อาคารอนุบาลที่โนนชัย

2 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 15 สิงหาคม 2011 เวลา 6:34 (เย็น) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน, เด็กไร้เดียงสา #
อ่าน: 2815

วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ได้ไปเยี่ยมโรงเรียนเทศบาลเป็นโรงเรียนที่ ห้าแล้ว     พอก้าวย่างเข้าบริเวณแผนกอนุบาลโรงเรียนเทศบาลโนนชัย     ก็ต้องยืนงง    รีบนำกล้องถ่ายรูปออกมาถ่ายรูปก่อนอย่างอื่น      เพราะแทบไม่เชื่อสายตาว่านี่คือโรงเรียนอนุบาล ที่ต้องเรียกว่าเป็นโรงเรียน “ชายแดน”    ของเทศบาลนครขอนแก่น 

 

  

โรงเรียนเทศบาลโนนชัย   เป็นโรงเรียนที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดมาหลายปีแล้ว     โดยมีโรงเรียนรุ่งอรุณ  จากกรุงเทพ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง     ครูไปดูงาน  ไปกินไปอยู่    และไปเรียนรู้ที่โรงเรียนรุ่งอรุณครั้งละหลายๆวัน   คณะอาจารย์จากรุ่งอรุณเอง     ก็มาติดตามนิเทศน์โรงเรียนโนนชัยอย่างต่อเนื่อง     ด้วยนโยบายที่นำเอาชุมชนเข้ามามีส่วนในการจัดการศึกษาร่วมกับทางโรงเรียน   และ  การดำเนินกิจกรรมต่างๆของโรงเรียนเทศบาล โนนชัย    ก็เป็นกิจกรรมที่แทบจะลอกแบบมาจากโรงเรียนรุ่งอรุณ         จนเป็นที่เลื่องลือกันในขอนแก่นว่าเป็นโรงเรียนทางเลือก    ที่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี  

 ด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาโรงเรียนนี้  ให้เข้าสู่มาตรฐาน โรงเรียนทางเลือกของนครขอนแก่น       ทางคณะเทศมนตรีก็ใจป้ำ  จัดงบประมาณประมาณ 10 ล้านบาท   เพื่อสร้างอาคารชุดนี้       บริษัทที่ออกแบบเป็นบริษัทที่ทางโรงเรียนรุ่งอรุณแนะนำมา  ก็ได้มาออกแบบอาคารอนุบาลตามที่เห็นในรูปนี้      ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับโรงเรียนอนุบาลของรุ่งอรุณ  คือ  มีลักษณะเป็นบ้าน  ระดับชั้นหนึ่งก็อยู่ในบ้านหลังหนึ่ง  ซึ่งมีเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆอยู่ในบ้านหลังเดียว    ตึกนี้ เพิ่งได้เปิดใช้ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553  ที่ผ่านมานี่เอง   

 

ต้องยอมรับว่า อาคารทันสมัย ทั้ง สามหลัง   ที่ใช้เป็นอาคารเรียน ชั้นอนุบาล1  อนุบาล 2  และอนุบาล 3   อย่างละหลังนี้  ช่างสวยงามน่าประทับใจจริงๆ  

ผู้อำนวยการ ประดิษฐ์   สะเดา  ได้มาต้อนรับ  คณะกรรมการที่มาเยี่ยมชมด้วยตนเอง พร้อมกับคุณครู เนื่องนิตย์  พาลี  รักษาการณ์รองผู้อำนวยการ  ผู้อำนวยการ มีความภาคภูมิใจในอาคารหลังใหม่มากๆ  และได้ทำการปรับปรุงสนามและสิ่งแวดล้อมอย่างสวยงามเข้ากับตัวตึก    คณะครูอนุบาลมีทั้งหมด 6 คนเป็นครูประจำชั้น  สอนหกห้อง     ระดับละสองห้อง  นั่นคือ คุณครูสองคนจะต้องดูแลตึกคนละหลัง ซึ่งมีห้องที่ใช้ประโยชน์ได้ 4 ห้อง  แต่มีสองห้องเรียน สองห้องประกอบ ต่อตึกหนึ่งหลัง       และมีเด็กห้องละ 30 คน  ที่ขาดคือไม่มีครูพี่เลี้ยง  และไม่มีพนักงานช่วยเหลือเลย  ห้องน้ำอยู่นอกห้องเรียน แม้จะไม่ไกล  แต่ครูก็ไม่สามารถติดตามมาดูแลได้เมื่อเด็กออกจากห้องมา     ต้องจัดว่าคุณครูประจำชั้นมีความชำนาญการสอนและจัดกิจกรรมได้ดีพอสมควร    จึงพอเรียกความสนใจให้เด็กทั้ง 30 คนเรียนรู้ ได้     แต่ก็รู้สึกว่าจะเป็นงานหนักมากสำหรับครู  ที่ต้องรับผิดชอบอาคารทั้งหลัง และดูแลเด็กอีกห้องละ 30 คน  ตลอดทั้งวัน

