สิ่งละอัน พันละน้อย จากหงสา

โดย silt เมื่อ 4 มีนาคม 2011 เวลา 3:34 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1413

หงสา ระยะเดือนสี่นี้มีสามฤดู กลางคืนหนาวคนปะเก๋าเพิ่นว่าเดือนสี่หนาวหน้า เดือนห้าหนาวตีนหนาวมือ เช้าตรู่หมอกลงจัด สายๆร้อนตับแลบ เย็นย่ำฟ้าครางฝนรั่วคนเฒ่าทางนี้ว่า เดือนสามน้ำยามท่า (แต่ปีนี้น้ำมายามท่าเอา ในเดือนสี่…)

ลุงเปลี่ยนก็ยังคงทำตัววิ่งวุ่น ตามบทบาทภาระหน้าที่ ของคนทำงานที่ปรึกษาด้านฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวหงสาที่ได้รับเงินค่าจ้างเขามา วันๆทำอะไรบ้างเหรอ

ไปติดตามผลักดันซุกยู้เรื่องการจัดที่ทำกิน เร่งรัดให้ทีมงานไปเจรจากับเจ้าของดินเดิมที่จับจองที่ดินมือเปล่าเพื่อขอจัดรูปที่ดิน(โดยให้เจ้าของเดิมเลือกก่อนให้พอเพียงสำหรับเลี้ยงครอบครัวพร้อมออกใบเอกสารสิทธิ์ และให้พี่น้องเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาการปลูกฝัง)

ไปเดินดูดิน(เวียกงานนี้ต้องไปเองในฐานะที่เป็นนักดินอยู่คนเดียว…อันที่จริงที่ลาวมีการทำแผนที่ดินแบบกึ่งละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญจากวียดนามเมื่อ ห้าปีที่แล้ว)

จากนั้นก็มานั่งหน้าจอคอมฯ รวมหัวกันวางแผนการใช้ที่ดิน จัดโซนวางแผนการปลูกไม้ยืนต้น ยางพารา ไม้ผล ทำนา  แล้วก็ช่วยกันทำแผนงานตา-ตะ-รางการทำงาน แต่ละบาดก้าว(ทำอย่างไรจะไม่ให้ แพลนนิ่ง กลายเป็น แผน-นิ่ง) จะสร้างสวนสาธิตอะไรบ้าง พี่น้องจะปลูกหมากเกลี้ยงมีกิ่งพันธุ์ไหม พี่น้องจะปลูกยางพารามีกล้ายางหรือยัง กล้ายางพาราที่ไว้ใจได้มีแหล่งเดียวคือที่หลวงน้ำทา การเตรียมกล้ายางกว่าจะเพาะเมล็ดกว่าจะติดตาปกติต้องอายุสองปีถึงจะปลูกได้ ปีนี้ทั้งเวียดนาม ทั้งจีน ทั้งไทย ไหลหลั่งกันมาแย่งกันซื้อ ทำให้ราคากล้ายางสูงขึ้นสามเท่า แล้วก็ยังไม่มีพอขายอีกต่างหาก เห็นท่าจะปรับแผนใหม่ให้ชาวหงสาหันมาเพาะกล้ายางขายดีกว่า

แล้วผมก็มานั่งตาลอย สร้างแผนการพัฒนาอาชีพนอกการเกษตร ทอผ้าฝ้าย ผ้าไหม แกะสลัก จักสาน ไหว้วานให้ทีมงานคอยติดตามพี่น้องที่ได้เงินค่าชดเชยไม่ให้เอาไปซื้อมือถือซื้อรถมอเตอร์ไซด์ให้ลูก พาตัวเองไปเดินสายสอนแม่บ้านทำบัญชีครัวเรือน

