ชีวิตธรรมดา ภาคเด็กน้อยค่อยๆ ก้มประนมกร 1

โดย นักการหนิง เมื่อ 5 ธันวาคม 2008 เวลา 10:02 (เย็น) ในหมวดหมู่ เรื่องเล่าจากลานดีดี #
อ่าน: 7676

อ่านเรื่องราวชีวิตของหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็น Logos  จอมป่วน น้ำฟ้าและปรายดาว และคนอื่นๆ อีก และรับปากกับน้ำฟ้าและปรายดาวไว้ว่าจะเล่าเรื่องตัวเองให้ฟังบ้าง และต้องส่งการบ้านพ่อครูอีก   

 

    เรื่องราวของตัวเอง เป็นเรื่องของคนธรรมดา ธรรมดา คนหนึ่งจริงๆ แต่โชคดีมากๆ ที่เส้นทางชีวิตทำให้เป็นคนธรรมดาเช่นวันนี้ 

     แม่และอำม้า(ยาย)เล่าให้ฟังว่าเกิดมาตัวกลมเชียว แก้มยุ้ย ไม่ร้องไห้ ไม่งอแง เลี้ยงง่าย ยายรักมาก ตอนเล็กๆ สองสามเดือน ยายนอนแล้วอุ้มเจ้าตัวเล็กขึ้นสองแขนเขย่าไปมา  ประกอบกับเสียงของอำม้า  หนุ้งหนิ่ง  หนุ้งหนิ่ง   เสียงหัวเราะเอิ๊ก เอิ๊ก  เอิ๊ก  พร้อมกับฝากรักอำม้าเต็มหน้าเลยค่ะ  ทุกคนลงความเห็นว่า ให้ชื่อหนุ้งหนิ่ง  ก็แล้วกัน  มาเพี้ยนเป็นหนุงหนิงตอนเรียนประถมหกสมัยนั้นการ์ตูนหนุงหนิงดัง แต่ที่บ้านยังเรียกเหมือนเดิม หกเดือนขึ้นไปตัวหนักมากไม่มีใครอยากอุ้ม  มีแต่คนชอบดึงแก้ม

 

     แม่เป็นคนงาม  ผอมบาง จิตใจดี  ความคิดดี อ่อนโยน แต่เข้มแข้ง อดทน  ทำงานหนัก มั่นคง จิตนั้นแข็งแกร่งนัก แม่เลิกกับพ่อประมาณอายุ 30 ปี แม่ไม่เคยมีคนใหม่ บอกแต่ว่าคนอื่นจะไม่รักลูกแม่ รังแกลูกแม่   แม่เป็นคนงามมากๆ  คนมาชอบเยอะ  แต่แม่เลือกที่จะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูก   แม่เลือกเป็นเช่นนี้มาจนขณะนี้แม่อายุ 72 ปี   

    จำได้เสมอว่ามีคนมาหยอกว่าขอเป็นพ่อได้ไหม  ตาเขียวปั๊ดเลยค่ะ  โกรธมาก ควันออกหู  ไฟประลัยกัลป์ ออกจากตาเลยหล่ะค่ะ  มีบางคนพูดไม่พูดเปล่าจับแขนอีก  กัดซะเลย   เรื่องนี้หยอกกันได้ที่ไหน  ใช่อะเปล่า

     จำความได้น่าจะประมาณ 4 - 5 ขวบ

 

    ค่ำคืนหนึ่ง ได้ยินเสียงพ่อกับแม่ทะเลาะกัน ด้วยเสียงอันดัง ตกใจมาก ร้องไห้ขึ้นดัวยเสียงอันดัง  ป้าอยู่ตรงนั้นดุด้วยเสียงอันดังเช่นกัน ให้หยุดร้องไห้ จำคลับคล้ายคลับคลา ว่าร้องไห้เสียงเบาลง  แล้ววันรุ่งขึ้นพ่อก็เดินออกบ้านพร้อมกับพี่สาว น้องสาว และผู้หญิงอีกคนหนึ่งของพ่อ……. จำได้ว่าวิ่งวุ่นวาย เพื่อยื้อยุดให้พ่อ พี่สาว และน้องสาวไม่ไปจากชีวิตเรา ไม่สำเร็จ ก็วิ่งวุ่นวายขอไปกับพี่สาวและน้องสาว  แต่แม่ไม่ให้ไป งง งง  งง และ งง…………… ตกใจ เสียใจ เสียขวัญ

 

     หันไปหาแม่  จำไม่ได้ว่าแม่ร้องไห้ไหม จำได้แต่ว่าแม่เม้มปากบางๆ ของแม่แน่น  เหลือเราสองคนรวมทั้งยายเป็นสามคน  แม่กอดไว้แน่นแล้วปลอบใจ…………..