ในช่วงสรุปความคิดเห็น  คณะกรรมการส่วนใหญ่ แสดงความชื่นชม  กับอาคารสถานที่  มากกว่าที่จะวิจารณ์ ด้านการเรียนการสอน   มีกรรมการท่านหนึ่งที่บอกกว่าอยากเห็นโรงเรียนเทศบาลโนนชัย  มีเอกลักษณ์ของตัวเองมากกว่าจะเป็นแบบพิมพ์เขียวมาจากโรงเรียนรุ่งอรุณ    และท่านประธานสุทธิ  ได้ติงคณะครูว่า  ให้ใส่ใจกับสมาธิของเด็ก ที่จะเรียนรู้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่  แม่ใหญ่เองพูดเป็นคนสุดท้าย      บอกความรู้สึกว่า  เมื่อก้าวเข้ามาในโรงเรียน     แม้จะตื่นตาตื่นใจกับอาคารหลังงาม  แต่ยังมีความรู้สึกว่าบรรยากาศมันไม่ค่อยนุ่มนวล    แบบโรงเรียนอนุบาลทั่วไป      ดูมันแข็งๆอย่างไรพิกล  (อาจจะเป็นด้วย เครื่องแบบข้าราชการสีกากี  ที่ผู้อำนวยการและครูทุกคนใส่  ซึ่งเป็นระเบียบที่โรงเรียนนี้จะแต่งชุดข้าราชการในวันจันทร์ก็คงมีส่วนด้วย ที่ทำให้ความสดชื่นลดไปพอสมควร)    นอกจากนี้   สื่อทุกชนิดที่ติดอยู่ตามหน้าต่าง ประตู     ก็เป็นประเภทโปสเตอร์สำเร็จรูปที่ซื้อหามาติดไว้  แทบทั้งนั้น     ไม่เห็นสื่อจากฝีมือครูเลย      รู้สึกเหมือนครูจะกลัวว่าถ้าทำสื่ออะไรขึ้นมา      อาจจะ ไม่เข้ากับอาคารที่สวยงาม อยู่แล้วก็เป็นได้   บรรยากาศและสื่อ อุปกรณ์   รอบๆห้องเรียน   ยังไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กเท่าที่ควร  พูดได้ว่าถูกความงามของตัวอาคารแย่งซีนความเป็นห้องเรียนที่อบอุ่นไปเสียไม่น้อย

แต่อย่างไรก็ตาม แม่ใหญ่ก็ต้องบอกว่าดีใจที่เด็กในชุมชนโนนชัยได้อาคารเรียนที่สวยงาม มา เป็นที่เรียน    ซึ่งถือเป็นความจำเป็นพื้นฐาน      และด้วยสิ่งแวดล้อมที่ดีเช่นนี้      ถ้าครูจะเติมเต็มด้วยการจัดกิจกรรมเรียนรู้ที่หลากหลาย   เด็กก็จะได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพ ต่อไปอย่างเหมาะสม


ดำนารวมใจ ในวันแม่

2 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 12 สิงหาคม 2011 เวลา 7:50 (เย็น) ในหมวดหมู่ รวมกลุ่มทำนา #
อ่าน: 1837

                        ฟ้าครึ้มมาหลายวันแล้ว ฝนก็ตกๆหยุดๆ  จนอดคิดไม่ได้ว่า  กิจกรรมดำนารวมใจ  ที่ชักชวนกันไว้จะเป็นไปได้ด้วยดีหรือเปล่า  แต่พอตื่นขึ้นมาตอนเช้า    ก็ได้เห็นแสงแดดอ่อนที่ไม่ได้เห็นมาหลายวัน  เป็นอันว่าเรา จะไม่ต้องดำนากัน กลางสายฝนแน่ๆ 

ราวแปดโมงกว่าๆ คณะดำนาก็พร้อมออกเดินทางจากโรงเรียนไปยังนาทดลองของพวกเรา  รวมแล้วก็ 20 กว่าชีวิต   ทั้งถอนกล้าทั้งทำนา  ต่างก็ร่วมแรงร่วมใจลงแขกกัน  ชั่วเวลาเพียงสามชั่วโมง  ก็ดำนาเสร็จหนึ่งไร่  และดำซ่อมนาโยนที่เด็กนักเรียน มาโยนไว้แล้วถูกหอยกินไปบางส่วน  จนเต็มพื้นที่    ยังไม่ทันเที่ยง ทุกคนก็เสร็จภารกิจดำนา  แผนกอาหารก็ยกข้าวเหนียว  ส้มตำ หมี่กะทิ ขนมจีนน้ำยา  ลาบก้อย  ออกมาเลี้ยงกันอย่างอิ่มเอมเปรมปรีดิ์กันทุกคน

ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ  แม่ใหญ่ขอบใจทุกคนที่มาร่วมลงแขกกันอย่างแข็งขัน  และเสนอแนวคิดไปว่า  ถ้าทุกคนที่มีนากันคนละ สองสามไร่ จนถึง  สิบกว่าไร่  มารวมใจกันแบบนี้   เราก็จะได้กลุ่มชาวนาที่มีทีนารวมกันกว่า 50 ไร่   แม่ใหญ่เล่าว่าได้ศึกษาข้อมูลจากผู้ที่เคยรวมกลุ่มชาวนามาแล้วและพบว่า    การทำนารวมกลุ่ม    ทำอย่างถูกวิธี   จะทำให้ ต้นทุนที่เคยสูง   ต่ำลงได้หลายเปอร์เซ็นต์  เพราะเราจะซื้อเมล็ดพันธุ์  ซื้อปุ๋ยอินทรีย์  ด้วยกันเป็นกลุ่ม  นอกจากนี้เราจะรวมกันจ้างรถดำนา เครื่องเกี่ยวข้าวมาทุ่นแรง  เวลาทำนาก็ไปลงแขก ทำด้วยกัน จากนาคนโน้นไปนาคนนี้   เวลาเก็บเกี่ยว  ก็แบ่งผลผลิตกันไปตาม ส่วนของการเป็นเจ้าของนา  และเราไม่ต้องรีบขายข้าวให้พ่อค้าคนกลาง หรือไปเป็นหนี้รถไถ  เราสามารถรวมกลุ่มกันเอาไปข้าวสีที่โรงสีชุมชน  หรือต่อไปถ้ากลุ่มเราแข็งแรงมากขึ้น เราอาจจะมีโรงสีเล็กของเราเองก็ยังได้   ถ้าเรารวมกัน  การ บอกขายข้าวเราอาจเป็นคนตั้งราคาเองโดยไม่ง้อพ่อค้าคนกลาง      เราไม่ต้องเป็นหนี้ค่าปุ๋ย จนเมื่อเก็บเกี่ยว   ต้องรีบเอาข้าวไปขายเพื่อมาใช้หนี้    ถ้ามีปัญหาอะไรก็ปรึกษาหารือกัน    อะไรที่ทางแม่ใหญ่ช่วยได้ก็จะช่วย  เพื่อให้พวกเรามีความเป็นอยู่ที่สุขสบายขึ้น

แม้แม่ใหญ่จะไม่เคยทำนามาก่อน   แต่คิดว่าสามารถช่วยเหลือเรื่องการจัดการของกลุ่มได้  และช่วยหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำนาร่วมสมัยให้ได้ด้วย

บอกให้เขาไปลองคิดดู  ว่าสนใจมารวมกลุ่มกันไหม  ถ้าเห็นดีด้วย  เราก็จะได้เริ่มต้นด้วยกันในการทำนารอบหน้านี้    

 


อิ่มบุญไปกับคุณครูอนุบาลโรงเรียนเทศบาลหนองแวง

1 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 10 สิงหาคม 2011 เวลา 3:44 (เย็น) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน, เด็กไร้เดียงสา #
อ่าน: 2011

 เช้าวันที่  9 สิงหาคม ฝนตกพรำๆมาตั้งแต่ตอนกลางคืน  ตอนเช้าก็ยังตกอย่างต่อเนื่อง    ท้องฟ้าขมุกขมัว ไม่ได้เห็นแสงแดดเลย บรรยากาศน่านอนมากกว่าไปประกอบกิจกรรมใดใด        แต่วันนี้แม่ใหญ่มีนัดเข้าเยี่ยมชมแผนกอนุบาลของโรงเรียนเทศบาลหนองแวง  ดังนั้น ฝนจะตก ฟ้าจะร้องอย่างไร  ก็ต้องไปให้ได้

แม่ใหญ่คุ้นเคยกับครูและผู้อำนวยการโรงเรียนนี้มาก่อน  เพราะเข้าทำกิจกรรมจิตตปัญญาด้วยกันมาหลายครั้ง    ทั้ง ผ.อ. ประยุทธ  รองผ.อ.บุญธรรม   ครูอ้อม สอนภาษาอังกฤษ  และครูตู่ จบการศึกษาพิเศษ  ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกอนุบาล  

