ส่งให้เดินทางข้ามผ่านภพ

โดย silt เมื่อ 11 มิถุนายน 2011 เวลา 6:32 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1265

บันทึกนี้ไม่เหมาะสำหรับ”คนซึมเศร้า” โปรดอย่าอ่านยามวิกาลหากท่านอยู่คนเดียว

เป็นเรื่องราวธรรมชาติของวงจรการทำงานทางสังคม ที่ต้องพาตัวเองเข้าไปพัวพันเป็นสักขีพยานในหลากหลายพิธีกรรม ไม่ว่าจะเป็น กินแขกแต่งดอง ทำขวัญเดือนแอน้อย(ผูกแขนทารกอายุครบเดือน) อุ่นเดือน(ไปเยี่ยม ดื่ม เล่นไพ่ เป็นเพื่อนคนอยู่ไฟ) รับโชค ผูกแขน ขึ้นบ้านใหม่ เฮดกองทานเฮือนผ้า แปลว่าอะไรบ้าง บางงานก็เขียนเล่าไว้ในบันทึกก่อนๆ แต่บางงานก็ยังไม่ได้เขียน….ขอแปะไว้ก่อนครับ

แต่วันนี้จะบันทึกเกี่ยวกับประเพณีหลังความตาย หรือ การ”ส่งสะก๋าน”

อันที่จริงผมก็สนใจประเพณีหลังความตายมาบ้างแล้ว หลังจากที่ได้ยินเพื่อนร่วมงานท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อน ท่านเคยเห็นงานส่งสะก๋านคนไทกลุ่มหนึ่งริมน้ำโขง ท่านส่งสะก๋านโดยการต่อแพไม้ไผ่ เอาร่างผู้วายชนม์วางบนแพกางร่มแดงให้ แล้วฝากธาราแม่ของพาร่างไหลล่องเดินทางข้ามภพ มีโอกาสผมจะดั้นด้นไปเมืองนั้นไปพูดคุยกับคนเก่าๆถึงรายละเอียดดูสักครั้ง แล้วจะนำมารายงานครับ

ภาษาหงสา “เฮือนดี หมายถึงบ้านที่กำลังมีผู้เสียชีวิต” “ขอน คือ ร่างที่ไร้ลมหายใจ”

กลับจากแปลงสาธิตบ่ายแก่ๆของวันศุกร์ วันนี้ฝนตกหนักเกรงจะออกจากพื้นที่ไม่ได้ จึงพาพี่น้องกลับก่อนค่ำ แวะส่งคนงานที่หมู่บ้านจัดสรร มีคนวิ่งมาแจ้งข่าวร้าย ข่าวการจากไปของอดีตพนักงานท่านหนึ่ง ที่ป่วยเรื้อรังยากที่จะรักษา ตามการพยากรณ์โรค และตามประสบการณ์ที่คนรอบตัว(รวมถึงพ่อ)ที่จากไปด้วยโรคไตวาย พอเห็นผลเลือดตอนที่ตรวจร่างกายชาวบ้าน ผมก็ทราบว่าอย่างไรก็ต้องเกิดสักวัน แต่เป็นการรู้ที่เหมือนน้ำท่วมปาก บอกใครก็ไม่ได้ยกเว้นไปปรึกษาท่านหมอที่โรงหมอแขวงสองท่าน เพราะอยากจะยื้อเวลาในการเข้าอยู่บ้านใหม่ให้นานอีกสักหน่อย ไม่อยากให้มีงานสีดำในช่วงนี้ ดังนั้นสำหรับผู้จากไปรายนี้ไม่สนิทก็เหมือนสนิทกัน เพราะติดตามเรื่องราวอยู่ตลอด

