เรื่องราว ของท่านลาวมา ลี

โดย silt เมื่อ 6 กุมภาพันธ 2011 เวลา 1:11 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1466

 

ท่านชื่อ ลาวมา นามสกุลลี ไม่ใช่ชื่อ ท่านลาว นามสกุล มาลี ที่แปลว่าดอกไม้

ท่านเป็น นายบ้าน เป็นเลขาหน่วยพรรคบ้าน บ้านหาดยาว เมืองและแขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว

ท่านเป็นคนแรกที่นำยางพาราต้นแรกเข้ามาปลูกใน สปป. ลาว

ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวการต่อสู้พัฒนาการปลูกยางพาราของท่านและชาวบ้านหาดยาวของท่าน

  • ปี 1973 ระยะที่ ระยะการปลดปล่อยประเทศลาวใกล้จะสำเร็จ ราชอาณาจักรลาวกำลังจะเปลี่ยนเป็น สปป ลาว พี่น้องชาวม้งกลุ่มหนึ่งได้รับนโยบายจากฝ่ายปลดปล่อย ให้ย้ายลงมาจากยอดภูมาทำนาในเขดทุ่งเพียง (เนื่องจากมีคนอพยพไปอยู่ค่ายผู้ลี้ภัย และประเทศที่สามกันมาก ทำให้มีที่ดินว่างเปล่าหลาย รวมทั้งเหตุผลเรื่องความมั่นคง….ผู้เขียน)
  • พี่น้องชาวภูดอย ที่เคยปลูกแต่ข้าวไร่ ข้าวโพด มาตั้งต้นหัดทำนาดำกัน “ขุดเหมืองเอาน้ำเข้านาก่บ่เป็น” “ไถนาก่บ่เป็น เฮดแนวใดก่บ่เพียงต้องเกณฑ์เอาคนทั้งหมู่บ้านมาย่ำ” “หมดเดือนดำนาได้ไฮ่นาเดียว”
  • ผู้คนเจ็บป่วยล้มตายกันมากคน “เด็กน้อยวิ่งเล่นอยู่แท้ๆ ก็ล้มชักตาตั้งตายไปต่อหน้าต่อตา” “ปีแรกมีคนตาย 170 กว่าคน ทางหมอท่านว่าเป็นพะยาดไ ข้ยูง”
  • ด้วยความอดอยากขัดสน และการเจ็บป่วย พี่น้องจึงทะยอยกันหนีกลับไปอยู่บนภูดอยคือเก่า จนมาเถิงปี 1985 พี่น้องม้งลาวบางส่วนที่หนีไปได้กลับมาอยู่ที่บ้านหาดยาวเพิ่มอีกหลายครอบครัว จึงมีการตั้งหน่วยพรรคบ้านขึ้น พร้อมกับการจัดสรรที่ดินกันใหม่ (อบอุ่นขึ้นแต่การทำมาหากินฝืดเคืองมากขึ้น)
  • หน่วยพรรคบ้านหาดยาว ปรึกษาหารือ เพื่อซอกหาวิธีแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจครอบครัว กิจกรรมแรกเริ่มที่ “แผนการเลี้ยงวัวควาย” พวกท่านพากันไปจับจองพื้นที่เลี้ยงสัตว์รวมของบ้านร่วมสิบแห่ง จัดตั้งสนำเลี้ยงสัตว์รวมของบ้าน “แต่รายรับจากการขายงัว ไม่พอเลี้ยงกัน กว่าจะได้ขายต้องรอถึงสี่ปีห้าปี”
  • ตัดสินใจ พากันไปเยี่ยมยามพี่น้องเครือญาติชาวม้งที่ไปตั้งรกรากทำมาหากินในเมืองไทย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลำปาง เชียงราย เชียงใหม่ ตาก “มีพี่น้องอยู่ไหน ไปเยี่ยมยามถามข่าวหมด” ไปดูว่าเขาทำมาหากินกันอย่างไร “จะเอาแบบอย่างมานำพาพี่น้องบ้านหาดยาวได้แนวใด” การไปเมืองไทยได้บทเรียนหลายอย่าง

                  o เห็นการปลูก ส้มเกลี้ยง มะขามหวาน ลำไย ข้าวโพด ขิง กลับมานั่งปรึกษาหารือกันในหมู่คณะนำบ้าน

