ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ ของ สปป ลาว

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 20 มีนาคม 2011 เวลา 11:59 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1842

วันที่ ๓๐ เมษา ปีนี้เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ สปป ลาว ชุดที่ เจ็ด

สภาแห่งชาติ เป็นอำนาจการปกครองฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ทำหน้าที่รับรองกฎหมาย และกิจกรรมต่างๆของรัฐ เช่น การสัมปทานโครงการขนาดยักษ์ต่างๆ (เล่าเท่าที่รู้เห็น)

วาระของสมาชิกสภา คือ ๕ ปีเลือกตั้งหนึ่งครั้ง

การเลือกตั้งเป็นแบบพวงใหญ่ หนึ่งแขวง(จังหวัด เลือกได้หนึ่งพวงตามจำนวนที่กำหนด)

ท่านมีการกำหนดจำนวนผู้สมัครด้วย เริ่มที่คณะประจำสภาแห่งชาติมีมติกำหนดจำนวนผู้สมัคร และจำนวนสมาชิกสภาของแต่ละแขวง แล้วนำเสนอประธานประเทศ เพื่อออกรัฐดำรัส ว่าด้วยการกำหนดจำนวนผู้สมัคร และจำนวนสมาชิกสภาแห่งชาติของแต่ละแขวง เช่นในการเลือกตั้งครั้งนี้ แขวงไชยบุรีรับผู้สมัคร ๑๐คน เลือกเอา ๗ คน กำแพงพระนครเวียงจันทน์รับผู้สมัคร ๒๑ คน เลือกเอา ๑๕คน รวมทั้งประเทศ รับผู้สมัคร ๑๙๐ท่าน และเลือกเอา ๑๓๒ท่าน

การกำหนดจำนวนสมาชิกสภา ขึ้นกับจำนวนพลเมืองในแต่ละแขวงโดยคิดสัดส่วน จำนวนพลเมือง ห้าหมื่นคนต่อสมาชิก ๑ ท่าน แต่ไม่ให้แต่ละแขวงมีสมาชิกสภาน้อยกว่า ๓คน นอกจากนั้นยังขึ้นกับจุดพิเศษของแต่ละแขวงเช่น เขตเศรษฐกิจ ชายแดน ความมั่นคงเป็นต้น

ใครสามารถใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกผู้แทน พลเมืองลาวที่มีอายุ ๑๘ ปีขึ้นไปทุกคนมีสิทธิ์เลือกผู้แทน ยกเว้น คนที่ ถูกศาลประชาชนตัดสิทธิ์ คนบ้า และคนที่ถูกตัดอิสรภาพ

ใครสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติ อิงตามตัวบทกฏหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตราที่ 3 ท่านว่าพลเมืองลาวทุกคนที่มีอายุซาวเอ็ดปีขึ้นไป มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง

แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเดินไปยื่นใบสมัครเองได้นะครับ การสมัครรับเลือกตั้งต้องมีผู้เสนอรายชื่อขึ้นไปในฐานะของตัวแทนของหน่วยงานราชการ หรือองค์กรมหาชนเท่านั้น ไม่ใช่สมัครด้วยตัวเอง หลังจากการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร จากคณะกรรมการเลือกตั้ง( กกต)ท้องถิ่นแล้ว จะส่งรายชื่อไปให้กรรมการระดับชาติเป็นผู้ประกาศรายชื่อผู้สมัครอย่างเป็นทางการ

ท่านมีข้อตกลงว่าด้วยการควบตำแหน่ง หมายความว่า ข้าราชการประจำสามารถเป็นผู้แทน หรือสมาชิกสภาได้ควบคู่กันไปด้วย เช่น ท่านอาจเป็นรองเจ้าแขวง หัวหน้าแผนกกะสิกำแขวง ก็สามารถสมัครผู้แทนได้

การหาเสียงตามกฎหมายท่านว่า ผู้สมัครมีสิทธิ์โฆษณาหาเสียงได้ แต่ต้องไม่ใส่ร้ายป้ายสีคนอื่น เท่าที่เคยเห็น จะเป็นเวทีที่จัดโดยคณะกรรมการท้องถิ่น จัดเวทีแนะนำผู้สมัครทุกท่าน แล้วให้แต่ละท่านปราศัย

การเลือกตั้งใช้แบบสากล คือการลงคะแนนในบัตรเลือกตั้ง เลือกกาเอาคนที่ชอบ มีการจัดสถานที่ลงคะแนน แต่ที่พิเศษคือ มีบริการหีบบัตรเคลื่อนที่สำหรับผูป่วย คนชรา คนพิการที่ไม่สามารถเดินทางมายังหน่วยเลือกตั้งได้ด้วย

การนับคะแนนเสียงนับแบบเปิดเผยที่หน่วยเลือกตั้ง

ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด  เรียงลำดับจากที่ ๑ไปจนถึงลำดับที่ประกาศจำนวนผู้แทนไว้ จะได้เป็นผู้แทน

ในกรณีที่ ลำดับสุดท้ายที่จะได้เป็นผู้แทน มีมากกว่าหนึ่งคนที่ได้คะแนนเสียงเท่ากัน ท่านให้เลือกเอาผู้สมัครที่มีอายุราชการ (อายุการ)มากกว่า เป็นผู้แทน

หากอายุการยังเท่ากันอีก ทีนี้ท่านให้พิจารณาอายุของผู้สมัคร (ทางนี้ใช้คำว่า อายุ กะ-เสียน) ผู้ที่เกิดก่อน จะได้เป็นผู้แทน

การเลือกตั้งคราวนี้ คณะกรรมการเลือกตั้งท่านตั้งเป้าหมายให้ได้ สาม 100 % ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ 100% จำนวนบัตรดี(ไม่เสีย) 100% และ ความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้ง 100%

ยังมีประเด็นที่น่าสนใจในกฏหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ สปป ลาว ที่หลายมาตราครับ เช่น การเสนอคัดค้านผู้สมัครภายในเจ็ดวันหลังประกาศรายชื่อ การเสนอปลดสมาชิกสภาแห่งชาติ ซึ่ง ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง มีสิทธิ์เสนอให้ปลดสมาชิกสภาจากแขวงของตนเอง และเมื่อสมาชิกสภามากกว่ากึ่งหนึ่งโหวดให้ออกตามคำร้อง สมาชิกท่านนั้นก็ต้องหมดสภาพ

ไม่ทราบว่าจะเหมือนหรือต่างจาก พรบ. เลือกตั้งบ้านเรามากน้อยประการใด


วันฮดสรงวัดบ้านแท่นคำ

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 14 มีนาคม 2011 เวลา 12:31 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2483

 

เดือนสี่ขึ้นแปดค่ำ ปีนี้มีบุญวันฮดสรงสาธุวัดแท่นคำเมืองหงสา การฮดสรงเป็นพิธีกรรมหนึ่งในประเพณี “บุญผะเวท” หรือเทศน์มหาชาติ ประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และสำคัญที่สุดของชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขง

สำหรับผม บุญผะเวทวัดบ้านแท่นคำปีนี้มีความหมายมากกว่า เป็นวันที่ผมอุปโลกน์ตัวเองเล่นบทบาทเป็น “ผู้นำบุญ”

ด้วยเหตุจำเป็น ที่พี่น้องจำนวนหนึ่งจะต้องย้ายบ้านเรือนมาอยู่ใกล้กับบ้านแท่นคำ และแน่นอนที่ต้องมาเป็น “ศรัทธาวัดบ้านแท่นคำ” ผมจึงเป็นต้นคิดและอีกหลายๆต้น(รวมถึงต้นทุน และต้นเรื่องออกปาก บอกบุญเพื่อนร่วมงาน)ในการชักชวนพี่น้องกลุ่มที่จะย้ายเรือน ช่วยกันทำ “กัณน์หลอน” แล้วพากันนำมาถวายร่วมบุญผะเวท ได้รับการร่วมบุญจากผู้ร่วมงานหลายท่าน พี่น้องก็ดีอกดีใจพากันมาตระเตรียมเครื่องไทยทาน บริจาคทรัพย์สมทบตามกำลังศรัทธา

สายๆของวันขึ้นแปดค่ำ พวกเราก็พากันมาถึงวัดบ้านแท่นคำ นายบ้าน เฒ่าแก่แนวโฮม ออกมาต้อนรับอย่างอบอุ่น ผมมองเห็นการหลอมรวมกลมกลืนของผู้มาใหม่กับพี่น้องบ้านเจ้าภาพอย่างสนิทแน่น ก็เบาใจ ภายหลังจากถวายกัณน์หลอน บรรดาพี่น้องต่างถูกเชื้อเชิญจากบ้านเจ้าภาพ พากันแยกย้ายกันไปเยี่ยมเยือนกินดื่มพักผ่อนตามบ้านคนรู้จักมักคุ้นรอบๆวัด ส่วนผมยึดเอาใต้ร่มหูกวางข้างกำแพงวัด พูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ “ก๊วนทำบุญ” จากหมู่บ้านต่างๆที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี ด้วยว่าไปทำบุญวัดไหนก็มักจะพบปะกันอยู่เสมอ คุยกับผู้เฒ่าได้รู้เรื่องราวเก่าๆที่ไม่สามารถไปเสาะหาได้จากที่ไหนมาประเทืองปัญญา

