ใช่ว่าอยากให้อะไรแล้วจะได้ให้ (บันทึกจากหมอจำเป็น)

โดย silt เมื่อ 13 มกราคม 2011 เวลา 12:40 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1576

 

๙ โมงเช้า ที่ห้องประชุมโรงหมอแขวงไชยบุรี

กองประชุม เรื่องการเตรียมจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับโรงหมอเมืองหงสา

ผู้ประสานงานโครงการท่านไปแจ้งนัดหมายกับทางแขวงไว้ว่าจะมีหมอ(ท่านด็อกเตอร์)จากเมืองไทยไปคุยรายละเอียดด้วย บรรดาท่านจึงจัดตั้งคณะนำของสาธารณสุขและโรงหมอแขวงใส่สูทมัดการาวัด(เนคไท)นั่งรอประชุม นำโดยท่านหมอคูนสะหวัด (รองฯผอ.โรงหมอแขวง)  ท่านหมอพอนปะดิด(หน.ฝ่ายวิชาการ) ท่านหมอพูวา(หน.แพดห้องไอซียู) ท่านนางหมอเพ็ดสะหมอน(หน.ห้องแล็ป) ท่านหมอบุญยัง และท่านคำเผย(หน.แผนกเครื่องมือแพด) ส่วนทางผู้แทนฝ่ายโครงการก็หนีไม่พ้นไอ้กระผมนี่แหละที่ถูกผลักให้ออกหน้าสุด ในฐานะที่เคยกินนอนในโรงหมอมานาน พอรู้จักวัดปรอทหยอดยาช่วยหมอทำแผลมาบ้าง

เรื่องการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์นี่คุยกันมาหลายครั้งหลายหน (แต่ก็ไม่ได้ข้อสรุปสักที) เว้นแต่ผล สำเร็จที่ผมได้โน้มน้าวให้ตัดงบประมาณการถมดินปรับภุมิทัศน์หน้าโรงหมอ โยกเงินมากองไว้สำหรับซื้อเครื่องมือที่จำเป็นนั้นถือเป็นข้อเดียวที่ตกลงกันได้ ส่วนชนิดประเภทของเครื่องไม้เครื่องมือนี่เข้าใจกันยากจริงๆ ทางโรงหมอเมืองท่านต้องการอย่างหนึ่ง พอเสนอขึ้นไปทางขั้นเทิงโรงหมอแขวงท่านก็ดัดแก้มาอีกฉบับหนึ่ง ครั้นนำเสนอทางฝ่ายผู้พัฒนาโครงการที่บางกอกท่านก็ประกอบความเห็นมาอีกอย่างหนึ่ง ประเด็นสำคัญที่ทางผู้ที่”จะมอบ”ต้องการความมั่นใจ คือ อยากสนองเครื่องมือที่จำเป็นจริงๆ มอบไปแล้วได้นำใช้ประโยชน์ มีคนที่เคยใช้เครื่องมือนั้นๆ ระบบไฟฟ้ามีรองรับเพียงพอ ฯลฯ ส่วนประเด็นที่สำคัญกว่านั้นคือ ทางฝ่ายจัดหาท่านอยากได้ “สะ-เป็ก” specification สำหรับใช้ในการประมูลเปรียบเทียบราคาตามระเบียบของบริษัท เรื่องเจ้าสเปคนี่ถามตอบกันหลายรอบก็ไม่กระจ่างใจกัน และประเด็นสุดท้ายที่สำคัญที่สุด ท่านว่าเกี่ยวพันกับอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ทำให้ต้องจัดหางบประมาณมาเพิ่ม จึงต้องจัดลำดับการซื้อก่อนหลังความจำเป็น ส่วนวาระพิเศษที่จะหารือกันตอนท้ายคือการสร้างแผนตรวจสุขภาพของชาวบ้านสามพันกว่าคนอย่างละเอียด

