ขอแค่รับฟัง ฝึกตัวเองให้รู้จักรับฟัง
หลายวันมานี้ “หนัก”
ไม่ใช่งานหนักต้องแบกต้องหามแต่อย่างใด ไม่ใช่งานหนักที่ต้องเขียนรายงานหามรุ่งหามค่ำแต่ประการใด
แต่ก็ “หนัก”
แม้ว่าบทบาทของตัวเอง จะเป็นคนปลายเหตุ จะเป็นผู้เยียวยา ที่เขาสวมหัวโขนให้เป็น “ฅนฟื้นฟูวิถีชีวิต….Livelihood restoration” แต่ในสายตาในการรับรู้ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของโครงการ บรรดาท่านคงไม่มีกะจิตกะใจมาแยกแยะ ท่านก็คงเหมารวมเป็น “พวกโครงการ” แล้วก็เริ่มต้านด้วยความคิดว่า “หากไม่มีพวก เองข้าก็คงไม่ต้องเสียที่นาที่สวน”
การเข้าหากลุ่มชน “ผู้เสียสละเพื่อโครงการ” ในแต่ละครั้ง แม้ว่าจะกำหนดหัวข้อปรึกษาหารือ เพื่อหาทางออกช่วยพี่น้องที่สูญเสีย นำแผนการประกอบอาชีพ นับสิบทางเลือกไปเสนอ ท่าทีตอบรับแรกสุดจากพี่น้อง คือการปฏิเสธ ด้วยเหตุผลนานาประการ จนเหมือนกับเป็นการตีรวน
เวทีแรกๆ ยอมรับว่า พลุ่งพล่านจนเกือบจัดอยู่ในภาวะแห่งโทสะ พยายามชี้แจงทุกเม็ดจนเสียงแหบแห้ง แบบคาดหวังว่าทุกคนจะเข้าใจในสิ่งที่เราอยากบอก แต่ภาพกลับออกมาคล้ายกับการขัดแย้งโต้เถียง หลายถ้อยคำที่เผลอหลุดออกไปแล้วไปพี่น้องก็ “ของขึ้น” โต้คืนแบบไม่ไว้หน้า”อาจาน”เหมือนกัน
เมื่อคืนกลับมาทบทวน นึกถึงวิชา การจัดการความขัดแย้ง ที่ไปทดลองเรียน (แต่จนแล้วจนรอดก็ขาดส่งรายงานจนฝรั่งเขาตัดออกจากโรงเรียนเขา) นึกถึงพี่บางทรายที่สมัยอยู่ดงหลวง “เพิ่นออกหน้าไปจัดการเรื่องความขัดแย้งอยู่ตลอด” สัญญากับตัวเองว่า ต้องปรับกระบวนวิธี
เริ่มที่ปรับอารมณ์ตัวเอง ให้นิ่ง ให้รู้จักบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ในฐานะ “ฅนฟื้นฟูฯ” งานหนักเป็นเรื่องที่ต้องพร้อมผจญ “หากงานมันง่ายๆ เขาคงไม่จ้างเรามาออกหน้า เขาคงทำกันเองแล้ว”
เริ่มที่ปรับมุมมอง ให้เห็นถึงความเป็นผู้เสียสละของพี่น้องให้มากๆ และให้เห็นใจในสิ่งที่พี่น้องได้รับผลกระทบ
เตรียมพร้อมที่จะรับฟัง ฟัง ฟัง ให้พี่น้องได้พูดในสิ่งที่คับข้องหมองใจ อัดอั้นตันใจ สิ่งที่อยากบ่น อยากเล่า
เวทีประชุมเช้านี้ จึงเริ่มที่ การขออภัย แล้วก็ตามด้วยการแสดงความตั้งใจจริงของเรา จากนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้พี่น้องพูด ๆๆๆ บ่นๆๆๆ ร้องเรียนๆๆๆ ฟังอย่างเดียว ไม่ชี้แจงไม่โต้แย้ง อือออ แสดงการคล้อยตามในสิ่งที่เป็นความจริง