เดินฝ่าผู้คนและเสียงร่ำไห้ไปนั่งข้างร่างที่นอนสงบ ปลอบโยนให้กำลังใจคนข้างหลังไปตามโอกาส โลกช่างสีดำเทาทมึนเพราะเป็นช่วงที่ญาติทยอยกันมาถึง คนนี้มาร้องคนโน้นมากอดร่างคร่ำครวญ เห็นท่าจะปรึกษากันเรื่องงานในบ้านไม่ไหว ค่อยๆปลีกตัวออกมาดูภายนอก เห็นผู้ชายพากันแบกไม้กระดานมาคนละแผ่นสองแผ่น พร้อมฆ้อน ตะปู เลื่อย แว่วๆได้ยินเสียงคนพูดถึงกระดาษสี หมึก กาว ผ้าขาว และเครื่องใช้อีกสองสามอย่าง เลยรีบเสนอตัวออกไปจัดหาที่ตลาดแล้วขออนุญาตแวะลงจัดการกับตัวเองทั้งเรื่องอาหารใส่ท้องและยาเพื่อเตรียมตัวไปรอบดึก ไหว้วานทีมงานช่วยนำของไปส่ง ช่วยเป็นธุระพาพี่น้องไปซื้อหมูมาหนึ่งตัวเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงแขก แล้วก็ไปรับพระ ไปขนโต๊ะเก้าอี้

ค่ำๆทีมงานมารับ ไปฟังสวดหนึ่งจบ แล้วก็เป็นรายการอยู่เป็นเพื่อน ที่นี่ถือเป็นหน้าที่ที่คนทุกครอบครัวต้องมีตัวแทนมาอยู่เป็นเพื่อน “เรือนดี” หมายถึงให้มาอยู่ตลอดคืน ได้ยินว่าบางหมู่บ้านมีการขานชื่อกันตอนหกโมงเช้าหากครอบครัวไหนขาดมีการปรับไหมสี่สิบพันกีบ ก็นั่งคุยกันเป็นวงๆแล้วแต่ใครสนใจเรื่องไหน มีเมี่ยง บุหรี่ เหล้าขาวไว้บริการ มีเลี้ยงข้าวรอบดึก แล้วก็มีวงไพ่ เล่นกินน้ำ กินเหล้า กินลูกอม ทั้งในบ้านนอกบ้านมีเกือบยี่สิบวง แต่เห็นมีวงที่เล่นกินเงินกีบกันเพียงเจ้ามือเดียวเท่านั้น ผมขอตัวกลับตอนใกล้ตีหนึ่ง กลับมาอาบน้ำ สระผมเสร็จตอนตีสอง

เช้าวันเสาร์ไปถึงบ้านเรือนดีราวสิบโมง เห็นคนวิ่งมาขอรถไปรับพระมาสวดรอบที่๑ ใช้พระเณรแปดรูปบทสวดไม่คุ้น (ก็จะคุ้นได้อย่างไรไม่ได้ไปงานสีดำเต็มๆแบบนั่งแถวหน้าอย่างนี้สักที) ถามพ่อเฒ่าข้างๆท่านว่ามีสองยก ยกแรกเรียกสวดกุสลา ยกสองเป็นสวดเทวดา แล้วก็ไปส่งพระที่วัด อีกสักพักราวครึ่งชั่วโมงก็พาพระท่านมาสวดอีกรอบที่๒ แล้วก็นิมนต์ท่านกลับไปรับเพลที่วัด รถรอรับท่านกลับมาสวนรอบที่๓ นิมนต์ท่านไปพักผ่อนอีกหน่อย ระหว่างนี้ผมอาสาแว๊ปออกไปซื้อน้ำมันมาสามแกลลอน ปรากฏว่าไม่มีแกลลอนเปล่าให้ยืมทั้งๆที่เห็นๆว่ามีกันอยู่โทนโท่ มีคนมากระซิบว่าเอาแกลลอนไปใช้ในการนี้เขาไม่ยืมกัน เลยใช้วิธีใหม่”ขอ… ไม่ใช่ยืม” มีคนไปหยิบมาให้จนเกินพอ อืม….แล้วก็มาสวดรอบที่๔ เป็นชุดใหญ่ก่อนที่จะทำการเคลื่อนย้ายไปสุสาน