                  o “ไม้ผลก็ดี แต่เมืองลาวไม่มีโรงงานรองรับสินค้า แถมการปลูกไม้ผลต้องลงทุนใส่ปุ๋ยให้น้ำ” คงไม่เหมาะกับพี่น้องบ้านหาดยาว (หรือว่าท่านไปพบเจอมหกรรม การกินลำไย เงาะ มังคุด ลองกอง ช่วยชาติของประเทศสารขัณธ์…..ผู้เขียน)

                   o จะปลูกข้าวโพด กับขิง ก็เกรงปัญหาด้านแหล่งขายผลผลิตเหมือนกัน “พี่น้องชาวม้ง พ่อแม่พาปลูกข้าวโพด กินข้าวโพดมาตั้งหลายรุ่นแล้ว ไม่เห็นรวยกันสักคน”

  • นำพาสี่เฒ่าห้าแก่เจ้าโคตรคณะปกครองบ้านข้ามพรมแดนไปเขตเมืองจีน เห็นเขาปลูกยางพารากันเต็มบ้านเต็มเมืองสิบสองปันนา “เริ่มมีความหวังกับพืชชนิดนี้” “เขาบอกว่าปลูกยางพารา ทนทุกข์แปดปีแต่ได้สบายต่ออีกสามสิบปี”
  • กลับมาเปิดกองประชุมคณะพรรคบ้านหาดยาว ตัดสินใจพากันกลับไปถอดถอนบทเรียน “ไปเบิ่งวิธีปลูก เอาไม้ไปแทกวัดไลยะห่างระหว่างต้น ระหว่างแถว แต้มรูปใส่ปื้มมา” “ไปเบิ่งเขาปาดยาง” “ไปเบิ่งบ่อนขาย”
  • เว้าจีนบ่ฮู้ความ ได้แต่ถามพี่น้องชาวลื้อๆต่างเว้าเป็นเสียงเดียวกันว่า “เสียดายคนลื้อบ่ทันคนฮ่อ(จีน)ที่มาจากต่างถิ่น มาจับจองบ่อนปลูกยาง” “แต่ก่อนนี้ชาวฮ่อมาใหม่ๆ ทุกข์จนหลาย ตัวเป็ดตัวไก่เฮาตายเอาไปถิ้ม หมู่เขาก่มาเก็บไปกิน” “แต่เดี๋ยวนี้หมู่ฮ่อได้ปาดยางได้ขายยาง ฆ่าหมูกินทุกมื้อ มีแต่ชาวลื้อเฮาไปขอเครื่องในหมูเขามากิน”
  • พกความมั่นใจจากเมืองจีน กลับมาเฮดเวียกแนวคิดกับประชาชน แต่กลับกลายเป็นว่า “สวนทางกับแผนพัฒนาการปลูกฝังของกะสิกำ ท่านให้ปลูกหมากงา กับปลูกใบยาสูบ”
  • “ปลูกงาก่บ่ได้ราคา ปลูกยาก่ใบบ่ได้เกรดจั๊กเทื่อ” พี่น้องจึงหันมาสนใจยางพารา
  • ปี 1994 มีคนสมัครปลูกยาง 30 ราย ส่วนมากเป็นคณะจัดตั้งบ้าน กรรมการบ้าน “เฮดเป็นตัวแบบ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน”
  • เฮดหนังสือเสนอท่านเจ้าเมืองเจ้าแขวง ขอยืมเงินซื้อเบี้ยยางกับหนามหมากจับ(รั้วลวดหนาม) มีเสียงมาเข้าหูว่า “ชาวบ้านหาดยาวนี่ หากเลิกกินข้าวได้ก่จะสามารถปลูกยางได้” ท่านเจ้าแขวงก็สั่งมาว่า “ให้ไปเตรียมบ่อนปลูกไปขุดขุมให้แล้วก่อนค่อยมาบอก จึ่งจะพิจารณาคำขอ”
  • กลับมาจัดตั้งปฏิบัติ ขุดขุมขุดแลวจนเสร็จ ท่านเจ้าแขวงจึงสั่งให้ธนาคารส่งเสริมมาปล่อยเงินกู้ ต่อรองได้ระยะปลอดชำระแปดปี ดอกเบี้ยต่อรองจากร้อยละสิบเหลือร้อยละเจ็ดต่อปี ตัวอย่างการเจรจาต่อรองระหว่างธนาคารกับคณะบ้านหาดยาว
  • o ธนาคาร “เจ้าฮู้บ่ ว่าปลูกแล้วมันจะบ่ตาย มันจะใหญ่” คณะบ้าน “เฮาบ่ฮู้ แต่เฮาไปเบิ่งจีนเขาปลูกอยู่ใกล้ๆนี่ มันก่งามดี”
  • o ธนาคาร “เจ้าฮู้บ่ ว่ามันใหญ่แล้ว เวลาปาดมันจะออกน้ำยางให้เจ้า” คณะบ้าน “เฮาบ่ฮู้ แต่คนจีนปลูกอยู่หล่ายภูเบื้องพู้นกะมีน้ำยางออกหลายดี”