ปีนี้ที่หงสามีพ่อค้าคนกลางมาบอกให้พี่น้องปลูกผักกาดเขียวปลี แบบประกันราคา แต่พอถึงเวลาผักพร้อมเก็บเกี่ยวกลับหายศีรษะไปไม่มารับซื้อ ลุงเปลี่ยนก็เลยได้ออกโรง มีวัตถุดิบไปสอนบรรดาแม่บ้านดองผักกาดสูตรแม่แตง เป็นที่ชวนชิมกันหลายหมู่บ้าน ตอนนี้นอกจากจะมีแหนมเห็ดอาจารย์เปลี่ยน ก็มีผักกาดดองอาจานเปลี่ยนมาอีกหนึ่งตำรับ

น้ำหมักชีวภาพที่ทำจากขยะก็เริ่มเป็นที่รู้จัก ได้เอาไปแจกชาวบ้านทดลองใช้ให้ติดใจ แล้วค่อยตามไปชวนให้ทำเอง (ชาวหงสาหลายคนเคยมาเข้าร่วมกิจกรรมของ “ศูนย์โยเร” และได้รับแจกน้ำ อีเอ็มไปใช้ แต่ต่อมามีเหตุให้ต้องว่างเว้นไม่สามารถมาเข้าร่วมได้ ตอนนี้แม่ๆป้าๆเลยหันมาแวะเวียนกันมา ขอน้ำสะกัด (เอฟ เอ็ม อาจานเปลี่ยน อิ อิ…)

แต่งานหลักที่จับอยู่ตอนนี้กลับเป็นเรื่องของ การจัดซื้ออุปกรณ์แพทย์เข้าโรงหมอเมือง ตอนนี้มีเสนอราคากลางมาบ้างแล้ว น่าจะอยู่ในงบประมาณ กับการวางแผนตรวจสุขภาพประชาชนประมาณ ๓๐๐๐ คน พอไปจับจริงๆแล้วก็มีเรื่องปลีกย่อยให้ติดต่อประสานงานมากมาย เช่น การตรวจเลือดจะเจาะแบบไหน ส่งไปวิเคราะห์ที่ไหน ส่งภายในกี่ชั่วโมง ตรวจอะไรบ้าง การชั่งน้ำหนักเด็กทารก เอาเครื่องชั่งที่ไหน กล้องส่องตรวจไข่พยาธิ์ในอาจมจะเอามาจากไหน จิปาถะไปหมด

งานจรที่แวะมาใช้บริการ จ่อคิวต้องไปทำอาทิตย์หน้าคือ การไปจัดเวทีการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องชาวเมืองเชียงฮ่อน งานนี้น่าสนุก เพราะจะได้อู้คำเมืองล้วนๆ พี่น้องเชียงฮ่อนตั้งแต่เจ้าเมืองลงไป เป็นชาวยวนเกือบทั้งหมด

ขอบคุณวันเวลาที่ได้ให้พบผ่าน ได้ฝึกฝนเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่ดองผักกาด ผ่านมาแวะเก็บเกี่ยวที่สวนดอก มาเสริมเรื่องการเกษตรที่มอชอ แล้วมาเติมเต็มกับพี่น้องไทบรูที่มุกดาหาร จนได้นำใช้รอบด้านที่หงสานี่

ตั้งใจจะเขียนเรื่องการเลือกตั้ง บรรยากาศการเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติที่ สปป ลาว ที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๓๐ เมษา นี้ ด้วยตอนที่ไปฝอยไว้กับคณะอาจารย์ราชภัฏที่สวนป่าคราวโน้นไม่ได้เล่าถึงเรื่องนี้ เลยรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบถ่ายทอดเรื่องราวที่ขาดหาย

แต่จั่วหัวเยอะไปหน่อย รู้สึกว่าบันทึกจะยาวไปแล้ว……เอาไว้ติดตามตอนต่อไปเด้อครับ

นำเสนอพาดหัวข่าวการเลือกตั้ง จากหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่ สักสองข่าว เรียกน้ำย่อยก่อน

๑ ท่านประธานประเทศ ออกรัฐดำรัสประกาศจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้ง และจำนวนสมาชิกสภาแห่งชาติชุดที่ เจ็ด (ที่น่าสนใจคือ ท่านมีการกำหนดจำนวนผู้สมัครด้วยนะครับ รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ขอเล่าในบันทึกหน้า…)

