๒๓. รัฐสวัสดิการกรณีศึกษากลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียน

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 2 สิงหาคม 2008 เวลา 9:15 ในหมวดหมู่ เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 2716

วันนี้เราเรียนกับ อ.บุญส่ง ชเลธร แกนนำสมัย ๑๔ ตุลา ท่านไปอยู่สวีเดนมาเกือบ ๓๐ ปี ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์ม.รามคำแหง อ.บุญส่ง ได้อารัมภบทว่าจากการเลือกตั้งการเมืองไทยมักจะพูดกันเสมอว่ามีการเสนอรัฐ สวัสดิการ มีหนังสือเขียนกันมาก โมเดลที่เอามาพูดจะเอาของสแกนดิเนเวียน มาพูดคุยเล่าประสบการณ์กัน และท่านเห็นว่าของสแกนดิเนเวียนน่าจะดีที่สุดในปัจจุบัน เพราะทำได้ครอบคลุมในขอบเขตที่กว้างกว่าและช่วยคนได้มากกว่า

เราพูดกันถึงรัฐสวัสดิการ อาจารย์บอกว่ารัฐสวัสดิการและสวัสดิการโดยรัฐ แตกต่างกัน รู้ไหม…..

รัฐของประเทศใดก็ตาม ทุกรัฐบาลล้วนมีรัฐสวัสดิการให้กับประชาชนทั้งสิ้น เพียงแต่มากน้อย ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะน่าเกลียดน่าชังอย่างไรก็ตาม เช่น ระบบสาธารณูปโภค การรักษาพยาบาล  รัฐสวัสดิการที่รัฐให้ประชาชน แต่ทำไปทำมากลายมาเป็นประชานิยม

รัฐสวัสดิการไม่ขึ้นต่อนโยบายของนักการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปต้องเป็นโครงสร้าง ของประเทศ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล รัฐสวัสดิการจะต้องไม่เปลี่ยนแปลง และปชช.รู้สึกว่าเป็นสิทธิโดยชอบธรรมที่เขาจะได้รับ ไม่ใช่เป็นหนี้บุญคุณจากนักการเมือง  แต่ของไทย รัฐบาลชุดใหม่มักจะเปลี่ยนแปลง และประชาชนรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ ซี่งหากเป็นอย่างนี้ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ แต่มันเป็นสวัสดิการโดยรัฐ

ในแถบสแกนดิเนเวียน (สวีเดน นอร์เวย์และเดนมาร์ก)พัฒนาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นประเทศที่แป็นกลางไม่เคยเข้าร่วมสงครามไม่ว่าสงครามโลกครั้งที่๑หรือ ๒ ถึงเป็นกลางแต่ก็คบกับเยอรมันค้าขายซึ่งกันและกัน ราอูล วัลเลแบร์ ชาวสวีเดนได้ช่วยเหลือชาวยิวเป็นจำนวนมากให้รอดพ้นภัยนาซี แต่หน้าฉากทำการค้ากับเยอรมัน หลังสงครามโลกครั้งที่สองจึงถูกจับและหายสาบสูญไป ต่อมาอีกหลายปีจึงมีข่าวออกมาว่าเสียชีวิตที่ไซบีเรีย

อาจารย์บอกว่ากลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียนไม่รวมฟินแลนด์ ฟินแลนด์มีสงครามบ่อย สวีเดนพัฒนาอุตสาหกรรม คนจากฟินแลนด์จึงแห่เข้ามาทำงานในสวีเดนถึง สามแสนคน โดยซื้อตั๋วเที่ยวเดียวจากฟินแลนด์แล้วเข้ามาตั้งรกรากในสวีเดน

สวีเดนพัฒนารัฐสวัสดิการดีมาก

-สหภาพแรงงาน มีความเข้มแข็ง แรงงาน ๘๐-๙๐ เปอร์เซนต์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และมีอำนาจต่อรองสูงมาก สวีเดนเป็นคนต่างชาติ ๑,๒๐๐,๐๐๐ คน (ในยุโรป ในเยอรมันคนไทยมาก อังกฤษ ฝรั่งเศส รองลงมา ที่ต่อมาประมาณ ๓-๔ ปีที่ผ่านมา คนไทย(ผู้หญิงประมาณ ๘๐ เปอร์เซนต์)เทเข้าไปอยู่สวีเดนถึงประมาณ ๓,๐๐๐ คนต่อปี กรุงสตอคโฮม ร้านอาหารไทยดังมาก ที่อ.หนองวัวซอ มีเขยฝรั่งทั้งหมู่บ้าน อายุประมาณ ๖๐-๖๕ ปี ส่วนใหญ่เป็นชาวสวีเดน หญิงไทยที่เป็นภรรยาฝรั่งก็มีอายุประมาณ ๓๐-๓๕ ปี)