ไม่สามารถหารถบันทุกไปได้ ด้วยความเชื่อของคนทางนี้ที่แม้แต่ญาติพี่น้องกันก็ไม่อยากทำ ที่หมู่บ้านอื่นมีรถอีแต๋นที่รับงานนี้โดยเฉพาะแต่ช่วงนี้พัง (หากเป็นพนักงานมักจะใช้รถของหน่วยงานไม่ใช้รถส่วนตัว) เจ้าภาพก็ออกจะเกรงใจในข้อนี้เกินกว่าที่จะออกปากขอ หนุ่มๆจึงเสนอตัวว่า ใช้วิธีแบกไส่ไม้คานหามสี่ผลัดกันไป เกือบสองกิโลครับท่านฝนก็ปรอยๆ รถทีมงานผมใช้ขนส่งพระเณรล่วงหน้าไปก่อน ขณะเคลื่อนขบวนโดยการหามและมีเณรเดินนำหน้า ผมก็เดินจ้ำเดินตามขบวนแทบไม่ทัน อาสาเดินเพราะอยากไปส่งและไม่อยากอยู่ที่บ้านท่ามกลางเสียงร้องไห้อาลัยของบรรดาญาติฝ่ายหญิงที่ไม่สามารถร่วมมาส่งได้ เจ้าหน้าที่อาวุโสทีมงานผมสองท่านอาสาอยู่เป็นเพื่อนฝ่ายหญิง การเคลื่อนขบวนงานนี้มีแต่ผู้ชายเท่านั้น แต่ละคนขัดมีดใส่ฝักสวยไว้กับเอว มีคุณแม่บ้านท่านหนึ่งเรียกผมไว้บอกว่าจะหามีดมาให้พอดีท่านเห็นสร้อยคอผมโผล่จากคอเสื้อท่านเลยบอกว่า “มีคำแล้วบ่ต้องเอามีดไปกะได้” เป็นความเชื่อที่ว่าเวลาไปสถานที่แห่งนี้ป่าอย่างนี้ต้องพกของแข็งของคมไปด้วย สิ่งชั่วร้ายจะทำร้ายไม่ได้ ยกเว้นเจ้านายที่มีทองคำท่านว่าป้องกันได้ทุกอย่าง (อย่างนี้นี่เองทองคำถึงเป็นโลหะมีค่า)

ป่าเฮ่ว ป่าช้า ป่ากำ เป็นป่าประเพณีที่จำเป็นและชาวบ้านปกปักรักษา ไม่เหมือนบ้านเราหลายแห่งที่รถไถมักจะบุกรุกป่าเฮ่ว แต่ที่นี่ยังคงเป็นป่าไม้ดงหนา ป่าไม้เป็นขน ต้นไม้ขนาดใหญ่หลายคนโอบ มีเถาวัลย์ห้อยระโยงระยาง ทรงพุ่มเบียดชิดจนแดดส่องไม่ถึงพื้น ตะไคร่น้ำเกาะตามต้นไม้ พรมหญ้าพื้นล่างรกทึบแน่นหนา ต้องเดินผ่านป่าสภาพอย่างนี้เข้าไปจนลึก จนถึงที่ประกอบพิธี ที่ที่หมู่ไม้เปิดโล่งไว้หน่อยหนึ่ง มีคนมาเตรียมการไว้ มาเอาฟืนใส่เชิงตะกอน มาก่อกองไฟเล็กๆไว้หนึ่งกอง แล้วก็มีไม้แปก(ไม้สน)เป็นท่อนๆยาวคืบกว่ากองไว้ห้าหกสิบชิ้น

