่สมัครใจมาบวชเป็นสามเณร เนื่องจากเดี๋ยวนี้พ่อแม่ต่างก็อยากให้เด็กๆได้เข้าโรงเรียน ไม่เหมือนสมัยก่อนที่การบวชเรียนเป็นทางเดียวที่จะทำให้กุลบุตรได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน แต่ทุกวันนี้หากบวชก็หมายถึงตัดโอกาสไม่ให้เด็กได้เรียน “ทางโลก” ที่เมืองหงสายังไม่มีโรงเรียนสำหรับพระเณร หากจะเรียนต้องเข้าไปอยู่ที่ตัวแขวงไชยะบุรีห่างออกไปกว่า ๙๐ กม.โน่น

บ้านเวียงแก้ว เป็นหมู่บ้านชาวลาวลื้อที่ดุหมั่นขยันขันแข็ง ได้รับการประกาศเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมหมู่บ้านที่ ๒ของประเทศลาว เศรษฐกิจของชุมชนบ้านเวียงแก้วนอกจากจะมีรายได้จากภาคกสิกรรมอันได้แก่ ข้าว และกระเทียมแล้ว แม่ยิงลาวลื้อบ้านเวียงแก้วยังมีฝีไม้ลายมือในการทอผ้าลายน้ำไหล และผ้าฝ้ายต่างๆศิลปะเอกลักษณ์ชาวลื้อที่เป็นที่ขึ้นหน้าขึ้นตา ชาวบ้านเวียงแก้วยังมีการเลี้ยงช้างเกือบยี่สิบตัว การจัดงานบุญช้างที่ขยายมาจากพิธีบายศรีสู่ขวัญช้างที่พี่น้องสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน สมัยก่อนเป็นพิธีกรรมที่ทำกันภายในครอบครัวที่มีช้างเลี้ยง ทุกวันนี้ได้รับการส่งเสริมให้เป็นงานประเพณีบุญช้างของแขวงไชยะบุรี ซึ่งหมุนเวียนกันจัดระหว่างเมืองต่างๆภายในแขวง บ้านเวียงแก้ว ได้เป็นตัวแทนของเมืองหงสารับเป็นเจ้าภาพจัดงานบุญช้างมา ๒ ครั้งแล้ว

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ของวัดบ้านเวียงแก้ว ก็ไม่ต่างไปจากทั่วๆไปที่กล่าวไว้เบื้องต้น กล่าวคือ “มีแต่ตุ๊เจ้าเฒ่า กับคูบาหนุ่มตนสองตน หาพระน้อยมาบวชมาเป็กบ่ได้” หมายความว่า ที่วัดบ้านเวียงแก้วมีแต่พระสูงวัย กับพระหนุ่มอีกรูปสองรูป แต่หาเด็กมาบวชเป็นสามเณรได้ยาก แต่ถึงกระนั้นที่วัดบ้านเวียงแก้วก็ยังมีสามเณรวัยรุ่นอยู่สองรูป

หลายๆท่านก็คงจะเช่นเดียวกับผมที่ เคยมองวัตรปฏิบัติของพระเณรชาวลื้อในลาวแถวเวียงแก้ว เมืองเงิน หลวงน้ำทา หรือในเมืองเชียงตุง เชียงรุ้ง สิบสองปันนา อย่างประหลาดใจที่เห็นท่านถีบจักรยาน ขับมอเตอร์ไซด์ เดินเล่นตามถนน เดินในตลาด นั่งเล่นในบ้านชาวบ้าน หรือเดินเข้าออกร้านขายของตอนเย็นๆ ทำให้นึกแคลงใจในวัตรปฏิบัติและพระวินัย

นั่นเป็นการมองจากคนภายนอกมิได้มองจากการเอาตัวเข้าไปอยู่ในชุมชนแล้วพยายามเข้าใจความเป็นไปหรือวิถีชุมชน ไม่เฉพาะเพียงแต่เราๆท่านๆที่คิดเช่นนี้ แม้แต่พี่น้องชาวลาวลุ่มที่ตั้งชุมชนอยู่ติดๆกันกับชาวลื้อก็ตาม ที่ผมพบเจอกับตัวเองก็ ในคราวนี้ที่ต้องมีส่วนในการสร้างชุมชนใหม่ให้ชาวลื้อกับชาวลาว เรื่องสร้างบ้านเรือนอยู่ใกล้กัน ใช้ตลาด ใช้โรงเรียนร่วมกันนั้นไม่มีปัญหา ไม่ได้รับคำโต้แย้งจากชุมชน  แสดงว่าทางด้านการปกครองสามารถกลมกลืนกันได้ แต่พอจะให้ใช้วัดร่วมกันแล้วกลับมีเสียงคัดค้านกันระงมจากฝั่งชาวลาวลุ่ม ด้วยเหตุที่ท่านอ้างว่า “พระลื้อกินข้าวเย็น” “เณรลื้อไปเล่นผู้สาว” “ชาวลื้อไปวัดแต่ดึก” “วัดลื้อตีกลองมื้อละสองเทื่อ” ฯลฯ ข้างต้นนี้เป็นคำบอกเล่า หรือมุมมองของชาวลาวลุ่ม ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้น ข้อนี้ผมยังไม่ยืนยัน