ตัวอย่างความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน คนงานหญิงเป็นพนักงานเก็บเงิน เจ้าของสงสัยว่าเงินหายเพราะคนนนี้ จึงติดตั้งวงจรปิด จับได้ ไล่ออกจากงาน คนงานไปฟ้องสหภาพฯ ทนายความมาเจรจานายจ้าง ฟ้องนายจ้างว่าทำผิดกฎหมาย ๑.ติดตั้งกล้องไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างสูง (เช่นแคะจมูก เกาก้น)๒.ไล่ออกจากงานได้ไง นายจ้างบอกว่าขโมย ทนายบอกว่าศาลยังไม่ตัดสิน  ในที่สุดนายจ้างต้องขอประนีประนอมต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้ลูกจ้าง

ระบอบประชาธิปไตยมั่นคง รัฐมนตรีกลาโหม เป็นผู้หญิงแถมยังไม่รู้เรื่องทหารเสียอีก นักข่าวไปสัมภาษณ์รมต.หน้าใหม่ว่ารู้เรื่องไหม เขาบอกว่าไม่รู้เรื่องแต่จะศึกษา    ที่สวีเดนไม่รู้ จักการซื้อเสียงขายเสียง ในประตูหน่วยเลือกตั้งจะมีตัวแทนพรรคมีสายสะพายบอกชื่อพรรค แถมยืนพูดคุยกันกระหนุงกระหนิง (ถ้าบ้านเราเป็นแบบนี้ก็ดีสิ แต่มักจะมีมือปืนไปดักรอมากกว่า อิอิ) และหากสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี คราวหน้าจะไม่ได้รับเลือก นโยบายพรรคจะชัดเจน เช่น พรรคฝ่ายซ้าย บอกว่าจะลดภาษี และลดสวัสดิการ  พรรคฝ่ายขวา ลดภาษี และเพิ่มสวัสดิการ

เมื่อหลายปีก่อน ส.ส.ไทย ไปดูงาน บอกว่าจะมี ส.ส.สัดส่วน สวีเดน บอกว่าระบบพรรค สัดส่วนมาเป็นร้อยปี สวีเดนบอกว่าแบบสัดส่วนจะยกเลิกจะเลือกตั้งบุคคล ๑๐๐ เปอร์เซนต์ อิอิ….

คนรุ่นหนุ่มเป็นส.ส.สมัยเดียวเลิกเป็นเพราะรู้สึกว่าความเป็นหนุ่มสาวของเขาหายไป ถ้าเป็นส.ส.แล้วออกไปทำงานอื่น หางานไม่ได้ เขาจ่ายเงินเดือนเท่าส.ส.ให้ ถ้าไปทำงานได้เงินน้อยกว่าเงินเดือนส.ส.เท่าไร จ่ายให้จนครบเป็นเวลา ๒ ปี

ในแง่การเมือง นายกฯลาออก รองนายกฯ ซึ่งเป็นผู้หญิงน่าจะได้เป็นแน่นอน แต่ก็ถูกหนังสือพิมพ์ขุดคุ้ย  เรื่องจ่ายเงินสมทบค่าสวัสดิการเลี้ยงดูบุตรช้า บางครั้งสองสามเดือนจ่ายครั้งหนึ่ง และเครดิตการ์ดของรัฐไปซื้อชอคโกแลต แม้ต่อมาจะเอาเงินไปคืน แต่ก็ถูกขุดคุ้ยถือว่าเป็นเรื่องรุนแรง ในที่สุดก็ไม่ได้เป็นนายกฯ นี่คือความเข้มแข็งในทางการเมืองของเขา แต่ของเราคุ้ยเจออะไรก็ทำเฉย ใช้ตราช้าง…..เพราะศาลยังไม่พิพากษา ฮา…..

