๔๙.พลังวัฒนธรรม บ้าน วัด มัสยิด โรงเรียน

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 3 กันยายน 2008 เวลา 8:25 ในหมวดหมู่ เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 8315

          เมื่อวันที่ ๒๙ – ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ เราได้เดินทางสายที่ ๑ ไปยังปัตตานี สายที่ ๒ ไปที่นราธิวาส แล้วไปรวมกันที่ยะลา เพื่อร่วมงานมหกรรมสันติวิธีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เราปัดเวทีร่วมเสวนาในหัวข้อดังกล่าว โดยมีพระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท(ถาวรบรรจบ) นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง รศ.เสาวนีย์ จิตต์หมวด และนายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ โดยมี พลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ เป็นผู้ดำเนินรายการ
          ในช่วงแรกๆมีปัญหาเกี่ยวกับระบบเสียงตอนที่ รศ.เสาวนีย์ ฯ และอัฮหมัดสมบูรณ์ บรรยายนั้น เนื่องจากลำโพงดังอยู่ข้างเดียว และข้างที่ผมนั่นนั่นแหละที่มันไม่ดัง ก็เลยมีปัญหากับการจับใจความ เพราะห้องเสวนาต่างๆอยู่ใกล้กัน เสียงดังจ้อกแจ้กจอแจเลยดังรบกวนสมาธิ แต่จับใจความได้ว่า รศ.เสาวนีย์ ได้นำเสนอถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว และว่าสายใยรักแห่งครอบครัวนั้น เริ่มจากสายสะดือ ที่เป็นที่ส่งอาหารให้แก่ร่างกาย  สายใจ เป็นที่ให้ความรัก และสายจิตให้คุณธรรม แก่ลูก ผมประทับใจมาก ท่านพูดถึงความสำคัญของแม่และพ่อในการให้ความอบอุ่นแก่ลูก ปลูกฝังคุณธรรมที่ดีงาม สั่งสอนในสิ่งดีๆให้กับลูก  ซึ่งจะทำให้เด็กรู้ผิดชอบชั่วดี และท่านพูดถึงว่าการอบรมสั่งสอนให้เด็กเป็นคนดีต้องร่วมกันทั้ง บ้าน โรงเรียนและมัสยิด หรือที่เรียกว่า บรม ถ้าเป็นพุทธก็จะเป็น บ้าน วัด และโรงเรียน หรือที่เรียกว่า บวร
          อัฮหมัดสมบูรณ์ ก็เสียสมาธิไม่น้อยเมื่อมีเสียงดังรบกวนการพูด ผมก็เสียสมาธิกับเสียงดังรอบด้านเหมือนกัน จับใจความยากมาก..อิอิ ท่านได้ฉายภาพให้เราดูมัสยิดที่ต่างๆและพูดถึงความสำคัญของมัสยิดว่า มัสยิดในอดีตมาจนถึงปัจจุบันมีสถานภาพเหมือนกันนับพันปีมาแล้ว มัสยิดเป็นสถานที่สำคัญสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลาม อยู่ที่ไหนก็อยู่ที่นั่นจะย้ายไปอยู่ที่ไหนไม่ได้ มีผู้ว่าราชการแห่งหนึ่งพูดว่าย้ายมัสยิดมาอยู่ที่นั่นที่นี่ได้ไหม การพูดอย่างนี้ก็คือการไม่ได้เข้าใจศาสนา มัสยิดนั้นไม่มีใครสามารถอ้างได้ว่าเป็นเจ้าของเพราะมัสยิดไม่เป็นของใคร แต่เป็นของพระเจ้า เว้นแต่มัสยิด ๓ แห่ง(ซึ่งอยู่ในต่างประเทศ) ท่านพูดชื่อมัสยิดเป็นภาษาอิสลามที่ผมจับชื่อไม่ได้ แต่จับใจความได้ว่ามัสยิดแห่งที่สามอยู่ในความดูแลจัดการของอิสราเอล ใครเข้าไปทำละหมาดที่สามมัสยิดดังกล่าวจะได้บุญมาก