ได้เคยล้อมวงสุนทรียสนทนามาด้วยกันแล้วทุกคน    จึงเข้าใจถึงจิตใจและความมุ่งมั่นของครูทั้งสี่ท่านนี้เป็นอย่างมาก  นอกจากนี้ก็เคยได้ยินคุณครูสะท้อนให้ฟังในวงสนทนาว่า เด็กโรงเรียนนี้ ส่วนใหญ่  ช่างขาดแคลนไปเสียเกือบทุกสิ่ง เป็นเด็กชุมชนทางรถไฟ ที่มีพ่อแม่หาเช้ากินค่ำ  เด็กเอง บางคนมีเสื้อผ้าแค่สองชุดเปลี่ยน วันไหนฝนตก  เสื้อผ้าไม่แห้ง ก็มาโรงเรียนไม่ได้    บางคนมาโรงเรียนแต่เช้าไม่ได้อาบน้ำ ไม่ได้กินข้าว  ครูต้องมาช่วยอาบน้ำ สระผม สางเหาให้  และหาข้าวปลาให้ทานพอแก้หิว

จำนวนนักเรียนมีทั้งโรงเรียน 273 คน มีครู 18 คน ที่แผนกอนุบาลมีสามห้องเรียน  มีเด็ก 86 คน  ครู 4 คน   คุณครูได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากทางสำนักการศึกษาเทศบาล ให้ไปดูงานและอบรมแบบเข้มจากหลายสำนักมาสี่ปีแล้ว  ไปมาหมด  ไม่ว่าจะที่สำนักอาจารย์อมราที่อยุธยา สำนัก อาจารย์ วิศิษฐ์  ที่เชียงราย  สำนักอาจารย์ประชา ที่กรุงเทพ  และปรมาจารย์ทั้งหลายท่านก็ยังตามมาทำการอบรมให้ที่ขอนแก่นอีกหลายรอบ  ไปดูงานที่ รร.มอนเตสซอรี่ ที่เชียงราย รร.รุ่งอรุณ  และที่ รร.ลำปลายมาศ  แถม ผ.อ.วิเชียร ไชยบัง   ผู้อำนวยการคนเก่งแห่งลำปลายมาศ ยังตามมาแนะแนวนอกสถานที่ให้ถึงโรงเรียน

ดังนั้นความคาดหวังของแม่ใหญ่ ที่มาดูโรงเรียนนี้ จึงมีมากกว่าที่อื่น  และเมื่อมาดูก็ไม่ผิดไปจากที่คาด  ครูตู่ ครูอี๊ด ครูไข่ และครูกุ้ง มีหน้าตาอิ่มเอิบ  ไม่เครียด  และ นำการเรียนการสอนให้กับเด็กได้อย่างเป็นธรรมชาติ   ใช้เสียงเบาๆในการพูด    เด็กมีสมาธิ รู้จักฟัง และกล้าถาม      และร่วมทำกิจกรรมได้อย่างราบรื่น

ในช่วงท้ายของการเยี่ยมเยียน    ที่คณะกรรมการต้นกล้าแห่งปัญญา คุยกับคุณครูผู้สอน เพื่อสะท้อนความคิดเห็น  จึงมีบรรยากาศที่แปลกไป  คือ คณะกรรมการ  ไม่ได้พูดมาก  แต่เป็นคุณครูที่ พูดมากกว่า   คุณครูได้เล่าให้ฟังถึงกระบวนการต่างๆที่ตนเองได้นำมาปฏิบัติแล้ว   เล่าอย่าง ภาคภูมิใจ   ในสิ่งที่เกิดขึ้น   

  • ครูไข่เล่าว่า  เมื่อก่อนเด็กไม่อยากมาโรงเรียนเลย  แต่เมื่อคุณครูได้นำวิธีการต่างๆที่ได้ไปเรียนรู้มาใช้  โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า  “อยากให้เด็กมาโรงเรียน  และเรียนรู้อย่างมีความสุข” คุณครูรู้สึกว่า บัดนี้ครูได้มาถึงเป้าหมายนี้แล้ว     ขนาดฝนตกๆเด็กก็ยังอยากมา  และพ่อแม่ก็เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นด้วย
  • ครูตู่บอกว่า รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ การสอนมันลื่นไหล  รู้สึกสบายๆ ไม่หนักใจ   กับเพื่อนครูด้วยกันก็คุยกันทุกวันพุธ เป็นการประเมินงานกันไปในตัว   ใครมีปัญหาอะไรก็นำมาถกกันได้แบบกัลยาณมิตร
  • ครูอี๊ด  เอกปฐมวัยคนเดียวของที่นี่  แรกๆยังเครียดกับการมาเยี่ยมชมของคณะกรรการ ตอนนี้ก็รู้สึกผ่อนคลายและยิ้มออก เมือสังเกตเห็นว่าเราไม่ได้มาจับผิด  แต่มาส่งเสริมชื่นชมต่างหาก ครูตู่บอกว่าชอบกิจกรรมช่วงเช้าที่ไปก๊อปปี้มาจาก ลำปลายมาศ คือ กิจกรรม จิตตศึกษา  บอกว่าเด็กนิ่งได้ถึง 40 นาที และไม่ป่วนในห้องขณะที่สอน

