๔๗.ลงพื้นที่จริง๑๑(พบภาครัฐ๔)

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 25 สิงหาคม 2008 เวลา 13:18 ในหมวดหมู่ เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 5686

          เรามาต่อกันที่คุณอมรา พวงชมภู พี่อำของเรา ซึ่งพูดสรปได้ข้อคิดที่ดีมาก โดยที่ไม่ได้อำภาคราชการแต่อย่างใด…อิอิ  
          พี่อำบอกว่า อยากให้ภาครัฐเน้นให้โรงงานทำ CSR อย่างแท้จริง ไม่ใช่ CSR เทียม แค่ให้ทุนการศึกษา อยากให้ข้อสังเกตว่า มันไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งที่เพิ่งเกิดขึ้นจากกลุ่มเหล่านี้ แต่ดีใจที่ได้มาคุยกัน เพราะเรื่องอุตสาหกรรมมันเป็นเรื่องระดับโลก ที่ทั่วโลกเปลี่ยนจากภาคเกษตรมาเป็นภาคอุตสาหกรรม มันเป็นวิวัฒนาการระดับโลก ภาพของระยองวันนี้ ย่อยมาเป็นระดับท้องถิ่น  เราจะเป็นภาคอุตสาหกรรมเราสู้ระดับโรงงานข้ามชาติไม่ได้ เพราะความเข้มแข็งของเขาสูงมาก และภาพของระยองเป็นภาพที่ทำให้เห็นว่าความชัดเจนของบั้นปลายของการพัฒนาสังคมไปสู่ภาคอุตสาหกรรม

