๓๖.Dinner Talk
อ่าน: 1328นายชิดพงษ์ ฤทธิ์ประศาสน์ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้มา Dinner talk เรื่อง การพัฒนาอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมให้พวกเราฟัง ท่านเล่าว่าท่านเพิ่งย้ายมาจากลำพูนเมื่อประมาณ ๓ เดือนที่แล้ว ที่ลำพูนมีนิคมอุตสาหกรรม และไม่ค่อยมีเรื่องร้องเรียนจากประชาชน มีเพียงเรื่องเดียวเกี่ยวกับการปล่อยน้ำเสีย แต่มาที่ระยอง ๑๐ วัน มีเรื่องร้องเรียนเรื่องแก๊สฮีเมียรั่วเกิดกลิ่นเหม็นคลื่นไส้มึนงงอยากอาเจียร แต่ไม่มีอะไรรุนแรง
แต่ที่น่าสังเกต มีหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมในเขตนิคมอุตสาหรรมเยอะมาก แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าภาพ มีทั้งสิ่งแวดล้อม ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ปตท. ใครต่อใครเยอะแยะ แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าภาพ ไม่รู้จะบูรณาการอย่างไร เกิดเรื่องตั้งแต่เช้า แต่กว่าจะได้แก้ปัญหาก็ล่วงเลยเวลานาน
ระยองเป็นหนึ่งในแปดจังหวัดของภาคตะวันออกที่มีมีความสำคัญ เล็กแต่แจ๋ว ตัวเลขเศรษฐกิจมาอันดับ ๑ รายได้ประชากรต่อหัว ๙๙๘,๐๐๐ บาท จีดีพี ๕๘๐,๐๐๐กว่าล้านบาท เดิมระยองสงบ ราบเรียบไม่รีบเร่ง ปัญหาไม่มากมาย สมัยนั้นเป็นเศรษฐกิจสามขา ท่องเที่ยวและบริการ ๓๓% เกษตรกรรม ๓๖% อุตสาหกรรม๓๑% ต่อมากำหนดให้ระยองและชลบุรีเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนัก ผลการพัฒนาระยองก้าวกระโดดเดิมมีโรงงานอยู่ ๑๒๖ โรงงาน พอมาปี ๒๕๕๐ มีมากถึง๑,๗๕๐ โรงงาน เงินลงทุน ๘๘๐,๐๐๐ ล้านบาท และอยู่ในแผนพัฒนาปิโตรเคมี ซึ่งจะมีเงินลงทุน ๔-๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท วิถีชีวิตคนเปลี่ยนแปลงไป ราคาที่ดินสูงขึ้น สาธารณูปโภคก็พัฒนา ขับรถจากกทม.มาถึงระยองใช้เวลา ๑.๓๐ ชม. ยิ่งพัฒนายิ่งมีปัญหา
สิ่งแวดล้อม ข้อคิดเห็นคนระยองคิดอย่างไรกับการพัฒนาอุตสาหกรรม รัฐพยายามแก้ไขศึกษาศักยภาพในการรองรับมลภาวะ ในปี ๒๕๕๐ ได้มีการประชุมเพื่อแก้ปัญหา แต่ปัญหาก็คือจะทำให้ระยองเป็นเขตควบคุมมลพิษไม่ได้
สารอินทรีย์ระเหย VOC มีอยู่ประมาณ ๔๐ ตัว ใน ๒๐ ตัวมีสารก่อให้เกิดมะเร็ง เอาไปจับกับมาตรการควบคุมสารมะเร็งในอเมริกา ๑๙/๒๐ ตัวมีค่าเกินมาตรฐานของอเมริกา
สารพิษจากการเผาไหม้ มี ๑๘๖ ปล่อง แต่ละตัวไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ถ้าปล่อยพร้อมกัน ๑๘๖ ตัวทำให้อากาศบริเวณนั้นเข้มข้นขึ้นเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ และเรื่องนี้ร้องเรียนในระยองมากที่สุด เพราะเป็นผลกระทบโดยตรง