 กองประชุมไขขึ้นด้วยอัธยาศัยไมตรี(แม้บรรดาท่านหมอ อาจจะสงสัยนิดๆว่า ท่านหมอจากเมืองไทยนี่ดูพิกลๆสะพายย่ามหนวดหงอกหรอมแหรม(หงอกจริงๆไม่ได้พิมพ์ผิด)เข้าห้องมา น่าจะมาแนวหมอผีมากกว่า…อิอิ) เราตกลงกันว่าในบรรดาเครื่องมือห้าสิบกว่ารายการนั้น จะตัดรายการของที่ไม่ใช่เครื่องมือหมอ(ประเภทเครื่องตัดหญ้า คอมพิวเตอร์ โต๊ะ ตั่ง ตู้)ออกก่อนแล้วจึงเริ่มลงรายละเอียดทีละรายการซึ่งมีเหลือที่ต้องดูกันมากกว่าสามสิบอย่าง   

เจ้าประคุณเอ๋ย แต่ละรายการกว่าผมจะนึกหน้าตาของแต่ละอย่างออก จากนั้นก็ต้องชวนคุยถึงความจำเป็น ความบ่อยที่ต้องใช้ แอบถามโดยไม่ให้ท่านโมโหว่าเราไปดูแคลนท่านว่าที่หงสามีคนใช้เป็นหรือยัง ถ้าไม่มีทางโรงหมอแขวงจะไปสอนได้หรือไม่(ความจริงก็อยากรู้นั่นแหละว่าที่แขวงมีหรือเคยใช้รึเปล่า) จากนั้นก็ลงลึกถึงสเปคละทีนี้ เช่นเครื่อง suction pump ต้องการแบบไหน แรงดันเท่าไหร่ เครื่องช่วยหายใจรุ่นไหน ชุดผ่าตัดที่ว่าชุดเล็กนี่น่าจะมีอะไรบ้าง ชุดเปิดช่องท้องที่อยากได้จำเป็นจริงๆมีตัวไหนบ้าง เครื่องต่อกระดูกนี่หน้าตาเป็นอย่างไร เฝือกอ่อนเฝือกแก่ต้องการอย่างละกี่ชุด เครื่องเอ็กซ์เรย์ เตรื่องอัลตร้าซาวด์(โห…แอบดูราคากลางเกือบล้านบาท…งบฯจะพอไหมเนี่ย) มาถึงเครื่องมือตรวจเลือดอยากวิเคราะห์ตัวไหนบ้าง ตับ ไตไขมัน  (แค่ตรวจการทำงานของตับก็หกเจ็ดตัวแล้ว โชคดีที่ตอนอยู่วอร์ดถูกใช้ให้ตามผลเลือดคนไข้บ่อย…รอดตัวไป) นอกจากเครื่องตรวจทางเคมีของเลือดแล้ว ท่านว่ายังมีเครื่องฮีโมโลจีสิบแปดพารามิเตอร์อีก มีเครื่องปั่น เครื่องสั่น เครื่องตกตะกอนอีกสารพัด(อันนี้แล็ปวิชาดินก็พอได้ใช้…พอรอดตัวแบบถลอกปอกเปิกนิดหน่อย)  แล้วก็ต้องมีน้ำยาวิเคราะห์ต่างๆ(เริ่มมึนตึ๊บๆ …ไม่เป็นไรเดี๋ยวอาศัยจดจากข้างกล่อง) บรรดาท่านเอ๊ยยยย….. นอกเหนือจากต้องคุยภาษาหมอที่ส่งคืนกลับไปสวนดอกเมื่อยี่สิบปีก่อนหมดแล้ว ท่านยังคุยกันด้วยภาษาหมอฝรั่งเศสปนลาวครับท่าน “หมากไข่หลัง คือ ไต” “เจาะหาทาดกาลีในเลือด โชคดีที่ประโยคต่อไปท่านว่าก่อนผ่าตัด เลยเดาออกว่า หาโปแตสเซียมในเลือด”  ต้องยกมือถามเป็นพักๆว่า”อันนี้ภาษาอังกฤษท่านว่าหยัง” เสร็จแล้วท่านก็พาไปตระวณดูของจริงครับ ไปห้องเลือด ห้องตรวจ ห้อง ICU