พระท่านไม่ได้บังสุกุลที่สี่มุมเหมือนบ้านเรา แต่ท่านยืนเรียงแถวด้านทางหัว จับด้ายโยงแล้วก็สวดอีกหนึ่งจบ คนที่ร่วมขบวนมาส่งมีราวห้าสิบคนแต่มีคนปฎิบัติการจริงๆหกเจ็ดคน ที่เหลือก็แล้วแต่”ความกล้า” ว่าจะเข้าไปช่วยใกล้เพียงไหน บางคนก็ยกเสื้อขึ้นปิดจมูก ขั้นตอนที่มีการคว่ำหีบหลายคน(รวมถึงผมด้วย)ก็หันหลังให้ เมื่อจัดแจงเสร็จแล้ว ท่านก็เอาท่อนไม้สนไปจุดไฟในกองถือไปให้พระท่านเอาไปจุดในเชิงตะกอน พระท่านใส่ท่อนไม้ไฟ(บ้านเราคงเป็นดอกไม้จัน…เขียนไม่ถูกแหงๆ ขออภัย) ครบแล้วก็เป็นรอบของชาวบ้านต่างก็ถือไปคนละท่อนวางที่กองฟอนพร้อมอวยชัยให้พรให้ผู้เดินทางข้ามภพ

พระท่านอยู่เป็นเพื่อนสักครู่ก็เดินทางกลับ งานนี้ลุงเปลี่ยนพลาดที่ไม่ได้กลับพร้อมท่าน เพราะหลังจากนั้นชาวบ้านก็อยู่เป็นสักขีพยานการเดินทางข้ามผ่านแม้ว่าบางคนอยู่แบบห่างๆไม่มองกองไฟ ไม่มีใครขยับตัวกลับ มีเจ้าภาพรินเหล้าขาวจอกเล็กๆเวียนแจกทุกคน เมื่อรับมาแล้วผมเห็นเขายกมาจิบนิดหนึ่งส่วนที่เหลือเทล้างมือ อืม…น่าจะเป็นกุศโลบายของคนโบราณเพื่อลดการติดเชื้อกระมัง

ท่ามกลางบรรยากาศเงียบสงบ เสียงผู้คนพึมพำแผ่วทุ้ม เสียงลูกไฟแตกเปลวไฟสะบัดไหว เสียงลมพัดต้องใบไม้ซู่ดัง น้ำค้างยอดไม้ร่วงกราว เสียงกิ่งไม้เป๊าะหัก เสียงสูงต่ำของหมู่นก ตัวฮอกตัวไหน่กระรอกกระแตผลุบโผล่ไต่เต้น ผมเริ่มมองลึกลงไปในตัวตน ในจิตใจ และมองเห็นธรรมชาติ ว่าที่สุดทุกคนก็ต้องกลับสู่ผืนดิน (ไม่แน่ใจว่าเจ้าเหล้าจิบแรงๆนั้นจะเป็นตัวเร่งหรือไม่) เราอยู่เงียบๆกันอย่างนั้นกว่าหนึ่งชั่วโมง

เดินออกจากป่า ทุกคนเปลี่ยนทิศทางพาตัวเองผ่านวัด บางคนก็แวะไหว้พระเจดีย์ แล้วพวกเราก็กลับมายังบ้านงาน ทุกคนต้องไปที่กระด้งหน้าเรือนที่มีด้ายผูกข้อมือ หัวข่าหั่นแว่น มีด และเคียววางอยู่ แม่เฒ่าเรียกผมเข้าไปท่านให้เอาด้ายพันข้อมือหลวมๆพร้อมอวยชัยให้พร ให้แคล้วคลาด ให้ข่า(ม)ให้คง พร้อมจับมีดกับเคียวแตะแขนเบาๆ

ฝ่ายหญิงที่ไม่ได้ไปป่าด้วย จัดแจงแต่งดาสำรับกับข้าวและเหล้าไว้รอ ส่วนผมนั้นมีเวียกประชุมตอนสี่โมงแลงต้องขอตัวกลับ   คืนนี้พี่น้องคงจะมาอยู่เป็นเพื่อนกันจนค่อนรุ่ง จนถึงอีกหลายๆคืน ข้อนี้ผมไม่ห่วง เพราะ”สายใยสังคม”ของที่นี่ยังเหนียวแน่นยิ่งนัก