คณะกรรมการฯวันนี้มาน้อยคน  คงเพราะติดฝน  ต่างก็สะท้อนความคิดไปในทางเดียวกัน  คือชื่นชมผู้บริหาร ชื่นชม ครู   ที่จัดการเรียนการสอนได้ดี  แม่ใหญ่เติมให้เล็กๆน้อยๆว่า  ครูที่นี่โชคดีกว่าโรงเรียนอื่นๆที่ได้มาสอนเด็กที่มีโอกาสน้อยกว่าคนอื่น     ดังนั้นการสอนของครูจึงเหมือนการได้ทำบุญกับเด็กทุกๆวัน   บัดนี้คุณครูได้เดินทางมาถึงจุดหมายหนึ่งแล้ว    ก็ขอให้ต่อยอดในเรื่องอื่นๆได้อีกมากมาย   อย่าได้หยุดอยู่กับที่   เมื่อ  ได้รับสิ่งที่ดีๆของลำปลายมาศ  จากรุ่งอรุณ จากมอนเตสซอรี่  มาก็เป็นสิ่งที่ดีมากแล้ว  แต่ ขอให้เป็นตัวของตัวเอง  เลือกสิ่งดีดีนั้นมาปรับใช้ให้เป็นเอกลักษณ์ตามบริบทของหนองแวงด้วย  

คุณครูและคณะกรรมการทานข้าวกลางวันร่วมกัน    และจากกันอย่างมีความสุข  แม่ใหญ่ทานข้าวไม่หมด   คงจะเป็นเพราะอิ่มบุญร่วมกับคุณครู  และคุณสุทธิ  ผู้ริเริ่มโครงการต้นกล้าแห่งปัญญาตั้งแต่เมื่อสี่ปีที่แล้ว


ขอบใจลูกที่ให้โอกาส

3 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 9 สิงหาคม 2011 เวลา 12:04 (เย็น) ในหมวดหมู่ งานอดิเรก, ชีวิตกับโรงเรียน, เรื่องที่เรียนรู้ #
อ่าน: 1665

ที่นาที่แม่ใหญ่ใช้เป็น  “ศูนย์ทดลองทำนาพัฒนาเด็ก”  นั้น  ลูกชายให้ชื่อว่า “สวนสามศร”  เพราะเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ ซึ่งได้แก่ลูกและหลาน   นามสกุล “สุวรรณศร” เหมือนกัน สามคน  ตอนนี้เราก็เลยเรียกได้สองอย่าง จะเรียกว่า  “ศูนย์ทดลอง” หรือจะเรียกว่า สวนสามศร  ก็ไม่ผิดกติกาใดใด  และคงจะทำมากกว่า ทำนา  เพราะได้ผสมผสานการปลูกป่า และการปลูกต้นไม้ต่างๆเอาไว้ด้วย

เมื่อจัดรูปที่ดินให้ตรงกับประโยชน์ใช้สอยที่เราต้องการแล้ว  ก้ได้เป็นที่นาสองแปลง  แปลงละ หนึ่งไร่  ทำถนนตัดผ่าเข้าไปตรงกลางถึงสระขนาดใหญ่ เนื้อที่เกือบสองไร่  ที่ลูกชายตั้งใจจะทำเป็นบ่อปลา    ตามขอบบ่อ คันนา และขอบถนน  เราจะใช้เป็นที่ปลูกต้นไม้ หลากหลายชนิด   รวมถึงพวกผักผลไม้ ต่างๆที่ตอนนี้ แม่ใหญ่ก็ทะยอยขนไปปลูกอยู่อย่างต่อเนื่อง คาดว่าภายในสองสามปี  ต้นไม้ที่โตเร็วๆทั้งหลาย คงจะงอกงามเขียวชอุ่มให้เราได้เห็นมากกว่าในปัจจุบัน

ในรูปนี้ตอนเขียนผังเองค่อนข้างผิดส่วน จริงๆแล้ว บ่อน้ำใหญ่เท่าๆกันกับนาสองไร่

   

