๔๘.บทสรุปจากการลงพื้นที่จริง

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 27 สิงหาคม 2008 เวลา 9:18 ในหมวดหมู่ เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 4272

          มาถึงบทสรุป จากการที่ได้ไปดูงานที่ระยอง ในการพบตัวแทนของทุกฝ่าย แม้จะไม่ได้ทำวิจัยกันอย่างจริงจังเนื่องจากจำกัดด้วยเวลา แต่ข้อมูลที่เราได้เป็นข้อมูลจริงและตรง จึงพอจะบ่งบอกบางสิ่งบางอย่างได้ค่อนข้างจะชัดเจนพอสมควรและสรุปได้ดังนี้
          ๑.กลุ่มชาวบ้านที่เราไปพบ ทุกคนที่เราได้พูดคุยด้วย ต่างยอมรับว่าทราบดีว่าจะให้เลิกโรงงานอุตสาหกรรมไปเลยเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เขาต้องการก็คือขอให้โรงงานมีความรับผิดชอบ มีมาตรการดูแลอย่างจริงจัง มีการบังคับใช้กฎหมาย มีการแก้ไขปัญหาอย่างทันทีทันใดเมื่อเกิดเหตุการแพร่กระจายของมลพิษ ขอให้หยุดขยายโรงงานก่อนจนกว่าจะได้มีการจัดการแก้ไขปัญหาที่แล้วมา ภาครัฐและผู้ประกอบการต้องมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา แเวลาตรวจสอบการปล่อยมลพิษและอ้างว่ามีการแก้ไขแล้วขอให้ชาวบ้านได้รับรู้ด้วยว่าแก้ไขอย่างไร โรงงานจะต้องปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น รวมทั้งภาครัฐต้องใส่ใจการตรวจสอบเครื่องมืออุปกรณ์ที่ไปวัดค่ามาตรฐานต่างๆว่าได้มาตรฐานจริงหรือไม่

         ชาวบ้านไม่เคยรับรู้ว่าสิทธิของตนมีเพียงใด และเรียกร้องไม่เป็น  และชาวบ้านไม่กล้าเรียกร้องมากเนื่องจากเคยถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือในการเรียกร้องต่อต้าน แต่แล้วแกนนำไปรับเงินมาจากผู้ประกอบการเป็นประโยชน์ส่วนตน  ประกอบกับชาวบ้านยังรู้สึกว่ามีสารสะสมอยู่ในร่างกาย สิ่งแวดล้อมทางกลิ่น เสียงและทางเดินหายใจ ไม่ดีขึ้นและมีการป่วยเจ็บมากขึ้น จึงทำให้ยังรู้สึกว่าปัญหาของพวกตนยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง  กับทั้งชาวบ้านยังรู้สึกมีปัญหากับความเจริญที่เข้ามาแล้วทำให้ทรัพย์สินถูกขโมยบ่อย ชาวบ้านจึงไม่ค่อยเชื่อถือภาครัฐ ต้องการให้รัฐยุตินโยบายการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในระยองและให้โอกาสแก่ชุมชนในการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ
          ๒.กลุ่ม NGO เป็นห่วงสุขภาพของคนระยอง ต้องการให้โรงงานหยุดการปล่อยสารพิษ หยุดขยายโรงงานอุตสาหกรรม ต้องการให้มีการแก้ไขปัญหามลพิษโดยลดและกำจัดมลพิษ แต่ต้องเป็นการหยุดสร้างหรือขยายโรงงานเพิ่มอย่างเดียว เพราะเห็นผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมว่าไปเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ชาวบ้านได้รับความเสียหายอย่างไร เช่น ทำให้หาดทรายชาวยฝั่งถูกคลื่นซัดหายไปประมาณ ๑๕ เมตร ต้องแก้ปัญหาโดยการสร้างเขื่อน แต่มันก็ไม่สามารถทำให้หาดสวยเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว, เงินกองทุนที่ได้มาจากภาคอุตสาหกรรมและบริหารโดยผู้ว่าราชการจังหวัดในอดีตมิได้ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่การรักษาสุขภาพให้คนระยอง กลับเอาไปศึกษาดูงานต่างประเทศและพยุงราคาสินค้าเกษตร จากเงินกองทุนที่มีถึง ๓๑ ล้าน แต่ถูกใช้จ่ายเหลือเพียง ๔ ล้านบาท