๒ ท่านประธานสภาแห่งชาติ แถลงข่าว ตั้งเป้าหมายการปฏิบัติงาน ของคณะกรรมการเลือกตั้ง ให้ได้ 300 % (รายละเอียดเนื้อในโปรดติดตามตอนต่อไป….) ครับผม

« « Prev : เรื่องราว ของท่านลาวมา ลี

Next : ขอแค่รับฟัง ฝึกตัวเองให้รู้จักรับฟัง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

8 ความคิดเห็น

  • #1 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 มีนาคม 2011 เวลา 7:31 (เย็น)

    วางแผนตรวจสุขภาพประชาชนประมาณ ๓๐๐๐ คน ถ้าจะทำแบบสาธารณสุข ก็ใช้วิธีกลั่นกรองเป็นขั้นๆ สอนให้กลั่นกรองสุขภาพตัวเองแบบ verbral screening ก่อน แล้วจึงลงมือตรวจร่างกายเพื่อหาข้อมูลเสริม เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดไขมันใต้ผิวหนัง วัดรอบเอว วัดมวลกระดูก แบบไม่ต้องเจ็บตัวเจาะเลือดอย่างนี้ก็พอได้ข้อวินิจฉัยเรื่องสุขภาพแล้ว

    อยากรู้เรื่องโรคเรื้อรังเช่น เบาหวาน ไขมันสูง ก็มาต่อด้วยการตรวจด้วย test kit ซึ่งเดี๋ยวนี้มีทั้ง น้ำตาล ไขมัน

    ตรวจสารเคมีทางการเกษตรในเลือด ก็มีด้วยนะ

    ก็ไม่ต้องหาเครื่องมืออะไรมาก ตรวจกันในภาคสนามได้เลย แค่ซื้อกระดาษซับเลือดปริมาณหนึ่่ง เดี๋ยวเครื่องมือก็ตามมาด้วยเอง เรียนรู้วิธีแปลผลอีกหน่อย ก็พึ่งตัวเองได้ รู้ว่าผิดปกติต้องวินิจฉัยโรคเพื่อยืนยันเพื่อการรับยา ก็ส่งต่อตรวจ lab ใหญ่ต่อไปให้หมอเขารับหน้าที่ไป

    เดี๋ยวนี้เมืองไทยทำอย่างนี้เพื่อดูแลสุขภาพคนให้ทัน เป็นการทำงานในเชิงป้องกันก่อนถึงขั้นรับยารักษาไปตลอดชีวิต

    สิ่งที่ต้องเรียนเพิ่มก็คือ “การแปลผล” และ “การผ่องถ่ายความรู้เพื่อให้เกิดความรู้ที่พึ่งตัวเองได้แบบ self management และ self care ค่ะ

    ไหนๆก็เจาะเลือดแล้วดูเรื่องซีดซะเลย ด้วยการตรวจ Hct ก็บอกได้แล้ว คนไหนก้ำกึ่ง ก็ส่งตรวจต่อร.พ.

    อีตรงตรวจเรื่องซีดนี่แหละที่ต้องจัดหาเครื่องปั่นละ ราคาของเครื่องที่เมืองไทยอยู่ที่หลักหมื่น ถ้าซื้อจากโรงเรียนแพทย์อย่างเช่น ศิริราช ก็อาจจะถูกกว่า เพราะทำในเมืองไทย โดยคนไทย

    เรื่องของตรวจพยาธิ ถ้าอาศัยซื้อบริการจากงานสาธารณสุขไทยเขตชายแดนได้ ก็ไม่ต้องลำบากหากล้องจุลทรรศน์ จำได้ว่าเขามีน้ำยาตรวจภาคสนามด้วยกลั่นกรองก่อนเบื้องต้นเรื่องไข่พยาธิ น้ำยานี้น่าจะผสมเองได้ถ้าจำไม่ผิด จะช่วยหาข้อมูลให้เด้อ

    ส่วนเครื่องมือทำงานอื่นๆข้างต้นจะส่งเอกสารเท่าที่ใช้อยู่มาให้ศึกษาก่อน จะได้ใคร่ครวญทางเลือกที่สะดวกกับทางอ้ายเปลี่ยนได้ลงตัว