          ปัญหาที่พูดกันก็พูดกันมากในโลกของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งชัดมากที่ระยอง ไม่ต้องแปลกใจที่กระแสทุนนิยมมีพลัง เหมือนอย่างที่ท่านบอกมาคือข้างบนสั่งลงมาเราเป็นตัวเล็กตัวน้อยต้องทำตามไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะเป็นนโยบาย ทำให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังเคลื่อนประเทศไปสู่อุตสาหกรรม แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงเห็นว่าระบบทุนนิยมว่าอันตรายและร้ายแรงมาก ไม่มีใครตระหนักเรื่องเหล่านี้ดีกว่าคนระยอง ที่เห็นว่าอุตสาหกรรมคืออะไร เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องเหนี่ยวและต่อสู้กับระบบทุนนิยมได้  ทำอย่างไรที่ภาคราชการจึงจะเข้าใจว่า CSR ที่โรงงานอุตสาหกรรมทำนั้นเป็นของเทียมไม่ได้แก้ปัญหามลภาวะ ไม่ได้แก้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระยองไม่ได้รับการเยียวยาไม่ว่าทางน้ำทางอากาศ CSR เทียมถูกนำมาใช้มากมายในกิจกรรมต่างๆ  ต้องใช้ความสำนึกในความรับผิดชอบของแผ่นดิน ความรักแผ่นดิน ตอบแทนแผ่นดิน คนไทยเรียกว่ากตัญญู ของผู้ประกอบการต้องเน้นก่อน CSR เสียอีก  น่าเห็นใจว่าคนไทยขัดแย้งกันเองทั้งๆที่ต่างชาติเป็นคนเอาปัญหามาใส่ให้เรามากกว่า ชาวบ้านอ่อนล้าในการต่อสู้เรียกร้องจนเราสงสาร หวังอย่างเดียวว่าภาคราชการจะเป็นกำลังให้เขา แต่ทำอย่างไรภาคราชการจึงจะรู้บทบาทของตัวเองว่ามีค่าต่อราษฎร ทำอย่างไรเราจะจับมือกันเพื่อช่วยรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน.
           หลวงพี่ติ๊ก: ในมุมประเด็นผู้ป่วยเราเก็บสถิติแล้วแยกเลยได้หรือไม่ว่าผู้ป่วยที่เป็นคนพื้นที่จริงในทะเบียนราษฎร์มีเท่าไหร่เพื่อให้เห็นภาพว่าผู้ป่วยในพื้นที่มีผู้ป่วยโรคมะเร็งมากกว่าผู้ป่วยในพื้นที่ธรรมดาหรือไม่ หรือในพื้นที่ระยองที่มีโรงงานอุตสาหกรรมกับพื้นที่อื่นที่มีสภาพแวดล้อมธรรมดามีความแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร  ประเด็นในแง่สถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติเริ่มการเก็บข้อมูลเชิงบูรณาการ ในระดับจังหวัดได้ทำบ้างหรือยัง เพื่อให้มีคำตอบไปใช้ในการแก้ปัญหาสุขภาพและสังคม  อีกประเด็นหนึ่งที่มีการกำหนดค่ามาตรฐานที่กำหนดในการควบคุมมลพิษได้มีการเก็บข้อมูลในระยะยาวหรือไม่ว่าค่าที่กำหนดไว้มนุษย์ทนได้ในระยะสั้นหรือระยะยาว ถ้าชาวบ้านเขาอยู่กับพื้นที่นานเป็นสิบปีจะมีผลต่อเขาหรือไม่อย่างไร …ปัญหาการบูรณาการเรื่องเกิดขึ้นแล้วผู้ว่าฯยังแคลงใจไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าภาพ ขอบิณฑบาตว่าไม่ต้องรอเจ้าภาพได้หรือไม่ ใครควรจะเป็นคนกำหนดว่าเมื่อเกิดเหตุขึ้นมาใครมีหน้าที่ทำอะไรจัดการอย่างไรโดยหน่วยงานไหน การบริหารภาครัฐยุคใหม่ควรจะต้องพ้นเรื่องรอนโยบายอย่างเดียวแล้ว
           ตอบ การเก็บสถิติข้อมูลฐานข้อมูลต้องใช้ของส่วนกลาง แต่ลงมาเป็นระดับอำเภอ ไม่ได้ลงไปถึงระดับตำบล เช่น มาบตาพุด ๕ ตำบลโดยรอบ ไม่ใช่กระจัดกระจายไปทั่ว  แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อ ๕ ตำบลเท่านั้นเพราะยังมีคนจากตำบลอื่นมาทำงานที่นี่ด้วย การเอาข้อมูลรายวันมาทำงานในเชิงหาคำตอบมันจะไม่ตรงนัก
           หลวงพี่ติ๊ก : ในระบบสารสนเทศ เราจะออกแบบให้ฐานข้อมูลมันรองรับในการแก้ปัญหา เช่น จำแนกได้ว่าเป็นประชาชนอยู่ในพื้นที่หรือไม่ เกิดปัญหาสุขภาพอย่างนี้ ทำเป็นรายงานพื้นที่ แต่ไม่ทราบว่าจะทำได้ไหม เพราะภาคธุรกิจเขาทำได้
            ตอบ ในทางหลักการมันทำได้ แต่ระบบที่ใช้ปัจจุบันไม่ได้ออกแบบเพื่อการนั้น ต้องทำสองอย่างพร้อมกัน ตัวอย่างที่ได้พยายามสร้างเพื่อบอกสภาพปัญหาแบบคร่าวๆ ให้สถานีอนามัยทำสถิติข้อมูลโรคผิวหนังว่าแต่ละสัปดาห์มีกี่ราย ย้อนหลังไปสามปีที่แล้ว สัปดาห์นี้ในเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ย้อนไปสามปีที่แล้วเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อใช้หลักการคิดว่าสถานีอนามัยเป็นสถานที่ตรวจสุขภาพ เหมือนสถานีตรวจอกาศ ในกทม.วันนี้อากาศดีขึ้นป้ายสีเขียว อากาศไม่ดีเป็นป้ายสีแดง  เราตรวจแล้วพบว่าในปีนี้ยังไม่เกินค่าของสามปีที่แล้ว เราเลือกสถานีอนามัยที่ได้รับผลกระทบ ไม่ได้ทำทุกสถานีอนามัย กำลังทำอยู่หลายเรื่อง