          ๓.กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม ยืนยันว่าโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมไม่ได้ปล่อยสารพิษเกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่ที่มีปัญหาคือโรงงานนอกนิคมอุตสาหกรรม

          ๔.กลุ่มภาครัฐ มองว่าทุกวันนี้การแก้ไขปัญหาก็ทำอยู่แล้ว มีการบูรณาการการแก้ปัญหาอยู่แล้ว ข้อมูลสถิติที่ได้จากชาวบ้านเป็นเรื่องของความรู้สึกไม่ใช่ข้อมูลสถิติจริงของ การเจ็บป่วยของคนระยอง ตัวเลขที่เอามาคิดไม่ได้รวมตัวเลขประชากรแฝงซึ่งมีมากเกือบ ๒๐๐ % ทำให้ค่าผิดเพี้ยน เพราะในความเป็นจริงข้อมูลสถิติไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานแต่อย่างใด

           หากเมืองอุตสาหกรรมน่าอยู่ หมายถึง เมืองที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างดี ดูแลจัดการปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนได้ดี สามารถจัดการระบบสาธารณูปโภคให้ประชาชนได้รับอย่างทั่วถึง  และเมื่อพิจารณาจากท่าทีของชุมชนของชาวระยองที่ไม่ได้มองภาคอุตสาหกรรมเลวร้ายไปทั้งหมด แต่กลับมองภาคอุตสาหกรรมด้วยความเข้าใจว่าต้องมีการลงทุนจำนวนสูงมาก

           สิ่งที่ประชาชนร้องขอจากภาครัฐให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา การบังคับใช้กฎหมายได้ใช้อย่างเข้มแข็งและไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เข้าใจวิถีชีวิตของชุมชน ไม่ยัดเยียดในสิ่งที่ชุมชนมิได้ต้องการ  สิ่งที่ชุมชนร้องขอจากภาคอุตสาหกรรมคือความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมในทุกด้าน โดยการเอาใจใส่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหลัก เราจะเห็นได้ว่าหากมีการแก้ไขปัญหาให้ตรงกับความต้องการของชุมชน เราสามารถจะทำให้เมืองอุตสาหกรรมยั่งยืนได้ โดยทำให้การอยู่ร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนสามารถอยู่ร่วมกัน เอื้อความสะดวกให้กันและกัน จึงเห็นว่าการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของชุมชนกับโรงงานอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ สิ่งที่ต้องทำคือ
          ๑.การบังคับใช้กฎหมายต้องจริงจัง ตรวจสอบพบโรงงานใดปล่อยมลพิษต้องดำเนินการอย่างเฉียบขาด และนอกจากดำเนินคดีอาญาแล้ว ในทางแพ่งก็ต้องเรียกร้องค่าเสียหายให้ชดใช้ค่าเสียหายไม่ลูบหน้าปะจมูก  และต้องให้รับผิดชอบค่าบำบัดฟื้นฟูสภาพแวดล้อมด้วย หากภาครัฐของระยองจะทำความเข้าใจกับการบังคับใช้กฎหมาย พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ และ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ และการกำหนดค่าเสียหายต้องมีเจ้าภาพในการกำหนดให้ชัดเจน ถ้ายังมีปัญหาไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้กำหนดอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในจังหวัดระยองขณะนี้ ก็ยากที่ประชาชนจะให้ความเชื่อถือภาครัฐ

          ๒.มีการวางแผนบูรณาการอย่างจริงจัง เพราะทราบข้อมูลจากผู้ว่าราชการจังหวัดว่าหน่วยงานภาครัฐเองเกิดความสับสนว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเพราะมันเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เช่น มีการปล่อยสารพิษมาจากโรงงาน ซึ่งไม่แน่ว่าจากโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมหรือไม่ หน่วยงานที่ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าภาพคือ สาธารณสุขจังหวัด หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรืออุตสาหกรรมจังหวัด เมื่อไม่มีความชัดเจน การแก้ไขปัญหาจึงไม่เป็นระบบ ไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที

          ๓.มีแผนแก้ไขป้องกันภัยพิบัติ น่าแปลกที่ไม่มีหน่วยงานใดที่แสดงว่าทราบว่าที่จังหวัดระยองมีแผนฟ้องกันภัยพิบัติ