  • #2 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 มีนาคม 2011 เวลา 8:29 (เย็น)

    ฮูบงามแต้งามว่าเจ้า

    ไปจ่วยเอาบ๋อ อิอิ

    วัดไวท่อทราย บีพี ดูน้ำต๋านป๋ายนิ้วฮื้อบ๋อ

    อิอิ

  • #3 silt ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 มีนาคม 2011 เวลา 8:30 (เย็น)

    ขอบคุณมากครับพี่สาวหมอตา
    ตอนนี้ที่จะตรวจทุกคนก็คือ ฮีโมโกบิล เฮมาโตคริด กับไวรัสบีครับ ต้องส่งไปโรงหมอแขวงห่างออกไป๙๐กิโลครับ
    ตรวจแบบแถบคือ น้ำตาลในฉี่
    ตรวจไข่พยาธินี่ไม่ค่อยมีใครอยากทำ เลยแบ่งกันระหว่างโรงหมอเมือง กับโรงหมอแขวง
    ทางโรงหมอแขวงท่านอยากให้ตรวจ ไวรัสซี ตรวจทางวีดี ตรวจเอดส์ ตรวจเอกซ์เรย์ปอดอีก ตรวจเลือดหาการทำงานของตับของไตอีกครับ
    ผมกำลังต่อรองว่า สิ่งที่อยากตรวจเพิ่มนั้นขอให้ขึ้นกับการวินิจฉัยของแพทย์สั่งตรวจเป็นรายๆไป ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับการยินยอมของชาวบ้านด้วย โดยเฉพาะการตรวจเอดส์ และการเอกเรย์ซึ่งที่นี่กลัวกันมากๆ
    กำลังส่งซื้อเครืองวิเคราะห์เลือด ทั้งทางเคมี และเครื่องตรวจเม็ดเลือด๑๘พารามิเตอร์มาไว้ที่หงสาครับ งวดต่อๆไปคงไม่ต้องลำบากส่งเลือดไปไกล

    คุยกับพี่ตาแล้ว นึกได้ว่าเห็นลุงเอกพา สสสส รุ่นนี้ไปไอร์แลนด์ เสียดายจังเลยที่ไม่ได้สมัครเรียน

  • #4 silt ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 มีนาคม 2011 เวลา 8:36 (เย็น)

    มาแต้น่อครับ วันพรุ่งวันอือ ลุงเปลี่ยนจะสอนพนักงานใหม่สัมภาษณ์เก็บข้อมูล สา-สุก ครอบครัวแล้วครับ พวกประวัติการเจ็บไข้ได้ป่วย สุขนิสัยการกินอาหาร ความถี่ในการกินจิ้นดิบ น้ำดื่ม การก๋างสุดนอน การให้นมลูก….
    ก๋ายเป๋นว่า อันที่ตุ๊กๆเฮียนสิบป๋ายปี๋จนจบปะลินยาโทนั้น เอาเก็บไว้ก่อน เอาความฮู้สวนดอกมาใจ๊ก่อนครับ
    ว่าแล้วก่อกึดเติงหาคนตางสวนดอกเนาะ อิอิ

  • #5 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 มีนาคม 2011 เวลา 10:06 (เย็น)

    ดีใจแฮงแท้อ้าย ที่ได้รู้ว่าอ้ายบ่ได้รับผลกระทบใดจากแผ่นดินไหวที่ผ่านมา ^ ^

    อยากรู้เรื่องภาวะสุขภาพของทางนู้นมากๆเลยค่ะพี่เปลี่ยน (แม้จะไม่ได้ไปช่วยก็ตาม) ในอดีตนานมาแล้ว รพ.เคยเก็บข้อมูลแยกตามชนเผ่าที่มารับบริการ เช่นอาข่ากี่ราย ม้งกี่ราย แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันเก็บข้อมูลแค่ชนเผ่ากี่รายเท่านั้นเองค่ะ ทำให้ขาดภาพการเจ็บป่วยในชาติพันธุ์ที่น่าจะเชื่อมกับการกินการอยู่ การใช้ชีวิตไม่มากก็น้อย