หลังจากถวายเพล พระท่านฉันน์เสร็จ ผมเริ่มเห็นพี่น้องเริ่มพากันมารอรอบๆปะรำหอสรงที่ใช้ผ้าเหลืองล้อมเป็นห้อง ไว้ที่ลานวัด พร้อมมีรางฮดสรงและแคร่สำหรับวางดอกไม้ ทุกคนถือขันบรรจุน้ำอบน้ำหอมลอยด้วยดอกไม้ บางรายทำน้ำสรงมาถังใหญ่เพื่อเผื่อแผ่แขกบ้านไกลที่ไม่ได้เตรียมมา

พิธีเริ่มด้วย พ่อผ้าขาว หรือชีปะขาว สองสามท่านถือด้ายมงคลจูงสาธุท่านที่จะได้รับการฮดสรง ลงจากมาจากอุโบสถเข้ามายังปะรำสรง ในการฮดสรงน้ำพระสงฆ์อาคันตุกะที่นิมนตร์มาจากวัดต่างๆจะเป็นผู้เริ่มสรงก่อน ตามด้วยพระเณรภายในวัด จากนั้นเป็นรอบของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ถืออุโบสถศีลนุ่งขาวห่มขาว เมื่อหมดรอบผู้ทรงศีลแล้วก็เป็นรอบของแขกผู้ใหญ่ของบ้านของเมือง แล้วก็เป็นรอบของมหาชน ใช้คำว่ารอบมหาชนถึงจะบรรยายบรรยากาศได้ใกล้เคียง ไม่ทราบผู้คนหนุนเนื่องหลั่งไหลมาจากทิศทางไหน ทุกคนมาด้วยศรัทธา แรงศรัทธาอันบริสุทธิ์ อยากให้ทุกท่านมาเห็นกับตา เล่าอย่างไรก็ไม่จบกระบวน

ใช้เวลากว่าชั่วโมงกว่าที่สาธุชนคนสุดท้ายจะสรงน้ำเสร็จ ดีที่เดือนสี่อากาศค่อยร้อนขึ้นมาหน่อย วันก่อนสรงน้ำสาธุวัดบ้านโพนไซ จัดตอนต้นเดือนมกรา หนาววววว พระท่านผลัดเครื่องภายในปะรำเสร็จ เมื่อเสียงฆ้องสัญญานดังขึ้น ทุกคนนั่งพนมมือรับพร

ผมพาตัวเองลัดเลาะไปหน้าปะรำ พร้อมเด็กที่กรูกันเข้ามาเหมือนกัน เด็กน้อยบอกว่าเดี๋ยวเขาแจกเงินแล้วมีคนนอนให้พระเหยียบด้วย เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะผมเห็นพ่อออกกว่ายี่สิบคนพากันนอนคว่ำหน้าเรียงกันจากปะรำสรงไปหาหอเทศน์ แล้วพ่อชีปะขาวก็เดินถือด้ายมงคลจูงพระท่านเดินบนตัวพ่อออกเข้าสู่หอเทศน์ ไม่ใช่เฉพาะพ่อผ้าขาวกับสาธุท่านสองท่านนะครับ ยังมีขบวนพ่อผ้าขาวที่ถือเครื่องอัฐบริขารอีกสี่ห้าท่าน

เป็นศรัทธา เป็นความน่าทึ่ง ปกติจะไปร่วมบุญผะเวทเฉพาะช่วงตักบาตรตอนเช้า กับช่วงเริ่มเทศน์ตอนค่ำๆ ส่วนพิธีฮดสรงนี่ไม่เคยมาร่วมเพราะจัดกันหลังเพล เป็นเวลาทำงาน วันนี้มีโอกาสมาพร้อมพี่น้อง

 กลายเป็นว่าพี่น้อง คือผู้นำพาผม ให้มาพบเจอศรัทธาที่บริสุทธิ์

สาธุ ขอให้คงอยู่คู่หงสาอีกนานๆ


ขอแค่รับฟัง ฝึกตัวเองให้รู้จักรับฟัง

8 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 10 มีนาคม 2011 เวลา 10:14 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1554

หลายวันมานี้ “หนัก”

ไม่ใช่งานหนักต้องแบกต้องหามแต่อย่างใด ไม่ใช่งานหนักที่ต้องเขียนรายงานหามรุ่งหามค่ำแต่ประการใด

แต่ก็ “หนัก”

แม้ว่าบทบาทของตัวเอง จะเป็นคนปลายเหตุ จะเป็นผู้เยียวยา ที่เขาสวมหัวโขนให้เป็น “ฅนฟื้นฟูวิถีชีวิต….Livelihood restoration” แต่ในสายตาในการรับรู้ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของโครงการ บรรดาท่านคงไม่มีกะจิตกะใจมาแยกแยะ ท่านก็คงเหมารวมเป็น “พวกโครงการ” แล้วก็เริ่มต้านด้วยความคิดว่า “หากไม่มีพวก เองข้าก็คงไม่ต้องเสียที่นาที่สวน”

การเข้าหากลุ่มชน “ผู้เสียสละเพื่อโครงการ” ในแต่ละครั้ง แม้ว่าจะกำหนดหัวข้อปรึกษาหารือ เพื่อหาทางออกช่วยพี่น้องที่สูญเสีย นำแผนการประกอบอาชีพ นับสิบทางเลือกไปเสนอ ท่าทีตอบรับแรกสุดจากพี่น้อง คือการปฏิเสธ ด้วยเหตุผลนานาประการ จนเหมือนกับเป็นการตีรวน

เวทีแรกๆ ยอมรับว่า พลุ่งพล่านจนเกือบจัดอยู่ในภาวะแห่งโทสะ พยายามชี้แจงทุกเม็ดจนเสียงแหบแห้ง แบบคาดหวังว่าทุกคนจะเข้าใจในสิ่งที่เราอยากบอก แต่ภาพกลับออกมาคล้ายกับการขัดแย้งโต้เถียง หลายถ้อยคำที่เผลอหลุดออกไปแล้วไปพี่น้องก็ “ของขึ้น” โต้คืนแบบไม่ไว้หน้า”อาจาน”เหมือนกัน

เมื่อคืนกลับมาทบทวน นึกถึงวิชา การจัดการความขัดแย้ง ที่ไปทดลองเรียน (แต่จนแล้วจนรอดก็ขาดส่งรายงานจนฝรั่งเขาตัดออกจากโรงเรียนเขา) นึกถึงพี่บางทรายที่สมัยอยู่ดงหลวง “เพิ่นออกหน้าไปจัดการเรื่องความขัดแย้งอยู่ตลอด” สัญญากับตัวเองว่า ต้องปรับกระบวนวิธี

เริ่มที่ปรับอารมณ์ตัวเอง ให้นิ่ง ให้รู้จักบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ในฐานะ “ฅนฟื้นฟูฯ” งานหนักเป็นเรื่องที่ต้องพร้อมผจญ “หากงานมันง่ายๆ เขาคงไม่จ้างเรามาออกหน้า เขาคงทำกันเองแล้ว”

เริ่มที่ปรับมุมมอง ให้เห็นถึงความเป็นผู้เสียสละของพี่น้องให้มากๆ และให้เห็นใจในสิ่งที่พี่น้องได้รับผลกระทบ

เตรียมพร้อมที่จะรับฟัง ฟัง ฟัง ให้พี่น้องได้พูดในสิ่งที่คับข้องหมองใจ อัดอั้นตันใจ สิ่งที่อยากบ่น อยากเล่า

เวทีประชุมเช้านี้ จึงเริ่มที่ การขออภัย แล้วก็ตามด้วยการแสดงความตั้งใจจริงของเรา จากนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้พี่น้องพูด ๆๆๆ บ่นๆๆๆ ร้องเรียนๆๆๆ ฟังอย่างเดียว ไม่ชี้แจงไม่โต้แย้ง อือออ แสดงการคล้อยตามในสิ่งที่เป็นความจริง

เมื่อหมดคนพูดแล้ว ทำแผนภูมิสรุปข้อร้องเรียน ข้อคิดเห็น ให้ที่ประชุมได้รับรู้ว่า เราสนใจฟังจริง เราได้จดบันทึกไว้จริง

สุดท้ายเวทีก็เปิด เปิดให้ผมและทีมงาน ได้ชวนพี่น้องคิดอ่านหาทางแก้ไข เสียงส่วนใหญ่ได้ให้คามเห็นความต้องการเพื่อช่วยกันทำแผนการทำมาหากิน

โล่งไปอีกหนึ่งเปลาะ แต่ทางข้างหน้ายังหนักหนายิ่งยวด อิอิ


สิ่งละอัน พันละน้อย จากหงสา

8 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 4 มีนาคม 2011 เวลา 3:34 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1402

หงสา ระยะเดือนสี่นี้มีสามฤดู กลางคืนหนาวคนปะเก๋าเพิ่นว่าเดือนสี่หนาวหน้า เดือนห้าหนาวตีนหนาวมือ เช้าตรู่หมอกลงจัด สายๆร้อนตับแลบ เย็นย่ำฟ้าครางฝนรั่วคนเฒ่าทางนี้ว่า เดือนสามน้ำยามท่า (แต่ปีนี้น้ำมายามท่าเอา ในเดือนสี่…)

ลุงเปลี่ยนก็ยังคงทำตัววิ่งวุ่น ตามบทบาทภาระหน้าที่ ของคนทำงานที่ปรึกษาด้านฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวหงสาที่ได้รับเงินค่าจ้างเขามา วันๆทำอะไรบ้างเหรอ