มลพิษทางน้ำ แม่น้ำระยองสายหลัก จากการตรวจวัดในปี ๒๕๔๘-๔๙ คุณภาพน้ำวัดได้ ๓๖.๗๐ จากคะแนนเต็ม ๑๐๐ แสดงว่ามีความเสื่อมโทรม บางคลองมีสารละลายสูง
บ่อบำบัดน้ำตื้นบางแห่งมีสารระเหยเกินเกณฑ์มาตรฐาน
ปัญหาของระยอง ๑.กากของเสียอุตสาหกรรม เป็นอันดับ ๑ ของประเทศ เพราะโรงงานใหญ่อยู่ในระยอง ในการบำบัดของเสียมีแต่บริษัทเจนโก้ การที่มีน้อยจึงมีการลักลอบนำกากของเสียลักลอบทิ้งจำนวนมาก ปี ๒๕๔๙-๕๑ มีลักลอบทิ้งใหญ่ๆถึง ๖ ครั้ง
พบสารเคมีรั่วจากการเดินเครื่อง ยังไม่ทันปฏิบัติการ ไม่ทำให้เกิดการติดไฟ(สารคิวเมนที่พูดตอนต้น) ส่งเข้าโรงพยาบาล ๑๒๗ คน ทำให้คนผวา แม้แก๊สตัวนี้จะไม่มีโทษรุนแรงแต่ชาวบ้านกลัว
๒.สิ่งแวดล้อม การกัดเซาะชายฝั่งจากการถมทะเลเพื่อทำนิคมอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง หาดสุชาดา แสงจันทร์ ปากน้ำ ปีละ ๔-๕ เมตรต่อปี สูญเสียระบบนิเวศน์เสียหาย จังหวัดได้แก้ไขโดยการสร้างเขื่อนหิน และสูญเสียทัศนียภาพ
๓.การแย่งชิงทรัพยากรน้ำระหว่างภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรม ในปี ๒๕๔๘- ฝนแล้งมาก ปริมาณน้ำลดน้อยมากเข้าขั้นวิกฤต ผู้ว่าฯต้องขอฝนตามประเพณี แต่กลับได้ผลฝนตกลงมาอย่างหนักแก้ปัญหาวิกฤตได้ จึงมีการคิดการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจังอย่างเป็นระบบ จัดการอ่างเก็บน้ำ อ่างน้ำประแส-คลองใหญ่จึงถูกจัดการใช้งบประมาณเกือบพันล้านบาท แต่มีปัญหาติดขัดการไม่สามารถเชื่อมต่อท่ออีกเพียง ๑๒๐ เมตรไม่ได้ การลงทุนเกือบพันล้านแทบจะไร้ผล
คนระยองมีสามกลุ่มใหญ่
กลุ่มแรก อุตสาหกรรมสร้างให้ระยองก้าวหน้า จึงยอมรับหากจะสร้างเพิ่ม
กลุ่มสอง อุตสาหกรรมสร้างให้ระยองก้าวหน้า แต่พอแล้ว
กลุ่มสาม อุตสาหกรรม ควรเลิกเพราะสร้างความเดือดร้อน
มีการประท้วงใหญ่ ปี ๒๕๕๐ มีคนชุมนุมประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน ต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าของ IRPC มีการเคลื่อนไหวเป็นระยะจนปัจจุบันยังสร้างไม่ได้
ความขัดแย้งทางด้านความคิด จังหวัดใช้ความพยายามให้เกิดสันติวิธีอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืนซึ่งจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนและอุตสาหกรรม
ในการดำเนินงานของจังหวัด
-ส่งเสริมธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ต้องมีการตรวจสอบเข้มงวด บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและไม่เลือกปฏิบัติ
-ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลจริงจัง รับฟัง และประกอบธุรกิจอย่างมีจิตสำนึก (โรงงานใหญ่ๆมักไม่ค่อยมีปัญหา)
-ภาคประชาชนต้องเฝ้าระวังและร่วมวางแผนแก้ไขปัญหา