          มัสยิดมีความสำคัญอย่างยิ่งของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ท่านอธิบายว่าหัวหน้าของมัสยิดเรียกว่า “อิหม่าม” ใครจะมาเป็นอิหม่ามไม่ใช่จะได้มาง่ายๆโดยการสมัคร หรือจากการเลือกตั้ง ไม่ต้องการเสียงข้างมาก แต่เป็นเรื่องของความศรัทธาสรรหาต่อผู้ที่จะมาเป็นโต๊ะอิหม่าม มัสยิดเป็นศูนย์กลางของการบริหารการเมือง การปกครอง ที่ประกอบศาสนกิจ สอนให้เป็นคนดีมีชีวิตอยู่อย่างสันติ เป็นที่ถูกคุ้มครองทั้งส่วนบุคคล ส่วนรวม กฎหมายบ้านเมืองและกฎหมายนานาชาติ มัสยิดมีภาระกิจ  ๔ ประการ คือ เป็นสภาประชาชน  เป็นศูนย์วัฒนธรรม เป็นศูนย์กลางการปกครอง เป็นเป็นศาลสถิตย์ยุติธรรม แต่ของไทยมาเปลี่ยนแปลงโดยมีกำนันผู้ใหญ่บ้าน ดังนั้นพอมีเหตุขึ้นมาก็มีการโยนความรับผิดชอบไปให้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มัสยิดจึงไม่ได้ทำหน้าที่ของตนตามภาระกิจดั้งเดิมที่แท้จริง

          มัสยิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จดทะเบียนจำนวน ๑,๖๒๓ มัสยิด ที่อยู่ในหมู่บ้านเป็นมัสยิดเล็กๆซึ่งไม่ได้จดทะเบียน อีก ๓,๐๐๐ กว่าแห่ง ถ้าจะหาทางออกให้สังคมมุสลิมและสังคมไทย ก็ควรจะใช้มัสยิดเป็นพลังในการหาทางออก มัสยิดแต่ละแห่งแต่ละแห่งมีผู้บริหารรวม ๑๕ คน ทุกมัสยิดจะมีโต๊ะอิหม่าม ๑ คน มีคอเตบบิลาน อีก ๒ คน ที่เหลือเป็นกรรมการ ๑๒ คน ซึ่งล้วนแล้วเป็นบุคคลที่ชุมชนให้ความเคารพนับถือแต่เขาเหล่านี้ไม่ถูกใช้ประโยชน์เลย ดังนั้นถ้าหากภาครัฐจะแก้ปัญหาภาคใต้ต้องให้ความสำคัญกับคนเหล่านี้

         มีมัสยิดก็ต้องมีโรงเรียนควบคู่กันไปสอนภาษามลายูเพื่อใช้ในการเรียนรู้ศาสนา เมื่อคนภาคใต้ขอใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการ ถูกตีกลับทันทีว่าต้องใช้ภาษาไทย แต่รัฐบาลไม่คิดว่าชาวบ้านเขาใช้ภาษามลายูในการติดต่อสื่อสาร ไม่เพียงแต่คนไทยด้วยกันแต่ติดต่อไปทั่วโลก อย่าลืมว่าทั่วโลกมีมุสลิมอยู่มากมาย 
 

         ถึงคราวหลวงพี่ติ๊กบรรยายบ้าง ท่านกล่าวชมหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข ที่จัดรายการดีๆอย่างนี้ หลักสูตรพวกเราใช้ชื่อย่อว่า สสสส ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็เทียบด้วยตัว S ขอบอกว่า โฟร์เอสสร้างสรรค์งานดีมีคุณภาพอีกแล้วครับท่าน เล่นเอาน้องนักศึกษาที่เป็นมุสลิมโพกศีรษะมานั่งฟังอยู่หัวเราะแทบตกเก้าอี้…อิอิ