จิดสำนึก มีประชากรที่มีจิตสำนึกสูง one for all all for one

ยังมีต่อครับพระเดชพระคุณ  แต่ยาวมากไม่ได้ไม่มีคนอ่าน นำบันทึกขึ้นบล๊อกติดกันสองตอนคนจะอ่านน้อย ตอนแรกคนจะอ่านน้อยกว่าตอนหลัง ก็ยังงงๆอยู่ว่าเพราะอะไร อิอิ เตือนไว้ก่อน ตอนนี้เป็นตอนหนึ่ง ฮา…..

« « Prev : ๒๒. สันติวิธีในสังคมไทยการรับรู้และความเข้าใจ ๒

Next : ๒๔. รัฐสวัสดิการกรณีศึกษากลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียน ๒ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 sopon ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 มีนาคม 2009 เวลา 13:26
    สนทนาเรื่องรัฐสวัสดิการกับอาจารย์บุญส่ง ชเลธร
    .
    ดร.โสภณ พรโชคชัย*
    .
    .
    ผมได้พบกับอาจารย์บุญส่งเมื่อคราวไปออกบูธอสังหาริมทรัพย์ในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน โดยทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ ผมเป็นคนพานักพัฒนาที่ดินและอาคารชุดไทย ไปขายสินค้าให้กับคนสวีเดน เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2552
    .
    อาจารย์บุญส่งเป็นผู้ประสานงานที่แข็งขันอย่างยิ่งของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำหน้าที่ประสานงานด้านการศึกษาทางไกลให้กับคนไทยในต่างประเทศที่สนใจศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ซึ่งในอนาคตก็จะมีถึงระดับปริญญาเอกด้วย แต่ในอดีตเมื่อ 30 ปีก่อน อาจารย์บุญส่งเป็นผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และเป็นหนึ่งใน 13 กบฎเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกจับในระหว่างการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสมัยที่จอมพลถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรี จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อาจารย์บุญส่งจึงนับเป็นคนเดือนตุลาคนหนึ่ง
    .
    .
    รัฐสวัสดิการในสวีเดน
    .
    อาจารย์บุญส่งเล่าให้ฟังถึงสวัสดิการสังคมที่ประเทศสวีเดนจัดให้ ซึ่งมีอยู่มากมายหลายประการ ดังเช่น:
    .
    1. เด็กนักเรียน สามารถเข้าโรงเรียนได้ฟรี อุปกรณ์การเรียนฟรี โดยส่งให้เรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงปริญญาเอกตามกำลังความสามารถของนักเรียนเอง
    .
    2. เด็กทุกคนมีเงินเดือนให้ใช้ เทียบเป็นเงินไทยคงเป็นเงินเดือนละประมาณ 4,000 บาท โดยทุกคนได้รับเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นลูกตาสีตาสาหรือลูกนายกรัฐมนตรีก็ตาม
    .
    3. ผู้หญิงสามารถลาคลอดได้ยาวนานเป็นปี แถมยังได้รับรายได้เกือบเท่าเงินเดือนที่รับอยู่ก่อนคลอดเสียอีก
    .
    4. สำหรับคนทำงาน จะได้รับเงินเดือนตามลักษณะงานที่ทำ ไม่ใช่ตามวุฒิ เช่น ถ้าทำงานขับรถประจำทาง ไม่ว่าจะจบระดับไหน ก็เริ่มต้นด้วยเงินเดือนที่เท่ากัน และในระยะยาว คนขับรถประจำทางอาจมีรายได้มากกว่าคนจบปริญญาโทที่ทำงานตรงสาขาแต่ยังทำงานไม่นาน เป็นต้น
    .
    5. ผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือไม่ก็ตาม ต่างก็ได้รับบำนาญ โดยอาจารย์บุญส่งเล่าว่า ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนในโลกก็จะได้รับเงินนี้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผู้สูงอายุส่วนหนึ่งจึงนิยมมาอยู่ในประเทศไทยหรือประเทศอื่น ๆ เพราะค่าครองชีพถูกกว่า ด้วยบำนาญที่ได้ จึงสามารถอยู่ได้อย่างสบาย