     แม่เริ่มขายของ เริ่มจากของชำ   และตัดเย็บเสื้อผ้า แม่เป็นช่างตัดเสื้อผ้าที่ฝีมือดีที่สุดในอำเภอ เพราะแม่ไปเรียนตัดเย็บเสื้อผ้าที่โรงเรียนซิงเกอร์ที่กรุงเทพ สมัยนั้นแทบไม่มีโรงเรียนสอนตัดเสื้อผ้า  ช่วยแม่ขายของ ทำงานบ้าน หยิบจับสิ่งของตามที่แม่สั่ง 

 

    และแม่ก็เริ่มส่งไปโรงเรียนชั้นป.ขี้ไก่ เรียกตามคนอื่น ก็ไม่รู้ว่าทำไมจึงเรียกอย่างนั้น  สงสัยเป็นเพราะแบ่งพื้นที่ในบริเวณบ้านมาทำโรงเรียน  ในบ้านคนสมัยนั้นเลี้ยง เป็ด ไก่ ห่าน ตามพื้นลานบ้าน ขี้ไก่คงเยอะค่ะ ชื่อโรงเรียนครูแก่จันแดง   หรือครูแก่จันทร์แดง  (ไม่มีใครเขียนถึงเลยเนาะ หาใน Google ไม่เจอค่ะ)  ครูสอนโดยการมอบก้านธูปให้นักเรียนประจำตัวคนละหนึ่งก้านเอาไว้ชี้ตัวหนังสือ บ่ายๆ ล้างหน้านอนหลับ เย็นๆ ล้างหน้าปะแป้ง นั่งสามล้อประจำตำแหน่งกลับบ้าน  มีชั่วโมงเล่น ปีนต้นไม้  ที่เด็ดสุดในโรงเรียนนี้คือ…….ห้องสุขา เป็นหลุมกว้างยาวจำไม่ได้  มีไม้กระดานพาดเป็นร่อง เป็นคู่ๆ พอดีกับขนาดของการนั่งยองๆ ของเด็ก  ข้างล่างเต็มไปด้วยอุนจิ  หนอน แมลงวัน เป็นสังคมที่มีการเกื้อหนุนกันดีมาก  5 5 5  นึกภาพเองนะคะเล่ามาขนาดนี้แล้ว ถ้าเด็กคนไหนตกลงไปละก็ เป็นพระสังข์ทองเลยหล่ะค่ะ   เรียนไปเรียนมา ห้าขวบความสามารถก็แตกฉานอ่านหนังสือแตกเปรียะ  คงเป็นเพราะที่บ้านหนังสือของแม่และของน้าๆ เยอะด้วยมั๊ง

     บ้านอยู่ข้างวัดประจำอำเภอ ชื่อวัดกาสา  เป็นวัดที่มีวิหารและโบสถ์ทรงเหนือๆ  ไม่ผอมสูง เสียดายไม่มีภาพเก่าๆ และวัดก็รื้อโบสถ์และวิหารหลังเก่า เพื่อสร้างขึ้นใหม่ ทรงก็เลยละม้ายมาทางภาคกลาง  น่าเสียดายนะคะ  และที่วัดกาสาก็มีสิงห์อยู่หน้าโบสถ์ ตอนนี้ก็ไม่มีแล้ว   วัดกาสาก็มีบ้านเรือนตั้งอยู่หน้าวัด ข้างวัด  เด็กๆ ที่อาศัยอยู่ละแวกนั้นจะรู้จักกันหมดและจะเป็นเพื่อนกัน เป็นเพื่อนข้ามรุ่น กันก็มี  หลายๆ คนภายหลังก็ผันเข้ามาเป็นนักสื่อสารมวลชน เช่นเจ๊นก นิรมล เมธีสุวกุล  อ้ายยุทธ ยงยุทธ์ ติยะไพรัช 

 

     บ้านอยู่ข้างวัด เห็นภาพการทำบุญ ที่ยิ่งใหญ่และน่าสนุก คือตานก๋วยสะลาก ชอบมีขนมและของกินเยอะ  คนเยอะ มีการละเล่นพื้นเมือง ที่ชอบมากคือ ดูและฟังซอ 

 