           ในเรื่องค่ามาตรฐาน หลักคิดก็คือว่ามีสองค่า ค่าเฉลี่ยรายปีประกาศแล้ว ใช้ของต่างประเทศ  และค่าเฉลี่ย ๒๔ ชั่วโมงซึ่งยังไม่ประกาศ  ค่าเฉลี่ยรายปีกว่าจะรู้ว่าเกินมาตรฐานหรือไม่ก็ต้องใช้เวลา ๑ ปี ค่าที่ประกาศแล้วถ้าสูดสารพิษตลอดปี ๑๐๐,๐๐๐ คน จะมีคนเป็นโรคมะเร็ง  ๑ คนเป็นค่ามาตรฐาน ส่วนในค่า ๒๔ ชั่วโมงจะคิดอยู่ที่ ๑,๐๐๐ เท่าของคนงานในโรงงานที่ป่วย เราพูดกันว่าเกินค่ามาตรฐานแต่ไม่รู้ว่าค่ามาตรฐานคือเท่าไหร่คนก็กลัวกันและจะได้รู้ที่มาของค่ามาตรฐาน
           ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้พูดถึงสถิติข้อมูล สิ่งแวดล้อม ปัญหามลพิษ ปี ๒๕๔๙ สูง เมื่อมีมาตรการจริงจังและจริงใจก็เริ่มลดลง ในเรื่องอากาศมันจะมีผลระยะยาว มันเคลื่อนไหวไม่ได้ไม่เหมือนขยะและน้ำเสีย  จากตัวอย่างในเรื่องแม่เมาะความวิตกกังวลของชาวบ้านจะสูง โรงงานจะต้อง declare ว่าโรงงานมีสารเคมีอะไรบ้าง ต้องทำคู่มือในการแก้ไขสารเคมี ดูแลพื้นที่ บ้านเรือน ตัวเองอย่างไร ต้อง declare ให้สถานพยาบาลรู้ด้วยว่าโรงงานมีสารเคมีอะไรบ้าง ไม่เช่นนั้นโรงงานต้องเสียเวลาในการค้นหาว่าอาการอย่างนี้เกิดจากสารพิษอะไรบ้าง  มีกรณีตัวอย่างคนไข้สลบไปโรงพยาบาล พยาบาลเอาแอมโมเนียให้ดม คนไข้สะดุ้งเพราะกลิ่นที่แหละที่ทำให้เขาเป็นลม ศูนย์ข้อมูลเหล่านี้ของจังหวัดต้องมี และเชื่อมเครือข่ายให้ได้    และในการการเฝ้าระวังในเชิงรุก ได้จัดจ้างทำดัชนีชี้วัดในเรื่องสิ่งแวดล้อม ขยะ น้ำเสีย มลพิษในอากาศ ต้องมีการบริหารความเสี่ยงทั้งระบบ  ในเรื่องน้ำข้อมูลปี ๔๙ มีปัญหาวิกฤต พอมาปี ๕๐ เริ่มลดลง พอปี ๕๑ เริ่มมากขึ้น การเข้าถึงข้อมูลเรื่องทรัพยากรที่จะนำไปใช้ มีแหล่งน้ำจริงแต่จะเอาไปใช้ไม่ได้ และเข้าถึงและบูรณาการจริง มิเช่นนั้นปัญหาก็จะมีเพราะทุกวันนี้น้ำไหลบ้างไม่ไหลบ้าง
            ท่านยังบอกว่า คณะอนุกรรมการจังหวัดมีแล้ว แต่ยังไม่มีการประชุม แต่ควรจะกำหนดอำนาจหน้าที่และควรกำหนดหน้าที่ในการชดใช้ค่าเสียหาย ความรู้สึกความสูญเสียของประชาชน ในเรื่องการสูญเสียโอกาส ในอำนาจหน้าที่น่าจะมีตรงนี้ด้วย คือ BPP การกำหนดมาตรฐานต้องมีในส่วน EIA ในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว HIA อย่างเดียว แต่เราต้องทำเรื่อง SIA(Social Impact Assessment) กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดว่า การดำเนินการอะไรที่กระทบประชาชน ถ้าท้องถิ่นไม่เห็นด้วยก็จะทำไม่ได้  ท้องถิ่นต้องมีความสำคัญ ท้องถิ่นยังใช้บทบาทและอำนาจหน้าที่ไม่เต็มที่  นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องผังเมืองเฉพาะ ถ้าส่วนกลางกำหนดเป็นนโยบายของประเทศว่า พื้นที่ไหนมีความเสี่ยงให้กำหนดเป็นผังเมืองเฉพาะในการจัดการได้ ต้องกำหนดเลย ถ้าใครแย้งแล้วไม่ได้จะแก้ปัญหาได้อย่างไร   เพราะผังเมืองเฉพาะจะมีผลกระทบในการจัดการทั้งระบบ เรื่องน้ำเสีย ขยะ การตั้งถิ่นฐานของชุมชน ต้องเป็นระบบพร้อมกัน
          สุดท้ายเรื่องการมองอนาคต พื้นที่มีศักยภาพมันรองรับได้แค่นี้พอแล้วต้องหยุด  ถ้าเราดูมาตรฐานน้ำเสียถ้าควบคุมได้ก็ต้องปล่อยเขา น่าจะขยายพื้นที่ได้  ถ้าพื้นที่ไหนอยากจะเพิ่ม มาตรฐานในส่วนนั้นจะต้องเข้มข้นขึ้น ไม่เช่นนั้นก็จะพูดกันได้ว่าหมดแล้วหมดศักยภาพการรองรับ หาก declare ตรงนี้ได้ก็จะมีคำตอบให้กับภาคประชาชน
          เราคุยกันเลยเที่ยงไปโขแล้ว ท่านชาติชายเป็นผู้ควบคุมเวลา บอกว่าเป็นความผิดพลาดของท่านเองที่พูดว่าพี่ๆคงไม่มีปัญหาแล้วนะครับ แต่ไม่ได้ถามถึงหลวงพี่ก็เลยกลายว่าหลวงพี่ติ๊กวางคำถามที่ต้องลุกมาตอบกันมากมาย อิอิ ต่อไปจะต้องถามว่า พี่ๆและหลวงพี่มีคำถามไหมครับ เพื่อจะได้บริหารเวลาได้ และในการพูดคุยกันวันนี้ก็กลายเป็นว่าภาคราชการก็ได้ข้อมูลความรู้จากพวกเรามากเหมือนกัน และหากจะเชิญพวกเรามา เราจะส่งท่านนันทศักดิ์มาให้ ค่าใช้จ่ายที่ท่านจะมอบให้เราจะเก็บเป็นของรุ่น ฮา…. เราไปทานอาหารเที่ยงกันและเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ จบจนได้เห็นไหม อิอิ

« « Prev : ๔๖.ลงพื้นที่จริง๑๐(พบภาครัฐ๓)

Next : ๔๘.บทสรุปจากการลงพื้นที่จริง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

732 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 1.5093879699707 sec
Sidebar: 0.092689990997314 sec