          ท่านบอกว่าเตรียม powerpoint มาแต่ไม่มีเครื่องฉายก็เลยขอใช้ powerพระ ก่อนแล้วกัน ฮา…หลวงพี่พูดถึงบรม และบวร เอามารวมกันเป็นบรมบวร แปลได้ดังนี้ บรม แปลว่าอย่างยิ่ง บวร แปลว่าประเสริฐ เมื่อเอามารวมกันจึงแปลว่าประเสริฐอย่างยิ่ง (ความจริงผมรวมเป็น บรวม…อิอิ) แต่มันจะประเสริฐได้มันจะต้องประสานกันก่อน ถ้าประสานบ้านวัดมัสยิดหรือรวมวัดเข้าไปด้วยได้ สังคมก็จะอยู่อย่างสันติ แต่บางครั้งการที่จะสอนคนก็ต้องใช้ความเมตตา สอนด้วยความอ่อนโยนเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง หลวงพี่จึงเล่านิทานให้ฟังว่า

          ที่วัดแห่งหนึ่งมีเจ้าอาวาส กับเจ้าจุกศิษย์วัดตัวกะเปี๊ยก ที่วัดจะมีญาติโยมมาทำบุญอยู่บ่อย คุณนายลิ้นจี่ก็เป็นคนหนึ่งที่เอาของมาถวายเจ้าอาวาสเป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่งหลวงพ่อเจ้าอาวาสออกไปธุระ คุณนายลิ้นจี่เอาผ้าไตรมาถวายไม่เจอกันก็ฝากเจ้าจุกไว้ พอหลวงกลับมาถามว่ามีใครมาบ้าง เจ้าจุกก็รายงานว่ามีคุณนายลิ้นจี่มา หลวงพ่อก็ถามว่าแล้วโยมเอาอะไรมาบ้างล่ะ เจ้าจุกก็ตอบว่าผ้าไตร แล้วก็นั่งเฉย

          หลวงพ่อเห็นเจ้าจุกทำเฉยก็พูดขึ้นว่าก็ประเคนสิ  แล้วมองหน้าเจ้าจุก แล้วมองผ้าไตร เจ้าจุกก็งง มองหน้าหลวงพ่อแล้วก็มองผ้าไตร ไม่เข้าใจ หลวงพ่อก็เลยเดินไปหยิบผ้าไตรแล้วฟาดไปที่หัวเจ้าจุกเบา แล้วพูดว่านี่ประเคน นี่ประเคน แล้วกราบสามครั้งด้วย เจ้าจุกกราบสามครั้งแล้วก็นึกในใจว่า อ๋อ..ประเคนเขาทำอย่างนี้นี่เอง
          วันรุ่งขึ้นก็ให้บังเอิญว่าเจ้าอาวาสมีธุระต้องออกไปนอกวัดอีก และก็บังเอิญอีกที่คุณนายลิ้นจี่เอาทุเรียนมาถวาย ก็ฝากเจ้าจุกไว้เหมือนเดิม พอเจ้าอาวาสกลับมาจากทำกิจธุระก็ถามเจ้าจุกว่า วันนี้มีใครมาหาบ้าง เจ้าจุกก็ตอบว่าคุณนายลิ้นจี่ครับ เจ้าอาวาสก็ถามว่าแล้วคราวนี้เอาอะไรมาล่ะ เจ้าจุกก็ตอบว่าทุเรียน เจ้าอาวาสก็ไม่ได้นึกอะไร นั่งขัดตะหมาด(ขัดสมาธิ)แล้วก็เอ่ยขึ้นว่า เอา..มาประเคน
           เจ้าจุกหิ้วที่ก้านทุเรียนและมืออีกข้างประคองอีกด้านหนึ่งเดินเข้าไป..เดินเข้าไป..ยกทุเรียนขึ้น…ประเคนไปบนศีรษะหลวงพ่อ แล้วก็บรรจงกราบ ๓ ครั้ง เงยหน้าขึ้นมา…
 

          หลวงพ่อชักตาตั้งพร้อมกับเลือดไหลเป็นทาง ฮา…….
 

          นิทานเรื่องนี้จะสอนว่าอย่างไรต้องติดตามตอนต่อไป…เดี๋ยวจะนำมาประเคนให้…ฮา…

 

« « Prev : ๔๘.บทสรุปจากการลงพื้นที่จริง

Next : ๕๐.พลังวัฒนธรรม บ้าน มัสยิด วัด โรงเรียน(๒) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1481 ความคิดเห็น