    อยากเชียร์และอ่าน(แม้รู้ว่างานอ้ายหลาย) เรื่องประวัติศาสตร์สุขภาพของพี่น้องฝั่งโน้นมากเลยค่ะ

  • #6 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 มีนาคม 2011 เวลา 11:17 (เย็น)

    ที่จริงแค่ตรวจ CBC ก็บอกอะไรได้หลายอย่างแล้วนะอ้าย เพิ่มเติมด้วย Urine pH กับ urine specific gravity ก็ช่วยเติมเต็มแนวโน้มที่จะไปตรวจต่อ

    เดิมเราแปลผลค่า Hct แต่เรื่องซีด แต่จริงๆต้องดูเรื่องความหนืดด้วย ในมุมมองของซีด เลือดหนืดดี

    แต่ถ้าใช้ตามทฤษฎีของเหลวที่เรียนรู้จากอาจารย์ทวิช ยิ่งเข้มข้นเท่าไร ยิ่งแปลว่า มีการปรับตัวของเลือดเพราะปัจจัยบางอย่างในเลือดที่เพิ่มขึ้น โอกาสเกิดโรคเรื้อรังก็มากเท่านั้น

    น้ำตาลในฉี่ใช้ตรวจแล้วจะพบแต่คนที่เป็นเบาหวานมาแล้วระยะหนึ่งค่ะ เจาะเลือดปลายนิ้วหลังกิน ๒ ชั่วโมงไปแล้วจะพบระยะต้นกว่าเยอะเลย ถ้าค่าที่ได้เกิน ๑๔๐ ส่งพบหมอตรวจวินิจฉัยโรคได้เลย

    จะลองหาเครื่องมือคดกรองวัณโรคแบบไม่เจ็บตัวส่งมาให้ใช้งานนะคะ

    ถ้าจะตรวจการทำงานตับ ไต ตรวจร่างกายธรรมดาๆ แล้วพบอะไรที่สงสัยค่อยตรวจดีกว่าค่ะ ประหยัดงบได้เยอะ

    ถ้าตรวจไวรัสบี ซี แล้วคิดจะให้วัคซีนต่อก็น่าตรวจนะคะ

    ตรวจวีดีเหรอ เมืองสังคมนิยมนี่เขามีสถานที่แพร่โรค STD ด้วยเหรอ อะไรทำให้สงสัยว่าประชาชนจะเป็นโรคนี้นะ น่าสนใจ

    เห็นด้วยเรื่องถ่ายภาพปอดว่า ควรมีข้อบ่งชี้มากกว่าจับตรวจพร่ำเพรื่อ

    เรื่องตรวจเอดส์เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ถ้าเสี่ยงจริงก็ควรทำให้เข้าใจว่า ตรวจแล้วได้ประโยชน์อะไร ลาวมีโปรแกรมดูแลคนติดเชื้อมั๊ยค่ะ

    เรื่องตรวจพยาธิ ติดค้างไว้ก่อนนะคะ ยังหาไม่เจอ

  • #7 silt ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มีนาคม 2011 เวลา 11:45 (เช้า)