ไปติดตามผลักดันซุกยู้เรื่องการจัดที่ทำกิน เร่งรัดให้ทีมงานไปเจรจากับเจ้าของดินเดิมที่จับจองที่ดินมือเปล่าเพื่อขอจัดรูปที่ดิน(โดยให้เจ้าของเดิมเลือกก่อนให้พอเพียงสำหรับเลี้ยงครอบครัวพร้อมออกใบเอกสารสิทธิ์ และให้พี่น้องเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาการปลูกฝัง)

ไปเดินดูดิน(เวียกงานนี้ต้องไปเองในฐานะที่เป็นนักดินอยู่คนเดียว…อันที่จริงที่ลาวมีการทำแผนที่ดินแบบกึ่งละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญจากวียดนามเมื่อ ห้าปีที่แล้ว)

จากนั้นก็มานั่งหน้าจอคอมฯ รวมหัวกันวางแผนการใช้ที่ดิน จัดโซนวางแผนการปลูกไม้ยืนต้น ยางพารา ไม้ผล ทำนา  แล้วก็ช่วยกันทำแผนงานตา-ตะ-รางการทำงาน แต่ละบาดก้าว(ทำอย่างไรจะไม่ให้ แพลนนิ่ง กลายเป็น แผน-นิ่ง) จะสร้างสวนสาธิตอะไรบ้าง พี่น้องจะปลูกหมากเกลี้ยงมีกิ่งพันธุ์ไหม พี่น้องจะปลูกยางพารามีกล้ายางหรือยัง กล้ายางพาราที่ไว้ใจได้มีแหล่งเดียวคือที่หลวงน้ำทา การเตรียมกล้ายางกว่าจะเพาะเมล็ดกว่าจะติดตาปกติต้องอายุสองปีถึงจะปลูกได้ ปีนี้ทั้งเวียดนาม ทั้งจีน ทั้งไทย ไหลหลั่งกันมาแย่งกันซื้อ ทำให้ราคากล้ายางสูงขึ้นสามเท่า แล้วก็ยังไม่มีพอขายอีกต่างหาก เห็นท่าจะปรับแผนใหม่ให้ชาวหงสาหันมาเพาะกล้ายางขายดีกว่า

แล้วผมก็มานั่งตาลอย สร้างแผนการพัฒนาอาชีพนอกการเกษตร ทอผ้าฝ้าย ผ้าไหม แกะสลัก จักสาน ไหว้วานให้ทีมงานคอยติดตามพี่น้องที่ได้เงินค่าชดเชยไม่ให้เอาไปซื้อมือถือซื้อรถมอเตอร์ไซด์ให้ลูก พาตัวเองไปเดินสายสอนแม่บ้านทำบัญชีครัวเรือน

ปีนี้ที่หงสามีพ่อค้าคนกลางมาบอกให้พี่น้องปลูกผักกาดเขียวปลี แบบประกันราคา แต่พอถึงเวลาผักพร้อมเก็บเกี่ยวกลับหายศีรษะไปไม่มารับซื้อ ลุงเปลี่ยนก็เลยได้ออกโรง มีวัตถุดิบไปสอนบรรดาแม่บ้านดองผักกาดสูตรแม่แตง เป็นที่ชวนชิมกันหลายหมู่บ้าน ตอนนี้นอกจากจะมีแหนมเห็ดอาจารย์เปลี่ยน ก็มีผักกาดดองอาจานเปลี่ยนมาอีกหนึ่งตำรับ

น้ำหมักชีวภาพที่ทำจากขยะก็เริ่มเป็นที่รู้จัก ได้เอาไปแจกชาวบ้านทดลองใช้ให้ติดใจ แล้วค่อยตามไปชวนให้ทำเอง (ชาวหงสาหลายคนเคยมาเข้าร่วมกิจกรรมของ “ศูนย์โยเร” และได้รับแจกน้ำ อีเอ็มไปใช้ แต่ต่อมามีเหตุให้ต้องว่างเว้นไม่สามารถมาเข้าร่วมได้ ตอนนี้แม่ๆป้าๆเลยหันมาแวะเวียนกันมา ขอน้ำสะกัด (เอฟ เอ็ม อาจานเปลี่ยน อิ อิ…)

แต่งานหลักที่จับอยู่ตอนนี้กลับเป็นเรื่องของ การจัดซื้ออุปกรณ์แพทย์เข้าโรงหมอเมือง ตอนนี้มีเสนอราคากลางมาบ้างแล้ว น่าจะอยู่ในงบประมาณ กับการวางแผนตรวจสุขภาพประชาชนประมาณ ๓๐๐๐ คน พอไปจับจริงๆแล้วก็มีเรื่องปลีกย่อยให้ติดต่อประสานงานมากมาย เช่น การตรวจเลือดจะเจาะแบบไหน ส่งไปวิเคราะห์ที่ไหน ส่งภายในกี่ชั่วโมง ตรวจอะไรบ้าง การชั่งน้ำหนักเด็กทารก เอาเครื่องชั่งที่ไหน กล้องส่องตรวจไข่พยาธิ์ในอาจมจะเอามาจากไหน จิปาถะไปหมด

งานจรที่แวะมาใช้บริการ จ่อคิวต้องไปทำอาทิตย์หน้าคือ การไปจัดเวทีการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องชาวเมืองเชียงฮ่อน งานนี้น่าสนุก เพราะจะได้อู้คำเมืองล้วนๆ พี่น้องเชียงฮ่อนตั้งแต่เจ้าเมืองลงไป เป็นชาวยวนเกือบทั้งหมด

ขอบคุณวันเวลาที่ได้ให้พบผ่าน ได้ฝึกฝนเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่ดองผักกาด ผ่านมาแวะเก็บเกี่ยวที่สวนดอก มาเสริมเรื่องการเกษตรที่มอชอ แล้วมาเติมเต็มกับพี่น้องไทบรูที่มุกดาหาร จนได้นำใช้รอบด้านที่หงสานี่

ตั้งใจจะเขียนเรื่องการเลือกตั้ง บรรยากาศการเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติที่ สปป ลาว ที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๓๐ เมษา นี้ ด้วยตอนที่ไปฝอยไว้กับคณะอาจารย์ราชภัฏที่สวนป่าคราวโน้นไม่ได้เล่าถึงเรื่องนี้ เลยรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบถ่ายทอดเรื่องราวที่ขาดหาย

แต่จั่วหัวเยอะไปหน่อย รู้สึกว่าบันทึกจะยาวไปแล้ว……เอาไว้ติดตามตอนต่อไปเด้อครับ

นำเสนอพาดหัวข่าวการเลือกตั้ง จากหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่ สักสองข่าว เรียกน้ำย่อยก่อน

๑ ท่านประธานประเทศ ออกรัฐดำรัสประกาศจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้ง และจำนวนสมาชิกสภาแห่งชาติชุดที่ เจ็ด (ที่น่าสนใจคือ ท่านมีการกำหนดจำนวนผู้สมัครด้วยนะครับ รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ขอเล่าในบันทึกหน้า…)

๒ ท่านประธานสภาแห่งชาติ แถลงข่าว ตั้งเป้าหมายการปฏิบัติงาน ของคณะกรรมการเลือกตั้ง ให้ได้ 300 % (รายละเอียดเนื้อในโปรดติดตามตอนต่อไป….) ครับผม


เรื่องราว ของท่านลาวมา ลี

3 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 6 กุมภาพันธ 2011 เวลา 1:11 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1453

 

ท่านชื่อ ลาวมา นามสกุลลี ไม่ใช่ชื่อ ท่านลาว นามสกุล มาลี ที่แปลว่าดอกไม้

ท่านเป็น นายบ้าน เป็นเลขาหน่วยพรรคบ้าน บ้านหาดยาว เมืองและแขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว

ท่านเป็นคนแรกที่นำยางพาราต้นแรกเข้ามาปลูกใน สปป. ลาว

ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวการต่อสู้พัฒนาการปลูกยางพาราของท่านและชาวบ้านหาดยาวของท่าน