ปลูกหญ้าแฝกกันดินพัง  และลงต้นอะคาเซียรอบที่ดิน

 ต้น อะคาเซีย นี้ เป็นตระกูลผสมระหว่างกระถินณรงค์ กับยูคาลิปตัส ไปได้มาจากศูนย์ทดลองพันธ์ไม้สะแกราช  ก่อนปลูกได้ไปศึกษา ทีศูนย์วิจัยก่อน  เขาพาไปดูต้นที่ปลูกแล้วเห็นว่า  มีลักษณะเป็นต้นสูงตรง  เจ็ดปีสามารถนำมาเลื่อยปลูกบ้านได้เลย และมีเนื้อไม้สวยงามไม่แพ้ไม้สักด้วย ถือเป็นไม้เศรษฐกิจได้  แม่ใหญ่จึงขอกล้าไม้เขามาปลูก   เขาให้มาห้าร้อยต้น   เอามาลงปลูกไว้รอบคันนาและรอบขอบบ่อ  จำนวน สองร้อยกว่าต้น  อีกเจ็ดปี บริเวณรอบๆสวนคงจะร่มครึ้มสวยงามทีเดียว (กล้าที่เหลือยังมีอยู่ ใครต้องการมาแบ่งไปปลูกได้ )

ไปนาบ่อยๆไม่มีที่พัก จึงไปปลูกเถียงนา และพาลูกหลานไปนาในวันหยุดตามที่เขียนไว้ในบล็อคที่แล้ว  และตัวเองก็ซื้อต้นไม้ต่างๆไปลงไว้เรื่อยๆ จะขอเอาพื้นที่ของ  ลานโรงเรียน  บันทึกจำนวนต้นไม้เอาไว้เลย  เมื่อต้นโตแล้วจะได้ถ่ายรูปมาอวดกันอีกครั้ง ขณะนี้ได้ลงต้นไม้ต่างๆไว้แล้วดังนี้

อะคาเซีย 200 ต้น  ไผ่บงหวาน 20 ต้น ต้นแค 2 ต้น ชะอม 2 ต้น ต้นสัก 5 ต้น มะละกอ 2 ต้น มะนาว 2 ต้น มะเฟือง 2 ต้น ฝรั่ง 2 ต้น มะม่วงน้ำดอกไม้ 2 ต้น ขนุน 2 ต้น ชมพู่ 1 ต้น  ประเภทสวยงาม มี ต้นคูณ 1 ต้น ต้นลำโพง 4 ต้น กระดุมทอง 10 ต้น กระเจียว 4 ต้น และมีต้นไม้เดิมติดที่อยู่แล้ว  เป็นต้นจาน  หรือทองกวาวต้นใหญ่ที่แม่ใหญ่ไปอาศัยร่มเงาปลูกเถียงนา   และมีต้นเล็กๆที่ขึ้นอยู่ริมขอบบ่ออีก 4-5 ต้น ทีแม่ใหญ่สั่งห้าม ขุดทิ้งเด็ดขาด  นอกจากนี้เจ้าของที่เดิมได้ปลูกต้นกล้วยไว้หลายกอ  ต้นมะมวงที่โตแล้วสองสามต้น  และมีมะพร้าวอีกสองสามต้น

แม่ใหญ่ยังหาต้น พังเพย มะพลับ ตะโก มะกอก  ตามที่ท่านวอญ่า แนะนำไม่ได้  แต่อีกไม่นานต้องหาจนได้  เพื่อ จะได้ชี้ชวนให้เด็กดูว่า

  นี่ต้นพังเพยนะ  แล้วนั่นก็ต้น ที่มาของคำว่า “ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก” 

โน่นต้น  “มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก”

นั่นต้น  “มะม่วงหาว มะนาวโห่”

(ที่เด็กๆเคยเรียนในวิชาภาษาไทย แต่ไม่เคยได้เห็นต้นจริงก็จะได้เห็นกันละคราวนี้  )

 ฝนนี้ ตกชุก ต้นไม้ต่างๆที่ปลูกไปแล้ว  คงได้ชุ่มฉ่ำเต็มที่  รวมทั้งข้าวที่พานักเรียนมาโยนไปแล้วเมื่อวันที่ 22 ก.ค.ก็เติบโตแข็งแรง  ที่จมน้ำเพราะทำเทือกไม่เรียบเสมอ  ก็จะดำซ่อมแซมกันในวันที่ 12 ส.ค.นี้ แม่ใหญ่จะถือเป็นวันร่วมมือร่วมใจลงแขกดำนากัน  วันเดียวคงเสร็จ ได้ป่าวร้องน้องพี่ พนักงาน ครูและเด็กๆทั้งโรงเรียน ที่สมัครใจมาลงแขกกันในวันอม่    คาดว่าจะมากันหลายคนอยู่ เพราะให้สโลแกนในการป่าวร้องไปว่า “ถ้ารักแม่ใหญ่ ต้องไปดำนา” (คราวนี้คงจะรู้ละว่าใครรักเรา อิอิ)