    ขอบคุณพี่หมอตา กับหมอเจียงฮายครับ
    ความจิงอยากได้คำแนะนำจากเบริ์ดมาก โดยเฉพาะ เรื่องการตรวจวัดข้อบ่งชี้ทางสภาพจิตใจ และทางภาวะโภชนา เนื่องจากการย้ายถิ่นฐานของคนไปอยู่ที่ใหม่ นอกจากความเครียดแล้ว พี่น้องต้องไกลจากป่า จากห้วยหนองที่เคยไปหาปูปลากุ้งหอยมาทำอาหารอีก (แม้ว่าทางเราตั้งงบประมาณไว้ว่าจะเลี้ยง ข้าว ไข่ เนื้อแห้ง ตลอดสามปีแรกก็ตาม)
    ส่วนเรื่อง STD นั้น เหมือนกันกับบ้านเราแหละครับพี่หมอเจ๊(ยกเว้นสี่เมืองเหนือของแขวงไชยะ ที่ท่านเข้มงวด จับสาวอาชีพพิเศษมากักบริเวณเข้าโรงเรียนอบรมการเมือง แถมจับคนซื้อด้วยนะครับ หากเป็นคนต่างชาติก็ปรับห้าหมื่นบาทแล้วเนรเทศ….แต่พอเป้นเมืองใหญ่ๆแล้วก็คุมไม่อยู่ครับ) อีกอย่างหนึ่งก็คือ แรงงานที่เข้ามาทำงานเมืองไทย ก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงครับ
    มีเรื่องชวนหัว(รึเปล่า?) เมื่อคราวที่ผมทำ HIA บ้าน…. ได้สุ่มตรวจสุขภาพชาวบ้านราว ๕๐๐ คนโดยท่านหมอท้องถิ่น(ควบคุมโดยท่านหมอจากศูนย์กลาง) ที่น่าสนใจคือ มีรายงานว่า ๑๐๙ คน มีอาการ ทาง genitor-urinary system infection คิดเป็นร้อยละ ๒๑ เชียวนะครับ (นี่เขาตรวจ๕๐๐คนรวม ผู้ชายกับเด็กด้วยนะครับ ถ้าคิดสัดส่วนเฉพาะสตรีแล้ว เปอร์เซนต์ก็จะสูงขึ้นมากๆเลย) สอบถามรายละเอียดกับท่านผู้ตรวจว่าท่านวินิจฉัยจากอะไร ท่านบอกว่า ถามคนมาตรวจว่า มี Leucorrhea หรือเปล่า ซึ่งอันนี้อาจารย์หมอทางไทยท่านก็ว่า อาจเกิดจากการติดเชื้อพยาธิ์….ตัวนี้ก็ได้
    ที่น่าหัวร่อคือ ตอนที่ผมนำเสนอผลการศึกษา บรรดาท่านๆที่มีกิ๊กอยู่บ้านนั้นหน้าซีดเป็นไก่ต้ม 555

  • #8 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มีนาคม 2011 เวลา 8:23 (เย็น)

    อ้าว…เข้าใจผิดไปเลย…ตรวจสุขภาพเพื่อประโยชน์เรื่อง HIA เหรออ้าย ถ้าตรวจเพื่อการนี้ละก็ ก็ควรตรวจให้เต็มสตีมนะอ้าย จะเป็นประโยชน์กับชาวบ้านมากกว่า ตรวจตับ ไต หัวใจ ปอด จิตใจ คุณภาพเลือด เม็ดเลือด รวมไปถึงโรคติดเชื้อ นั่นละควรทำให้ครบ แล้วต้องดูไปถึงโอกาสเกิดผลกระทบจากอุตสาหกรรมด้วย ถ้ามีโอกาสเสี่ยงอะไรอีกก็ควรตรวจเพิ่มไว้ เพื่อใช้ประโยชน์เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง

    ตรวจปอดถ้าทำได้ ควรตรวจการทำงานของปอดด้วย (เป่าปอด) ว่าแต่ว่าเอาไปประกอบการทำอุตสาหกรรมอะไรนะอ้าย แค่สวนยางเท่านั้นจริงเหรอ

    วิธีตรวจพยาธิที่ค้างไว้ มีรายละเอียดอยู่ที่นี่ค่ะ http://dpc3.ddc.moph.go.th/in_tranet/gcd/about/HELMINTH/LAB/KATO.HTM

    ส่วนแบบคัดกรองที่ใช้การสัมภาษณ์ด้วย verbral screening ดูได้ที่นี่ค่ะ http://healthcaredata.moph.go.th/NCD/manualscreen.pdf

    แบบคัดกรองด้านจิตใจ อยากได้อะไรไปใช้ก็ไปที่นี่เลย เลือกใส่ตะกร้าเอาเอง http://www.dmh.go.th/


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.14755010604858 sec
Sidebar: 0.014715909957886 sec