  • ปี 1973 ระยะที่ ระยะการปลดปล่อยประเทศลาวใกล้จะสำเร็จ ราชอาณาจักรลาวกำลังจะเปลี่ยนเป็น สปป ลาว พี่น้องชาวม้งกลุ่มหนึ่งได้รับนโยบายจากฝ่ายปลดปล่อย ให้ย้ายลงมาจากยอดภูมาทำนาในเขดทุ่งเพียง (เนื่องจากมีคนอพยพไปอยู่ค่ายผู้ลี้ภัย และประเทศที่สามกันมาก ทำให้มีที่ดินว่างเปล่าหลาย รวมทั้งเหตุผลเรื่องความมั่นคง….ผู้เขียน)
  • พี่น้องชาวภูดอย ที่เคยปลูกแต่ข้าวไร่ ข้าวโพด มาตั้งต้นหัดทำนาดำกัน “ขุดเหมืองเอาน้ำเข้านาก่บ่เป็น” “ไถนาก่บ่เป็น เฮดแนวใดก่บ่เพียงต้องเกณฑ์เอาคนทั้งหมู่บ้านมาย่ำ” “หมดเดือนดำนาได้ไฮ่นาเดียว”
  • ผู้คนเจ็บป่วยล้มตายกันมากคน “เด็กน้อยวิ่งเล่นอยู่แท้ๆ ก็ล้มชักตาตั้งตายไปต่อหน้าต่อตา” “ปีแรกมีคนตาย 170 กว่าคน ทางหมอท่านว่าเป็นพะยาดไ ข้ยูง”
  • ด้วยความอดอยากขัดสน และการเจ็บป่วย พี่น้องจึงทะยอยกันหนีกลับไปอยู่บนภูดอยคือเก่า จนมาเถิงปี 1985 พี่น้องม้งลาวบางส่วนที่หนีไปได้กลับมาอยู่ที่บ้านหาดยาวเพิ่มอีกหลายครอบครัว จึงมีการตั้งหน่วยพรรคบ้านขึ้น พร้อมกับการจัดสรรที่ดินกันใหม่ (อบอุ่นขึ้นแต่การทำมาหากินฝืดเคืองมากขึ้น)
  • หน่วยพรรคบ้านหาดยาว ปรึกษาหารือ เพื่อซอกหาวิธีแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจครอบครัว กิจกรรมแรกเริ่มที่ “แผนการเลี้ยงวัวควาย” พวกท่านพากันไปจับจองพื้นที่เลี้ยงสัตว์รวมของบ้านร่วมสิบแห่ง จัดตั้งสนำเลี้ยงสัตว์รวมของบ้าน “แต่รายรับจากการขายงัว ไม่พอเลี้ยงกัน กว่าจะได้ขายต้องรอถึงสี่ปีห้าปี”
  • ตัดสินใจ พากันไปเยี่ยมยามพี่น้องเครือญาติชาวม้งที่ไปตั้งรกรากทำมาหากินในเมืองไทย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลำปาง เชียงราย เชียงใหม่ ตาก “มีพี่น้องอยู่ไหน ไปเยี่ยมยามถามข่าวหมด” ไปดูว่าเขาทำมาหากินกันอย่างไร “จะเอาแบบอย่างมานำพาพี่น้องบ้านหาดยาวได้แนวใด” การไปเมืองไทยได้บทเรียนหลายอย่าง

                  o เห็นการปลูก ส้มเกลี้ยง มะขามหวาน ลำไย ข้าวโพด ขิง กลับมานั่งปรึกษาหารือกันในหมู่คณะนำบ้าน

                  o “ไม้ผลก็ดี แต่เมืองลาวไม่มีโรงงานรองรับสินค้า แถมการปลูกไม้ผลต้องลงทุนใส่ปุ๋ยให้น้ำ” คงไม่เหมาะกับพี่น้องบ้านหาดยาว (หรือว่าท่านไปพบเจอมหกรรม การกินลำไย เงาะ มังคุด ลองกอง ช่วยชาติของประเทศสารขัณธ์…..ผู้เขียน)

                   o จะปลูกข้าวโพด กับขิง ก็เกรงปัญหาด้านแหล่งขายผลผลิตเหมือนกัน “พี่น้องชาวม้ง พ่อแม่พาปลูกข้าวโพด กินข้าวโพดมาตั้งหลายรุ่นแล้ว ไม่เห็นรวยกันสักคน”

  • นำพาสี่เฒ่าห้าแก่เจ้าโคตรคณะปกครองบ้านข้ามพรมแดนไปเขตเมืองจีน เห็นเขาปลูกยางพารากันเต็มบ้านเต็มเมืองสิบสองปันนา “เริ่มมีความหวังกับพืชชนิดนี้” “เขาบอกว่าปลูกยางพารา ทนทุกข์แปดปีแต่ได้สบายต่ออีกสามสิบปี”
  • กลับมาเปิดกองประชุมคณะพรรคบ้านหาดยาว ตัดสินใจพากันกลับไปถอดถอนบทเรียน “ไปเบิ่งวิธีปลูก เอาไม้ไปแทกวัดไลยะห่างระหว่างต้น ระหว่างแถว แต้มรูปใส่ปื้มมา” “ไปเบิ่งเขาปาดยาง” “ไปเบิ่งบ่อนขาย”
  • เว้าจีนบ่ฮู้ความ ได้แต่ถามพี่น้องชาวลื้อๆต่างเว้าเป็นเสียงเดียวกันว่า “เสียดายคนลื้อบ่ทันคนฮ่อ(จีน)ที่มาจากต่างถิ่น มาจับจองบ่อนปลูกยาง” “แต่ก่อนนี้ชาวฮ่อมาใหม่ๆ ทุกข์จนหลาย ตัวเป็ดตัวไก่เฮาตายเอาไปถิ้ม หมู่เขาก่มาเก็บไปกิน” “แต่เดี๋ยวนี้หมู่ฮ่อได้ปาดยางได้ขายยาง ฆ่าหมูกินทุกมื้อ มีแต่ชาวลื้อเฮาไปขอเครื่องในหมูเขามากิน”
  • พกความมั่นใจจากเมืองจีน กลับมาเฮดเวียกแนวคิดกับประชาชน แต่กลับกลายเป็นว่า “สวนทางกับแผนพัฒนาการปลูกฝังของกะสิกำ ท่านให้ปลูกหมากงา กับปลูกใบยาสูบ”
  • “ปลูกงาก่บ่ได้ราคา ปลูกยาก่ใบบ่ได้เกรดจั๊กเทื่อ” พี่น้องจึงหันมาสนใจยางพารา
  • ปี 1994 มีคนสมัครปลูกยาง 30 ราย ส่วนมากเป็นคณะจัดตั้งบ้าน กรรมการบ้าน “เฮดเป็นตัวแบบ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน”
  • เฮดหนังสือเสนอท่านเจ้าเมืองเจ้าแขวง ขอยืมเงินซื้อเบี้ยยางกับหนามหมากจับ(รั้วลวดหนาม) มีเสียงมาเข้าหูว่า “ชาวบ้านหาดยาวนี่ หากเลิกกินข้าวได้ก่จะสามารถปลูกยางได้” ท่านเจ้าแขวงก็สั่งมาว่า “ให้ไปเตรียมบ่อนปลูกไปขุดขุมให้แล้วก่อนค่อยมาบอก จึ่งจะพิจารณาคำขอ”
  • กลับมาจัดตั้งปฏิบัติ ขุดขุมขุดแลวจนเสร็จ ท่านเจ้าแขวงจึงสั่งให้ธนาคารส่งเสริมมาปล่อยเงินกู้ ต่อรองได้ระยะปลอดชำระแปดปี ดอกเบี้ยต่อรองจากร้อยละสิบเหลือร้อยละเจ็ดต่อปี ตัวอย่างการเจรจาต่อรองระหว่างธนาคารกับคณะบ้านหาดยาว
  • o ธนาคาร “เจ้าฮู้บ่ ว่าปลูกแล้วมันจะบ่ตาย มันจะใหญ่” คณะบ้าน “เฮาบ่ฮู้ แต่เฮาไปเบิ่งจีนเขาปลูกอยู่ใกล้ๆนี่ มันก่งามดี”
  • o ธนาคาร “เจ้าฮู้บ่ ว่ามันใหญ่แล้ว เวลาปาดมันจะออกน้ำยางให้เจ้า” คณะบ้าน “เฮาบ่ฮู้ แต่คนจีนปลูกอยู่หล่ายภูเบื้องพู้นกะมีน้ำยางออกหลายดี”
  • o ธนาคาร “เจ้าฮู้บ่ ว่าเอาเอาไปขายอยู่ไส” คณะบ้าน “เฮาบ่ฮู้ แต่หากจีนเข้ามาซื้อข้าวได้เฮากะว่าจะเอายางไปขายได้คือกัน”
  • ข้ามมาถึงปี 2000 พี่น้องชาวบ้านหาดยาว “สู้ทนปฏิบัติ” จนขยายพื้นที่ปลูกยางพาราได้ สามร้อยกว่าเฮกตาร์ ปลูกยางไปร่วม หนึ่งแสนห้าหมื่นต้น (ทั้งๆที่ยังไม่ทันได้กรีดยางต้นแรก)
  • ปี 2001 เริ่มเตรียมการณ์ปาดยาง ไม่มีเงินจ้างคนมาสอน “โชคดีที่มีคนในบ้านหาดยาวคนหนึ่งเคยไปรับจ้างปาดยางที่เมืองลามา” “แต่เว้าบ่เป็นสอนบ่เป็น ….ต้องเอาคนผู้นั้นมาหัดให้เว้าเป็นสอนเป็นก่อน” “แต่งคนไปขอเชื่อมีด ถ้วย เพลิง(ไฟฉาย)ติดหน้าฝาก ที่ตลาดเมืองลา ไปตัดต้นตีนเป็ดมาให้พี่น้องฝึกกรีดยาง
  • วันที่ 6/5/2002 เปิดบั้น-ปะ-ถม-มะ-เลิก การปาดยางที่บ้านหาดยาว ได้ยางในปีนั้นรวม ซาวสองโตน ขายได้เก้าสิบหกล้านกีบ
  • ทุกวันนี้บ้านหาดยาวมีพื้นที่ปลูกยางพารา แปดร้อยกว่าเฮกตาร์ ผลผลิตยางก้อนปีละ 550 โตน ขายได้เงิน ห้าตื้อกีบกว่าๆ รายรับต่อหัวคน กว่าเจ็ดร้อยโดล่าอาเมลิกาต่อปี
  • เพื่อเป็นทางเลือกให้พี่น้องชาวหงสา
  • o ในปี 2007ผมดั้นด้นขึ้นรถลงเรือไปต่อรถเมล์สี่ต่อ เพื่อไปแอบดูสวนยางของท่าน ลาวมา เมื่อเห็นว่าเป็น “ของจริงตามคำเล่าลือ”
  • o ปี 2008 ก็พาอ้ายน้องทีมงานไปศึกษาหาความรู้อย่างเป็นทางการ(คราวนี้เอารถโครงการไป ค่อยสะดวกขึ้นกว่าเที่ยวแรก)
  • o ปี 2009 พาพี่น้องผู้นำชาวบ้านหกสิบกว่าชีวิตไปศึกษาดูงาน ที่สวนท่านลาวมา
  • o ปี 2010 พยายามติดต่อท่านลาวมา ให้ช่วยมาดูพื้นที่เมืองหงสา และพบปะพูดคุยกับพี่น้อง (จะได้กลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ไปก่อนพาพี่น้องไปหกสิบกว่ารายหมดงบประมาณไปครึ่งล้านบาท) แต่คิวท่านลาวมา ไม่มีให้เลย ติดเวียกงานพรรค งานบ้าน งานสมาคมกลุ่มผู้ขายยาง งานกินเจียง ร่วมงานแข่งกีฬาบรรดาเผ่า
  • o ท่านลาวมา ได้มาเยี่ยมยามผมกับพี่น้องชาวหงสา เมื่อต้นเดือนกุมภานี่เอง จึงถือโอกาสเรียบเรียงเรื่องราวของท่าน มาแบ่งปันครับ (ผมคงหนีไม่พ้นที่จะสานต่อการส่งเสริมการปลูกยางพาราที่หงสา เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับพี่น้อง ….แต่ไม่ต้องหว่งครับ เป็นทางเลือกหนึ่ง ตามความสมัครใจ และเงื่อนไขของครอบครัว เพราะยังมีอีกกว่าสิบทางเลือกที่ผมเตรียมไว้รองรับสำหรับพี่น้อง)
  • นี่เป็นเรื่องราวของท่านลาวมา แห่งหลวงน้ำทา หากท่านใดมีโอกาสไปไหว้พระประธานในอุโบสถ วัดประจำแขวงหลวงน้ำทา หลังจากกราบพระแล้ว เงยหน้ามองที่ฐานองค์พระ จะเห็นป้ายจารึกชื่อท่านลาวมา พร้อมภรรยา เพราะท่านบริจาคทรัพย์สร้างองค์พระประธาน ห้าสิบล้านกีบ (ไม่มากไม่มาย…ราวๆสองแสนบาทครับ)
  • ส่วนท่านใดอยากพบตัวเป็นๆ ของท่านลาวมา หาไม่ยากครับ ถามใครๆที่หลวงน้ำทาก็รู้จัก