จบบันทึก แต่ยังไม่จบงาน

« « Prev : บอวอรอ (บวร) บ้านวัดโรงเรียน

Next : ชุดบันทึก เรื่องไม่เล็ก ๑ คำกล่าวรายงานปิดกองประชุม » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 มิถุนายน 2011 เวลา 7:05 (เย็น)

    สะก๋าน น่าจะหมายถึง สังขาร นะ…ผมเดา

    เกิดมาแล้วต้องตาย (เหมือนตำรวจไทย)

    ถ้าไม่เกิดก็ไม่ต้องตาย

    และถ้าไม่ต้องตายก็ไม่ต้องเกิด

    ดังนั้นถ้าไม่เกิดก็ไม่ต้องเกิดใหม่ ให้น่าเวียนหัว

    ท่านพุทธทาสสอนว่า ..คนเรามักกลัวตาย พอตายทีก็ร้องไห้กันใหญ่
    แต่คนเรามักไม่กลัวเกิด พอเกิดกันที ก็ฉลองกันใหญ่
    ทั้งที่การเกิดนั้น ว่าไปแล้ว น่าสยดสยองยิ่งกว่าการตายเสียอีก (อันนี่ผมสอยต่อยอดเอาเอง)

    ขอบคุณครับที่นำเรื่องดีๆมาเล่า ด้วยสำนวน ภาษา ที่แสนพริ้งค์

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 มิถุนายน 2011 เวลา 7:10 (เย็น)

    นึกถึงภาพช่วงแบก..ฝ่าฝน2 ก.ม. จึงสะกดรอยตาม ย้อนมามานุ่งดวลจอกกันในป่าเห้ว 1-2ชั่วโมง
    คนหนอ เกิดก็ยาก ตายก็ยาก เฮ้อๆๆๆ พวกอยู่ยากๆจะเป็นยังไงก็ไม่รู้

  • #3 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 มิถุนายน 2011 เวลา 7:20 (เย็น)

    ผมสังเกตว่าวัฒนธรรมข้าวเหนียว จะมีพิธีเผาศพต่างจากข้าวจ้าว คือข้าวเหนียวเผานอกวัด ส่วนข้าวจ้าวเผาในวัด

    แต่สมัยก่อน เวลาสวดศพ มักนิยมสวดในบ้าน (ตาผมตายก็สวดในบ้าน) แล้วเอาไปฝัง เผา ในวัด สมัยนี้สวดในบ้านไม่มีอีกแล้ว

    พวกพวน นอกจากสวดในบ้านแล้ว ยังเก็บศพไว้ในบ้านอีกด้วย เป็น 100 วัน กว่าจะไปเผา …แบบนี้เรียกว่า รักกันจริง

  • #4 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 มิถุนายน 2011 เวลา 11:19 (เช้า)

    ไม่อ่านเมื่อคืน แต่อ่านเมื่อวัน ก็ยังรู้สึกหม่นๆ ในใจ

  • #5 dd_l ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 มิถุนายน 2011 เวลา 9:43 (เย็น)

    หมู่นี้ได้ไปแต่งานส่งสะก๋านแบบนีื กึ๊ดใจ๋จะเขียนอยู่..แต่อ้ายเปลี่ยนถ่ายทอดหื้อได้ลุ่มลึกแต๊นาเจ้า..

  • #6 chakunglaoboy ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 มิถุนายน 2011 เวลา 5:30 (เย็น)

    ลุ่มลึกดีแท้ครับ
    ขอบคุณครับที่นำเรื่องเล่าอีกฟากแม่ของมาแบ่งปันครับผม


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.17405104637146 sec
Sidebar: 0.032935857772827 sec