เมื่อหมดคนพูดแล้ว ทำแผนภูมิสรุปข้อร้องเรียน ข้อคิดเห็น ให้ที่ประชุมได้รับรู้ว่า เราสนใจฟังจริง เราได้จดบันทึกไว้จริง
สุดท้ายเวทีก็เปิด เปิดให้ผมและทีมงาน ได้ชวนพี่น้องคิดอ่านหาทางแก้ไข เสียงส่วนใหญ่ได้ให้คามเห็นความต้องการเพื่อช่วยกันทำแผนการทำมาหากิน
โล่งไปอีกหนึ่งเปลาะ แต่ทางข้างหน้ายังหนักหนายิ่งยวด อิอิ
« « Prev : สิ่งละอัน พันละน้อย จากหงสา
Next : วันฮดสรงวัดบ้านแท่นคำ » »
8 ความคิดเห็น
โรคเรียกร้อง ระบาดลุกลามไปทั่ว
ที่คนเรียกร้องอาจเป็นเพราะตัวเองเขารู้สึกทุกข์ และหาทางออกจากทุกข์ไม่ได้… แต่จะหาทางได้อย่างไรในเมื่อไม่เข้าใจทุกข์ครับ
เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วเราก็จะเข้าใจเขา อันที่จริงแล้การพัฒนาที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ชาวบ้านต้องสูญเสีย….นั้นมันก็แสนหดหู่ใจ แล้วทำไมไม่ทดแทนเขาให้มากกว่าที่เขาได้ตลอดชีวิต คือให้ปัจจัยสี่ให้เพียงพอ และหากให้มากกว่าที่เขาหาได้ ความขัดแย้งก็คงไม่มี
โมเดลง่ายๆ สร้างความมั่นคงในชีวิต มีอาชีพ มีงาน มีเงิน มีความเป็นอยู่ดีกว่าเดิม ให้การยกยองและดูแลเขาในฐานะผู้เสียสละเพื่อการพัฒนาประเทศชาติตลอดไป
ถูกต้องแล้วเปลี่ยน ถูกต้องแล้ว ฟังลูกเดียว แสดงความเห็นอกเห็นใจเขา รับฟังโดยไม่มีข้อโต้แย้งแม้แต่นิดเดี่ยว ไม่ต้องอธิบายว่าทางออกคือะไร ฟัง ฟัง ฟัง ฟัง หากเป็นไปได้ เจาะลึกลงไปถึงความรู้สึกสูญเสียของเขา รับรู้ สัมผัสความรู้สึกเขา เข้าไปร่วมความรู้สึกเขา แล้วค่อยๆเริ่มมองหาทางออก เมื่อเขาเย็นลงมาบ้าง โดยการปรึกษาหารือ แต่ข้อจำกัดคือเวลา ไอ้โครงการมันมีเวลาเป็นตัวมัดเหมือนกลไก เป็นเครื่องจักร ต้องทำให้สำเร็จเมื่อนั่นเมื่อนี่ อันนี้คืออุปสรรคสำหรับงานด้านสังคมที่เราเห็นๆกันอยู่
นานมาแล้วที่ขอนแก่นมีการอพยพหมู่บ้านที่ไปอยู่ในเขตป่าออกมา ชาวบ้านบอกว่า เขาอยู่มานานแล้วเป็นชั่วอายุคน แต่วันดีคืนดีป่าไม้ ราชการว่าเขาผิด แล้วก็เอากำลังมารื้อบ้านแบบไม่ถนอมน้ำใจเขาเลย……สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดมันมากกว่าสิ่งที่เห็น นั่นคือ พ่อเฒ่า แม่เฒ่าร้องให้ บอกว่า แล้ว “ผีเรือนแกจะอยู่อย่างไร” มาพังบ้านเขา ซึ่งมีผีเรือนอาศัยอยู่ด้วย และทุกครั้งที่เขาเอนตัวลงนอนเขากราบผีบ้านผีเรือน เมื่อบ้านพังเช่นนี้ ไปขยี้หัวใจเขาเสียสิ้น…
แล้วการต่อต้านที่รุนแรงก็เกิดขึ้นเป็นขบวนการ…..