          ๔.โรงงานมีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) อย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นภาคอุตสาหกรรมใช้คำ CSR เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ตัวเอง ใช้เงินเป็นตัวแสดงว่าภาคอุตสาหกรรมได้มีความรับผิดชอบโดยให้ทุนการศึกษา ให้เงินสนับสนุนกิจกรรมของชุมชน แต่หากโรงงานมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริง ไม่ปล่อยมลพิษทางอากาศ ไม่ปล่อยน้ำเสีย หรือกากของเสีย สารเคมี ซึ่งเป็นสำนึกที่ควรจะมีต่อสังคมอย่างแท้จริง ก็จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมกับชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

        ๕.ข้าราชการต้องมีจิตสำนึกในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนอย่างแท้จริง สิ่งที่ประชาชนเรียกร้องต้องได้รับการดูแลทันที ตราบใดที่ข้าราชการแสดงความเข้าใจความรู้สึกชาวบ้าน ไม่รู้สึกรำคาญกับข้อมูลที่ได้มา ร่วมตรวจสอบและชี้แจงชาวบ้านด้วยความจริงใจ ความพึงพอใจก็จะเกิดขึ้น 

          ๖.รัฐต้องเอื้อให้มีการจัดเก็บภาษีเพื่อให้เป็นรายได้ของท้องถิ่นมากขึ้น เช่น ผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองจะต้องเสียภาษีให้กับท้องถิ่นตามอัตราที่กำหนด เพื่อให้มีรายได้ตกอยู่กับท้องถิ่นและนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น

         ๗.ทิศทางการศึกษาของเมืองระยองต้องสอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อผลิตแรงงานฝีมือป้อนภาคอุตสาหกรรมและสร้างจิตสำนึกของคนระยองให้รักท้องถิ่น ไม่ทิ้งถิ่นไปทำงานที่อื่น เพราะยิ่งมีคนท้องถิ่นทำงานมากเท่าไรก็จะส่งผลให้เขารู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับท้องถิ่น และเขาน่าจะเอาใจใส่กับผลกระทบที่จะเกิดกับตัวเขาและครอบครัวมากขึ้น

          ๘.นโยบายของรัฐในการจะเน้นความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ จะให้พื้นที่ใดเป็นภาคอุตสาหกรรม ต้องให้ประชาชนได้รับรู้สิทธิของเขา และต้องเคารพสิทธิของชุมชนด้วย

          ๙.มีการบริหารจัดการที่ดี มีการเก็บข้อมูลสถิติสาธารณสุขในเชิงรุก สามารถตรวจสอบเฝ้าระวังโรคได้ สามารถจำแนกผู้ป่วยที่เป็นคนในพื้นที่และผู้ป่วยที่มาจากที่อื่นแต่เข้ามาทำงานในจังหวัดระยอง
 

          สิ่งเหล่านี้ สามารถทำให้ระยองเป็นเมืองอุตสาหกรรมยั่งยืนได้ หากมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และทุกฝ่ายมีความจริงใจในการแก้ปัญหา
          แต่ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลจะมีนโยบายให้ภาคตะวันออกเป็นภาคอุตสาหกรรม และทราบดีว่าเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง แต่ภาครัฐหาได้ให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับวิถีชุมชนให้มากพอ แต่ภาครัฐกลับมุ่งแต่จะสร้างความเจริญเติบโตในด้านเศรษฐกิจ เน้นทุนนิยมเป็นหลักเพราะเห็นว่ามูลค่าของรายได้ทางเศรษฐกิจ เมื่อแลกกับความเป็นอยู่และสุขภาพของชุมชนอันน้อยนิดแล้ว เห็นว่าคุ้มกัน  ที่สุดแล้ว หากชุมชนอยู่ไม่ได้ มีแต่ผู้ป่วยจากมลภาวะที่ได้รับจากโรงงานอุตสาหกรรม ภาครัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณมาเพื่อรักษาสุขภาพของคนในประเทศ มันจะคุ้มกันหรือ…..

« « Prev : ๔๗.ลงพื้นที่จริง๑๑(พบภาครัฐ๔)

Next : ๔๙.พลังวัฒนธรรม บ้าน วัด มัสยิด โรงเรียน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

576 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 1.6009018421173 sec
Sidebar: 0.089192152023315 sec