ใช่ว่าอยากให้อะไรแล้วจะได้ให้ (บันทึกจากหมอจำเป็น)

4 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 13 มกราคม 2011 เวลา 12:40 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1568

 

๙ โมงเช้า ที่ห้องประชุมโรงหมอแขวงไชยบุรี

กองประชุม เรื่องการเตรียมจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับโรงหมอเมืองหงสา

ผู้ประสานงานโครงการท่านไปแจ้งนัดหมายกับทางแขวงไว้ว่าจะมีหมอ(ท่านด็อกเตอร์)จากเมืองไทยไปคุยรายละเอียดด้วย บรรดาท่านจึงจัดตั้งคณะนำของสาธารณสุขและโรงหมอแขวงใส่สูทมัดการาวัด(เนคไท)นั่งรอประชุม นำโดยท่านหมอคูนสะหวัด (รองฯผอ.โรงหมอแขวง)  ท่านหมอพอนปะดิด(หน.ฝ่ายวิชาการ) ท่านหมอพูวา(หน.แพดห้องไอซียู) ท่านนางหมอเพ็ดสะหมอน(หน.ห้องแล็ป) ท่านหมอบุญยัง และท่านคำเผย(หน.แผนกเครื่องมือแพด) ส่วนทางผู้แทนฝ่ายโครงการก็หนีไม่พ้นไอ้กระผมนี่แหละที่ถูกผลักให้ออกหน้าสุด ในฐานะที่เคยกินนอนในโรงหมอมานาน พอรู้จักวัดปรอทหยอดยาช่วยหมอทำแผลมาบ้าง

เรื่องการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์นี่คุยกันมาหลายครั้งหลายหน (แต่ก็ไม่ได้ข้อสรุปสักที) เว้นแต่ผล สำเร็จที่ผมได้โน้มน้าวให้ตัดงบประมาณการถมดินปรับภุมิทัศน์หน้าโรงหมอ โยกเงินมากองไว้สำหรับซื้อเครื่องมือที่จำเป็นนั้นถือเป็นข้อเดียวที่ตกลงกันได้ ส่วนชนิดประเภทของเครื่องไม้เครื่องมือนี่เข้าใจกันยากจริงๆ ทางโรงหมอเมืองท่านต้องการอย่างหนึ่ง พอเสนอขึ้นไปทางขั้นเทิงโรงหมอแขวงท่านก็ดัดแก้มาอีกฉบับหนึ่ง ครั้นนำเสนอทางฝ่ายผู้พัฒนาโครงการที่บางกอกท่านก็ประกอบความเห็นมาอีกอย่างหนึ่ง ประเด็นสำคัญที่ทางผู้ที่”จะมอบ”ต้องการความมั่นใจ คือ อยากสนองเครื่องมือที่จำเป็นจริงๆ มอบไปแล้วได้นำใช้ประโยชน์ มีคนที่เคยใช้เครื่องมือนั้นๆ ระบบไฟฟ้ามีรองรับเพียงพอ ฯลฯ ส่วนประเด็นที่สำคัญกว่านั้นคือ ทางฝ่ายจัดหาท่านอยากได้ “สะ-เป็ก” specification สำหรับใช้ในการประมูลเปรียบเทียบราคาตามระเบียบของบริษัท เรื่องเจ้าสเปคนี่ถามตอบกันหลายรอบก็ไม่กระจ่างใจกัน และประเด็นสุดท้ายที่สำคัญที่สุด ท่านว่าเกี่ยวพันกับอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ทำให้ต้องจัดหางบประมาณมาเพิ่ม จึงต้องจัดลำดับการซื้อก่อนหลังความจำเป็น ส่วนวาระพิเศษที่จะหารือกันตอนท้ายคือการสร้างแผนตรวจสุขภาพของชาวบ้านสามพันกว่าคนอย่างละเอียด

 กองประชุมไขขึ้นด้วยอัธยาศัยไมตรี(แม้บรรดาท่านหมอ อาจจะสงสัยนิดๆว่า ท่านหมอจากเมืองไทยนี่ดูพิกลๆสะพายย่ามหนวดหงอกหรอมแหรม(หงอกจริงๆไม่ได้พิมพ์ผิด)เข้าห้องมา น่าจะมาแนวหมอผีมากกว่า…อิอิ) เราตกลงกันว่าในบรรดาเครื่องมือห้าสิบกว่ารายการนั้น จะตัดรายการของที่ไม่ใช่เครื่องมือหมอ(ประเภทเครื่องตัดหญ้า คอมพิวเตอร์ โต๊ะ ตั่ง ตู้)ออกก่อนแล้วจึงเริ่มลงรายละเอียดทีละรายการซึ่งมีเหลือที่ต้องดูกันมากกว่าสามสิบอย่าง   

เจ้าประคุณเอ๋ย แต่ละรายการกว่าผมจะนึกหน้าตาของแต่ละอย่างออก จากนั้นก็ต้องชวนคุยถึงความจำเป็น ความบ่อยที่ต้องใช้ แอบถามโดยไม่ให้ท่านโมโหว่าเราไปดูแคลนท่านว่าที่หงสามีคนใช้เป็นหรือยัง ถ้าไม่มีทางโรงหมอแขวงจะไปสอนได้หรือไม่(ความจริงก็อยากรู้นั่นแหละว่าที่แขวงมีหรือเคยใช้รึเปล่า) จากนั้นก็ลงลึกถึงสเปคละทีนี้ เช่นเครื่อง suction pump ต้องการแบบไหน แรงดันเท่าไหร่ เครื่องช่วยหายใจรุ่นไหน ชุดผ่าตัดที่ว่าชุดเล็กนี่น่าจะมีอะไรบ้าง ชุดเปิดช่องท้องที่อยากได้จำเป็นจริงๆมีตัวไหนบ้าง เครื่องต่อกระดูกนี่หน้าตาเป็นอย่างไร เฝือกอ่อนเฝือกแก่ต้องการอย่างละกี่ชุด เครื่องเอ็กซ์เรย์ เตรื่องอัลตร้าซาวด์(โห…แอบดูราคากลางเกือบล้านบาท…งบฯจะพอไหมเนี่ย) มาถึงเครื่องมือตรวจเลือดอยากวิเคราะห์ตัวไหนบ้าง ตับ ไตไขมัน  (แค่ตรวจการทำงานของตับก็หกเจ็ดตัวแล้ว โชคดีที่ตอนอยู่วอร์ดถูกใช้ให้ตามผลเลือดคนไข้บ่อย…รอดตัวไป) นอกจากเครื่องตรวจทางเคมีของเลือดแล้ว ท่านว่ายังมีเครื่องฮีโมโลจีสิบแปดพารามิเตอร์อีก มีเครื่องปั่น เครื่องสั่น เครื่องตกตะกอนอีกสารพัด(อันนี้แล็ปวิชาดินก็พอได้ใช้…พอรอดตัวแบบถลอกปอกเปิกนิดหน่อย)  แล้วก็ต้องมีน้ำยาวิเคราะห์ต่างๆ(เริ่มมึนตึ๊บๆ …ไม่เป็นไรเดี๋ยวอาศัยจดจากข้างกล่อง) บรรดาท่านเอ๊ยยยย….. นอกเหนือจากต้องคุยภาษาหมอที่ส่งคืนกลับไปสวนดอกเมื่อยี่สิบปีก่อนหมดแล้ว ท่านยังคุยกันด้วยภาษาหมอฝรั่งเศสปนลาวครับท่าน “หมากไข่หลัง คือ ไต” “เจาะหาทาดกาลีในเลือด โชคดีที่ประโยคต่อไปท่านว่าก่อนผ่าตัด เลยเดาออกว่า หาโปแตสเซียมในเลือด”  ต้องยกมือถามเป็นพักๆว่า”อันนี้ภาษาอังกฤษท่านว่าหยัง” เสร็จแล้วท่านก็พาไปตระวณดูของจริงครับ ไปห้องเลือด ห้องตรวจ ห้อง ICU