   ปีนี้จะทดลองแบบเดิมๆ ใช้คนไปก่อน  แต่เที่ยวหน้าจะใช้รถดำตามที่ได้ไปเรียนมาจากคุณต้นกล้า ชาวนาวันหยุด เพราะได้ชื่อเครือข่ายรถดำนามาเรียบร้อยแล้ว

แหม   ชีวิตวัยหลังเกษียณนี่มีอะไรมาให้เล่นสนุกจริงๆ  รูปข้างล่างนี้ คือเมื่อได้ไปเรียนรู้เรื่องทำนา  กับการไปเรียนรู้เรื่องปลูกป่า  ก่อนที่จะมาทำในศูนย์ทดลองของโรงเรียนพัฒนาเด็ก…..ก่อนทำอะไรต้องเรียนรู้ของจริงเสียก่อน

 วันเวลาในวัยนี้  ได้เติมเต็มในส่วนที่ไม่เคยได้ทำ   เมื่อครั้งยังมีหน้าที่การงานความรับผิดชอบ เต็มไม้เต็มมือ  เลี้ยงลูกๆทั้งห้าคน ด้วยสองมือแม่  พร้อมกับดำเนินกิจการโรงเรียนไปด้วย 

วันนี้ลูกสองคนเข้ามาช่วยบริหารเต็มตัว ขอเพียงแม่เข้าไปนั่งประชุมด้วยเพื่อให้ความคิดเห็นบ้างตามประสบการณ์ที่มีมานาน   แม่ใหญ่จึงมีเวลามาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่สนใจ 

ขอบใจลูกทั้งสองคนที่ให้แม่มีโอกาสดีดีในวันนี้” 

 


ชักจูงลูกหลานให้หันหาธรรมชาติ

อ่าน: 1499

         เมื่อสมัยแม่ใหญ่ยังเด็ก ที่พอจำความได้แล้ว   แม่เคยพาไปเที่ยวทุ่งนาของยายที่ดงละคร   นครนายก  ได้ไปพักอยู่ในกระต๊อบหลังหนึ่ง   เวลาลมฝนมา  หลังคามุงจากรั่ว และมีบางส่วนปลิวว่อน   เจ้าของบ้านวิ่งหากะละมังมารองน้ำ  แล้วเอาผ้าใบมาคลุมให้เราไปนั่งหลบกันอยู่ที่มุมบ้านซึ่งรั่วน้อยหน่อย    แทนที่จะกลัว   แม่ใหญ่ กลับจำได้ฝังใจว่าสนุกมากๆ  เพราะไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน  อาหารที่เขาทำให้ทานที่จำได้ และชอบมาจนบัดนี้คือ ขนมจีนคลุกน้ำปลา ใส่ผักกะเฉดและโหระพา อร่อยจนต้องขอทานเป็นจานที่สอง   วันไหนแดดดีดีก็ไปลงนากับเขา  คลุกโคลน ขี่ควาย   เป็นภาพที่ฝังจิตฝังใจ  ไมเคยลืม

มาวันนี้  ถึงแม้มาอยู่ต่างจังหวัด   แต่ก็อยู่แต่ในตัวเมือง  ไม่ได้ออกไปสัมผัสไร่นาอีกเลย  เมื่อมีเวลาว่างเพราะเกษียณตัวเองจากงานประจำ   จึงอยากไปคลุกคลีกับบรรยากาศ ทุ่งนาอีกสักครั้ง  และก็อยากชักจูงลูกหลานไปสัมผัสชีวิตชนบทด้วย      เมื่อมีคนบอกขายที่นา ราคาไม่แพงนัก เมื่อสองปีที่แล้ว    จึงไปขอแบ่งซื้อมา สี่ไร่  ยกให้เป็นชื่อลูก ชื่อหลาน ทั้งหมด    แล้วก็ชักชวนให้เขาไปเที่ยวไปเล่นในที่นาของเขาเอง    ที่นาซึ่งปลูกข้าวได้  มีสองไร่เศษๆ   อีกสองไร่เป็นบ่อน้ำใหญ่ซึ่งเจ้าของเก่า เขาขุดไว้