พุทธศาสนาของชาวไทเหนือ กับชาวลาวเข้าใจว่ามีที่มาที่แตกต่างกัน ของชาวลาวรับมาจากเขมร อ้างจากตำนานพระบางที่เจ้าฟ้างุ้มมหาราชท่านอัญเชิญมาจากพระนคร เจ้าฟ้างุ้มเจ้าชายจากกรุงลาวที่ไปศึกษาร่ำเรียนต่างเมืองถึงกัมโพชนคร จนท่านได้เป็นราชบุตรเขยกษัตริย์เขมร ท่านพานางแก้วกัลยาพระมเหสี พร้อมลี้พล และปราชญ์วิทยาการต่างๆขึ้นมารวบรวมอาณาจักรล้านช้างให้เป็นปึกแผ่น สำหรับชาวไทเหนือนั้นสมัยก่อนนับถือแถน ผีฟ้า ผีด้ำ ผีบรรพบุรุษ ดังจะเห็นตัวอย่างจาก ชาวไทดำ ไทขาว ไทแดง ชาวไทโบราณที่ตกค้างอยู่ถิ่นฐานเดิมแถบเมืองแถนนั้น หลายพากส่วนยังคงนับถือผีเหมือนเดิม พุทธศาสนาแบบเถรวาทเข้ามาสู่ชาวไทเหนือจากลังกา ผ่านสุโขทัยขึ้นไปเพาะบ่มเจริญรุ่งเรืองในล้านนาจนได้เป็นเจ้าภาพในการ สังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดเจ็ดยอด แล้วก็แตกเป็นสองนิกาย คือนิกายป่าแดง กับนิกายสวนดอก ทั้งสองนิกายได้เผยแผ่ไปยังดินแดนชาวลื้อสิบสองปันนา นั่นคือที่มาของพุทธศาสนาในหมู่ชาวลื้อ

พระหนุ่ม เณรโข่ง ไม่ว่าที่ไหนๆก็มักจะต้องต่อสู้กับอบายเย้ายวนภายนอกกำแพงวัด หนังสือพิมพ์ ทีวีบ้านเราก็เสนอข่าวกันไม่เว้นแต่ละวัน ที่บ้านเวียงแก้วก็ไม่ตกยุคเหมือนกัน

เช้าวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม เสียงนายบ้านแจ้งตามสายป่าวประกาศ เรียกชาวบ้านมาประชุม(รวมบ้าน)ที่ห้องประชุมบ้านหน้าข่วงวัด กลางห้องประชุมมีวัยรุ่นสามคนถูกผ้าผูกมัดนั่งรวมกันอยู่ สองในสามเป็นเณรโข่งของวัดนั่นเอง เรื่องของเรื่องเกิดจากการที่มีคนไปร้องเรียนว่าเณรชอบ “สิกปก”(ภาษายวน แปลว่าแอบสึกเป็นฆราวาสตอนกลางคืน) หนีไปเที่ยวดึกๆดื่น เฒ่าแก่แนวโฮมได้ฟังดังนั้นแล้วจึงแต่งให้กองหลอนบ้านมาซุ่มอยู่ที่กุฏิหน้อยสถานที่แปลงกายของเณร คืนนั้นเมื่อเณรย่องกลับเข้าวัดจะมาหยิบสบงจีวรที่ถอดซ่อนไว้ ก็เลยถูกจับได้โดยละม่อม แล้วก็พามาไว้ที่หอประชุมบ้าน ถูกจับทั้งเณรและทั้งวัยรุ่นที่เอามอเตอร์ไซด์มาพาเณรไปเที่ยว รุ่งเช้านายบ้านจึงประกาศ”รวมบ้าน”ให้มาเป็นสักขีพยาน เฒ่าแก่แนวโฮมท่านให้สึก แต่ไม่ใช่แค่ให้สึกเฉยๆ ยังมีแถมบทลงโทษหนักไม่ใช่เล่น ท่านให้ถางหญ้าในลานวัดให้เอี่ยม ท่านให้มาหาบหินร้อยหาบ หาบทรายร้อยหาบเข้ามากองไว้ในลานวัด ไม่รู้ป่านนี้ “อ้ายน้อย”(ภาษายวน เรียกคนที่สึกจากเณร) จะดายหญ้า หาบทรายครบหรือยัง

เขียนเรื่องนี้ด้วยความชื่นชมชาวเวียงแก้ว พร้อมๆกับการได้เปิดทัศนะเกี่ยวกับพุทธศาสนาในหมู่ชาวลื้อ ทำให้เห็นว่า “ในความหย่อนยาน ก็มีความเข้มงวด”  วิถี ฮีตคองของใครก็ของใคร ไม่ควรเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน    

« « Prev : พิธีออกวัด

Next : ส่งให้เดินทางข้ามผ่านภพ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2011 เวลา 5:17 (เย็น)

    เที่ยวนี้ไม่มีรูปมาอวด อิ

  • #2 chakunglaoboy ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2011 เวลา 7:24 (เย็น)

    เข้ามาติดตามอ่านเสมอครับ ได้รู้วิถีที่งดงาม และง่ายๆ แต่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณครับ

  • #3 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2011 เวลา 7:32 (เย็น)

    เรื่องศีลธรรมเป็นเรื่องสังคมสัมพัทธ์ เอาแน่ไม่ได้ ต้องอนุโลมตามสังคม ส่วนเรื่องบรมธรรมควรต้องเหมือนกันในทุกสังคม


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.052865982055664 sec
Sidebar: 0.025413990020752 sec