  • o ธนาคาร “เจ้าฮู้บ่ ว่าเอาเอาไปขายอยู่ไส” คณะบ้าน “เฮาบ่ฮู้ แต่หากจีนเข้ามาซื้อข้าวได้เฮากะว่าจะเอายางไปขายได้คือกัน”
  • ข้ามมาถึงปี 2000 พี่น้องชาวบ้านหาดยาว “สู้ทนปฏิบัติ” จนขยายพื้นที่ปลูกยางพาราได้ สามร้อยกว่าเฮกตาร์ ปลูกยางไปร่วม หนึ่งแสนห้าหมื่นต้น (ทั้งๆที่ยังไม่ทันได้กรีดยางต้นแรก)
  • ปี 2001 เริ่มเตรียมการณ์ปาดยาง ไม่มีเงินจ้างคนมาสอน “โชคดีที่มีคนในบ้านหาดยาวคนหนึ่งเคยไปรับจ้างปาดยางที่เมืองลามา” “แต่เว้าบ่เป็นสอนบ่เป็น ….ต้องเอาคนผู้นั้นมาหัดให้เว้าเป็นสอนเป็นก่อน” “แต่งคนไปขอเชื่อมีด ถ้วย เพลิง(ไฟฉาย)ติดหน้าฝาก ที่ตลาดเมืองลา ไปตัดต้นตีนเป็ดมาให้พี่น้องฝึกกรีดยาง
  • วันที่ 6/5/2002 เปิดบั้น-ปะ-ถม-มะ-เลิก การปาดยางที่บ้านหาดยาว ได้ยางในปีนั้นรวม ซาวสองโตน ขายได้เก้าสิบหกล้านกีบ
  • ทุกวันนี้บ้านหาดยาวมีพื้นที่ปลูกยางพารา แปดร้อยกว่าเฮกตาร์ ผลผลิตยางก้อนปีละ 550 โตน ขายได้เงิน ห้าตื้อกีบกว่าๆ รายรับต่อหัวคน กว่าเจ็ดร้อยโดล่าอาเมลิกาต่อปี
  • เพื่อเป็นทางเลือกให้พี่น้องชาวหงสา
  • o ในปี 2007ผมดั้นด้นขึ้นรถลงเรือไปต่อรถเมล์สี่ต่อ เพื่อไปแอบดูสวนยางของท่าน ลาวมา เมื่อเห็นว่าเป็น “ของจริงตามคำเล่าลือ”
  • o ปี 2008 ก็พาอ้ายน้องทีมงานไปศึกษาหาความรู้อย่างเป็นทางการ(คราวนี้เอารถโครงการไป ค่อยสะดวกขึ้นกว่าเที่ยวแรก)
  • o ปี 2009 พาพี่น้องผู้นำชาวบ้านหกสิบกว่าชีวิตไปศึกษาดูงาน ที่สวนท่านลาวมา
  • o ปี 2010 พยายามติดต่อท่านลาวมา ให้ช่วยมาดูพื้นที่เมืองหงสา และพบปะพูดคุยกับพี่น้อง (จะได้กลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ไปก่อนพาพี่น้องไปหกสิบกว่ารายหมดงบประมาณไปครึ่งล้านบาท) แต่คิวท่านลาวมา ไม่มีให้เลย ติดเวียกงานพรรค งานบ้าน งานสมาคมกลุ่มผู้ขายยาง งานกินเจียง ร่วมงานแข่งกีฬาบรรดาเผ่า
  • o ท่านลาวมา ได้มาเยี่ยมยามผมกับพี่น้องชาวหงสา เมื่อต้นเดือนกุมภานี่เอง จึงถือโอกาสเรียบเรียงเรื่องราวของท่าน มาแบ่งปันครับ (ผมคงหนีไม่พ้นที่จะสานต่อการส่งเสริมการปลูกยางพาราที่หงสา เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับพี่น้อง ….แต่ไม่ต้องหว่งครับ เป็นทางเลือกหนึ่ง ตามความสมัครใจ และเงื่อนไขของครอบครัว เพราะยังมีอีกกว่าสิบทางเลือกที่ผมเตรียมไว้รองรับสำหรับพี่น้อง)
  • นี่เป็นเรื่องราวของท่านลาวมา แห่งหลวงน้ำทา หากท่านใดมีโอกาสไปไหว้พระประธานในอุโบสถ วัดประจำแขวงหลวงน้ำทา หลังจากกราบพระแล้ว เงยหน้ามองที่ฐานองค์พระ จะเห็นป้ายจารึกชื่อท่านลาวมา พร้อมภรรยา เพราะท่านบริจาคทรัพย์สร้างองค์พระประธาน ห้าสิบล้านกีบ (ไม่มากไม่มาย…ราวๆสองแสนบาทครับ)
  • ส่วนท่านใดอยากพบตัวเป็นๆ ของท่านลาวมา หาไม่ยากครับ ถามใครๆที่หลวงน้ำทาก็รู้จัก