พี่ก็นึกเรื่องราวการ resettlement ว่าในชุมชนนั้นชาวบ้านเคารพสิ่งเหนือธรรมชาตินี้แค่ไหน และการโยกย้ายนั้นคำนึงเรื่องเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน มีการเข้าไปถอดถอนความเชื่อในเรื่องเหล่านี้กันหรือไม่ มีหรือไม่ อย่างไร…. หากไม่มีก็แล้วไป หากมี ก็ต้องปรึกษาเขาว่าทางออกที่ดีที่สุดควรทำอย่างไรบ้าง การเข้าบ้านใหม่ ควรกำหนดรายละเอียดเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ฝ่ายอื่นๆเขาไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ เขานึกว่าไร้สาระ แต่เราที่สัมผัสชีวิตชาวบ้านนั้นเรารู้ดีว่ามันคือส่วนลึกในใจของเขา
ในสาระเดียวกันนี้ กรณี Potas Udon พี่เสนอเจ้านายว่า พี่จะพยายามขอพบแกนนำฝ่ายต่อต้านเพื่อขอรับฟังอย่างเดียว ไม่อธิบาย ไม่แก้ต่าง ไม่ ไม่ ไม่ จะฟังอย่างเดียวเท่านั้นว่าเขามีความคิดอย่างไร มีข้อเสนออย่างไรบ้าง แล้วเอามารวบรวมเป็นชุดหนึ่งของ การรับฟัง ก่อนจะไปทำ public scoping ที่พี่ขอตัวว่าไม่ทำ
แค่นี้ก็ยากสุดๆแล้ว
ทฤษฎีการรับฟังแบบไม่มีเงื่อนไขนั้นเป็นหลักจิตวิทยามวลชนสาขาหนึ่งที่ใช้ได้ครับ
ขอบคุณพี่คอนครับ “การไม่พาตัวออกจากทุกข์ แล้วจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร” เป็นของจริงแท้ แผนต่อไปจะเข้าไปจับเข่าคุยรายครอบครัว เพื่อเยียวยาเป็นรายๆไปครับ ขาดแต่ เวลา กับฅนช่วยงานครับ ออกรอบเช้าบ่ายดึก อย่างไรก็ไม่ทัน ต้องสร้างฅนให้ได้ก่อน
โมเดล อาม่าสุดยอดครับ ขอบพระคุณครับ อันที่จริงเรามีกรอบคุมอยู่ที่ต้องปฎิบัติตามอย่างรัดกุมเพราะถูกตรวจสอบอย่างใกล้ชิดจากส่วนรัฐ ภาคเอกชน และแหล่งทุน จนเกร็งไปหมดทุกเรื่องครับ
ครับพี่ไพศาล นี่ดีที่ทางเรามีต้นทุนทางความสัมพันเชิงบวกกับชุมชนมาก่อนหน้าครับ การคัดค้านจึงเป็นแบบรอมชอมกันได้บ้าง ด้านพิธีกรรมก็ทำกันครบทั้งของลาว ของลื้อ ของขะมุ ทั้งก่อนการถางที่ ก่อนการสร้างบ้าน แบบบ้านก็หมุนบันไดไปสิบทิศให้ตรงตามฮีตของแต่ละเผ่า
วันเสาร์นี้ มีบุญพะเวท ที่หมู่บ้านใกล้ๆกับที่ชาวบ้านกลุ่มแรก จะย้ายไปอยู่ด้วย ผมเลยถือโอกาสทำต้นกัณน์หลอนพาพี่น้องที่จะย้ายมาอยู่ใหม่เอากัณน์ไปร่วมทำบุญเอาฤกษ์ก่อน แต่อย่างว่าครับงานประเภทนี้ไม่อยู่ในแผนไม่ได้ตั้งงบไว้ อยากทำก็ควักกระเป๋าเอง เป็นซะงั้น