    .
    เท่าที่ผมพอจำได้ก็คงมีเท่านี้ แต่นี่แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบอย่างสูงที่รัฐบาลมีให้กับประชาชนของตนเอง ถ้าประเทศไทยเราทำได้บ้าง ก็คงจะดียิ่ง
    .
    .
    ความสำเร็จมาจากภาษีโหด
    .
    การที่ประเทศสวีเดนสามารถจัดสวัสดิการได้อย่าง “เหลือเชื่อ” เช่นนี้ ไม่ใช่ของฟรี ไม่ใช่อยู่ดี ๆ รัฐบาลนึกจะทำก็ทำได้ แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากภาษีอากรที่เก็บจากประชาชน และรัฐบาลของเขาโหดกับการเก็บภาษีเป็นอย่างยิ่ง ข้อนี้อาจต่างจากเรามาก เราอาจเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาให้ต่าง ๆ นานา แต่คนไทยเรากลับพยายามเลี่ยงภาษี ในกรณีสวีเดน ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของเขาเก็บ 25% ภาษีรายได้บุคคลธรรมเก็บระหว่าง 30-62% ของรายได้สุทธิ
    .
    อย่างกรณีร้านอาหารที่มักมีโอกาสที่ภาษีรั่วไหล เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจะมีสมุดบันทึกให้พนักงานลงชื่อเข้าทำงาน เพื่อป้องกันการ “มั่ว” จ้างแรงงานโดยไม่มีตัวตน หากวันใดที่เจ้าหน้าที่มาตรวจ ต้องมีจำนวนพนักงานครบตามที่ลงชื่อ บางครั้งมีกรณีที่พนักงานคนหนึ่งคนใดลืมลงชื่อ แต่มาทำงาน เจ้าของร้านก็จะถูกปรับ “อาน” ไปเลย คือเป็นเงินราว 100,000 บาทนั่นเอง พนักงานที่ไม่ลงชื่อก็ยังถูกปรับเช่นกัน นอกจากนี้กรมสรรพากรยังส่งเจ้าหน้าที่มานับจำนวนขวดเบียร์ นับปริมาณขยะหลังร้านอีกต่างหาก
    .
    .
    การปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง
    .
    นี่แสดงให้เห็นว่ากฎหมายของสวีเดนมีความโหดมาก ผู้คนจึงไม่กล้าเลี่ยงกฎหมาย และรู้สึกเข็ดหลาบที่จะละเมิดกฎหมาย คนสวีเดนกลัวกฎหมาย แต่ไม่กลัวตำรวจ ผิดกับคนไทย กลัวตำรวจ แต่ไม่กลัวกฎหมาย
    .
    แน่นอนว่าการโกง การฉ้อราษฎร์บังหลวง ก็มีพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา แต่กระบวนการปราบปรามการโกงก็มีพัฒนาไปอย่างทันท่วงทีเช่นกัน ดังนั้นโอกาสที่ใครจะคิดติดสินบนข้าราชการ จึงมีได้ยากยิ่ง และถือเป็นการ “ฆ่าตัวตาย” มากกว่า เพราะต้นทุนการทำผิดกฎหมาย แพงกว่าการปฏิบัติตามกฎหมายมากมายนัก
    .
    ในส่วนของข้าราชการเอง ระบบได้ทำให้เกิดความเข้มงวดมาก แม้แต่ประมุขของประเทศ หากได้รับของขวัญจากพระราชอาคันตุกะ ก็ยังต้องมอบของขวัญเหล่านั้นให้กับทางราชการ จะเก็บไว้ใช้สอยส่วนตัวไม่ได้
    .
    .
    การเมืองที่เอื้ออำนวย
    .
    อาจารย์บุญส่งเล่าให้ฟังว่า รัฐบาลที่เข้มแข็งของสวีเดนนั้น ในช่วงหนึ่งพรรคสังคมประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งทุกๆ 3 ปีจนสามารถบริหารงานต่อเนื่องได้ถึง 44 ปี (1932-1976) ซึ่งก็เป็นโอกาสที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์สำคัญของพรรครัฐบาลรังสรรค์ระบบสวัสดิการสังคมที่ดีให้กับประเทศชาติได้ ดังนั้นการเมืองที่เข้มแข็งจึงเป็นปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็คือการมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง ตามหลักการที่ว่า สิทธิที่พึงมีพึงได้ ย่อมมาจากการเรียกร้องที่เป็นธรรม ไม่ใช่ได้มาจากการร้องขอแต่อย่างใด
    .
    ปัจจัยแห่งความสำเร็จอีกประการหนึ่งของการสถาปนารัฐสวัสดิการก็คือ การที่ประชาชนได้รับการศึกษาดี มีความรู้ มีจิตสำนึก ทำให้การพัฒนาของสังคมเป็นไปในแนวทางที่ก้าวหน้า ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือของนักการเมือง
    .
    อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลของประเทศสวีเดนมีการตอบสนองสูงต่อสังคม เช่น ในคราวเกิดสึนามิเมื่อปลายปี 2547 ชาวสวีเดนเสียชีวิตในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เด็กกำพร้าขาดพ่อแม่ และยังต้องเสียภาษีมรดก รัฐบาลจึงออกกฎหมายยกเลิกภาษีมรดก โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิดังกล่าวตามหลักการที่ว่ากฎหมายจะมีผลย้อนหลังได้หากเป็นคุณ
    .
    .
    หนทางสู่แบบอย่างสวีเดน
    .
    มีโอกาสหรือไม่ที่ไทยจะมีรัฐสวัสดิการเช่นสวีเดน ข้อนี้คงต้องเปรียบเทียบประเทศทั้งสองในแง่มุมต่าง ๆ ดังตารางต่อไปนี้:
    .
    http://www.prachatai.com/05web/upload/HilightNews/library/200903/04_054405_7.jpg
    [img]http://www.prachatai.com/05web/upload/HilightNews/library/200903/04_054405_7.jpg[/img]
    .
    .
    หากเปรียบเทียบสวีเดนกับไทยจะพบว่า ประเทศทั้งสองมีขนาดใกล้เคียงกันมาก โดยไทยมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย แต่ประชากรไทยที่ 65.493 ล้านคนนั้นมากกว่าสวีเดนถึง 7.24 เท่า ทำให้ความหนาแน่นของประชากรไทยสูงกว่าสวีเดนมาก ขนาดเศรษฐกิจไทยใหญ่กว่าสวีเดน 59% อย่างไรก็ตามหากพิจารณารายได้ต่อหัวจะพบว่าสวีเดนมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าถึง 4.55 เท่า
    .
    ในกรณีการจัดเก็บภาษีนั้น สวีเดนจัดเก็บได้มากกว่าไทยถึง 5.48 เท่า และงบประมาณแผ่นดินสูงถึง 4.76 เท่า และหากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า คนไทยเสียภาษีโดยเฉลี่ยปีละ 26,384 บาท ในขณะที่ชาวสวีเดนเสียภาษีปีละ 1,046,667 ล้านบาท ปมตรงนี้เองที่ชี้ให้เห็นว่า ระบบสวัสดิการสังคมที่แสนดีนั้นมีต้นทุนมหาศาลที่ทุกคนต้องช่วยกันจ่าย ถ้าเราจะมีรัฐสวัสดิการที่รับผิดชอบต่อประชาชนทุกคน ผู้เสียภาษีต้องพร้อมใจกันเสียภาษีให้มากกว่านี้
    .
    แต่ปัญหาก็คือคนจำนวนมากไม่เสียภาษี ไม่ยอมเสียภาษี และคนอีกจำนวนมาก อ้างว่าเสียภาษีไปก็จะถูกนักการเมืองหรือข้าราชการนำไปโกงกินกัน ผมเชื่อว่านี่คงเป็นข้ออ้าง เราต้องแยกกันระหว่างการที่พลเมืองไทยต้องมีหน้าที่เสียภาษี กับการปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง
    .
    .
    * ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ขณะนี้เป็นประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (www.thaiappraisal.org) และยังเป็นกรรมการหอการค้าสาขาจรรยาบรรณ สาขาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ปรึกษาหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ และกรรมการสภาที่ปรึกษาของ Appraisal Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรส Email: sopon@thaiappraisal.org
     
    [img]http://www.bcoms.net/upload/images/bcoms20093483659.jpg[/img]
     
    [img]http://www.bcoms.net/upload/images/bcoms20093483353.jpg[/img]
  • #2 Michael Kors Wallets Sale ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 กันยายน 2014 เวลา 16:28

    df
    Michael Kors Wallets Sale http://www.andreaseigel.com/bin01/mk.html


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.091421127319336 sec
Sidebar: 0.047513961791992 sec