« « Prev : ใช่ว่าอยากให้อะไรแล้วจะได้ให้ (บันทึกจากหมอจำเป็น)

Next : สิ่งละอัน พันละน้อย จากหงสา » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 กุมภาพันธ 2011 เวลา 1:33 (เช้า)

    บทความนี้โดนใจอย่างมาก เป็นข้อมูลที่จะเอาไปขยายต่อ นะขอรับ อิ

  • #2 silt ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 กุมภาพันธ 2011 เวลา 7:55 (เช้า)

    ขอรับพ่อครู
    เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดโดยเจ้าของ คนต้นเรื่องต้วจริงครับ
    มีทั้งเรื่องสาธารณสุขกรณีย้ายถิ่นแล้วเกิดโรคระบาด
    ทั้งเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน การพัฒนาภาคการเกษตร ที่ทางภาคส่วนราชการในประเทศแถวๆนี้มักจะ พาประชาชนทุกข์ยาก ลงคูลงคลองไปทุกที
    ทางด้านสังคม ท่านก็ได้เล่าถึง การไปเยี่ยมยามถามข่าวพี่น้องชาวม้งเครือข่ายกันในเมืองไทย
    และสุดท้าย หากท่านที่สนใจทางด้านลึกของสังคมคนลาว จะเห็นว่า ท่านลาวมา บริจาคเงินก้อนโตสร้างพระประธาน (ทั้งๆตามปกติชาวม้งนับถือศาสนาผี) น่าสนใจนะครับ

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 กุมภาพันธ 2011 เวลา 8:39 (เช้า)

    ใจเป็นใหญ่ ความต้องการดิ้นรนเพื่อแก้ปัญหาความเป็นอยู่จองครอบครัว ชุมชน แม้หนทางยากลำบากเพียงใด ใจมันสั่งให้ไปหาความรู้มา ประเมิน ตัดสินใจ ลงมือ สรุปบทเรียน ยกระดับ ขยาย ม้งเป็นชนเผ่าที่ progressive มาก งานศึกษาของพี่เตือนใจดีเทศน์ สวคนงามของเรานั้น สรุปว่า ม้งคือ ราชาแห่งชนเผ่า ไม่ใช่ราชาในแง่นั่งบัลลังทองกระดิกเท้า แต่ขยัน ฉลาด ต่อสู้ อดทน ก้าวหน้า ปรับตัวเร็ว

    ตรงข้ามบ้านเรา นั่งรถติดแอร์ไปไม่กี่กิโล ความรู้มากมายก็ไม่เอามาปรับใช้
    อือ ของเขาดีจริงๆ..


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.11221289634705 sec
Sidebar: 0.041177988052368 sec