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเลื่อนการประกาศเขตควบคุมมลพิษแต่ให้ลดมลพิษ โดยให้งบประมาณมาแก้ไข
การแก้ไขปัญหาก๊าซซัลเฟอร์
มีการจัดตั้งกองทุนต่างๆ โดยผู้ประกอบการได้บริจาค กองทุนระยองแข็งแรง ๓๒ ล้านบาท(๑ ปี)แก้ปัญหาของเกษตรกร แก้ไขปัญหามลภาวะที่กระทบต่อประชาชน มีกองทุนรอบๆในเขตนิคมอุตสาหกรรมอีก ๒๕ กองทุน บริจาคเงิน ๓๑ ล้านบาทให้ชุมชนไปแก้ไขปัญหาเอง กองทุนพลังงานหรือกองทุนโรงไฟฟ้าซึ่งกระจายอยู่ ๑๔ โรง เป็นกองทุน ๑๕๐ ล้านบาท สมทบปีนี้ ๓๐๐ ล้าน มีผู้ว่าระยองเป็นผู้บริหารกองทุน
การส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม แก้โดยภาครัฐอย่างเดียวไม่สำเร็จ ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม สร้างเครือข่ายภาคประชาชนเฝ้าระวัง ซึ่งมีประสิทธิภาพ เมื่อ ๓ อาทิตย์ที่แล้ว เวลาประมาณ ๑๑ โมงเช้า มีโรงงานปล่อยน้ำมันในคลองบาปวน ประชาชนโทร.ถึงผู้ว่าฯทันที
มีข้อสังเกต
-แม้จะได้ทุ่มเงินสร้างสาธารณูปโภค ชุมชนบางชุมชนน้ำไประปาไม่มี ไฟฟ้าตกอยู่เป็นประจำ ทำไมรัฐจึงส่งเสริมแต่อุตสาหกรรมแต่ภาคประชาชนไม่ได้รับการเหลียวแลจริงจัง
-ให้โรงงานตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม แต่โรงงานที่มีปัญหาปล่อยมลพิษมักจะตั้งอยู่นอกนิคม
-ในเขตนิคมอุตสาหกรรม คนภายนอกจะไปเอาข้อมูลก็ยาก แม้จังหวัดเองก็ยังยาก เว้นแต่เกิดปัญหาจึงจะไปขอข้อมูลมาได้
การบริการหน่วยงานทั้งในและนอกพื้นที่ แต่ละกรมก็ดำเนินการกันไปก็ต่างคนต่างทำ เช่น กรมมลพิษ กรมสิ่งแวดล้อม ท้องถิ่นก็ทำกันไป อนาคตจังหวัดจะเป็นเจ้าภาพตัวกลางประสานงาน ให้สิ่งแวดล้อมเป็นวาระของจังหวัด
การแก้ไขปัญหา หากเป็นกลุ่มไม่เอานิคมอุตสาหกรรมบางพื้นที่มีทัศนคติรุนแรงมาก เรื่องการจัดการน้ำ เพียงแค่ ๑๒๐ เมตรก็มีปัญหาดำเนินการต่อไม่ได้
ผมรู้สึกสบายใจที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดระยองสะท้อนปัญหาออกมาตรงๆ ก็เลยบันทึกการบรรยายของท่านค่อนข้างละเอียด (แต่พอเราไปถามภาคราชการก่อนเราจะกลับ เราได้รับคำตอบอีกแบบหนึ่ง เราก็เลยต้องยืนยันคำพูดของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดว่า การแก้ไขปัญหายังไม่ดีไม่มีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน) แล้วเราก็ได้ทานอาหารเย็นซะที
« « Prev : ๓๕. เตรียมข้อมูลก่อนไประยอง ๖
5 ความคิดเห็น
การปะข้อความลงบนลาน ใช้ “วางแบบ MS Word” ตามที่อยู่ในคู่มือนี้ครับ
ขอบคุณครับ
คุณ Logos ครับ ผมเอาจาก word ไปแปะใน note pad แล้วเซฟเป็น .txt แล้วเอามาแปะที่นี่ มันเพี้ยนๆยังไงไม่ทราบ ย่อหน้ามันไม่ย่อหน้าครับ
ลองแก้ไขด้วยตัวเองแล้วพอได้ครับ..อิอิ
df
Michael Kors Sale