เดินเขาห้องนั้น ออกห้องนี้ บางเครื่องติดอยู่กับคนไข้ในห้องไอซียูก็ต้องขอเข้าไปดู แล้วก็พากันกลับมาสรุปที่ห้องประชุมอีกครั้ง ผมรับที่จะกลับมายกร่างสเปคเครื่องมือตามที่ได้จัดลำดับการจัดซื้อ ส่งให้ท่านหมอตรวจสอบอีกครั้ง หลังจากนั้นจะเสนอให้ผู้พัฒนาโครงการจัดซื้อต่อไป

แต่ท่านหมอคูนสะหวัดท่านรีบห้าม ท่านบอกว่า “ยังซื้อบ่ได้”

“ต้องส่งรายละเอียดทั้งหมด เพื่อขออนุมัติจากศูนย์เครื่องมือแพทย์ที่นครหลวงเวียงจันทน์ก่อน จึงจะสามารถนำมาใช้ในโรงหมอได้”

เป็นอีกเรื่องราวหนึ่งที่ได้รับรู้

ใช่ว่าอยากให้อะไรแล้วจะได้ให้….จริงๆ


ขำ ขำ จากหงสา

3 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2010 เวลา 1:06 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1316

ท่านนคร (หัวหน้างานชาวหลวงพระบาง) โทรศัพท์หาเพื่อนร่วมงาน ” ท่านอยู่ไส”

ท่านประณต (หัวหน้างานชาวบางกอก) “ผมรออยู่ที่บ้านทำอิฐ”

ท่านนคร “บ้านทำอิด…แม่นบ้านหานนี่บ่” (บ้านหานเป็นหมู่บ้านแรกที่ออกจากแคมป์ไปก็เจอ)

ท่านประณต “ปล่าวครับท่าน ผมรออยู่ที่บ้านทำอิฐ”

ท่านนคร “ฮ่วยกะบ้านทำอิดกะแม่นบ้านหานนี่ล่ะหวา” (คำลาว บ้าน คือหมู่บ้าน ทำอิด แปลว่า อันแรก ครั้งทำอิด แปลว่าครั้งแรก)

ท่านประณต “ผมรอท่านอยู่ที่เรือนท้าวไซพอนที่มีเตาเผาอิฐ ที่เราจะไปจ่ายเงินเขาไงครับท่าน”

ตะแลม ๆ ๆ ๆ

อาจานเปลี่ยน “คำหมั้นคาบนี้เอื้อยเลี้ยง(แม่ครัว)เฮดหยังให้กิ๋น”

คำหมั้น “คั่วหมูกะทิอาจาน” อ้อ พะแนงหมู

มื้อต่อมา “แกงผักบุ้งกะทิอาจาน” อ้อ…แกงเทโพ

มื้อต่อมา “คั่วเฝอยองหน้าด้วยคั่วผักกาดอาจาน” อ้อ..วันนี้มีก๋วยเตี๋ยวราดหน้า

มื้อต่อมา “มื้อนี้น้องห่อข้าวเหนียวแจ่วบ่ะกอกกับซิ้นหลอด(เนื้อแดดเดียว)มากินอาจาน บ่กินมันแล้วข้าวฟรีอยู่นี่กินบ่แซปห่อมากินเองดีกว่า”

ตะแลมๆ ๆ ๆ

ขำขันสองเรื่องนี้สอนว่า “อย่าคิดว่าเหมือนกัน อย่าคิดว่าพูดภาษาเดียวกัน แต่ในความเหมือนมีความต่าง” คริ คริ

 


หมกปลาแดกแลกช้าง

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 1 ตุลาคม 2010 เวลา 11:47 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2285

ว่างเว้นจากการเขียนถึง คำลาว มาหลายเพลา วันนี้ขอนำเสนอด้วยคำว่า “หมกปลาแดกแลกช้าง”
“หมก” เป็นอาหารของชาวถิ่นสองฟากฝั่งโขง มีลักษณะโดยรวมคือใส่เนื้อ ใส่ผัก ใส่ข้าวเบือ ปรุงรสด้วยพริกเกลือหอมแดงกระเทียม กะปิ ปลาร้า ตะไคร้ ใบแมงลัก(ผักอีตู่) แล้วห่อด้วยใบตอง นำใบนึ่งให้สุก แกะห่อตอนร้อนๆปั้นข้าวเหนียวจิ้ม สุดยอดความแซบนัว หมกที่นิยมทำกันได้แก่ หมกไก่ หมกปลา หมกกบ ที่หงสายังมีหมกแปลกๆขายในตลาดเช่น หมกตุ่น หมกอ้น หมกเจี้ย(ค้างคาว) เป็นต้น ส่วนหมกปลาซิวนั้นไม่ต้องเอาไปนึ่ง เพียงแต่ใส่เกลือ พริกชี้ฟ้าทุบ ตะไคร้ ใบผักอีตู่ แล้วห่อใบตองโยนเข้ากองขี้เถ้าร้อนๆ ก็แซบนัวเหมือนกัน

วัฒนธรรมการปรุงห่อหมก ของแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันไป ของทางอีสานใส่ข้าวเบือคือข้าวสารนำมาแช่น้ำแล้วโขลกให้ละเอียด ส่วนของทางเหนือเรียก “ห่อนึ่ง” (ชาวหงสาเรียก หมกชาวยวน) จะเป็นแบบ “หอนึ่งแค” คือใส่ผักหลายชนิดแบบแกงแคเช่น ถั่ว มะเขือ มะเขือพวง ยอดตำลึง ชะอม ยอดมะรุม เป็นต้น ที่มีความโดดเด่นอีกอย่างคือ จาวเหนือจะใส่ข้าวคั่ว (ในขณะที่ชาวลาวใส่ข้าวเบือ) คือเอาข้าวสารข้าวเหนียวมาคั่วในกะทะจนเป็นสีน้ำตาลหอมแล้วเอามาโขลกให้ละเอียด ส่วนห่อหมกของทางภาคกลางและภาคใต้นั้นเด่นที่ใส่กะทิเช่นห่อหมกปลาช่อน ห่อหมกทะเลในลูกมะพร้าวอ่อน

อ้าว ไหงเผลอมาเขียนเป็นเรื่องอาหารการกินเป็นเรื่องเป็นราวเสียแล้ว สงสัยเก็บกดกับการถูกห้ามกินโน่นกินนี่

สรุปแล้ว หมกปลาแดก ก็คืออาหารของคนลาว ประเภทอาหารคนยากเพราะไม่ได้ใส่ตัวเนื้อตัวปลาแต่อย่างใด มีแต่ใส่ผัก กับปลาแดก กับข้าวเบือเท่านั้น

หมกปลาแดกแลกช้าง แปลตรงๆตามคำ ก็แปลว่า เอาหมกปลาแดกไปแลกกับช้าง หมายถึงการเอาของที่มีราคาเพียงน้อยนิด ไปแลกกับของที่มีมูลค่าสูง เป็นการแลกเปลี่ยนแบบไม่สมค่ากัน

หมกปลาแดกแลกช้าง หากเปรียบกับคำพังเพยของไทย ก็คือ “เอาพิมเสนแลกไปกับเกลือ”

เพื่อแสดงลายละเอียดให้ชัดเจน ขอถ่ายทอดเรื่องราวเหตุการณ์ที่ทำให้มีคนพูดคำนี้ “หมกปลาแดกแลกเกลือ” ออกมา

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า
ผมมีกิจกรรมการสำรวจสภาพเศษรฐกิจสังคม ของครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ เพื่อเป็นฐานข้อมูลไว้ เพราะมีโจทย์ที่ต้องเพิ่มรายได้ประชาชีให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นหลายภาคส่วนจากองค์กรอิสระก็จะมาตรวจสอบ ดังนั้นพวกเราจึงต้องทำฐานข้อมูลไว้เป็นตัวเปรียบเทียบ แต่ฐานข้อมูลเหล่านี้จะต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐการด้วย คณะทำงานของเราจึงต้องมีทั้งรัฐกรจากแขวงไชยะบุรี แผนกพัฒนาชนบท แผนกแผนการลงทุน แผนกกสิกรรม สหพันธ์แม่ญิง และอีกหลายแผนก นอกจากนั้นก็ยังมีรัฐกรอีกห้าหกท่านจากห้องการที่เกี่ยวข้องจากเมืองหงสามาร่วมกำกับดูแล ส่วนพนักงานสัญญาจ้างที่เราคัดเลือกมาเองนั้นมีอีกร่วมยี่สิบชีวิต รวมความแล้วถือได้ว่าเป็นคณะใหญ่ งบประมาณดำเนินการที่ให้อ้ายน้องตั้งเบิกมาไว้ก็ตกหลายแสนบาท