ช่วงสองปีที่แล้วต้องบอกว่าเป็นช่วงบ่มเพาะความรู้ต่างๆว่า จะทำอะไรกับที่นาตรงนี้ดี  ยังปล่อยให้เจ้าของเดิมเขาทำนาไปตามที่เขาเคยทำ   แต่ปีนี้ ได้เริ่มทดลองเอาสิ่งที่ศึกษามาปฏิบัติไปบ้างแล้ว   เป็นการลองผิดลองถูก  ไม่ได้นึกถึงผลผลิตเป็นข้าว  หรือเป็นเงินตอบแทนนัก   แต่อยากให้เป็นที่ซึ่งลูกหลานในเมือง  ได้มีโอกาสไปเรียนรู้และใกล้ชิดกับธรรมชาติ  ทั้งลูกหลานของเราเอง และลูกหลานในโรงเรียน ด้วย  ตอนนี้จึงตั้งเป็น  “ศูนย์ทำนาทดลองพัฒนาเด็ก”  เปิดหน้า เวปเพจใหม่ไว้ใน เฟสบุค  แล้วก็รวบรวมความรู้ต่างๆที่ได้ศึกษาจาก you tube และ google  มาไว้ที่หน้านี้   

 ส่วนทางด้านกายภาพ  ก็เริ่มด้วยการทำทางเข้าที่นา  ปลูกเถียงนา  โรงนา   และได้พาเด็กนักเรียนไปโยนข้าว แล้วเมื่อเดือนที่แล้ว  ขณะนี้  ข้าวเริ่มแตกเป็นกอ และแตกใบเป็นสี่ห้าใบแล้ว   ได้ ปลูกหญ้าแฝกกันดินพัง  ปลูกต้นอาคาเซีย บนคันนา รอบๆที่นา  หาพืชพันธ์ไม้ต่างๆไปปลูกไว้  ทั้ง ต้นไผ่บงหวาน   ต้นสัก  ต้นมะละกอ   มะกรูด  มะนาว  ขนุน  มะรุม ต้นแค  ชะอม   หวังว่าอีกไม่นานจะได้เห็น ต้นไม้ต่างๆเหล่านี้ เติบโต  ตั้งใจจะเลี้ยงเป็ดสักยี่สิบตัว  เอาไว้กินหอยเชอรี่ในนา  และ เลี้ยงวัวสักสองตัวเพื่อเอาปุ๋ยคอกมาบำรุงดิน

 เดี๋ยวนี้   พอวันเสาร์อาทิตย์ ก็ชวนลูกๆหลาน  ไปเที่ยวเล่นที่เถียงนาใหม่  แทนการไปเดินห้าง    เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์   เอาอาหารไปทำทานกันบ้าง  ชวนไปวิ่งเล่นออกกำลังกัน     แม้ยังไม่ได้ลงมือเป็นเกษตรกรเต็มตัว  เพราะล้วนแต่ยังทำอะไรไม่เป็นกันสักคน  แต่อย่างน้อยก็ได้ไปเห็นลูกชาวนาข้างๆที่นาของเรา    อายุไล่เลี่ยกับหลานๆ  สามารถลงแปลงช่วยพ่อแม่ ถอนกล้า   แล้วมัดเป็นฟ่อน   และยังสามารถหาบเอากล้าไปดำนาช่วยพ่อแม่  ได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว 

 ถือว่า   นี่เป็นพียงการเริ่มต้น  ที่จะให้เด็กๆได้เรียนรู้    ให้เขาได้ใกล้ชิดธรรมชาติ   ได้เห็นชีวิตจริงของชาวนาไทย      แม่ใหญ่ถือว่า การได้จัดประสบการณ์ชีวิตให้เขา   ได้พบ  ได้เห็นอะไรที่แตกต่างไปจากชีวิตประจำวันของเขา  ดีกว่าที่จะให้เขาเติบโตและใช้ชีวิตเป็นเด็กเมือง เพียงอย่างเดียว 

วันศุกรที่ 12 สิงหาคมนี้  เป็นวันหยุด    ต้นกล้าที่หว่านไว้   โตได้ที่พอดี   ก็จะนัดครู  พนักงาน   เด็กนักเรียน  และลูกหลาน  ไปลงแขกดำนา ในส่วนที่เหลืออีกหนึ่งไร่  กันอีกครั้ง   เอาให้ตรงกับที่ป้าจุ๋มเคยบอกไว้ว่า  “ปลูกวันแม่  แล้วเกี่ยววันพ่อ”  นั่นทีเดียว   ขออย่าให้มีพายุเข้าหรืออุปสรรคอื่นใดอีกก็แล้วกัน



Main: 1.0742499828339 sec
Sidebar: 0.061398029327393 sec