    ซอเป็นการเล่าเรื่อง คล้ายละครวิทยุ  มีคนซอประมาณ 4-5 คน การซอเป็นการขับซอประกอบเพลง ที่มีท่วงจังหวะและทำนองเฉพาะ ไว้วันหลังจะหามาให้ฟังนะค่ะ  เด็กที่อยู่ข้างวัดที่ไม่มีพี่มีน้องอยู่ด้วย ซึมซับ รับฟัง เฝ้าดู เฝ้าฟัง  วันๆ หนึ่ง ก็ซอเองได้  เป็นเรื่องเป็นราวเหมือนมืออาชีพนั่นแหล่ะ  เรื่องราวทำนองไม่มีผิดเพี้ยน  หนักๆ เข้าก็แต่งเรื่องเองซะเลย   ช่วงไหนไม่มีงานวัด คนแก่ๆ แถวละแวกบ้านคงเหงาหู ก็มาขอให้ซอให้ฟัง  แล้วเช่นนี้จะเหลือไหม ช่างซอน้อยก็โชว์ฝีมือซะสุดฤทธิ์  วันดีคืนดี แควนๆ ไม่ขอก็ซอให้ฟัง หน้าตาเฉยซะอย่างงั้นแหละ  แควนๆ ก็มี อำม้า (ยายของตัวเอง )  แม่ อุ้ยยอง แม่นา อีกหลายจำไม่ได้ค่ะ จะกลับไปถามแม่ก่อนนะคะ หลายท่านเสียชีวิตไปแล้วค่ะ

      นอกจากเป็นช่างซอแล้ว  ยังสถาปนาตัวเองเป็นนักร้องแผ่นเสียงทองคำ  ร้องเพลงให้แควนๆ ฟัง เพลงร่วมสมัยของแม่ร้องได้หมดเพราะแม่ชอบฟังเพลง  นักร้องขึ้นร้องเพลงทีหนึ่งได้ยินสามบ้าน แปดบ้าน  มีเพลงหนึ่งที่ร้องทีไรกินใจมากๆ แถมยังไม่พอไปกินใจอุ้ยยอง  คนข้างบ้านด้วยค่ะ  แม่เล่าให้ฟังว่า  วันหนึ่งลูกสาวตัวดีเล่นหม้อข้าวหม้อแกงซึ่งเป็นเครื่องบั้นดินเผา ชุดสำหรับเด็ก เล่นนะคะแต่จุดไฟจริงๆ  เม่เลยตีให้   ตีเจ็บมากๆ  ร้องไห้เสียงดังพอๆ กับที่ขับซอนั่นแหล่ะค่ะ   แฟนคลับโดดผางออกมาปกป้องเลยค่ะ  อุ้ยยองนั่นเองจะบอกว่าอย่าตีมันมาก  มันน่าสงสาร ฟังมันร้องเพลงซิ น่าสงสารออก  เพลงที่โดนใจอุ้ยยอง คือเพลงธรณีสายเลือด” …….  

 

      บ้านอยู่ข้างวัด  ขายของได้ดี เพราะคนทำบุญที่วัดเสร็จก่อนจะกลับก็จะแวะซื้อของ  ภายหลังแม่ได้ผันสินค้ามาเป็นเครื่องจักสาน เครื่องบั้นดินเผา ของใช้ประจำบ้านเช่น ไม้กวาด เสื่อ กระถางกล้วยไม้ คนโท ฯลฯ ขายดี เพราะ เจ้าอื่นไม่ขาย มันไม่สวยดูดี แต่สินค้าเหล่านี้ เป็นสินค้าที่มีกำไร ถึงร้อยละสามสิบ ขึ้นไป  ไม่เหมือนของชำจัดร้านให้สวยได้ แต่ได้กำไรชิ้นละสลึง ห้าสิบตังค์  จริงๆ แล้วเราจะมองแต่ภาพภายนอกไม่ได้เลยเนาะ ต้องมองลึกๆ มองให้รู้จริง ^ ^

     

ทุกๆ เช้าต้องตื่นมานำสินค้ามาวางโชว์หน้าร้าน จัด Display ค่ะ  ขาประจำเป็นแม่บ้าน คนแก่  ส่วนถนนหน้าบ้าน ซึ่งเป็นสายหลักของอำเภอสมัยนั้นยังเป็นหินคลุกบดอัด ราดยางมะตอย  บางวันมีไฟฟ้า บางวันดับ วันไหนไฟฟ้าดับ เป็นโอกาสของแม่   ขาประจำจะหนักกว่าที่บ้านเพราะเขาอยู่ที่ถนนสายรอง ของรอง ไฟฟ้าจะไม่มีทั้งคืน เขาจะเดินข้ามถนนมาพร้อมกับตะเกียงน้ำมันก๊าดแบบเหนือ(จะหาภาพมาให้ดูค่ะ) มาเติมน้ำมันก๊าด แม่ค้าตัวน้อย เอาตั่งมาวางและเอาปิ๊บน้ำมันมาตั้ง ตวงขาย ทำวิกฤติให้เป็นโอกาส ตั้งแต่เด็กเลยค่ะ ^ ^

 

 

 

 

 

« « Prev : ตามหาพลังตัวเอง 3

Next : ปัญญาปฏิบัติการ 3 » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1275 ความคิดเห็น