มันสุดแล้วแต่สถานการณ์นะผมว่า บางครั้งต้องฟังลูกเดียว บางครั้งต้องพูดลูกเดียว บางครั้งต้องทั้งฟังทั้งพูด
เวลาผมเป็นประธานที่ประชุมผมมีหน้าที่ฟังเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ทำไมเวลาผมเป็นสมาชิก กรรมดีที่ผมเคยทำไว้มากหลายไม่เคยสนองเลย เจอแต่ประธานที่กดไมค์พูดคนเดียวเป็นต่อยหอย
มอตโตในอดีตที่ผมเป็นประธานคือ ฟังรอบ คิดรวม ทำเร็ว
คิดรวม คือ คิดให้เชื่อมโยงกับทุกๆ ประเด็นที่ฟังมา แล้วสรุปเป็นมติที่ประชุม เพื่อเอาไปทำให้เกิดผลโดยเร็ว
ในช่วงแรกๆ เป็นช่วงระดมความคิดนั้น ต้องฟังลูกเดียว ห้ามพูดเด็ดขาด
ช่วงกลางๆ ฟังบ้างพูดบ้าง เพื่อแลกเปลี่ยน
ช่วงท้ายๆ สรุป ต้องพูดมากครับ เพื่อชี้แจงให้คนทั้งหลายเข้าใจว่าทำไมถึงสรุปเช่นนั้น
แต่เท่าที่เห็นส่วนใหญ่การประชุมของคนไทยเรา มันจะเป็นตรงข้าม ผลออกมาก็..อิอิ
อาว์เปลี่ยนไม่ต้องเรียนวิชาจัดการความขัดแย้งหรอก
ที่อยู่โทนโท่ตรงหน้ามันยิ่งกว่าหลักสูตรไหนๆ
ของจริงเสียงจริงทั้งน๊าานนนนน
ที่แกะปมออกทีละเปลาะๆๆๆนั่นแหละข้อสอบชั้นเยี่ยม
อ่านแล้วอยากไปเที่ยวหงสา
ถ้าไปจะติดต่อกันยังไง ถ้านับแต่ออกจากเวียงจัน
อิอิ และ คิคิ
ท่านจอหงวน ทวิช มีสามขั้นตอนที่ยอดเยี่ยมเห็นด้วยอย่างสุดใจครับ (แม้ว่าเรื่อง พระเจ้าอู่ทอง เรื่องนครวัด…ตามทฤษฎีของท่าน ผมยังต้องหาเหตุผลมาเพิ่มเพื่อให้เห็นด้วยเต็มร้อยครับ สารภาพว่าตั้งแต่ท่านโพสเรื่องพระเจ้าอู่ทองผมก็ไปรื้อพงศาวดารมากองๆไว้ แล้วก็ นั่งอ่านๆๆ จนบัดนี้ยังไม่จบดี อ่านแม้กระทั่งในเวปไซด์ ของ Charles Scott Kimball)แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ผมเริ่มคล้อยตาม ก็คือว่า หากไม่ใช่พระเจ้าอู่ทองท่านเกี่ยวพันกับนครวัดแล้ว ทำไมพอท่านตั้งกรุงอุยธยาได้แล้ว ท่านถึงได้รีบยกไปตีเมืองพระนครวัด ….อ้าว เลยถือโอกาสคุยเรื่องประวัติศาสตร์ไปเสียแล้ว อิ อิ)
ท่านครูบาครับ รออีกหน่อยครับ คราวนี้มาทีเดียวจะได้เจอทั้งท่านบางทราย ทั้งอาวเปลี่ยน อยู่ใกล้ๆกันนี่แหละครับ
ไปนำ