ฝ่ายที่ควบคุมการจ่ายเงิน ซึ่งเป็นสาวใหญ่คนไทยก็โทรมาซักไซร้ไล่เลียงกับอ้ายน้องคนเบิกเงิน ถามโน่นย้ำนี่ถามซ้ำถามซาก แบบลืมตตัวนึกว่าเป็นเจ้าของเงินเอง ถามแบบพูดไม่เป็น ถามเหมือนกับไม่ไว้ใจไม่ให้เกียรติคนเบิกเงิน คนถูกถามอดไม่ได้จึงพูดออกไปว่า “ข้อยบ่เอาหมกปลาแดกไปแลกช้างดอกเด้อ” เหมือนกับจะตั้งใจบอกไปว่า เงินเล็กน้อยแค่นี้ผมไม่โกงให้เสียชื่อเสียงหรอก

นี่คือที่มาของ หมกปลาแดกแลกช้าง

การทำงานกับอ้ายน้องที่หงสา ต้องละเอียดอ่อน ถึงจะเป็นที่ยอมรับ ประเภทโผงผางโฉ่งฉ่างตีสนิท เจ้าอำนาจเพราะคิดว่าเป็นเจ้าของเงินนั้นไปไม่รอดต้องเปลี่ยนตัวปรับตำแหน่งกันมาหลายครั้งหลายคนแล้ว ไม่ใช่ว่าคนหงสาจะตั้งแง่เอาเรื่องกับชาวด้าวท้าวต่างแดน แต่เป็นวัฒนธรรมของชุมชนที่ท่านถือปฏิบัติกันเช่นนั้นแม้แต่ในหมู่ของคนหงสาเอง ดูได้จากการพาดผ้าเบี่ยงเข้าวัด ดูได้จากการพาดผ้าเบี่ยงมานั่งพับเพียบเล่าบุญบอกบุญ ดูได้จากการเชิญไปร่วมงานต่างๆ ขนาดเจ้าสมจิตรลูกน้องผมจะทำขวัญเดือนให้ลูกสาวยังต้องพิมพ์การ์ดมาเชิญไม่งั้นถือว่าไม่ให้เกียรติ ประเภทที่ตะโกนชวนกันที่หน้ารั้ว หรือเดินสวนกันที่ถนนแล้วบอกกันนั้นรับรองไม่มีใครไปร่วมงานท่านแน่ๆ สองปีมาแล้วที่งานเลี้ยงปีใหม่ของโครงการจองโต๊ะสี่สิบแต่คนมาไม่ถึงยี่สิบโต๊ะ เพราะฝ่ายจัดงานไม่ได้ส่งบัตรเชิญให้น้องๆพนักงาน(ชั้นผู้น้อย เช่น เสมียน แม่บ้าน พนักงานขับรถ ลูกจ้างรายวัน) แม้ว่าในตอนกลางวันอ้ายน้องเหล่านั้นมาช่วยเตรียมงาน มาช่วยจัดสถานที่ กันเต็มที่ แต่พอตอนเย็นกลับไม่เห็นหน้าใครมากินกันซักคน ขนาดโทรไปตามกันแล้วก็ไม่ยอมมา บอกแค่ว่าไม่ได้บัตรเชิญ

นี่เป็นวัฒนธรรมชุมชนที่ละเอียดอ่อน ไม่ใช่ว่าคุยภาษาคล้ายกัน ก็เข้าใจกัน

นี่เป็นบทเรียนที่สอง “การเข้าใจชุมชน” ต่อจากบทเรียนแรก “การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน การได้รับการยอมรับจากชุมชน” ที่เล่าไว้ในบันทึกก่อน


ขออย่าได้เป็น เมียบุญธง รถเชียงสง โถงจารย์เปลี่ยน

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 22 กันยายน 2010 เวลา 9:04 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1551

“ขออย่าได้เป็น เมียบุญธง รถเชียงสง โถงจารย์เปลี่ยน” คำพูดดังกล่าวเข้าหูผมมาได้สองสามปีที่หงสา เป็นคำพูดเล่นของพี่น้องชาวหงสาในทำนองหยอกเย้ากระเซ้าแหย่กัน ในทำนองรักดอกจึงหยอกเล่น ตั้งแต่ท่านรองเจ้าเมือง อ้ายน้องพนักงาน และพ่อเฒ่าผู้แก่ ที่พูดแซวผมด้วยสีหน้ายิ้มหัวยามอารมณ์ดี

แปลความหมายตามตรง ก็คือ ถ้าเลือกเกิดได้ ขออย่าได้เกิดมาเป็นเมียอ้ายบุญธง ขออย่าได้เกิดมาเป็นรถท่านเชียงสง และขออย่าได้เกิดมาเป็นโถง(ถุงย่าม)อาจารย์เปลี่ยน เพราะบรรดาท่านเห็นว่าเกิดเป็นสามสิ่งนี้ต้องรับภาระที่หนักหน่วงนั่นเองครับ พี่น้องชาวหงสาคงจะชินตากับภาพที่เห็นจึงเห็นพ้องกันกับคำพูดดังกล่าว

อ้ายบุญธง หรือสหายบุญธงเป็นชายร่างเล็ก ที่เกิดปีเดียวกับผม เราทำงานร่วมกันมาเมื่อครั้งที่ผมเข้ามาทำงานในหงสาครั้งก่อน ราวปี ๑๙๙๔ ท่านเป็นรัฐกร หรือข้าราชการที่ทำงานตรงไปตรงมา ไม่เกี่ยงงานหนัก เคยพาผมเดินลัดป่าตั้งแต่หกโมงเช้าจนถึงบ่ายสองโมงเพื่อไปบ้านห้วยเยอ ผมไปจับปลาในวังสงวนเพื่อศึกษาชีวะนานาพันธุ์ในน้ำโดยไม่ได้แจ้งกองหลอนบ้าน อ้ายบุญธงก็ไม่ละเว้นที่จะนำตำรวจมาจับมาปรับ อ้ายบุญธงนับเป็นพนักงานที่ซื่อตรงโดยแท้ ยามทำงานอ้ายจะทำหนักไม่พูดไม่จากับใคร ความรู้ที่ไปเรียนจบมาจากเวียดนามก็แน่นปึก ชาติตระกูลก็ดี มีพี่น้องจบป.เอกประจำกรมกองที่นครหลวง แต่ผมก็สงสัยว่าทำไมอ้ายท่านไม่ได้เป็นหัวหน้ากับเขาสักที อาจเป็นเพราะการเป็นคนตรงๆแบบเจอตอก็ไม่หลบของอ้าย หรืออาจจะเป็นเพราะประการหลัง นั่นคือการเป็นนักดื่มของอ้าย ที่เป็นที่มาของฉายานั่นเอง อ้ายบุญธงดื่มบ่อยมาก เมาจนชินตาคนทั่วเมือง จนวันไหนไม่เมาถือว่าผิดปกติ แต่เวลาเมาก็ไม่ได้ไปเกะกะทำร้ายสิ่งของผู้คนแต่อย่างใด เพียงแต่ว่าเมาเป็นพับต้องเป็นภาระให้เมียมาหิ้วปีกพากลับบ้านทุกที คนหงสาจึงกลัวที่จะเป็นเมียอ้ายบุญธง

ท่านเชียงสง หรือ พี่ทิดบุญส่ง เป็นรัฐกรระดับหัวหน้าห้องการ เป็นผู้ใหญ่ใจดีที่พวกเราได้พึ่งพาอยู่ตลอด นอกเหนือจากทำงานราชการแล้ว ท่านเชียงสงยังมีบ่อเลี้ยงปลาอีกสามแห่ง ท่านครูพักลักจำวิธีขยายพันธุ์ปลามาทำเองจนสำเร็จ ปีหนึ่งขายทั้งปลาใหญ่และลูกปลาได้หลายเงิน นอกจากนี้ยังมีแปลงนาที่ปลูกข้าวนาปรัง แม่บ้านและลูกๆของท่านเชียงสงก็ขยันขันแข็งในการงาน ลูกสาวคนหนึ่งเคยขอมาเรียนเพาะเห็ดกับผมจนนำไปขยายผลเพาะเองที่บ้านได้ ทุกวันนี้ท่านเชียงสงออกรถยนตร์มาขับได้ด้วยเงินสดแล้ว แต่รถคันที่ติดตาจนมาปากชาวหงสา กลับเป็นรถมอเตอร์ไซด์เอนดูโร่คันที่ท่านขี่ลุยป่าลุยเขาไปทำงานอย่างไม่ได้หยุดได้พัก คนหงสาจะติดตากับท่านเชียงสงกับมอเตอร์ไซด์คู่ชีพวิ่งว่อนไปทั่วทั้งในเขตเทศบาล และเขตซอกหลีกที่ห่างไกล จึงพูดติดตลกกันว่า ขออย่าได้เป็นรถเชียงสง