เดินเขาห้องนั้น ออกห้องนี้ บางเครื่องติดอยู่กับคนไข้ในห้องไอซียูก็ต้องขอเข้าไปดู แล้วก็พากันกลับมาสรุปที่ห้องประชุมอีกครั้ง ผมรับที่จะกลับมายกร่างสเปคเครื่องมือตามที่ได้จัดลำดับการจัดซื้อ ส่งให้ท่านหมอตรวจสอบอีกครั้ง หลังจากนั้นจะเสนอให้ผู้พัฒนาโครงการจัดซื้อต่อไป

แต่ท่านหมอคูนสะหวัดท่านรีบห้าม ท่านบอกว่า “ยังซื้อบ่ได้”

“ต้องส่งรายละเอียดทั้งหมด เพื่อขออนุมัติจากศูนย์เครื่องมือแพทย์ที่นครหลวงเวียงจันทน์ก่อน จึงจะสามารถนำมาใช้ในโรงหมอได้”

เป็นอีกเรื่องราวหนึ่งที่ได้รับรู้

ใช่ว่าอยากให้อะไรแล้วจะได้ให้….จริงๆ

« « Prev : ขำ ขำ จากหงสา

Next : เรื่องราว ของท่านลาวมา ลี » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 มกราคม 2011 เวลา 1:13 (เช้า)

    โรคใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายในช่วงหลังจากปฏิวัติอุตสาหกรรม …มันมาพร้อมกับความเครียด ที่ทำให้ภูมิต้านทานโรคของมนุษย์ลดลงกว่าเดิมมาก

    โรคพวกนี้ถูกแก้ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่ยิ่งคิดก็ยิ่งเครียด ก็ยิ่งเกิดโรค

    ..เป็นงูกินหางกันไปเช่นนี้แล

    จนกว่า…

    (ปล. อ่านแล้วสนุกมาก ชอบสำนวนลาวปนไทย ม่วนหลายเติบเด๊อ..)

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 มกราคม 2011 เวลา 1:16 (เช้า)

    ไม่เกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ แต่อยากจะส่งข่าว บวบพันธุ์ลูกยาวเป็นเมตรเริ่มออกผลแล้ว เอาไว้ให้ผลยาวมากๆจะถ่ายรูปมาอวด นิ

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 มกราคม 2011 เวลา 6:40 (เช้า)

    เห็นภาพเลยเปลี่ยน

  • #4 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 มกราคม 2011 เวลา 6:27 (เย็น)

    เป็นเรื่องทำ-มะ-ดาค่ะอ้ายเปลี่ยน ที่จำเป็นต้องมีรายละเอียดของเครื่องมือและจำเป็นต้องตรวจสอบตามที่ผู้ใช้เขาว่า
    อ่านที่อ้ายเปลี่ยนเขียนแล้วรู้สึกว่าหมอลาวเขารอบคอบ
    และมีระบบควบคุมการเลือกใช้เครื่องมือภายใต้ความเป็นไปได้ที่เขาจะพึ่งตัวเองได้นะคะ
    เรื่องเครื่องมือแพทย์นี่ ใครไม่เคยเป็นผู้ใช้จะไม่ใคร่รู้ว่า ไอ้เครื่องที่อยากให้นะจะเริดแค่ไหนก็ไม่สำคัญเท่าประสบการณ์ของผู้ใช้ค่ะ
    ส่วนใหญ่ผู้ใช้จะพยายามประหยัดงบประมาณการซื้อ เลือกของใช้ที่จำเป็น แก้ปัญหางานได้จริงๆ และแก้ปัญหาได้เวลาเครื่องรวนได้ด้วยตัวเอง
    ไม่ต้องการประเภทที่เริดหรู ทันสมัยแต่ใช้ไม่เป็น เสียก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้ ได้แต่นั่งตาปริบๆรอช่างมารับไปซ่อม
    ซึ่งรับไปซ่อมแล้ว บางทีก็หายเข้ากลีบเมฆไปเลย

    อ่านภาษาที่เล่าแล้วสนุก มีอะไรให้แปลมากมายเลยนะคะ เห็นภาพอย่างที่บู๊ทว่าจริงๆ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.090229988098145 sec
Sidebar: 0.014525890350342 sec