โถง หรือถุงย่ามจารย์เปลี่ยน เดิมทีชาวหงสาท่านว่า “โถงจานทัน” หมายถึงถุงย่ามท่านอาจารย์ทัน ผู้เฒ่าคนหนึ่งที่มีคนนับถือ เป็นผู้นำในพิธีกรรมทางศาสนา เป็นหมอพรทำขวัญ ท่านสะพายถุงย่ามเก่าครำคร่าจนไม่รู้สีเดิมติดตัวอยู่ตลอดเวลา ตอนหลังท่านชรามากจนออกงานไม่ไหว พอดีมี”จารย์เปลี่ยน”มาปรากฏร่างเคลื่อนไหวอยู่ในเมืองหงสาพร้อมๆกับย่ามคู่กาย แถมมีถุงเป้โน๊ตบุคอีกใบพะรุงพะรัง พี่น้องหงสาจึงพร้อมใจกันถ่ายทอดฉายา โถงจารย์เปลี่ยน ซึ่งก็ถือเป็นมรดกฉายาที่ผมเต็มใจสืบทอด

มานั่งทบทวนดูก็สมควรที่ผมจะได้รับฉายานี้ เพราะตัวเองสะพายย่ามติดตัวไปเกือบทุกแห่ง มัดการาวัตผูกเนคไทต้อนรับผู้ใหญ่ก็ยังสะพายย่าม ไปตลาดเช้าก็ใช้ย่าม ไปลงชุมชนทุกที่ต้องมีย่าม ไปวัดยังเอาขันเงินใส่ย่ามสะพายไป   

อีกนัยยะหนึ่งที่คิดแบบเข้าข้างตัวเอง ก็คือการที่ได้รับการยอมรับจากสังคม จากชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจของนักพัฒนาชุมชน แม้ว่าผมไม่เคยเข้าชุมชนด้วยการไปนั่งกลางวงเหล้าก็ตามเถอะ (แต่ผมก็ไม่ได้ปฎิเสธว่านั่นอาจเป็นวิธีการเข้าสังคม การลงชุมชนที่ได้ผล) วิธีของใครก็ของใครก็แล้วกัน แล้วแต่ถนัดเต๊อะ

แต่หัวใจสำคัญอยู่ตรง บทเรียนแรก

นี่เป็นบทเรียนบทแรก ของนักพัฒนาชุมชน “การเข้าไปนั่งในใจคน การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน”


คืนกายสู่สามัญ คลายใจสู่สมถะ ในเรือนน้อยแนวอนุรักษ์

9 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 20 กันยายน 2010 เวลา 3:44 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2718

ผมเป็นคนจรหมอนหมิ่น เร่ร่อนไปตามหน้าที่การงาน ออกจากบ้านเกิดเมืองนอนมานานเกือบสามสิบปีแล้ว ที่อยู่ที่นอนก็ย้ายไปเรื่อยๆ ส่วนมากจะเป็นห้องเช่า อพาร์ตเม้นท์ หรือโรงแรมต่างๆ ไม่เคยมีบ้านเป็นส่วนตัวสักที หกปีที่มุกดาหารก็สถิตย์อยู่โรงแรมกิมเจ็กซินจนนึกว่าเป็นเจ้าของเสียเอง

มาอยู่ที่หงสาในฐานะที่ปรึกษาโครงการ เขาก็ดูแลดีเรื่องที่พักที่อยู่ โครงการฯเช่าบ้านหลังใหญ่ให้อยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมงาน อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เตาไมโครเวฟ กาต้มน้ำ เครื่องปิ้งขนมปัง เครื่องซักผ้า จัดหามาพร้อมแถมมีแม่บ้านมาปัดกวาดซักรีดล้างจานให้อีก แม้ยามนอนก็มี รปภ.มากางมุ้งนอนอารักขาอยู่หน้าบ้าน จะไปไหนมาไหนก็มีคนขับรถพาไป มีคนคอยยกกระเป๋าโน๊ตบุ๊คให้ จนทำให้สบายจนเคยตัว จนกลัวใจว่าจะสบายจนติดเป็นนิสัย ประกอบกับความที่โตมาแบบลูกโทน ชอบปลีกวิเวก อยู่กับคนหมู่มากแล้วอึดอัดหายใจไม่คล่อง จึงแอบซอกหาบ้านเช่าหลังเล็กๆมาหลายเพลา จนกระทั่งมาเจอมาถูกใจถูกจังหวะกับบ้านหลังนี้ เจ้าของบ้านเคยทำทัวร์ป่าอยู่ที่นี่ ย้ายไปเปิดสำนักงานที่ปากแปง แล้วหมดสัญญากับฝรั่งจึงย้อนกลับมาเปิดร้านอาหารอยู่หงสา พร้อมกับปรับปรุงเรือนหลังน้อยใหม่กะว่าจะเปิดเป็นร้านเหล้าแนวผับ แต่เผอิญมีงานทัวร์เจ้าใหม่เสนอเข้ามาให้ไปบริหาร โครงการร้านเหล้าจึงชลอไปชั่วคราว ผมจึงรีบเบียดแย่งกับฝรั่งหัวหน้าโครงการ GTZ (ใช้เส้นนิดหน่อย) อย่างฉียดฉิวจนได้เป็นผู้เช่า

บ้านหลังน้อยขนาดเดียวกับบ้านพ่อที่แม่แตงที่ตั้งใจไว้ว่าหมดงานหงสาเมื่อไรจะไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่นั่น ขนาดหนึ่งห้องนอน ก่ออิฐถือปูน พื้นปูน ฝาด้านหน้าเข้าประตูเฟี๊ยมเลียนแบบโบราณ ถูกตาต้องใจตั้งแต่แรกเห็น เข้าไปข้างในบ้านมีโต๊ะตั่งไม้ขนาดใหญ่ห้าคนยกย้ายได้ มีฉากไม้ระแนงบังหน้าห้องน้ำ ถือว่าคนจัดบ้านกับผู้เช่าคอเดียวกันอย่างแท้จริง ผมจัดการติดพัดลมดูดอากาศในห้องนอน ซื้อมุ้งแขวนมาติด ซื้อเสื่อไม้ไผ่ชาวลั๊วะมาปู เท่านี้ก็นอนหลับ วิเวก ฝันดี ผมได้คืนความสุขสบายทางกายจากบ้านหลังใหญ่มาสู่ความสมถะ บ้านผมไม่มีถ้วยชามแก้วน้ำหลายชุดเพราะ ไม่สะดวกรับแขกมานั่งดื่มกิน หากใครมาเยี่ยมผมก็เชิญเดินข้ามฟากถนนมารับแขกที่ร้านอาหารหน้าบ้าน

เมื่อมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น เมื่อเป็นอิสระจากWiFi ทำให้ผมมีเวลาปรับปรุงสิ่งละอันพันละน้อยในบ้านและรอบบ้านไปเรื่อยๆ ผมเลือกที่จะทำบ้านแนวรักษ์โลกด้วยการลงมือทำด้วยตัวเอง

ผมจัดการ(ให้ลูกน้อง)ขุดดินมาใส่ถุงปูนซีเมนต์ แล้วลองทำปลูกผักในถุง ตอนนี้ก็รดน้ำรอว่าจะโตจะรอดหรือจะร่วง

ผมจัดการกับขยะที่ย่อยสลายได้โดยการจัดหาถังมาหมักน้ำหมักชีวภาพ บรรดาเศษอาหาร ข้าวหนม ข้าวต้ม หมากไม้ หัวมัน ที่กินไม่หมดทิ้งลงในถัง เอากากน้ำตาลมาใส่ตามสัดส่วน น้ำเชื่อมที่แถมมากับน้ำเต้าหู้ก็เอามาใส่ในถัง เปลือกแตงไทย ใบตองห่อขนมล้วนเอาทิ้งลงถัง

ผมจัดการคัดแยกขยะที่สามารถนำมาใช้ใหม่ ถุงก๊อปแก๊ปผมก็เอามาพับเก็บไว้แล้วเอาไปแจกจ่ายเด็กๆที่มาเก็บหอยเก็บผักบุ้งหน้าบ้านเอาไปใช้สอย แก้วกาแฟคือขวดกาแฟเก่า แก้วน้ำชาก็ใช้กระปุกกาแฟmaximgเก่า ยางรัดก็เก็บไว้แจกเด็กน้อยไว้โดดหนังยาง ส่วนขวดน้ำดื่มตราหัวเสือเจ้าสมจิตรมาจองไปไว้ให้ลูกสาวเลี้ยงกบในขวด

ขยะที่ต้องทิ้งจริงๆเช่นกล่องเครื่องดื่มผมก็จัดการลดขนาดให้เล็กลงตามแบบที่เคยไปสอนเด็กนัดเรียนหงสาทำ ในห้องน้ำก็ใช้วิธีตักน้ำอาบแทนฝักบัว

นอกจากจะเป็นเจ้าของฉายา “จารย์เปลี่ยนสะพายถุงย่าม” ฉายา “ผู้เฒ่าขี้เฟื้อย ถ่ายแต่รูปเมฆ” แล้ว ไม่รู้ตอนนี้ผมจะได้ฉายาว่าเป็นผู้เฒ่าอะไรอีก แต่ไม่เป็นไรไม่คิดมากคิดมากแล้วแก่เร็วเหมือนไอ่ตุ้ยที่ชอบนอนก่ายหน้าผาก อิอิ



Main: 0.21453785896301 sec
Sidebar: 0.26526308059692 sec